สติเป็นเครื่องตัดเงื่อนต่อของการรับรู้อารมณ์

♥ สติเป็นเครื่องตัดเงื่อนต่อของการรับรู้อารมณ์

หลักธรรมในพระพุทธศาสนา ที่พระพุทธองค์ทรงนำมาสั่งสอนชาวพุทธอย่างกว้างขวางนั้น ไม่มีอะไรที่นอกเหนือไปจาก “จิต กับ อารมณ์” สองอย่างนี้เท่านั้น

จิต คือ ผู้รู้อารมณ์ และ อารมณ์ คือ สิ่งที่ถูกจิตรู้ นอกจากนี้แล้ว เป็นบริบทของพระพุทธศาสนา ที่แสดงถึงการเกี่ยวข้องของธรรมะสองประการนี้ ในการอยู่ในโลก และหลุดพ้นจากการเกี่ยวข้องกันในโลก ทั้งสิ้น

ดังนั้นจิตจึงเป็นหัวข้อธรรมสำคัญ ที่ผู้ศึกษาธรรมะจะต้องศึกษาทำความรู้จักให้ดี ก่อนที่จะศึกษาธรรมะให้กว้างขวาง จนสามารถนำไปสู่การลงมือปฏิบัติจริงๆ ได้ จนจิตหลุดพ้นจากการผูกพันเกี่ยวข้องกับอารมณ์ (ที่เรียกว่า โลก) อย่างสิ้นเชิงได้ในที่สุด

จิตนี้เป็นธาตุที่ทรงไว้ซึ่งความรู้ (conciousness) อาศัยอยู่ในกายของแต่ละคนๆ คนละดวง อุปมา ดังเทพเจ้าที่อาศัยศาลเจ้าเป็นที่สิงสถิตฉะนั้น เมื่อศาลเจ้าที่อาศัยในปัจจุบันผุพังลง ก็ต้องย้ายไปหาศาลเจ้าใหม่สำหรับอาศัยต่อไปอีก ซึ่งเป็นเช่นนี้ไม่รู้จักจบสิ้น

ดังนั้น จิตจึงเป็นหัวข้อธรรมที่มีอยู่ในโลกและชาวโลกรู้จักกันดีว่า จิตคือตัวรู้...เมื่อกระทบอารมณ์ที่เข้ามาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ความนึกคิดทางใจ ก็แสดงความรู้สึกเกี่ยวข้อง ยึดถืออารมณ์นั้นๆ แต่ละอย่าง แต่ละชนิดออกมา โดยไม่ต้องมีผู้ใดเสี้ยมสอนว่า ให้แสดงอาการชนิดนั้นๆออกมา หรือบัญญัติชื่อเรียกอาการนั้นๆว่าอย่างไร รวมทั้งเรียกตัวเองว่า เป็นผู้รู้อารมณ์ เลย

คนตายไม่มีจิตอยู่ด้วย จึงไม่ใช่ผู้รู้อารมณ์ และไม่มีอาการแสดงหรือสมมุติบัญญัติเกี่ยวกับอาการของจิต ซึ่งเป็นสัจธรรมที่รู้กันอยู่แล้วโดยทั่วไป โดยไม่ต้องให้พระพุทธองค์ทรงนำมาเทศน์สั่งสอนว่า คนเป็นมีจิตเป็นผู้รู้ และ คนตายไม่มีจิตเป็นผู้รู้แล้ว เช่นเดียวกับ ๒+๒ เป็น ๔ เป็นต้น

การที่พระพุทธองค์ทรงพระเมตตานำเรื่องจิตเข้ามาสั่งสอนสังคมนั้น ก็เพื่อสร้างสติให้แก่ผู้ศึกษาธรรมะ ไม่ให้ยึดถืออารมณ์ จนสร้างอาการของจิตที่เป็นอกุศล ( unwholesomeness ) ขึ้นในสังคมในภายหลัง โดยละความหมายของจิตไว้ในฐานที่เข้าใจ ( left understood ) ว่า จิต คือ ผู้รู้ ไม่ใช่ว่าไม่มีจิตเป็นผู้รู้ เพราะพระพุทธองค์ไม่ได้กล่าวไว้ให้แจ่มแจ้งชัดเจน

ดังนั้น การที่พระพุทธองค์ทรงสอนให้ทำ สัมปชัญญะในการดื่ม เคี้ยว ลิ้ม ถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ ว่า อสิเต ปิเต ขายิเต สายิเต อุจฺจารปสฺสาว กมฺเม สมฺปชานการี นั้น ก็ละคำว่า จิต อยู่ในคนเป็น ที่มีจิตเป็นผู้รู้อยู่ด้วย ไม่จำเป็นต้องตรัสด้วยพระโอษฐ์จนละเอียดยิบให้เสียเวลาไปเปล่าๆ

และจิตนี้ จะแสดงความรู้ และอาการของความรู้ (เจตสิก) ออกมาทุกครั้ง ที่มีอารมณ์มากระทบอายตนะ ๖ ทีละอารมณ์ ถ้าเป็นจิตปุถุชน ก็ย่อมยึดถือความรู้นั้นไว้ แล้วแสดงความประพฤติต่ออาการของความรู้ซึ่งติดข้องอยู่โดยเจตนา ซึ่งจัดเป็นกรรมในพระพุทธศาสนา

พระพุทธองค์ตรัสเรียก จิตที่ติดข้องอารมณ์ว่า เป็นสัตว์ เช่น ตรัสว่า ท้าวมหาพรหมก็ยังเป็นสัตว์อยู่ เพราะถ้าหากสิ้นบุญลงเพราะฌานเสื่อมเมื่อใด ก็จะต้องจุติเข้าโลกแห่งกามาวจร ซึ่งมีอยู่ ๖ ชั้นต่อไป

ส่วนพระพุทธองค์นั้น จิตว่างจากการยึดถืออารมณ์ ทางอายตนะ ๖ ที่อาศัยกายนี้ เพราะมีชีวิตเป็นปัจจัยแล้วอย่างสิ้นเชิงเด็ดขาด จึงไม่ใช่สัตว์ ดังนั้น จึงหลุดพ้นจากอาสวะกิเลสทั้งปวง

และพระอริยสาวกที่เจริญสติปัฏฐาน ๔ อย่างต่อเนื่องไม่ขาดสาย จนสติตื่นอยู่เป็นนิตย์ อารมณ์ที่เกิดทางอายตนะ ๖ ไม่สามารถครอบงำปรุงแต่งจิตได้ ก็ย่อมรู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำๆเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นเช่นนี้ไม่มีอีก

สติของพระอรหันต์ตื่นอยู่ เช่นนี้ เรียกว่า สติตื่นเป็นชาคโร ไม่ดับ ดังนั้น กิเลสจึงไม่สามารถปรุงแต่งจิตได้เลย

ส่วนสามัญชนนั้น สติไม่ตั้งอยู่อย่างต่อเนื่อง ขาดตอนจากการตั้งที่ฐานที่กำหนดบ้าง กิเลสจึงเข้าครอบงำจิตตอนที่ขาดตอนไปได้ เรียกว่า เผลอ นั่นเอง.


♥ สติเป็นเครื่องตัดเงื่อนต่อของการรับรู้อารมณ์

ดังกล่าวไว้ในเบื้องต้น จะเห็นว่าบรรดาธรรมะทั้งหลายในโลกนี้ ล้วนแล้วแต่เกิดจากจิตผสมกับอารมณ์ทั้งสิ้น กล่าวคือ จิตแลบออกจากฐานที่ตั้งสติไปรับรู้และยึดถืออารมณ์ไว้ แล้วส่งผลให้ทุกข์เกิดตามมาด้วยตลอดเวลา

ทุกข์ย่อมเกิดขึ้นทุกครั้งที่จิตแลบออกไปจากฐานที่ตั้งสติ ไม่ว่าจะเป็นครั้งใด เมื่อใด ตลอดชีวิตก็ตาม จิตที่แลบไปรับรู้อารมณ์ครั้งใดแล้ว ที่จะไม่เกิดทุกข์เลย, ไม่มี

กล่าวให้ชัดที่สุดก็คือ การรับรู้อารมณ์ทางตาก็ดี หูก็ดี จมูกก็ดี ลิ้นก็ดี และกายสัมผัสก็ดี ล้วนแล้วแต่เป็นช่องทางของทุกข์ทั้งนั้น

สำหรับในวาระสุดท้ายของชีวิตแต่ละคนนั้น ขณะที่การรับรู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กายสัมผัส ได้ดับไปแล้ว ทุกข์ก็ยังเกิดขึ้นทางใจ (มโนทวาร) ได้ โดยความนึกคิดถึงอารมณ์ทางใจที่ได้เคยกระทำมาเมื่อยังมีชีวิต,อย่างกระสับกระส่าย อารมณ์ซึ่งมีกรรมในอดีตกำกับอยู่เด่นชัดที่สุดจะครอบงำจิต และชักพาให้จิตเคลื่อน (จุติ) ออกไปสร้างภพชาติใหม่ เมื่อร่างกายตายสนิท

กรรมที่เด่นชัดที่สุดจะประชิดจิตในวาระสุดท้ายนี้ และนำเข้าปฏิสนธิ (สืบต่อ)ในภพใหม่ ที่ทรามหรือประณีต ตามกำลังของกรรมที่ปรุงแต่งขณะนั้นเสมอไป และเมื่อได้เข้าปฏิสนธิแล้วก็จะครอบครองรักษาร่างกายชุดใหม่ต่อไป ซึ่งเรียกว่า ภวังค์ จนเจริญเติบโตสมบูรณ์สำหรับใช้รับรู้อารมณ์ได้สืบต่อไปอีก

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้เป็นเรื่องของจิตที่ไม่ได้รับการฝึกฝนมาแต่ก่อน ดังนั้นจึงยึดถืออารมณ์ไว้ทุกชนิดที่เข้ามากระทบ ทำให้จิตผสมคลุกเคล้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ชั่วขณะหนึ่ง แล้วก็จืดจางผ่านพ้นไปตามลำดับ ได้แก่ อารมณ์ทั้งหลายที่ผ่านเข้ามากระทบจิตทางตา หู จมูก ลิ้น กายสัมผัสในชีวิตประจำวัน ย่อมทำให้จิตแสดงอาการออกมาในรูปของความยินดี-ยินร้ายเหมือนกันหมด

ซึ่งผู้ปฏิบัติ จะต้องใช้ ขันติ (ความอดทน) และ สัมปชัญญะ (ความรู้ตัวทั่วพร้อม) และรีบยกจิตออก ไปตั้งไว้ที่ฐานที่ตั้งสติ และเพ่งดูลมหายใจเข้าออกที่เคลื่อนผ่านจุดกระทบนี้อย่างคล่องแคล่วและต่อเนื่องกันไป จนไม่เกิดความยินดี-ยินร้ายขึ้นที่จิต ซึ่งเรียกว่า วิปัสสนา นั่นเอง.


♥ การปฏิบัติสัมมาสมาธิเป็นบาทฐานสำคัญที่สุด ที่จะทำให้การปฏิบัติวิปัสสนาสำเร็จหรือล้มเหลว

จิตที่ได้รับการฝึกฝนจากการปฏิบัติสัมมาสมาธิดีแล้วนั้น ผู้ปฏิบัติย่อมรู้จักวิธีประคองจิตให้ตั้งอยู่ที่ฐานที่ตั้งสติได้ดี สติกับจิตย่อมรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน สติอยู่ที่ใด จิตจะอยู่ที่นั่น หรือ จิตอยู่ที่ใด สติจะอยู่ที่นั่น ด้วยกัน หากมีความรู้สึกนึกคิดอย่างไร ก็ยกสติไปตั้งกำกับไว้ จนความรู้สึกนึกคิดดับไป ไม่เปิดโอกาสให้อารมณ์ปรุงแต่งต่อไปอีกดังแต่ก่อน

จิตที่ฝึกปฏิบัติสัมมาสมาธิได้ดีแล้วนี้ ย่อมมีพลังในการสลัดอารมณ์ออกไป เป็นจิตที่ควรแก่การงาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว และหลุดพ้นจากอารมณ์ทั้งหลายในที่สุด เป็นเป้าหมายสูงสุดในพระพุทธศาสนา ที่จะใช้แก้ปัญหายุ่งยากต่างๆในสังคมให้หมดไปได้อย่างแท้จริง และพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ จะคุ้มครองรักษาให้พ้นภัยทั้งหลายได้อย่างมิต้องสงสัย

ผู้ปฏิบัติสัมมาสมาธิสามารถทดสอบตัวเองว่า ปฏิบัติธรรมได้ผลเพียงใดหรือไม่ ด้วยการให้จิตรับกระทบอารมณ์ใหญ่ๆ ซึ่งประทับใจดูว่า จิตของตนยังมั่นคง หรือหวั่นไหว ฟุ้งซ่านเพียงไรหรือไม่? ถ้ากระทบอารมณ์แล้วยังหวั่นไหว ฟุ้งซ่าน ยินดียินร้าย หรือ ยังหน้าเขียว ตาขุ่นอยู่ ก็แสดงว่าจะต้องทบทวนการปฏิบัติ และวิธีปฏิบัติให้ดีและคล่องแคล่วยิ่งขึ้นอีก

กล่าวให้ชัดที่สุด ก็คือ ถ้ากายยังไม่สงบ จิตก็จะไม่มีทางสงบลงได้เลย แต่ถ้ากายสงบ จิตก็จะสงบตามด้วย เป็นธรรมดา.


คัดลอกจากหนังสือ ธรรมประทีป ๘ ธรรมะภาคปฏิบัติ โดย อ.ไชยทรง จันทรอารีย์




♥ คลิก download ไฟล์หนังสือธรรมประทีป ๙ ธรรมะภาคปฏิบัติ


♥ เรื่องสติปัฏฐาน ๔ จากหนังสือธรรมประทีป ๙

♥ สติปัฏฐาน ๔...ฐานที่ตั้งแห่งการงานทางจิต
♥ ความหมายของ “กายในกาย” ในกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน
♥ อานาปานสติ
♥ ลำดับการทำงานทางจิตสำหรับการปฏิบัติอานาปานสติ
♥ อิริยาบถ ๔
♥ สัมปชัญญะบรรพะ
♥ ปฏิกูลบรรพะ
♥ เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน
♥ จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน
♥ ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน
♥ ฐานที่ตั้งสติ ในการปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔
♥ สติเป็นเครื่องตัดเงื่อนต่อของการรับรู้อารมณ์






 

Create Date : 10 พฤษภาคม 2551   
Last Update : 9 กันยายน 2553 6:55:59 น.   
Counter : 899 Pageviews.  

ฐานที่ตั้งสติ ในการปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔

♥ ฐานที่ตั้งสติ

ตามที่ได้กล่าวมาแล้วในเบื้องต้น การปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔ คือ การสร้างสติของผู้ปฏิบัติให้ตั้งอยู่อย่างมั่นคง ในเมื่อมีอารมณ์มากระทบจิต โดยการยกจิตให้เข้าไปตั้งอยู่ ณ ฐาน ๔ แห่ง แห่งใดแห่งหนึ่งบ่อยๆเนืองๆ คือ ที่ฐานกาย เวทนา จิต หรือธรรม ซึ่งทำให้จิตสามารถตัดอารมณ์และอาการของจิตที่เนื่องด้วยอารมณ์ได้

ในทางปฏิบัติ การยกจิตเข้าไปไว้ที่ฐานที่ตั้งสตินี้ ก็คือ การเปลี่ยนความสนใจจากอารมณ์ที่กำลังเข้ามากระทบเฉพาะหน้า ให้เข้าไประลึกรู้ชัดอยู่ที่ฐานที่ตั้งสติแทนเสีย

ถ้ายกจิตเข้าไปตั้งที่ฐานที่ตั้งสติและประคองไว้ด้วยอุบายอันแยบคายได้สำเร็จ สัมมาสติ สัมมาวายามะ สัมมาสมาธิ ย่อมเกิดขึ้น และทำให้ความยินดียินร้ายกระสับกระส่ายดับไปจากจิต

แต่ถ้ายกจิตเข้าไปตั้งไว้แล้วไม่มีความเพียรประคองให้ตั้งอยู่ที่ฐานดังกล่าว ต่อเนื่องต่อไป( คือปล่อยให้แลบหนีออกไปอยู่ที่อารมณ์ใดๆเสีย ) สัมมาสติย่อมดับ ซึ่งจะทำให้ความยินดี ยินร้าย กระสับกระส่ายเกิดขึ้นที่จิตได้เป็นธรรมดา

ดังนั้น ฐานที่ตั้งสติ จึงเป็นองค์ธรรมสำคัญที่ผู้ปฏิบัติจะต้องอุปโลกน์ขึ้นไว้ในใจก่อน เพื่อใช้เป็นฐานรองรับจิตที่แยกตัวออกจากอารมณ์ทั้งหลาย ก่อนลงมือปฏิบัติธรรม ไม่ว่าหมวดกาย เวทนา จิต หรือ ธรรม หมวดใดหมวดหนึ่ง ในสติปัฏฐาน ๔ ก็ตาม

ผู้ปฏิบัติจะต้องอุปโลกน์ฐานที่ตั้งสติ ให้อยู่ในตำแหน่งที่สามารถยกจิตเข้าไปได้โดยสะดวก แล้วจดจำไว้ในใจให้แม่นยำ พร้อมที่จะยกจิตเข้าไปตั้งได้อย่างมั่นคงและแข็งแรงทุกขณะ เพื่อที่จะใช้เป็นฐานที่ตั้งสติได้ตลอดชีวิตอีกด้วย

เมื่ออุปโลกน์ฐานที่ตั้งสติขึ้นแล้ว ผู้ปฏิบัติก็ย่อมมีหลักในใจว่า ถ้ามีอารมณ์ใดๆเข้ามากระทบ ก็ให้รีบยกจิตเข้าไปตั้งไว้ที่ฐานที่ตั้งสติทันที ก่อนที่จะปรุงแต่งให้เกิดความยินดียินร้ายขึ้นมา (คือ รู้เรื่องแล้วรีบละทิ้งเรื่องที่รู้เสียได้)

ผู้ปฏิบัติจะต้องฝึกยกจิตเข้าไปตั้งที่ฐานที่ตั้งสติอย่างคล่องแคล่ว พร้อมกับเพียรประคองไว้ด้วยอุบายอันแยบคาย ทุกครั้งที่มีอารมณ์เข้ามากระทบ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะที่อารมณ์เริ่มกระทบ ) สภาพเช่นนี้เรียกว่า สติปัฏฐานเกิดขึ้นแล้ว ความยินดียินร้าย กระสับกระส่ายก็ย่อมไม่ปรากฏขึ้นที่จิต

ถ้าตั้งเจตนาประคองสติให้ตั้งอยู่อย่างต่อเนื่องได้ ก็เรียกว่า เป็นผู้มีสติตื่นอยู่เป็นนิตย์(ชาคโร) ซึ่งเป็นเป้าหมายของการปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔

เมื่อมีสติตื่นอยู่เป็นนิตย์แล้ว ผู้ปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔ จึงไม่มีทางที่จะกลายเป็นคนบ้าไปได้เลย นอกจากจะทิ้งฐานที่ตั้งสติออกไปอยู่กับอารมณ์ เช่น อยากดูหวยว่าออกอะไร หรืออยากมีฤทธิ์ เป็นต้น ซึ่งทำให้เกิดความยินดียินร้าย เกิดกิเลสตัณหาขึ้น แล้วกลายเป็นบ้าไปเท่านั้น.


♥ ฐานที่ตั้งสติของโบราณาจารย์

เนื่องจากสติปัฏฐานสูตรได้กำหนดฐานที่ตั้งสติไว้กว้าง ๆ ๔ แห่ง คือ ที่ฐานกาย เวทนา จิต และธรรมเท่านั้น ดังนั้น ในด้านปฏิบัติจริงนั้น โบราณาจารย์ต่างๆหลายท่านจึงได้กำหนดฐานที่ตั้งสติขึ้น (เพื่อยกจิตเข้าไปตั้งไว้เมื่อมีอารมณ์เข้ามากระทบ) ตามความเชื่อของท่านว่าดีที่สุด สำหรับทำให้จิตสงบตั้งมั่น ดังต่อไปนี้คือ

๑.ฐานที่ใต้สะดือ ๒ นิ้ว
๒.ฐานที่เหนือสะดือ ๓ นิ้ว
๓.ฐานที่ก้อนเนื้อหัวใจ
๔.ฐานที่สุดของลำคอ
๕.ฐานที่ท้ายทอย
๖.ฐานบนกระหม่อม
๗.ฐานระหว่างคิ้วทั้งสอง
๘.ฐานระหว่างนัยน์ตาทั้ง ๒ ข้าง
๙.ฐานที่ปลายจมูก
๑๐.ฐานในโพรงจมูก

จากรายละเอียดของฐานที่ตั้งสติซึ่งโบราณาจารย์ได้ใช้ปฏิบัติแตกต่างกันไปเหล่านี้ ผู้ที่ศึกษาวิธีปฏิบัติธรรม ควรจะได้พิจารณาแล้วเลือกฐานดังกล่าวให้เหมาะและสะดวก เพื่อใช้เป็นนิมิตหมายทางใจเพียง ๑ ฐานเท่านั้น.


♥ วิธีอุปโลกน์ฐานที่ตั้งสติ

สำหรับการปฏิบัติอานาปานสติ พิจารณาลมหายใจเข้าออก ผู้ที่เริ่มปฏิบัติใหม่ๆ ควรอุปโลกน์ฐานที่ตั้งสติขึ้นที่จุดลมหายใจกระทบตรงบริเวณช่องจมูก เพียงจุดเล็กๆจุดเดียวให้แน่นอน คงที่ ที่ผู้ปฏิบัติจะสามารถดูได้อย่างชัดเจนตลอดเวลา ทุกขณะที่ลมหายใจเคลื่อนผ่านเข้าออกที่จุดนี้เท่านั้น

เมื่อเลือกฐานที่ตั้งสติได้เป็นที่พอใจแล้ว ก็ให้จำและรักษาไว้ในใจให้มั่นคง, อย่าพยายามเคลื่อนย้ายหรือเปลี่ยนฐานนี้บ่อยๆ หรือปล่อยให้เคลื่อนเข้าออกตามลมหายใจไปด้วยเป็นอันขาด เพราะจะทำให้จิตเคลื่อนไหวและไม่เป็นสมาธิไปในที่สุด

การเปลี่ยนฐานที่ตั้งสติบ่อยๆจะทำให้เกิดความลังเลใจในการยกจิตเข้าไปตั้งไว้ และกั้นจิตไม่ให้ทำงานคล่องแคล่วเสียเองก็ได้

ผู้ปฏิบัติต้องหมั่นฝึกยกจิตเข้าไปตั้งที่ฐานที่ตั้งสติที่อุปโลกน์ขึ้น และเพียรประคองไว้อย่างต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้จิตแลบหนีออกไปหาอารมณ์ใดๆได้อีก โดยจะต้องฝึกปฏิบัติบ่อยๆเนืองๆ จนชำนาญในที่สุด

จิตที่ได้ยกเข้าไปตั้งไว้ที่ฐานที่ตั้งสติ และประคองไว้ได้สำเร็จ จะทำหน้าที่เป็น “สัมมาสติ” ในมรรคมีองค์ ๘ เรียกว่า “สติเกิดขึ้น” แต่ถ้าจิตแลบหนีออกไปเพราะประคองไว้ไม่ได้ ก็เรียกว่า “สติดับไป”

ดังนั้น การเกิดขึ้นของสติก็ดี การดับไปของสติก็ดี จิตยังเคลื่อนไหวเข้าไปสู่ฐานที่ตั้งสติ และเคลื่อนไหวแลบหนีออกไปจากฐานที่ตั้งสติ ตามลำดับ

ดังนั้น สติจึงจัดว่าเป็นสังขารธรรมอยู่ในระยะแรกๆ แต่ถ้าฝึกปฏิบัติจนชำนาญและรักษาไว้ที่ฐานที่ตั้งสติอย่างมั่นคงต่อเนื่องทุกขณะแล้ว ก็ย่อมบรรลุอรหัตตผลในที่สุด ความยินดียินร้ายย่อมไม่เกิดขึ้นในจิตของพระอรหันต์เลย จิตไม่เคลื่อนไหวอีกต่อไป

เป็นที่น่าสังเกตว่า ถึงแม้สติจะเป็นสังขารธรรมก็ตาม แต่ก็จัดว่าเป็น มรรค ที่สำคัญในมรรคมีองค์ ๘ ซึ่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงกำหนดให้ผู้ปฏิบัติ “ทำให้เกิดขึ้น” (ภาเวตัพพะ) “ไม่ใช่เกิดขึ้นเอง” เพื่อไปสู่ความดับทุกข์

ดังนั้น ผู้ปฏิบัติจะต้องฝึกฝนบังคับให้มีให้เป็นให้เกิดขึ้นให้ได้ จะถือเสียว่าสติเป็นสังขารธรรม แล้วบังคับบัญชาไม่ได้เลยนั้น ย่อมไม่ถูกต้องแน่นอน

ที่ว่าสังขารธรรมนั้นไม่อาจบังคับบัญชาให้เป็นไปอย่างใจหวังนั้น ก็เฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับความเก่าแก่คร่ำคร่าฝืนคติธรรมดาเท่านั้น แต่ในส่วนที่เกี่ยวกับการใช้สอยให้ทำงานอย่างถูกต้องนั้น สังขารย่อมต้องควบคุมบังคับบัญชาได้อย่างไม่มีปัญหา ดังเช่น “สติ” นี้เป็นต้น ซึ่งผู้ปฏิบัติจะต้องคอยระมัดระวังควบคุมบังคับบัญชา ไม่ให้แลบหนีออกจากฐานอยู่ตลอดเวลา จึงจะบรรลุมรรคผลได้ในที่สุด.


♥ คัดลอกจากหนังสือธรรมประทีป ๙ ธรรมะภาคปฏิบัติ โดย อ.ไชยทรง จันทรอารีย์




♥ คลิก download ไฟล์หนังสือธรรมประทีป ๙ ธรรมะภาคปฏิบัติ


♥ เรื่องสติปัฏฐาน ๔ จากหนังสือธรรมประทีป ๙

♥ สติปัฏฐาน ๔...ฐานที่ตั้งแห่งการงานทางจิต
♥ ความหมายของ “กายในกาย” ในกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน
♥ อานาปานสติ
♥ ลำดับการทำงานทางจิตสำหรับการปฏิบัติอานาปานสติ
♥ อิริยาบถ ๔
♥ สัมปชัญญะบรรพะ
♥ ปฏิกูลบรรพะ
♥ เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน
♥ จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน
♥ ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน
♥ ฐานที่ตั้งสติ ในการปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔
♥ สติเป็นเครื่องตัดเงื่อนต่อของการรับรู้อารมณ์





 

Create Date : 04 พฤษภาคม 2551   
Last Update : 19 กันยายน 2553 20:04:48 น.   
Counter : 844 Pageviews.  

[10]ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน

ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน

เป็นบรรพะที่ผู้ปฏิบัติต้องทำสติตามรู้ตามเห็น เข้าไปในสังขารธรรมหรืออารมณ์ทั้งหลาย มีรวม ๕ บรรพะ ซึ่งได้แก่:

๑.นิวรณ์ บรรพะที่ว่าด้วยอาการกระเพื่อมไหวของจิต ๕ ชนิดหลังจากที่มีอารมณ์เข้ามากระทบ
๒.ขันธ์ ๕ บรรพะที่ว่าด้วยอาการของจิต ๕ ประการ หรือ ๕ กอง หลังจากที่มีอารมณ์มากระทบ
๓.อายตนะภายในและภายนอก อย่างละ ๖ ช่องทาง เมื่อมีอารมณ์มากระทบ
๔.โพชฌงค์ ๗ องค์แห่งปัญญาเครื่องตรัสรู้
๕.อริยสัจ ๔ ความจริงของพระอริยเจ้ารวม ๔ ประการ

๑.นิวรณ์บรรพะ ๕ เมื่อมีอารมณ์เข้ามากระทบจิต ย่อมทำให้จิตแสดงปฏิกิริยาตอบสนอง เป็นอาการต่างๆ ออกมาตามชนิดของอารมณ์ ดังนี้คือ

กามฉันทะนิวรณ์ จิตแสดงอาการรักใคร่พอใจในกามกระเพื่อมไหวออกมา
พยาปาทะนิวรณ์ จิตแสดงอาการชิงชังไม่ชอบใจกระเพื่อมไหวออกมา
ถีนมิทธะนิวรณ์ จิตแสดงอาการง่วงเหงาหดหู่กระเพื่อมไหวออกมา
อุทธัจจะกุกกุจจะนิวรณ์ จิตแสดงอาการฟุ้งซ่านกระเพื่อมไหวออกมา
วิจิกิจฉานิวรณ์ จิตแสดงอาการลังเลสงสัย เข้าสู่ฐานที่ตั้งสติไม่ได้

ถ้าทำให้จิตสงบได้ ผู้ปฏิบัติย่อมพ้นจากทุกข์ในพระพุทธศาสนา

๒.ขันธะบรรพะ ๕ เมื่อสิ่งที่เป็นอารมณ์เข้ามากระทบจิตแล้ว ก็เกิดสังขารธรรม ขึ้น ๕ กอง ดังนี้คือ:

รูป ได้แก่ อารมณ์ทั้งหลาย
เวทนา ได้แก่ ความรู้สึกพอใจ ไม่พอใจ เฉยๆ
สัญญา ได้แก่ ความจำอารมณ์นั้นๆได้
สังขาร ได้แก่ ความคิดที่จะตอบโต้ต่ออารมณ์นั้นๆ
วิญญาณ ได้แก่ ความรับรู้อารมณ์จากช่องทางที่รับเข้ามา ทำให้จิตหวั่นไหวเป็นทุกข์ตามไปด้วยทุกอารมณ์

ถ้าจิตเข้าไปยึดถือขันธ์ ๕ ไว้มาก จิตก็เป็นทุกข์มาก
ถ้าจิตเข้าไปยึดถือขันธ์ ๕ ไว้น้อย จิตก็เป็นทุกข์น้อย
ถ้าจิตไม่เข้าไปยึดถือขันธ์ ๕ เลย จิตก็พ้นทุกข์ในพระพุทธศาสนา

๓.อายตนะทั้งภายในและภายนอก อย่างละ ๖ ช่องทาง คือ ช่องทางที่รับอารมณ์เข้ามาสู่จิต ที่เป็นเหตุให้เกิดความเร่าร้อน-กระสับกระส่าย-วุ่นวายขึ้นที่จิต ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ซึ่งคู่กับ รูป เสียง กลิ่น รส ความสัมผัสทางกาย ธัมมารมณ์ โดยลำดับ

ถ้าผู้ปฏิบัติยกจิตเข้าไปตั้งไว้ที่ฐานที่ตั้งสติทันทีที่อารมณ์เข้ามากระทบช่องทางรับอารมณ์ ไม่ปล่อยให้เกิดอาการเร่าร้อน-กระสับกระส่าย-วุ่นวายขึ้นที่จิตเสียก่อนแล้ว ย่อมได้ชื่อว่าเป็นผู้มีสติและเป็นผู้พ้นทุกข์ในพระพุทธศาสนา

๔.โพชฌงคบรรพะ (องค์แห่งปัญญาเครื่องตรัสรู้ ๗ ประการ) เป็นบรรพะ ที่ว่าด้วยองค์ธรรม คือ ปัญญาที่ทำให้ตรัสรู้ พ้นจากการครอบงำของอารมณ์อย่างสิ้นเชิงในที่สุด ซึ่งมีองค์ธรรมสำคัญอยู่ ๗ ประการ ดังนี้คือ:

๑.สติ ความระลึกถึงฐานที่ตั้งสติได้อย่างแม่นยำคล่องแคล่วเมื่อมีอารมณ์มากระทบ
๒.ธัมมวิจยะ เลือกเฟ้นว่าสิ่งใดมีแก่นสาร สงบเยือกเย็น และปล่อยวางสิ่งที่ทำให้ไม่สงบ เร่าร้อน ไม่มีแก่นสาร โดยแบ่งออกเป็น ๒ ฝ่าย
๓.วิริยะ
เพียรละความกระสับกระส่ายที่ยังไม่เกิด, ไม่ให้เกิด
เพียรละความกระสับกระส่ายที่เกิดขึ้นแล้ว, ให้หมดไป
เพียรทำความสงบเยือกเย็นที่ยังไม่เกิด, ให้เกิดขึ้น
เพียรทำความสงบเยือกเย็นที่เกิดขึ้นแล้ว, ให้เจริญงอกงามยิ่งขึ้น
๔.ปีติ เมื่อทำดังกล่าวสำเร็จ ความอิ่มใจย่อมเกิดขึ้นตามมา
๕.ปัสสัทธิ เมื่อเกิดความอิ่มใจ กายย่อมสงบ จิตก็สงบตามด้วย
๖.สมาธิ จิตก็ย่อมตั้งมั่นเป็นสมาธิโดยลำดับจนถึงขีดสุด
๗.อุเบกขา จิตผู้ปฏิบัติย่อมเป็นอุเบกขาญาณ วางเฉยต่ออารมณ์ทั้งปวงได้

๕.อริยสัจบรรพะ ( ว่าด้วยความจริงของพระอริยเจ้า ๔ ประการ ) ในเชิงของการปฏิบัติแล้ว ผู้ปฏิบัติจะต้องศึกษาให้รู้จักและรู้กิจที่จะต้องดำเนินต่อสัจจะแต่ละอย่าง เพื่อไม่ให้สับสน

ทุกข์ ต้องกำหนดรู้
สมุทัย ต้องละ
นิโรธ ต้องทำให้แจ้ง
มรรค ต้องเจริญให้เกิดขึ้น


๑.ทุกขอริยสัจ ให้กำหนดรู้ ดังต่อไปนี้
ความเกิด ความแก่ ความตาย ความโศกเศร้า ร่ำไห้รำพัน ทุกข์เพราะไม่สบายกาย โทมนัส ความคับแค้นใจ ........เป็นทุกข์
ความประสบกับสิ่งไม่เป็นที่รัก .........เป็นทุกข์
ความพลัดพรากจากสิ่งที่รัก ........เป็นทุกข์
ปรารถนาสิ่งใดแล้วไม่ได้สิ่งนั้น .........เป็นทุกข์
ทั้งหมดนี้ รวมกล่าวได้ว่า การยึดถือขันธ์ ๕ เป็นทุกข์

๒.สมุทัย เหตุให้เกิดทุกข์ ให้ละความยึดถือ ดังต่อไปนี้
กามตัณหา คือ ความอยากได้พอใจในอารมณ์เป็นที่น่าพอใจ
ภวตัณหา คือ ความอยากได้พอใจอารมณ์ที่เป็นรูปปราศจากกาม
วิภวตัณหา คือ ความอยากได้พอใจอารมณ์อันวิเศษยิ่งที่ปราศจากกาม

ตัณหานั้น เมื่อจะเกิดขึ้นหรือตั้งอยู่ก็ตั้งอยู่ที่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ หรือที่ รูป เสียง กลิ่น รส ความสัมผัส ธัมมารมณ์ หรือที่ วิญญาณ ๖ สัมผัส ๖ เวทนา ๖ สัญญา ๖ สัญเจตนา ๖ ตัณหา ๖ วิตก ๖ และวิจาร ๖ ซึ่งทั้งหมดนี้เรียกว่า รูปอันเป็นที่รักที่ชอบใจในโลก (โลเก ปิยรูปํ สาตรูปํ)

๓.นิโรธ ( ธรรมเป็นที่ดับทุกข์ ) ให้ทำให้แจ้ง คือ ความสำรอก ความดับไม่เหลือ ความสละ ความส่งคืน ความปล่อยวาง ความไม่อาลัยในตัณหานั้น

ตามที่ได้กล่าวมาในข้อ ๒ นิโรธกับตัณหา เป็นคู่ปรับซึ่งกันและกัน ดังนั้น เมื่อจะละหรือเมื่อจะดับตัณหา ก็ย่อมละหรือดับได้ที่รูปอันเป็นที่รักที่ชอบใจ ตามที่ได้กล่าวมาแล้วนั้น

๔.ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ (มรรคมีองค์ ๘) ให้ทำให้เจริญ-ให้มีขึ้น กล่าวคือ:

สัมมาทิฐิ มีความเห็นว่า
ทุกข์ ให้กำหนดรู้ ไม่ต้องดัดแปลงแก้ไขอะไร
สมุทัย ให้ละวางเสีย
นิโรธ ให้ทำให้แจ้ง
มรรค ให้เจริญให้มีขึ้น

สัมมาสังกัปปะ
ดำริออกจากกาม ดำริไม่พยาบาท ดำริไม่เบียดเบียน

สัมมาวาจา
ไม่พูดเท็จ ไม่พูดคำหยาบ ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดเพ้อเจ้อ

สัมมากัมมันตะ
ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ล่วงละเมิดในกาม

สัมมาอาชีวะ
ละความเลี้ยงชีวิตผิด สำเร็จความเป็นอยู่ด้วยการเลี้ยงชีพชอบ

สัมมาวายามะ
ย่อมยังความพอใจให้เกิดขึ้น ย่อมพยายาม ย่อมปรารภความเพียร
ย่อมประคองตั้งจิตไว้เพื่อที่จะ:
-ละบาปที่ยังไม่เกิดขึ้น-ไม่ให้เกิด,
-ละบาปที่เกิดขึ้นแล้ว,
-ยังกุศลที่ยังไม่เกิด-ให้เกิดขึ้น,
-ยังกุศลที่เกิดขึ้นแล้ว-ให้เจริญงอกงาม

สัมมาสติ
ตั้งสติไว้ ณ ที่ฐานกาย เวทนา จิต หรือธรรมอย่างเนืองๆ เพื่อให้ต่อเนื่อง-ไม่ขาดสาย ในที่สุด

สัมมาสมาธิ เจริญฌาน ๔


♥ ธรรมทั้งหลายไม่ใช่เรา

ในหมวดธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานนี้ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ทรงชี้ให้เห็นว่า สิ่งที่สงบเยือกเย็น เป็นสิ่งที่มีอยู่เดิมอย่างมั่นคง เป็นแก่นสาร ควรเจริญรักษาไว้ให้มั่นคงต่อเนื่อง

และสิ่งที่ทำให้เกิดความเร่าร้อน กระสับกระส่ายทั้งหลาย ทั้งภายในและภายนอกนั้น ไม่ใช่เรา เกิดขึ้นในภายหลัง และไม่มีแก่นสาร ต้องมีความเสื่อมสิ้นไปเป็นธรรมดา ดังนั้น จึงต้องพยายามละสิ่งที่ไม่ใช่เราออกไปจากจิตใจให้หมดสิ้นตามลำดับ

การทำงานทางจิตในหมวดธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ๓ ขั้น ดังนี้:
๑. พิจารณาธรรมในธรรมเป็นภายในบ้าง
๒. พิจารณาธรรมในธรรมเป็นภายนอกบ้าง
๓. พิจารณาธรรมในธรรมทั้งภายในและภายนอกบ้าง


งานทั้ง ๓ ขั้นนี้ ผู้ปฏิบัติจะฝึกได้สำเร็จมั่นคงเพียงใดนั้น ย่อมขึ้นกับการทำพลังสติที่จะเข้าไปตั้ง ณ ฐานที่ตั้งสติได้อย่างคล่องแคล่วเป็นสำคัญ

ฐานที่ตั้งสตินี้ เป็นสิ่งที่จำเป็นและสำคัญอย่างยิ่งยวด ที่ผู้ปฏิบัติจะต้องอุปโลกน์ขึ้น และจำไว้ในใจให้แม่นเพียง ๑ แห่ง โดยต้องฝึกให้พร้อมที่จะยกจิตเข้าไปตั้งไว้ได้อย่างชำนาญคล่องแคล่ว ทุกขณะที่มีอารมณ์เข้ามากระทบ

หมายความว่า เมื่อมีอารมณ์ที่ทำให้เกิดความกระสับกระส่ายเร่าร้อนขึ้น ก็ให้นำจิตเข้าไปตั้งไว้ที่ฐานที่ได้อุปโลกน์ไว้อย่างรวดเร็วที่สุด และประคองไว้มิให้แลบหนีออกไปหาอารมณ์ใดๆได้อีก จิตก็จะรวมเป็นสมาธิสงบเยือกเย็นขึ้นแทนที่

ถ้าสามารถประคองไว้ได้ จิตก็ย่อมทำงานเป็นอันเดียวกับสติ สติปัฏฐานก็ย่อมเกิดตามมาด้วยเป็นธรรมดา และเมื่อสติปัฏฐานเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ก็นับว่าเป็นมหาสติปัฏฐานแล้ว

๑. พิจารณาธรรมในธรรมเป็นภายในบ้าง

กล่าวโดยรวมแล้ว การพิจารณาธรรมในธรรมเป็นภายใน ก็คือ การปราบความกระสับกระส่ายเร่าร้อน เมื่อมีเรื่องราวที่เป็นอดีตสัญญา มานึกคิดขึ้นในใจอีกครั้งหนึ่งเฉพาะหน้า

โปรดสังเกตว่า เมื่อสติสัมโพชฌงค์เกิดขึ้นได้แล้ว ก็ย่อมเป็นอัญญะมัญญะปัจจัย นำธัมมวิจยะ, วิริยะ, ปีติ, ปัสสัทธิ, สมาธิ และอุเบกขา ให้เป็นสัมโพชฌงค์ด้วย ทำให้ได้ตรัสรู้ในที่สุด

ผู้ปฏิบัติจะต้องรีบยกจิตออกจากความกระสับกระส่ายเร่าร้อนของความนึกคิดนี้ ให้เข้าไปตั้งไว้ที่ฐานที่ตั้งสติโดยเร็ว พร้อมกับประคองไว้ด้วยอุบายอันแยบคาย ที่จะไม่ให้แลบหนีออกไปอยู่ที่อารมณ์อื่นได้อีก จิตก็ย่อมเข้าสู่สภาพสงบร่มเย็นจนเป็นสมาธิได้ สติสัมโพชฌงค์ก็ย่อมเกิดตามมาด้วย

๒. พิจารณาธรรมในธรรมเป็นภายนอกบ้าง

งานขั้นนี้เป็นงานสัมโพชฌงค์ ขั้นปล่อยวางความกระสับกระส่ายของจิต ที่เกิดจากอารมณ์ที่ผ่านเข้ามาทางตา หูจมูก ลิ้น และ กายสัมผัส รวม ๕ ทาง

การปล่อยวางความกระสับกระส่ายทางจิตได้ดีเพียงใดนั้น ย่อมแล้วแต่กำลังของสติสัมโพชฌงค์ที่ได้ฝึกมาจากงานขั้นที่ ๑ แล้วเท่านั้น

หมายความว่า ผู้ปฏิบัติจะต้องจำทางเดินของจิต จากการที่เคยปล่อยวางความกระสับกระส่ายเร่าร้อนในงานขั้นที่ ๑ ได้สำเร็จ, อย่างแม่นยำที่สุด

๓.พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งภายในและภายนอกบ้าง

งานขั้นนี้ เป็นงานใช้ปัญญาปล่อยวางอารมณ์ทั้งหลาย หลังจากที่ได้ฝึกปล่อยวางในขั้นที่ ๑ และขั้นที่ ๒ มาอย่างคล่องแคล่วแล้ว กล่าวคือ เป็นงานรวมทั้งขั้นที่ ๑ และ ขั้นที่ ๒ มาปฏิบัติพร้อมกัน

โดยทำจิตให้กำหนดรู้ แล้วละเรื่องที่รู้ทุกเรื่อง และควบคุมสติให้ตั้งมั่นอยู่ ณ ฐานที่ตั้งสติอย่างฉับพลัน,ต่อเนื่องไม่ขาดสาย จัดเป็นอริยมรรค ที่ผู้ปฏิบัติจะต้องพยายามแก้ไขตกแต่งจิตของตน ให้ปล่อยวางอารมณ์ให้ได้เด็ดขาดตลอดชีวิต โดยไม่เผลอปล่อยให้จิตแลบหนีออกไปจากฐานที่ตั้งสติ (ซึ่งเป็นสติสัมโพชฌงค์อยู่) ก็จะทำให้บรรลุมรรคจิตที่สูงกว่าต่อไปได้

เมื่ออริยมรรคเกิดขึ้นแล้ว อริยผลคือความสงบตั้งมั่นแห่งจิต ก็ย่อมเกิดขึ้นทันที อารมณ์ทั้งหลายก็อยู่ในสภาพที่สักแต่ว่ากระทบเท่านั้น และไม่เรียกว่าเป็นอารมณ์อีกต่อไป เพราะจิตไม่ได้ยึดถือไว้ดังแต่ก่อนเสียแล้ว.


♥ คัดลอกจากหนังสือธรรมประทีป ๙ ธรรมะภาคปฏิบัติ โดย อ.ไชยทรง จันทรอารีย์




♥ คลิก download ไฟล์หนังสือธรรมประทีป ๙ ธรรมะภาคปฏิบัติ


♥ เรื่องสติปัฏฐาน ๔ จากหนังสือธรรมประทีป ๙

♥ สติปัฏฐาน ๔...ฐานที่ตั้งแห่งการงานทางจิต
♥ ความหมายของ “กายในกาย” ในกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน
♥ อานาปานสติ
♥ ลำดับการทำงานทางจิตสำหรับการปฏิบัติอานาปานสติ
♥ อิริยาบถ ๔
♥ สัมปชัญญะบรรพะ
♥ ปฏิกูลบรรพะ
♥ เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน
♥ จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน
♥ ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน
♥ ฐานที่ตั้งสติ ในการปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔
♥ สติเป็นเครื่องตัดเงื่อนต่อของการรับรู้อารมณ์








 

Create Date : 03 พฤษภาคม 2551   
Last Update : 29 กันยายน 2556 18:29:54 น.   
Counter : 1854 Pageviews.  

[9]จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน

จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน

จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน บรรพะนี้หมายความว่า ใช้สติตามรู้ตามเห็นเข้าไปในอาการของจิตที่เกิดขึ้น เมื่อมีอารมณ์เข้ามากระทบ

ดังนั้น จิตชนิดต่างๆในบรรพะนี้ จึงเป็น จิตสังขาร คือ ถูกอารมณ์เข้าปรุงแต่งให้เสียคุณภาพเดิมไปแล้วทั้งสิ้น

อาการของจิตทั้งหลาย เช่น ราคะก็ดี โทสะก็ดี โมหะก็ดี จึงล้วนแต่อยู่ใต้อำนาจพระไตรลักษณ์ ที่สามารถสลัดละวางได้ด้วยอำนาจของสัมมาสมาธิในที่สุด.

อารมณ์ที่เข้ามากระทบจิตนั้นแบ่งเป็น ๒ ชั้น คือ อารมณ์ชั้นใน และ อารมณ์ชั้นนอก

อารมณ์ชั้นในนั้น ได้แก่ ความนึกคิดที่เกิดขึ้นภายในจิต

และอารมณ์ชั้นนอกนั้น ก็ได้แก่ อารมณ์ที่เข้ามาทางอายตนะ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กายสัมผัส รวม ๕ ทางด้วยกัน.

เมื่ออารมณ์ใดๆเข้ามากระทบจิตแล้ว ย่อมส่งผลให้เกิดความรู้สึกทุกข์-สุข(เวทนา)ขึ้น

เมื่อความรู้สึกทุกข์-สุขเกิดขึ้น ก็ย่อมส่งผลให้เกิดจิตสังขาร คือ รัก, ชัง, เฉยๆ ซึ่งเป็นกิเลส รวม ๑๖ ชนิดขึ้นด้วย แล้วแต่ว่าจะเป็นอารมณ์ชนิดใดเข้ามากระทบ หรือแล้วแต่ว่าจะเป็นอารมณ์ชั้นในหรือชั้นนอก


ลำดับการทำงานของผู้ปฏิบัติหมวดจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน มีอยู่ ๓ ขั้น ดังนี้คือ

๑. พิจารณาจิตในจิตเป็นภายในบ้าง

(คือ ความนึกคิดของตน)

๒. พิจารณาจิตในจิตเป็นภายนอกบ้าง
(คือ อารมณ์ที่เข้ามาทางอายตนะ ๕)

๓. พิจารณาจิตในจิตทั้งภายในและภายนอกบ้าง
(คือ ทั้งความนึกคิดและอารมณ์ที่เข้ามาทางอายตนะ ๕)

งานทั้ง ๓ ขั้นนี้ ผู้ปฏิบัติจะต้องฝึกสติให้ตั้งลงที่ฐานที่ตั้งสติให้มั่นคง จนจิตควรแก่การงานอย่างต่อเนื่องไม่ขาดสาย เพื่อที่จะปล่อยวาง ความรัก-ชัง ฟุ้งซ่าน หวั่นไหวออกไปจนหมดสิ้น จนกระทั่งชำนาญคล่องแคล่วทุกขณะจิต

ถึงขั้นที่ว่าพอน้อมยกจิตเข้าไปตั้งที่ฐาน,เท่านั้น จิตก็รวมตัวสงบถึงขีดสุดได้ทันที เมื่อจิตสงบแล้ว อาการทั้งหลายของจิต ก็ย่อมดับหายขาดไปทันทีด้วย.

เมื่ออาการของจิตดับหายขาดไปแล้ว ความประพฤติทางกายกับวาจา ก็ย่อมไม่วิปริต ไม่เป็นพิษเป็นภัยแก่สังคมและผู้ใกล้ชิด,เป็นธรรมดา


๑.พิจารณาเห็นจิตในจิตเป็นภายในบ้าง

กล่าวโดยรวมแล้ว การพิจารณาเห็นจิตในจิตเป็นภายใน คือ การเอางานสมาธิมาปราบความรู้สึกรัก-ชัง ฟุ้งซ่าน กระสับกระส่าย ที่เกิดจากอารมณ์ในอดีตที่ได้ผ่านพ้นไปแล้ว กลับมาปรุงแต่งจิตขึ้นอีกครั้งหนึ่ง เพราะว่างจากอารมณ์ใดๆเฉพาะหน้า จึงทำให้เกิดความรัก-ชัง ฟุ้งซ่าน กระสับกระส่าย เพราะเข้าไปยึดถืออารมณ์นั้นๆไว้

ผู้ปฏิบัติจะต้องรีบพรากจิตออกจากความรัก-ชัง ฟุ้งซ่าน กระสับกระส่ายในเรื่องที่นึกคิดนี้ แล้วยกจิตเข้าไปตั้งไว้ที่ฐานที่ตั้งสติโดยเร็ว พร้อมกับประคองไว้ด้วยอุบายอันแยบคาย เพื่อไม่ให้จิตแลบหนีไปหาอารมณ์ใดๆได้อีก จนจิตเป็นสมาธิในที่สุด

หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ รีบยกจิตเข้าไปตั้งไว้ที่ฐานที่ตั้งสติทันทีที่เกิดความรัก-ชัง ฟุ้งซ่าน กระสับกระส่ายขึ้น, ความรัก-ชัง ฟุ้งซ่าน กระสับกระส่าย ก็ย่อมดับหายไปทันที

การจำทางเข้า-ออกสมาธิได้แม่นยำ จึงเป็นงานที่จะช่วยสลัดอาการต่างๆ ของจิตได้อย่างถูกจุดที่สุด


๒.พิจารณาเห็นจิตในจิตเป็นภายนอกบ้าง

กล่าวโดยทั่วไปแล้ว การพิจารณาเห็นจิตในจิตเป็นภายนอกบ้างนี้ เป็นงานที่เกิดจากการนำเอาความคล่องแคล่วของการฝึกทำสมาธิ มาใช้ตัดความรัก-ชัง ฟุ้งซ่าน กระสับกระส่ายจากอารมณ์ที่เข้ามาทาง ตา หู จมูก ลิ้น กายสัมผัสให้หมดไป ด้วยการเพิกอารมณ์ แล้วยกจิตเข้าไปตั้งไว้ที่ฐานที่ตั้งสติทันทีที่เกิดความรัก-ชัง ฟุ้งซ่าน กระสับกระส่ายขึ้น,โดยมิชักช้า

งานขั้นนี้ จึงเป็นเรื่องของการใช้ความคล่องแคล่วทางจิต ที่จะช่วยให้มีสมาธิ ทำให้การปฏิบัติก้าวหน้าไปได้ดียิ่ง ถ้าไม่ได้ผ่านงานฝึกปฏิบัติสมาธิให้ชำนาญคล่องแคล่วมาก่อนแล้ว ย่อมทำงานขั้นที่ ๒ นี้ไม่สำเร็จ แล้วย่อมผลักดันกิเลสทั้งหลายให้ปรากฏออกมาได้อย่างแน่นอน คือ วิปัสสนาล้มเหลว

แต่ถ้าจำทางเข้าสมาธิได้ดี คล่องแคล่วแล้ว ความรัก-ชัง กระสับกระส่าย ย่อมดับสูญไปได้ และถ้าสามารถประคองสติให้ตั้งอยู่อย่างต่อเนื่องไม่ขาดสายแล้ว ก็จะกลายเป็นอริยมรรค ทำหน้าที่สลัดความรัก-ชัง ฟุ้งซ่าน และกิเลสทั้งหลายออกไป จนเกิดวิชชาขึ้นแทนที่ที่จิตมากขึ้นตามลำดับด้วย


๓.พิจารณาจิตในจิตทั้งภายในและภายนอกบ้าง

งานขั้นนี้ เป็นงานขั้นสุดท้ายที่รวมเอางานขั้นที่ ๑ กับขั้นที่ ๒ เข้าปฏิบัติพร้อมกัน เป็นงานขั้น อริยมรรค (ซึ่งคัมภีร์พระอภิธรรม เรียกว่า มรรคจิต) เอามาปราบความยึดมั่นถือมั่นในรัก-ชังอารมณ์ ให้หมดไป

กล่าวให้ชัด ก็คือ เมื่อกิเลสอย่างใดเกิดขึ้นที่จิต ไม่ว่าจะมาจากอารมณ์ภายนอกก็ดี ภายในก็ดี ก็รีบยกจิตเข้าไปตั้งไว้ที่ฐานที่ตั้งสติ และเพียรประคองไว้ไม่ให้แลบออกไปปรุงแต่งเป็นกิเลสอย่างอื่นต่อไปอีกได้ทุกครั้งตลอดชีวิต

จิตสังขารที่ผ่านไปแล้ว,เป็นอดีต จิตสังขารที่ยังมาไม่ถึง, เป็นอนาคต อย่าเก็บเอามาคิด เพราะไม่สามารถทำอะไรให้ดีขึ้นได้แล้ว ผู้ปฏิบัติจะต้องสนใจกับจิตสังขารเฉพาะหน้า คือ สลัดปล่อยวางออกไปเพียงประการเดียวเท่านั้น

เมื่อจิตสังขารเฉพาะหน้าดับไป ก็ย่อมเห็นชัดเจนว่า
จิตสังขารชนิดนั้นไม่ใช่เรา
เราไม่ใช่จิตสังขารชนิดนั้น
จิตสังขารทั้งหลายไม่ใช่ตัวตนของเรา
อย่างไม่มีข้อสงสัยอะไรเลย

ด้วยเห็นชัดเจนว่า จิตสังขารเกิดขึ้น เพราะมีอารมณ์มากระทบ ถ้ายังไม่มีอารมณ์มากระทบ จิตก็รู้อยู่ชัดว่าจิตสังขารก็ยังไม่เกิดขึ้น คือ จิตรู้ว่าตัวเองว่างจากสิ่งใดๆ

ในจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ซึ่งมีอยู่ ๑๖ ข้อนั้น ผู้ปฏิบัติย่อมรู้อยู่ทุกขณะ ไม่ว่าจะมีราคะ โทสะ หรือโมหะ เกิดขึ้นที่จิต และรู้อยู่ทุกขณะไม่ว่า ราคะ โทสะ หรือโมหะหายไปจากจิต เมื่อจิตหดหู่ ฟุ้งซ่าน เป็นฌาน มีจิตอื่นยิ่งกว่า ไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่าก็รู้ เมื่อจิตตั้งมั่น จิตหลุดพ้น หรือยังไม่หลุดพ้นก็รู้

ผู้ปฏิบัติย่อมแยกออกได้เองว่า อาการดิ้นรน ฟุ้งซ่าน หดหู่ กระสับกระส่าย หวั่นไหว ต่างๆเหล่านี้ ไม่ใช่สภาพเดิมของตน ดังพุทธพจน์ในอนัตตลักขณสูตรที่มีมาว่า:

“เนตํ มม เนโสหมสฺมิ น เมโส อตฺตาติ แปลว่า
สิ่งนั้นไม่ใช่เรา เราไม่ใช่สิ่งนั้น สิ่งนั้นไม่ใช่ตัวตนของเรา”

ดังนั้นจึงได้นำจิตเข้าสู่ฐานที่ตั้งสติ จนสงบเป็นสมาธิต่อไป และเป็นจิตหลุดพ้นในที่สุด เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ความเสียดแทง ความกระวนกระวายที่ทำให้เป็นทุกข์ทั้งหลาย ย่อมดับไปจากจิตอย่างสิ้นเชิง

ดุจลูกคลื่นซึ่งเป็นอาการของน้ำ ได้ดับหายไปจากผิวน้ำอย่างสิ้นเชิง คงเหลืออยู่แต่ผิวน้ำ ที่สงบราบคาบเป็นเส้นระดับ ฉนั้น.

ถ้าผู้ปฏิบัติรักษาจิตให้ตั้งอยู่ที่ฐานที่ตั้งสติอย่างถาวรต่อเนื่องไม่ขาดสายได้แล้ว ก็เป็นอันจบการปฏิบัติมรรคมีองค์ ๘ ในพระพุทธศาสนาเพียงเท่านี้.


ตัวรู้ของพระอริยะและสามัญชน

ผู้ที่ได้ศึกษามาถึง จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานบรรพะนี้ และได้ลงมือปฏิบัติจริง ด้วยความสังเกตดู “ตัวรู้” ที่มีอยู่แล้ว จะพบว่า

“ตัวรู้” ของตน ทรงความรู้อยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าราคะ หรือ โทสะ หรือ โมหะ จะเกิดขึ้นที่จิต แล้วดับไปจากจิตกี่ครั้งกี่หนก็ตาม

ซึ่งแสดงชัดเจนที่สุดว่า สิ่งที่เกิดดับทั้งหมด คือ กิเลสหรืออาการที่จิตแสดงออกเนื่องด้วยอารมณ์ ส่วน “ตัวรู้ซึ่งถูกคุมด้วยสติ” นั้น ไม่ได้ดับหายไปไหนเลย

ตัวรู้ซึ่งถูกคุมด้วยสติ ทำให้ผู้ปฏิบัติรู้จักอารมณ์ทั้งหลายที่เข้ามากระทบ, ถูกต้องตามความเป็นจริง ทำให้ไม่ปรุงแต่งเป็นกิเลส เรียกว่าเกิดวิชชาขึ้นที่จิตแล้ว นับว่าเป็นจิตของพระอริยะ คือ รู้ถูก

ส่วนตัวรู้ของสามัญชนนั้นขาดสติคุ้มครอง,จึงรู้ผิดเป็นอวิชชา คือ ไม่รู้จักอารมณ์ตามความเป็นจริง หรือ รู้จักอารมณ์อย่างผิดๆ แล้วยึดถืออารมณ์นั้นๆไว้.











 

Create Date : 02 พฤษภาคม 2551   
Last Update : 29 กันยายน 2556 18:28:43 น.   
Counter : 1692 Pageviews.  

[3]อานาปานสติ

อานาปานสติ (ใช้สติเพ่งดูลมหายใจเข้าออก)

เป็นวิธีปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔ วิธีหนึ่งในหมวดกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ที่สำคัญในพระพุทธศาสนา มีความจำเป็นและเหมาะสมสำหรับทุกคน เพราะทุกคนต่างก็มีลมหายใจเข้าออกอยู่แล้ว จึงไม่ต้องเตรียมหาอุปกรณ์ให้ยุ่งยาก

ผู้ปฏิบัติสามารถลงมือทำได้ โดยแยกจิตซึ่งกำลังรับอารมณ์เฉพาะหน้า ให้เข้าไปเพ่งดูความเคลื่อนไหวของลมหายใจของตน ณ ฐานที่ตั้งสติ และประคองไว้ไม่ให้แลบหนีออกไปได้เท่านั้น จิตก็ย่อมสงบเป็นสมาธิทันที ผู้ปฏิบัติสามารถปฏิบัติได้ทันทีตลอดเวลา ไม่ว่าจะอยู่ ณ สถานที่แห่งใดก็ตาม

พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์ ล้วนแล้วแต่ได้ทรงดำเนินไปทางนี้ จนกระทั่งตรัสรู้อริยสัจ ๔ เหมือนกัน แล้วก็ได้ทรงสั่งสอนชาวพุทธให้ปฏิบัติตามเสด็จด้วยวิธีอานาปานสติ ตลอดเวลาที่ประกาศพระศาสนาในชมพูทวีปในครั้งนั้นๆ ทุกพระองค์

ด้วยเหตุนี้ ชาวพุทธทั้งหลาย ควรจะได้ลงมือปฏิบัติอานาปานสติ คือ เพ่งดูลมหายใจเข้าออก ตามเสด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าโดยพร้อมเพรียงกัน เพื่อช่วยกันจรรโลงการปฏิบัติธรรมให้มั่นคงถาวร,ตลอดไป.


ลมหายใจเข้าออกเป็นเครื่องชี้บอกลักษณะของจิต

ตามธรรมดาแล้ว ลมหายใจเป็นสังขารธรรม ซึ่งปรุงแต่งชีวิตคนและสัตว์ให้ดำรงอยู่ต่อไป ถ้าปราศจากลมหายใจเสียแล้ว คนและสัตว์ย่อมตายเป็นธรรมดา แต่เพราะว่ามีอารมณ์ต่างๆเข้ามายั่วยวนยั่วยุจิตใจ ทั้งคนและสัตว์จึงไม่สนใจเรื่องลมหายใจเข้าออกของตนเสียอย่างสิ้นเชิง จึงได้ถูกอารมณ์ครอบงำจิตใจให้เกิดความยินดี-ยินร้ายตลอดเวลา แล้วส่งผลให้สภาพการเคลื่อนไหวของลมหายใจเข้าออกเปลี่ยนแปรไปด้วยเสมอ

กล่าวคือ ทำให้ลมหายใจเข้าออกทางช่องจมูก ช้าหรือเร็ว,เย็นหรือร้อนแรง,ละเอียดหรือหยาบ,ไม่เหมือนกัน สุดแต่ความยินดียินร้ายจะปรุงแต่งจิตใจมากน้อยเพียงใดในขณะนั้นๆด้วย

ถ้าคิดถึงอารมณ์ที่น่ารักใคร่น่าพอใจ (อิฏฐารมณ์) ก็เกิดความชื่นชมยินดีโสมนัสขึ้นมา ลมหายใจก็ย่อมมีลักษณะเย็น ราบเรียบ เคลื่อนไหวเข้าออกช้าๆ

แต่ถ้าคิดถึงอารมณ์ที่ไม่น่ารักใคร่ (อนิฏฐารมณ์) ก็ย่อมเกิดความยินร้ายขัดเคือง ไม่ชอบใจโทมนัสขึ้นมา ลมหายใจก็ย่อมมีลักษณะร้อนแรง สะดุด ติดขัด หายใจหอบ และเคลื่อนเข้าออกเร็วกว่าปกติ

สภาพผิดปกติของลมหายใจดังกล่าวมานี้ จะเป็นไปมากกว่าหรือน้อยกว่าเดิมเพียงใดนั้น ย่อมแล้วแต่ความประทับใจที่เข้าไปยึดถืออารมณ์นั้นๆไว้ ซึ่งเป็นเรื่องธรรมดา ที่จะต้องเกิดขึ้นแก่สามัญชนทุกรูปทุกนาม ดังนั้นจึงเห็นได้ว่า ลมหายใจเข้าออกสามารถชี้บอกสภาพจิตใจในแต่ละขณะได้โดยตรง

การปฏิบัติอานาปานสติ จะช่วยทำให้ผู้ปฏิบัติมีพลังจิตถอนความยึดถืออารมณ์ และความรู้สึกนึกคิดถึงอารมณ์ได้ดี ถ้าปฏิบัติอย่างต่อเนื่องแล้ว ก็ย่อมปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นในอารมณ์ทั้งหลาย รวมทั้งความคิดถึงอารมณ์ให้หมดอย่างสิ้นเชิงได้ในที่สุด

เมื่อทำเช่นนี้แล้ว จิตก็หลุดพ้นจากการครอบงำของอารมณ์ คือ อารมณ์ไม่สามารถปรุงแต่งจิตได้อีกต่อไป และ ลมหายใจเข้าออก ก็ย่อมเคลื่อนไหวเข้าออก ราบเรียบ แผ่วเบา ประณีต ตามไปด้วยเป็นธรรมดา ดังนั้น จึงต้องยกจิตขึ้นเพ่งดูลมหายใจเข้าออก ณ ฐานที่ตั้งสติ เพื่อให้จิตทำงานเกี่ยวกับลมหายใจ แทนที่จะปล่อยให้สนใจอารมณ์ต่อไป.


ถ้าลมหายใจสงบ จิตก็สงบด้วย

ผู้ปฏิบัติย่อมแลเห็นได้ว่าลักษณะของลมหายใจของแต่ละบุคคลนั้น สามารถชี้บอกความรู้สึกนึกคิดที่กำลังมีอยู่ได้ดี นับตั้งแต่ยกจิตเข้าสู่ฐานที่ตั้งสติเพื่อเพ่งดูความเคลื่อนไหวของลมหายใจ ณ ฐานนี้ (คัมภีร์พระอภิธรรม เรียกว่า เกิดอุคคหนิมิต)ได้แล้ว ผู้ปฏิบัติจะต้องทำงานแนบแน่นเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับลมหายใจตลอดเวลา ลมหายใจที่เคยหยาบในระยะแรกๆนั้น ก็จะแปรสภาพเป็นแผ่วเบา ละเอียด ประณีตขึ้น จนจับความเคลื่อนไหวเข้าออกได้ยากขึ้นตามลำดับ และดับหายไปจากความรู้สึกในที่สุด ซึ่งแสดงว่าจิตของผู้ปฏิบัติได้สงบตามลมหายใจที่สงบไปด้วย

เพราะฉะนั้นจึงสามารถกล่าวได้ว่า การปฏิบัติอานาปานสติ ก็คือ การศึกษาให้รู้จักวิธีระงับลมหายใจเข้าออกที่หยาบ เพราะมีอารมณ์ที่น่ารักบ้างน่าชังบ้างเข้ามากระทบจิต แล้วส่งผลให้ลมหายใจเข้าออก ยาวบ้าง สั้นบ้างนั้น ได้ทำให้จิตกระเพื่อมไหวแลบออกไปจากฐานที่ตั้งสติแล้ว ผู้ปฏิบัติสามารถแก้ไขได้ โดยการย่อการเคลื่อนไหวของลมหายใจให้แคบลง ณ ฐานที่ตั้งสติ

การย่อลมหายใจที่กำลังจะขยายใหญ่ขึ้นเพราะอิทธิพลของอารมณ์ให้แคบลงนี้ (คัมภีร์พระอภิธรรมเรียกปฏิภาคนิมิต) จะส่งผลให้ลมหายใจเคลื่อนไหวแผ่วเบา ประณีต ทำให้จิตสงบเป็นสมาธิได้ในที่สุด

ส่วนลมหายใจจะเคลื่อนไหวแผ่วเบาประณีตได้เร็วมากน้อยเพียงใดนั้น ย่อมแล้วแต่ความสามารถทำลมให้แคบและกว้างได้ชำนาญมากน้อย ซึ่งต้องอาศัยการฝึกฝนให้เกิดขึ้นบ่อยๆเป็นสำคัญอย่างยิ่ง นั่นก็คือ การทำลมหายใจให้ละเอียดประณีตได้อย่างคล่องแคล่วชำนาญ จะสามารถทำให้จิตเป็นสมาธิได้เร็วที่สุด

ด้วยเหตุนี้ ผู้ปฏิบัติจึงต้องจำวิธีย่อลมหายใจให้แคบเพื่อให้จิตเป็นสมาธิ และจำวิธีขยายลมหายใจให้กว้าง เพื่อจะออกจากสมาธิ มาทำการงานอย่างอื่นๆ ไว้ให้ได้อย่างแม่นยำทั้งสองอย่างด้วย

ทั้งนี้เพื่อที่จะได้เข้าหรือออกจากสมาธิให้ได้อย่างคล่องแคล่วในครั้งต่อไป ได้ทันกับอารมณ์ที่จะเข้ามากระทบต่อไปอีกทุกอารมณ์.

สิ่งที่ผู้ปฏิบัติจะต้องระวังโดยไม่ให้พลั้งเผลอ คือ ตอนขยายลมให้กว้างเพื่อออกจากสมาธิไปทำการงานนั้น จะต้องคอยระวังจิตมิให้แลบเตลิดออกไป จนจำทางกลับเข้าสมาธิครั้งใหม่ไม่ได้,มิให้เกิดขึ้น.


คำแนะนำสำหรับผู้ปฏิบัติอานาปานสติ

สภาพลมหายใจที่ตกอยู่ใต้อำนาจพระไตรลักษณ์นี้ ผู้ปฏิบัติจะเริ่มเห็นตั้งแต่เพิกจิตออกจากอารมณ์เฉพาะหน้า และยกขึ้นสู่ฐานที่ตั้งสติทีเดียว

ผู้ที่ลงมือปฏิบัติใหม่ๆ จะพบจิตใจ ความคิดถึงอารมณ์ต่างๆ รวมทั้งลมหายใจของตน ดิ้นรนสับสนวุ่นวายอย่างยิ่ง ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการต่อสู้ระหว่าง ความเพียรยกจิตเข้าสู่ฐานที่ตั้งสติ กับความปราดเปรียวของจิตที่จะดิ้นรนออกจากฐานดังกล่าว ไปอยู่กับอารมณ์อีกให้ได้เท่านั้น

ผู้ปฏิบัติใหม่ๆบางคนถึงกับเหงื่อไหลโทรมกาย บางคนรู้สึกหายใจอึดอัด หายใจไม่ออก หายใจไม่ทัน แน่นหน้าอก บางคนก็แลเห็นภาพ หรือได้ยินเสียงที่น่ากลัว แล้วก็ตกใจสุดขีดจนพาลเลิกปฏิบัติต่อไปอีกก็มี

สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องธรรมดาที่มักเกิดขึ้นแก่ผู้ปฏิบัติใหม่ๆ เสมอ ผู้ปฏิบัติย่อมสามารถแก้ไขให้ดีขึ้นได้ โดยเพิ่มความเพียรพยายามนำจิตให้กลับมาตั้งไว้ที่ฐานที่ตั้งสติให้ได้อีกเท่านั้น ยิ่งได้ดึงจิตกลับเข้ามาตั้งที่ฐานที่ตั้งสติบ่อยๆ มากๆ ครั้งเพียงใด พลังปัญญาที่จะปล่อยวางเรื่องดังกล่าว ก็ย่อมเกิดมากขึ้นเพียงนั้นด้วย จึงขออย่าได้ตกใจและคิดเลิกลาไปเสียก่อนโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ก็แล้วกัน เพราะเป็นปรากฏการณ์ที่ไม่มีพิษ ไม่มีภัยอะไรเลย.





 

Create Date : 26 เมษายน 2551   
Last Update : 29 กันยายน 2556 18:04:16 น.   
Counter : 704 Pageviews.  

1  2  3  

หนูเล็กนิดเดียว
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




พระพุทธศาสนา
มีหลักการที่ตั้งอยู่บนเหตุ-ผล

อริยสัจ ๔
ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค


เหตุ-จิตชอบแส่ส่ายออกไปหาเรื่อง
(สมุทัย)
ผล-ทุกข์โหมกระหน่ำทับถมจิตใจ
(ทุกข์)

เหตุ-ปฏิบัติสัมมาสมาธิตามหลักมรรค ๘
ให้จิตระลึกรู้อยู่ที่ฐานที่ตั้งสติ
ไม่แส่ส่ายออกไปหาเรื่อง

(มรรค)
ผล-จิตสงบตั้งมั่นไม่หวั่นไหว
ทุกข์ไม่โหมกระหน่ำทับถมจิตใจ

(นิโรธ)

เหตุ-รู้อยู่ที่เรื่อง (สมุทัย)
ผล-เป็นทุกข์ (ทุกข์)

เหตุ-รู้อยู่ที่รู้ (มรรค)
ผล-ไม่ทุกข์ (นิโรธ)



ธรรมบรรยาย โดย อ.ไชยทรง จันทรอารีย์


[Add หนูเล็กนิดเดียว's blog to your web]