เลขเด็ด เลขดัง กาน้อย

ติดตามข้อมูลเว็บทาง Google+ กด
FaceBook สาว ๆ เซ็กซี่

“ก้มหน้ายกครัว” ปรากฏการณ์สังคมใหม่ เมื่อ “คนไทย” อดทนต่อความเงียบน้อยลง


“ก้มหน้ายกครัว” ปรากฏการณ์สังคมใหม่ เมื่อ “คนไทย” อดทนต่อความเงียบน้อยลง
โดย...สิรวุฒิ รวีไชยวัฒน์

“ถ่าย-อัป-แชร์” แม้จะไม่ใช่เรื่องใหม่ในสังคมไทย แต่ต้องยอมรับว่า เป็นปรากฏการณ์ที่มาแรงแซงโค้งในปี 2557 เลยทีเดียว เพราะเพียงแค่ถ่ายแล้วโพสต์ภาพ หรือคลิปไปยังสังคมออนไลน์แล้วเกิดไปถูกใจชาวเน็ต จนมีการแชร์หรือส่งต่อจำนวนมาก ก็ทำให้บุคคลในภาพ หรือในคลิปโด่งดังกลายเป็น “ทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์” ภายในชั่วข้ามคืน หรือบางเรื่องราวกลายเป็นเบาะแสนำไปสู่การสืบสวนสอบสวน หรือแก้ปัญหาในประเด็นต่างๆ ต่อไป

ส่วนความดังที่เกิดขึ้นจะดังในทางที่ดี อย่างกรณี “เคธี” ที่พากย์เสียงเลียนแบบซีรีส์เกาหลี และหนังจีนได้หลายเสียง จนนำไปสู่การทำงานลงเสียงพากย์ในที่สุด หรือถูกสังคมประณามอย่างกรณีคลิป “บอกรักผัว ไม่นอกใจด้วย” ก็ขึ้นอยู่กับว่าจะเลือกประเด็นอะไรในการโพสต์ออกไป สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าคนทั่วไปในสังคมกลายเป็นสื่อได้ทุกที่ ทุกขณะ แต่ความรับผิดชอบต่อการเป็นสื่อหรือใช้นั้นมีมากน้อยเพียงไร

ดร.ธาม เชื้อสถาปนาศิริ นักวิชาการด้านสื่อ อธิบายถึงเรื่องนี้ว่า อยู่ที่ความรู้เท่าทันสื่อของแต่ละบุคคล ซึ่งระดับการรู้เท่าทันนั้นมีอยู่ 7 ระดับ แบ่งเป็น 1.สามารถเข้าถึงสื่อที่เราต้องการได้ ซึ่งคนไทยสามารถทำได้ไม่ว่าจะเป็นเข้าถึงเพื่อการศึกษา ความบันเทิง ชุมชน พาณิชย์ 2.วิเคราะห์สื่อได้ 3.ประมวลผล คุณค่า ดีหรือเลวได้ 4.ทักษะผลิตสื่อเป็น ซึ่งทักษะนี้คนไทยมีเยอะ และตื่นตัวมากที่สุด เพราะสามารถผลิตสื่อวีดิโอ ไวรัลคลิป เขียนบล็อกได้ จากการเข้าถึงเทคโนโลยีที่มากขึ้นจนใครก็สามารถเป็นนักข่าวพลเมือง หรือนักเขียนได้ 5.วิพากษ์วิจารณ์ คนไทยขณะนี้เน้นการวิจารณ์ซึ่งเป็นการใช้อารมณ์เยอะขึ้น ใช้ความรู้สึกส่วนตัวมาตัดสินใจ ชอบไม่ชอบ ดีไม่ดี แต่การวิพากษ์ยังมีน้อย ที่จะนำทฤษฎีมาตั้งคำถามถึงสื่อในมุมเชิงวิชาการ 6.สามารถเฝ้าระวังตรวจสอบสื่อได้ ระดับนี้น้อยมาก มีเพียงมีเดียมอนิเตอร์เท่านั้นที่ทำหน้าที่ หรือกรณีนักสืบพันทิพ และ 7.การรวมตัวบอยคอต เช่น แบนละคร หรือกลุ่มรณรงค์ยุติฉากข่มขืนละคร เป็นต้น

“เรียกได้ว่าคนไทยเข้าไปทำในทุกกิจกรรมที่รู้เท่าทันสื่อ แต่ระดับความเข้มข้นแข็งแรงยังน้อยมาก ไม่ได้มีการส่งเสริมอย่างจริงจัง ขณะที่การสอนเรื่องการรู้เท่าทันสื่อยังมีเพียงในระดับอุดมศึกษาด้านนิเทศศาสตร์เท่านั้น จึงมองว่าควรที่จะบรรจุเรื่องวิชารู้เท่าทันสื่อลงไปในหลักสูตรการเรียนการสอน ตั้งแต่ระดับอนุบาลเลยด้วยซ้ำ เพราะทุกวันนี้สื่อออนไลน์มีมาก และขยายตัวเข้าไปถึงเด็กในระดับนี้แล้ว จำเป็นที่จะต้องติดตั้งภูมิคุ้มกันด้านสื่อให้ตั้งแต่เด็ก”

       สอดคล้องต่อข้อมูลของจิตแพทย์หนุ่มด้านเด็กและสื่อ อย่าง นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ จิตแพทย์ประจำกรมสุขภาพจิต ที่ระบุว่า แนวโน้มการใช้สื่อออนไลน์ รวมถึงโซเชียลมีเดียเพิ่มมากขึ้นทุกปี โดยรวมเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา การใช้โปรแกรมโซเชียลมีเดีย หรือแอปพลิเคชันที่ใช้ส่งข้อความ เช่น ไลน์ ปีหนึ่งๆ เติบโตขึ้นมากกว่า 100% โดยคาดกันว่าจำนวนผู้ใช้ในกลุ่มเด็ก และวัยรุ่นยังคงเติบโตเช่นเดิม

แต่ที่แตกต่างออกไปนั้น นพ.วรตม์ บอกว่า กลุ่มเป้าหมายที่จะถูกรุกคืบให้ใช้สื่อสังคมออนไลน์มากขึ้นกลับเป็นกลุ่มวัยกลางคน และผู้สูงอายุมากกว่า ทั้งนี้ นอกจากปัญหาการรู้เท่าทันสื่อแล้ว นพ.วรตม์ ยังแสดงความเป็นห่วงในเรื่องการเสพติดสื่อที่มากเกินไปด้วย

“อย่างอดีตเราจะพบแต่ปัญหาเด็กติดเกม ติดสื่อออนไลน์ฝ่ายเดียว ผู้ใหญ่ต้องคอยเรียกเตือนให้หันไปทำอย่างอื่นบ้าง แต่เมื่อผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุต่างก็หันมาใช้สื่อออนไลน์ โซเชียลมีเดียด้วยเช่นกัน ปัญหาการเสพติดสื่อจึงไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะเพียงแต่เด็กเท่านั้น โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่บางทีค่อนข้างมีเวลามากกว่าวัยอื่น ก็อาจทำให้มีแนวโน้มติดโซเชียลมีเดียได้ง่าย คราวนี้เมื่อทั้งเด็ก และผู้ใหญ่ต่างติดสื่อโซเชียลมีเดีย ก็กลายเป็นสังคมก้มหน้าทั้งครอบครัว ไม่มีใครคอยเตือนกัน ซึ่งปรากฏการณ์เช่นนี้จะเกิดมากยิ่งขึ้น ครอบครัวเกิดการคุยกันน้อยลง เพราะคนที่ควรคุมกติกาเองกลับไม่สามารถทำได้เช่นกัน”

       การแก้ปัญหานั้นจึงต้องมองตัวเองเป็นสำคัญ โดย นพ.วรตม์ แนะทางออกว่า ต้องช่วยกันมองว่าตัวเองมีปัญหาการเสพติดสื่อออนไลน์หรือไม่ และต้องมองคนรุ่นอื่นๆ ด้วย ถ้ามีปัญหาต้องคอยเตือนตนเอง และหันมาใช้เวลาร่วมกันในครอบครัวมากขึ้น ซึ่งเรื่องนี้สามารถแก้ไขได้ในระดับครอบครัว โดยใช้เวลาว่างร่วมกัน เช่น ไปรับประทานข้าวด้วยกันนอกบ้าน ไปดูหนัง ออกกำลังกาย หรือทำกิจกรรมต่างๆ รวมกัน รวมถึงอาจมีการวางกฎกติกาในบ้านด้วย เช่น ถ้ามีคนอยู่ในบ้านมากกว่า 1 คน ห้ามใช้โซเชียลมีเดีย แต่ให้พูดคุยต่อกัน เป็นต้น

       “ที่น่าห่วงคือ ยิ่งมีการใช้สื่อออนไลน์เยอะไม่ได้เป็นการสื่อสารแบบต่อหน้า ก็จะทำให้ศักยภาพในการสื่อสารในชีวิตลดลง ทักษะการเข้าสังคมก็น้อยลงด้วย บางคนเข้าใจว่าการสื่อสารในโซเชียลมีเดียไม่ต่างจากชีวิตจริง ความจริงแล้วไม่ใช่ เพราะในโซเชียลมีเดียไม่ใช่การสื่อสารทันที แต่ผ่านการคิดพิจารณา หรือประดิดประดอยคำมาก่อนแล้วจึงค่อยโพสต์ หรือตอบโต้ แต่การพูดในชีวิตจริงที่จะต้องมีการต่อรอง หรือสบตาโต้ตอบนั้นทำได้ช้าลง เรียกได้ว่าไหวพริบน้อยลง รวมถึงยังไม่สามารถฝึกการวางท่าทีในสังคมได้ด้วย”

       อย่างไรก็ตาม การมีเวลาให้คิด และประดิษฐ์คำพูดจะช่วยให้เกิดความรอบคอบในการสื่อสารมากขึ้น แต่ นพ.วรตม์ มองว่า มันเป็นการสื่อสารคนละแบบ อย่างการสื่อสารแบบต่อหน้า ยิ่งสมองทำงานเร็ว คิดเร็ว ตอบโต้ได้เร็วถือเป็นสิ่งที่จำเป็น และสำคัญต่อการเข้าสังคม เรียกว่าเป็นคนที่มีไหวพริบ รู้จักว่าควรที่จะตอบโต้อย่างไรถึงจะดี แต่การพิมพ์ข้อความเพื่อตอบโต้ หรือโพสต์ข้อความนั้นก็ไม่ต่างอะไรจากการเขียนจดหมาย หรือทิ้งข้อความไว้เหมือนสมัยก่อน ซึ่งก่อนที่จะเขียนก็ต้องผ่านการคิดพิจารณาให้รอบคอบก่อน ซึ่งรูปแบบการสื่อสารมันก็ต่างกัน

ปรากฏการณ์อีกสิ่งหนึ่งที่จะเกิดมากขึ้นจากแนวโน้มการใช้สื่อโซเชียลมีเดียนั้น นพ.วรตม์ อธิบายว่า สิ่งนั้นคือ ปรากฏการณ์ในการทนต่อความเงียบได้น้อยลง อย่างเมื่อก่อนที่จะมีโซเชียลมีเดีย เมื่อเวลาคุยกันไปจนถึงจุดหนึ่งจะเกิดภาวะเงียบที่ต่างคนต่างไม่รู้ว่าจะพูดอะไร และเกิดความอึดอัดขึ้น ต่างคนก็จะพยายามหาเรื่องราวมาสนทนากันต่อ แต่สมัยนี้ไม่เป็นเช่นนั้น ความอดทนต่อความเงียบต่ำลง ไม่หาประเด็นเรื่องราวมาชวนคุย แต่กลับควักโทรศัพท์มือถือออกมากดแทน หันไปเช็กข่าว หรือข้อมูลในสังคมออนไลน์แทนที่จะหาเรื่องมาพูดคุยกันต่อ

       จากปรากฏการณ์คลิปเด่น คลิปดัง คลิปฉาว คลิปเกรียน ที่กลายเป็นกระแสขึ้นมาในสังคม สะท้อนว่า เด็กไทยยังไร้ภูมิคุ้มกันต่อการใช้สื่ออย่างรู้เท่าทัน จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะปรากฏคลิปนักเรียนตบกัน บอกรักผัว โชว์นม ขายเรือนร่างกันแบบรายวัน ท่ามกลางการใช้สื่อสังคมออนไลน์ที่เพิ่มมากขึ้น ทุกคนใช้สื่อได้ แต่ใช้เป็นอย่างมีสติ และรู้เท่าทันหรือไม่ นี่คือคำตอบสำคัญที่การปฏิรูปการศึกษาต้องนำไปขบคิดด้วย...

//www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9580000000639



Create Date : 04 มกราคม 2558
Last Update : 4 มกราคม 2558 15:15:27 น. 0 comments
Counter : 1114 Pageviews.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิกช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

karnoi
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 57 คน [?]




เลขเด็ด เลขดัง กาน้อย






ติดตามข้อมูลของเว็บทาง twitter ได้ที่ @karnoi กด
ติดตามข้อมูลเว็บทาง FaceBook กด







Online Users


[Add karnoi's blog to your web]