[14]เจโตสมาธิ

เจโตสมาธิ

เจโตสมาธิ หมายถึง สมาธิที่นำจิตให้หลุดพ้นจากการครอบงำปรุงแต่งของอารมณ์ทั้งหลาย ดังที่ได้บรรยายมาแล้วนั่นเอง ซึ่งเป็นหลักปฏิบัติที่มีอยู่ในพระพุทธศาสนานี้เท่านั้น เพราะจิตปล่อยวางอารมณ์ทุกชนิดออกไปโดยไม่มีนิมิตหมายใดๆเหลืออยู่เลย

ดังนั้น จึงแตกต่างจากสมาธิของศาสนาพราหมณ์ ที่ฝึกให้ยึดอารมณ์ที่ได้กำหนดไว้ให้แนบแน่นเพียงอารมณ์เดียวเท่านั้น กล่าวคือ สมาธิในพุทธศาสนา อบรมจิตให้ว่าง เป็นสุญญตา แต่สมาธิในศาสนาพราหมณ์ อบรมจิตให้ยึดอารมณ์อันใดอันหนึ่งไว้ให้แนบแน่นเป็นเอกัคคตา.


วิธีบรรลุเจโตสมาธิ

๑.อาศัยความตั้งมั่นแห่งจิต คือ อยู่กับฐานที่ตั้งสติ (สัมมาสมาธิ)
๒.อาศัยความประกอบเนืองๆจนจำทางได้แม่นยำชำนาญ (วสี)
๓.มนสิการโดยชอบ คือ ทำลมหายใจประกอบด้วยไม่ว่าจะเข้าหรือออกจากสมาธิ (โยนิโสมนสิการ)
๔.ความไม่ประมาท คือ ใช้สติกำกับอยู่ตลอดเวลาที่ประกอบการงานตามหน้าที่ โดยไม่ให้คลาดเคลื่อนออกไปอยู่ที่อื่นเลย (อัปปมาทธรรม)


๑.สัมมาสมาธิ (จิตตั้งมั่นชอบ)

หลักธรรมสำคัญที่สุดในพระพุทธศาสนา ก็คือ สัมมาสมาธิ ในมรรคมีองค์ ๘ กล่าวคือ ทำให้จิตสลัดอารมณ์และความรู้สึกนึกคิดต่างๆออกไปอย่างสิ้นเชิงเป็น สัมมาสมาธิ จิตตั้งมั่นอยู่ด้วยตัวของตัวเอง สงบสันติถึงที่สุดเป็นจิตตัวใน

ดังพระบาลีว่า “อชฺฌตฺตํ สมยํ จิตฺตํ, สนฺติ เมวา ธิคจฺฉติ แปลว่า เมื่อปฏิบัติเข้าถึงจิตตัวในแล้ว ย่อมเข้าสู่ความสงบ”

ซึ่งมีสภาวะตรงกันข้ามกับ จิตที่ไม่สงบ วุ่นวาย กระสับกระส่าย เพราะถูกอารมณ์ครอบงำปรุงแต่ง กลายเป็นจิตที่ไม่ตั้งมั่นไป

สมาธิจิต หรือ จิตตั้งมั่น นี้ ยังเป็นธรรมฝ่ายโลกียะอยู่ คือ ยังถูกอริยมรรคปรุงแต่งเพื่อให้หลุดพ้นจากอารมณ์อยู่ ได้แก่คำว่า สม+อธิจิต=สมาธิจิต ซึ่งหมายถึงจิตอันสูงยิ่งด้วยคุณธรรมฝ่ายกุศลที่พร้อมจะเกิดขึ้นที่จิต ดังนั้น จึงไม่เปิดโอกาสให้อกุศลเกิดขึ้นในขณะที่จิตกำลังตั้งมั่นอยู่นี้

รวมความแล้ว จึงกล่าวได้ว่า สมาธิจิตเป็นโลกียธรรม และเป็นคุรุกรรมฝ่ายกุศลอีกด้วย ดังนั้น ถ้าผู้ใดปฏิบัติได้และรักษาไม่ให้เสื่อมจนถึงวาระสุดท้ายแห่งชีวิตแล้ว ก็จะเป็นชนกกรรมนำผู้ปฏิบัติไปเกิดใหม่เป็นพรหม ก่อนกรรมใดๆทั้งสิ้น ผู้รู้หลายท่านกล่าวตรงกันว่า สมาธิที่เกิดขึ้นแก่ผู้ใดเพียงชั่วระยะเวลาช้างกระดิกหู หรืองูแลบลิ้นเท่านั้น ก็สามารถช่วยผู้นั้นไม่ให้ไปสู่อบายภูมิได้แล้ว ดังนั้นจึงเชื่อได้ว่า สมาธินี้มีประโยชน์เป็นอันมาก

ผู้ที่เริ่มลงมือปฏิบัติใหม่ๆที่ยังไม่เข้าใจในเรื่องนี้ ต่างก็ว่าเป็นเรื่องยากเย็น น่าเบื่อหน่าย ที่จะต้องมานั่งต่อสู้กับความปราดเปรียวของจิตที่ชอบแลบหนีออกไปหาอารมณ์เช่นนี้ ถ้าความตั้งใจไม่เข้มแข็งมั่นคง และความอดทนฝึกแยกจิตออกจากอารมณ์มีไม่สูงแล้ว ก็มักจะเลิกปฏิบัติเสียกลางคัน โดยอ้างว่าไม่มีบุญวาสนาบ้าง ยังไม่ถึงเวลาบ้าง เพื่อที่จะไม่ปฏิบัติต่อไป ดังนั้นจึงนับว่าเป็นผู้พ่ายแพ้อารมณ์ต่อไปอีกตามเดิม คือ ยังเป็นผู้ที่ถูกอารมณ์เข้าครอบงำปรุงแต่งได้อย่างไม่มีที่สุด

ส่วนผู้ที่ปฏิบัติสมาธิได้สำเร็จนั้น ย่อมนับว่าเป็นผู้ชนะอันยิ่งใหญ่ในโลก ที่ไม่มีผู้ชนะใดเสมอเหมือน เพราะไม่มีการพ่ายแพ้อารมณ์ต่อไปอีก พระเจ้าจักรพรรดิที่ทรงปราบข้าศึกได้ราบคาบมาแล้วนั้น ก็ยังมีโอกาสรบแพ้ข้าศึกที่ได้ตระเตรียมกำลังกองทัพไว้ดีแล้ว,ในภายหลังอีกก็ได้

ดังนั้น ผู้ที่เพิ่มความเพียรพยายามฝึกยกจิตเข้าไปตั้งที่ฐานที่ตั้งสติบ่อยๆเนืองๆ จนทำได้อย่างชำนาญ เพียงไม่นานนักจิตก็จะเป็นสมาธิ และได้ชื่อว่าเป็นผู้ชนะตนเองอย่างน่าภาคภูมิที่สุด เพราะพ้นจากการถูกอารมณ์ครอบงำได้ตลอดไป

ด้วยเหตุนี้ ผู้ปฏิบัติจึงต้องจำทางเดินของจิตที่จะต้องยกออกจากอารมณ์เฉพาะหน้า ให้เข้าไปตั้งอยู่ที่ฐานที่ตั้งสติไว้อย่างแม่นยำ และปฏิบัติบ่อยๆเนืองๆด้วยความเพียร เพื่อปล่อยวางอารมณ์และอาการของจิตที่เนื่องด้วยอารมณ์ให้หมดไปอย่างสิ้นเชิง เป็นจิตตั้งมั่นชอบ(สัมมาสมาธิ)อยู่ด้วยตนเอง ไม่ต้องอาศัยอารมณ์มาเป็นบาทฐานให้ตั้งมั่นอีกต่อไป.


๒.วสี (ความคล่องแคล่ว)

คำว่า วสี แปลว่า ผู้ชนะตนเองที่สามารถตัดนิวรณ์ได้เด็ดขาดในเมื่อมีอารมณ์มากระทบจิตทุกอารมณ์

หมายความว่า สามารถควบคุมจิตของตนไม่ให้กระเพื่อมไหวตามอารมณ์ที่เข้ามาครอบงำได้ดี ทุกอารมณ์ รวมทั้งการเข้าและออกจากสมาธิได้อย่างรวดเร็วด้วย ไม่ว่าจะอยู่ในสถานที่ใดและขณะใดก็ตาม มีอยู่ ๕ ประการ คือ

๑.อาวัชชนวสี ชำนาญในการนึกถึงฐานที่ตั้งสติที่เคยปฏิบัติ
๒.สมาปัชชนวสี ชำนาญในการนำจิตเข้าสมาธิอย่างรวดเร็ว
๓.อธิษฐานวสี ชำนาญในการประคองจิตให้เป็นสมาธิได้นานตามที่ต้องการ
๔.วุฏฐานวสี ชำนาญในการออกจากสมาธิอย่างรวดเร็ว
๕.ปัจจเวกขณวสี ชำนาญในการพิจารณาตัวเองว่าตัดการกระเพื่อมไหว ได้เด็ดขาดเพียงใดหรือไม่

การสร้างวสีในการเข้า-ออกสมาธิ

ผู้ที่ศึกษาเรื่องจิตมาแล้ว ย่อมทราบว่าสภาพพื้นฐานที่แท้จริงของจิตนั้น สงบ ประภัสสรผ่องใส และทรงไว้ซึ่งความรู้ตลอดทุกกาลสมัย จิตไม่ใช่ตัวทุกข์ ไม่ใช่ตัวสุข ไม่ใช่ดี ไม่ใช่ชั่ว และไม่ได้เป็นอะไรในโลกนี้ทั้งสิ้น.

ถ้ามีอารมณ์เข้ามากระทบเมื่อใด ทุกข์ สุข ดี ชั่ว จึงจะเกิดขึ้นเมื่อนั้น และปรุงแต่งจิตให้เกิดเป็นสัตว์ เป็นบุคคล โดยสมมุติบัญญัติในภายหลัง ซึ่งจัดว่าเป็นทุกข์ตามมาด้วยพร้อมๆกัน.

แต่ถ้าเปลี่ยนความสนใจอารมณ์ที่กำลังกระทบอยู่เฉพาะหน้า หรือเลิกนึกคิดถึงอารมณ์ปัจจุบันเสีย แล้วไปสนใจดูความเคลื่อนไหวของลมหายใจเข้าออก ณ จุดลมสัมผัส ที่เด่นชัดจุดหนึ่งภายในช่องจมูกแทนเสีย ความวุ่นวาย กระสับกระส่าย ความยินดี-ยินร้าย ซึ่งเป็นตัวทุกข์ ย่อมดับไปจากจิตทันที

ผู้ที่จะเปลี่ยนความสนใจเช่นนี้ได้ จะต้องฝึกปฏิบัติสมาธิโดยวิธีอานาปานสติมาเป็นอย่างดี จนจำฐานที่ตั้งสติได้อย่างแม่นยำและสามารถยกจิตเข้าไปตั้งไว้ได้อย่างชำนาญ ซึ่งจะทำให้สลัดอารมณ์และความรู้สึกนึกคิดออกไปได้ดีที่สุด.

ดังนั้น การเปลี่ยนความสนใจเลิกนึกคิดถึงอารมณ์เสีย แล้วให้ไปสนใจดูความเคลื่อนไหวของลมหายใจ จึงขึ้นอยู่กับความคล่องแคล่วในการนำจิตเข้าสู่ความสงบเป็นสมาธิอย่างรวดเร็ว ดังตัวอย่างที่มีผู้ไปเฝ้ากราบทูลถามพระพุทธองค์ในเรื่องนี้ และได้ตรัสตอบดังนี้

“ดูก่อนท่านทั้งหลาย ก่อนหน้านี้เราเคยอยู่ในวิหารธรรมอันสงบอย่างไร เมื่อกล่าวคาถาตอบท่านจบลง เราก็นำจิตกลับเข้าสู่วิหารธรรมอันสงบเช่นเดียวกันนั้น ได้อีกทันที”

ทั้งนี้แสดงให้เห็นว่า พระพุทธองค์ทรงมีพระสติอันไพบูลย์ และทรงจำทางเดินของจิตได้แม่นยำ จนสามารถนำกลับเข้าสู่วิหารธรรมอันสงบได้อย่างคล่องแคล่ว หลังจากที่ได้ทรงเทศนาโปรดผู้ที่ได้เข้าเฝ้าเสร็จเรียบร้อยแล้วทันที

เพราะฉะนั้น ผู้ปฏิบัติสมาธิจึงต้องจำวิธีวางจิต หรือ อีกนัยหนึ่งเรียกว่า จำทางเดินของจิตไว้ให้แม่นยำ ทุกครั้งที่ยกจิตเข้าไปตั้งไว้ ณ ฐานลมหายใจกระทบ พร้อมกับหยุดทำลมให้ละเอียดด้วยเสมอไป แล้วจึงประคองจิตไม่ให้แลบหนีออกไปอยู่กับอารมณ์อื่นๆ ได้อีกด้วยอุบายอันแยบคาย จนกระทั่งจิตสงบเป็นสมาธิถึงขีดสุด

ถ้าจิตแลบหนีออกไปอยู่ที่อื่น ก็ให้ดึงจิตกลับมาตั้งที่ฐานดังกล่าวให้ได้ ตามความประสงค์ทุกครั้ง จิตก็จะค่อยๆเชื่องและสงบเป็นสมาธิในที่สุด

ผู้ที่ฝึกปฏิบัติสมาธิ ควรทราบไว้ล่วงหน้าว่า การดึงจิตกลับมาตั้งที่ฐานลมกระทบทุกครั้ง จะเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดพลังปัญญาที่จะสลัดอารมณ์ออกไปจากจิต เพิ่มมากขึ้น ทุกครั้งที่ดึงจิตให้กลับเข้าสู่ฐานลมกระทบ

ดังนั้น จึงเป็นงานที่มีค่าควรแก่บุคคลทุกชั้นที่จะพยายามปฏิบัติอย่างยิ่ง การเบื่อหน่ายแล้วเลิกปฏิบัติเสียกลางคันนั้น เป็นเรื่องของผู้รู้เท่าไม่ถึงการณ์ ที่เปรียบเสมือนผู้นั้นปิดประตูกั้นประโยชน์ที่จะได้รับเสียเองโดยตรงทีเดียว ผู้ที่เลิกปฏิบัติสมาธิเสียแล้ว จะไม่มีทางนำตนเองให้เข้าถึงพระรัตนตรัยอย่างแน่นอน

ผู้ที่สามารถนำจิตเข้าไปตั้งไว้พร้อมกับประคองให้จิตตั้งมั่นอยู่ที่ฐานลมกระทบ ได้สำเร็จ จิตย่อมไม่กระเพื่อมไหว (คือ นิวรณ์ดับ) ซึ่งผู้ปฏิบัติสามารถทำจิตให้สงบเป็นสมาธิสูงขึ้นอีก และเมื่อทำจิตให้สงบถึงขีดสุดแล้ว ย่อมหลุดพ้นจากอารมณ์ที่จะครอบงำปรุงแต่งให้เสียคุณภาพได้อีกต่อไป บุคคลผู้นี้ย่อมได้ชื่อว่า เป็นผู้ชนะตนเองโดยเด็ดขาด อย่างที่ไม่มีโอกาสกลับกลายเป็นผู้แพ้อีกต่อไป

นับตั้งแต่นิวรณ์ดับ จิตจะเริ่มเป็นสมาธิทันที ผู้ปฏิบัติอย่าเพิ่งรีบทำจิตให้สงบลึกลงไปกว่านี้อีก แต่ให้ซ้อมถอยออกมาสู่ความไม่สงบ ด้วยการถอนลมหายใจให้ค่อยๆหยาบเพิ่มขึ้นสักเล็กน้อย แล้วจึงนำจิตกลับเข้าสู่ความสงบให้ได้อีกครั้ง โดยใช้ความสังเกตและระวังไว้ตลอดเวลา เพื่อจำทางเข้าสมาธิไว้ให้ได้อย่างแม่นยำ.

ผู้ปฏิบัติควรซ้อมทำดังที่กล่าวมานี้สัก ๒-๓ ครั้ง ทุกคราวที่ปฏิบัติสมาธิ เพื่อให้จำทางเดินของจิตไว้ได้อย่างคล่องแคล่วและแม่นยำที่สุด จนกระทั่งสามารถทำให้จิตเป็นสมาธิได้ทันทีที่นึกน้อมถึงความสงบขีดสุด โดยไม่เสียเวลาเนิ่นนาน แต่ประการใด.

เมื่อจะเลิกปฏิบัติสมาธินั้น ผู้ปฏิบัติควรจะทำอย่างช้าๆสุขุมเยือกเย็น ด้วยการถอนลมหายใจให้หยาบขึ้นทีละน้อยๆตามลำดับ พร้อมกับสังเกตดูจิตอย่างใกล้ชิด เพื่อให้จำทางออกจากสมาธิไว้ให้แม่นยำ อย่าออกจากสมาธิอย่าง รีบร้อน พรวดพราดเป็นอันขาด เพราะจะทำให้จิตซัดส่ายเสียพลังและจำทางเข้าสมาธิไว้ไม่ได้ ซึ่งจะทำให้เข้าสมาธิครั้งต่อไปยากมาก

ผู้ปฏิบัติควรซ้อมทำดังที่กล่าวมานี้สัก ๒-๓ ครั้ง ทุกคราวที่ปฏิบัติสมาธิ

การซ้อมทำดังกล่าวสัก ๒-๓ ครั้ง ทุกคราวที่ปฏิบัติสมาธิ เพื่อให้จำทางเข้าออกสมาธิไว้ได้อย่างคล่องแคล่วและแม่นยำที่สุด จนกระทั่งสามารถนำจิตออกจากสมาธิได้ ทันทีที่นึกน้อมถึงการงานที่ต้องทำต่อไปจากนั้น,โดยเปลี่ยนเป็นสติกำกับอยู่ตลอดเวลา ไม่ให้คลาดเคลื่อนเลย.

กล่าวโดยสรุปแล้ว การทำลมหายใจให้หยาบขึ้นก็ดี หรือทำลมหายใจให้ละเอียดลงก็ดี ผู้ปฏิบัติจะต้องทำอย่างช้าๆโดยใช้ความสังเกตอย่างใกล้ชิดว่า เมื่อจะเข้าสมาธินั้นวางจิตอย่างไร จึงจะเป็นสมาธิได้ทันที และเมื่อจะออกจากสมาธินั้น วางจิตอย่างไร จึงจะออกจากสมาธิ และใช้สติกำกับ,แทนทันที เพื่อที่จะไม่ให้จิตซัดส่ายดิ้นรนได้แม้แต่น้อย

ผู้ที่จำวิธีวางจิตด้วยการทำลมหายใจให้หยาบหรือละเอียดได้อย่างแม่นยำขนาดที่ว่า เพียงแต่นึกน้อมเท่านั้น จิตก็เป็นสมาธิ หลุดพ้นจากการครอบงำปรุงแต่งของอารมณ์ทันที และ เพียงแต่นึกน้อมเท่านั้น จิตก็ออกจากสมาธิ เพื่อทำการงานอันเป็นประโยชน์แก่ตนและสังคมตามหน้าที่ทันที ย่อมได้ชื่อว่าได้แก้วสารพัดนึกมาไว้ในมือตนเองแล้ว ซึ่งทำให้สามารถเข้าออกสมาธิได้อย่างคล่องแคล่วโดยไม่เสียเวลาแม้แต่น้อย เหมือนดังพุทธดำรัสที่ได้ยกมาอธิบายประกอบในตอนต้นนี้ทุกประการ.


๓.โยนิโสมนสิการ (การน้อมจิตไปในทางที่ถูก)

ตามธรรมชาติของสิ่งที่มีชีวิตทั้งหมดแล้ว ลมหายใจจะปรุงแต่งชีวิตของคนและสัตว์ให้ดำเนินสืบต่อไปได้อีกตามลำดับ ดังนั้น ลมหายใจจึงเป็นสังขารธรรมที่เคลื่อนไหวไปมากระทบกับช่องจมูกตลอดเวลา จัดเป็นรูปธรรมฝ่ายหยาบที่กระทบกายเนื้อที่หยาบอย่างเดียวกันได้ ถ้าลมหายใจยังเคลื่อนไหวอยู่ตราบใด ก็ย่อมปรุงแต่งความคิดให้เกิดขึ้นตราบนั้น จิตก็พลอยเคลื่อนไหวกระสับกระส่าย วุ่นวายตามเรื่องราวที่คิดไปด้วย และแสดงอาการยินดียินร้ายควบคู่ไปด้วยเสมอเช่นเดียวกัน

แต่ถ้าใช้ความระมัดระวังด้วยอุบายที่ชอบ(โยนิโสมนสิการ) มีหลักเกณฑ์ที่ถูกต้อง ด้วยการยกจิตขึ้นดูลมหายใจเข้าออก ณ จุดสัมผัสเล็กๆเพียงจุดเดียวภายในช่องจมูก หรือที่ใกล้เคียงกัน,แล้ว จิตย่อมรวมตัวสงบลงได้โดยลำดับ

เมื่อจิตเริ่มรวมตัวสงบลง ลมหายใจที่เคยเป็นสภาพธรรมที่หยาบ ก็จะประณีตแผ่วเบาเยือกเย็นลง ตามลำดับด้วย ความนึกคิดถึงเรื่องราวต่างๆก็จะลดลง ทำให้จิตลดความวุ่นวายตามความละเอียดประณีตของลมหายใจ ตามลำดับ ถ้าลมหายใจละเอียดจนไม่ปรากฏที่จิตแล้ว เรื่องที่นึกคิด ความรู้สึกยินดียินร้ายทั้งหลาย ก็ย่อมดับหายไปจากจิตด้วย จิตก็สงบเป็นสมาธิทันที ทั้งนี้แสดงให้เห็นว่า ถ้าลมหายใจยังเคลื่อนไหวอยู่ จิตก็ยังไม่สงบ

เพราะฉะนั้น ปัญหาสำคัญในการปฏิบัติอานาปานสติ ก็คือ ทำลมหายใจให้สงบประณีตลง และปล่อยวางลมหายใจให้หมดไปจากความรู้สึกอย่างคล่องแคล่วด้วย, หลังจากที่ยกจิตเข้าสู่ฐานที่ตั้งสติแล้วเท่านั้น

ทั้งนี้มิได้หมายความว่า ผู้ปฏิบัติจะต้องกลั้นลมหายใจแต่ประการใดทั้งสิ้น แต่หมายความว่าผู้ปฏิบัติจะต้องจำประสบการณ์ทางจิตของตนไว้ให้แม่นยำว่า จิตเดินทางเข้าสู่ความสงบอย่างไร?ไว้ทุกครั้ง ในสภาพของลมหายใจแต่ละขณะๆ จนสามารถย่อลมหายใจให้เข้าสู่สภาพละเอียดเมื่อต้องการให้จิตเป็นสมาธิ และขยายลมให้เข้าสู่สภาพหยาบขึ้นเมื่อต้องการให้จิตออกจากสมาธิ,ตลอดเวลา

ถ้าจบภารกิจ หรือเมื่อรู้สึกว่า จิตจะแลบหนี หรือกระเพื่อมออกไปวุ่นวายกับอารมณ์ตามธรรมชาติ ก็ให้รีบยกจิตเข้ามาตั้งไว้ ณ จุดนิมิตอันนี้ ( พระอรรถกถาจารย์ เรียกว่า อุคคหนิมิต) และย่อลมให้ละเอียด เพื่อให้เกิดสมาธิทันที ( พระอรรถกถาจารย์ เรียกว่า ปฏิภาคนิมิต) ความยินดียินร้ายย่อมดับไปหมดสิ้น การน้อมจิตเช่นนี้ จิตจะไม่เสียคุณภาพอันประภัสสรผ่องใสไปเลย เรียกว่า ใช้โยนิโสมนสิการ

แต่ถ้ากระทบอารมณ์แล้ว ปล่อยจิตให้เพลิดเพลินหลงใหลกระสับกระส่ายวุ่นวายไปตามยถากรรม หรือกำลังลงมือปฏิบัติอยู่ แต่ไม่ระมัดระวังควบคุมให้จิตตั้งมั่น อยู่ ณ ฐานที่ตั้งสติ บ่อยๆเนืองๆ ปล่อยจิตให้กระเพื่อมไหว แลบหนีออกไปอยู่กับอารมณ์ต่างๆ ก็เรียกว่า ใช้อโยนิโสมนสิการ

สรุปแล้วก็คือ
เมื่อกระทบอารมณ์แล้ว น้อมจิตให้เข้าสู่ฐานที่ตั้งสติบ่อยๆเนืองๆ เรียกว่า ใช้โยนิโสมนสิการ
ถ้ากระทบอารมณ์แล้ว ปล่อยจิตให้กระเพื่อมแลบออกไปตามยถากรรม ไม่น้อมกลับเข้าสู่ฐานที่ตั้งสติ ก็เรียกว่า ใช้อโยนิโสมนสิการ.


๔.อัปปมาทธรรม
(ธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งความไม่ประมาทมัวเมาในอารมณ์ทั้งปวง)


บรรดาคำสั่งสอนทั้งหมดของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ได้ทรงประกาศตั้งแต่ได้ตรัสรู้ จนถึงวันเสด็จดับขันธ์สู่พระปรินิพพาน รวมเป็นเวลา ๔๕ ปีนั้น สามารถสรุปลงเหลือเป็นข้อสำคัญได้ คือ อัปปมาทธรรม ซึ่งหมายถึง ความไม่ประมาทมัวเมาในอารมณ์ทั้งปวง

ดังพระปัจฉิมโอวาท ต่อไปนี้คือ
“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราขอกล่าวเตือนท่านทั้งหลายว่า สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมสิ้นไปเป็นธรรมดา ท่านทั้งหลายจงยังประโยชน์ตนและประโยชน์ท่าน ให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด”

ตามพุทธโอวาทที่ยกมานี้ แสดงว่า อัปปมาทธรรม เป็นข้อสรุปรวมของพระธรรมคำสั่งสอนทั้งหมดในพระศาสนานี้ ซึ่งพระพุทธองค์ทรงเน้นตรงไปที่ การฝึกฝนให้มีสติคอยระวังอารมณ์ต่างๆที่เข้ามากระทบในชีวิตประจำวันของแต่ละคนโดยเฉพาะ

ทั้งนี้เพราะอารมณ์เป็นปัจจัยสำคัญ ที่ชักนำให้คนประพฤติดีก็ได้ ประพฤติชั่วก็ได้ แล้วแต่ว่าจะปรุงแต่งจิตใจให้เกิดความรู้สึกอย่างไร จึงทรงวางหลักธรรมเรื่อง ศีล สมาธิ ปัญญา ไว้ให้ปฏิบัติ ดังเป็นที่ทราบกันอยู่

หลักธรรมเรื่อง ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นหลักธรรมที่ควรจะนำมาปฏิบัติ เพื่อความเป็นผู้ไม่ประมาทมัวเมาในอารมณ์ทั้งปวง ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหายุ่งยากทางสังคมให้หมดไปได้อย่างแท้จริง

เพราะว่าในขณะที่มีอารมณ์มากระทบจิตแต่ละอารมณ์นั้น
ศีล จะควบคุมกายวาจาให้อยู่ในสภาพปรกติ ไม่ประพฤติสิ่งใดให้เป็นที่เดือดร้อนแก่สังคม
สมาธิ จะทำให้จิตใจตั้งมั่น และ
ปัญญา จะสลัดความยึดมั่นถือมั่นในอารมณ์นั้นๆให้หมดไปโดยลำดับ, จนอารมณ์ไม่สามารถปรุงแต่งจิตใจได้ในที่สุด กลายเป็น กระทบก็สักแต่ว่ากระทบ เท่านั้น

การฝึกจิตให้มีพลังถึงขั้นนี้ได้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องอาศัยสมาธิเป็นบาทฐานด้วยตลอดเวลา ไม่ว่าอารมณ์จะกระทบเข้ามาทางหนึ่งทางใดก็ตาม

ผู้ปฏิบัติจึงพบความจริงว่า ได้พ้นจากอารมณ์ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดตายตามสภาพของเขา,แล้ว ส่วนตัวเองนั้นดำรงสภาพ “รู้” อยู่ตลอดทุกกาลสมัย ไม่ได้ดับตายหายสูญไปไหน

ทั้งนี้หมายความว่า สิ่งที่เกิดตายนั้นคือ อารมณ์ ซึ่งเป็นสิ่งภายนอกทั้งหลาย แต่ตัวเองนั้น “รู้” อยู่เสมอว่าทรงสภาพรู้ของตนเองอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าสิ่งเหล่านั้นจะเกิดขึ้นหรือตายไปกี่ครั้งกี่หนก็ตาม จึงเป็นผู้ไม่ตายอีกต่อไป ดังนั้นจึงได้ชื่อว่า เป็นผู้ไม่ประมาท

ส่วนผู้ที่ยังยึดมั่นถือมั่นในอารมณ์ซึ่งเป็นของที่เกิดตายอยู่นั้น ย่อมได้ชื่อว่า เป็นผู้ประมาท ผู้นั้นย่อมรู้สึกว่าตนเองยังต้องหวั่นไหว และพลอยเกิดตายไปกับอารมณ์ภายนอกด้วย ทั้ง ๆที่ตัวเองไม่ได้เกิดและไม่ได้ตายเลยแต่ประการใด ทั้งสิ้น

มีพระบาลีในธรรมบทรับรองไว้ ดังนี้ คือ

“อปฺปมาโท อมตํ ปทํ, ปมาโท มจฺจุโน ปทํ, อปฺปมตฺตา น มิยฺยนฺติ เย ปมตฺตา ยถา มตา แปลว่า ความไม่ประมาทเป็นทางอันไม่ตาย ความประมาทเป็นทางแห่งความตาย ผู้ไม่ประมาทย่อมไม่ตาย คนที่ประมาทเหมือนคนที่ตายแล้ว”

ทั้งนี้หมายความว่า ผู้ที่มีพลังสมาธิน้อย จิตย่อมหวั่นไหวตามอารมณ์ไปด้วย อัปปมาทธรรมก็ย่อมไม่มีที่จิตของผู้นั้น ถ้าปรารภสิ่งใดขึ้นมาเป็นอารมณ์ก็ตาม เช่นนึกถึงรูปร่างกายขึ้นมา เป็นต้น ก็เข้าใจว่าตัวเองเกิดมาพร้อมกับร่างกาย พอร่างกายแก่หรือตาย ก็เข้าใจว่าตัวเองแก่หรือตายตามร่างกายไปด้วย โดยถือเอาร่างกายเป็นหลักเกณฑ์

แต่ผู้ที่มีพลังสมาธิมาก ย่อมรู้ชัดว่าตัวเองคือผู้ทำหน้าที่รู้เรื่องราวต่างๆ เช่น เมื่อปรารภถึงร่างกาย เกิดขึ้นก็รู้ ผมหงอก-ฟันหัก-เนื้อหนังเหี่ยวย่นแล้วก็รู้ เป็นต้น ครั้นเมื่อปรารภถึงลมหายใจขึ้นมา ลมหายใจเกิดขึ้นก็รู้ ลมหายใจดับไปก็รู้ ดังนี้ เป็นต้น

มีพุทธพจน์ที่ตรัสกับพระราหุลยืนยันอยู่ชัดเจน ดังนี้

“เอวํ ภาวิตาย ราหุล อานา ปานสฺสติยา, เอวํ พหุลีกตาย, เยปิ เต จริมกา อสฺสาส ปสฺสาส, เตปิ วิทิตา นิรุชฺฌนฺติ โน อวิทิตาติ แปลว่า ดูก่อนราหุล เมื่ออานาปานสติที่บุคคลเจริญแล้วอย่างนี้,ทำให้มากแล้วอย่างนี้ ลมหายใจออก ลมหายใจเข้าทั้งหลาย เหล่านั้น อันใดอันจะมีในเวลาตาย แม้ลมเหล่านั้นจะดับก็รู้ได้ จะดับโดยไม่รู้,หามิได้เลย”.





Create Date : 21 เมษายน 2551
Last Update : 29 กันยายน 2556 17:49:29 น. 2 comments
Counter : 874 Pageviews.  

 
สาธุ ขอบคุณครับพี่หนูเล็กที่นำธรรมทานมาเผยแพร่ครับ


โดย: rxkku IP: 58.9.66.76 วันที่: 21 เมษายน 2551 เวลา:11:41:06 น.  

 
*
ตกลง สัมมาสมาธิ ตั้งต้นสุดๆ ที่ไหนแน่
...ตั้งสติ ที่ปลายจมูก หรือ เพราะ ตั้งสติ ขณะเมื่อได้ฟังจากสัตบุรุษ หรือได้อ่านจาก ฯลฯ....

เมื่อตั้งต้น ถูกฝาถูกตัว
ทิฏฐิ ในเรื่อง ฯลฯ รวมทั้ง สมาธิ ก็จะ ไม่ผิดฝาผิดตัว

จากคุณ : ... - [ 26 เม.ย. 51 00:45:48 ]
^
เริ่มต้น คือ นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติเฉพาะหน้า ( อยู่ที่ฐานที่ตั้งสติ )
พิจารณากายในกายเป็นภายใน ( เช่น อานาปานสติ ตั้งสติดูลมหายใจเข้าออกที่จุดลมกระทบ )

เมื่อชำนาญแล้ว ก็ฝึก พิจารณากายในกายเป็นภายนอกบ้าง
เช่น ขณะที่มีภารกิจต้องฟังธรรมจากสัตบุรุษ ก็น้อมจิตฟังอยู่ที่ฐานนั้น
จิตจะได้ไม่วอกแวกออกจากภารกิจนั้น

เมื่อชำนาญขึ้นไปอีก ก็พิจารณากายในกายทั้งภายในและภายนอกบ้าง
คือ เมื่อจิตวอกแวกก็รู้ว่าวอกแวก ให้ดึงกลับเข้าฐาน แล้วทำจิตให้สงบลงได้ทันที

แม้อารมณ์ภายนอกมากระทบ เช่นเสียงมากระทบหู
ก็ดึงจิตกลับมาเข้าฐานที่ตั้งสติทันทีก่อนซัดส่าย

พระองค์ตรัสชัดเจนอยู่แล้วในสติปัฏฐาน ๔ ยังจะไม่ลงมือกันอีกหรือไร ???
มัวแต่พร่าเพ้อรำพันว่า พระบรมศาสดายังทรงอยู่กับเรา
ถึงวาระใกล้จะตาย ก็ยังไม่ได้พบพระองค์นะครับ ถ้าไม่ปฏิบัติ “สัมมาสมาธิ” เสียแต่ตอนนี้

จากคุณ : หนูเล็กนิดเดียว - [ 26 เม.ย. 51 08:50:20 ]


โดย: หนูเล็กนิดเดียว วันที่: 3 พฤษภาคม 2551 เวลา:7:42:00 น.  

หนูเล็กนิดเดียว
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




พระพุทธศาสนา
มีหลักการที่ตั้งอยู่บนเหตุ-ผล

อริยสัจ ๔
ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค


เหตุ-จิตชอบแส่ส่ายออกไปหาเรื่อง
(สมุทัย)
ผล-ทุกข์โหมกระหน่ำทับถมจิตใจ
(ทุกข์)

เหตุ-ปฏิบัติสัมมาสมาธิตามหลักมรรค ๘
ให้จิตระลึกรู้อยู่ที่ฐานที่ตั้งสติ
ไม่แส่ส่ายออกไปหาเรื่อง

(มรรค)
ผล-จิตสงบตั้งมั่นไม่หวั่นไหว
ทุกข์ไม่โหมกระหน่ำทับถมจิตใจ

(นิโรธ)

เหตุ-รู้อยู่ที่เรื่อง (สมุทัย)
ผล-เป็นทุกข์ (ทุกข์)

เหตุ-รู้อยู่ที่รู้ (มรรค)
ผล-ไม่ทุกข์ (นิโรธ)



ธรรมบรรยาย โดย อ.ไชยทรง จันทรอารีย์


[Add หนูเล็กนิดเดียว's blog to your web]