ไปเที่ยวกันดีกว่าค่ะ .. ^^
Group Blog
 
All Blogs
 

แหล่งเรียนรู้สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล บางแสน

วันเสาร์นี้เกาลัดอยากไปไหน ?
“อยากไปทะเล”
ถ้าอย่างนั้นไปบางแสนดีกว่า !

บางแสนเป็นทะเลใกล้กรุงเทพ ที่เราไปกันบ่อย เพราะใกล้ เดินทางสะดวก ไปเช้า-เย็นกลับได้
สถานที่กินที่เที่ยวน่าสนใจละแวกบางแสนมีหลายอย่าง ทั้งเขาสามมุข อ่างศิลา
ร้านอาหารทะเลอร่อย ๆ แหลมแท่น และที่สำคัญมีสถานที่พักผ่อนริมชายหาดให้เด็ก ๆ
ได้เล่นน้ำเพลินใจ นอกจากนั้นยังมี “สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล บางแสน” เป็นแหล่งเรียนรู้เพื่อให้เด็กและผู้ใหญ่ได้รู้จักทรัพยากรและระบบนิเวศทางทะเลในบ้านเรากันมากขึ้น



สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล บางแสน ตั้งอยู่บริเวณมหาวิทยาลัยบูรพา
สถานที่แห่งนี้เป็นพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำเค็มเก่าแก่ ก่อตั้งเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2512
โอ้โฮ มีอายุมากกว่าพ่อกับแม่ของเกาลัดซะอีกนะ !

เราทราบมาด้วยว่า แต่เดิมสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล บางแสน มีชื่อว่า
"พิพิธภัณฑ์สัตว์และสถานเลี้ยงสัตว์น้ำเค็ม" ซึ่ง โดยคณะอาจารย์ในภาควิชาชีววิทยา
มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ บางแสน (วิทยาลัยวิชาการศึกษา บางแสนเดิม)

ต่อมารัฐบาลญี่ปุ่นใจดีให้ความช่วยเหลือแบบให้เปล่าในการจัดตั้งศูนย์วิทยาศาสตร์ทางทะเลเป็นมูลค่า 230 ล้านบาท
โดยเริ่มก่อสร้าง ในปี พ.ศ. 2524 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมเสด็จมาทรงวางศิลาฤกษ์ เมื่อวันที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2525 การก่อสร้างแล้วเสร็จและมีพิธีมอบให้แก่มหาวิทยาลัย เมื่อปี พ.ศ. 2526
เห็นเล่าประวัติยาวนานอย่างนี้แล้วอย่าเพิ่งเบื่อกันนะคะคุณผู้อ่าน ตามเกาลัดไปเที่ยวกันก่อนค่ะ

เราเดินทางไปถึงที่หมายแล้ว จะเห็นน้ำพุโลมาขนาดใหญ่ เรียกความสนใจจากนักท่องเที่ยวทั้งรุ่นเล็กรุ่นใหญ่ได้ดี
ใครมาถึงที่นี่แล้ว ต่างก็อดใจไม่ไหวขอถ่ายรูปเป็นที่ระลึกกันแทบทุกคน
ใกล้ ๆ อาคารมีแผ่นป้ายสัตว์น้ำกุ้ง ปู ปลา สีสันสดใส
“แม่ ๆ ถ่ายรูปกันเถอะ” เกาลัดบอก แล้วก็ยิ้มแป้นถ่ายรูปกับสัตว์ที่ถูกใจ

เมื่อเดินเข้าไปในอาคารชั้นล่าง จะพบกับ “สถานเลี้ยงสัตว์น้ำเค็ม” อยู่ชั้นล่างของอาคาร
จะได้รู้จักสัตว์ต่าง ๆ ดังนี้ สัตว์ที่อาศัยอยู่ในเขตน้ำขึ้นน้ำลง ส่วนที่จัดแสดงไว้ในสถานเลี้ยงสัตว์น้ำเค็ม
ของสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล บางแสนนี้ เป็นบริเวณเขตน้ำขึ้น-น้ำลง บริเวณที่เป็นหาดหิน
และมีน้ำขังอยู่ตามแอ่งหิน ซึ่งลักษณะเช่นนี้เรียกกันทั่วไปว่า "แอ่งน้ำขึ้น-น้ำลง" ตามธรรมชาติ
ซึ่งจะพบ กุ้ง ลูกปลาบางชนิด หอยนางรม ปูเสฉวน เม่นทะเล ดอกไม้ทะเล ดาวทะเล อาศัยอยู่บริเวณนั้น

เมื่อเกาลัดยังเล็กกว่านี้ ลูกเรียกปูเสฉวนว่า “ปูเสโฉน”
เด็กน้อยเคยดูนิทานเกี่ยวกับปูเสฉวน ตอนที่ปูยังเล็ก ๆ อาศัยอยู่ในเปลือกหอยเล็ก ๆ แต่เมื่อโตขึ้น ก็ต้องออกไปหาเปลือกหอยตัวใหม่ที่ใหญ่กว่าเดิม ก็เลยสนใจปูชนิดนี้เป็นพิเศษ
มีเพลงประกอบนิทานด้วย เนื้อเพลงมีอยู่ว่า “ลาก่อนเปลือกหอยแสนสวย เธอช่วยดูแลตัวฉัน
บ้านนี้อยู่มานานวัน ตัวฉันนั้นใหญ่กว่าเดิม” ทำให้เกาลัดเข้าใจธรรมชาติของปูเสฉวนมากขึ้น

ถัดมา ก็จะได้พบกับ ปลาในแนวปะการัง ปลาที่อาศัยอยู่ในบริเวณนี้ส่วนใหญ่
จะเป็นปลาที่มีขนาดและมีสีสันสวยงาม เช่น ปลาสลิด ปลาการ์ตูน ปลาเขียวพระอินทร์
ปลาผีเสื้อ และปลาโนรี

“ปลานีโม่ ๆ” เกาลัดชี้ให้ดูปลาการ์ตูน

ปลาการ์ตูนเป็นปลาที่เด็ก ๆ รู้จักกันมาก จากหนังการ์ตูนชื่อดังของต่างประเทศ
จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมใคร ๆ ก็ให้ความสนใจปลาชนิดนี้กันนัก
สงสัยว่าการที่ปลาและสัตว์เหล่านี้ถูกถ่ายภาพโดยใช้แฟลชนั้นจะเป็นอันตราย ต่อพวกเขาหรือเปล่า ?
คงต้องระวัง และถ่ายภาพเท่าที่จำเป็นเท่านั้น !

จากนั้นจะได้พบกับการจัดแสดงตามลำดับ ได้แก่
การอยู่ร่วมกันของสิ่งมีชีวิต สิ่งมีชีวิตในทะเลเหมือนกับสิ่งมีชีวิตบนบกคือมีการอยู่ร่วมกัน
และพึ่งพาอาศัยกัน ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การอยู่ร่วมกันแบบ "ซิมไบโอซิส" (Symbiosis)
หมายถึง การที่สิ่งมีชีวิตสองชนิดอาศัยอยู่รวมกัน หรืออยู่ ปนกันโดยต่างฝ่ายต่างได้รับประโยชน์ซึ่ง กันและกัน
เช่น ปลาการ์ตูน หรือ ปลาอินเดียแดงสามารถอยู่ร่วมกับ ดอกไม้ทะเลได้ โดยที่ปลา
เหล่านี้จะอาศัยดอกไม้ทะเลเป็นที่หลบ ภัยและสืบพันธุ์ ส่วนดอกไม้ทะเลจะได้รับ
ประโยชน์จากปลาโดยการล่อเหยื่อหรือชัก นำเหยื่อให้เข้ามาใกล้พอที่ดอกไม้ทะเล จะจับเป็นอาหารได้
สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังน้ำเค็ม สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังน้ำเค็ม นับว่าเป็น สัตว์กลุ่มใหญ่ในทะเลและมหาสมุทร
สัตว์จำพวกนี้ มีลักษณะแตกต่างกันออกไปทั้งขนาด รูปร่าง ที่ อยู่อาศัย และอุปนิสัยในการกินอาหาร
บางชนิดมี อันตราย แต่หลายชนิดก็มีประโยชน์ และมีความสำคัญ ทางเศรษฐกิจ
ปลาเศรษฐกิจ แบ่งออกเป็น 2 พวก คือ พวกที่นำมาเป็นอาหาร เช่น ปลากะรัง
หรือที่เรียกกันว่า "ปลาเก๋า" นอกจากนี้ก็มีปลากะพง ชนิดต่าง ๆ ปลาอีคุด ปลาสีขน
ปลาสร้อยนกเขา ปลาหูช้าง และพวกที่นำมาเลี้ยงเพื่อความสวยงาม ส่วนมากเป็นที่อาศัยอยู่ในบริเวณปะการัง
ได้แก่ ปลาสลิดทะเล ปลานกแก้ว ปลานกขุนทอง ปลาสินสมุทร ปลาผีเสื้อ ปลาข้าวเม่าน้ำลึก
ปลารูปร่างแปลกและปลามีพิษ ปลาบางชนิดมีรูปร่างแปลก โดยมีรูปร่างหรือสีกลมกลืนกับสภาพแวดล้อม
เพื่อหลบหลีกศัตรูหรือพรางตาเหยื่อ บางจำพวกนอกจากมีรูปร่างแปลกแล้ว ยังมีสีสันสวยงามและมีพิษด้วย รวมถึงปลาบางชนิดที่รับประทานแล้วเป็นพิษต่อมนุษย์ เช่น ปลากระเบน ปลาลิ้นหมา ปลาวัว ปลาไหลทะเล
ปลาปักเป้า ปลาสิงโต ปลาเหาฉลาม ปลาฉลามกบหรือฉลามแมว ปลาอุบ และ ปลากะรังหัวโขน ..........................โอ ! มองดูแล้วน่ากลัวจัง

เห็นสัตว์ทะเลต่าง ๆ มากมายจนจำกันไม่ไหวแล้ว เด็ก ๆ ยังไม่เบื่อกันหรอกค่ะ

จุดที่เรากำลังจะเดินไปถึงอีกไม่กี่วินาทีข้างหน้านี้ เป็นไฮไลท์ที่เรียกความสนใจ
สร้างความตื่นเต้นแก่ผู้ชมได้มากทีเดียว
นั่นคือ ตู้ปลาขนาดใหญ่มหึมา บรรจุ ปลาที่อาศัยในมหาสมุทร
ตัวใหญ่เบ้อเริ่ม สัตว์ทะเลในตู้นั้นที่แม่เกาลัดพอจะรู้จัก ก็คือ ปลาโอ
ปลากะพงขาว ปลากระเบน ปลาฉลาม เป็นต้น จุดนี้ส่วนใหญ่จะหยุดชมกันนานสักหน่อย

ออกจากตู้ปลาขนาดใหญ่ เป็นทางเดินสู่บ่อเต่าทะเลและฉลาม นอกตัวอาคาร
มีเต่า 2 ชนิด คือ เต่าตนุและเต่ากระ ส่วนปลาฉลามที่เลี้ยงในบ่อเลี้ยงเป็นปลาฉลามหูดำ
หรือปลาฉลามครีบดำ

“เต่า เต่า เต่า เต่ามันมีสี่ขา สี่ตีนเดินมา มันทำหัวผลุบ ๆ โผล่ๆ”
เด็กน้อยร้องเพลงที่จำมาจากโรงเรียน พลางยิ้มชอบใจที่ได้เห็นเต่า
“ปลาฉลามจะกัดเกาลัดไหมแม่”
เด็ก ๆ นี่เห็นอะไรก็ตื่นเต้นไปหมดเลยนะคะ
เห็นฉลามก็ดูฉลามแบบกล้า ๆ กลัว ๆ แต่ก็อยากเห็น

เราเดินขึ้นชั้น 2 ของอาคารไปที่ “พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ทางทะเล”
มีการจัดแสดงออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ๆ
ส่วนแรก จัดแสดงนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ
เกี่ยวกับพระราชกรณีกิจทางด้านการฟื้นฟู อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และด้านวิทยาศาสตร์การประมง
ส่วนที่สอง จัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับเรื่องราวของทะเล ระบบนิเวศ และสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในทะเล รวมทั้งความสำคัญของทะเลที่มีต่อมนุษย์ ดังนี้

นิทรรศการเรื่องราวของอาณาจักรของสิ่งมีชีวิตในทะเล ให้ความรู้ตั้งแต่ สิ่งมีชีวิตขนาดเล็กๆ ที่อาศัยอยู่ในทะเล
คือ แพลงก์ตอนซึ่งมีบทบาทสำคัญของห่วงโซ่อาหารในทะเล สาหร่าย และหญ้าทะเล ฟองน้ำ
สัตว์ที่มีโพรงลำตัว เช่น ปะการัง ดอกไม้ทะเล แมงกะพรุน หนอนทะเล เช่น หนอนตัวแบนหนอนปล้อง
หนอนริบบิ้น เป็นต้น หอย เช่น หอยฝาเดียว หอยฝาคู่ หมึก และหอยงวงช้าง เป็นต้น
สัตว์ที่มีข้อปล้องในทะเล เช่น ปู กุ้ง กั้ง และแมงดาทะเล สัตว์จำพวกคอร์เดทในทะเล
เช่น เพรียงหัวหอม แอมฟิออกซัส และสัตว์ทะเลที่มีกระดูกสันหลังชนิดต่างๆ ได้แก่
ปลาทะเล โลมา พะยูน เต่าทะเล และจระเข้น้ำเค็ม รวมทั้งเรื่องราวของทะเล และสิ่งมีชีวิตในทะเลยุคดึกดำบรรพ์



นิทรรศการเรื่องราวของทะเล และระบบนิเวศในทะเล กล่าวถึงการแบ่งเขตของทะเล และระบบนิเวศต่างๆในทะเล
รวมทั้งพืช และสัตว์ทะเลที่อาศัยอยู่ในแต่ละระบบนิเวศ โดยเริ่มตั้งแต่ ระบบนิเวศของป่าชายเลน ระบบนิเวศหาดหิน
ระบบนิเวศหาดทราย และหาดโคลน ระบบนิเวศแนวปะการัง

นอกจากนี้ยังจัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับความสำคัญของทะเลที่มีต่อมนุษย์ เช่น เป็นแหล่งทำการประมง
โดยใช้เครื่องมือประมงทะเล เช่น โป๊ะ และเรือประมงทะเลชนิดต่างๆ เป็นเส้นทางค้าขาย
และเดินทางติดต่อกันของมนุษย์ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งต้องพบกับอุปสรรคนานาประการจากคลื่น ลม และพายุ จนทำให้เรืออัปปางกิดเป็นเรื่องราวของการขุดค้น และศึกษาโบราณคดีใต้น้ำ

ห้องพิพิธภัณฑ์เปลือกหอย และวิวัฒนาการของหอย ในห้องนี้จะจัดแสดงเกี่ยวกับเปลือกหอยที่พบในทะเลกลุ่มต่างๆ
ได้แก่ ลิ่นทะเล หอยฝาเดียว หอยฝาคู่ หอยงวงช้าง และหอยงาช้าง เป็นต้น
รวมทั้งนิทรรศการความรู้เกี่ยวกับหอยแต่ละกลุ่ม วิวัฒนาการของหอยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และการแบ่งกลุ่มของหอยที่มีอยู่ในโลก

เดินเข้าชมสถานที่ซึ่งแม้จะมีเพียงแค่สองชั้นเท่านั้น แต่ก็เริ่มเหนื่อยแล้วค่ะ
หลังจากเข้าชมสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล เสร็จแล้วก็อย่าลืมช่วยกันอุดหนุนร้านค้าซึ่งมีทั้งของฝาก
ของที่ระลึก หนังสือ โปสเตอร์ สื่อการเรียนรู้ที่น่าสนใจต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสัตว์ทะเลกันด้วยนะคะ

ของที่ระลึกในร้านค้าที่แม่ซื้อให้เกาลัดบ่อย ๆ ก็คือเสื้อยืดค่ะ น่ารักมาก มีตุ๊กตารูปสัตว์ทะเลตัวเล็ก ๆ เย็บติดเสื้อด้วย ลูกใส่จนเก่าและคับไปสองสามตัวแล้ว ที่ยังใส่ได้อยู่คือเสื้อยืดเต่าทะเล กับเสื้อยืดแมวน้ำ

หากผู้อ่านท่านใดสนใจที่จะไปศึกษาเรียนรู้ที่นี่เขา เปิดทำการ วันธรรมดา (อังคาร-ศุกร์)
เวลา 8.30 - 16.00 น. วันหยุดราชการ (เสาร์-อาทิตย์-นัก ขัตฤกษ์)
เวลา 8.30 - 17.00 น. หยุดวันจันทร์

อัตราค่าเข้าชม รายบุคคลแบบปกติ เด็ก คนละ 15 บาท ผู้ใหญ่ คนละ 30 บาท
นักเรียน คนละ 10 บาท ชาวต่างชาติ เด็ก คนละ 50 บาท ผู้ใหญ่ คนละ 100 บาท

อัตราหมู่คณะที่ติดต่อเข้าชมล่วงหน้ากับสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล นักเรียน คนละ 10 บาท
นิสิต – นักศึกษา คนละ 15 บาท ครู-อาจารย์ผู้ควบคุม
คนละ 25 บาท ผู้ใหญ่ 20 คนขึ้นไป คนละ 25 บาท

การเข้าชมเป็นหมู่คณะ ติดต่อเข้าชมล่วงหน้าอย่างน้อยก่อนวันเข้าชม 5 วัน โดยการ
ส่ง FAX แจ้งการเข้าชมมาที่ ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล ที่หมายเลข (038) 391674 ส่งอีเมล์แจ้งการเข้าชมไปที่ tanyong@bims.buu.ac.th หรือทำหนังสือขอเข้าชมเป็นหมู่คณะ ส่งไปที่ ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา 169 ถนนลงหาดบางแสน ตำบลแสนสุข อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี 20131
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ งานประชาสัมพันธ์ โทร. (038) 391671-3 ทุกวันในเวลาราชการ
เว็บไซต์ //www.bims.buu.ac.th

แม่เกาลัดก็ยังสงสัยอีกนะคะว่าเด็ก ๆ และผู้ใหญ่อย่างเรา ๆ ที่เข้าชมสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล จะสามารถจำรายละเอียดจำนวนมากที่จัดแสดงได้มากน้อยเพียงใด คงขึ้นอยู่กับความสนใจ
และประสิทธิภาพในการจดและจำของแต่ละบุคคล
แต่หวังไว้ว่าสิ่งที่ผู้ชมได้เห็นและพยายามที่จะทำความเข้าใจ จะทำให้เกิดความรัก หวงแหนในธรรมชาติ สามารถอยู่ร่วมและใช้ประโยชน์จากธรรมชาติได้อย่างเหมาะสมและยั่งยืน








 

Create Date : 06 พฤศจิกายน 2551    
Last Update : 11 สิงหาคม 2554 15:44:48 น.
Counter : 2373 Pageviews.  

สะพานเดินศึกษาธรรมชาติป่าชายเลนและสถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำเค็ม อ่าวคุ้งกระเบน

เรื่องมีอยู่ว่า เด็กชายเกาลัดกับแม่ได้ติดตามพ่อไปทำงานที่จังหวัดจันทบุรี
งานนี้เราไม่ยอมเสียเวลาเปล่า จึงได้พาลูกไปที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน
และในบริเวณเดียวกันยังเป็นที่ตั้งของสถานแสดง
พันธุ์สัตว์น้ำเฉลิมพระเกียรติจัดแสดงพันธุ์ปลาน้ำเค็ม ที่มีถิ่นอาศัยอยู่ในบริเวณอ่าวคุ้งกระเบน
ถึงแม้อากาศจะร้องแต่เกาลัดบอกว่าสู้ครับแม่ !
ถ้าอย่างนั้น เราตามเกาลัดไปศึกษาธรรมชาติกันดีกว่า

สะพานเดินศึกษาธรรมชาติป่าชายเลนอ่าวคุ้งกระเบน เป็นโครงการหนึ่งที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนา
อ่าวคุ้งกระเบน จัดทำเพื่อ ก่อให้เกิดความเข้าใจระบบนิเวศในป่าชายเลนและรู้จักใช้ทรัพยากร
เหล่านั้นให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน ตั้งอยู่บริเวณ ต.คลองขุด อ.ท่า ใหม่
และ ต.สนามไชย อ.นายายอาม จัดตั้งขึ้นเพื่อฟื้นฟูทรัพยากรและพัฒนา
อาชีพของชาวบ้านในบริวเณชายฝั่งทะเลจังหวัดจันทบุรี เมื่อปี พ.ศ.2524

สะพานเดินศึกษาธรรมชาติ ทอดผ่านป่าชายเลนที่มีพันธุ์ไม้หลายชนิด
มีจุดสื่อความหมายธรรมชาติอยู่ตามบริเวณจุดต่าง ๆ ของสองข้างทาง ทำให้ทราบความสำคัญของป่าชายเลนนอกจากจะช่วยรักษาสมดุลของระบบนิเวศน์ชายฝั่งแล้ว
ยังทำให้เกษตรกรเลี้ยงกุ้งทะเลได้อย่างยั่งยืน เป็นที่อาศัยของสัตว์น้ำ และแหล่งอาหารธรรมชาติ ตลอดจนแหล่งสมุนไพรสำหรับชุมชนที่อาศัยอยู่โดยรอบอีกด้วย นอกจากนี้จะเข้าใจได้ว่า
ไม้หลากชนิดในป่าชายเลนเกื้อกูลกันอย่างไร และมีประโยชน์กับเราอย่างไร

เดิมทีพื้นที่บริเวณนี้เคยมีพะยูนอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ด้วยทรัพยากร
ธรรมชาติทั้งทางบก และ ทะเลถูกทำลาย ทำให้พะยูนมีจำนวนลดน้อยลง และแทบจะเรียกได้ว่า
สูญพันธุ์ไปแล้ว เพราะยาก แก่การพบเห็น ซึ่งจากปัญหาดังกล่าวทางศูนย์ฯจึงต้องฟื้นฟูและ
จัดการทรัพยกรธรรมชาติที่มีอยู่เพื่อ ให้คงความยั่งยืน โดยเฉพาะหญ้าทะเลที่เป็นแหล่งอาหารของพะยูน


สำหรับสะพานเดินศึกษาธรรมชาติป่าชายเลนดังกล่าวทางศูนย์ ฯ ยาวประมาณ 1,600 เมตร
ซึ่งหากเดินชมพันธุ์ไม้ ปู ปลา แบบเรื่อยๆเอื่อยๆสบายอารมณ์ก็ใช้เวลาประมาณ 1.5-2 ชั่วโมง
แต่หากว่าจะเดินศึกษากันจริง ๆ ต้องใช้เวลาเป็นวันทีเดียว และหากใครอยากได้ความรู้แบบเจาะลึกควรติดต่อ
ให้เจ้าหน้าที่ของทางศูนย์มานำชม โดยเปิด
ให้เข้าชมทุกวัน เวลา 06.30-18.00 น. นอกจากนี้ยังมีบริการบ้านพักด้วยโดยต้องติดต่อล่วงหน้า
โทร. 0 3936 9216-8 โทรสาร 0 3936 9219 เว็บไซต์ //www.fisheries.go.th/cf-kung_krabaen/index_1.htm


ส่วนสถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำเฉลิมพระเกียรติจัดแสดงพันธุ์ปลาน้ำเค็มที่มีถิ่นอาศัยอยู่ในบริเวณอ่าวคุ้งกระเบนจำนวนมาก
โดยแบ่งการจัดแสดงออกเป็น 4 กลุ่ม คือ ปลาเศรษฐกิจ ปลาสวยงาม ปลาในแนวปะการัง
และปลาที่มีรูปร่างแปลก ที่ถือว่าได้ว่าเป็นพันธุ์ปลาที่หายากในแถบทะเลตะวันออก อาทิ ปลาการ์ตูน ( นีโม)
ปลาผีเสื้อลายไขว้ หอยมือเสือ ปลาสิงโต ปลานกขุนทองปากหนา ปะการังเขากวาง ปะการังดอกแดง ฯลฯ

เปิดให้เข้าชมทุกวันอังคาร-วันศุกร์ เวลา 08.30-16.30 น., วันเสาร์-วันอาทิตย์
เวลา 08.30-17.30 น. สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
โทร. 0 3936 9217-8 ต่อ 130

ภาพ

จันทบุรี~พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ อ่าวคุ้งกระเบน
อยู่ลิงค์นี้ค่ะ
//www.bloggang.com/mainblog.php?id=sineenart&month=09-04-2008&group=7&gblog=21

จันทบุรี~เส้นทางศึกษาธรรมชาติป่าชายเลน
อยู่ลิงค์นี้ค่ะ
//www.bloggang.com/viewblog.php?id=sineenart&date=09-04-2008&group=7&gblog=22





 

Create Date : 06 พฤศจิกายน 2551    
Last Update : 11 สิงหาคม 2554 15:45:41 น.
Counter : 1132 Pageviews.  

ตามรอยพระเจ้าตากสินที่จันทบุรี

จันทบุรีถิ่นแดนนี้มีตำนาน พ่อกับแม่พาเกาลัดไปเที่ยวจันทบุรีครั้งแรก
ก็ได้ไปชมแหล่งเรียนรู้มากมาย
พอดีกับที่เกาลัดชอบเสียงกระหึ่มของเสียงดนตรีอินโทร (Intro) เพลงพระเจ้าตาก
ของวงคาราบาวเป็นพิเศษ ทำให้ลูกชายเปิดเพลงนี้ฟังบ่อย ๆ จนร้องได้
จึงใช้เพลงนี้มาหลอกล่อให้ลูกกระตือรือร้นที่จะตามรอยเพลง ไปดูร่องรอยทางประวัติศาสตร์เรื่องนี้กัน

พระราชประวัติของพระบาทสมเด็จสมเด็จพระเจ้าตากสิน ประสูติในครอบครัวสามัญชน
บิดาอพยพมาจากจังหวัดแต้จิ๋ว ประเทศจีน มีอาชีพค้าขาย มารดาเป็นคนไทย
พระองค์บวชเรียนที่วัดเชิงท่า ต่อมาเป็นพ่อค้าเกวียน และรับราชการตำแหน่งเจ้าเมืองตาก
พระยาวชิรปราการ เจ้าเมืองกำแพงเพชร และพระเจ้ากรุงธนบุรี ตามลำดับ

เรื่องราวสำคัญในประวัติศาสตร์ชาติไทยที่เกี่ยวข้องกับท่านก็คือ เมื่อปี พ.ศ. 2310
พระเจ้าตาก หรือพระยาวชิรปราการในสมัยนั้น เห็นว่ากรุงศรีอยุธยาคงต้องเสียทีแก่พม่า
จึงได้นำกำลังพล พร้อมทหารคู่ใจ ตีฝ่าวงล้อมของพม่าออกจาก กรุงศรีอยุธยา ไปทางทิศตะวันออก โดยตั้งใจว่าจะกลับมากู้กรุงศรีอยุธยากลับคืนให้ได้โดยเร็ว แล้วยึดเมืองจันทบุรี ไว้เป็นที่มั่น
เพื่อรวบรวมกำลังกลับมาตีพม่า

หลังจากรวบรวมกำลังพลและต่อเรือรบได้แล้ว ก็ยกทัพเรือเข้าสู่ปากแม่น้ำเจ้าพระยาตีเมืองธนบุรี
ซึ่งเป็นที่ตั้งค่ายของทหารพม่า และยกทัพไปตีค่ายโพธิ์สามต้น จากนั้นจึงปราบดาภิเษก
เป็นพระเจ้ากรุงธนบุรี

พ่อบอกเกาลัดว่า ถ้ามาถึงจันทบุรีแล้ว อันดับแรก จะต้องไปที่ค่ายตากสิน
หรือกองพันทหารราบที่ ๒ กรมทหารราบ ที่ ๑ กองพลนาวิกโยธิน เพื่อสักการะ
“อนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช” โดยหน้าค่ายมีหมวกพระเจ้าตากขนาดใหญ่เด่นเป็นสง่า

ต่อมาเราพาเกาลัดไปเรียนรู้ที่ “พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพาณิชย์นาวี”
ตั้งอยู่ในบริเวณค่ายเนินวง กว่าจะหาทางเข้าได้ก็หลงทางอยู่พักใหญ่
พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพาณิชย์นาวี แห่งนี้ เป็นอาคารแฝด 2 ชั้น
ภายในจัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับการค้าทางเรือของไทย ซึ่งมีการรวบรวมหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ได้จากการดำเนินงานด้านการศึกษาค้นคว้าวิจัย
ทางโบราณคดีใต้น้ำมาเป็นเวลากว่า 20 ปี

น่าเสียดายที่มีกฏห้ามถ่ายภาพภายในพิพิธภัณฑ์ จึงไม่ได้มีตัวอย่างภาพมาให้ชมกัน
ชั้นล่างจัดแสดงให้ผู้ชมรู้สึกเหมือนการลงไปสู่ใต้ท้องทะเลที่มีแสงสลัวลงและสามารถมองเห็น
การปฏิบัติงานของนักดำน้ำที่กำลังทำงานอยู่ใต้ท้องทะเลได้อย่างใกล้ชิด
มีการจัดแสดงแบบจำลองของเรือชนิดต่าง ๆ ทั้งเรือที่ใช้ในพระราชพิธีเรือพื้นบ้าน
เรือที่ใช้ในการค้าขายระหว่างประเทศ ไปจนถึงเรือรบจำนวนมาก ซึ่งเมื่อได้ชมแล้วรู้สึกตื่นตา ตื่นใจ ชื่นชมความสามารถทางศิลปะของผู้จัดทำแบบจำลอง และความรอบรู้ถี่ถ้วนของผู้จัดแสดงเป็นอย่างมาก

นอกจากนี้บริเวณชั้นล่างยังมีห้องของดีเมืองจันท์ ที่จัดแสดงของดีต่างๆ ของจังหวัดจันทบุรี
อาทิ การทำเหมืองพลอย การทำสวนผลไม้แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และเรื่องราวของชาวชอง
ซึ่งเป็นชนพื้นเมืองดั้งเดิมของจันทบุรีอีกด้วย นับเป็นพิพิธภัณฑ์ที่ออกแบบได้ดีและน่าสนใจสำหรับผู้ที่เข้ามาศึกษา

ส่วนไฮไลท์ หรือห้องแสดงหลักอยู่ที่ชั้น 2 ซึ่งทางพิพิธภัณฑ์ได้จัดสร้างเรือสำเภาขนาดเท่าของจริง
ที่ผู้ชมสามารถเดินเข้าไปชมภายในลำเรือได้ เพื่อบอกถึงเรื่องราวการเดินเรือและการค้าขายระหว่างประเทศ

ในส่วนนี้แหละ ที่ถูกใจเกาลัดมาก ๆ เพราะทำให้เด็กน้อยรู้สึกเหมือนตัวเองได้เข้าไปอยู่ในเรือสำเภาจริง ๆ ได้เห็นตัวอย่างสินค้าที่บรรทุกอยู่ใต้ท้องเรือ ทั้งเครื่องเทศ เครื่องปั้นดินเผา และอื่น ๆ
ได้เห็นว่าห้องพักของลูกเรือเป็นอย่างไร ลูกเรือที่ต้องรอนแรมอยู่กลางทะเลเป็นเวลานาน ๆ
เขาจะต้องกินอยู่อย่างไร

เมื่อปีนบันไดขึ้นไปก็พบกับห้องของไต้ก๋ง หรือผู้บังคับเรือ สำเภอเรือ สมอเรือ และชิ้นส่วน
ต่าง ๆ ที่สำคัญในการเดินเรือ

....เรื่องราวเหล่านี้ เมื่อได้เห็นด้วยตา ได้สัมผัสกับตัวเอง ย่อมดีกว่าอ่านจากหนังสือเป็นไหน ๆ
พ่อแม่หรือคุณครู สามารถจัดกิจกรรมเสริมให้เด็ก ๆ ได้มากมายหลายเรื่อง
ทั้งเรื่องประวัติศาสตร์วิทยาศาสตร์กับการเดินเรือ การค้าขายระหว่างประเทศ
การทำงานของนักโบราณคดีใต้น้ำ ฯลฯ ขึ้นอยู่กับวัยและจุดมุ่งหมายที่จะให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้

นอกจากนั้น ที่จันทบุรียังได้ขุดพบโบราณสถานสำคัญ คือ “อู่ต่อเรือสมเด็จพระเจ้าตาก
สินมหาราช” ตั้งอยู่ที่บ้านเสม็ดงาม อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี
สันนิษฐานว่าเป็นสถานที่ซึ่งสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ใช้เป็นอู่ต่อเรือ เมื่อครั้งเตรียมยกทัพ
ไปตีพม่าเพื่อกู้เอกราชชาติไทย โดยหน่วยโบราณคดีใต้น้ำ กองโบราณคดี กรมศิลปากร ได้ขุดค้นซากเรือและตรวจสอบชั้นดินทางโบราณคดีตามริมฝั่งอ่าว พบแอ่งน้ำรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า
ลักษณะคล้ายอู่เรืออยู่หลายแห่ง พร้อมทั้งส่วนประกอบต่างๆ ของเรือโบราณ และสันนิษฐานว่า น่าจะเป็นเรือสำเภาจีนแบบฟูเจียนขนาดเล็กใช้สำหรับบรรทุกสินค้า บริเวณใกล้เคียงมีโรงเก็บเรือจำลอง
และเรือของชาวบ้านที่เคยใช้กันในอดีต

สิ่งที่หน่วยโบราณคดีใต้น้ำ กองโบราณคดี กรมศิลปากร ได้ขุดค้นพบนั้น ถูกนำมาจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ที่อู่ต่อเรือพระเจ้าตาก และยังได้มีการจัดทำเรือจำลองไว้ให้ชมด้วย

เมื่อได้ไปเรียนรู้ตามแหล่งเรียนรู้ดังกล่าว ข้อมูลที่เคยอ่าน และเก็บบันทึกไว้ในความจำเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การกู้บ้านเมืองของสมเด็จพระเจ้าตากสินก็จะเกิดความเข้าใจมากกว่าเดิม
และประทับใจมากขึ้น

ผู้สนใจพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพาณิชย์นาวี สามารถเข้าชมได้ทุกวันพุธ-อาทิตย์
เวลา 9.00-16.00 น. ติดต่อได้ที่ โทร. 0 3939 1431-3
โทรสาร 0 3939 1433 หรือเข้าไป
ดูรายละเอียดได้ที่ //www.thailandmuseum.com

ภาพประกอบ ดูที่ลิงค์นี้ค่ะ
//www.bloggang.com/mainblog.php?id=sineenart&month=10-04-2008&group=7&gblog=23




 

Create Date : 06 พฤศจิกายน 2551    
Last Update : 11 สิงหาคม 2554 15:45:53 น.
Counter : 1686 Pageviews.  

ผู้พิทักษ์ท้องทะเล : KALUOKA' HINA The Enchanted Reef

เกาลัดไปเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษารังสิต(ท้องฟ้าจำลอง รังสิต)มาอีกแล้วครับ คราวนี้เป็นโอกาสพิเศษที่เกาลัดตื่นเต้นดีใจมาก เพราะรอมานานข้ามปีหลังจากที่
ได้รับทราบข่าวว่าจะมีแอนิเมชั่นเรื่อง KALUOKA' HINA The Enchanted Reef มาให้ชม ค่ำคืนก่อนจะไปชม เกาลัดจึงตั้งใจนอนตั้งแต่หัวค่ำ เพื่อที่จะได้มีเรี่ยวแรงชมภาพยนตร์ได้สนุก ๆ



เกาลัดขออวดด้วยล่ะครับว่ามีภาพยนตร์เรื่องมีความพิเศษหลายต่อทีเดียวแหละ ประการแรก ก็คือภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นแอนิเมชั่นวิทยาศาสตร์สำหรับครอบครัวที่หาชมได้ยาก ประการที่สองเป็น แอนิเมชั่นเรื่องแรกซึ่งได้จัดฉายที่ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา รังสิต และประการสุดท้ายที่พิเศษ
กว่าการชมแอนิเมชั่นจากที่ไหน ๆ ก็คือฉายบนจอโดมขนาดใหญ่ 360 องศา
ให้ความตื่นตาด้วยภาพแบบพานอรามารอบตัว เก้าอี้ที่รองรับผู้ชมได้ถึง 160 ที่นั่ง
ก็สามารถปรับเอนนอนชมภาพยนตร์ได้สบาย

Kaluoka' hina หรือ ผู้พิทักษ์แห่งท้องทะเล มีเนื้อหาเกี่ยวกับการอนุรักษ์
แนวปะการังและนิเวศวิทยาผ่านตัวการ์ตูน สองปลาคู่หูที่ต้องออกเดินทางจากแนวปะการัง
บ้านเกิดผจญภัยในท้องทะเลอันกว้างใหญ่ เพื่อตามหาความหมายของ เวทย์มนต์แห่งจันทรา
และ ลมหายใจแห่งท้องทะเล เพื่อมาปกป้องผองเพื่อนสัตว์น้ำและแนวปะการังอันเป็นที่รักให้ปลอดภัย
จากการคุกคามของมนุษย์



ภาพยนตร์เรื่องนี้จะพาผู้ชมเข้าสู่ดินแดนแสนมหัศจรรย์ของมหาสมุทรขแงแนวปะการังเขตร้อน
ที่มีความหลากหลายของสิ่งต่าง ๆ และสีสันที่สวยงาม เต็มไปด้วยเรื่องราวน่าตื่นเต้น นำเสนอข้อมูลดีๆเกี่ยวกับการใช้ชีวิตแบบพึ่งพาอาศัยกันของสัตว์โลกใต้ทะเล
ปลุกเร้าให้ผู้ชมเกิดความสงสัยใคร่รู้เกี่ยวกับระบบนิเวศใต้มหาสมุทร
หาเนื้อเรื่องหลัก ของภาพยนตร์ประกอบด้วย แนวปะการัง โลกแห่งสีสันใต้ทะเล
เมื่อดวงจันทร์ทำให้ปะการังคลี่กิ่งออกราวกับดอกไม้บาน ลมหายใจของมหาสมุทร
สิ่งอันตรายสีดำ ภูเขาและภูเขาไฟใต้ทะเล ป่าแห่งมหาสมุทร และสีสันสว่างเรืองใต้ท้องมหาสมุทร ที่มืดลึกสุดหยั่งที่เรียกว่าไบโอลูมิเนสเซน (Bioluminescence)

ท้องฟ้าจำลองรังสิต ยังเป็นสถานที่โปรดของเกาลัดอยู่เสมอ วันไหนที่ไม่ได้ไปเที่ยวต่างจังหวัดไกล ๆ
ขอเพียงแค่ได้ไปวิ่งเล่นที่นี่ เกาลัดก็สนุกสุขใจได้แล้ว แม่บอกว่า วันหลังแม่จะพาเกาลัดไป
ชม อ. นิพนธ์ ทรายเพชร ราชบัณฑิตทางดาราศาสตร์ หรืออาจารย์ปู่
บรรยายให้ความรู้เกี่ยวกับดวงดาวให้ฟัง แต่ต้องรับปากแม่ก่อนว่าจะไม่ดื้อ ไม่ซน และไมส่งเสียงดังรบกวนคนอื่น

ทั้งนี้ เกาลัดขอแนะนำว่าหากจะไปที่ท้องฟ้าจำลองรังสิต ควรจะใช้เวลาเต็มวัน เพื่อเก็บเกี่ยวความรู้ และความสนุกสนานจากนิทรรศการและการจัดแสดงทางวิทยาศาสตร์ที่น่าสนใจ ที่ได้จัดเตรียมไว้ให้รอชมอย่างมากมาย



และท้ายสุด เกาลัดอยากให้เพื่อน ๆ รู้จัก หนูน้อยพลูโต หรือพลูโตบอย ซึ่งเป็นมาสคอส สัญลักษณ์ของท้องฟ้าจำลองรังสิต ซึ่งถือกำเนิดขึ้นจากเหตุการณ์ที่ดาวพลูโตถูกปลดออกจากดาวเคราะห์ในระบบสุริยะ
พลูโตบอยเป็นเด็กช่างคิด มีคำถามต่างๆ มากมาย ไว้ผมตั้ง มีหัวแหลม และมีหน้าที่สำคัญในการกลับมา
ทวงถามและมาเล่าเรื่องราวต่างๆ ทางวิทยาศาสตร์ให้ชาวโลกรับฟัง

ท้องฟ้าจำลอง รังสิต เขาบอกมาว่าจะยังจัดฉายภาพยนตร์เรื่อง KALUOKA' HINA อีกเป็นระยะเวลานาน
เพราะฉะนั้น ผู้อ่านท่านใดที่สนใจก็ไปชมกันได้เลย โดยเปิดให้บริการในวันอังคาร-วันอาทิตย์
ตั้งแต่เวลา 09.00-16.00 น.หยุดวันจันทร์และวันนักขัตฤกษ์ค่าเข้าชมเพียงท่านละ 30 บาท ต่อ 1 ที่นั่ง
สำรองที่นั่งล่วงหน้าได้ที่ โทร. 0-25775456-59 ต่อ 103 เว็บไซต์ //www.rscience.net





 

Create Date : 06 พฤศจิกายน 2551    
Last Update : 11 สิงหาคม 2554 15:46:06 น.
Counter : 2380 Pageviews.  

ปางช้างอโยธยา จ.อยุธยา

ไปอยุธยาทีไร จะนึกถึงการขี่ช้างชมเมืองเก่า
ทุกทีเคยขี่ช้างกันในเมือง ซึ่งเป็นที่รู้จักกันมากในหมู่นักท่องเที่ยว
ไปอยุธยาก็บ่อย แต่ความรู้สึกช้าไปหน่อย
เพิ่งรู้ว่ามีปางช้างใกล้วัดมเหยงค์
เลยออกมานอกเมืองนิดหนึ่ง
ตามทางที่จะไปวังน้อย กรุงเทพ
แล้วเลี้ยวซ้ายตรงเจดีย์วัดสามปลื้ม

การขี่ช้างตรงนี้ แตกต่างจากขี่ช้างชมเมืองเก่าในเมือง
ตรงที่สถานที่โล่ง มองได้ไกล ๆ
มีวัดเก่าให้ชม และได้ขี่ช้างลุยน้ำด้วย

ค่าขี่ช้าง ผู้ใหญ่ 100 บาทต่อ 10 นาที เด็กคิดครึ่งราคา
เราจ่ายเป็นแพ็กเกจ 20 นาที 3 คน 500 บาท


ถึงแล้วที่นี่ไง ปางช้างอโยธยา








ช้างที่เรานั่ง ชื่ออ้อม อายุ 20 ปี






เดินไปกินไป


นั่นไงรอยเท้าช้าง




























กำลังจะพาเดินลงน้ำ


ลุยไปข้างหน้า


ถ่ายย้อนกลับ หลังจากขึ้นจากน้ำ






มุ่งหน้ากลับปางช้าง




เด็กอะไรหว่า สุขใจจัง


โรงแสดงช้าง











ถ้าจะเข้าปางช้าง ให้สังเกตเจดีย์นี้ตรงแยกไฟแดง




 

Create Date : 01 กรกฎาคม 2551    
Last Update : 1 กรกฎาคม 2551 9:11:39 น.
Counter : 3379 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  13  14  15  16  17  18  19  20  21  22  23  24  25  26  27  28  29  

ชมจันทร์
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 32 คน [?]




เดินทางสู่โลกกว้าง เพื่อไปเรียนรู้โลก ผู้คน เพื่อประสบการณ์ชีวิต

Friends' blogs
[Add ชมจันทร์'s blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.