ยาเขียว ยาไทยใช้ได้ทั้งผู้ใหญ่และเด็ก
ชุมชนใจอาสา 2022 Ep22


ยาเขียว ยาไทยใช้ได้ทั้งผู้ใหญ่และเด็ก…
 

 
ยาเขียวเป็นตำรับยาไทย ตามองค์ความรู้ของแพทย์แผนไทย หรือหมอพื้นบ้าน ที่มีการใช้กันมานานหลายทศวรรษ และเป็นตำรับที่ยังมีการผลิตขายทั่วไปตราบจนปัจจุบัน ประชาชนทั่วไปในสมัยก่อนจะรู้จักวิธีการใช้ยาเขียวเป็นอย่างดี กล่าวคือ มักใช้ยาเขียวในเด็กที่เป็นไข้ออกผื่น เช่น หัด อีสุกอีใส เพื่อกระทุ้งให้พิษไข้ออกมา เป็นผื่นเพิ่มขึ้น และหายได้เร็ว

ตำรับยาเขียวส่วนใหญ่มีสรรพคุณ ดับความร้อนของเลือดที่เป็นพิษ หมายถึงการที่เลือดมีพิษและความร้อนสูงมากจนต้องระบายทางผิวหนัง เป็นผลให้ผิวหนังเป็นผื่น หรือ ตุ่ม เช่นที่พบในไข้ออกผื่น หัด อีสุกอีใส เป็นต้น

ตำรับยาเขียวที่พบในคัมภีร์แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์มีบันทึกไว้ 3 ตำรับ ได้แก่ ยาเขียวมหาพรหม ยาเขียวน้อย ยาเขียวประทานพิษ และ ตำรับยาเขียวหอม ที่ได้รับการบรรจุในบัญชียาสามัญประจำบ้านแผนโบราณตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2556

ยาเขียวหอม ที่บรรจุอยู่ในบัญชียาสามัญประจำบ้านแผนโบราณ พ.ศ.๒๕๕๖ ประกอบด้วย ใบพิมเสน ใบผักกระโฉม ใบหมากผู้ ใบหมากเมีย ซึ่งมีรสเย็น แก้ไข้ ตัวยาเย็นอื่นๆ ที่มิใช่ส่วนของใบ ได้แก่ รากแฝกหอม มหาสดำ ดอกพิกุล สารภี เกสรบัวหลวง ว่านกีบแรด เนระพูสี ตัวยาแก้ไข้ที่มีรสขม ได้แก่ จันทน์แดง พิษนาศน์ เนื่องจากยาไทยเป็นยารักษาโดยองค์รวม



การใช้ยาเขียวหอม บรรเทาอาการไข้ ร้อนในกระหายน้ำ ควรใช้น้ำกระสายยา เพื่อช่วยละลายตัวยา ทำให้ยาออกฤทธิ์เร็วขึ้น เช่น น้ำสุกหรือน้ำดอกมะลิเป็นน้ำกระสาย เพื่อให้ยาออกฤทธิ์แรงขึ้น ด้วยเหตุว่าน้ำดอกมะลิ มีรสหอมเย็น ช่วยเสริมฤทธิ์ของยาตำรับ

ยาเขียวยังใช้เป็นยาแก้ไข้ออกผื่น เช่น หัด อีสุกอีใส ซึ่งมีสาเหตุมาจากการติดเชื้อไวรัส ทั้งวิธีกินและทา โดยละลายยา ด้วยน้ำรากผักชีต้ม
 
ในปี 2548 มีการศึกษาฤทธิ์ของยาเขียวที่มีในท้องตลาด 3 ชนิด ในการยับยั้งเชื้อไวรัส varicella zoster ที่เป็นสาเหตุของโรคอีสุก อีใส และงูสวัด ซึ่งผลปรากฏว่า ยาเขียวทั้ง 3 ชนิดไม่แสดงฤทธิ์ดังกล่าว1 อันที่จริงการใช้ยาเขียวในโรคไข้ออกผื่นในแผนไทย ไม่ได้มีจุดประสงค์ในการยับยั้งเชื้อไวรัส แต่ต้องการกระทุ้งพิษที่เกิดขึ้นให้ออกมามากที่สุด ผู้ป่วยจะหายได้เร็วขึ้น ผื่นไม่หลบใน หมายถึงไม่เกิดผื่นภายใน

เนื่องจากตำรับมีองค์ประกอบเป็นดอกไม้ 4 ชนิด ได้แก่ พิกุล บุนนาค สารภี เกสรบัวหลวง ซึ่งมีละอองเรณูผสมอยู่ ดังนั้น จึงหลีกเลี่ยงในผู้ที่มีประวัติการแพ้ละอองเกสรดอกไม้


 
ยาเขียวหอม3
 
ในผงยา 90 กรัม ประกอบด้วย ใบพิมเสน ใบผักกระโฉม ใบหมากผู้หมากเมีย ใบสันพร้าหอม รากแฝกหอม หัวเปราะหอม แก่นจันทน์เทศหรือแก่นจันทน์ชะมด แก่นจันทน์แดง ว่านกีบแรด ว่านร่อนทอง เนระพูสี พิษนาศน์ มหาสดำ ดอกพิกุล ดอกบุนนาค ดอกสารภี เกสรบัวหลวง หนักสิ่งละ 5 กรัม

ข้อบ่งใช้
  1. บรรเทาอาการไข้ ร้อนในกระหายน้ำ
  2. แก้พิษหัด พิษอีสุกอีใส (บรรเทาอาการไข้จากหัดและอีสุกอีใส)
 
ขนาดและวิธีใช้  ผู้ใหญ่ รับประทานครั้งละ 1 กรัม ละลายน้ำกระสายยา ทุก 4 – 6 ชั่วโมง เมื่อมีอาการ  เด็ก อายุ 6 – 12 ปี ครั้งละ 500 มิลลิกรัม ละลายน้ำกระสายยา ทุก 4 – 6 ชั่วโมง เมื่อมีอาการ
 
น้ำกระสายยาที่ใช้
  • กรณีบรรเทาอาการไข้ ร้อนในกระหายน้ำ ใช้น้ำสุก หรือน้ำดอกมะลิ เป็นน้ำกระสายยา
  • กรณีแก้พิษหัด พิษอีสุกอีใส ละลายน้ำรากผักชีต้ม เป็นน้ำกระสายยาทั้งรับประทาน และชโลม
 
หมายเหตุการชโลมใช้ยาผงละลายน้ำ 1 ต่อ 3 แล้วชโลม (ประพรม) ทั่วตามตัวบริเวณที่ตุ่มใสยังไม่แตก
 
ชนิดเม็ด
ผู้ใหญ่ รับประทานครั้งละ 1 กรัม ทุก 4 – 6 ชั่วโมง เมื่อมีอาการ
เด็ก อายุ 6 - 12 ปี รับประทานครั้งละ 500 มิลลิกรัม ทุก 4 – 6 ชั่วโมง เมื่อมีอาการ
 
ข้อควรระวัง
  • ควรระวังการใช้ยาในผู้ป่วยที่แพ้ละอองเกสรดอกไม้
  • ไม่แนะนำให้ใช้ในผู้ที่สงสัยว่าเป็นไข้เลือดออก เนื่องจากอาจบดบังอาการของไข้เลือดออก
  • หากใช้ยาเป็นเวลานานเกิน ๓ วัน แล้วอาการไม่ดีขึ้น ควรปรึกษาแพทย์
 
ข้อมูลเพิ่มเติม ทางการแพทย์แผนไทย แนะนำให้ผู้ป่วยหัด อีสุกอีใส ห้ามรับประทานอาหารทะเล ไข่ และน้ำเย็น เนื่องจากผิดสำแดง
 
 
อ่านบทความเต็ม :  รองศาสตราจารย์ รุ่งระวี เต็มศิริฤกษ์กุล
ภาควิชาเภสัชพฤกษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
https://pharmacy.mahidol.ac.th/th/knowledge/article/ยาเขียว/


บทความที่เกี่ยวข้อง /ที่มาของรูปภาพ :
https://www.samunpri.com/traditionalmedicine/ยาเขียว ยาสามัญประจำบ้าน/



Create Date : 07 เมษายน 2565
Last Update : 24 ตุลาคม 2565 7:42:10 น.
Counter : 833 Pageviews.

0 comments
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

idea4thai
Location :
ปทุมธานี  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 41 คน [?]



ความคิดสร้างสรรค์ เพื่อเยาวชนและชุมชมไทย

All Blog