[5]ฌานในศาสนาพราหมณ์

ฌานในศาสนาพราหมณ์

เท่าที่ได้กล่าวเรื่อง ฌานในพระพุทธศาสนา มาแล้วนั้น ผู้ปฏิบัติยกจิตขึ้นเพ่งอารมณ์ที่อยู่ ใน ฐานกาย เวทนา จิต หรือธรรม อย่างใดอย่างหนึ่ง

แล้วใช้อุบายอันแยบคายคอยระวังไม่ให้จิตแลบออกไปสู่อารมณ์อื่นอันไม่พึงประสงค์ เพื่อศึกษาดูสภาพที่แท้จริงของอารมณ์นั้นๆว่า มีสิ่งใดเป็นแก่นสารที่พอจะยึดถือไว้ได้บ้างหรือไม่ เมื่อได้ทราบความจริงแล้วว่าไม่มีแก่นสาร ก็ย่อมต้องปล่อยวางเสีย เพราะไม่มีอะไรที่สามารถยึดถือไว้ได้เลย, เป็นธรรมดา

แต่ ฌานของศาสนาพราหมณ์ นั้น ตรงกันข้ามทีเดียว ผู้ปฏิบัติ ยกจิตขึ้นเพ่งอารมณ์ที่อยู่ นอก ฐานกาย เวทนา จิต หรือธรรม เช่น เพ่งกสิณ เป็นต้น

แล้วคอยระวังมิให้จิตแลบออกไปสู่อารมณ์อื่น เพื่อให้เกาะอารมณ์กสิณนั้นอย่างแนบแน่น จนเกิดภาพของอารมณ์ขึ้น อย่างติดตาติดใจทุกขณะ แม้หลับตาก็ยังเกิดเป็นมโนภาพขึ้น เหมือนกับเห็นของจริงทุกประการโดยไม่เสื่อมคลาย

ดังนั้น จิตจึงสงบและเกาะอารมณ์อย่างแนบแน่น เรียกเป็น ฌาน ๑ ฌาน ๒ ฌาน ๓ ฌาน ๔ เหมือนกัน แต่หมายถึงความแนบแน่นที่จิตเกาะอารมณ์มากขึ้นตามลำดับจากน้อยไปหามาก จนกระทั่งถึง ฌาน ๔ ซึ่งเป็นระดับที่จิตยึดถืออารมณ์ไว้อย่างเหนียวแน่นที่สุด จึงเป็นเอกัคคตา (จิตยึดอารมณ์เพียงอย่างเดียว)

ดังนั้นจึงเห็นได้ว่า ฌานในศาสนาพราหมณ์ อบรมจิตให้ยึดถืออารมณ์ไว้ตลอดเวลา จึงไม่มีพลังปล่อยวางอารมณ์ได้เลย เราจึงมักจะเห็นว่า ผู้ที่ฝึกปฏิบัติฌานนอกพระพุทธศาสนาแล้ว จะไม่มีประสบการณ์ที่จะปล่อยวางอารมณ์ใด ๆ ที่ผ่านเข้ามาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจได้เลย

ทั้งนี้หมายความว่า ฌานนอกพระพุทธศาสนาไม่เป็นเหตุปัจจัย ให้เกิดปัญญาขึ้นแก่ผู้ปฏิบัติอย่างแน่นอน แต่จัดเป็นครุกรรมฝ่ายกุศลเท่านั้น

เพราะฉะนั้น ถ้าจะให้เกิดปัญญาขึ้น ผู้ปฏิบัติก็ต้องเปลี่ยนไปเพ่งอารมณ์ ที่อยู่ในฐานกาย เวทนา จิต หรือ ธรรม เสียก่อนเท่านั้น

เหมือนดังชฎิลสามพี่น้องที่เปลี่ยนจากการเพ่งไฟ มาเพ่งอารมณ์ที่เข้ามาทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ว่าเป็นของร้อนแทนไฟ หลังจากที่ได้ฟังธรรมจากพระพุทธองค์แล้ว ในที่สุด ชฎิลสามพี่น้องและบริวารรวมพันรูปได้บรรลุอรหัตตผลโดยทั่วกัน

ด้วยเหตุที่ฌานในพระพุทธศาสนาอบรมจิตให้ปล่อยวางอารมณ์ตามลำดับชั้น จากฌาน ๑ ถึงฌาน ๔ โดยสามารถปล่อยวางอารมณ์ได้อย่างสิ้นเชิงในฌาน ๔

ดังนั้นฌาน ๔ จึงไม่มีคำว่า เอกัคคตา(มีอารมณ์อันเดียว) อยู่ด้วย แต่เป็นสภาวะสุญญตวิโมกข์ (พ้นเพราะว่างจากอารมณ์) คือ ไม่มีอารมณ์และอาการปรุงแต่งที่เนื่องด้วยอารมณ์อยู่เลย (คัมภีร์พระอภิธรรม เรียกว่า โคตรภูญาณ)

และในเวลาปฏิบัติจริงนั้น ผู้ปฏิบัติก็รู้ว่าขณะนี้จิตหลุดพ้นจากอารมณ์และอาการปรุงแต่งที่เนื่องด้วยอารมณ์แล้ว

ในระหว่างที่จิตเริ่มสงบเป็นต้นมา แต่ยังไม่ถึงขั้นจิตหลุดพ้นนี้ จะไม่มีนิมิตหมายบอกว่าขณะนี้จิตของตนกำลังอยู่ในฌานที่เท่าใด หรือกำลังเลื่อนขึ้นหรือลงไปสู่ฌานที่เท่าใด,เลย ถ้าผู้ใดเกิดความสงสัยอยากทราบหรือเอาความรู้จากตำราที่เคยท่องไว้ เข้ามาเทียบดูว่าเป็นฌานไหน? จิตก็จะเคลื่อนออกจากสมาธิทันที

ดังนั้น ผู้ปฏิบัติจะต้องจำทางเดินของจิตไว้ให้แม่นยำ สำหรับละวางออกจากอารมณ์ทั้งหลาย ด้วยการยกจิตเข้าไปตั้งไว้ที่ฐานที่ตั้งสติที่ได้อุปโลกน์ไว้ด้วยความคล่องแคล่ว แล้วประคองจิตไว้ไม่ให้แลบไปสู่อารมณ์อื่น จนกระทั่งมีพลังปล่อยวางความยินดียินร้ายในอารมณ์ทั้งหลายอย่างสิ้นเชิงได้ในที่สุด

เพราะฉะนั้น เราจึงเห็นได้ว่าฌานในพระพุทธศาสนา ไม่ได้เป็นไปเพื่อแสดงอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์เลย แต่เป็นไปเพื่อการปล่อยวางอารมณ์ต่างๆโดยเฉพาะ เพียงประการเดียวเท่านั้น

ด้วยเหตุนี้การปฏิบัติสมาธิในพระพุทธศาสนา หรือที่เรียกว่าสัมมาสมาธินั้น จึงมีประโยชน์มาก เพราะทำให้เกิดพลังยกจิตของตนให้สูงขึ้น จนพ้นจากการถูกอารมณ์ทั้งหลายครอบงำเสียได้

เมื่อสมาธิเกิดขึ้นแล้ว ปัญญาก็ย่อมเกิดตามมา ซึ่งมีผลโดยตรงในการปล่อยวางความยินดียินร้ายในอารมณ์ และส่งผลให้ความประพฤติทางกายกับวาจา เป็นคุณประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติด้วย.




Create Date : 01 พฤษภาคม 2551
Last Update : 29 กันยายน 2556 16:46:18 น. 0 comments
Counter : 671 Pageviews.  

หนูเล็กนิดเดียว
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




พระพุทธศาสนา
มีหลักการที่ตั้งอยู่บนเหตุ-ผล

อริยสัจ ๔
ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค


เหตุ-จิตชอบแส่ส่ายออกไปหาเรื่อง
(สมุทัย)
ผล-ทุกข์โหมกระหน่ำทับถมจิตใจ
(ทุกข์)

เหตุ-ปฏิบัติสัมมาสมาธิตามหลักมรรค ๘
ให้จิตระลึกรู้อยู่ที่ฐานที่ตั้งสติ
ไม่แส่ส่ายออกไปหาเรื่อง

(มรรค)
ผล-จิตสงบตั้งมั่นไม่หวั่นไหว
ทุกข์ไม่โหมกระหน่ำทับถมจิตใจ

(นิโรธ)

เหตุ-รู้อยู่ที่เรื่อง (สมุทัย)
ผล-เป็นทุกข์ (ทุกข์)

เหตุ-รู้อยู่ที่รู้ (มรรค)
ผล-ไม่ทุกข์ (นิโรธ)



ธรรมบรรยาย โดย อ.ไชยทรง จันทรอารีย์


[Add หนูเล็กนิดเดียว's blog to your web]