Q[-___-Q ma leaw ja
Group Blog
 
All Blogs
 
ตรวจสุขภาพ จำเป็นหรือไม่?

อย่าว่าแต่วิ่ง 2 กิโลเมตรเลย วิ่ง 100 เมตรยังแทบไม่ไหว เดินขึ้นบันได 4 ชั้นก็หอบ ทั้ง ๆ ที่คุณอายุแค่ 30 เท่านั้นเอง เพื่อน ๆ เลย แนะนำตรวจสุขภาพ ตรวจไปตรวจมาสันนิษฐานว่าเป็นโรคร้ายรักษาเสียจนหัวโกร๋น หมดสิ้นกำลังใจ ชีวิตเหี่ยวเฉาลงเรื่อย ๆ สุดท้ายเลยกลายเป็นโรคซึมเศร้าพ่วงมาอีกโรค

อีกรายวันดีคืนดีเป็นลมล้มตึงลงกลางออฟฟิศ คิดว่าเป็นเพราะไม่ได้กินข้าวกลางวัน เลยชะล่าใจปล่อยไปเรื่อย จนวันหนึ่งนายประกันโทรศัพท์มาชวนว่าไปใช้สิทธิกันหน่อยมั้ย ให้ตรวจสุขภาพฟรี ๆ เดินเข้าไปแบบสบาย แต่ขากลับนี่สิใจลงไปกองที่ตาตุ่ม เพราะพบว่าเป็นโรคหัวใจ ยังดีนะที่เป็นระยะเริ่มต้น ใช้เวลารักษาไม่นาน ก็กลับมาทำงานปร๋อ สดใสได้เหมือนเดิม

ทั้งสองเคสนี้มีอย่างหนึ่งที่เหมือนกัน นั่นคือมีการตรวจสุขภาพ ซึ่งขณะนี้เป็นประเด็นถกเถียงกันว่าที่แท้มีประโยชน์ หรือโทษกันแน่ ยิ่งโดยเฉพาะในปัจจุบันที่คนตายด้วยโรคหัวใจ 7 คนต่อชั่วโมง สูงเป็นประวัติการณ์ และการตรวจหาโรค (Medical Check - up) หรือการตรวจร่างกาย (Physical Check - up) กลายเป็น "การตรวจสุขภาพแบบสำเร็จรูป" ตามโรงพยาบาลต่าง ๆ ที่กำลังได้รับความชื่นชอบมากขึ้นเรื่อย ๆ จากผู้ที่ใส่ใจในสุขภาพ และสมัครใจจะจ่ายเงินในการรักษา ทั้งยังนิยมมอบให้กันเป็นของขวัญวันเกิด หรือของขวัญปีใหม่แก่ญาติผู้ใหญ่และเพื่อนฝูง ทั้งที่ป่วยและไม่ป่วย ในหลากรูปแบบ หลายราคา ตั้งแต่ 1,000 - 2,000 บาท โดยใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์สมัยใหม่ที่พร้อมจะรองรับ ไล่มาตั้งแต่การตรวจพื้นฐาน เช่น ค่าคอเลสเตอรอล ค่าไตรกลีเซอไรด์ ไปกระทั่งการตรวจทางเคมีในร่างกาย ตับ ไต หัวใจ สมอง อวัยวะลึกลับซับซ้อนต่าง ๆ พร้อมคำรับรองว่าจะทำให้สามารถพบเชื้อโรคได้ง่าย และเยียวยาได้

แต่มันจำเป็นมากแค่ไหน และสำคัญกว่านั้น มันดีต่อสุขภาพของคุณจริงหรือไม่

ความเห็นที่ 1 จำเป็น

"ร่างกายคนเราเหมือนเครื่องยนต์ ซึ่งพอใช้ไปนานๆ ย่อมมีการสึกหรอ แต่ถ้ารอให้ถึงตอนนั้นแล้วเอาเข้าอู่ บางทีก็ไม่ทันการณ์ การป้องกันจึงดีกว่าการรักษา บ่อยครั้งที่คนไข้มาแบบสภาพร่างกายปกติดี แต่สามารถตรวจเจอโรคในระยะเริ่มต้นได้ ซึ่งก็ต้องยอมรับว่าบางครั้ง ถ้าปล่อยไว้โดยไม่ตรวจให้รู ระยะของโรคจะดำเนินไปเกินกว่าจะรักษาได้ ตัวอย่างเช่น มะเร็ง ซึ่งเมื่อก่อนเรามองว่ารักษาไม่ได้ แต่ด้วยเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าขึ้น เดี๋ยวนี้แพทย์สามารถรักษามะเร็งระยะเริ่มต้นได้แล้ว ในต่างประเทศคนไข้จำนวนมากสามารถมีชีวิตอยู่ได้เกิน 10 ปี ในบ้านเราเองก็สามารถทำได้ดีขึ้น ดังนั้นถ้าตรวจแล้วเจอแต่เริ่มจะดีกว่าที่จะรอให้เกิดอาการผิดปกติ"

น.พ.พิเชษฐ์ เจริญศิริวัฒน์ อายุรแพทย์ โรงพยาบาลสมิติเวช สุขุมวิท ให้ความเห็นเกี่ยวกับความจำเป็นในการตรวจสุขภาพ ที่ตั้งใจจะทำให้คุณปลอดจากเชื้อโรคตลอดหลายปีต่อไป

ในผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ก็เป็นกลุ่มที่จำเป็นต้องตรวจสุขภาพ ซึ่งปัจจัยเสี่ยงนั้นก็มีอยู่หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นสูบบุหรี่จัด ดื่มสุรา ต้องทำงานในสภาพแวดล้อมที่ผิดไปจากผิดปกติ อาทิในโรงงานอุตสาหกรรมที่มีเสียงดัง มีฝุ่นควัน และยิ่งจำเป็นมากหากคุณอยู่ในครอบครัวซึ่งมีคนเป็นโรคที่สามารถสืบทอดทางพันธุกรรม

"บางคนย้อนกลับไปดูประวัติครอบครัวมีคนเป็นโรคเบาหวานมาทุกรุ่นก็หมายความว่าเขาก็สามารถหายจากโรคได้ หรือบางครอบครัวที่มีประวัติเป็นโรคไขมันในเลือดสูง คุณพ่อเป็นโรคหัวใจ ลูกมาตรวจก็เจอไขมันในเลือดสูง ปัจจุบันพบว่าหากให้ยาลดไขมันในระยะเริ่มต้น ก็เปรียบประดุจเรายืดอายุคนไข้"

ยิ่งปัจจุบันที่นิสัยการบริโภคของคนไทยเปลี่ยนไปมาก การกินอาหารตามใจปาก อาหารฟาสต์ฟู้ด ไขมันสูง ขนมเค้ก ดูจะน่าทานมากกว่าน้ำพริกผักลวกถ้วยเดิม โอกาสที่จะเกิดไขมันในเส้นเลือด คอเลสเตอรอลสูง หรือโรคอื่น ๆ อันเกี่ยวเนื่อง จึงพบได้ตั้งแต่วัยยังหนุ่มยังสาวหลายรายที่พบว่าเกิดเส้นเลือดตีบในสมองและหัวใจขณะที่วัยยังไม่สูงนัก

"และเมื่ออายุมากขึ้น ความเสื่อมก็ยิ่งมาก เห็นได้จากการประกันชีวิตที่คนอายุมากจะเสียเบี้ยประกันแพง คนอายุมากจึงมีความเสี่ยงในการเกิดโรคต่างๆ มากกว่าเดิม"

การตรวจสุขภาพโดยทั่วไปนั้นประกอบด้วย 3 ขั้นตอน เริ่มจากการตรวจร่างกายพื้นฐาน โดยวัดความดันโลหิต ฟังเสียงปอด เสียงหัวใจ ตรวจลำไส้ คลำดูท้อง ขั้นตอนที่สอง เป็นการตรวจทางห้องปฏิบัติการ ซึ่งมีตั้งแต่การตรวจเลือด ตรวจการทำงานของตับ ไต ท่อไต กระเพาะปัสสาวะ ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ และยังมีการตรวจแยกย่อยไปอีกตามเพศ และวัย เช่น หากเป็นผู้หญิงก็จะเพิ่มการตรวจระบบสืบพันธุ์สตรี มะเร็งปากมดลูก มะเร็งรังไข่ รวมทั้งมะเร็งเต้านม ผู้ชายตรวจระบบอวัยวะเพศชาย เอกซเรย์หามะเร็งที่ต่อมลูกหมาก

"ให้เอกซเรย์สัก 10 ครั้งก็ไม่ทำให้เป็นหมัน ต้องเป็นปริมาณรังสีที่มหาศาลจริง ๆ จึงจะทำให้เกิดความผิดปกติได้ เช่น การเอกซเรย์ทั่วไปจะใช้ปริมาณรังสี 0.1 - 0.2 Rad แวบเดียวเหมือนไฟแฟลชที่ยิงออกมาคือเสี้ยววินาทีเท่านั้น จะไม่มีผลอันตรายอะไร ในขณะที่การได้รับปริมาณรังสีเยอะ ๆ จะเกิดได้จากการรักษาเท่านั้น เช่น มะเร็งต่าง ๆ ที่ใช้รังสี 50 - 100 Rad 10 - 20 วินาที จะทำให้เป็นหมันชั่วคราว เพราะนอกจากมันจะไปฆ่าเซลล์ที่ผิดปกติแล้ว ยังทำให้เซลล์ปกติที่อยู่รอบ ๆ เกิดอาการช็อก ตัวอสุจิไม่มีการเคลื่อนไหวเท่านั้น แต่ไม่นานก็ปกติเช่นเดิม"

ขั้นตอนที่สาม คือการตรวจเฉพาะโรค มีสองแบบคือแบบแรกตรวจเมื่อมีอาการ กลุ่มคนไข้พวกนี้เช่น มีประวัติว่าอยู่ ๆ ปวดหัวมาก ก็ตรวจเพื่อตามอาการ เช็กความผิดปกติเกี่ยวกับศีรษะทั้งหมด เอกซเรย์สมอง อีกแบบคือการตรวจสกรีนเพื่อหาความผิดปกติ เช่น ที่ลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ ซึ่งมีหลายรายที่ตรวจแบบสกรีนแล้วเจอโรค และทำการรักษาให้หายได้

นพ.พิเชษฐ์ แนะนำว่าควรตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปีหากคุณอายุ 50 ปีขึ้นไป ที่ตั้งไว้ในเกณฑ์อายุนี้ก็เพราะเมื่อมีอายุมาก โอกาสเสี่ยงย่อมมีสูงขึ้นดังที่กล่าวไว้ข้างต้นแล้ว แต่หากเป็นผู้หญิงควรเริ่มตรวจทุกปีตั้งแต่อายุ 45 เนื่องจากเป็นวัยที่หมดประจำเดือน ฮอร์โมนมีการเปลี่ยนแปลงส่งผลถึงอวัยวะสำคัญบางอย่าง ส่วนผู้ที่อายุต่ำกว่า 50 ก็ควรจะตรวจสักครั้ง หากร่างกายปกติดีก็สามารถทิ้งระยะไปสัก 3 - 4 ปีแล้วค่อยตรวจอีกก็ได้ ไม่จำเป็นต้องตรวจทุกปี

อย่างไรก็ตามเพื่อความถูกต้องของการตรวจสุขภาพแต่ละครั้ง การเตรียมตัวก่อนไปก็เป็นสิ่งที่สำคัญ

"หลายครั้งที่พบว่าบางคนก่อนจะไปตรวจสุขภาพแทบจะถือศีล - กินเจ เมื่อมาตรวจจึงพบว่าระดับน้ำตาลปกติ ไขมันปกติ ดีใจก็ไปฉลองไขมันขึ้นมาอีก กลายเป็นความผิดพลาด ความจริงก่อนมาตรวจสุขภาพขอแค่ให้งดน้ำและอาหารวันนั้นมาก็พอ อย่าคุมอะไรมาล่วงหน้า ทำชีวิตเหมือนปกติอย่างที่ทำมาทุกวัน จะได้ผลใกล้เคียงกับความจริง"

แต่คุณหมอก็ยอมรับว่าบางครั้งความผิดพลาดก็มาจากผลในห้องปฏิบัติการ "ความผิดพลาดแบ่งออกเป็นสองแบบ คนไข้ปกติแต่ตรวจออกมาผิดปกติ กลายเป็นว่าต้องมาทำการรักษา ประการที่ 2 คนไข้ผิดปกติ โดยปกติความผิดพลาดนี้เกิดขึ้นเพียง 0.1 เปอร์เซ็นต์ หรือ 10 ในพันคน ซึ่งทางห้องปฏิบัติการให้ความสำคัญอยู่แล้ว โดยเฉพาะหากผลที่ออกมามีความสำคัญต่อชีวิตคนไข้ เช่น การตรวจโรคเอดส์ หากตรวจเจอความผิดปกติของเลือด เป็นเลือดบวก ไม่ว่าจะสันนิษฐานได้ว่าเป็นโรคอะไรหรือไม่ ก็ต้องมีการทำการทดลองซ้ำ เพื่อยืนยันผล"

แต่ก็เป็นสิทธิของคนไข้เช่นกันที่หากพบว่าเจอโรค แต่เจ้าตัวไม่รู้สึกเจ็บปวดอะไร จึงไม่อยากเสียค่าใช้จ่าย ก็ปฏิเสธการรักษาได้

"ขึ้นอยู่กับการใส่ใจ แต่ตรงนี้อยากให้มองว่าหากเป็นโรคอะไรก็แล้วแต่ สิ่งที่ตามมาคือประสิทธิภาพในการดำเนินชีวิต และการทำงานลดลง เราก็สามารถจะก้าวไปสู่จุดสูงขึ้นต่อ ๆ ไปของชีวิตได้ ยิ่งหากเป็นนักธุรกิจที่ความรับผิดชอบสำคัญมาก ต้องดูแลคนอีกหลายชีวิต จำเป็นต้องดูแลตัวเองให้อยู่ได้นานที่สุดค่าตรวจสุขภาพอาจเป็นจำนวนเงินที่ค่อนข้างมาก แต่ถ้าคิดเทียบกับการมีชีวิตที่ดี ความสบายใจเมื่อรู้ว่าตนปราศจากโรคภัยแล้วจะถือว่าถูกมากทีเดียว"

ความเห็นที่ 2 ไม่จำเป็น

นพ. สันต์ หัตถีรัตน์ แพทย์และอาจารย์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ให้คำจำกัดความการตรวจสุขภาพในรูปแบบปัจจุบันว่าเป็นแบบ "เหมาโหล" หรือ "เหมาเข่ง" คือตรวจกันเป็นโขยง ซึ่งทำให้เกิดความผิดพลาดได้ง่าย ผลไม่ตรงเหมือนที่มันควรจะเป็น และแท้จริงแล้วเป็นธุรกิจที่ให้ผลตอบแทนงามแก่โรงพยาบาล ที่ออกแบบโปรแกรมการตรวจสุขภาพตามหลักเกณฑ์ของเพศ อายุ และให้สอดคล้องตามความต้องการส่วนบุคคล

"การศึกษาเมื่อเร็ว ๆ นี้ในอเมริกา ไม่พบอัตราการตายที่แตกต่างกันระหว่างคนที่รับการตรวจสุขภาพ กับคนที่ไม่ตรวจสุขภาพ อีกอย่างก็คือการตรวจสอบสุขภาพโดยผ่านกระบวนการในห้องปฏิบัติการ ไม่ได้บอกคุณเกี่ยวกับสุขภาพที่แท้จริงของคุณ ในหลาย ๆ กรณีก็ทำให้คนป่วยแทนที่จะส่งเสริมสุขภาพ ที่สำคัญคือ…มันเปลืองเงิน"

ในอดีตการตรวจสุขภาพจะเกิดขึ้นก่อนเข้าเรียน ก่อนเข้าทำงานหรือทำกิจกรรมบางอย่าง ซึ่งมีเป้าหมายว่าจะหา "โรค" ที่สถาบันนั้นไม่ยอมรับให้เข้าเรียน เข้าทำงาน หรือทำกิจกรรมนั้น ๆ การตรวจสุขภาพในความหมายนี้จึงเป็นการคัดเลือก หรือกีดกันบุคคลที่เป็นโรคที่สถาบันนั้นไม่ยอมรับ

แต่ปัจจุบัน นพ.สันต์มองว่าจุดประสงค์ดังกล่าวถูกบิดเบือนไปแล้ว การตรวจสุขภาพกายเป็นสิ่งที่ทำกันอย่างพร่ำเพรื่อ แทนที่แพทย์และคนไข้จะมาใช้เวลานั่งพูดคุยกันให้เยอะ ๆ เพื่อจะหารูปแบบพฤติกรรมซึ่งแสดงถึงการเสื่อมลงของสุขภาพ และค้นหาความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดโรค กลับกลายเป็นเน้นการเข้าตรวจสอบในห้องปฏิบัติการ ซึ่งการเข้าตรวจต่าง ๆ นี้เองที่สามารถทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ หรือถ้าโชคร้ายอาจถึงชีวิตได้

"มีตัวอย่างเกิดขึ้นแล้วในโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง คนไข้เข้าตรวจสุขภาพ หาโรคในกระเพาะลำไส้ด้วยเอกซเรย์ ที่มีการกลืน/สวนแป้งแบเรียม ทำให้คนไข้ 4 คน (ถ้ารวมเด็กในท้องด้วยก็เป็น 5 คน) ตายในวันเดียวกันจากพิษของแบเรียม" กรณีนี้เกิดขึ้นจากเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลที่ให้แบเรียมผิดประเภท

การไม่ดูแลควบคุมเป็นสาเหตุหลักให้ผลจากห้องปฏิบัติการผิดพลาดและในทางอื่น ผลที่ออกมาว่าปกติก็ใช่ว่าจะการันตีได้ว่าคุณมีสุขภาพดีแล้ว "เพราะคำว่า อยู่ในเกณฑ์ปกติ ที่ถูกใช้ในแล็บ มีคามหมายว่าคุณสุขภาพดี หรือปราศจากความเจ็บป่วย" นพ.สันต์ ยกตัวอย่างกรณีของ ย.โย่ง นักพากย์กีฬาชื่อดังผู้ล่วงลับ ซึ่งได้เข้ารับการตรวจคลื่นไฟฟ้า และค่าไขมันในเลือด ผลออกมาว่าเขา "ปกติ" คือเหมือนกับคนส่วนใหญ่ แต่ ย.โย่ง ก็เสียชีวิตด้วยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบในไม่กี่เดือนต่อมา

ในทางตรงข้าม ถ้าพูดว่าไม่ปกติ ก็ไม่ได้หมายความว่าเป็นโรค เช่น ผู้หญิงคนหนึ่งสูง 140 เซนติเมตร อีกคนสูง 175 เซนติเมตร ผิดปกติไปจากหญิงไทยคนอื่น ๆ ที่สูง 150 - 160 เซนติเมตร ไม่ได้หมายความว่าทั้งสองเป็นโรค แต่คือคนหนึ่งเตี้ย คนหนึ่งสูงกว่าผู้หญิงส่วนใหญ่เท่านั้นเอง

"นอกจากนั้นยังมี ผลบวกลวก (Falsified Positive) และผลลบลวง (Falsified Negative) เช่นผู้ป่วยโรคเบาหวานมีคดีความแต่ไม่อยากไปศาล อาจหยุดกินยาเบาหวานและกินของหวานมาก ๆ ทำให้น้ำตาลในเลือดสูงมากจนต้องเข้าโรงพยาบาล ไม่ต้องไปศาล หรือผู้ป่วยที่รู้ว่าตัวเองจะไปตรวจสุขภาพ จึงเข้มงวดกับตัวเอง ระวังอาหาร ตรวจแล้วก็ปกติทั้ง ๆ ที่ตนเป็นโรคเบาหวาน (แบบไม่รู้ตัว) อยู่ ทำให้เกิดความประมาท และไม่ระมัดระวังตนเท่าที่ควร ทำให้โรคกำเริบ หรือเกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงได้" คนที่ไปตรวจเลือดและตรวจทางห้องปฏิบัติการจึงต้องตระหนักถึงปัจจัยความผิดพลาดเหล่านี้ก่อนจะวิตกกังวลว่าตัวเอง "เป็นโรค"

ความทุกข์ใจภายหลังการตรวจร่างกายก็ดูจะเป็นสิ่งเลวร้ายพอ ๆ กับโรค ชายชราแข็งแรงวัย 80 คนหนึ่งได้รับยาควบคุมคอเลสเตอรอล หลังจากที่ทดสอบแสดงว่าเขามีระดับคอเลสเตอรอลสูง 270 มิลลิกรัม (คนปกติจะอยู่ในช่วง 150 - 200 มิลลิกรัม) ความทุกข์จากการนอนไม่หลับส่งผลต่อไปยังความเครียด และมีผลกระทบต่อยา เขากลายเป็นคนอ่อนแอและป่วยในที่สุด

การได้รับการดูแลหรือยาที่ไม่จำเป็นก็มีผลต่อสุขภาพ เช่นชายวัย 70 ที่กลายมาเป็นคนป่วยเมื่อได้รับการบอกว่าเป็นมะเร็งที่ต่อมลูกหมาก เขาได้รับการผ่าตัดซึ่งนำมาซึ่งความเจ็บปวดของร่างกาย และความชอกช้ำทางจิตใจ "การเป็นมะเร็งไม่ได้หมายความว่าสุขภาพแย่ หรือจวนจะตายแล้ว เราสามารถเลือกที่จะอยู่กับมะเร็งต่อไปถึง 5 - 10 ปี โดยมีความเจ็บปวดน้อยกว่าเข้ารับการผ่าตัด"

ทั้งนพ.พิเชษฐ์ และนพ.สันต์ เห็นตรงกันว่ามีบางโรคที่เราสามารถจะอยู่กับมันได้ เพราะบางครั้งการรักษาสามารถนำไปสู่โรคแทรกซ้อน และสิ่งอันตรายต่อสุขภาพอื่น ๆ จึงจะดีที่สุดหากปล่อยมันไว้อย่างนั้นก่อนเช่นบางคนสามารถมีนิ่วในถุงน้ำดีได้หลายปี ซึ่งถึงแม้จะรักษาหายได้ในระยะเริ่มต้น แต่นพ.สันต์ชี้ว่ามะเร็งบางชนิดจะไม่เติบโต และบางชนิดไม่อันตราย หากเราไม่ไปปลุกมันให้ตื่น!! การไปยุ่งเกี่ยวกับมันนำไปสู่เนื้องอกที่อันตราย หลายครั้งที่การค้นพบว่าเป็นโรคหนึ่ง ทำให้สุขภาพทรุดจนเกิดอีกโรคหนึ่งได้

"อย่างไรก็ดี ในกรณีที่คน ๆ นั้นยังไม่รู้เดียงสา พิการทางสมอง หรืออื่น ๆ ซึ่งไม่สามารถตรวจสอบตนเองได้ การตรวจสุขภาพโดยผู้อื่น เช่น แพทย์ พยาบาลก็มีความจำเป็น แพทย์สามารถช่วยวินิจฉัยและติดตามการเจริญเติบโตของเด็กทั้งในด้านร่างกาย สติปัญญา อารมณ์ เพื่อช่วยแนะนำพ่อแม่ให้เลี้ยงดูเขาได้อย่างถูกต้อง คนที่กำลังจะแต่งงาน เริ่มต้นครอบครัวก็ต้องการการตรวจสุขภาพ เพื่อหาโรคทางเพศ หรือปัญหาทางพันธุกรรมซึ่งสามารถผ่านไปยังเด็ก ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต คนที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคบางชนิด เช่น มะเร็งเต้านม ก็ควรจะไปตรวจเป็นประจำ"

ในความหมายของนพ.สันต์คือ ไม่จำเป็นต้องตรวจโรคทุกชนิดเป็นโปรแกรมยาวเหยียด เพราะทั้งแพง ทั้งไม่มีประโยชน์ เลือกตรวจบางโรค และไปตรวจเมื่อเกิดอาการเจ็บป่วยจะได้รับประโยชน์มากกว่า

ความจริงก็คือการตรวจสุขภาพที่แท้จริงเริ่มต้นที่คนไข้ และการดูแลต่าง นั้นไม่ได้หมายถึงเฉพาะโรคทางกาย แต่ยังหมายถึงโรคทางใจ และโรคทางสังคมด้วย ตามที่องค์การอนามัยโลกได้ให้คำจำกัด ความของคำว่า สุขภาพ หรือสุขภาวะ ว่าหมายถึงภาวะแห่งความสุขอันสมบูรณ์ ทั้งร่างกาย ทางจิต (วิญญาณ) ทางใจ และทางสังคม จะมีความสุขได้จึงต้องสร้างความสมดุลของปัจจัยทั้ง 4 การตรวจ "หาโรค" แต่เพียงอย่างเดียวจึงดูจะมิใช่สิ่งที่เพียงพอ

"ไม่มีใครตัดสินใจแทนคนไข้ได้ถ้าเขายังมีความสุขและสุขภาพยังดี นอนหลับได้ตามปกติ กินในปริมาณที่พอดี ถึงแม้จะมีโรคแต่ตราบเท่าที่คุณยังรู้สึกสบาย การทำงานของอวัยวะยังเป็นไปตามหน้าที่ที่ควรของมัน และคุณสามารถดำเนินชีวิตอย่างเป็นสุขร่วมกับผู้อื่น และสิ่งแวดล้อมในครอบครัว คุณก็คือคนสุขภาพดี ไม่มีใครสามารถพูดเป็นอย่างอื่นได้ ร่างกายของเราจะบอกเองว่ามันต้องการอะไร และอะไรที่ไม่ต้องการ หากเพียงเราฟังและทำไปตามสัญญาณที่ส่งออกมานั้น ถ้าการทานอาหารรสจัดทำให้คุณรู้สึกร้อนก็หยุดมันเสีย ถ้าไอตอนสูบบุหรี่ก็ต้องหยุดสูบ เพราะร่างกายเราไม่ต้องการมัน ง่าย ๆ เท่านั้นเอง"

อันที่จริง คนส่วนใหญ่เองก็ทราบดีว่าอะไรที่ดี และอะไรที่ไม่ดีต่อสุขภาพ เช่น ควรจะออกกังกาย ทานผักผลไม้เยอะ ๆ ไม่ควรสูบบุหรี่ เรารู้ว่าเอาตัวเข้าไปยุ่งกับพฤติกรรมเสี่ยงอะไรบ้าง

การตรวจสอบสุขภาพที่ถูกต้องจึงควรเป็นการตรวจสุขภาพด้วยตนเอง เช่น ถ้าคุณต้องอยู่ในที่เสียงดังทุก ๆ วัน ก็ลองเอานาฬิกาทาบที่หูทุก ๆ วันเหมือนกัน ฟังดูสิว่ามันเบาลงรึเปล่า ต้องเอาชิดแค่ไหนถึงจะได้ยินเสียงดังเท่าเดิม นพ.สันต์แนะนำว่า การเขียนบันทึกลงในสมุดสุขภาพ (Health Diary) ก็เป็นสิ่งที่ช่วยได้มาก เพราะจะเป็นการบันทึกให้เห็นถึงปัจจัยเสี่ยง และพฤติกรรมเสี่ยงต่าง ๆ ที่จะส่งผลอันตรายต่อสุขภาพ จะได้กำจัดหรือหลีกเลี่ยงเสียก่อนที่จะเป็นอันตราย หรือหากเกิดความเจ็บป่วยใด ๆ ขึ้นมาจริง ๆ ก็จะช่วยให้แพทย์วินิจฉัยได้อย่างแม่นยำ

"ที่สำคัญการรักษาสุขภาพด้วยตนเองจะช่วยประหยัดเงิน เวลา เลือด และความมั่นคงในจิตใจของคุณ"

ตริตรองก่อนเลือก

ในสองความเห็นมีความแตกต่างกันอยู่หลายประการ แต่ก็มีอย่างหนึ่งที่เห็นตรงกันคือสุดท้ายก็คือสิทธิของคนไข้เองว่าจะเลือกดูแลตนเองเช่นไร

เมื่อสุขภาพ คือภาวะแห่งความสุข จะ "ตรวจ" หรือ "ไม่ตรวจ" ก็คิดพิจารณากันเองนะคะว่าหนทางใดที่ทำให้คุณ Feel Good มีความสุขมีชีวิตที่อภิรมย์ที่สุด





Create Date : 08 สิงหาคม 2551
Last Update : 8 สิงหาคม 2551 15:28:40 น. 0 comments
Counter : 493 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

นากาชิม่า
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Tried to take a picture
Of love
Didn't think I'd miss her
That much
I want to fill this new frame
But it's empty

Tried to write a letter
In ink
It's been getting better
I think
I got a piece of paper
But it's empty
It's empty

Maybe we're trying
Trying too hard
Maybe we're torn apart
Maybe the timing
Is beating our hearts
We're empty

And I even wonder
If we
Should be getting under
These sheets
We could lie in this bed
But it's empty
It's empty
Friends' blogs
[Add นากาชิม่า's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.