[10]อัญญาวิโมกข์

อัญญาวิโมกข์ (จิตหลุดพ้นเพราะรู้จักอารมณ์ตามความเป็นจริง)

เมื่อผู้ปฏิบัติสัมมาสมาธิ พากเพียรปฏิบัติจนจิตสงบถึงขีดสุด (ที่ฌาน ๔) สามารถปล่อยวางอารมณ์ต่างๆ ออกไปได้อย่างคล่องแคล่วทันการ ก่อนที่จะถูกอารมณ์ปรุงแต่งให้เสียคุณภาพอันประภัสสรผ่องใสไปได้ตลอดเวลา

เป็น จิตที่ตั้งมั่น (อเนญฺโช) อยู่ได้โดยลำพังตนเอง ไม่ต้องพึ่งพาอารมณ์หรือสิ่งอื่นที่อยู่ภายนอก เรียกอีกอย่างว่า จิตหลุดพ้น เพราะรู้จักอารมณ์ตามความเป็นจริง (อัญญาวิโมกข์) เข้าถึงสภาพเดิมของตนเองอันไม่เกิด ไม่แก่ ไม่เจ็บ และ ไม่ตาย ซึ่งเรียกว่า รู้จักอริยสัจ ๔ ด้วยปัญญาอันชอบ

อันเป็นนิมิตหมายว่า ได้ย่างเข้าสู่สภาวะของจิตที่เป็นผืนเดียวกับพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์แล้ว จิตหลุดพ้นนี้ เป็นเป้าหมายของการปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนานี้ ซึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเรียกสภาพจิตเช่นนี้ว่า ถึงพระนิพพาน นั่นเอง

ผู้ปฏิบัติจะต้องจำทางเดินของจิตให้แม่นยำ และพร้อมที่จะเข้าถึงภาวะที่จิตสงบถึงขีดสุดได้อีกทุกขณะที่มีอารมณ์เข้ามากระทบ โดยผู้ปฏิบัติต้องมีความชำนาญในการทำลมหายใจให้ละเอียดประณีตอยู่เสมอ

กล่าวคือ มีสติตามรู้ตามเห็นลมหายใจ จนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับลมหายใจของตนเองอย่างไม่ขาดสาย ไม่เปิดโอกาสให้อารมณ์เข้าปรุงแต่งจิตได้เลย

เมื่อจะทำกิจการทางกาย ทางวาจา หรือนึกคิดทางใจ อย่างใดก็ตาม และเมื่อเสร็จกิจการงาน ก็นำจิตกลับเข้าสู่วิหารธรรมอันสงบ ด้วยการทำลมให้ละเอียดประณีตขึ้น จนเป็นจิตหลุดพ้นได้อย่างคล่องแคล่วได้โดยไม่มีปัญหาอะไร เพราะรู้จักทางเดินของจิตดีแล้ว


หรืออาจกล่าวได้ว่า จิตหลุดพ้นนี้ เป็นจิตที่มีพลังประหารกิเลสให้ดับไปหมดสิ้น และสามารถควบคุมความรู้สึกนึกคิดมิให้เป็นพิษเป็นภัยแก่สังคมได้ จนนามกาย หรือโอปปาติกะ หรือที่เรียกว่า กายทิพย์ หมดกำลัง ถึงขั้นแตกแยกออกอย่างสิ้นเชิง และไม่สามารถสร้างภพ สร้างชาติ สร้างทุกข์ ให้แก่ตัวเองต่อไปอีกแล้วด้วย

ผู้ปฏิบัติจะต้องทำและจำให้แม่นทุกขณะตลอดชีวิต มิใช่ว่าพอเลิกปฏิบัติในครั้งหนึ่งๆแล้วก็เลิกกันอย่างสิ้นเชิง และพอจะปฏิบัติอีก ก็ต้องเริ่มต้นกันอีกทุกครั้ง ดังที่กำลังปฏิบัติกันอยู่ในปัจจุบันนี้ ซึ่งจะทำให้การปฏิบัติไม่ก้าวหน้า คือ ไม่ทันอารมณ์ที่เข้ามากระทบเฉพาะหน้า

มีพุทธพจน์ที่มาใน จูฬนิเทศ ข้อ๔๔๕ ขุททกนิกาย แห่งพระสูตร เล่ม ๓๐ ตรัสไว้ดังนี้ คือ:

“อุเปกฺขา สติ สงฺสุทฺธํ ธมฺมตกฺก ปุเรชวํ อญฺญาวิโมกฺขํ สํ พฺรูมิ อวิชฺชายปฺปเภทนํ แปลว่า เมื่อมีความวางเฉย สติบริสุทธิ์ดีแล้ว จงตรึกถึงธรรม (อารมณ์) ที่จะมีมาข้างหน้า เรากล่าวว่า นั่นเป็นเครื่องทำลายอวิชชา”

หมายความว่า ตั้งแต่รู้วิธีทำให้จิตหลุดพ้นจากอารมณ์ได้แล้ว ต่อจากนี้ไป เป็นเรื่องของการใช้ปัญญาที่ได้รับการอบรมให้มีขึ้นแล้วจากการปฏิบัติสมาธิ ที่จะปล่อยวางอารมณ์ทั้งหลายกับความยินดียินร้ายที่เกิดขึ้นให้ได้ทุกขณะ เท่านั้น ไม่ว่าจะผ่านเข้ามาสู่จิตทางหนึ่งทางใดก็ตาม เพียงแต่รู้แล้วก็วางเฉยเป็นอุเบกขา จิตก็ย่อมสงบตามตลอดไปทุกอารมณ์

เมื่อทำเช่นนี้แล้ว อารมณ์และอาการของจิตทั้งหลายที่ทำให้จิตกระเพื่อมไหวย่อมดับไปเองเป็นธรรมดา

อนึ่ง ผู้ปฏิบัติพึงสังเกตว่า สมาธิ กับ ปัญญา นี้ จะเป็น อัญญะมัญญะปัจจัย ซึ่งกันและกัน (คือ ต่างก็อาศัยกันเกิดขึ้น) เสมอ

เราเรียกจิตที่ไม่กระเพื่อมไหวหรือไม่ซัดส่ายหวั่นไหวไปตามอารมณ์ว่า สมาธิ
และเรียกจิตที่สามารถปล่อยวางอารมณ์ออกไปเสียได้ว่า ปัญญา
ซึ่งจะมีพลังมากหรือน้อย ย่อมแล้วแต่ความคล่องแคล่วที่ฝึกมา.



Create Date : 25 เมษายน 2551
Last Update : 29 กันยายน 2556 16:54:34 น. 1 comments
Counter : 669 Pageviews.  

 
*
ตกลง คำว่า "สมาธิที่ว่าง เป็นสุญญตา" จะหมายความว่าอะไร
จากคุณ : ...- [ 26 เม.ย. 51 00:45:48 ]

^
คือ จิตว่างจากอารมณ์และอาการของจิตที่เนื่องด้วยอารมณ์
หรือ ก็คือ จิตตั้งมั่นอยู่โดยลำพังตนเอง โดยไม่มีนิมิตหมาย ไม่มีอารมณ์ใดๆแล้ว
จิตปล่อยวางความยึดถืออารมณ์อย่างสิ้นเชิงที่ ฌาน ๔ ครับ

ไม่ใช่ว่างแบบอรูปฌาน อากิญจัญญายตนะ ...นั่น จิตยึด “ความว่าง” เป็นอารมณ์ ครับ


สัมมาสมาธิ จิตตั้งมั่นชอบ ตั้งมั่นโดยลำพังตนเอง โดยไม่มีนิมิตหมาย

จากคุณ : หนูเล็กนิดเดียว - [ 26 เม.ย. 51 09:04:01 ]


โดย: หนูเล็กนิดเดียว วันที่: 3 พฤษภาคม 2551 เวลา:7:45:08 น.  

หนูเล็กนิดเดียว
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




พระพุทธศาสนา
มีหลักการที่ตั้งอยู่บนเหตุ-ผล

อริยสัจ ๔
ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค


เหตุ-จิตชอบแส่ส่ายออกไปหาเรื่อง
(สมุทัย)
ผล-ทุกข์โหมกระหน่ำทับถมจิตใจ
(ทุกข์)

เหตุ-ปฏิบัติสัมมาสมาธิตามหลักมรรค ๘
ให้จิตระลึกรู้อยู่ที่ฐานที่ตั้งสติ
ไม่แส่ส่ายออกไปหาเรื่อง

(มรรค)
ผล-จิตสงบตั้งมั่นไม่หวั่นไหว
ทุกข์ไม่โหมกระหน่ำทับถมจิตใจ

(นิโรธ)

เหตุ-รู้อยู่ที่เรื่อง (สมุทัย)
ผล-เป็นทุกข์ (ทุกข์)

เหตุ-รู้อยู่ที่รู้ (มรรค)
ผล-ไม่ทุกข์ (นิโรธ)



ธรรมบรรยาย โดย อ.ไชยทรง จันทรอารีย์


[Add หนูเล็กนิดเดียว's blog to your web]