[17]วิธีสร้างความคล่องแคล่วในการเข้าสมาธิ

วิธีสร้างความคล่องแคล่วในการเข้าสมาธิ

ก่อนอื่น ผู้ศึกษาธรรมะจะต้องทราบว่า สัมมาสมาธิ ไม่ใช่สมาธิที่ทำให้จิตสงบเพราะเกาะยึดอารมณ์ ไว้เป็น “เอกัคคตา” แต่ประการใดเลย หลักการของ สัมมาสมาธิ นั้น คือ สมาธิที่ทำให้จิตสงบเพราะปล่อยวางอารมณ์ และอาการนึกคิดของจิตออกไปจนหมดสิ้น

ดังนั้น เมื่อลงมือปฏิบัติจริง จึงต้องมุ่งไปในทิศทางที่ปล่อยวางอารมณ์ และนิมิตหมายต่างๆที่ไม่พึงประสงค์ออกไปตามลำดับ จนจิตย่างเข้าสู่สภาพสุญญตา คือ ว่างเพราะไม่มีอะไรเหลือเป็นนิมิตหมายอยู่เลย กลายเป็นจิตสงบเพราะหลุดพ้นจากการปรุงแต่งใดๆในที่สุด

ทั้งนี้หมายความว่า พลังปัญญาที่จะสลัดอารมณ์ออกไป เป็นสิ่งที่จะต้องอบรมให้เกิดขึ้น โดยวิธียกจิตเข้าไปตั้งไว้ที่ฐานที่ตั้งสติ ซึ่งจะส่งผลเป็นความสงบร่มเย็นให้แก่ผู้ปฏิบัติ และเป็นที่พึ่งทางจิตที่ถูกต้อง พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ย่อมปรากฏขึ้นแล้ว ณ ที่จิตหลุดพ้นนี้


๑. เมื่อเริ่มปฏิบัติสมาธิ ผู้ปฏิบัติจะต้องรู้ตัวว่า ตนเลือกฐานที่ตั้งสติไว้ ณ ที่ใด และใช้คำบริกรรมว่าอย่างไร ( ถ้าใช้ )… ให้จำและหมั่นฝึกจิตเข้าไปตั้งไว้บ่อยๆเนืองๆโดยไม่ประมาท เลินเล่อ เผลอตัว เผลอสติ เมื่อมีอารมณ์เข้ามากระทบเป็นอันขาด

รวมทั้งสังเกตดูว่า เมื่อยกจิตเข้าไปตั้งอยู่ที่ฐานแล้ว รวมตัวลงได้ด้วยวิธีวางจิตอย่างไร ถ้าจิตรวมตัวดีแล้ว ให้หยุดคำบริกรรมเสียทันที

ขณะนี้ ให้จำสภาวะตรงหัวเลี้ยวหัวต่อระหว่างที่จิตยังไม่สงบ กับเมื่อจิตเริ่มสงบให้ได้ โดยวิธีถอนลมหายใจให้หยาบขึ้นสักเล็กน้อย แล้วจึงนำจิตกลับเข้าสู่ความสงบให้ได้อีกครั้งหนึ่งทันที ให้ทำเช่นนี้สักสองสามครั้ง ทุกคราวที่ปฏิบัติสมาธิ เพื่อให้จำทางเข้าสมาธิได้อย่างคล่องแคล่ว


๒. ในขณะที่จิตรวมตัวและสงบยิ่งขึ้นไปอีกนั้น ผู้ปฏิบัติจะต้องเพ่งดูลมหายใจ ให้ “รู้ชัด” ตลอดเวลาด้วยความพากเพียร และประคองไว้ด้วยอุบายอันแยบคาย

ทำความศึกษาสภาพของลมหายใจที่ปรากฏสัมพันธ์กับความรู้สึกนึกคิดที่เกิดขึ้นด้วยว่า ลักษณะของลมหายใจเช่นนี้ ทำให้เกิดความรู้สึกพอใจ ไม่พอใจ ยินดี ยินร้าย ประการใด ไม่ว่าลมหายใจจะหยาบ ละเอียด แผ่วเบา หรือ ประณีตเพียงใดก็ตาม

เพราะลมหายใจของแต่ละคนนั้น เป็นเครื่องชี้บอกความนึกคิดในขณะนั้นๆได้ เช่นในขณะโกรธ ลมหายใจจะมีลักษณะร้อน แรง หายใจสั้น หรือ เมื่อลมหายใจไม่ปรากฏ ก็ให้ “รู้ชัด” ว่า “ว่าง” คือ ความรู้สึกพอใจ ไม่พอใจ ยินดี ยินร้าย ดับหายไปอย่างสิ้นเชิงด้วย เป็นต้น

ดังนั้น ปัญญาจึงถูกอบรมให้เกิดขึ้นแก่ผู้ปฏิบัติสมาธิ เพราะศึกษาจนรู้วิธีทำลมหายใจชนิดต่างๆให้ละเอียด แผ่วเบา และประณีต จนชำนาญในขณะปฏิบัติสมาธิ แล้วจึงนำเอาประสบการณ์เช่นนี้ไปใช้ เมื่อรับรู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กายสัมผัส ซึ่งเรียกว่า ปฏิบัติ “วิปัสสนา” ต่อไป


๓.เมื่อได้ใช้ความเพียรประคองจิตให้สงบถึงขีดสุด รวมทั้งศึกษาวิธีเข้าถึงสภาพว่างเป็นสุญญตามานานพอสมควรแล้ว ก็ควรจะได้ศึกษาวิธีออกจากสมาธิด้วย

โดยถอนลมหายใจให้หยาบขึ้นทีละน้อยๆช้าๆ สุขุมเยือกเย็น ตามลำดับ พร้อมสังเกตดูสภาวะจิตใจอย่างใกล้ชิดตลอดเวลา อย่าออกอย่างรวดเร็วพรวดพราด จนเสียสติการทรงตัวเป็นอันขาด เพราะจิตจะแลบหนีออกไป ทำให้เสียพลัง และจำทางเข้าสมาธิไม่ได้โดยง่ายในครั้งต่อไป

ด้วยเหตุนี้ ผู้ปฏิบัติควรถอนลมหายใจเข้าเพื่อให้ลมหยาบขึ้นเล็กน้อย แล้วนำกลับเข้าสู่ลมหายใจละเอียดจนเป็นสมาธิให้ได้อีกครั้งหนึ่ง พร้อมกับใช้ความสังเกตดูสภาวะตรงหัวเลี้ยวหัวต่อ ขณะที่จิตสงบเป็นสมาธิกับขณะที่เริ่มไม่สงบ ให้เห็นชัดด้วย

ผู้ปฏิบัติควรซ้อมทำวิธีออกจากสมาธิดังกล่าวนี้สักสองสามครั้ง ทุกคราวเมื่อจะออกจากสมาธิ เพื่อให้จำทางออกจากสมาธิได้อย่างแม่นยำ ซึ่งจะช่วยให้เข้าสมาธิครั้งต่อไปได้โดยง่ายที่สุด


๔.เมื่อถึงเวลานอน ก็นอนลงไปพร้อมกับตั้งสติกำหนดลมหายใจตลอดเวลาจนกระทั่งหลับ ผู้ที่ทำเช่นนี้เพียงระยะเวลาไม่นานนัก จิตจะรู้เองว่าถึงเวลาที่ตนจะต้องทำหน้าที่อย่างใดแล้วในขณะนี้ ตรงกันทุกวันเสมอ เพราะจิตเป็นอิสระ เป็นไท พ้นจากถูกอารมณ์ครอบงำแล้ว รวมทั้งรู้ว่าควรปฏิบัติตนอย่างไรต่อไปจึงจะหลุดพ้นอย่างสิ้นเชิงอีกด้วย


๕.เมื่อจะตื่นขึ้น ก็รีบยกจิตเข้าไปตั้งไว้ ณ ฐานที่ตั้งสติอีกทันที และรักษาไว้ที่ฐานที่ตั้งสติให้มั่นคงทั้งวันทั้งคืนไม่ว่าจะอยู่ในอิริยาบถ ยืน เดิน นั่ง หรือนอนก็ตาม

เมื่อมีสิ่งใดเข้ามากระทบจิต ก็ให้รีบยกจิตออกจากสิ่งนั้นๆ เข้าไปไว้ที่ฐานที่ตั้งสติทันที และทำสติให้รู้ลมหายใจเข้าออกให้ชัดเจน เพื่อไม่ให้แลบหนีไปหาสิ่งที่เข้ามากระทบได้อีก

ทั้งนี้หมายความว่า เมื่อเรื่องอะไรเข้ามากระทบจิต ก็ให้ละเรื่องที่รู้ออกไปเสีย แล้วรีบนำจิตเข้าไปตั้งไว้ที่ฐานโดยเร็วที่สุดทุกครั้ง ความยินดี-ยินร้ายก็จะไม่เกิดขึ้นที่จิตได้เลย

เมื่อได้ปฏิบัติเช่นนี้มากขึ้นและนานขึ้น จนถึงขั้นที่เรียกว่าบ่อยๆเนืองๆต่อเนื่องกันแล้ว ผู้ปฏิบัติย่อมเกิดความคล่องแคล่วในการรวมจิตที่กำลังไม่สงบ ให้กลับเข้ามาสงบเป็นสมาธิ ณ ฐานที่ตั้งสติภายในกายได้โดยไม่ชักช้า

หรืออีกนัยหนึ่ง คือ ผู้ปฏิบัติเกิดความชำนาญที่จะทำลมหายใจที่กำลังหยาบอยู่ ให้กลายเป็นลมหายใจที่ละเอียดและประณีตที่สุดได้ทันทีโดยไม่เสียเวลาเลย ทุกข์ก็ย่อมดับไปจากจิตเป็นธรรมดา

ความคล่องแคล่วที่ได้รับเพิ่มมากขึ้นนี้ ก็คือ อริยมรรค ซึ่งใช้สำหรับตัดความยินดี-ยินร้ายออกไปได้โดยเด็ดขาด ในเมื่อมีอารมณ์ใดๆเข้ามากระทบ

ดังนั้น ความคล่องแคล่วหรืออริยมรรคสำหรับตัดความยินดียินร้ายออกไปดังกล่าวนี้ จึงเป็นเป้าหมายที่ผู้ปฏิบัติจะต้องทำให้เกิดขึ้นด้วยความพากเพียรที่สุด เมื่อความยินดียินร้ายดับไปแล้ว ก็จัดว่าอริยผลได้เกิดขึ้นทันทีที่จิตของผู้ปฏิบัติด้วย.





Create Date : 20 เมษายน 2551
Last Update : 29 กันยายน 2556 17:52:58 น. 0 comments
Counter : 755 Pageviews.  

หนูเล็กนิดเดียว
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




พระพุทธศาสนา
มีหลักการที่ตั้งอยู่บนเหตุ-ผล

อริยสัจ ๔
ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค


เหตุ-จิตชอบแส่ส่ายออกไปหาเรื่อง
(สมุทัย)
ผล-ทุกข์โหมกระหน่ำทับถมจิตใจ
(ทุกข์)

เหตุ-ปฏิบัติสัมมาสมาธิตามหลักมรรค ๘
ให้จิตระลึกรู้อยู่ที่ฐานที่ตั้งสติ
ไม่แส่ส่ายออกไปหาเรื่อง

(มรรค)
ผล-จิตสงบตั้งมั่นไม่หวั่นไหว
ทุกข์ไม่โหมกระหน่ำทับถมจิตใจ

(นิโรธ)

เหตุ-รู้อยู่ที่เรื่อง (สมุทัย)
ผล-เป็นทุกข์ (ทุกข์)

เหตุ-รู้อยู่ที่รู้ (มรรค)
ผล-ไม่ทุกข์ (นิโรธ)



ธรรมบรรยาย โดย อ.ไชยทรง จันทรอารีย์


[Add หนูเล็กนิดเดียว's blog to your web]