ทำไม ROE จึงเป็นเครื่องมือหลักในการเลือกหุ้น

 

ทำไม ROE จึงเป็นเครื่องมือหลักในการเลือกหุ้น

 

ทำไม ROE จึงเป็นเครื่องมือหลักในการเลือกหุ้น อ. sanpong limthamrongkul [1][2] ครับ

สำหรับคนที่เรียนวิเคราะห์อัตราส่วนทางการเงินมาจะทราบว่า มีอัตราส่วนหลายตัว เช่นอัตราส่วนที่ใช้ดูสภาพคล่องมี Current ratio, Quick ratio อัตราส่วนที่ดูประสิทธิภาพหรือ อัตราส่วน turnover ต่างๆ เช่น A/R turnover, Inventory turnover, Asset turnover หรืออัตราส่วนที่ใช้ดูความสามารถในการทำกำไร เช่น Gross margin, Net margin, ROA, ROE อัตราส่วนการอยู่รอด เช่น D/E ratio, ICR เป็นต้น ที่กล่าวมาเป็นส่วนหนึ่งในอีกหลายๆอัตราส่วนที่มีอีกหลายสูตร

ในบรรดาสูตรอัตราส่วนทางการเงินตัวที่ถือว่าเด่นที่สุด เป็นสูตรที่สะท้อนค่าอัตราส่วนต่างๆหลายค่ารวมๆกันในตัวมันมากที่สุด คือ ROE (Return on Equity) = Net Income / Average Equity และถ้าใครที่ติดตามนักลงทุนแนว VI ทั้งไทยและต่างประเทศ หลายๆท่านจะใช้ ROE เป็นตัวหนึ่งในหลายๆเครื่องมือในการเลือกหุ้น เช่นดู P/E, PBV อัตราการเติบโตกำไรและ ROE เป็นต้น การจะใช้กี่ตัวคัดกรองก็แล้วแต่เทคนิคเฉพาะตัวของ VI แต่ละคน แต่สิ่งหนึ่งที่มักจะคล้ายกันคือ ROE มักจะเป็นตัวหนึ่งที่ถูกนำมาใช้

ทำไม ROE จึงถูกเลือกมาใช้ในบรรดาอัตราส่วนที่มีอยู่มากมายหลายตัว ให้เหตุผลง่ายๆ อยู่ 2 ข้อหลักๆคือ
หนึ่ง ROE ตอบหลักการทางการเงินเรื่อง Maximize shareholders’ wealth ซึ่งเป็นเป้าหมายทางการเงินได้ดีกว่าการวัดด้วยอัตราส่วนการเงินอื่น
สอง ตัวมันเองมีองค์ประกอบอื่นหรือแยกเป็นอัตราส่วนการเงินอื่นๆ ได้ ตามหลักของ Du Pont Analysis ตัวมันเองจึงเหมือนค่าสรุปของอัตราส่วนหลักๆ ถ้าเปรียบเทียบก็เหมือนค่า เกรดเฉลี่ย GPAX ของนักเรียน นักศึกษานั่นเอง

ในแนวความคิดของการบริหารการเงินสำหรับเศรษฐกิจทุนนิยมคือ Maximize shareholders’ wealth ซึ่งมีเป้าหมายคือ สร้างมูลค่าราคาหุ้นให้ดีทีสุดในการบริหารการเงิน ไม่ว่าจะเป็น short-term หรือ long-term ซึ่งแนวคิดนี้สำหรับคนที่เรียนทางการเงินมาจะทราบดี ไม่ว่าจะเป็นทฤษฎี CAPM (Capital Asset Pricing Model), APT (Arbitrage Pricing theory), Capital Budgeting, Capital structure หรือ การหามูลค่าของเรื่องมือทางการเงินต่างๆ เช่า Futures, Options, Swaps เป็นต้นทุกเรื่องทางการเงินล้วนตอบหรือนำไปสู่ Maximize shareholders’ wealth ทั้งสิ้น แม้ว่าปัจจุบัน จะขยายแนวคิดไปสู่ Shareholders’ value Creation เช่น VBM (Vale Based Management) ก็ตามแต่ก็ยังแฝงแนวคิด Maximize shareholders’ wealth อยู่ หากการบริหารกิจการได้ดีจริงแล้วสุดท้าย ผลตอบแทนผู้ถือหุ้นต้องเพิ่มขึ้นในระยะยาว (ทั้งนี้ต้องถือเรื่องความโปร่งใสและการเปิดเผยรายงานทางการเงินถูกต้องเป็นพื้นฐาน) ดังนั้นทำไมเราจึงไม่ลงทุนในหุ้นที่มีความไม่ชอบมาพากลในการรายงานงบก่รเงิน เพราะผิดหลักการข้อแรกนี้แล้ว ย่อมเชื่อได้ว่ากิจการนั้นไม่ได้มุ่งสร้าง Maximize shareholders’ wealth ให้กับนักลงทุนทั่วไป การมี Good Governance (หลักธรรมาภิบาล) จึงเป็นจุดเริ่มที่ดี

ส่วนข้อสอง หลักของ Du Pont Analysis คือการพยายามแตกสูตรออก เมื่อพิจารณาจากสูตร ROE สามารถแยกออกได้หลายแนวทางคือ
ROE = NI / Equity = (NI/Sales) x (Sales/Asset) x (Asset/Equity)
ถ้าAsset/Equity = (Debt + Equity) / Equity = 1+D/E เรียกว่า Leverage Multiplier หรือตัวคูณความเสี่ยง

ผลตอบแทนผู้ถือหุ้น คือผลของ อัตรากำไรสุทธิ x อัตราการหมุนเวียนสินทรัพย์ x ตัวคูณความเสี่ยง

ROE = NI / Equity = (NI /Asset) x (Asset/Equity)
ผลตอบแทนผู้ถือหุ้น คือผลของ อัตรากำไรของสินทรัพย์ (ROA) x ตัวคูณความเสี่ยง

ROE = NI/ Equity = (NI/EBIT) x (EBIT/Sales) x (Sales/Asset) x (Asset/Equity) or

ROE = (Gross profit – S&A Expense – Interest&Tax)/Sales x (Sales/Asset) x (Asset/Equity)

ROE = (GM -%S&A-%I&T) x Asset turnover x Leverage Multiplier

ผลตอบแทนผู้ถือหุ้น คือ ผลของอัตรากำไร x อัตราการหมุนเวียนของสินทรัพย์ x ตัวคูณความเสี่ยง

จากการแตก ROE พบว่าการเพิ่มผลตอบแทนหรือนผลตอบแทนผู้ถือหุ้น ขึ้นกับ 3 เรื่องหลักๆคือ

  1. อัตรากำไร (ในทุกๆขั้น) ถ้าสูง ROE จะสูง
  2. อัตราการหมุนเวียนสินทรัพย์ ถ้าสูง ROE จะสูง นั่นคือสินทรัพย์มีระดับที่เหมาะสม หรือส่วนใหญ่เป็น Performing Asset เช่นลูกหนี้หมุนเวียนดี สินค้าหมุนเวียนดี มีการลงทุนในบริษัทร่วมที่ทำกำไร ลงทุนใน PPE ที่เหมาะสม ไม่ลงทุนในสินทรัพย์ไม่มีตัวตน เช่น GW, R&D ที่มากไป สิ่งต่างๆเหล่านี้ล้วนทำให้ ROE สูงขึ้ง การมีลูกหนี้เก็บเงินช้า ลูกหนี้ก็จะหมุนช้า มึจำนวนมาก เทียบกับขายก็มีดี ก็มีผลรวมต่ออัตราการหมุนเวียนสินทรัพย์รวมด้วย เป็นต้น สินทรัพย์อื่นก็อยู่บนตรรกะเดียวกัน
  3. โครงสร้างหนี้ต่อทุน อันนี้บางคนอาจรู้สึกจะขัดแย้งว่าโครงสร้างหนี้มากๆ ทำROE สูง จะดีอย่างไร ลองม่าดูเหตุผลทางการเงินประกอบจะรู้ว่า มัน Balance ตัวเองได้โดยไม่ต้องห่วง Leverage Multiplier หรือตัวคูณความเสี่ยงนี้คือ 1+D/E เช่น บริษัทมี D/E = 1.2 ตัวคูณความเสี่ยงจะเท่ากับ 2.2 การที่บริษัทใช้เงินกู้มาบางส่วนถ้าอยู่ในระดับที่เหมาะสม ต้นทุนการเงิน (ดอกเบี้ยจ่าย) จะไม่มากเกินอัตราตลาดที่ควรได้รับ ผลคือ อัตรากำไรในข้อ 1 จะสูงอยู่ ถ้าระดับหนี้มากขึ้นต้นทุนจะยิ่งสูงขึ้นจะทำให้อัตรากำไรลดลง เพราะดอกเบี้ยจ่ายสูง ในเรื่องCapital structure อัตราการเพิ่มต้นทุนเงินกู้จะเป็นอัตราเร่ง ดังนั้นเมื่อหนี้มากเท่าไรอัตากำไรยิ่งลงเร็วมากขึ้น ซึ่ง ผลของการมี Leverage Multiplier หรือตัวคูณความเสี่ยง สูงๆ จะถูก offset ด้วยอัตรากำไรโดยอัติโนมัติ ดังนั้นใครที่คิดจะก่อหนี้มากๆ เพื่อสร้าง ROE เมิ่อถึงระดับดับหนึ่งจะทำลาย ROE เองโดยหลักทั่วไปของตลาดการเงิน บางบริษัทใช้วิธีการตีสินทรัพย์เพิ่มในส่วนทุนเพื่อดึง D/E ลง ถ้าจะลงมากๆ ต้องตีเพิ่มสูงๆ สินทรัพย์ยิ่งเพิ่มมาก E ยิ่งมาก แต่ Asset turnover ยิ่งลด ROE ก็ยิ่งลดเช่นกัน ดังนั้น D/E ดี แต่ ROE ไม่ดี ดังนั้นถ้ายึดหลักโดยเอา ROE เป็นตัวหลักจะช่วยกรองเอาความพยายาม ตกแต่งงบโดยมาตาฐานการบัญชีด้ระดับหนึ่งพอควร พวกที่ไม่ตัดหนี้สงสัยสูญกลัวกำไรลด ไม่ตีการด้อยค่าสินทรัพย์ Asset turnover ก็ฉุด ROE ทางอ้อมเอง ถ้าตีด้อยค่า ตั้งหนี้สงสัย หรือลดมูลค่าสินค้าลง สินทรัพย์ลด asset turnover เพิ่ม แต่อัตรากำไรก็ลดลง offset กันเอง กิจการที่ทำอะไรตรงไปตรงมาและถูกต้องมันจะไปได้เองโดยธรรมชาติ บริษัทที่ทำกลบัญชีมักจะมีจุดอ่อนหนึ่งคือ ROE 


และการใช้ ROE ในการคัดกรองนั้น ควรใช้ค่าเฉลี่ยราว 4-5 ปี จะดีกว่าปีล่าสุดปีเดียว ค่าปีล่าสุดที่สูงควรเทียบกับแนวโน้มว่า สูงขึ้น และค่า ROE ไม่ควรผันผวนมาก ค่า sd ของ ROE ไม่ควรมาก โดยเมื่อเอาค่า
ROE – sd x (1.96) จะได้ค่าประมาณกรอบล่างที่เป็นไปได้ ที่

ปีล่าสุดอาจจะสูงมาก แต่ถ้าหาค่าเฉลี่ย 4 ปีที่ผ่านมาอาจจะยังได้ไม่ถึงผลตอบแทนตลาด หุ้นที่เข้าหลักเกณฑ์อย่างนี้จะยังไม่ใช่หุ้นที่จะเลือกลงทุนระยะยาว แต่อาจจัดไว้ในกลุ่ม trade ได้หากมีข่าวดีในระหว่างนี้

ค่า SD/AVG ใช้ดูว่าอัตราผันผวนขึ้นลงเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยเป็นอย่างไร ค่านี้ยิ่งต่ำยิ่งดี (ต่ำกว่า 10-15% จะดีมาก) หุ้นบางตัวถ้าใช้ข้อมูลในอดีต จะมีทั้งบวกและลบสูงมาก หากภาวะเศรษฐกิจลง มีโอกาสที่จะขาดทุนมาก หุ้นนี้ถือเป็นหุ้นกลุ่มวัฏจักรดังที่เคยกล่าวมาก่อนหน้า ดังนั้นการฟื้นกลับของผลการดำเนินงานอาจต้องเข้าไปดูให้ลึก แต่ถ้า เอาแค่ trade ก็หา Price pattern หาจังหวะให้ดีเท่านั้นเอง

สมมติว่าลดทุนหรือซื้อหุ้นคืนล่ะ Equity ลดลงแน่ เพราะทั้งสองรายการส่วนทุนลดลง การลดทุนเพราะมีขาดทุนสะสมไม่กระทบเพราะมักลดทุนลงโดยตัดขาดทุนสะสมกับทุนหุ้นสามัญที่ออก แล้ว ROE ไม่ดีหรือ คำตอบคือไม่ เพราะการที่บริษัทมีขาดทุนสะสมมาแสดงว่า อัตรากำไรที่ผ่านมาติดลบจึงขาดทุนดังนั้น ROE ย่อยไม่ดีคือต่ำหรือติดลบ ดังนั้น แม้จะลดทุนก็ไม่ได้เปลี่ยนโครงสร้าง D/E จึงไม่มีอะไรดีขึ้นจากเดิม ดังนั้นการดู ROE ก็ยังคัดกรองได้

ส่วนการซื้อหุ้นคืน (Treasury Stock) เงินสดลด ทุนลด (เอาหุ้นซื้อคืนมาลบส่วนทุน) ดูแล้วน่าจะดีเพราะสินทรัพย์ก็ลด ทุนก็ลด บริษัทกยังมีกำไรดีอยู่เหมือนเดิม โดยคร่าวๆ วิธีนี้จะทำให้มูลค่าหุ้นส่วนมากเพิ่มขึ้น แต่หากพิจารณาให้ดีทางตรรกะ ก็ยังพบว่า ROE ยังใช้คัดกรองได้เช่นกัน การซื้อหุ้นคืนนี้บริษัทต้องเอาเงินสดบริษัทไปซื้อหุ้นบริษัมกลับ และอาจนำออกไปขายใหม่ (คล้ายกับระดมทุน แต่ใช้หุ้นเดิม) วิธีการบัญชีจะอย่างไรก็เถอะ ในแง่ที่ไม่ได้เป็นนักบัญชีอาจรู้สึกงงว่า มันจะไปมาอย่างไร ผมนักบัญชีรู้ครับแต่นักลงทุนรู้แล้วอาจยิ่งมีคำถามยิ่งมาก และอาจไม่เกิเประโยชน์ต่อการตัดสินใจลงทุนในสิ่งที่อยากจะรู้นัก มาดูผลภาพกว้างจาก ROE ว่าสะท้อนอย่างไร โดยปรกติ บริษัทควรนำสินทรัพย์ไปลงทุนต่อเพื่อให้เดิดประโยชน์ต่อผู้ถือหุ้น หากบริษัทมีเงินเหลือ และถ้าสามารถเอาเงินไปลงทุนให้เกิดกำไรในอัตราที่มากกว่าเดิม (ROA) ก็ไม่ควรเอามาซื้อคืน เช่น ทุกสินทรัพย์ 100 บาท บริษัททำให้เกิดรายได้ขึ้น 120 บาท และมีกำไร 10% = 12 บาท ถ้าสมมติขณะนั้นมีสินทรัพย์ 1,000 บาท มี หนี้ 200 ส่วนทุน 800 เดิมมีกำไร 120 บาท บริษัทจะเอาเงิน 200 ไปซื้อหุ้นคืน จะเหลือสิทรัพย์ 800 หนี้ 200 ทุน 600 การเอาเงินสดออกไปซื้อหุ้นคืนทำให้บริษัทเสียโอกาสหารายได้ เช่นซื้อสินค้ามาขาย จ่ายค่าโฆษณาและอื่นๆ กระตุ้นยอดขาย แต่ยังคงอัตราการสร้างรายได้ที่ AT 1.2 เท่า และอัตรากำไรที่ 10% การซื้อหุ้นคืนนี้ทำให้บริษัมยังมีกำไร 9.6 บาท ROE (คิดง่ายๆไม่ถัวเฌฉลี่ย) ก่อนซื้อ 15% (120/800) หลังซื้อ 15% (9.6/600) ดังนั้นถ้าบริษัทคงความสามารถทำกำไร (อัตรากำไร) และประสิทธิภาพการใช้สินทรัพย์ (AT Asset Turnover) คงเดิม ราคาก็จะคงเดิม แต่ถ้าการเอาเงินมาซื้อหุ้นคืนแล้วบริษัทสูญเสียโอกาสจากการใช้สินทรัพย์ในการสร้างรายได้ ROE จะลดลง โดย AT ลดลงหรือ อัตรากำไรลด หรืดลดทั้งคู๋ EPS จะลดลง หุ้นจะลง ดังนั้นบริษัทจะทำอะไรก็ตามสุดท้ายวัดที่ ROE และการดู ROE นี้ต้องดูยาวๆครับใช้ค่าเฉลี่ยเคลื่นที่วัดสัก 5 ปีขึ้นไปจะเห็นแนวโน้มชัดเจนมากกว่าดูแบบปี ต่อปี

บางครั้งแม้จะไม่รู้บัญชีลึกซึ้งมากมาย มาตรฐานการบัญชีจะเปลี่ยนโน่นเปลี่ยนนี่ แต่หลักการดู ROE เป็นเกณฑ์เบื้องต้นก็ยังใช้คัดกรองเบื้องต้นได้ ย้ำครับว่าคัดกรองเบื้องต้นได้ ที่เหลือก็ต้องดูเรื่องอื่นๆ ประกอบ เช่น P/E, P/BV, Expectation Earning growth เป็นต้น บางใช้แค่ 3-4 ตัว ก็ได้หุ้นมาวิเคราะห์ต่อได้แล้วจากหุ้นที่มีหลายร้อยตัวในตลาด

เช่นภาษีเงินได้รอตัดบัญชี ในด้านนักบัญชีอาจดูน่าตื่นเต้นเพราะมีผลกระทบต่อกำไร เช่นบริษัทที่มีสินทรัพย์ภาษีเงินได้รอตัด เมื่อลดภาษีลงก็จะทำให้ภาษีทางบัญชีต้องบันทึกค่าใช้จ่ายภาษีมากขึ้น ในแง่นักลงทุนเราจะลงทุนบริษัทที่มี ROE ดีๆ สูงๆ ดังนั้นในแง่การคัดกรองหุ้น พวกนี้ตกรอบแรกแล้วถ้ากระทบต่อกำไรอย่างมีสาระสำคัญ แล้วก่อนหน้าล่ะ ถ้าบริษัทมีสินทรัพย์ภาษีรอตัดมากๆ AT จะไม่ดีอยู่แล้วเพราะสินทรัพย์จะไม่ได้ generate รายได้ พวกนี้ก็มักตกรอบคัดเลือกด้วยหลักคัดกรอง จึงไม่น่าพลาดมาลงทุนในบริษัทที่มีสินทรัพย์ภาษีเงินได้รอตัดบัญชีมากๆ เล็ดรอดก็มีสัดส่วนน้อยจนไม่น่ากังวล แต่ปกติสินทรัพย์ภาษีเงินได้รอตัดบัญชีมักจะมีสัดส่วนไม่มากจนเป็นสาระสำคัญต่อ AT ในการวิเคราะห์จริงผมไม่ค่อยสนใจเท่าไรนัก

ส่วนหนี้สินผลประโยชน์พนักงานก็เช่นกัน พวกนี้มักมีสัดส่วนไม่มากจนกระทบโครงสร้างทุน ถ้ามากส่วนทุนก็จะลดเยอะ แต่ละปีก็อาจจะตั้งค่าใช้จ่ายมาก อัตรากำไรก็กระทบ ROE ก็แย่ พวกที่มีรายการนี้มากๆ อย่างมีสาระสำคัญก็มักตกรอบการคัดกรอง ที่ผ่านได้ ก็แสดงว่าจะไม่มีผลกระทบอย่างมีสาระสำคัญ

โดยสรุป ROE, จะสามารถใช้เป็นตัวคัดกรองได้ดีโดยดูร่วมกับ P/E และหรือ P/BV ว่าจะไม่ซื้อหุ้นราคาแพงไป และอาจดู Gross margin, Net margin, Asset turnover, D/E ประกอบด้วย แต่ผมจะเพิ่มเรื่องคุณภาพกำไรประกอบด้วย QE (Quality of Earning) = CFO/NI ควรมากกว่า > 1 อย่าลืมที่ว่ามาคือการคัดกรอง เลือกหุ้นต้องเอาพวกผ่านเข้าประกวดรอบตัดสินอีกทีนะครับ


ที่มา
 [1]https://www.facebook.com/sanpong.limthamrongkul/posts/10200384941564562
[2]https://www.facebook.com/sanpong.limthamrongkul/posts/10200384943564612




 

Create Date : 20 ธันวาคม 2556   
Last Update : 20 ธันวาคม 2556 16:12:29 น.   
Counter : 1093 Pageviews.  


กลยุทธ์การลงทุน กรณีเริ่มต้นเงินทุนน้อยๆ

 

กลยุทธ์การลงทุน กรณีเริ่มต้นเงินทุนน้อยๆ

บนโลกนี้คนส่วนใหญ่ก็ไม่ได้รวยมาตั้งแต่เกิดครับ แต่ถึงแม้ว่าจุดเริ่มต้นจะไม่เท่ากัน บางคนแต่เส้นทางที่เลือกเดินเราเลือกได้ครับ สำหรับผมตลาดหุ้นเป็นตลาดแห่งโอกาสครับ เพราะด้วยเงินออมน้อยนิดแต่ไม่กี่พันก็สามารถเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้า ร้านกาแฟและอาหารสุดหรูกลางห้างดัง โรงแรมห้าดาวกลางกรุง คอนโดสุดหรูกลางใจเมือง โรงงานผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ ฯลฯ แต่เงินน้อยๆจะทำอย่างไรต้องมีกลยุทธ์ครับ ขอนำเสนอบทความ "กลยุทธ์การลงทุน กรณีเริ่มต้นเงินทุนน้อยๆ"  โดยพี่โจ ลูกอีสานเขียนไว้ใน Thaivi [1] ครับมันยอดมาก

ผมมองผ่านภาพใหญ่ 2 ประเด็นคือ ควรจะเพิ่มเงินลงทุนให้มากที่สุด และต้องทำให้เงินลงทุนได้ผลตอบแทนมากที่สุด

1. ควรจะเพิ่มเงินลงทุนให้มากที่สุด

สามารถแยกเป็นภาพย่อยๆได้อีกคือ ควรเพิ่มรายได้ เพิ่มจำนวนเงินให้มากที่สุด และลดรายจ่ายให้มากที่สุด เพื่อเพิ่มเงินออม ที่จะนำมาลงทุน
  • เพิ่มรายได้ ผมมองในแง่คนทั่วไปที่ทำงานกินเงินเดือนไม่สูงมาก การเพิ่มรายได้สามารถทำได้โดยการหารายได้เสริม การย้ายงานใหม่ การเพิ่มความรู้เพื่อเพิ่มค่าจ้าง การแต่งงานที่คู่ชีวิตมีรายได้ด้วย (ถ้าโชคดีได้แฟนรวยจะดีมาก ) การหยิบยืมเงินจากพ่อแม่หรือญาติในระดับที่หากเสียหายก็ไม่ทำให้เดือนร้อนมาก ที่สำคัญไม่ควรกู้เงินที่ต้องจ่ายดอกเบี้ยเพื่อมาลงทุน เพราะจะมีแรงกดดันจากที่ต้องจ่ายดอกเบี้ยตลอดเวลา
  •  การลดรายจ่าย รายจ่ายที่หนักที่สุดสำหรับมนุษย์เงินเดือนส่วนใหญ่คือการผ่อนรถ-ผ่อนบ้าน คุณสุวภา ผู้เขียนหนังสือ show me the money เคยพูดไว้ว่าตัวอย่างการใช้เงินที่เลวที่สุดของหนุ่มสาวที่กำลังสร้างอนาคตคือการซื้อรถ  แต่ประเด็นนี้มีการถกเถียงกันพอสมควร หลายท่านอาจจะบอกว่าทั้งบ้านและรถเป็นสิ่งจำเป็นที่ขาดไม่ได้ หรือต้องใช้ประกอบการทำงาน ซึ่งผมก็เห็นด้วยในบางประเด็น แต่ถ้ามองรอบด้าน เราอาจจะพบว่ามีทางเลือกอื่นๆอีก ที่ทำให้สามารถประหยัดรายจ่ายส่วนนี้ได้ เช่น 
    • แทนที่จะผ่อนบ้าน เราอาจจะอดทนอาศัยอยู่กับพ่อแม่ พี่น้อง ญาติ เพื่อนที่สนิท หรือแม้แต่การเช่าบ้านที่ค่าเช่าไม่สูงมาก เหล่านี้แม้จะไม่สะดวกสบายเท่า แต่สามารถประหยัดทั้งดอกเบี้ยผ่อนและยังสามารถนำเงินต้นไปหาดอกผลจากการลงทุน 
    • แทนที่จะผ่อนรถ เสียทั้งเงินต้นและดอกและยังมีค่าใช้จ่ายน้ำมัน ทางด่วน ซ่อมแซม ค่าประกัน เหล่านี้เป็นเงินจำนวนมากที่เราคาดไม่ถึง เราอาจจะใช้บริการขนส่งสาธารณะ เช่น รถเมล์ รถไฟฟ้า รถแท็กซี่ หรือกระทั่งซื้อรถมือสองที่ราคาถูกกว่ามาก หรือหากยังมีค่าใช้จ่ายสูง ก็อาจจะต้องเปลี่ยนงาน หรือย้ายบ้าน ย้ายที่พักซะเลย ให้ที่ทำงานกับที่พักอยู่ใกล้ๆกันเพื่อประหยัดค่าเดินทาง
    • รายจ่ายอื่นๆที่พอจะประหยัดได้เช่น ค่าใช้จ่ายโทรศัพท์มือถือ ที่เราต้องจ่ายทุกเดือน ถ้าคิดเป็นรายจ่ายทั้งปีเราอาจจะตกใจ ทางเลือกคือ เราอาจะโทรน้อยลง หรือไม่โทรเลย (ไม่โทรไม่ตายซักหน่อย )เปลี่ยนเครื่องนานๆครั้ง ใช้เครื่องถูกๆ 
ข้างต้นที่เขียนมาคงทำได้ไม่ง่ายครับ เพราะรายจ่ายเหล่านี้ คนปกติทั่วไปในสังคมเค้าทำกัน เรียกว่าบินก่อน ผ่อนทีหลัง เอาสบายไว้ก่อน เรื่องอืนค่อยว่ากัน แต่หากเราต้องการที่จะแตกต่างจากคนอืนๆ(อยากรวย  ) เราควรจะทำให้ได้ อาจจะในรูปแบบหรือวิธีที่ต่างกันออกไปตามฐานะ ความจำเป็นของแต่ละคน

ประเด็นแรกการหากเงินมาลงทุนให้มากที่สุด ผมคงไม่เน้นมากครับ แต่จะไปเน้นในประเด็นที่สองคือทำอย่างไรให้เงินลงทุนได้ผลตอบแทนมากที่สุด

2. ทำอย่างไรให้เงินลงทุนได้ผลตอบแทนสูงสุด


ประเด็นนี้เชื่อว่านักลงทุนทุกคนต่างต้องการ และยิ่งหากมีเงินลงทุนไม่มาก การทำผลตอบแทนให้สูงๆยิ่งมีความสำคัญ การมีเงินลงทุนน้อยๆและทำผลตอบแทนในระดับปกติ เช่น 10-15% ต่อปี กว่าที่เงินลงทุนจะเติบโตสมมุติ 1 เท่าตัว อาจใช้เวลา 5-6 ปี ซึ่งอาจจะน่าพอใจหากเปรียบเทียบกับผลตอบแทนกับเงินฝาก แต่อาจจะน้อยไปเมื่อเทียบกับเวลาที่ใช้ในการศึกษาการลงทุน นอกจากนั้นแม้เงินทุนจะเพิ่มขึ้นมาระดับนี้ แต่ด้วยเงินเริ่มต้นที่น้อย กำไรที่ทำได้ก็น้อยไปด้วย  และสุดท้ายจะพาลทำให้นักลงทุนหมดกำลังใจ เพราะดูเหมือนการลงทุนอย่างนี้ทำให้รวยช้า  อาจหันเหไปเก็งกำไร หรือไปเสี่ยงโชคกับการธุรกิจอื่นๆ ที่เห็นว่าจะทำให้รวยเร็วกว่า


การเพิ่มเทคนิค กลยุทธ์เพียงเล็กๆน้อยๆ สำหรับพอร์ตการลงทุนเล็กๆ อาจจะเพิ่มผลตอบแทนได้อย่างน่าพอใจ ที่จริงกลยุทธิ์เหล่านี้เพื่อนๆหลายท่านก็ทราบกันดีจากที่โพสต์มา แต่หากนำมาเรียบเรียงรวมกันเป็นหมวดหมู่ จะเป็นประโชน์กับเพื่อนๆได้พิจารณาเป็นทางเลือกใหม่ครับ :D



กลยุทธ์ที่ผมพอจะคิดออก หรือท่านใดจะเสริม มีดังนี้ครับ



  • 1. การทำการบ้าน(หุ้น) ไม่แน่ใจว่าเป็นกลยุทธ์หรือเปล่า แต่ผมเชื่อว่านี่เป็นการแปรเปลี่ยนจุดอ่อนให้เป็นพลัง-เป็นแรงบันดาลใจที่ชัดเจนที่สุด ยิ่งหากเราพอร์ตเล็กเท่าไหร่ เราก็ควรจะทำการบ้าน ศึกษาหาข้อมูลหุ้นให้มากขึ้นเท่านั้น มีเพียงสิ่งนี้สิ่งเดียวที่เราควบคุมได้โดยตรง ทำให้ทุกเวลา ทุกนาที โดยไม่ขึ้นอยู่กับคนอื่น  หากเราไม่มีความรู้ที่จะหาหุ้น ไม่มีความรู้ด้านบัญชี ด้านการเงิน วิธีทีดีที่สุด  ก็คือต้องไปเรียน หาหนังสือมาอ่าน หากไม่มีเวลา ไม่ค่อยมีเงิน ผมแนะนำให้ลงเรียนที่ม.รามคำแหง บัญชีเบื้องต้น หรือการวิเคราะห์ทางด้านการเงิน ไม่ต้องเสียเวลาไปเรียน ซื้อหนังสือซื้อชีทมาอ่าน ก็เข้าใจได้ครับ
  • 2. ไปหาปลาตรงที่มีปลา เนื่องจากเราตั้งโจทย์ว่าเราต้องการผลตอบแทนสูงๆ ดังนั้นเราก็ต้องหาประเภทของหุ้นที่มีโอกาสให้ผลตอบแทนสูงๆ เสมือนไปหาปลาตรงที่ๆมีปลา ข้อสังเกตุของผมหุ้นที่ให้ผลตอบแทนสูงๆ มักเป็นหุ้นขนาดกลางถึงขนาดเล็ก หุ้นเหล่านี้แม้มีความเสี่ยงทางธุรกิจบ้าง แต่การเพิ่มยอดขายหรือผลกำไรจะทำใด้เร็วกว่าหุ้นมั่นคงขนาดใหญ่มาก ธุรกิจที่มีกำไรเพิ่มขึ้น ราคาหุ้นก็จะเพิ่มขึ้นเป็นสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน   นอกจากนั้นหุ้นเหล่านี้ไม่คอ่ยมีนักวิเคราะห์คอยติดตาม ทำให้โอกาสที่จะเจอหุ้นที่ต่ำกว่ามูลค่าที่ควรจะเป็นมีสูง

    หลักทรัพย์บางประเภทเช่นวอร์แรนต์ที่นักลงทุนมักหลีกเลี่ยงเพราะมีความเสี่ยงสูง ทั้งที่ในความเป็นจริงวอร์แรนต์เหล่านี้ในอนาคตก็คือหุ้นสามัญนั่นเอง ดังนั้นเราควรใช้บรรทัดฐานในการประเมินมูลค่าวอร์แรนต์ในทำนองเดียวกับที่เราประเมินมูลค่าหุ้น หากมูลค่าวอร์แรนต์ต่ำกว่ามูลค่าที่ควรจะเป็น ก็ไม่มีเหตุผลที่เราจะหลีกเลี่ยงการลงทุนในวอร์แรนต์ และที่จริงการลงทุนในวอร์แรนต์โดยปกติจะให้ผลตอบแทนที่ดีกว่าหุ้นสามัญ เพราะคุณสมบัติจากอัตราทวีผลหรือ Gearing นั่นเอง นักลงทุนที่แสวงหากำไรสูงๆ ไม่ควรมองข้ามการลงทุนในวอร์แรนต์ครับ
  • 3. มองหาตัวเร่งเร้า(ที่รุนแรง) หมายถึงมองหาปัจจัยที่จะเร่งให้กำไรของกิจการเพิ่มสูงขึ้นมาก ซึ่งจะหมายถึงราคาหุ้นที่เพิ่มสูงขึ้นมากด้วย ตัวเร่งในที่นี้อาจจะเป็นอะไรก็ตาม ที่จะทำให้กำไรของกิจการเพิ่มขึ้นทั้งโดยตัวพื้นฐาน เช่น การขยาย ปรับปรุงกำลังการผลิต การขยายตลาด รวมถึงการเจริญเติบโตปกติของกิจการ การกลับตัวของดีมาน-ซัพพลายของอุตสาหกรรม การซื้อกิจการ การเพิ่มปันผล  กำไรพิเศษ นอกจากนั้นยังอาจเป็นตัวเร่งทางปัจจัยจิตวิทยา เช่น การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้น หรือผู้บริหาร การแตกหุ้น การแจกวอร์แรนต์

    หากเปรียบเทียบการลงทุนในหุ้น 2 ตัว ที่มีปัจจัยทางด้านอื่นๆเหมือนๆกันหรือคุณภาพพอๆกัน หุ้นตัวที่มีตัวเร่ง มีแนวโน้มที่จะให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า
  • 4. เริ่มต้นลงทุนให้เร็วที่สุด เพราะการที่พอร์ตการลงทุนจะโตมากๆ ต้องอาศัยการทบต้นหรือการนำกำไรไปลงทุนต่อ ดังนั้นในปีหลังๆพอร์ตการลงทุนจะเพิ่มขึ้นเร็วมากเพราะเงินต้นมากกว่า แม้จะทำผลตอบแทนได้เท่าเดิม  การลงทุนให้เร็วที่สุด จะทำให้เราไปถึงจุดที่เงินลงทุนออกดอกออกผลได้เร็ว นอกจากนั้น การที่เราเริ่มลงทุนเร็ว เท่ากับว่าเราได้เริ่มเรียนรู้เร็วไปด้วย ซึ่งความรู้จะพอกพูนไปตามวันเวลา และประสบการณ์ที่เพิ่มขึ้น

    เคยมีผลการวิจัยศึกษา พบว่านักลงทุนที่เริ่มต้นลงทุนด้วยเงินเท่าๆกัน ทำผลตอบแทนได้เท่าๆกัน ต่างกันตรงที่เริ่มลงทุนห่างกันหลายปี เมื่อเวลาผ่านไป ผลตอบแทนของทั้งสองคนจะห่างออกจากกันมากขึ้น เสมือนเส้น 2 เส้นที่ลากออกจากจุดเดียวกัน เส้นทั้ง 2 ทำมุมกันเพียงเล็กน้อย ถ้าลากเส้นยาวขึ้นเรื่อยๆ เส้นทั้งสองจะออกห่างกันมากขึ้นทุกที
  • 5. ผู้บริหารในฝัน เพราะผู้บริหารที่ดีจะทำให้ผู้ถือหุ้นได้รับผลตอบแทนมากกว่าปกติ ผู้บริหารที่นักลงทุนควรมองหาคือ มีความรู้ซึ้งในธุรกิจที่ทำ มีความซื่อสัตย์ มีความโปร่งใสในการเปิดเผยข้อมูล  มี passtion ในงานที่ทำ มีความกระหายที่จะทำให้บริษัทเติบโตและที่สำคัญต้องมองผลประโยชน์ในมุมมองเดียวกับผู้ถือหุ้นรายย่อย

    ถ้าเจอผู้บริหารที่มีคุณสมบัติข้างต้น ช่วยสะกิดบอกผมด้วย เพราะนี่เป็นสัญญานที่ดีที่จะเจอหุ้นดีๆ การศึกษาปัจจัยพื้นฐานด้านอื่นๆประกอบเป็นสิ่งจำเป็นก่อนที่เราจะตัดสินใจลงทุนต่อไป

    (เทคนิคไม่ยากที่เราอาจจะพบผู้บริหารอย่างนี้ สังเกตุจากบริษัทที่เข้าร่วมงาน oppurtunity day บ่อยๆ เพราะนั่นแสดงว่าผู้บริหารบริษัทเหล่านี้ กล้าที่จะเปิดเผยต่อนักลงทุนรายย่อย แสดงว่าผู้บริหารอาจจะมั่นใจว่าบริษัทดีจริง)
  • 6. ถือหุ้นน้อยตัว หากเรามีเงินทุนน้อย การกระจายการถือหุ้นหลายๆตัว อาจทำให้เรารู้สึกปลอดภัยมากขึ้น แต่ผลตอบแทนที่ได้จะหักล้างกันทำให้ผลตอบแทนไม่สูงเท่าที่ควร การเลือกที่จะถือหุ้นน้อยตัวเช่น 2-5 ตัว จะทำให้เรามีความรอบคอบ พิถีพิถันที่จะเลือกถือหุ้นในกลุ่มที่ดีที่สุด ให้ผลตอบแทนสูงที่สุด (ภายใต้ความเสี่ยงที่รับได้) และหากเราวิเคราะห์ได้ถูกต้อง ผลตอบแทนที่ได้รับจะคุ้มค่า

    ตัวเลข 2-5 ตัวอาจจะปรับเปลี่ยนได้ตามระดับความมั่นใจในพื้นฐานของหุ้นที่เราจะลงทุน
  • 7. คาดหวังผลลัพธ์ 100% เลือกลงทุนในหุ้นที่มีโอกาสได้กำไรสูงที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับความเสี่ยง แม้หุ้นเหล่านี้อาจจะมีความไม่แน่นอนอยู่บ้าง แต่เป็นหน้าที่ของนักลงทุนที่จะศึกษาให้มากที่สุด เพื่อลดความเสี่ยงนี้ แน่นอนว่าในการลงทุนทุกอย่าง เราไม่สามารถที่จะหลีกเลี่ยงความเสี่ยงได้ หากเราลงทุนในหุ้นที่แพ้ เราจะแพ้ หากเราเลือกลงทุนในหุ้นที่มีโอกาสทั้งชนะและแพ้ เราจะมีโอกาสทั้งชนะและแพ้ ขึ้นอยู่กับว่าเราศึกษามากน้อยแค่ไหน และบางทีก็เป็น โชคชะตา..
  • 8. Growth always better ถ้าหากหลายท่านจำกันได้ กระทู้ของคุณริวกะเมื่อไม่นานมานี้ TVI Index ที่จริงอาจจะมีเพื่อนๆเอะใจว่า คำตอบการลงทุนที่เราค้นหามานาน อาจจะซ่อนอยู่ในกระทู้ที่ว่านี้ก็ได้ คำตอบที่ผมหมายถึงคือหากเราดูผลตอบแทนย้อนหลังของหุ้นหลายๆตัวที่ทำกำไรสูงๆ ในกระทู้นั้น สิ่งที่เหมือนกันอยู่อย่างหนึ่งคือ ทุกบริษัทเป็นหุ้นเติบโตสูงหรือ growth stock ทั้งสิ้น คำอธิบายแบบเรียบง่ายคือราคาหุ้นขึ้นอยู่กับกำไรที่กิจการทำได้ ถ้ากำไรเพิ่ม ราคาหุ้นก็เพิ่ม คนที่ถือไว้ก็ได้กำไร นักลงทุนทั่วโลกที่ประสบความสำเร็จทั้งในอดีตและปัจจุบัน จะมีหุ้นเติบโตสูงอยู่ในพอร์ตเสมอๆ  ...เวลาจะเป็นเพื่อนที่ดีเสมอ หากเราลงทุนในหุ้นโกรท...
กลยุทธ์สำหรับนักลงทุนเบี้ยน้อยหอยน้อย คงมีแค่นี้ครับเท่าที่คิดออก :lol:  ถ้าเพื่อนๆมีความเห็นอื่นจะเสริมก็จะเป็นประโยชน์ครับ และที่ต้องขอย้ำคือกลยุทธ์ส่วนใหญ่ คงเหมาะสมกับนักลงทุนที่มีความรู้การลงทุนในระดับนึงแล้ว และจะไม่เหมาะกับนักลงทุนมือใหม่ ถ้าถามว่ากลยุทธ์ข้อไหนที่สำคัญและจำเป็นที่สุดคงเป็นข้อแรก ถ้าไม่มีข้อแรก ประเด็นอื่นๆก็จะไม่ตามมา

ผมและเพื่อนท่านอื่นๆอาจจะเป็นผู้ชี้ทางเท่านั้น แต่นักลงทุนต้องเดินทางด้วยตัวเองครับ ระหว่างทางอาจจะมีความยากลำบาก มีอุปสรรค มีเพียงทัศนคติที่ถูกต้อง ความตั้งใจ และกำลังใจ จะทำให้เราไปถึงจุดหมายครับ มีบทกวีบทหนึ่ง นำมาฝากเป็นกำลังใจด้วยครับ


เมื่อเริ่มสู้นั้น มันมืดยิ่งกว่ามืด...
ครั้นยืนหยัดยาวยืด มืดค่อยหาย...
พอมองเห็นรางราง อยู่ทางปลาย...
ชัยชนะ ขั้นสุดท้าย ไม่เกินรอ...
ที่มา
[1]//board.thaivi.org/viewtopic.php?f=35&t=26058




 

Create Date : 20 ธันวาคม 2556   
Last Update : 20 ธันวาคม 2556 16:08:47 น.   
Counter : 726 Pageviews.  


การวิเคราะห์วงจรเงินสด (Cash Cycle) ของกิจการ

การวิเคราะห์วงจรเงินสด (Cash Cycle) ของกิจการ

Cash Conversion Cycle (CCC) หรือ บางครั้งเรียกง่าย ๆ ว่า Cash Cycle หรือ วงจรเงินสด นั้นเป็นวิธีการหนึ่งที่ใช้ในการพิจารณาสภาพคล่องของกิจการ โดยตัวเลขที่ได้ เป็นตัวเลขสมมุติให้ผู้บริหารพอมีไอเดียเกี่ยวกับการใช้เงินสดของตนว่าบริษัทใช้เงินสดลงทุนซื้อวัตถุดิบและผลิตสินค้าหรือซื้อสินค้ามารอในสต๊อกจนกระทั่งมีการขายออกไปและสามารถเก็บเงินลูกค้าได้เงินสดกลับมา หมดสิ้นขั้นตอนนี้ใช้เวลากี่วัน บางบริษัทก็อาจมีวงจรเงินสดที่ยาวมาก บางบริษัทอาจสั้น หรือถึงขนาดติดลบก็มี

ผู้เขียนขอพูดถึงวิธีคำนวณอย่างง่าย เพื่ออธิบายแนวความคิดสำหรับผู้เริ่มต้น แต่หากต้องการลงลึก อยากให้ผู้อ่านไปศึกษาต่อถึงวิธีการคำนวณที่ละเอียดถูกต้องกว่านี้ วิธีอย่างง่ายคือ

Cash Cycle (วัน) = Inventory Conversion Period (ICP) + Receivable Conversion Period (RCP) - Payable Conversion Period (PCP)

ระยะเวลาขายสินค้า Inventory Conversion Period (ICP)

ICP นั้นคือการพิจารณาว่าบริษัทผลิตสินค้าแล้วขายออกไปได้ภายในกี่วัน คำนวณจาก Inventory / (Cost of Goods Sold/365) โดย Inventory คือสินค้าคงคลังเฉลี่ย เราหาได้จากงบดุล หารด้วยต้นทุนสินค้าขายต่อวัน ก็จะทำให้เราทราบว่า จำนวนสินค้าที่ผลิตหรือซื้อมาเตรียมขายนั้นสามารถถูกขายไปได้หมดภายในกี่วัน นอกจากเราจะเอาตัวเลขที่ได้นี้ไปใช้คำนวณ Cash Cycle แล้ว ในเบื้องต้นเรายังสามารถพิจารณาได้อีกว่า จำนวนวันขายที่ว่านี้มันเหมาะสมหรือไม่ เช่นหากสินค้าที่เราขายนั้นเป็นสินค้าที่มีโอกาสตกรุ่นทุก 6 เดือน แต่เราคำนวณวันขายออกมาได้ 300 วัน แสดงว่าบริษัทนี้มีปัญหาขายของในสต๊อกไม่ทันตกรุ่นแน่นอน หรือในทางตรงกันข้าม จำนวนวันขายที่คำนวณออกมาต่ำเกินไปก็อาจแปลว่า บริษัทบริหารแผนผลิตไม่ดีและมีสินค้าไม่พอขายเสียโอกาสโดยไม่จำเป็น

อย่างไรก็ตาม บริษัทที่บริหารการผลิตแบบ Just in Time อาจมีจำนวนวันขายที่สั้นมากเพราะผลิตเมื่อมีคำสั่งซื้อเข้ามา หรือธุรกิจค้าปลีกที่ซื้อมาขายไป ด้วยระบบคลังสินค้าแบบ Cross Docking ที่รับมาแล้วส่งต่อไปยังร้านสาขาและวางจำหน่ายบนชั้นสินค้าให้ไวที่สุด อย่างพวกร้านสะดวกซื้อ หรือร้านหนังสือ ก็อาจจะมีจำนวนวันขายที่สั้นมากได้ ซึ่งแบบนี้ถือว่าดี

ระยะเวลาเก็บหนี้ Receivable Conversion Period (RCP) 

สำหรับ RCP (Receivable Conversion Period) นั้นคำนวณจาก Receivable / (Sales/365) หรือ จำนวนลูกหนี้การค้าที่หาได้จากงบดุล หารด้วย ยอดขายจากงบกำไรขาดทุน ปรับให้เป็นยอดขายเครดิตต่อวัน ซึ่งจะทำให้ผู้บริหารทราบว่า บริษัทสามารถเก็บหนี้เฉลี่ยได้ภายในกี่วัน โดยนอกจากประโยชน์ในการเอาไปรวมคำนวณ Cash Cycle แล้ว เบื้องต้นยังสามารถพิจารณาตัวเลขว่ามันเหมาะสมกับธรรมชาติธุรกิจหรือไม่ เช่นหากนโยบายบริษัทระบุไว้ว่าให้เครดิตลูกค้าไม่เกิน 45 วัน แต่ตัวเลขวันเก็บหนี้ที่คำนวณได้นั้นเกินไปมาก เช่น 70 วัน นั่นอาจแปลว่าบริษัทมีปัญหาในการเก็บหนี้ และการขายได้มากแต่ทำให้วันเก็บหนี้ยาวขึ้น จะทำให้เงินสดของบริษัทถูกดึงเข้าไปหมุนในระบบมากขึ้นและนานขึ้น ไม่ได้หมุนกลับเป็นเงินไหลเข้ามาเสียที และสุดท้ายอาจทำให้บริษัทมีปัญหาสภาพคล่องได้

โดยเฉพาะอย่าลืมว่า เงินสดของบริษัทนี้มีต้นทุน WACC แต่เครดิตที่ให้ลูกค้าไปนั้นไม่สามารถเรียกเก็บดอกเบี้ยได้

ระยะเวลาชำระเจ้าหนี้การค้า Payable Conversion Period (PCP)

PCP (Purchase Receivable Period) คำนวณจาก Purchases/ (Cost of Goods Sold/365) เจ้าหนี้การค้า (จากงบดุล) หารด้วย ต้นทุนสินค้าขายต่อวัน (งบกำไรขาดทุน) ตัวเลขนี้จะบอกจำนวนวันที่เราชำระหนี้การค้า หากจำนวนวันสูงอาจแสดงว่าเราใช้เครดิตให้เป็นประโยชน์ได้ดี และจำนวนวันต่ำก็อาจแปลว่าเรามีอำนาจต่อรองน้อย หรือ อาจเป็นการซื้อเงินสดเพื่อให้ได้ส่วนลดจำนวนมากก็เป็นได้ โดยทั่วไปแล้วจำนวนวันชำระหนี้นี้ยิ่งมากน่าจะดี เพราะ เจ้าหนี้การค้า เป็นหนี้ที่ไม่มีดอกเบี้ย เหมือนเรายืมเงินคนอื่นเข้ามาหมุน หากยืมมาได้นาน แต่ขายแล้วเก็บเงินสดได้ เรายังสามารถนำเงินดังกล่าวไปลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้นเพื่อให้ได้ดอกเบี้ยอีกด้วย

วงจรเงินสด Cash Cycle

เมื่อเราคำนวณทั้ง ICP+RCP-PCP ได้แล้ว เราก็ได้ตัวเลข Cash Cycle ออกมาว่าเป็นจำนวนกี่วัน ในธุรกิจค้าปลีกที่แข็งแกร่งเราอาจเห็น Cash Cycle ติดลบได้ และเมื่อเรานำ Cash Cycle ของหลายปีมาเรียงต่อกัน เราอาจเห็นภาพประสิทธิภาพในการใช้เงินสดของบริษัทว่ามันดีขึ้นหรือเลวลง ผู้เขียนพิจารณา Cash Cycle ของบริษัทที่ตนสนใจทุกครั้งก่อนการลงทุน แต่หากขี้เกียจคำนวณเอง เราก็สามารถหาอ่านได้จากรายงานประจำปี ที่เขามักจะมีสรุปไว้ให้ได้

ที่มา
[1]https://www.facebook.com/OutOfMyMindOnValueInvestment/posts/525842104110376
[2]https://www.facebook.com/OutOfMyMindOnValueInvestment/posts/526216367406283




 

Create Date : 20 ธันวาคม 2556   
Last Update : 20 ธันวาคม 2556 16:02:01 น.   
Counter : 1118 Pageviews.  


หลักการอ่านงบการเงิน

 

หลักการอ่านงบกระแสเงินสด

สรุปแนวทางการเข้าใจและวิเคราะห์งบกระแสเงินสดง่ายๆครับ
1. รู้จักที่มา (+) ที่ไป(-) ของเงิน

  • ที่มาของเงิน (+) รายได้, สินทรัพย์ลด, หนี้สินเพิ่ม, ทุนเพิ่ม
  • ที่ไปของเงิน (-) รายจ่าย, สินทรัพย์เพิ่ม, หนี้สินลด, ทุนลด

2. การจัดประเภท ในทางธุรกิจเงินเข้าออกได้ 3 ช่องทาง

  • 2.1. กระแสเงินสดจากการดำเนินงาน (Cash flow from operation : CFO) ทำมาค้าขาย
    • 2.1.1. กระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงในสินทรัพย์และหนี้สินดำเนินงาน
       = กำไร + ค่าใช้จ่ายที่ไม่ใช่เงินสด – รายได้ที่ไม่ใช่เงินสด
    • 2.1.2. การเปลี่ยนแปลงในสินทรัพย์หมุนเวียน และหนี้สินหมุนเวียน ยกเว้นเงิน OD จัดประเภทในกระแสเงินสดจากการจัดหาเงิน
  • 2.2. กระแสเงินสดจากการลงทุน (Cash flow from investing : CFI) ซื้อ/ขาย สินทรัพย์ถาวร
     = การเปลี่ยนแปลงในสินทรัพย์ไม่หมุนเวียน
  • 2.3. กระแสเงินสดจากการจัดหาเงิน (Cash flow from financing : CFF) กู้หนี้ ระดมทุนทุน
     = การเปลี่ยนแปลงในเงิน OD, หนี้ระยะยาว, และส่วนของผู้ถือหุ้น

3 แนวทางการวิเคราะห์

  • บริษัทที่ดีต้องมีทั้งกำไรทางบัญชีและกำไรที่เป็นเงินสด 
  • บริษัทที่ดี งบกระแสเงินสดจะเป็นเป็น บวก, ลบ, ลบ, และ CFO ใกล้ๆกำไรสุทธิ 
  • อัตราส่วนคุณภาพกำไร = CFO/กำไรสุทธิ
  • ในช่วงลงทุน เช่นสร้างโรงงานใหม่CFO จะลบเยอะต้องกู้เงินหรือเพิ่มทุนมาลงทุน CFF
  • แม้บริษัทจะขาดทุนบัญชีแต่งบกระแสเงินสดยังเป็น บวก, ลบ, ลบ แสดงว่ายังมีเงินหมุนไม่เจ้งแน่แต่ในทางกลับกันถ้างบขาดทุนบัญชีด้วยขาด CFO ด้วยอาจเจ้งได้ง
  • ถ้าบริษัทมีกำไรบัญชีเยอะแต่ไม่มีเงินสดอาจมีกำไรพิเศษ




 

Create Date : 20 ธันวาคม 2556   
Last Update : 20 ธันวาคม 2556 15:57:18 น.   
Counter : 450 Pageviews.  


วิธีวิเคราะห์ว่าบริษัทจะเจ้งหรือไม่

  ลงทุนหุ้น turnaround ให้รวยขั้นแรกต้องมั่นใจก่อนว่าบริษัทที่จะลงทุนต้องไม่เจ้งไปซะก่อน เรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งคือเรื่องหนี้สินไม่ว่าธุรกิจคุณจะเป็นเช่นไรยังไงก็ต้องจ่ายหนี้ การใช้อัตราส่วนการวิเคราะห์ความอยู่รอด Solvency Ratio (Leverage Ratio) เป็นอัตราส่วนที่จะตอบคำถามว่าบริษัทว่ามีภาระหนี้มากน้อยเพียงใด และธุรกิจมีปัญหาจ่ายหรือไม่ อยากรู้รายละเอียดเชิญอ่านบทควาามเรื่องนี้จาก อ.สรรพงศ์ ลิมป์ธำรงกุล[1] โดยพลัน

Financial leverage: ความเสี่ยงทางการเงิน
อัตราส่วนการวิเคราะห์ความอยู่รอด Solvency Ratio (Leverage Ratio) อัตราส่วนกลุ่มนี้เป็นเครื่องชี้ถึงความสามารถในการชำระภาระหนี้สินของกิจการในระยะยาว ซึ่งสำคัญอย่างมากต่อผู้ที่เน้นการลงทุนระยะยาวจริงๆ (ไม่ใช่นักลงทุนประเภท Trading ที่อาจเก็งแต่ผลประกอบการรายไตรมาส ซื้อหุ้นโดยหวังผลเรื่องการเติบกำไรแจะเป็นแรงขับดันราคาหุ้น) แต่สำหรับคนที่จะลงทุนระยะยาวโดยไม่ได้กังวลกับความผันผวนราคาฃรายวัน รายเดือน นอกจากอัตราส่วนสภาพคล่อง (Liquidity) ความสามารถในการทำกำไร (Profitability) ประสิทธิภาพ (Efficiency: พวก Turnover ต่างๆ) แล้ว ตัวที่ละเลยไม่ได้เลยคือ อัตราส่วนความอยู่รอด (Solvency) ที่มีอยู่หลายค่า ตามแต่ที่จะใช้กัน เช่น 

  1. Debt to Equity Ratio (D/E Ratio) = Total Debt / Total Equity
  2. Debt to Asset Ratio = Total Debt / Total Assets
  3. Short-term Debt to Total Debt = S-T Debt / Total Debt 
  4. Interest Coverage Ratio or Times interest Earned = EBIT/ Interest Expense
  5. Modified Interest Coverage Ratio = CFO before interest and tax / Cash of interest payment
  6. Modified Debt Principal Payback Period (Debt Coverage Ratio)= Long-term Liabilities / CFOOr Implied Debt Coverage Ratio = Debt / EBITDA
บางอัตราส่วนก็ไม่ได้ตีความต่างกันนัก เช่น Debt to Equity Ratio (D/E Ratio) กับ Debt to Asset Ratio แต่ที่นิยมก็คือ D/E จะใช้ตัวใดก็ได้ เพียงแต่ตีความให้เป็นเท่านั้น เพราะทั้งสองค่านี้ตีความเหมือนกัน เช่นบริษัทหนึ่งมี D/E เท่ากับ 0.4 ถ้าหาเป็น D/A = 0.29 เพราะ A = D + E เมื่อ D/E = 0.4 แสดงว่า ถ้ามี หนี้สิน Debt อยู่ 4 จะมี Equity อยู่ 10 นั่นคือจะมี Asset เท่ากับ 14 การตีความ D/E หมายถึงโครงสร้างแหล่งทุนบริษัทดังกล่าวมีโครงสร้างการจดห่แหล่งเงินทุน ใช้หนี้สินรวม 40% เทียบกับใช้จากส่วนทุน 100% ค่านี้จะดีหรือไม่ขึ้นกับว่าเมื่อเปรียบเทียบกับอุตสาหกรรมเป็นอย่างไรนั่นคือประเด็นหนึ่ง เพราะหากบริษัทเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมแล้วส่วนใหญ่อยู่ที่ 0.6 แสดงว่า มีโครงสร้างทุนที่เสี่ยงน้อยกว่าแต่ในด้านหนึ่ง ROE อาจต่ำกว่าอุตสาหกรรม แต่นั่นไม่ใช่ข้อสรุปว่าหุ้นนี้ไม่ดี เพราะการมี ROE ที่ต่ำกว่าในขณะที่ความเสี่ยงต่ำกว่านั้น เท่ากับความเสี่ยงกิจการได้ลดลง ทำให้ Expected return ของ Market ที่มีต่อหุ้นลดลงด้วย (High risk High return) ซึ่งได้เคยพุดถึงเรื่องทฤฌฎีโครงสร้างทุนเกี่ยวเรื่องนี้ ไว้บ้างแล้ง ซึ่งค่าความสัมพันธ์ 
ในทฤษฎีการเงินเรื่อง capital structure ต้นทุนหุ้นทุนจะผันแปรโดยตรงกับ D/E เมื่อ 
rk = ผลตอบแทนหุ้นทุนที่ มี Leverage ที่ D/E
r0 = ผลตอบแทนหุ้นทุนที่ ไม่มี Leverage หรือที่ D/E = 0 
rd = ผลตอบแทนหุ้นกู้หรือต้นทุนเงินกู้ 
rk = r0 + (D/E) * (r0 - rd)
เราสามาสรุปแบบคร่าวๆคือ Expected return ของหุ้นที่มี D/E ต่างกัน จะต่างกันราว (D/E1 – D/E2)*r0 แต่ตัวปัญหาก็คือ r0 นี่แหละจะเท่าไรดี ซึ่งควรอยู่ระหว่าง rf (risk free rate) กับ rm (Market return rate)

แต่เอาละนั่นคือภาคทฤษฎี เราไม่ต้องพยายามหาตัวเลขเป๊ะๆหรอก เอาแค่รู้ว่าเมื่อ D/E ของหุ้นสองตัวไม่เท่ากัน หุ้นที่มี D/E สูงกว่าย่อมต้องการ Required of return สูงกว่า ถ้าโยงไปถึง P/E = b / (k-g) แม้จะมีอัตราการจ่ายปันผลเท่ากันและมี growth เท่ากัน แต่ P/E ก็ไม่เท่ากัน เพราะ k หรือ rk จะต่างกันเอาเท่านี้ก็คงพอนึกออกแล้วนะครับว่าทำไมหุ้นมันถึงขึ้นลงมากน้อย (ผันผวน) ต่างกัน ทำไมบางตัว P/E ถึงได้ต่ำแล้วต่ำอีก อุตส่าห์เลือกตัว P/E ต่ำกว่าอุตสาหกรรมยังติดดอยอีก

ส่วนการคีความ D/A คือ ให้อ่านความหมายว่าในการจัดหาสิทรัพย์นั้นใช้หนี้เท่าไร ใช้เงินส่วนของเจ้าของเท่าไร จากตัวอย่างเดิม D/E 0.4 มี D/A = 0.29 (หรือราว 0.3) แสดงว่าสินทรัพย์ 100 บาท กู้มา 30 เจ้าของลงทุน 70 ในการจัดหามา เหมือนกันจะดูว่าดีหรือไม่ก็ต้องเทียบกับอุตสาหกรรม แต่ตัวนี้ลูกเล่นในทางการเงินตรงๆ มีน้อยไม่เท่า D/E ดังที่กล่าวมา นักการเงินเลยไม่นิยมนักเพราะถ้าจะใช้ก็ต้องแปลงเป็น D/E 

ส่วนข้อ 3 Short-term Debt to Total Debt ขึ้นกับแต่ละอุตสาหกรรม เพราะแต่ละอุตสาหกรรมมี โครงสร้างสินทรัพย์หมุนนเวียน และไม่หมุนเวียนต่างกันไปตามลักษณะอุตสาหกรรม เช่นหุ้นอุตสาหกรรมผลิต (หุ้นโรงงาน) กับ โรงพยาบาล หรือ ค้าปลีก พาณิชย์ รับเหมาก่อสร้าง จะมีโครงสร้างตาม Common size แตกต่างกันไป หุ้นโรงงาน จะมี ส/ท ไม่หมุนเวียนราว 60% ของสินทรัพย์รวม จะเป็น ส/ท หมุนเวียน 40% ครึ่งหนึ่งส่วนนี้มักจะเป็นสินค้าคงเหลือ หากสินค้าควรได้เครดิตในการซื้อเกือบทั้งหมด แสดงว่าที่เหลือของ ส/ท หมุนเวียน ถ้าใช้เงินกู้ระยะสั้น ก็ควรใช้ราว 20% เพราะหนี้สินส่วนที่เหลือควรใช้หนี้ระยะยาวเพราะสินทรัพย์ที่เหลือคือ ส/ท ไม่หมุนเวียน และถ้า Current ratio ควรมากกว่า 1 แล้ว หนี้ระยะสั้นก็ควรยิ่งต้องน้อยลงอีก จึงควรที่จะไม่เกิน 30-40% ถ้ามากกว่านี้จะสันนิษฐานว่า มีการใช้เงินกู้ระยะสั้นผิดวัตถุประสงค์ (Unmatched) ไว้เรื่องโครงสร้างของอุตสาหกรรมและการวิเคราะห์นี้จะเขียนภายหลัง เพราะคือส่วนหนึ่งของ Common size analysis ที่ดูพื้นๆ แต่คนที่อ่านงบแบบวิเคราะห์ไม่ใช่อ่านแบบบัญชีจะได้ประญชน์ ยิ่งใช้กับ Trend Analysis แล้วอาจแทบไม่ต้องทำ Ratio analysis เลยด้วยซ้ำ

ยังมีการวัดความเสี่ยงทางการเงินอีกแบบหนึ่ง เป็นการวัดความสัมพันธ์ของต้นทุนคงที่ทางการเงิน (ส่วนใหญ่คือดอกเบี้ย) ของทุน ซึ่งหมายถึงเฉพาะหนี้สิน 
Leverage หมายถึงสิ่งที่สร้างความเสี่ยงให้กับธุรกิจ โดยทั่วไปความเสี่ยงของธุรกิจคือความผันผวนของกำไรหรือกระแสเงินสด ส่วน Leverage ในสูตรที่จะกล่าวถึงนี้จะหมายถึงรายการที่เป็นภาระที่ธุรกิจต้องจ่ายไม่ว่ารายได้จากการดำเนินงานจะเปลี่ยนไปอย่างไร การวัดภาระความเสี่ยงสามารถวัดได้ สองด้านคือ ระดับภาระความเสี่ยงทางการเงิน และระดับภาระความเสี่ยงในการดำเนินงาน 

เมื่อจะวิเคราะห์ความเสี่ยงที่มีผลต่อกำไรโดยรวม (DTL) จะช่วยให้เข้าใจธุรกิจได้มากนึ้น บางครั้งการเพิ่มทุน หรือจัดตั้งกองทุนอสังหา REIT หรือ กองทุนโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อเอาเงินมาลดหนี้สินลง โดยหวังลดดอกเบี้ยก็อาจไม่ได้ให้ประโยชน์เต็มที่เพราะความเสี่ยงโดยรวมที่กระทบต่อกำไร (DTL) อาจไม่ได้มาจาก DFL (ความเสี่ยงจากต้นทุนการเงิน) อย่างเดียว แต่อาจมาจาก DOL (ความเสี่ยงจากต้นทุนคงที่ในการดำเนินงาน)
โดยการวิเคราห์องค์ประกอบความเสี่ยงโดยรวมนี้ (DTL) มีดังนี้

1. The degree of financial leverage (DFL)
= % chg in net income / % chg in net operating income 
= EBIT / EBIT - I 

2. The degree of operating leverage (DOL)
= % chg in net operating income / % chg in sales 
= Contribution margin (income) / Contribution income - Fixed cost

3. The degree of total leverage (DTL)
= % chg in net income / % chg in sales
= Contribution margin / EBIT –I
= DFL * DOL 

-ค่าที่ยิ่งสูงของแต่ละตัวบ่งชี้ถึงภาระที่กิจการต้องแบกรับไว้มาก ยิ่งมากแสดงว่าความเสี่ยงยิ่งสูง สะท้อนถึงจุดคุ้มทุนที่ต้องสูงตามไปด้วย
-Operating Brake-even Point = Fixed Cost / Contribution Margin per Unit ค่า DOL แสดงถึงระดับการเปรียบเทียบอัตรากำไรส่วนเกิน (รายได้หักต้นทุนผันแปร) กับกำไรส่วนเกินส่วนที่เหลือหลังหักค่าใช้จ่ายคงที่ (Fixes Cost) ซึ่งหมายถึงกำไรจากการดำเนินงาน (ไม่รวมค่าใช้จ่ายทางการเงินหรือดอกเบี้ย) ค่าที่ยิ่งสูงแสดงว่ากำไรหลังหักค่าใช้จ่ายคงที่จากการดำเนินงาน ก็คือกำไรจากการดำเนินงาน (Contribution Income – Fixed Cost = operating Income) เหลือเพียงเล็กน้อย --- > 1- 1/DOL = FC/CM = ค่าใช้จ่ายคงที่ต่ออัตรากำไรส่วนเกิน
-Financial Break-even Point = EBIT = I, ความสัมพันธ์ ICR กับ DFL คือ 1/ICR = 1-1/DFL
-การวิเคราะห์เปรียบเทียบงวดต่องวด จะช่วยบ่งชี้ให้ผู้บริหารเห็นแนวโน้มภาระจากต้นทุนคงที่ทั้งด้านการดำเนินงานและต้นทุนทางการเงินว่าบริษัทรับภาระมากขึ้นน้อยลงอย่างไร จะช่วยสะท้อนจุดแข็งละจุดอ่อนอีกมุมหนึ่งทางด้านการเงินได้ แต่อัตราส่วนนี้วิเคราะห์จากงบบริษัทอื่นได้ยากเพราะเราไม่สามารถแยกต้นทุนคงที่และต้นทุนผันแปรของบริษัทอื่นได้
-การวิเคราะห์ DOL นี้ อาจทำได้โดยการหา DFL และ DTL จากนั้นหาย้อนกลับจากสูตร DTL = DFL * DOL บริษัทที่มี DOL สูง การหาเงินทุนมาลดหนี้ย่อมไม่ช่วยอะไรได้มาก




 

Create Date : 20 ธันวาคม 2556   
Last Update : 20 ธันวาคม 2556 15:49:53 น.   
Counter : 1618 Pageviews.  


1  2  3  4  5  6  7  

ผู้ประสบภัยจากความรัก
 
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]




[Add ผู้ประสบภัยจากความรัก's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com