การเลือกเพศบุตร

บลาสโตซีสท์เพื่อการเลือกเพศ
สำหรับผู้ป่วยที่มีบุตรยาก การเพาะเลี้ยงตัวอ่อนระยะบลาสโตซีสท์ เป็นการรักษาภาวะมีบุตรยากที่ก้าวหน้ามากที่สุดในปัจจุบัน ซึ่งเกี่ยวข้องกับการปฏิสนธิของไข่และอสุจิภายนอกร่างกาย และเพาะเลี้ยงตัวอ่อนเป็นเวลา 5 ถึง 6 วันจนกว่าตัวอ่อนจะเติบโตถึงระยะบลาสโตซีสท์ ซึ่งเป็นระยะสุดท้ายของตัวอ่อนที่พร้อมที่จะฝังตัวในผนังมดลูกและเป็นการตั้งครรภ์
ตัวอ่อนที่ดีที่สุดจะถูกเลือกและย้ายกลับเข้าสู่โพรงมดลูก หลังจากที่ได้รับการวิเคราะห์ความผิดปกติของโครโมโซม (Preimplantation Genetic Diagnosis: PGD) เพื่อให้แน่ใจว่าตัวอ่อนจะมีโครโมโซมปกติ (โครโมโซมคู่ที่ 13,18,21, XY) ก่อนการปลูกฝังไว้ในมดลูก นอกจากนี้การเลือกเพศของตัวอ่อนเป็นเพศหญิงยังลดภัยคุกคามของโรคฮีโมฟีเลียในทารกแรกเกิด
การตรวจ PGD
PGD เป็นเครื่องมือทดสอบและจำกัดโรคทางพันธุกรรม ที่ช่วยในการวิเคราะห์และตรวจสอบความผิดปกติของตัวอ่อนในรายที่มีความเสี่ยงสูงสำหรับความผิดปกติทางพันธุกรรม ก่อนที่จะนำเฉพาะตัวอ่อนที่มีสุขภาพดีปราศจากโครโมโซมผิดปกติใส่กลับไปที่มดลูก ฮีโมฟีเลีย (โรคเลือดออกไม่หยุด) เป็นหนึ่งในความผิดปกติที่สามารถคัดกรองได้โดยใช้เทคนิค PGD นอกเหนือจากความผิดปกติที่พบได้บ่อย เช่น Down syndrome เป็นต้น
1) 8-10 เซลล์ที่นำออกมาจากบลาสโตซีสท์จะใช้ในการทดสอบโครโมโซม
2) ในห้องปฏิบัติการจะทำการตรวจสอบเพศของตัวอ่อน เพื่อคัดกรองโรคเช่น ฮีโมฟีเลีย, Tuner’s Syndrome
3) ตัวอ่อนยังมีการทดสอบความผิดปกติของโครโมโซมอื่นๆ เช่น ดาวน์ซินโดรม เอ็ดเวิร์ดซินโดรม และพาธาวซินโดรม ซึ่งทารกที่เป็นโรคนี้จะมีความพิการทางสมอง
4) ผลลัพธ์จะได้รับภายใน 24-48 ชั่วโมงหลังจากตรวจเซลล์
5) ตัวอ่อนที่พบว่าไม่มีความผิดปกติของจะถูกใส่กลับคืนสู่โพรงมดลูก




 

Create Date : 03 พฤษภาคม 2554    
Last Update : 3 พฤษภาคม 2554 11:45:16 น.
Counter : 1173 Pageviews.  

การตั้งครรภ์เกิดขึ้นได้อย่างไร

ระบบสืบพันธุ์เพศหญิง

ระบบสืบพันธุ์ของเพศหญิงนั้นประกอบไปด้วยอวัยวะต่างๆทำงานสัมพันธ์กัน เปรียบเสมือนถนนที่นำพาอสุจิของฝ่ายชายไปพบกับไข่ที่ท่อนำไข่ และพาตัวอ่อนที่ปฏิสนธิแล้วกลับมาฝังตัวในโพรงมดลูก รังไข่จะทำหน้าที่ควบคุมการตกไข่ในแต่ละเดือนให้สัมพันธ์กับช่วงเวลาที่โพรงมดลูกมีสภาพพร้อมที่จะรับการฝังตัวของตัวอ่อน แต่ถ้าหากไม่มีการปฏิสนธิเกิดขึ้น ก็จะมีการเปลี่ยนแปลงเพื่อเข้าสู่จุดเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง
อวัยวะในระบบสืบพันธุ์เพศหญิงนั้นสามารถแบ่งคร่าวๆออกเป็นสองกลุ่มใหญ่ๆ คือ ระบบสืบพันธุ์ภายนอกและระบบสืบพันธุ์ภายใน อวัยวะสืบพันธุ์ภายในอันดับแรกได้แก่ช่องคลอด ปากมดลูกคือส่วนที่ต่อระหว่างมดลูกกับช่องคลอด เซลล์ที่อยู่รอบๆรูเปิดของปากมดลูกจะทำหน้าที่สร้างมูกปากมดลูกออกมา เมื่อไข่ตกในช่วงกลางของรอบเดือน จะมีการเปลี่ยนแปลงเป็นมูกใสๆเพื่อจะทำให้อสุจิสามารถว่ายผ่านเข้าไปได้ มดลูกเป็นอวัยวะที่เป็นโพรงกลวงข้างใน มีรูปร่างคล้ายผลชมพู่ ในช่วงแรกของการมีรอบเดือนฮอร์โมน Estrogen (เอสโตรเจน) จะทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกหนาขึ้นพร้อมกับที่รังไข่จะทำการผลิตไข่ และมีการตกไข่ออกมาในช่วงกลางของรอบเดือน ในช่วงก่อนไข่ตกเล็กน้อยฮอร์โมน Progesterone (โปรเจสเตอโรน) จะทำหน้าที่ต่อโดยเตรียมสภาพเยื่อบุโพรงมดลูกให้พร้อมสำหรับการตั้งครรภ์ แต่ถ้าหากไม่มีการปฏิสนธิเกิดขึ้นระดับฮอร์โมนต่างๆจะลดต่ำลงมากที่สุดและเยื่อบุโพรงมดลูกจะลอกตัวออกมาเป็นเลือดประจำเดือน ท่อนำไข่มีอยู่สองข้างซึ่งเป็นส่วนที่ต่อมาจากมดลูก ปลายของท่อจะอยู่ใกล้กับรังไข่ ซึ่งส่วนปลายจะมีลักษณะบานออกคล้ายกับปากแตร ซึ่งจะเป็นส่วนที่ช่วยให้ท่อนำไข่สามารถไปจับไข่ได้ง่ายขึ้น และนำไข่เข้ามาในท่อนำไข่เพื่อรอการปฏิสนธิจากอสุจิได้ รังไข่มีลักษณะกลมรี มีอยู่สองข้างของมดลูก ในแต่ละเดือนจะสามารถผลิตไข่ที่สมบูรณ์ได้เดือนละหนึ่งใบ และจะมีไข่ตกจากรังไข่ข้างใดข้างหนึ่ง นอกจากนี้รังไข่ยังช่วยผลิตฮอร์โมนหลายชนิดที่ช่วยในการตั้งครรภ์อีกด้วย

ระบบสืบพันธุ์เพศชาย

กายวิภาคและการทำงานของระบบสืบพันธุ์เพศชายนั้นเป็นกระบวนการที่พัฒนาไปอย่างเป็นระบบง่ายๆ ไม่ซับซ้อนมากเหมือนอย่างในเพศหญิง เริ่มตั้งแต่การสร้างเซลล์อสุจิที่ลูกอัณฑะและการเก็บตัวอสุจิเพื่อการพัฒนาคุณภาพของอสุจิ จนกระทั่งมีการหลั่งอสุจิออกมาสู่ช่องคลอดของฝ่ายหญิง ในบทนี้จะได้กล่าวถึงกระบวนการนั้นโดยละเอียด
อวัยวะสืบพันธุ์เพศชายประกอบด้วย อัณฑะ องคชาติ ท่อและต่อมต่างๆ อัณฑะมีรูปร่างคล้ายรูปทรงไข่ มีสองข้างอยู่ในถุงอัณฑะ ทำหน้าที่สร้างเซลล์อสุจิและฮอร์โมน Testosterone (เทสโทสเตอโรน) อสุจินั้นเป็นเซลล์ที่ได้รับการออกแบบมาเป็นพิเศษเพื่อให้มีการเคลื่อนไหวได้เป็นอย่างดี เนื่องจากมีหน้าที่ในการนำพาสารพันธุกรรมของเพศชายในรูปของโครโมโซม ออกมาจากโรงงานผลิตซึ่งก็คืออัณฑะไปสู่ช่องคลอดของฝ่ายหญิงเพื่อให้เกิดการปฏิสนธิกับเซลล์สืบพันธุ์เพศหญิงหรือไข่นั่นเอง ตัวอสุจิประกอบด้วยส่วนสำคัญสามส่วนคือส่วนหัว ซึ่งเป็นบริเวณที่มีสารพันธุกรรมเพศชายหรือโครโมโซมบรรจุอยู่ ส่วนตัวอสุจินั้นจะเป็นที่เก็บพลังงานเพื่อใช้ในการเคลื่อนไหว และส่วนหางของอสุจิซึ่งช่วยให้สามารถเคลื่อนไหวหรือว่ายไปข้างหน้าได้

การปฏิสนธิและการเดินทางของตัวอ่อน

การปฏิสนธิของเซลล์ไข่และอสุจินั้นถือว่าเป็นกุญแจสำคัญไปสู่การตั้งครรภ์ แต่การตั้งครรภ์จะเกิดขึ้นได้ก็ต้องอาศัยปัจจัยต่างๆทำงานร่วมกัน เริ่มตั้งแต่อสุจิต้องว่ายผ่านช่องคลอดเข้ามา ผ่านปากมดลูกที่จะทำการคัดกรองอสุจิ เมื่อได้รับอนุญาตให้ผ่านเข้ามาได้ก็ยังจะต้องเดินทางเข้าไปอีกเป็นระยะทางยาวไกลจากโพรงมดลูกไปสู่ท่อนำไข่ หากประสบความสำเร็จสามารถเดินทางไปพบกับไข่และปฏิสนธิได้ ตัวอ่อนก็จะต้องเดินทางย้อนทางเดินของอสุจิออกมาสู่โพรงมดลูกเพื่อที่จะทำการฝังตัวลงไปบนเยื่อบุโพรงมดลูกให้ได้จึงจะเกิดเป็นการตั้งครรภ์ขึ้น ความรู้ในกระบวนการเหล่านี้จะช่วยให้สามารถเข้าใจภาวะมีบุตรยากได้ดีขึ้นและสามารถเข้าใจวิธีการรักษาได้อย่างกระจ่างชัดมากยิ่งขึ้น

การขนส่งอสุจิเข้าไปในระบบสืบพันธุ์เพศหญิง
เมื่อมีการหลั่งอสุจิออกมาสู่ช่องคลอดของฝ่ายหญิงน้ำอสุจินั้นจะมีการจับตัวเป็นก้อนในตอนแรก และจะเริ่มละลายตัวในไม่กี่นาทีต่อมา เมื่อเริ่มมีการละลายตัวของน้ำอสุจิ อสุจิก็จะเริ่มเดินทางเข้าไปในปากมดลูก ใช่ว่าอสุจิทุกตัวที่เข้าไปอยู่ในช่องคลอดได้จะสามารถว่ายผ่านปากมดลูกเข้าไปยังโพรงมดลูกได้ ความเป็นจริงแล้วมีเพียง 1% เท่านั้นเองที่สามารถผ่านเข้าไปได้ ที่เหลือนั้นจะตายไปในช่องคลอดภายใน 1 – 2 ชั่วโมง เนื่องจากไม่สามารถทนความเป็นกรดในช่องคลอดได้

การปฏิสนธิ
ก่อนที่จะมีการปฏิสนธิเกิดขึ้นได้นั้น เซลล์พี่เลี้ยงที่อยู่ล้อมรอบเซลล์ไข่จะต้องแยกตัวออกเพื่อเป็นหนทางให้อสุจิสามารถผ่านเข้าไปถึงเซลล์ไข่ได้ มีอสุจิจำนวนมากที่อาจไปถึงเปลือกชั้นนอกของเซลล์ไข่และพยายามเจาะเข้าไปให้ได้ แต่อสุจิตัวแรกที่เจาะผ่านเข้าไปและทำการหลอมตัวเข้ากับเยื่อชั้นในของไข่ได้เป็นตัวแรก จะทำให้เปลือกไข่มีการเปลี่ยนแปลงลักษณะเพื่อป้องกันไม่ให้อสุจิตัวอื่นสามารถหลอมตัวผ่านเข้าไปได้อีก
การปฏิสนธิจะเสร็จสมบูรณ์ภายใน 1 ชั่วโมงหรือไม่เกิน 4 ชั่วโมงภายหลังจากที่อสุจิเข้าไปพบกับไข่ หลังจากนั้นตัวอ่อนจะมีการแบ่งเซลล์เป็นสองเซลล์ แต่ละเซลล์ก็จะแบ่งเซลล์เป็นสองเซลล์อีก แต่อาจจะในอัตราที่แตกต่างกัน เซลล์แรกอาจแบ่งตัวก่อนทำให้ตัวอ่อนมีสามเซลล์ หลังจากนั้นเซลล์ที่สองก็จะแบ่งตัวตามทำให้ตัวอ่อนมีสี่เซลล์ ตัวอ่อนจะทำการแบ่งเซลล์เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างรวดเร็ว ในบางระยะตัวอ่อนจะมีจำนวน 16 เซลล์ 32 เซลล์ 64 เซลล์ และเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ เซลล์ทั้งหมดนี้จะยังคงแบ่งเซลล์อยู่ภายในเปลือกชั้นนอกของไข่นั่นเอง แต่ในที่สุดตัวอ่อนจะต้องออกมาจากเปลือกก่อนจึงจะฝังตัวลงบนเยื่อบุโพรงมดลูกของแม่ได้

การเดินทางของตัวอ่อน การเจาะออกจากเปลือก และการฝังตัว
การปฏิสนธิจะเกิดขึ้นที่บริเวณส่วนปลายของท่อนำไข่ที่ใกล้กับรังไข่ โดยปกติแล้วตัวอ่อนจะต้องการเวลาประมาณ 5 วันในการเดินทางจากบริเวณที่ปฏิสนธิมาถึงโพรงมดลูก ในระหว่างนี้ตัวอ่อนก็ได้มีการแบ่งเซลล์โดยอาศัยสารอาหารจากสารคัดหลั่งภายในท่อนำไข่ในช่วงต่างๆนั่นเอง เมื่อตัวอ่อนเริ่มมีจำนวนเซลล์มากขึ้นก็จะมีรูปร่างกลมๆคล้ายลูกบอล ในระยะนี้เราจะเรียกว่าตัวอ่อนระยะ Morula (โมรูลา) หลังจากที่ตัวอ่อนเดินทางมาถึงโพรงมดลูกแล้ว ในวันที่ 6 ภายในศูนย์กลางของตัวอ่อนจะมีการสะสมน้ำอยู่ภายใน ซึ่งเราจะเรียกตัวอ่อนระยะนี้ว่า Blastocyst (บลาสโตซิสท์)
ก่อนที่ Blastocyst จะฝังตัวลงบนเยื่อบุโพรงมดลูกได้ ก็จะต้องเจาะออกมาจากเปลือกไข่ให้ได้ก่อน โดยที่ Blastocyst จะสร้างเอนไซม์ออกมาช่วยทำให้เปลือกไข่นั้นบางลง และตัวอ่อนจะหดและขยายตัวออกเพื่อดันให้เปลือกแตกออก ทำให้ตัวอ่อน Blastocyst ออกมาจากเปลือกได้ และเมื่อนั้นจะมีการส่งสัญญาณทางเคมีเพื่อให้ร่างกายของแม่ทราบว่ามีตัวอ่อนระยะ Blastocyst อยู่ในโพรงมดลูกแล้ว ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมากเนื่องจากร่างกายของแม่ต้องปรับตัวให้อยู่ในระยะที่จะดำเนินการตั้งครรภ์ต่อไป มิเช่นนั้นแล้วร่างกายของแม่ก็จะปรับตัวเข้าสู่รอบเดือนใหม่โดยการลอกตัวของเยื่อบุโพรงมดลูกออกมาเป็นเลือดระดูนั่นเอง การส่งสัญญาณนี้เกี่ยวข้องกับการกระตุ้นทางเคมีและกายภาพหลายประการ แต่การส่งสัญญาณทางเคมีที่รู้จักกันดีได้แก่การหลั่งฮอร์โมน Human chorionic gonadotrophin หรือเรียกชื่อย่อว่า hCG ฮอร์โมน hCG นี้จะถูกดูดซึมเข้ากระแสเลือดของแม่เพื่อไปถึงรังไข่ และกระตุ้นให้ร่างกายของแม่ผลิตฮอร์โมน Estrogen และ Progesterone ออกมาเพิ่มขึ้น ซึ่งฮอร์โมนนี้จะส่งผลให้เยื่อบุโพรงมดลูกคงความหนาและมีคุณภาพดีเพื่อรองรับการฝังตัวของตัวอ่อน และยังส่งมีส่วนช่วยอื่นๆในการตั้งครรภ์อีกหลายประการ
ในวันที่ 7 หลังการตกไข่ ตัวอ่อน Blastocyst จะฝังตัวลงบนเยื่อบุโพรงมดลูกโดยการแทรกตัวจมลงไปในเยื่อบุโพรงมดลูก ซึ่งเยื่อบุโพรงมดลูกจะคลุมตัวอ่อนไว้โดยสมบูรณ์ ตัวอ่อน Blastocyst จะทำการเชื่อมต่อตัวมันเองกับกระแสเลือดของแม่โดยเร็วเพื่อที่จะรับสารอาหารต่างๆและออกซิเจนจากแม่ได้ ตัวอ่อน Blastocyst สามารถทำการขับถ่ายของเสียออกสู่กระแสเลือดแม่ และแม่จะขับของเสียนั้นออกทางปัสสาวะอีกทีหนึ่ง การเจริญเติบโตของตัวอ่อนในเวลาสั้นๆนั้นราวกับเป็นสิ่งมหัศจรรย์ เริ่มจากตัวอ่อนเซลล์เดียวได้แบ่งเซลล์เพิ่มขึ้นอย่างมากมายมหาศาลเป็นล้านๆเซลล์จนกระทั่งเป็นรูปร่างของมนุษย์ที่มีระบบการทำงานของร่างกายที่สลับซับซ้อนภายในเวลาเพียงเก้าเดือน




 

Create Date : 05 กรกฎาคม 2553    
Last Update : 5 กรกฎาคม 2553 16:29:24 น.
Counter : 10373 Pageviews.  

สาเหตุของภาวะมีบุตรยาก

ภาวะมีบุตรยากนั้นเกิดได้จากความผิดปกติของปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเจริญพันธุ์ทั้งในฝ่ายชายและฝ่ายหญิงในสัดส่วนพอๆกัน และสามารถเกิดได้จากปัจจัยของทั้งสองฝ่ายร่วมกัน
30 - 40% ของผู้มีบุตรยากพบสาเหตุมาจากฝ่ายหญิง
30 - 40% ของผู้มีบุตรยากพบสาเหตุมาจากฝ่ายชาย
5 - 10% ของผู้มีบุตรยากพบสาเหตุมาจากทั้งสองฝ่ายร่วมกัน
10 - 15% ไม่สามารถบอกสาเหตุได้

เนื่องจากระบบสืบพันธุ์ในเพศหญิงเป็นระบบที่ซับซ้อนมากกว่าเพศชาย และได้ถูกออกแบบมาให้ทำงานร่วมกันเป็นขั้นตอนได้อย่างประสานสัมพันธ์กัน ดังนั้นโอกาสที่จะพบความผิดปกติจึงสามารถพบได้ในหลายๆจุด และเมื่อมีความผิดปกติที่จุดใดจุดหนึ่ง จุดต่อไปที่จะต้องทำงานต่อก็จะไม่สามารถรับผลงานไปทำต่อได้ ดังนั้นถ้ามีความผิดปกติตั้งแต่จุดเริ่มต้น โอกาสที่จะมีบุตรได้นั้นก็จะยิ่งน้อยลงไป

ความผิดปกติของฮอร์โมน
การมีระดับฮอร์โมนในร่างกายสมดุลย์เป็นสิ่งสำคัญต่อการเจริญพันธุ์ เนื่องจากฮอร์โมนชนิดต่างๆในร่างกายของผู้หญิงนั้นเป็นตัวควบคุมให้รังไข่มีการตกไข่เกิดขึ้น และยังควบคุมให้โพรงมดลูกสร้างเยื่อบุขึ้นมารองรับการฝังตัวของตัวอ่อนอีกถ้าหากไข่นั้นได้รับการปฏิสนธิ ยังมีผู้หญิงกลุ่มหนึ่งซึ่งร่างกายไม่สามารถผลิตฮอร์โมนที่จะไปกระตุ้นรังไข่ให้ผลิตไข่ได้อย่างเพียงพอ ดังนั้นจึงไม่มีไข่ที่สุกสมบูรณ์และไม่มีไข่ตกนั่นเอง

รังไข่ล้มเหลว
เมื่อผู้หญิงอายุมากขึ้นก็จะมีจำนวนไข่ที่พร้อมจะโตน้อยลง เซลล์ไข่ที่เหลืออยู่จะตอบสนองต่อฮอร์โมนที่มากระตุ้นให้ไข่สุกสมบูรณ์และตกไข่ได้น้อยลง เนื่องจากไข่นั้นมีอายุมากและมีการเสื่อมสภาพ จนในที่สุดไม่มีไข่ตกอีกต่อไป ผู้หญิงก็จะเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน แต่ยังมีผู้หญิงอีกจำนวนหนึ่งที่ไม่มีไข่ตกอันมีสาเหตุมาจากเริ่มเข้าสู่ภาวะหมดประจำเดือนก่อนวัย โดยปกติแล้วผู้หญิงจะเริ่มเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนเมื่ออายุประมาณ 45 ปีขึ้นไป แต่ก็มีบางรายที่เข้าสู่วัยหมดประจำเดือนเมื่ออายุยังน้อย ซึ่งพบได้ 1 - 5 % ของผู้หญิงที่อายุต่ำกว่า 40 ปี ก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้มีบุตรยาก เพราะการหมดประจำเดือนหมายถึงไม่มีการตกไข่แล้วนั่นเอง

กลุ่มอาการของการมีซิสท์ที่รังไข่ (Polycystic ovary syndrome: PCOS)
ปัญหาสำคัญของภาวะมีบุตรยากอีกอย่างหนึ่งก็คือซีสท์ที่รังไข่ ผลจากการที่ไข่ไม่ตกออกจากรังไข่ จะกลายเป็นซิสท์หรือถุงน้ำเล็กๆ ในรังไข่แทน ในทางการแพทย์เรายังไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน แต่ภาวะนี้มักจะพบว่าเกี่ยวข้องกับการถ่ายทอดทางพันธุกรรม และพบได้ในผู้หญิงทุกระดับอายุในช่วงวัยเจริญพันธุ์ มีผู้หญิงจำนวนมากที่เป็นโรคนี้แต่ไม่มีอาการแสดง โดยทั่วไปแล้วซิสต์นั้นมีขนาดค่อนข้างเล็ก ปกติแล้วมักจะพบว่ามีขนาดไม่เกิน 8 มิลลิเมตร แต่ก็สามารถที่จะมองเห็นได้จากการวินิจฉัยด้วยการตรวจ Ultrasound และการตรวจเลือดหาระดับฮอร์โมนบางตัวที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างผิดปกติ อาการแสดงก็คือ ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ ประจำเดือนมาน้อย หรือไม่มีประจำเดือนเลย อาการอื่นๆได้แก่ เป็นสิวที่บริเวณใบหน้าและแผ่นหลัง มีขนขึ้นตามใบหน้าและตามตัว เช่นหน้าอก แขน และขา นอกจากนี้ยังพบว่าผู้ที่เป็นซิสท์ที่รังไข่มักจะมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากซิสท์จำนวนมากมีการผลิตฮอร์โมน Estrogen ออกมา ระดับของ Estrogen ที่สูงขึ้นจึงทำให้มีการเปลี่ยนแปลงของน้ำหนักตัว

สาเหตุที่สัมพันธ์กับท่อนำไข่
ในผู้หญิงที่มีปัญหามีบุตรยากนั้น หนึ่งในสาม มักพบปัญหาของท่อนำไข่ร่วมอยู่ด้วย เนื่องจากท่อนำไข่เป็นอวัยวะสำคัญในการเจริญพันธุ์ ปัจจัยต่างๆที่ส่งผลต่อท่อนำไข่จึงกระทบต่อความสามารถในการเจริญพันธุ์ ท่อนำไข่นี้เป็นเพียงท่อเล็กๆ ซึ่งเป็นทางเชื่อมต่อจากช่องท้องไปยังมดลูกและเชื่อมต่อสู่ภายนอกคือปากมดลูกและช่องคลอด จะเห็นได้ว่าเป็นระบบเปิดจากภายนอกสู่ช่องท้อง การอักเสบหรือติดเชื้อในช่องคลอดหรือโพรงมดลูกสามารถแพ่กระจายไปยังท่อนำไข่ การอักเสบหรือติดเชื้อในอุ้งเชิงกรานส่วนล่าง ส่งผลต่อท่อนำไข่ได้เนื่องจากเชื้อโรคสามารถผ่านจากปลายเปิดของท่อเข้าไปได้ ผลลัพท์ที่ตามมาจากการอักเสบติดเชื้อต่างๆดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการอักเสบติดเชื้อที่ไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีหรือไม่ได้รับการกำจัดสาเหตุของการอักเสบติดเชื้อให้หมดสิ้นไป เป็นต้นเหตุของการอุดตันของท่อนำไข่ การอักเสบติดเชื้อเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เป็นต้นว่าได้รับโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เช่น หนองใน วัณโรคในอุ้งเชิงกราน ถึงแม้ว่าการอักเสบติดเชื้อที่เกิดขึ้น บางครั้งไม่ได้ทำให้ท่อนำไข่อุดตันเสมอไป แต่เซลล์ของท่อนำไข่บริเวณที่เกิดการอักเสบก็จะถูกทำลายไปทำให้สูญเสียความสามารถในการผลิตอาหารเลี้ยงตัวอ่อนได้ นอกจากนี้การที่เคยได้รับผ่าตัดในช่องท้องมาก่อน หรือมีการอักเสบในอุ้งเชิงกราน ส่งผลให้ร่างกายสร้างพังผืดขึ้นมา หรือพวกที่เป็นเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis) ก็จะเกิดพังผืดในช่องท้องด้วย เนื้อเยื่อพังผืดที่เกิดในช่องท้องอาจไปพันรัดท่อนำไข่เอาไว้จนสูญเสียความสามารถในการโน้มตัวไปจับไข่ที่รังไข่ได้ หรือดึงรั้งท่อนำไข่ให้ไปอยู่ในตำแหน่งอื่น ผลก็คือทั้งๆที่ท่อนำไข่ไม่ได้มีการอุดตันแต่อย่างใด แต่ไข่ก็ไม่สามารถเข้ามาในท่อนำไข่ได้ จึงเป็นสาเหตุของภาวะมีบุตรยาก และสาเหตุสุดท้ายเกี่ยวกับท่อนำไข่ คือเป็นพวกมีความผิดปกติแต่กำเนิดที่ไม่มีท่อนำไข่หรือท่อนำไม่สมบูรณ์มีรูปร่างผิดปกติ

เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่
เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่หรือ Endometriosis คือเนื้อเยื่อที่มีลักษณะคล้ายกับเยื่อบุที่อยู่ในโพรงมดลูกนั่นเอง แต่สาเหตุที่พบอยู่ภายนอกมดลูกนั้นยังไม่ทราบแน่ชัด เชื่อว่าเมื่อผู้หญิงมีรอบเดือน บางครั้งระดูไม่ได้ไหลออกไปทางช่องคลอดแต่เพียงทางเดียว แต่กลับไหลย้อนเข้าไปในท่อนำไข่ออกไปสู่ช่องท้องด้วย เนื่อเยื่อบุโพรงมดลูกที่หลุดลอกออกมาจากโพรงมดลูกนั้นได้ไปเจริญขึ้นผิดที่ในช่องทางที่มันไหลผ่านไป บางครั้งก็ในช่องท้อง ท่อนำไข่ รังไข่ ผนังด้านนอกของมดลูก นอกจากนี้เมื่อมีฮอร์โมนมากระตุ้น เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่นี้ก็สามารถตอบสนองต่อฮอร์โมนเช่นเดียวกับเยื่อบุโพรงมดลูกที่อยู่ในโพรงมดลูก โดยมีการหนาตัวขึ้น และเมื่อฮอร์โมนลดลงมันก็ลอกตัวเป็นเลือดประจำเดือน ปัญหาที่ตามมาก็คือมันไม่มีทางออกไปข้างนอกร่างกายได้ จึงส่งผลให้ระคายเคืองในช่องท้อง ทำให้ปวดท้อง ร่างกายจึงตอบสนองโดยพยายามสร้างเนื้อเยื่อมาห่อหุ้มเอาไว้ไม่ให้ระคายเคืองและกระจายออกไปมากกว่านี้ กลายเป็นพังผืดและซิทส์ในช่องท้องและส่งผลกระทบอย่างมากต่อการเจริญพันธุ์
สรุป
การที่สามารถแยกปัญหาได้ตั้งแต่แรก จะช่วยให้แพทย์สามารถเลือกวิธีการรักษาได้อย่างเหมาะสม สำหรับผู้ที่หาสาเหตุไม่พบนั้น การรักษาจะคำนึงถึงปัจจัยที่สัมพันธ์กับอายุของฝ่ายหญิงเป็นหลัก มากกว่าจะคำนึงถึงการรักษาให้ตั้งครรภ์เองตามธรรมชาติ

อะไรบ้างที่อาจเป็นปัญหาในฝ่ายชาย ภาวะมีบุตรยากในฝ่ายชายนั้นขึ้นอยู่กับกลไกเพียงสองอย่างเท่านั้นเอง หนึ่งคือเรื่องของอสุจิ มีน้อยหรือไม่มีเลย สองทางเดินของอสุจิอุดตันหรือไม่สามารถขนส่งอสุจิออกไปสู่ช่องคลอดของฝ่ายหญิงได้ แต่สาเหตุที่ทำให้เกิดความผิดปกติขึ้นกับสองกลไกนั้นมีหลายประการด้วยกัน ดังจะได้บรรยายถึงสาเหตุต่างๆตามการจัดประเภทที่องค์การอนามัยโลกได้แบ่งแยกเอาไว้ดังนี้

อสุจิไหลย้อนเข้าไปในกระเพาะปัสสาวะ
กล้ามเนื้อหูรูดของกระเพาะปัสสาวะซึ่งทำหน้าที่ปิดกั้นกระเพาะปัสสาวะกับท่อนำน้ำอสุจิหรือท่อปัสสาวะเมื่อมีการหลั่งอสุจิ เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้อสุจิที่หลั่งออกมานั้นไหลย้อนกลับเข้าไปในกระเพาะปัสสาวะได้ แต่โรคบางอย่างเช่น เบาหวาน และโรคของระบบประสาทบางอย่างอาจทำให้กล้ามเนื้อหูรูดนี้ได้รับความเสียหาย และทำงานได้ไม่มีประสิทธิภาพ เมื่อมีการหลั่งอสุจิออกมาจึงไหลผ่านกล้ามเนื้อหูรูดเข้าไปในกระเพาะปัสสาวะ ทำให้ปริมาณอสุจิที่ควรจะต้องหลั่งออกมาภายนอกเข้าไปสู่ช่องคลอดของฝ่ายหญิงมีปริมาณน้อยลง ผู้ที่เคยได้รับการผ่าตัดต่างๆในบริเวณที่ใกล้ๆกับคอของกระเพาะปัสสาวะ เช่น การผ่าตัดต่อมลูกหมาก ก็อาจทำให้เป็นสาเหตุที่กล้ามเนื้อหูรูดของกระเพาะปัสสาวะจะได้รับการบาดเจ็บและเกิดความเสียหายได้เช่นเดียวกัน

ความผิดปกติแต่กำเนิด
ทารกเพศชายส่วนมากเมื่อคลอดออกมาลูกอัณฑะจะเลื่อนลงมาอยู่ในถุงอัณฑะเรียบร้อยแล้ว แต่ก็มีทารกจำนวนหนึ่งซึ่งเมื่อเกิดมาลูกอัณฑะข้างใดข้างหนึ่งหรือทั้งสอง ยังอยู่ในช่องท้องบริเวณใดบริเวณหนึ่งตามทางที่จะลงมายังถุงอัณฑะ ภาวะนี้เป็นเรื่องธรรมดาหากทารกคลอดก่อนกำหนด แม้ว่าลูกอัณฑะอาจจะยังคงเลื่อนลงมาเองภายหลังจากนั้น และลูกอัณฑะทั้งสองข้างจะลงมาอยู่ในถุงอัณฑะในไม่ช้าหลังการคลอด จึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งที่ทารกเหล่านั้นจะต้องได้รับการตรวจโดยกุมารแพทย์ผู้ซึ่งจะสามารถให้การรักษาที่เหมาะสมต่อไปได้ การรักษาอาจเป็นเพียงการให้ยาบางชนิดหรือการผ่าตัด หากลูกอัณฑะไม่ลงมาอยู่ในถุงอัณฑะจนล่วงเลยเข้าสู่วันรุ่นแล้ว ลูกอัณฑะนั้นจะไม่สามารถผลิตอสุจิได้เลยหรือผลิตได้ในปริมาณที่น้อยมากๆ ลูกอัณฑะจะสามารถผลิตอสุจิได้ดีที่สุดเมื่ออยู่ในอุณหภูมิที่เย็นกว่าอุณหภูมิของร่างกายซึ่งก็คือในถุงอัณฑะนั่นเอง ลูกอัณฑะที่ไม่ลงมาอยู่ในถุงอัณฑะอาจได้รับบาดเจ็บได้หากไปอยู่บริเวณขาหนีบ และมะเร็งของลูกอัณะมักพบได้บ่อยในผู้ที่ลูกอัณฑะไม่ลงมาอยู่ในถุงอัณฑะ มากกว่าผู้ที่ลูกอัณฑะลงมาอยู่ในถุงอัณฑะตามปกติ
ท่อนำตัวอสุจิ และ/หรือ ท่อนำน้ำอสุจิ ซึ่งไม่ได้รับการพัฒนาโดยสมบูรณ์เป็นความผิดปกติแต่กำเนิดในทารกเพศชายบางราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่เป็นหรือเป็นพาหะของ cystic fibrosis บุคคลเหล่านี้จะไม่มีอสุจิน้ำอสุจิที่หลั่งออกมาเลย เนื่องจากอสุจิที่สร้างขึ้นมาไม่สามารถถูกส่งผ่านมายังท่อเก็บอสุจิที่จะนำพาออกไปสู่ภายนอกได้ บางคนที่มีโครโมโซมผิดปกติอาจทำให้อัณฑะไม่สามารถทำงานตามปกติได้ ความผิดปกติทางพันธุกรรมอื่นๆมักมีความสัมพันฑ์กับการทำงานของอัณฑะในการผลิตอสุจิ แม้ว่าจะสามารถผลิตอสุจิได้แต่มักมีคุณภาพต่ำ และความผิดปกติทางพันธุกรรมนี้ก็ยังสามารถถ่ายทอดไปยังลูกหลานที่เป็นเพศชายอีกด้วย

ความผิดปกติที่เกิดขึ้นภายหลัง
20 - 30% ในผู้ชายที่เป็นคางทูมในวัยเจริญพันธุ์ พบว่าเชื้อไวรัสคางทูมนี้สามารถลุกลามไปยังอัณฑะได้ และมีความเป็นไปได้สูงว่าจะอัณฑะจะได้รับความเสียหายและในบางรายอัณฑะจะไม่สามารถกลับมาทำงานตามปกติได้อีก การติดเชื้ออื่นๆอาจที่ส่งผลให้เกิดภาวะมีบุตรยากได้แก่ วัณโรค หนองใน ไทฟอยด์ ไข้หวัดใหญ่ และซิฟิลิส นอกจากนี้ การบิดหรือหมุนกลับของขั้วของอัณฑะทำให้ไม่มีเลือดไปเลี้ยง หรือมีเลือดไปเลี้ยงไม่สะดวกส่งผลเสียต่อการผลิตอสุจิด้วยเช่นกัน

สรุป
สาเหตุสำคัญของภาวะมีบุตรยากในฝ่ายชายนั้นมีความแตกต่างกันในแต่ละประเทศ และในแต่ละพื้นที่ในประเทศเดียวกัน เกือบครึ่งหนึ่งของผู้มารับการรักษาภาวะมีบุตรยากนั้นพบว่าผลการตรวจอสุจิเป็นปกติ และประมาณ 1 ใน 3 ของผู้ที่ผลการตรวจอสุจิได้ค่าต่ำกว่ามาตรฐานนั้นไม่พบสาเหตุแน่ชัด ผู้ที่เป็นเส้นเลือดดำโป่งพองนั้นพบได้บ่อยมากที่สุด ประมาณ 12.3% และกลุ่มที่มีปัญหาของต่อมไร้ท่อนั้นพบได้น้อยมาก




 

Create Date : 05 กรกฎาคม 2553    
Last Update : 5 กรกฎาคม 2553 16:28:02 น.
Counter : 949 Pageviews.  

รู้ได้อย่างไร...เราเข้าข่ายมีบุตรยาก

ผู้มีบุตรยากหมายถึง เมื่อฝ่ายหญิงอายุน้อยกว่า 35 ปี มีเพศสัมพันธ์กับสามีอย่างสม่ำเสมอ สัปดาห์ละประมาณ 2 - 3 ครั้ง โดยไม่ได้คุมกำเนิดด้วยวิธีการใดๆ เป็นเวลากว่า 12 เดือนแล้ว ยังไม่มีการตั้งครรภ์เกิดขึ้น ถือว่ามีบุตรยาก และเมื่อฝ่ายหญิงอายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไป มีเพศสัมพันธ์กับสามีอย่างสม่ำเสมอ สัปดาห์ละประมาณ 2 - 3 ครั้งโดยไม่ได้คุมกำเนิดด้วยวิธีการใดๆ เป็นเวลากว่า 6 เดือนแล้ว ยังไม่มีการตั้งครรภ์เกิดขึ้น ถือว่ามีบุตรยาก

สาเหตุที่ผู้หญิงอายุมากกว่า 35 ปีให้เวลาน้อยกว่า เพียงแค่ 6 เดือนเท่านั้น ทั้งๆที่อายุมากน่าจะตั้งครรภ์ยากกว่า แต่ในทางการแพทย์เห็นว่าเมื่ออายุมากก็ยิ่งควรรีบมาพบแพทย์เพื่อทำการรักษาให้มีบุตรเสีย เพราะมีอายุมากแล้วจะมียาก ยิ่งหากให้รอนานอายุมากขึ้นอีกก็จะยิ่งยากขึ้นอีกนั่นเอง

นอกจากนี้ทางการแพทย์ยังได้แบ่งผู้มีบุตรยากออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มที่หนึ่งคือผู้ที่ไม่เคยมีการตั้งครรภ์เกิดขึ้นเลย เรียกว่ามีบุตรยากแบบปฐมภูมิ กลุ่มแรกนี้พบได้ประมาณ 40% ของประชากรที่มีบุตรยาก อีกกลุ่มหนึ่งเป็นผู้ที่เคยผ่านการตั้งครรภ์มาก่อนแล้ว ไม่ว่าการตั้งครรภ์จะสิ้นสุดลงแบบใดก็ตาม เราเรียกว่ามีบุตรยากแบบทุติยภูมิ ซึ่งกลุ่มนี้ก็พบได้ประมาณ 60% ของประชากรที่มีบุตรยาก

สรุปว่าถ้าได้พยายามมีบุตรมาโดยตลอด อายุน้อยก็สามารถรอได้นานกว่า แต่ถ้าอายุมากก็ควรรีบปรึกษาแพทย์ ไม่ว่าจะเคยตั้งครรภ์หรือเคยมีบุตรมาก่อนหรือไม่ อย่างไรก็ตามควรพิจารณาความเหมาะสมเป็นรายๆไป เพราะปัญหาของแต่ละคนนั้นแตกต่างกัน อย่างเช่นคนในคู่ที่เห็นได้ชัดเจนว่ามีปัญหาที่ควรต้องเร่งแก้ไขหรือต้องได้รับการรักษาจากแพทย์ เช่นผู้ที่มีปัญหาของรอบเดือนมาไม่สม่ำเสมอหรือขาดหายไปนานๆ ควรจะได้รับการตรวจวินิจฉัยโดยเร็ว หรือผู้ที่ปวดท้องน้อยรุนแรงในระหว่างที่มีรอบเดือน เขาเหล่านี้ไม่ควรต้องรอเป็นปีกว่าจะมาพบแพทย์




 

Create Date : 05 กรกฎาคม 2553    
Last Update : 5 กรกฎาคม 2553 16:27:03 น.
Counter : 826 Pageviews.  

การตรวจวินิจฉัยภาวะมีบุตรยากในฝ่ายหญิง

การตรวจการตกไข่
วิธีการเดียวที่จะบอกได้แน่ชัดว่าไข่ตกออกมาจากรังไข่ของผู้หญิงทุกเดือนหรือไม่คือการสังเกตการตกของไข่ออกมาจากรังไข่โดยตรง แต่ไม่มีวิธีการใดที่จะทำเช่นนั้นได้โดยไม่ต้องทำให้เกิดการบาดเจ็บ ดังนั้นความพยายามที่จะบอกวันที่ไข่ตกจึงทำได้เพียงการสังเกตอาการหรือผลที่เกิดจากกระบวนการตกไข่นั่นเอง ซึ่งการแพทย์ในอดีตได้มีการพยายามค้นหาวิธีการต่างๆเพื่อสังเกตการตกไข่ เช่น การตรวจอุณหภูมิของร่างกาย หรือการสังเกตการเปลี่ยนแปลงของมูกปากมดลูก แต่ก็มักพบความคลาดเคลื่อนได้สูง ปัจจุบันเนื่องจากมีเครื่องมือที่ก้าวหน้ามากขึ้น ขึงช่วยให้แพทย์ตรวจการตกไข่ได้ง่ายขึ้น และแม่นยำมากขึ้น วิธีการดังกล่าวคือการตรวจอัลตร้าซาวด์และการตรวจเลือด

การตรวจฮอร์โมนต่างๆ
การตรวจความเข้มข้นของฮอร์โมน Follicle stimulating hormone: FSH และ LH ในเลือด จะให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์มากเกี่ยวกับการทำงานของรังไข่ ระดับของ FSH นั้นจะสูงมากในผู้หญิงที่รังไข่ล้มเหลว และในรายที่มีซิทส์ที่รังไข่ระดับของ LH จะมีแนวโน้มสูงขึ้น นอกจากนี้ระดับของฮอร์โมน Estrogen ในเลือดก็สามารถทำการตรวจได้เช่นเดียวกัน ค่าที่แน่ชัดนั้นขึ้นอยู่กับแต่ละช่วงเวลาของรอบเดือน ผลการตรวจนั้นช่วยในการวินิจฉัยปัญหาของรังไข่ได้ ระดับ Estrogen ต่ำหมายถึงการทำงานของรังไข่ไม่ดี พบได้ในพวกที่รังไข่ล้มเหลว ระดับฮอร์โมน Prolactin ในเลือดควรได้รับการตรวจด้วยเช่นกัน ถ้าพบว่าระดับ Prolactin ในเลือดสูงจะทำการตรวจซ้ำเพื่อป้องกันการวนิจฉัยผิดพลาดจากความเครียด เนื่องจากความเครียดส่งผลให้ Prolactin สูงขึ้นได้ แต่เพียงในระยะเวลาสั้นๆเท่านั้น การที่มีระดับ Prolactin ในเลือดสูงเป็นเวลานานจะส่งผลกระทบต่อการตกไข่ และอาจเกิดจากเนื้องอกที่ต่อม Pituitary

Hysterosalpingogram (HSG)
เป็นการตรวจด้วยการ X-ray ดูภาพของโครงร่างของโพรงมดลูกและท่อนำไข่ วัตถุประสงค์ของการตรวจนี้จะกระทำเพื่อวินิจฉัยว่าท่อนำไข่ทั้งสองข้างมีการอุดตันหรือไม่ นอกจากนี้ผลการตรวจจะยังแสดงให้เห็นได้ว่าโพรงมดลูกมีรูปร่างผิดปกติไปหรือไม่ จากการที่มีเนื้องอกอยู่ภายในหรือความผิดปกติของมดลูกเองแต่กำเนิด นอกจากนี้การตรวจนี้ยังมีประโยชน์ในการวินิจฉัย Asherman’s syndrome (ภาวะที่ผนังโพรงมดลูกติดกัน) โดยปกติการตรวจจะกระทำเมื่อแน่ใจว่าไม่มีการตั้งครรภ์เกิดขึ้นอยู่ก่อนแล้ว ดังนั้นจึงจะทำการตรวจในวันที่ 10 ของรอบเดือน เมื่อจะทำการตรวจแพทย์จะใส่เครื่องมือขยายช่องคลอดเพื่อให้สามารถมองเห็นปากมดลูกได้ชัดเจน แพทย์จะทำความสะอาดปากมดลูกและจะฉีดสีซึ่งเป็นสารทึบแสงผ่านปากมดลูกเข้าไปในโพรงมดลูกอย่างช้าๆโดยใช้ท่อเล็กๆใส่เข้าไปในปากมดลูก ในเวลาเดียวกันนักรังษีวิทยาก็จะทำการ X-ray และหากท่อนำไข่ไม่อุดตันก็จะเห็นสีที่ฉีดเข้าไปนั้นไหลผ่านท่อนำไข่ออกไปในช่องท้อง
สิ่งสำคัญคือจะต้องแน่ใจว่าไม่ตั้งครรภ์ในขณะที่จะทำการตรวจ และหากเคยมีการอักเสบในอุ้งเชิงกรานมาก่อน แพทย์จะเลือกทำการตรวจด้วยการส่องกล้องทางหน้าท้องและฉีดสีแทนการทำ HSG หากมีประวัติการแพ้สารไอโดดีน เช่นแพ้อาหารทะเลจะไม่สามารถทำการตรวจด้วย HSG เนื่องจากสีที่ใช้ในการตรวจนั้นประกอบด้วยสารไอโอดีน การตรวจ HSG เป็นการตรวจคัดกรองที่สะดวกและเสียค่าใช้จ่ายน้อย สามารถคัดกรองผู้ที่มีท่อนำไข่อุดตันได้เป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตามผลการตรวจที่พบจากการทำ HSG นั้นต้องการการตรวจยืนยันด้วยการส่องกล้องทางหน้าท้องร่วมกับการฉีดสี นอกจากนี้การตรวจ HSG ไม่ได้บ่งบอกสิ่งที่อยู่ภายนอกโพรงมดลูกและท่อนำไข่ภายในอุ้งเชิงกราน ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของภาวะมีบุตรยากเช่น เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ และพังผืดที่เกิดจากการอักเสบติดเชื้อในอุ้งเชิงกรานในอดีต

Laparoscopy and dye test (ส่องกล้องทางหน้าท้องร่วมกับการฉีดสี)
หากเป็นไปได้ ผู้มีบุตรยากควรได้รับการตรวจส่องกล้องทางหน้าท้องและการฉีดสี เนื่องจากการตรวจชนิดนี้ให้ผลการตรวจซึ่งตอบสนองถึงสองจุดมุ่งหมายของการหาสาเหตุของภาวะมีบุตรยากทั้งสภาพของท่อนำไข่และให้ข้อมูลที่ชัดเจนของสภาพภายในอุ้งเชิงกราน เพื่อวินิจฉัยแยกโรคเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ พังผืดในอุ้งเชิงกราน หรือปัญหาอื่นๆที่อาจเป็นสาเหตุหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับภาวะมีบุตรยาก อย่างไรก็ตามการตรวจจะต้องกระทำเมื่อแน่ใจว่าไม่มีการตั้งครรภ์ในขณะนั้น
การตรวจส่องกล้องทางหน้าท้องและการฉีดสีสามารถทำได้ในวันเดียวและไม่ต้องนอนพักในโรงพยาบาล โดยจะต้องงดน้ำและอาหารก่อนทำการตรวจเป็นเวลาประมาณ 6 ชั่วโมงขึ้นไปเนื่องจากจะมีการให้ยาระงับความรู้สึกแบบทั่วไป ยาที่ใช้ในการระงับความรู้สึกนั้นจะเป็นยาที่ออกฤทธิ์สั้น และการฟื้นคืนสิติจะกลับมาสมบูรณ์ภายในเวลาอันรวดเร็วหลังจากการตรวจเสร็จสิ้น อย่างไรก็ตามไม่ควรขับรถกลับบ้านเอง
หลังจากให้ยาระงับความรู้สึก แพทย์จะทำการกรีดผิวหนังบริเวณไต้สะดือเป็นแผลยาวประมาณ 0.3 – 0.5 เซนติเมตรขึ้นอยู่กับขนาดของเครื่องมือที่ใช้ เพื่อนำกล้อง (Laparoscope) ลงไปในช่องท้อง และทำการตรวจอวัยวะภายในอุ้งเชิงกราน ได้รังไข่ ท่อนำไข่ และมดลูก ในอุ้งเชิงกรานจะได้รับการตรวจด้วยว่ามีเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่หรือพังผืดเกิดขึ้นหรือไม่ ในบางกรณีแพทย์อาจทำการกรีดผิวหนังอีกแผลหนึ่งเล็กๆต่ำลงมาจากไต้สะดือเหนือหัวหน่าว เพื่อใส่เครื่องมือเข้าไปช่วยจับอวัยวะต่างๆ เพื่อช่วยให้การตรวจทำได้สมบูรณ์มากยิ่งขึ้น
การฉีดสีเข้าไปในท่อนำไข่ระหว่างการส่องกล้องทางหน้าท้องนั้น จะช่วยตรวจสภาพของท่อนำไข่ได้ชัดเจน โดยแพทย์จะทำการฉีดสีเมธิลีนบลู (Methylene blue) ผ่านปากมดลูกเข้าไปยังมดลูกอย่างช้าๆ หากท่อนำไข่ไม่อุดตัน สีก็จะไหลผ่านปลายเปิดของท่อออกมาให้เห็นในอุ้งเชิงกรานได้
การตรวจส่องกล้องทางหน้าท้องและการฉีดสีนั้นแม้ว่าจะมีความปลอดภัยสูง แต่ก็อาจมีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้นได้ เช่นอาจมีอาการท้องอืดแน่นท้อง ซึ่งอาการเหล่านี้จะหายไปใน 1 – 2 วัน นอกจากนี้อวัยวะภายในอุ้งเชิงกรานหรือในช่องท้อง รวมถึง ลำไส้ และเส้นเลือด อาจได้รับบาดเจ็บในระหว่างการตรวจ หากการบาดเจ็บนั้นอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกาย ผู้ป่วยจะได้รับการผ่าตัดเข้าไปแก้ไข และจะต้องนอนพักในโรงพยาบาล

Hysteroscopy (การส่องกล้องตรวจโพรงมดลูก)
ทำได้โดยใส่กล้องที่ใช้สำหรับการตรวจผ่านปากมดลูกเข้าไปในโพรงมดลูก น้ำและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ปริมาตรเพียงเล็กน้อยจะถูกใส่เข้าไปเพื่อขยายโพรงมดลูกออก เพื่อช่วยให้มองเห็นสภาพภายในได้อย่างชัดเจน การตรวจนี้จะช่วยวินิจฉัยสภาพภายในโพรงมดลูก เช่น เนื้องอกในโพรงมดลูก มดลูกมีรูปร่างผิดปกติ Asherman’s syndrome (ภาวะที่ผนังโพรงมดลูกติดกัน) และสาเหตุบางประการที่ทำให้มีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด การตรวจนี้ไม่จำเป็นต้องนอนพักในโรงพยาบาล อย่างไรก็ตามการตรวจนี้จำเป็นต้องให้การระงับความรู้สึกเฉพาะที่หรืออาจให้เพียงยานอนหลับ และอาจทำร่วมกับการตรวจการตรวจส่องกล้องทางหน้าท้องและการฉีดสีเพื่อจะสามารถประเมินสภาพของมดลูกและท่อนำไข่ได้อย่างครบถ้วนในคราวเดียว

การตรวจอื่นๆที่ไม่เกี่ยวข้องกับการหาสาเหตุของภาวะมีบุตรยาก
นอกจาการตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุของภาวะมีบุตรยากแล้ว ผู้หญิงยังต้องรับการตรวจเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการตั้งครรภ์ ได้แก่การตรวจหาภูมิคุ้มกันหัดเยอรมันในเลือด หัดเยอรมันนั้นเป็นเชื้อไวรัส เมื่อติดเชื้อจะทำให้มีไข้ และมีผื่นตามตัว และเมื่อหายจากการติดเชื้อแล้วร่างกายจะสร้างภูมิต้านทานขึ้นมาเพื่อป้องกันตัวเองจากการติดเชื้อซ้ำอีก และถ้าหากได้รับเชื้อไวรัสนี้ในขณะตั้งครรภ์ โดยเฉพาะ 12 สัปดาห์แรกของการตั้งครรภ์ จะส่งผลให้ทารกมีความพิการของร่างกายขั้นรุนแรง ดังนั้นสำหรับผู้หญิงที่ตรวจแล้วว่าไม่มีภูมิคุ้มกันจะได้รับการฉีดวัคซีนให้ก่อนที่จะเริ่มรักษาให้ตั้งครรภ์ นอกจากนี้ยังอาจได้รับการตรวจคัดกรองเชื้อไวรัสเอชไอวี (HIV) และไวรัสตับอักเสบบีและซี การตรวจเลือดอื่นๆได้แก่การตรวจหมู่เลือด ตรวจนับเม็ดเลือด ความเข้มข้นของเลือด และการตรวจโรคถ่ายทอดทางพันธุกรรมที่พบได้บ่อย เช่น ธาลัสซีเมีย




 

Create Date : 05 กรกฎาคม 2553    
Last Update : 5 กรกฎาคม 2553 16:26:21 น.
Counter : 4300 Pageviews.  

1  2  3  
 
 

Nomadus
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




ประวัติการศึกษา
-ปริญญาตรีพยาบาลศาสตร์บัณฑิต คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น 1992 - 1996
-Certificate of Workshop on Professional Counseling, National University Hospital, Singapore, April 2000
-Certificate of CGFNS Certification Program, the Commission on Graduates of Foreign Nursing School, Philadelphia, Pennsylvania, United States of America, September 2003

ประวัติการทำงาน
2006 – ปัจจุบัน Managing Director, Fertility Center Co.,Ltd
1999 - 2005 Blastocyst Center, Infertility Counselor: ให้คำปรึกษาแก่คู่สมรสเกี่ยวกับการรักษาภาวะมีบุตรยาก และอนามัย การเจริญพันธุ์
1996 - 1999 Newborn Intensive Care Unit, Incharged Nurse: ดูแลทารกแรกเกิดอาการปกติ และทารกแรกเกิดอาการวิกฤตในหอผู้ป่วยทารกแรกเกิด และให้คำแนะนำปรึกษาในการเลี้ยงดูทารกแก่บิดามารดา
[Add Nomadus's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com
pantip.com pantipmarket.com pantown.com