อิ๊กซี่ (ICSI)

การบริหารจัดการภาวะมีบุตรยากในฝ่ายชายนั้นเป็นปัญหามาโดยตลอดจนถึงปัจจุบัน เนื่องจากการรักษานั้นไม่ได้ประสิทธิภาพดีเท่าที่ควร ทั้งนี้ส่วนหนึ่งเนื่องมาจากในผู้ป่วยส่วนใหญ่แล้วไม่อาจทราบสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้ค่าการตรวจอสุจิต่ำกว่ามาตรฐานได้ และแม้กระทั่งในรายที่ทราบสาเหตุชัดเจน เช่น ปัญหาการทำงานของอัณฑะและท่อทางเดินของอสุจิผิดปกติ การรักษาด้วยยาหรือการผ่าตัดส่วนใหญ่ก็มักจะประสบกับความล้มเหลวในการที่จะเพิ่มอัตราการตั้งครรภ์ให้สูงขึ้น เมื่อเทคโนโลยีช่วยเหลือการเจริญพันธุ์ถูกนำมาใช้ทั่วไป จึงได้มีความพยายามต่างๆที่จะหาวิธีการที่ได้ผลดีกว่าในการรักษาภาวะมีบุตรยากที่มีสาเหตุมาจากปัจจัยในฝ่ายชาย
การฉีดเชื้ออสุจิโดยใช้เชื้ออสุจิจากสามีนั้นอาจได้ผลดีในผู้ป่วยบางราย ซึ่งมีผลการตรวจอสุจิต่ำกว่ามาตรฐานเพียงเล็กน้อยหรือปานกลาง การคัดเชื้ออสุจิของสามีและฉีดเชื้อเข้าสู่โพรงมดลูกให้ร่วมกับการรับประทานยากระตุ้นไข่ นั้นจะช่วยให้อัตราการตั้งครรภ์สูงขึ้นได้ในรายที่จำนวนอสุจิที่มีชีวิตและมีการเคลื่อนไหวได้ดีที่ได้ภายหลังการเตรียมอสุจิมีมากกว่า 1 ล้านตัวขึ้นไป ภายหลังจากที่การรักษาด้วยการทำ IVF ประสบความสำเร็จในรายที่มีปัญหาของท่อนำไข่ วิธีการ IVF นี้จึงได้ถูกนำมาประเมินเพื่อทำการรักษาภาวะมีบุตรยากในฝ่ายชาย ในการทดลองปฏิสนธิภายนอกร่างกายในคนไข้กลุ่มหนึ่งพบว่ามีแนวโน้มที่จะล้มเหลวในการปฏิสนธิและมีอัตราการปฏิสนธิได้ค่อนข้างต่ำ เมื่อความผิดปกติของอสุจิอยู่ในระดับปานกลางและระดับรุนแรง การทำ IVF ในแบบต่างๆถูกนำมาทำลองใช้เพื่อเอาชนะในรายที่มีค่าการตรวจอสุจิที่ต่ำซึ่งมีแนวโน้มที่จะมีอัตราการปฏิสนธิที่ต่ำด้วย
วิธีการช่วยปฏิสนธิโดยจุลหัตถการ IntraCytoplasmic Sperm Injection: ICSI วิธีการนี้จะทำการฉีดอสุจิตัวเดียวเข้าไปยังของเหลวในเซลล์ไข่ (Cytoplasm) ผลการรักษาได้ปรากฏเป็นครั้งแรกในวารสารวิทยาศาสตร์ในปี 1992 ซึ่งได้ผลการรักษาที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ปัจจุบัน ICSI นั้นถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในการรักษาภาวะมีบุตรยากทั่วโลก และถือเป็นการปฏิวัติการบริหารจัดการการรักษาภาวะมีบุตรยากในฝ่ายชาย การทำ ICSI นั้นช่วยให้ได้อัตราการปฏิสนธิและอัตราการตั้งครรภ์จากการทำ IVF-Blastocyst ใกล้เคียงกับผู้ที่ทำ IVF-Blastocyst ที่ไม่ได้มีปัญหาของอสุจิและไม่ได้ทำ ICSI ร่วมด้วย

ข้อบ่งชี้
ICSI นั้นเป็นข้อบ่งชี้ในผู้มีบุตรยากซึ่งมีโอกาสที่จะเกิดความล้มเหลวในการปฏิสนธิจากการรักษาด้วยวิธี IVF อย่างมีนัยสำคัญ ผู้ป่วยเหล่านี้รวมถึงผู้ที่เคยมีประวัติการรักษาที่เกิดการล้มเหลวในการปฏิสนธิมาก่อนด้วย
ผู้ป่วยที่จะได้รับประโยชน์จากการช่วยปฏิสนธิด้วย ICSI ตั้งแต่รอบการรักษาแรกได้แก่ผู้ที่มีผลการตรวจอสุจิอยู่ในระดับที่ผิดปกติหรือต่ำกว่ามาตรฐานมาก เช่นผู้ที่มีจำนวนตัวอสุจิน้อยในระดับรุนแรงหรือปานกลาง เนื่องจากว่าปัจจุบันยังไม่มีวิธีการใดที่จะประเมินได้ว่าผู้ป่วยรายใดจะประสบความล้มเหลวในการปฏิสนธิซึ่งเป็นผลมาจากความผิดปกติของอสุจิ ดังนั้นอาจเป็นการรอบคอบมากกว่าที่จะทำ ICSI ในผู้ที่มีผลการตรวจอสุจิซึ่งมีความเข้มข้นของตัวอสุจิที่หลั่งออกมาน้อยกว่า 5 ล้านตัว/ml หรือ มีอสุจิที่มีการเคลื่อนไหวหรือมีชีวิตน้อยกว่า 10% จากการศึกษาพบว่าในฝ่ายชายที่มีค่าการตรวจอสุจิอยู่ในระดับคาบเส้นมาตรฐาน ได้ผลการรักษาดีขึ้นเมื่อทำ ICSI ร่วมกับ IVF เมื่อเปรียบเทียบกับการทำ IVF ธรรมดา สำหรับผู้ป่วยที่ไม่มีอสุจิในน้ำอสุจิที่หลั่งออกมาเลยนั้น ปัจจุบันได้รับการเสนอวิธีการช่วยปฏิสนธิด้วย ICSI เพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้เนื่องมาจากการที่เราสามารถผ่าตัด นำอสุจิออกมาจากทางเดินระบบสืบพันธ์เพศชายหรือจากอัณฑะหากมีการอุดตันของท่อทางเดินของอสุจิตั้งแต่จุดต้นกำเนิด แม้ว่าอสุจิที่ได้มานั้นจะมีคุณภาพไม่ค่อยดีนัก แต่ด้วยวิธีการอันมีประสิทธิภาพของ ICSI นั้นจะสามารถช่วยให้เกิดการปฏิสนธิและช่วยให้เกิดการตั้งครรภ์ขึ้นได้

การกระตุ้นไข่และการเจาะเก็บไข่
ไข่จำนวนหนึ่งเจริญเติบโตขึ้นจากการกระตุ้นด้วยฮอร์โมนโดยปรับขนาดยาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย การเจาะไข่จะกระทำผ่านทางช่องคลอดภายใต้การให้ยาระงับความรู้สึกทางหลอดเลือดดำ โดยจะทำการเจาะไข่ภายหลังจากการฉีด hCG ไปแล้ว 36 ชั่วโมง เซลล์ไข่ที่นำออกมาได้จะถูกเพาะเลี้ยงไว้ในตู้อบภายใต้น้ำยาเพาะเลี้ยงเป็นเวลาประมาณหนึ่งถึงสามชั่วโมงก่อนที่จะนำมาแยกเซลล์พี่เลี้ยงที่อยู่ล้อมรอบเซลล์ไข่ออกไป

การเตรียมอสุจิ
กระบวนการเตรียมอสุจิจะสามารถกระทำได้ด้วยวิธีการต่างๆขึ้นอยู่กับคุณภาพของตัวอย่างอสุจิ ในปัจจุบันมีการพัฒนาน้ำยา PureSperm ขึ้นมาใช้ ภายหลังจากการเตรียมอสุจิจะได้ตัวอสุจิที่สะอาดและมีความเข้มข้น 1 ล้านตัว / 1 มิลลิลิตร และหลอดบรรจุตัวอสุจิที่เตรียมไว้แล้วจะถูกเก็บไว้ในตู้อบเพื่อรอการปฏิสนธิกับไข่

ICSI
เมื่อจานสำหรับการทำ ICSI ถูกวางไว้บนตำแหน่งที่ถูกต้องบนกล้องจุลทรรศน์ หลังจากนั้นจะใช้เข็มเลือกอสุจิหนึ่งตัวและทำการตัดหางของอสุจิออก แล้วใช้เข็มแก้วเล็กๆดูดตัวอสุจิเข้าไปจากทางด้านหาง จากนั้นจะทำการยึดเซลล์ไข่เอาไว้ แล้วจึงแทงเข็มผ่านเข้าไปในเซลล์ไข่อย่างรวดเร็วหลังจากที่ปลายเข็มเข้าไปสู่ชั้นของเหลว (Cytoplasm) ภายในเซลล์ไข่แล้วจะทำการดูดเอา Cytoplasm ของเซลล์ไข่ออกมาเล็กน้อยเพื่อยืนยันว่าปลายเข็มได้ผ่านชั้นเนื้อเยื่อชั้นในของเซลล์ไข่เข้าไปแล้วจริงๆ หลังจากนั้น Cytoplasm จะถูกฉีดกลับคืนสู่เซลล์ไข่ตามด้วยหัวอสุจิ และกระบวนการตัดหางอสุจิ และฉีดเข้าสู่เซลล์ไข่ก็จะกระทำไปเรื่อยๆจนกว่าจะครบจำนวนไข่ทุกใบ เซลล์ไข่ที่ถูกฉีดอสุจิเข้าไปแล้วจะถูกทำความสะอาดด้วยน้ำยาเพาะเลี้ยง และนำกลับไปเก็บไว้ในตู้อบต่อไป

การปฏิสนธิ การเพาะเลี้ยงตัวอ่อน และการย้ายตัวอ่อน
หลังจากการทำ ICSI แล้ว 12 – 18 ชั่วโมง เซลล์ไข่จะถูกนำออกมาตรวจสอบสัญญาณของการปฏิสนธิ เซลล์ไข่บางส่วนอาจได้รับความเสียหายจากการใช้เข็มเจาะผ่านเข้าไป เซลล์ไข่ที่สามารถปฏิสนธิได้เป็นปกติจะถูกย้ายไปเก็บไว้ในน้ำยาเพาะเลี้ยงตัวอ่อนใหม่ และเก็บไว้ในตู้อบต่อไป ขั้นตอนต่างๆของการเพาะเลี้ยงตัวอ่อน การดูแลหลังการใส่ตัวอ่อน และการทดสอบการตั้งครรภ์ จะเหมือนกันกับการทำ IVF ทั่วๆไป

ทารกที่เกิดจากการทำ ICSI
มีความเป็นไปได้หรือไม่ที่กระบวนการทำ ICSI เองนั้นจะเป็นสาเหตุให้เกิดความผิดปกติต่อผู้ที่ถือกำเนิดขึ้นจากวิธีการนี้ แต่เนื่องจากปัจจุบันนี้เรายังไม่สามารถให้ความมั่นใจ 100% แก่คู่สามีภรรยาที่จะเข้ารับการรักษาได้ เนื่องจากจะต้องทำการเก็บข้อมูลในผู้ที่ถือกำเนิดจากการทำ ICSI โดยใกล้ชิดและเป็นระยะเวลาอันยาวนาน อย่างไรก็ตามได้มีการเก็บข้อมูลในผู้ที่ถือกำเนิดขึ้นจากการทำ ICSI โดยได้ทำการตรวจโรคทางพันธุกรรมก่อนการตั้งครรภ์และเก็บข้อมูลในทารกภายหลังจากการตั้งครรภ์จากการทำ ICSI ผลการเก็บข้อมูลไม่ได้ระบุว่ามีการเพิ่มขึ้นของอุบัติการณ์ความผิดปกติของโครโมโซมหรือความพิการรุนแรงของทารก ในทารกที่เกิดขึ้นจากกระบวนการ ICSI เมื่อเปรียบเทียบกับอัตราที่พบในประชากรทั่วไป

สรุป
ปัจจุบัน ICSI นั้นได้เปลี่ยนแนวทางในการรักษาภาวะมีบุตรยากในฝ่ายชายไปโดยสิ้นเชิง ในขณะที่ไม่ได้เป็นการสิ้นสุดการตรวจหาสาเหตุของการมีบุตรยาก หรือการรักษาด้วยยาหรือการผ่าตัด แต่เป็นสิ่งช่วยสร้างความมั่นใจให้ว่าเมื่อการรักษาเหล่านั้นไม่ได้ผลยังมีวิธีการช่วยเหลือการเจริญพันธุ์ที่ได้ผลดีอยู่ อย่างไรก็ตามการทำ ICSI ควรกระทำในผู้ป่วยที่มีข้อบ่งชี้ที่เหมาะสมเท่านั้น เนื่องจากยังไม่ได้มีข้อมูลการรายงานผลการติดตามผู้ที่เกิดจากวิธีการในในวัยผู้ใหญ่และวัยชรา ซึ่งยังต้องใช้ระยะเวลาอีกยาวนาน



Create Date : 05 กรกฎาคม 2553
Last Update : 5 กรกฎาคม 2553 16:18:37 น. 0 comments
Counter : 902 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 
 
 

Nomadus
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




ประวัติการศึกษา
-ปริญญาตรีพยาบาลศาสตร์บัณฑิต คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น 1992 - 1996
-Certificate of Workshop on Professional Counseling, National University Hospital, Singapore, April 2000
-Certificate of CGFNS Certification Program, the Commission on Graduates of Foreign Nursing School, Philadelphia, Pennsylvania, United States of America, September 2003

ประวัติการทำงาน
2006 – ปัจจุบัน Managing Director, Fertility Center Co.,Ltd
1999 - 2005 Blastocyst Center, Infertility Counselor: ให้คำปรึกษาแก่คู่สมรสเกี่ยวกับการรักษาภาวะมีบุตรยาก และอนามัย การเจริญพันธุ์
1996 - 1999 Newborn Intensive Care Unit, Incharged Nurse: ดูแลทารกแรกเกิดอาการปกติ และทารกแรกเกิดอาการวิกฤตในหอผู้ป่วยทารกแรกเกิด และให้คำแนะนำปรึกษาในการเลี้ยงดูทารกแก่บิดามารดา
[Add Nomadus's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com
pantip.com pantipmarket.com pantown.com