วัยต่างๆ และ เป้าหมายต่าง

 

                 “อะไรๆ ก็มักเปลี่ยนไปตามวัย” ประโยคหนึ่งที่มักได้ยินจากคุณพ่อคุณแม่หรือญาติผู้ใหญ่พูดสอนลูกหลานในบ้าน เปรียบเปรยให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงไม่ว่าจะเป็นมุมมอง แนวความคิด ความพร้อมทางด้านการเงิน รวมไปถึงสุขภาพร่างกาย ซึ่งแปรเปลี่ยนไปตามกาลเวลาที่ผ่านไป

 

อนึ่ง ความต่างทางความคิดในแต่ละวัยนี้ ไม่ได้หมายรวมไปถึงในแง่ของความถูกผิดใดๆ แต่หมายถึงทัศนคติต่อสิ่งต่างๆ ที่เปลี่ยนไป อาจเนื่องด้วยภาระหน้าที่ความรับผิดชอบที่เพิ่มขึ้นหรือประสบการณ์ชีวิตที่พบเจอแตกต่างกันก็ตาม ซึ่งองค์ประกอบต่างๆ เหล่านี้ล้วนส่งผลให้เป้าหมายของคนต่างวัยมักมีความแตกต่างกัน

 

เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น ลองแบ่งช่วงอายุออกเป็น 5 ช่วง คือ วัยเริ่มต้นทำงาน ช่วงอายุ 21-30 ปี วัยเริ่มต้นชีวิตคู่ ช่วงอายุ 26-34 ปี วัยสร้างครอบครัว ช่วงอายุ 26-39 ปี วัยหน้าที่การงานมั่นคง ช่วงอายุ 40-49 ปี และวัยเตรียมพร้อมเกษียณ ช่วงอายุ 50 ปีขึ้นไป จากช่วงอายุที่แตกต่างกันนี้ ส่งผลให้เป้าหมายทางการเงินของแต่ละคนไม่เหมือนกัน และมักเป็นไปเพื่อตอบสนองความต้องการต่างๆ ในชีวิต รวมทั้งให้สอดคล้องกับรูปแบบการใช้ชีวิต (Life Style) ที่แต่ละคนปรารถนานั่นเอง

 

ยกตัวอย่างเช่น วัยเริ่มต้นทำงานมักสนุกสนานกับการใช้ชีวิตอย่างอิสระ เน้นการท่องเที่ยวและสังสรรค์กับเพื่อนฝูง ดังนั้น เป้าหมายที่สอดคล้องกับความต้องการของคนในวัยนี้ จึงมักเป็นการออมเงินเพื่อเป้าหมายระยะสั้นถึงระยะกลาง อาทิ การออมเงินเพื่อดาวน์รถยนต์หรือดาวน์บ้าน หรือการออมเงินเพื่อการศึกษาต่อ เป็นต้น

 

ในขณะที่วัยเริ่มสร้างครอบครัวและมีบุตรแล้ว มักให้ความสำคัญกับความมั่นคงและการเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ เพื่อครอบครัวอย่างรอบคอบ สร้างหลักประกันให้กับบุคคลในครอบครัวอันเป็นที่รัก เป้าหมายที่คนในวัยนี้มักให้ความสำคัญ เป็นเรื่องของการตระเตรียมเงินทุนไว้เพื่อการศึกษาสำหรับลูกน้อย การสำรองสภาพคล่องเผื่อกรณีฉุกเฉินซึ่งควรมีอย่างน้อย 6 เท่าของค่าใช้จ่ายรายเดือน รวมไปถึงการคุ้มครองความเสี่ยงในด้านชีวิตและสุขภาพ เพื่อปกป้องคนข้างหลังจากความไม่แน่นอนในการดำเนินชีวิต

 

แม้ว่าเป้าหมายหรือความต้องการในแต่ละวัยจะแตกต่างกันไป แต่หากเราเตรียมตัวให้พร้อมเสียแต่เนิ่นๆ รวมถึงทยอยสะสมความมั่งคั่งตั้งแต่อายุยังน้อย ก็จะช่วยสร้างความมั่นใจในการดำเนินชีวิตให้กับเราได้ทางหนึ่ง นอกจากนี้ จากความแตกต่างระหว่างวัย เป้าหมายในการใช้ชีวิตและเป้าหมายทางการเงินย่อมแตกต่างกันไปเพื่อตอบสนองความต้องการที่ไม่เหมือนกัน ดังนั้น คงเป็นเรื่องที่น่ายินดีไม่น้อย หากเรามีการวางแผนทางการเงินไว้ล่วงหน้าเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับความต้องการในวัยที่กำลังจะมาถึง

 




 

Create Date : 20 พฤศจิกายน 2556   
Last Update : 20 พฤศจิกายน 2556 17:35:37 น.   
Counter : 429 Pageviews.  


ลำดับความสำคัญของเป้าหมาย

 

เมื่อความต้องการของคนเราไม่มีสิ้นสุด จึงไม่เป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจเลยหากเราจะมีเป้าหมายในชีวิตและเป้าหมายทางการเงินมากกว่า 1 หนึ่งเป้าหมาย แต่เป็นเรื่องไม่ง่ายนักที่จะทำให้ทุกเป้าหมายสำเร็จได้ทั้งหมดในเวลาเดียวกัน เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว เราจะทำอย่างไรให้สามารถบรรลุเป้าหมายทางการเงินของเราได้ตามที่ตั้งใจ

 

แน่นอนว่า หากนำแต่ละเป้าหมายที่เราต้องการมาจัดเป็นกลุ่มตามระยะเวลา จะสามารถแบ่งเป้าหมายได้เป็น 3 ระยะ คือ เป้าหมายระยะสั้น (ระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี) เป้าหมายระยะกลาง (ประมาณ 1-5 ปี) และเป้าหมายระยะยาว (ระยะเวลามากกว่า 5 ปีขึ้นไป) ตัวอย่างเช่น ต้องการวางแผนเก็บเงินเพื่อท่องเที่ยวต่างประเทศตอนสิ้นปีเป็นเป้าหมายในระยะสั้น วางแผนเก็บเงินเพื่อดาวน์บ้านในอีก 3 ปีข้างหน้าเป็นเป้าหมายในระยะกลาง ขณะที่การวางแผนเก็บเงินไว้ใช้สำหรับวัยเกษียณในอีก 20 ปีข้างหน้าเป็นเป้าหมายในระยะยาว เป็นต้น

 

คำถามถัดไป คือ แล้วระยะเวลาบอกอะไรกับเราได้บ้าง ประเด็นหนึ่ง คือ ทำให้เรากำหนดจำนวนเงินที่ต้องเก็บรายงวดได้ หากจำนวนงบประมาณเท่ากัน จำนวนเงินที่ต้องเก็บออมต่อเดือนสำหรับเป้าหมายระยะสั้นจะมากกว่าเป้าหมายที่มีระยะยาวกว่า เช่น ต้องการเก็บเงินเพื่อการท่องเที่ยวจำนวน 30,000 บาทในอีก 1 ปี ต้องหยอดกระปุกออมสินงวดละประมาณ 2,500 บาท แต่หากยืดระยะเวลาเป็น 2 ปีข้างหน้า จำนวนเงินเก็บออมต่องวดจะลดลงเหลือ 1,250 บาท เป็นต้น

 

ประเด็นถัดมา ระยะเวลาของเป้าหมายบอกเราได้ถึงแนวทางการจัดสรรเงินลงทุนว่า เพื่อให้ได้ผลตอบแทนตามที่คาดหวังแล้ว ควรจะต้องนำเงินไปออมหรือลงทุนในทรัพย์สินทางการเงินประเภทใด โดยทั่วไป ระยะเวลาที่นานขึ้น จะเป็นการเพิ่มโอกาสการลงทุนในทรัพย์สินที่มีความผันผวนมากขึ้นได้ ขณะที่ระยะเวลาที่สั้นกว่า เราควรนำเงินไปลงทุนในทรัพย์สินที่มีความผันผวนน้อยกว่า เพื่อรักษามูลค่าของเงินลงทุนตั้งต้นให้ใกล้เคียงกับเป้าหมายมากที่สุด

 

ประเด็นที่สามเป็นเรื่องความเร่งด่วนของเป้าหมายนั้น ในข้อนี้ไม่ได้หมายความว่าเป้าหมายระยะยาวเป็นเรื่องที่ไม่เร่งด่วนหรือไม่สำคัญ แต่ด้วยระยะเวลาที่นานกว่าจะช่วยให้เราเก็บเล็กผสมน้อยไปได้เรื่อยๆ หรือเป็นการทยอยเก็บออมเพื่อวันข้างหน้า เข้าทำนองเตรียมตัวแต่เนิ่นๆ บางคนพอเห็นว่าเป็นเป้าหมายระยะยาวก็ชะล่าใจผลัดวันประกันพรุ่งไปเรื่อยๆ จนเป้าหมายระยะยาวนั้นกลับกลายเป็นเป้าหมายระยะสั้นไป จำนวนเงินออมต่อเดือนจากที่เคยเป็นตัวเลขไม่มาก สามารถออมได้สบายๆ กลายเป็นจำนวนเงินก้อนโตที่ต้องออมต่อเดือน จนบางคนกว่าจะได้เริ่มออมก็เกินกำลังเสียแล้ว

 

ส่วนอีกประเด็นอาจเป็นเรื่องของจิตวิทยาสักนิด การจัดลำดับความสำคัญของเป้าหมาย เป็นส่วนช่วยเพิ่มกำลังใจให้กับตัวเองหากเราสามารถบรรลุเป้าหมายแต่ละเป้าหมายไปได้ เหมือนเป็นความภูมิใจส่วนตัวว่า อย่างน้อยเราก็ทำได้อย่างที่ตั้งใจไว้ ซึ่งโดยทั่วไป เมื่อคนเราประสบความสำเร็จในการทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งแล้ว มักจะมีกำลังใจที่จะทำการถัดไป

 

ลองจัดลำดับความสำคัญของแต่ละเป้าหมายในชีวิตที่คุณต้องการกันดู อาจช่วยทำให้เราเห็นเส้นทางความฝันของเราได้ชัดเจนและเป็นขั้นเป็นตอนมากขึ้น

 




 

Create Date : 20 พฤศจิกายน 2556   
Last Update : 20 พฤศจิกายน 2556 17:34:04 น.   
Counter : 537 Pageviews.  


แปลงแผนการเงินเป็น “เป้าหมายการเงิน”

 

เชื่อว่าเราทุกคนต่างมีจุดมุ่งหมายหรือความต้องการที่หลากหลายแตกต่างกันไป ตัวอย่างเช่น บางคนอาจต้องการเดินทางท่องเที่ยวทั่วโลก ซื้อรถยนต์คันงามสักคันมาครอบครอง มีบ้านหลังใหญ่พร้อมตกแต่งอย่างสวยหรู อยากให้ลูกไปเรียนต่อต่างประเทศ หรือใช้ชีวิตวัยเกษียณอย่างไร้กังวล เป็นต้น จุดมุ่งหมายเหล่านี้เป็นสิ่งที่ดีที่เรามีความฝัน แต่จะดีกว่าหรือไม่ ถ้าเราสามารถทำความฝันนั้นให้กลายเป็นความจริง สามารถจับต้องได้ตามความปรารถนาของเราเอง

 

แล้วจะทำอย่างไรให้ความฝันกลายเป็นจริงได้ ชีวิตจริงอาจต่างจากในนิทานปรัมปราหรือละครทีวีตรงที่ในละครผู้กำกับสามารถบันดาลสิ่งต่างๆ ให้เกิดขึ้นได้ตามที่ผู้ชมคาดหวัง ขณะที่ในชีวิตจริงอาจทำได้ยากเนื่องจากมีข้อจำกัดในการใช้ชีวิตมากมายทั้งภาระหน้าที่หรือความรับผิดชอบต่างๆ ถ้าเป็นเช่นนั้น เราลองเลือกที่จะเป็นผู้กำกับและคนเขียนบทให้ชีวิตเราเอง เพื่อให้เรื่องราวออกมาเป็นความจริง ด้วยการแปลงความฝันเหล่านั้นให้กลายเป็นเป้าหมายการเงินนั่นเอง

 

แผนการเงินกับเป้าหมายการเงินต่างกันอย่างไร แผนการเงินก็เหมือนกับความฝันที่เราวาดไว้ แต่หากเราไม่กำหนดขอบเขตหรือความชัดเจนของแผนการเงินแล้ว การจะทำให้ความฝันกลายเป็นความจริงหรือการหาวิธีการไปให้ถึงฝั่งฝันอาจทำได้ยาก ดังนั้น การค้นหาเส้นทางที่เหมาะสมกับตัวเรา ก็คือ การเปลี่ยนแผนการเงินที่จับต้องได้ยากให้เป็นเป้าหมายทางการเงินที่มีการระบุรายละเอียดชัดเจนถึงระยะเวลา งบประมาณ รวมถึงความสามารถของเราเอง เช่น หากต้องการซื้อรถยนต์สักคัน ก็ควรกำหนดราคารถยนต์ที่เราสามารถเป็นเจ้าของได้ รวมถึงระยะเวลาที่คาดว่าจะซื้อและความสามารถในการผ่อนชำระ ตัวอย่างเช่น ต้องการเก็บเงินเพื่อดาวน์รถยนต์จำนวน 200,000 บาทในอีก 3 ปีข้างหน้า หรือเมื่อเกษียณแล้ว ต้องการใช้เงินเดือนละ 20,000 บาท เป็นต้น

 

นอกจากรายละเอียดที่ชัดเจนแล้ว เป้าหมายที่ดียังควรกำหนดให้เหมาะสมกับความสามารถของเราด้วยเช่นกัน เพื่อให้สามารถหาวิธีการที่จะทำให้บรรลุเป้าหมายนั้นๆ ได้ โดยควรให้เหมาะสมกับความสามารถในการหารายได้และความพร้อมทางการเงินในปัจจุบัน ไม่เช่นนั้นการจะบรรลุเป้าหมายให้ได้ตามที่ฝันไว้ก็คงทำได้ไม่ง่ายนัก บางคนอาจถึงขั้นล้มเลิกกันไปเสียกลางคันเลยก็ได้ พูดให้ง่ายคือ กำหนดเป้าหมายให้สอดคล้องกับความเป็นจริงนั่นเอง

 

เมื่อได้เป้าหมายทางการเงินและวิธีการออกมาแล้ว สิ่งสำคัญที่ขาดไปเสียไม่ได้คือ การปฏิบัติตามเป้าหมายทางการเงิน และนั่นก็เพื่อให้ความฝันอันสวยสดงดงามของเรากลายเป็นความจริงได้ในที่สุด ดังนั้น คงไม่เป็นการกล่าวเกินความจริงไปนัก หากจะบอกว่านอกจากจะเป็นผู้กำกับและนักเขียนบทให้กับละครของเราเองแล้ว เราก็ควรเป็นนักแสดงที่ดีด้วย




 

Create Date : 20 พฤศจิกายน 2556   
Last Update : 20 พฤศจิกายน 2556 17:32:47 น.   
Counter : 408 Pageviews.  


ปิรามิดการวางแผนการเงิน

 

หากจะเปรียบชีวิตของคนเราเสมือนการสร้างบ้านสักหนึ่งหลัง อันดับแรกต้องเริ่มจากการลงหลักปักฐานให้มั่นคงด้วยการลงเสาเข็มเสียก่อน จากนั้นจึงค่อยต่อเติมส่วนอื่นของตัวบ้าน สร้างเสาสร้างคาน ผนังกำแพงไปจนถึงหลังคาบ้าน แต่สิ่งที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าการสร้างบ้านให้เสร็จคือความปลอดภัยของตัวบ้าน ต่อให้บ้านที่สร้างเสร็จแล้วออกมาหน้าตาสวยงามอย่างไรหรือใช้ของประดับตกแต่งหรูหราแค่ไหน แต่หากรากฐานไม่มีความมั่นคงแข็งแรงเสียแล้ว บ้านก็มีโอกาสทรุดหรือพังลงมาได้เช่นกัน

 

การวางแผนการเงินก็เช่นเดียวกัน คงไม่มีใครอยากก้าวพลาดในเส้นทางเดินของชีวิต ดังนั้น คงเป็นเรื่องที่ดีไม่น้อย หากเรามีการตระเตรียมความพร้อมให้กับทุกก้าวสำคัญของชีวิต โดยเปรียบเทียบให้เห็นภาพง่ายขึ้นด้วยแผนภาพปิรามิดการวางแผนการเงิน (Financial Planning Pyramid) ซึ่งแบ่งลำดับชั้นออกเป็น 4 ส่วนด้วยกัน คือ

 


 

 

 

 

 

ส่วนที่ 1 : Wealth Creation หรือกระบวนการสร้างความมั่งคั่ง จุดเริ่มต้นมาจากการออมนั่นเอง การสร้างความมั่งคั่งเริ่มต้นง่าย ๆ ด้วยจากการบริหารรายได้ รายจ่ายของเราให้เพียงพอ  อาจเริ่มต้นจากการทำบัญชีรับจ่าย เพื่อควบคุมค่าใช้จ่ายให้เป็นไปตามงบประมาณของเรา ควรกันเงินออมให้เป็นค่าใช้จ่ายตัวแรกที่ต้องหักไว้ก่อนค่าใช้จ่ายตัวอื่น  เริ่มต้นการออมอาจจะอยู่ที่ประมาณ 10% ของรายได้ก่อนหักภาษี และควรตั้งเป้าหมายการออมให้ท้าทายยิ่งขึ้นเรื่อยๆ

 

ส่วนที่ 2: Wealth Protection หรือการปกป้องความเสี่ยง พูดอีกนัยหนึ่งก็คือเป็นการวางแผนเพื่อตระเตรียมความพร้อมสำหรับความต้องการพื้นฐานในการดำเนินชีวิต ทั้งในเรื่องของการเก็บเงินไว้ใช้ในบั้นปลายเมื่อตอนเกษียณอายุ รวมถึงการจัดการความเสี่ยงภัยต่างๆ ซึ่งเปรียบเสมือนรากฐานของตัวบ้านที่ต้องเน้นสร้างให้แข็งแรงเพื่อความมั่นคงของบ้าน อาทิเช่น การสำรองสภาพคล่องหรือเงินสำรองเผื่อกรณีฉุกเฉินที่ควรมีอย่างน้อย 3-6 เท่าของค่าใช้จ่ายต่อเดือน หรือการจัดการความเสี่ยงด้วยการโอนย้ายความเสี่ยงไปยังบุคคลอื่น (Risk Transfer) ซึ่งก็คือการทำประกันในรูปแบบต่างๆ นั่นเอง

 

ส่วนที่ 3: Wealth Accumulation หรือการสะสมความมั่งคั่ง เป็นเรื่องของการลงทุนและประหยัดภาษีเพื่อสะสมเงินไว้ใช้จ่ายในเป้าหมายต่างๆ เช่น การศึกษาของบุตร เป็นต้น การวางแผนภาษีถือเป็นตัวช่วยหนึ่งที่ทำให้คุณลดภาระค่าใช้จ่ายด้านภาษีลง และมีเงินออมลงทุนมากขึ้น ในขั้นตอนนี้เปรียบเสมือนตัวบ้านที่สร้างขึ้นภายหลังจากที่มีรากฐานมั่นคงแล้ว รูปแบบการสะสมความมั่งคั่งทำได้หลายรูปแบบเริ่มตั้งแต่การออมในบัญชีเงินฝาก การลงทุนในผลิตภัณฑ์ทางการเงินในรูปแบบต่างๆ ที่มีความซับซ้อนและมีความผันผวนมากขึ้น  รวมถึงการใช้สิทธิลดหย่อนภาษีให้ครบถ้วนและการลงทุนประหยัดภาษี

 

ส่วนที่ 4: Wealth Distribution หรือการส่งต่อความมั่งคั่ง นั่นก็คือ การนำเงินไปลงทุนและการวางแผนมรดก เมื่อเรามีฐานที่มั่นคงด้วยการเตรียมพร้อมความต้องการพื้นฐานของชีวิตและมีการจัดการความเสี่ยงภัย เสริมความแข็งแรงด้วยการสะสมความมั่งคั่งไว้แล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ขาดไม่ได้คือการลงทุนและการส่งต่อความมั่งคั่งไปยังคนที่เรารัก ในส่วนนี้เป็นการจัดการเงินส่วนที่เหลือไปลงทุนในรูปแบบต่างๆ เพื่อคาดหวังผลตอบแทนที่สูงขึ้น รวมถึงวางแผนปกป้องและเลือกวิธีการส่งมอบความมั่งคั่งนั้นให้กับลูกหลานต่อไป โดยคำนึงถึงความเหมาะสมกับแต่ละบุคคล ไม่ว่าจะเป็นช่วงอายุ รูปแบบการดำเนินชีวิต รวมถึงความสามารถในการยอมรับผลกำไรหรือขาดทุน

 

 

 




 

Create Date : 20 พฤศจิกายน 2556   
Last Update : 20 พฤศจิกายน 2556 17:31:16 น.   
Counter : 3698 Pageviews.  


เหตุผลที่เราควรวางแผนการเงิน

 

เชื่อไหมว่า ศัตรูตัวร้ายของการวางแผนการเงินคือตัวเรานั่นเอง ถ้าเรายังคงไม่เห็นความสำคัญ ไม่ว่าจะยกแม่น้ำทั้ง 5 มาพูดอย่างไร การเริ่มต้นก็คงเกิดขึ้นไม่ได้ ดังนั้น มีเหตุผลอะไรที่จะจูงใจตัวเองให้เริ่มต้นลงมือทำได้บ้าง ลองมาไล่เรียงกันดู

 

เหตุผลแรกก็คือ ความไม่แน่นอน เกิดขึ้นได้เสมอในชีวิต การเตรียมความพร้อมทางการเงินก็เปรียบเสมือนการฟิตซ้อมร่างกายให้แข็งแรงพอที่จะรับมือกับเรื่องที่นอกเหนือความคาดหมาย ยิ่งร่างกายเราแข็งแรงเท่าไหร่ โอกาสที่เราเจ็บป่วยก็น้อยลงเท่านั้น เช่นกันกับสุขภาพทางการเงิน ยิ่งเราตระเตรียมให้มีความพร้อมมากเท่าไหร่ เราก็มีภูมิคุ้มกันสามารถรับมือกับความไม่แน่นอนได้อย่างมั่นใจ หรือบรรเทาความเสียหายได้ดีขึ้นมากเท่านั้น

 

เหตุผลที่สองเห็นได้ชัดที่สุดก็คือ ราคาข้าวของต่างๆ ที่เพิ่มขึ้นทุกปี หรือถ้าใช้ภาษาสวยๆ หน่อยก็บอกว่า อัตราเงินเฟ้อ นั่นเอง ไม่ว่าจะเป็นราคาอาหาร ค่าเดินทาง หรือค่ารักษาพยาบาลที่ปรับขึ้น ล้วนส่งผลกระทบต่อค่าครองชีพของเราให้สูงขึ้นตามไปด้วย บางคนอาจรู้สึกว่าค่าครองชีพสูงขึ้นมากกว่าเงินเดือนที่เพิ่มขึ้นเสียอีก

 

และเนื่องจากแต่ละช่วงชีวิตของคนเรามี ความต้องการที่แตกต่างกัน จึงเป็นเหตุผลที่สามที่กล่าวได้ว่า ส่งผลให้รูปแบบความต้องการใช้เงินหรือเป้าหมายทางการเงินจึงย่อมต่างกันตามไปด้วย ดังนั้น เพื่อให้แผนทางการเงินสอดคล้องไปกับทุกช่วงจังหวะชีวิต เราจึงควรมีการวางแผนไว้ล่วงหน้าเพื่อรองรับความต้องการต่างๆ ที่จะตามมา ไม่ว่าจะเป็นวัยเริ่มทำงานที่ต้องบริหารจัดการค่าใช้จ่ายและเงินออม หรืออาจต้องการเงินเก็บสักก้อนเพื่อซื้อรถยนต์หรือซื้อบ้าน วัยกำลังสร้างครอบครัวที่ต้องวางแผนเก็บเงินไว้เป็นทุนการศึกษาสำหรับลูกน้อย หรือวัยก่อนเกษียณที่ต้องให้ความสำคัญกับชีวิตและสุขภาพภายหลังเกษียณ

 

เหตุผลที่สี่ที่หนีไม่พ้น มาจากวิทยาการทางการแพทย์ที่ก้าวหน้าอยู่ตลอดเวลา ทำให้คนส่วนใหญ่มีอายุยืนยาวขึ้น วิธีการรักษาโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ พัฒนาไปมากและนับวันก็จะยิ่งมีประสิทธิภาพขึ้น โรคบางโรคที่สมัยก่อนอาจไม่มียารักษา ปัจจุบันก็มีหนทางที่จะรักษาได้ ส่งผลให้อายุขัยเฉลี่ยของคนไทยสูงขึ้น ประกอบกับสภาวะสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป ความคาดหวังที่จะให้บุตรหลานมาอุปการะเลี้ยงดูอาจเป็นไปได้ยากขึ้น การเตรียมพร้อมรับมือกับวัยเกษียณด้วยตัวเราเองจึงทวีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ

 

ท้ายที่สุด ทุกอย่างที่กล่าวมาข้างต้นอาจเป็นเพียงการยกแม่น้ำทั้ง 5 มาประกอบเท่านั้น เพราะความเป็นจริงแล้ว เหตุผลหลักที่ต้องคำนึงถึง ก็คือ การวางแผนการเงินไม่ได้เป็นการทำเพื่อใครอื่นเลย แต่ เพื่อตัวคุณและคนที่คุณรัก นั่นเอง

 




 

Create Date : 20 พฤศจิกายน 2556   
Last Update : 20 พฤศจิกายน 2556 17:27:09 น.   
Counter : 390 Pageviews.  


1  2  3  4  5  6  7  

ผู้ประสบภัยจากความรัก
 
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]




[Add ผู้ประสบภัยจากความรัก's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com