ภาพจาก อัลตร้าซาวด์ 4 มิติ

อายุครรภ์ 7 สัปดาห์ค่ะ เห็นแขนละค่ะ




 

Create Date : 08 พฤษภาคม 2554    
Last Update : 8 พฤษภาคม 2554 13:44:47 น.
Counter : 1064 Pageviews.  

การตรวจครรภ์ด้วยอัลตร้าซาวด์ 4 มิติ

การตรวจครรภ์ด้วยอัลตร้าซาวด์ 4 มิติ
อัลตร้าซาวด์นั้นเป็นคลื่นเสียงชนิดหนึ่ง ซึ่งมีความถี่สูงเกินกว่า 20,000 Hz คลื่นเสียงอัลตร้าซาวด์นี้ปัจจุบันได้ถูกนำมาพัฒนาเป็นเครื่องมือใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆมากมาย รวมทั้งในทางการแพทย์ ซึ่งได้พัฒนาอัลตร้าซาวด์มาใช้ในการตรวจวินิจฉัยโรคต่างๆ จนกลายมาเป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์มหาศาลสำหรับแพทย์และผู้ป่วย

อัลตร้าซาวด์ 4 มิติ ทำงานอย่างไร?
หลักการทำงานของเครื่องอัลตร้าซาวด์ก็คือ เครื่องจะทำการส่งคลื่นเสียงอัลตร้าซาวด์ออกไปจากหัวตรวจ ผ่านผิวหนังลงไปยังเนื้อเยื่อที่อยู่ภายในร่างกาย แล้วสะท้อนกลับออกมา แต่เนื้อเยื่อต่างๆในร่างกายของเรานั้นมีความสามารถในการดูดซับคลื่นอัลตร้าซาวด์ไม่เท่ากันจึงสะท้อนคลื่นกลับออกมาแตกต่างกัน หัวตรวจจะทำหน้าที่รับสัญญาณคลื่นเสียงที่สะท้อนกลับมาในระดับต่างๆ และคอมพิวเตอร์ที่อยู่ในเครื่องอัลตร้าซาวด์จะทำการประมวลสัญญาณที่สะท้อนกลับมาและสร้างเป็นภาพขึ้นมาได้
อัลตร้าซาวด์แบบ 2 มิติ คือ ภาพที่มีความกว้างและความยาว หรือภาพตัดขวางตามแนวของคลื่นเสียงที่ถูกส่งออกไป ซึ่งจะสามารถมองเห็นได้ทีละระนาบในแต่ละครั้ง แม้ว่าภาพที่จะได้จะให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์มาก แต่ภาพที่เห็นจะดูไม่เหมือนทารก แต่ในเครื่อง อัลตร้าซาวด์ สมัยใหม่นั้นเครื่องจะเก็บสะสมปริมาตรของเสียงที่สะท้อนออกมาหากหัวตรวจในแบบดิจิทัล และแสดงภาพออกมาเป็นภาพ 3 มิติ ซึ่งมีความลึกของภาพ ทำให้ภาพของทารกดูเหมือนจริงมากยิ่งขึ้นและยิ่งไปกว่านั้นเครื่องตรวจ อัลตร้าซาวด์ 4 มิติ ยังสามารถเก็บภาพ 3 มิติแต่ละภาพไว้แล้วนำมาแสดงผลเรียงต่อกันกลายเป็นภาพเคลื่อนไหวเสมือนเหตุการณ์จริงที่เกิดขึ้นในขณะนั้น จึงเรียกภาพที่เห็นนี้ว่า Real time ด้วยเทคโนโลยี อัลตร้าซาวด์ 4 มิติ นี้จึงช่วยให้เราสามารถศึกษาพฤติกรรมต่างๆ ของทารกในครรภ์ได้อย่างชัดเจน

ข้อดีของการตรวจอัลตร้าซาวด์ 4 มิติ
• ระยะเวลาในการตรวจครรภ์สั้นลง เนื่องจากสามารถมองเห็นร่างกายของทารกและอวัยวะต่างๆ ได้จากภาพที่เก็บไว้ในคอมพิวเตอร์
• อวัยวะภายนอกของทารกในครรภ์สามารถมองเห็นได้ชัดเจนกว่าการตรวจด้วยอัลตร้าซาวด์ 2 มิติ เช่น ใบหน้า แขน ขา นิ้วมือ
• พฤติกรรมต่างๆ ของทารกในครรภ์สามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจน ซึ่งการตรวจด้วย อัลตร้าซาวด์ 2 มิติ อาจมองเห็นได้ยาก หรือไม่อาจมองเห็นได้ ยกตัวอย่างเช่น สามารถมองเห็นทารกกำลังหาว ดูดนิ้ว ยิ้ม กลืนน้ำคร่ำ กระพริบตา หรือขยับนิ้วมือ
• ความผูกพันในครอบครัวระหว่างพ่อแม่ลูกเริ่มก่อตัวขึ้นตั้งแต่ทารกยังอยู่ในครรภ์

อัลตร้าซาวด์ 4 มิติ ตรวจอะไรได้บ้าง?การตวจ อัลตร้าซาวด์ 4 มิติ แม้ว่าจะนำมาซึ่งความปลื้มปิติของคุณพ่อคุณแม่และสมาชิกในครอบครัว แต่ควรพึงระลึกว่าการ อัลตร้าซาวด์ 4 มิติ มิใช่แค่เป็นการตรวจเพื่อความบันเทิงสุขภาพของทารกในครรภ์จะได้รับความสนใจเป็นอันดับแรก และแพทย์จะทำการประเมินว่าทารกมีการเจริญเติบโต และมีพัฒนาการใน ครรภ์เหมาะสม ซึ่งรวมถึง
• ตำแหน่ง ทารก สายสะดือ และปริมาณน้ำคร่ำที่อยู่ล้อมรอบ ทารก
• โครงสร้างกะโหลกศรีษะและสมอง ทารก
• หัวใจ และการไหลเวียนเลือดของ ทารก
• กระดูกสันหลัง กระเพาะอาหาร กระเพาะปัสสาวะ และไตของ ทารก
• แขน ขา มือ เท้า และนิ้ว
• ใบหน้า และอวัยวะต่างๆ บนใบหน้าของ ทารก
• เพศของทารก (หากต้องการให้แจ้งให้ทราบ)
• อัตราการเจริญเติบโตของทารก ขนาดรอบศีรษะ ความยาวและน้ำหนัก

อายุครรภ์ที่เหมาะสมในการตรวจอัลตร้าซาวด์ 4 มิติ
ทุกช่วงของอายุครรภ์สามารถทำการตรวจด้วยอัตร้าซาวด์ 4 มิติได้ ในช่วงอายุครรภ์น้อยๆ จะช่วยให้สามารถมองเห็นภาพของ ทารกทั่วร่างกาย ในขณะที่การตรวจในช่วงที่อายุครรภ์มากจะช่วยให้มองเห็นรายละเอียดต่างๆ ของร่างกายของทารกได้มากขึ้น เนื่องจากมีการพัฒนาอวัยวะต่างๆ ของร่างกายไปมาก อย่างไรก็ตามสำหรับการตั้งครรภ์เดี่ยวช่วงอายุครรภ์ที่จะให้ภาพที่ดีที่สุดจะอยู่ในช่วงอายุครรภ์ 26 - 33 สัปดาห์ สำหรับการตั้งครรภ์แฝดช่วงอายุครรภ์ 24 - 28 สัปดาห์




 

Create Date : 08 กรกฎาคม 2553    
Last Update : 8 กรกฎาคม 2553 10:25:43 น.
Counter : 519 Pageviews.  

การผ่าตัดมดลูกผ่านกล้อง

(Total Laparoscopic Hysterectomy)
ในแต่ละปีมีผู้หญิงไทยไม่น้อยกว่า 4 หมื่นราย จะถูกตัดมดลูกออกไป และ 80% ของผู้ป่วยมีอายุระหว่าง 40 ถึง 59 ปี จึงถือได้ว่าการตัดมดลูกเป็นงานประจำที่สูตินรีแพทย์ต้องปฏิบัติอยู่เสมอเนื่องจาก โรคที่เกิดขึ้นที่มดลูกหรือความผิดปกติที่จำเป็นต้องตัดมดลูกมีอยู่หลายสาเหตุ ปัจจุบันวิวัฒนาการทางการแพทย์ที่มีมาอย่างต่อเนื่อง ช่วยให้การตัดมดลูกนี้เป็นหัตถการที่มีความปลอดภัยสูง คนไข้เจ็บตัวน้อยลง และมีระยะเวลาฟื้นตัวเร็ว สามารถผ่าตัดมดลูกออกผ่านทางรูเล็กๆขนาด 1 เซนติเมตร โดยไม่ต้องเปิดแผลใหญ่ที่หน้าท้องได้อย่างง่ายดาย
มดลูก คืออวัยวะสำหรับทำหน้าที่ในการตั้งครรภ์แบ่งออกเป็น 3 ส่วนคือ
ตัวมดลูก เป็นส่วนที่ส่วนที่ใหญ่ที่สุด มีหน้าที่ห่อหุ้มตัวอ่อนเวลาตั้งครรภ์ มีเยื่อบุมดลูกอยู่ภายใน สำหรับให้ตัวอ่อนฝังตัวเกาะอยู่ และชั้นกล้ามเนื้อมดลูกอยู่ภายนอก
ปากมดลูก ส่วนล่างลงมา มีหน้าที่เป็นทางเข้าออกเชื่อมต่อระหว่างโพรงมดลูกและช่องคลอด
ท่อนำไข่ มี 2 ข้าง ทำหน้าที่เป็นที่ปฏิสนธิของไข่และอสุจิ และเป็นท่อลำเลียงตัวอ่อนเข้ามาในโพรงมดลูก
ส่วนอวัยวะอื่นที่ไม่ใช่มดลูกแต่ติดอยู่กับมดลูก คือ รังไข่ มี 2 ข้าง ซ้าย - ขวา ทำหน้าที่ 2 อย่าง คือผลิตเซลล์ไข่ และผลิตฮอร์โมนเพศสตรี เพื่อให้ร่างกายและจิตใจคงความเป็นสตรีที่สมบูรณ์
ความหมายของคำว่า “ตัดมดลูก”
คำว่า “ตัดมดลูก” โดยทั่ว ๆ ไป หมายถึง การตัดเอามดลูกและปากมดลูกออก แต่ในทางการแพทย์อาจแบ่งออก เป็นสามประการคือ
1. การตัดมดลูกและปากมดลูกออก (Total Hysterectomy) เหลือรังไข่ไว้ 1 ข้างหรือทั้ง 2 ข้าง เพื่อให้คงการทำงานที่สร้างฮอร์โมนของรังไข่ไว้ เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง และเข้าสู่ภาวะวัยทองตามธรรมชาติ
2. ตัดเฉพาะส่วนของมดลูกเหลือปากมดลูกไว้ (Subtotal Hysterectomy) วิธีนี้ทำน้อยมาก อาจจะทำในกรณีที่การตัดปากมดลูกเอาออกยาก บางคนเชื่อว่าการคงเก็บปากมดลูกไว้จะช่วยป้องกันการหย่อนของช่องคลอดที่เหลืออยู่ และอาจเกี่ยวข้องกับความรู้สึกทางเพศของสตรี มีการศึกษาพบว่า การตัดแบบเหลือปากมดลูกไว้ ทำได้ง่ายกว่าตัดมดลูกและปากมดลูกทั้งหมด อย่างไรก็ตามกรณีที่มีปากมดลูกเหลืออยู่ ก็มีโอกาสเกิดมะเร็งปากมดลูกได้เหมือนเดิม ดังนั้นจึงต้องมีการตรวจมะเร็งปากมดลูกประจำปีเหมือนปกติ
3. การตัดมดลูกเหมือนแบบที่ 1 หรือ แบบที่ 2 แต่เอารังไข่ออกไปด้วยทั้ง 2 ข้าง (Total Abdominal Hysterectomy-Bilateral Salpingo-Oopherectomy)
ความแตกต่างของแบบนี้ จาก 2 แบบแรก คือจะไม่มีรังไข่สำหรับผลิตฮอร์โมนเพศ โดยเฉพาะที่สำคัญคือ เอสโตรเจน (Estrogen) อยู่อีกต่อไป มักจะทำในกรณีที่อายุมากแล้ว รังไข่หมดหน้าที่แล้ว หรือรังไข่มีพยาธิสภาพ หรือมีเนื้องอกมะเร็งที่อื่น ที่ฮอร์โมนเอสโตรเจน จะไปทำให้มันลุกลามมากขึ้น วิธีการนี้จะทำให้ร่างกายขาดฮอร์โมนเอสโตรเจน เหมือนกับคนที่หมดระดูแล้ว ซึ่งจะต้องพิจารณาถึงการให้ฮอร์โมนทดแทนต่อไป
สำหรับวิธีการผ่าตัดมดลูก มี 3 วิธี คือ
1. การผ่าตัดทางหน้าท้อง (Total Abdominal Hysterectomy) เป็นวิธีผ่าตัดที่ทำกันเป็นส่วนใหญ่เพราะทำได้ง่าย คือ การกรีดแผลที่หน้าท้องยาว 6 - 8 นิ้ว และใช้เครื่องมือถ่างขยายเปิดหน้าท้อง และทำการผ่าตัดเอามดลูกออกทางหน้าท้อง แล้วจึงเย็บปิด แผลที่เกิดขึ้นทางหน้าท้องจะเหมือนกับแผลผ่าตัดคลอด ถึงแม้ปัจจุบันจะมีการผ่าตัดตามแนว บิกีนีไลน์ เพื่อความสวยงามของหน้าท้อง แต่บาดแผลที่ยาวถึง 6 - 8 นิ้ว ก็ส่งผลให้เกิดความเจ็บปวด และต้องพักฟื้นร่างกายนาน 1-2 สัปดาห์ กว่าจะเริ่มทำงานเบาๆได้ และอาจต้องใช้เวลานานเป็นเดือนกว่าจะสามารถมีกิจวัตรประจำวันกลับมาเป็นปกติ
2. การผ่าตัดทางช่องคลอด (Vaginal Hysterectomy) คือ การเอาก้อนมดลูกผ่านทางช่องคลอด วิธีนี้ไม่มีแผลทางหน้าท้อง แต่ทำยากกว่าวิธีแรก และมีข้อจำกัด เนื่องจากขนาดของช่องคลอด และความผิดปกติบางอย่างมีผลทำให้ไม่สามารถทำวิธีนี้ได้ เช่น มีก้อนเนื้องอกที่มดลูกขนาดใหญ่หรือจำนวนมาก มีภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ และมีพังผืดในช่องท้องที่เกิดจากการได้รับการผ่าตัดช่องท้องในอดีต แพทย์มักเลือกทำกรณีที่มีมดลูกหย่อน มดลูกมีขนาดเล็กและไม่มีพังผืดในช่องท้อง แต่ข้อดีของวิธีนี้ คือ ความเจ็บปวดน้อยกว่า ภาวะแทรกซ้อนน้อยกว่า และระยะฟื้นตัวสั้นกว่าวิธีแรก
3. การผ่าตัดโดยใช้กล้องส่องช่องท้อง (Laparoscopic Hysterectomy) คือการเจาะช่องท้องเป็นรูเล็ก ๆ 3 รู แล้วใช้เครื่องมือพิเศษเข้าไปตัดมดลูก แบ่งออกเป็นอีกสองวิธีย่อย
3.1 เมื่อตัดมดลูกแล้วนำมดลูกออกทางช่องคลอด (Laparoscopy-assisted vaginal hysterectomy)
3.2 เมื่อตัดมดลูกแล้วใช้เครื่องมือย่อยเอามดลูกออกทางรูเล็ก ๆ ทางหน้าท้อง (Total Laparoscopic Hysterectomy) วิธีนี้ทำได้แม้มดลูกไม่หย่อน หรือมดลูกมีขนาดใหญ่ หรือมีก้อนเนื้องงอกขนาดใหญ่

ข้อดีของการผ่าตัดมดลูกผ่านกล้อง (Total Laparoscopic Hysterectomy)
การผ่าตัดโดยใช้กล้องส่องลงไปในช่องท้อง โดยการเจาะช่องท้องเป็นรูเล็ก ๆ 3 รู แล้วใช้เครื่องมือพิเศษที่มีวิวัฒนาการทางการแพทย์อันทันสมัย ช่วยให้แพทย์สามารถนำมดลูกทั้งอันย่อยออกมาผ่านแผลเล็กๆยาวเพียง 1 เซนติเมตรเท่านั้น วิวัฒนาการทั้งในด้านเทคนิคและเครื่องมือต่างๆ ส่งผลให้การผ่าตัดมดลูกผ่านกล้องนั้น มีผลลัพท์ที่ดีขึ้นเป็นอย่างมาก ทั้งทางด้านความปลอดภัยสูงขึ้น ภาวะแทรกซ้อนที่น้อยลง และการฟื้นตัวเร็ว หลังจากการผ่าตัดผู้ป่วยอาจไม่จำเป็นต้องนอนพักในโรงพยาบาล ถ้าในกรณีที่มีพยาธิสภาพมากก็สามารถพักผ่อนในโรงพยาบาลหลังผ่าตัดเพียงประมาณ 1-2 วัน เท่านั้น และสามารถกลับไปทำงานใด้ใน 3 – 4 วัน นอกจากนี้ยังสามารถลดความเจ็บปวดจากบาดแผลที่เล็กลงมาก
นอกจากนี้การผ่าตัดมดลูกผ่านกล้อง (Total Laparoscopic Hysterectomy) ยังสามารถทำการผ่าตัดได้ในหลายกรณี แม้ในกรณีที่วิธีที่ 2 ทำไม่ได้ ข้อเสียคือต้องใช้ เครื่องมือพิเศษ ส่งผลให้ค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดสูงกว่า แต่ค่าใช้จ่ายในการพักฟื้นที่มีจำนวนวันสั้นกว่าจึงมีราคาต่ำกว่า

ข้อบ่งชี้ของการผ่าตัดมดลูก
เนื้องอกมดลูก เป็นความผิดปกติที่พบได้มากที่สุด เปรียบได้ว่าในสตรี 1 ใน 3 คนจะเป็นเนื้องอกมดลูก แต่ใช่ว่าเป็นเนื้องอกทุกรายต้องตัดมดลูกออก เนื้องอกขนาดเล็ก และไม่มีภาวะแทรกซ้อน อาจไม่ต้องทำการผ่าตัด แต่ถ้าเนื้องอกมีขนาดใหญ่ หรือมีผลกระทบให้มี เลือดออก หรือไปกดทับอวัยวะข้างเคียง ก็จำเป็นต้องผ่าตัดมดลูกออก
สภาวะที่มีความผิดปกติกับเยื่อบุโพรงมดลูก หรือมีเลือดออกที่รักษาด้วยยาไม่หายก็จะพิจารณาผ่าตัดเอามดลูกออก และภาวะพังผืดที่ยึดติดระหว่างมดลูกและอวัยวะในช่องเชิงกรานกับลำไส้
ความผิดปกติที่ปากมดลูกบางชนิดก็เป็นเครื่องบ่งชี้ในการที่จะตัดมดลูกออก โดยเฉพาะการกลายเป็นมะเร็งของเนื้อเยื่อบริเวณปากมดลูกระยะเริ่มต้น

จะมีผลอย่างไรหลังการผ่าตัดมดลูกผ่านกล้อง
หลังผ่าตัดจะไม่มีประจำเดือน และไม่สามารถมีลูกได้แต่รังไข่ก็ยังมีการสร้างฮอร์โมน และตกไข่ได้เป็นรอบ ๆ เช่นเดิม ร่างกายยังคงแข็งแรง ผิวพรรณยังคงสดใสเนื่องจากยังมีฮอร์โมนเหมือนปกติ ความรู้สึกทางเพศโดยทั่วไปไม่เปลี่ยนแปลง และการกลับไปทำงานสามารถทำงานเบา ๆ ได้ภายใน 3 – 4 วัน และสามารถออกกำลังกายได้หลังการผ่าตัด 1 เดือน
กรณีที่รังไข่ถูกตัดออกไปพร้อมกับมดลูก
การตัดรังไข่ออกไปจะทำให้ฮอร์โมนของรังไข่หายไปด้วย ทำให้เกิด “ภาวะวัยทอง” (MENOPAUSE) ซึ้งอาการอาจเกิดขึ้นรุนแรงกว่าการหมดระดูตามธรรมชาติ เพราะตามธรรมชาติจะขาดฮอร์โมนแบบค่อยเป็นค่อยไปไม่หมดทันทีทันใด ทำให้ร่างกายปรับตัวตามสภาพ แต่เมื่อมีการตัดรังไข่ออกไปด้วย จะส่งผลให้ร่างกายขาดฮอร์โมนทันที และอาจมีอาการ ร้อนวูบวาบเนื้อตัว นอนไม่หลับ อารมณ์แปรปรวน เหนื่อยอ่อน และอาการซึมเศร้า และส่งผลในระยะยาว คือ มีภาวะกระดูกบาง กระดูกกร่อน ช่องคลอดแห้งบาง เจ็บเวลามีเพศสัมพันธ์ ความสนใจทางเพศลดลง กระเพาะปัสสาวะแห้ง อักเสบง่าย และอุบัติการณ์เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดมีมากขึ้น
อาการต่าง ๆ ดังกล่าวแล้ว เกิดจากการขาดฮอร์โมนเอสโตรเจนจากรังไข่ การป้องกันคือการได้ฮอร์โมนเอสโตรเจนทดแทนซึ่งมีทั้งชนิด รับประทาน และครีมทาผิว การออกกำลังกายและการรับประทานแคลเซียมเสริม ก็มีส่วนสำคัญในการป้องกันกระดูกพรุน ส่วนการได้รับยาเมื่อไร อย่างไร นานเท่าไร ควรจะปรึกษากับแพทย์ที่ดูแล หลักการคือให้เร็วที่สุดขนาดยาที่พอเหมาะและให้นานที่สุด ถ้าหยุดยาเมื่อไร ผลจากการขาดฮอร์โมนก็จะเกิดขึ้นใหม่ ดังนั้นถ้าผู้ป่วยคิดจะหยุดยาควรปรึกษากับแพทย์ที่ดูแลก่อนเสมอ




 

Create Date : 05 กรกฎาคม 2553    
Last Update : 5 กรกฎาคม 2553 16:31:57 น.
Counter : 351 Pageviews.  

 
 

Nomadus
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




ประวัติการศึกษา
-ปริญญาตรีพยาบาลศาสตร์บัณฑิต คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น 1992 - 1996
-Certificate of Workshop on Professional Counseling, National University Hospital, Singapore, April 2000
-Certificate of CGFNS Certification Program, the Commission on Graduates of Foreign Nursing School, Philadelphia, Pennsylvania, United States of America, September 2003

ประวัติการทำงาน
2006 – ปัจจุบัน Managing Director, Fertility Center Co.,Ltd
1999 - 2005 Blastocyst Center, Infertility Counselor: ให้คำปรึกษาแก่คู่สมรสเกี่ยวกับการรักษาภาวะมีบุตรยาก และอนามัย การเจริญพันธุ์
1996 - 1999 Newborn Intensive Care Unit, Incharged Nurse: ดูแลทารกแรกเกิดอาการปกติ และทารกแรกเกิดอาการวิกฤตในหอผู้ป่วยทารกแรกเกิด และให้คำแนะนำปรึกษาในการเลี้ยงดูทารกแก่บิดามารดา
[Add Nomadus's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com
pantip.com pantipmarket.com pantown.com