การรักษาภาวะมีบุตรยากด้วยการใช้ยาและการผ่าตัด

ความเข้าใจในแนวทางการรักษาภาวะมีบุตรยากที่มีอยู่ในปัจจุบันนั้นช่วยให้สามารถบริหารจัดการการรักษาภาวะมีบุตรยากได้ง่ายมากขึ้น และทำให้ง่ายต่อการแยกประเภทผู้ป่วยว่าใครจะได้รับประโยชน์จากวิธีการรักษาแบบใด และใครจะไม่ได้รับประโยชน์จากวิธีการรักษาแบบใด การตรวจวินิจฉัยพื้นฐานเพื่อหาสาเหตุของภาวะมีบุตรยากนั้นจะช่วยให้แยกสาเหตุของความผิดปกติหรือปัญหาของแต่ละรายได้อย่างชัดเจนก่อนที่จะเสนอแนวทางการรักษาให้
สำหรับผู้มีบุตรยากบางรายซึ่งได้รับการักษามากมายหลายวิธี แต่ส่วนใหญ่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นประโยชน์ต่อการรักษาภาวะมีบุตรยากของคู้สมรสรายนั้น ผลของการใช้วิธีการที่ไม่เหมาะสมและไม่เป็นประโยชน์นั้นทำให้การรักษาภาวะมีบุตรยากยาวนานมากเกินไป เมื่อฝ่ายหญิงมีอายุมากขึ้นก็จะทำการรักษาได้ยากมากยิ่งขึ้น ถึงแม้จะใช้วิธีที่เหมาะสมหรือวิธีที่จะได้ผลสำเร็จสูงที่สุดแล้วก็ตาม นอกจากนี้การให้การรักษาโดยการผ่าตัดที่ไม่เหมาะสมจะส่งผลเสียมากขึ้นไปอีก และทำให้เกิดพังผืดขึ้นในอุ้งเชิงกรานซึ่งส่งผลกระทบต่อรังไข่และท่อนำไข่ด้วย
ความหมายของการรักษาภาวะมีบุตรยากนั้นอาจหมายถึง การให้การรักษาด้วยยา การรักษาด้วยการผ่าตัด และ/หรือการช่วยการเจริญพันธุ์ สำหรับในบทนี้จะกล่าวถึงเพียงสองอย่างแรกเท่านั้น สำหรับเทคโนโลยีช่วยเหลือการเจริญพันธุ์นั้นจะได้กล่าวถึงโดยละเอียดในบทต่อไป

การรักษาในฝ่ายหญิง
เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis)
การรักษาภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ในผู้หญิงที่ต้องการมีบุตรหรือผู้ที่ยังไม่แต่งงานและยังไม่มีบุตรกับผู้หญิงที่ไม่ต้องการมีบุตรหรือมีบุตรเพียงพอแล้วนั้นแตกต่างกันมาก ดังนั้นในผู้ที่ต้องการมีบุตรการรักษาจะต้องเป็นไปในแนวทางที่ไม่ทำให้ภาวะมีบุตรยากเลวร้ายลงไปอีก และไม่ทำให้มีบุตรยากเป็นระยะเวลานาน
การรักษาด้วยยาเป็นวิธีการรักษาภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ใช้กันโดยทั่วไป และมียาหลายชนิดที่ใช้ในการรักษา เช่น การให้ฮอร์โมนเพื่อให้เนื้อเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่นั้นเหี่ยวและฝ่อไป นอกเหนือไปจากผลโดยตรงต่อเนื้อเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ การรักษาด้วยยาส่วนใหญ่จะมีจุดมุ่งหมายในการยับยั้งการตกไข่ ซึ่งก็คือการเหนี่ยวนำให้ภาวะที่คล้ายกับภาวะหมดประจำเดือน เพื่อที่จะนำไปสู่การเหี่ยวและฝ่อไปของเนื้อเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่
การรักษาด้วยการผ่าตัด มุ่งหวังที่จะทำการตัดเนื้อเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ออกไป เลาะพังผืดที่เกิดขึ้นจากเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ออก และซ่อมแซมอวัยวะถายในอุ้งเชิงกรานที่ได้รับความเสียหาย สำหรับผู้หญิงที่ไม่ต้องการมีบุตรแล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่ออายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป แพทย์อาจพิจารณาทำการตัดรังไข่และท่อนำไข่ทั้งสองข้างออก และอาจพิจารณาตัดมดลูกออกด้วย อย่างไรก็ตาม การรักษาด้วยวิธีการเหล่านี้อาจทำให้ภาวะมีบุตรยากยาวนานขึ้น หรืออาจเกี่ยวข้องกับการผ่าตัดใหญ่ในอุ้งเชิงกราน โดยไม่สามารถรับประกันได้ว่าจะกลับมามีบุตรได้แน่นอนได้ ไม่มีแง่มุมใดของการรักษาภาวะมีบุตรยากที่จะปล่อยเวลาที่ผู้หญิงคนนั้นจะยังคงอยู่ในวัยเจริญพันธุ์ได้ให้เสียไปโดยเปล่าประโยชน์ แนวทางการรักษาผู้มีบุตรยากที่มีภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่นั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยดังต่อไปนี้คือ 1. คู่สามีภรรยาได้พยายามในการมีบุตรมานานเท่าใดแล้ว 2. คู่สามีภรรยาต้องการที่จะทำการรักษาภาวะมีบุตรยากต่อไปอีกนานเท่าใด 3. อายุของฝ่ายหญิง และ 4. คูสามีภรรยามีเศรษฐานะที่สามารถทำการรักษาด้วยเทคโนโลยีช่วยเหลือการเจริญพันธุ์หรือไม่

ปัญหาของท่อนำไข่
พังผืดที่ปรากฏอยู่โดยรอบท่อนำไข่ และอุดตันท่อนำไข่เป็นสองปัญหาสำคัญที่ต้องพิจารณาในที่นี้ การถือกำเนิดของเทคโนโลยีช่วยเหลือการเจริญพันธุ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการปฏิสนธิภายนอกร่างกาย (IVF) ทำให้การให้ความสำคัญในการผ่าตัดซ่อมแซมท่อนำไข่นั้นลดน้อยลงไป ทั้งนี้เนื่องจากโดยทั่วไปแล้วผลการผ่าตัดซ่อมแซมท่อนำไข่นั้นไม่ได้ผลดีนัก แพทย์บางส่วนเชื่อว่าการรักษาให้ผู้ป่วยตั้งครรภ์ด้วยการปฏิสนธิภายนอกร่างกาย (IVF) นั้นเป็นวิธีที่คุ้มค่าใช้จ่ายมากกว่าการพยายามผ่าตัดซ่อมแซมท่อนำไข่ แต่บางส่วนก็ยังเชื่อว่าการผ่าตัดจะทำให้เสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่า ข้อถกเถียงที่สำคัญก็คือ หากมีการผ่าตัดและสามารถแก้ไขท่อนำไข่ให้กลับมาใช้งานได้อีก ผู้ป่วยก็จะสามารถมีลูกได้เองเมื่อใดก็ได้ที่ต้องการ และการปฏิสนธิภายนอกร่างกาย (IVF) นั้นอาจจะไม่ประสบความสำเร็จในรอบการรักษาเดียวซึ่งอาจทำให้เสียค่าใช้จ่ายสูง ดังนั้นการผ่าตัดทางการช่วยเหลือการเจริญพันธุ์สมัยใหม่จึงมุ่งเน้นไปในการวินิจฉัยว่าผู้ป่วยรายใดจะได้รับประโยชน์จากการผ่าตัดซ่อมแซมแก้ไขท่อนำไข่ และผู้ใดที่ไม่มีโอกาสใช้ท่อนำไข่ได้อีก ในกรณีหลังนี้การปฏิสนธิภายนอกร่างกาย (IVF) จะถูกเลือกเป็นการรักษาในอันดับแรก
ปัจจัยที่ใช้ในการประเมินผลของการผ่าตัดท่อนำไข่ คือความรุนแรงและตำแหน่งของท่อนำไข่ที่มีความเสียหายนั่นเอง ผู้ป่วยที่มีการพยากรณ์โรคดีได้แก่กลุ่มที่มีพังผืดบางๆเพียงเล็กน้อยและท่อนำไข่ไม่อุดตัน ผู้ป่วยเหล่านี้จะมีอัตราการตั้งครรภ์สะสมได้ 60% ภายในเวลา 2 ปีภายหลังการผ่าตัด ในรายที่มีพังผืดหนาจะมีการพยากรณ์โรคไม่ดีเท่ากลุ่มแรก อีกทั้งการผ่าตัดเลาะพังผืดออกนั้น พังผืดยังมีแนวโน้มที่จะกลับเกิดขึ้นใหม่ได้อีก ในผู้หญิงที่มีการอุตันหรือความเสียหายของท่อในบางจุดคล้ายกับการทำหมันนั้นจะมีโอกาสที่จะทำการผ่าตัดซ่อมแซมท่อนำไข่แล้วกลับมาใช้ได้ผลมากกว่าแบบที่มีการเสียหายหรือมีการอุดตันของท่อนำไข่ตลอดทั้งแนวของท่อดังที่เกิดจากการอักเสบติดเชื้อในท่อนำไข่แบบเรื้อรัง หรือเป็นแล้วกลับเป็นอีกหลายครั้ง ปัจจัยอื่นๆที่ส่งผลต่อการตัดสินใจว่าจะทำการรักษาด้วยการผ่าตัดซ่อมแซมท่อนำไข่หรือจะใช้เทคโนโลยีช่วยเหลือการเจริญพันธุ์ด้วยวิธีการปฏิสนธิภายนอกร่างกาย (IVF) ได้แก่ อายุของฝ่ายหญิง ระยะเวลาในการมีบุตรยาก และปัญหาอื่นๆของภาวะมีบุตรยาก

การรักษาในฝ่ายชาย
การอุดตันของทางเดินตัวอสุจิ
การอุดตันของท่อทางเดินอสุจิอันเกิดจากการตัดท่อนำอสุจิในทำหมัน หรือจากภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดอื่นๆเช่นการผ่าตัดแก้ไขไส้เลื่อน หรือการตัดถุงน้ำที่อยู่ล้อมรอบอัณฑะออก สำหรับการแก้หมันด้วยกระบวนการ Vasovasostomy (วาโสวาสอสโตมี่) นั้นคือการตัดต่อท่อนำอสุจิ ส่วนที่ส่วนปลายของท่อนำอสุจิ (ที่ถูกตัดออกจากกันจากการทำหมัน) ที่ตันนั้นจะถูกตัดออก และนำปลายของท่อทั้งสองด้านมาเย็บต่อกัน ส่วนวิธีการ Vasoepididymostomy (วาโสอีพิดิไดมอสโตมี่) นั้นจะนำส่วนปลายของท่อนำอสุจิ (ที่ถูกตัดออกจากการทำหมัน) ไปต่อเข้ากับท่อเก็บอสุจิ (ซึ่งจะต้องถูกผ่าออกเป็นรูเปิดเล็กๆก่อน) วิธีการเหล่านี้สามารถช่วยให้ผู้ที่มีการอุตันของท่อทางเดินอสุจิสามารถกลับมาเจริญพันธุ์ตามธรรมชาติได้ อย่างไรก็ตามยังมีผู้ป่วยจำนวนมากที่การผ่าตัดไม่ประสบผลสำเร็จ หรือไม่สามารถทำการผ่าตัดได้เนื่องจากลักษณะของท่อที่อุดตัน ในกลุ่มหลังนั้นรวมถึงผู้ที่มีท่อนำอสุจิผิดปกติหรือไม่มีท่อนำอสุจิมาแต่กำเนิด ซึ่งก่อนหน้านี้ผู้ป่วยกลุ่มนี้จะไม่สามารถมีบุตรได้ แต่ปัจจุบันเทคโนโลยีช่วยเหลือการเจริญพันธุ์สามารถนำเซลล์ของตัวอสุจิออกมาจากอัณฑะและนำมาทำการปฏิสนธิกับเซลล์ไข่ของภรรยาภายนอกร่างกายได้ จึงช่วยให้ผู้ป่วยกลุ่มนี้สามารถมีบุตรได้ด้วยพันธุกรรมของเขาเอง

สรุป
การพัฒนาของเทคโนโลยีช่วยเหลือการเจริญพันธุ์ที่มีความก้าวหน้าไปมากทำให้การรักษาภาวะมีบุตรยากด้วยยาหรือการผ่าตัดซึ่งทำไม่ได้ผลดีถูกลดบทบาทลง และช่วยให้การแยกแยะเกณฑ์การรักษาด้วยวิธีอื่นๆที่เหลืออยู่ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ไม่ได้ทำให้การรักษาด้วยวิธีพื้นฐานถูกลดความสำคัญลงไป แต่ช่วยให้สามารถเลือกผู้ป่วยที่จะทำการผ่าตัดได้อย่างเหมาะสมมากยิ่งขึ้น ดังนั้นการรักษาด้วยยาและการผ่าตัดจึงยังคงมีบทบาทสำคัญในการรักษาภาวะมีบุตรยาก



Create Date : 05 กรกฎาคม 2553
Last Update : 5 กรกฎาคม 2553 16:24:15 น. 0 comments
Counter : 1738 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 
 
 

Nomadus
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




ประวัติการศึกษา
-ปริญญาตรีพยาบาลศาสตร์บัณฑิต คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น 1992 - 1996
-Certificate of Workshop on Professional Counseling, National University Hospital, Singapore, April 2000
-Certificate of CGFNS Certification Program, the Commission on Graduates of Foreign Nursing School, Philadelphia, Pennsylvania, United States of America, September 2003

ประวัติการทำงาน
2006 – ปัจจุบัน Managing Director, Fertility Center Co.,Ltd
1999 - 2005 Blastocyst Center, Infertility Counselor: ให้คำปรึกษาแก่คู่สมรสเกี่ยวกับการรักษาภาวะมีบุตรยาก และอนามัย การเจริญพันธุ์
1996 - 1999 Newborn Intensive Care Unit, Incharged Nurse: ดูแลทารกแรกเกิดอาการปกติ และทารกแรกเกิดอาการวิกฤตในหอผู้ป่วยทารกแรกเกิด และให้คำแนะนำปรึกษาในการเลี้ยงดูทารกแก่บิดามารดา
[Add Nomadus's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com
pantip.com pantipmarket.com pantown.com