Group Blog
 
All blogs
 
เศรษฐศาสตร์ชาวบ้านฉบับแท็กซี่

ผมเคยวิเคราะห์สถานการณ์เศรษฐกิจไว้ตั้งแต่ตอนต้นปี (ประมาณช่วงเดือนเมษายน 2548) โดยใช้โมเดลมาตรฐาน (IS-LM-BP model) และทดลองใส่ภาวะการถดถอยอันเนื่องมาจากราคาน้ำมันลงไป (oil shock) (IS')

(อ่านวิธีการวิเคราะห์เศรษฐกิจโดยใช้โมเดลข้างต้น ได้ที่นี่



ก็พยากรณ์ตามภาพได้ว่า

  1. GDP จะถดถอยลง (จาก Y0 -> Y1)
  2. อัตราดอกเบี้ยจะลดลง (จาก r0 -> r1)
  3. ประเทศจะประสบกับปัญหาการขาดดุลการชำระเงินมากขึ้น (จาก B/P -> B/P')
  4. แต่เมื่อผ่านไปสักระยะเศรษฐกิจจะปรับตัวเข้าสู่จุดสมดุล ผลผลิตจะขยายตัวเพิ่มขึ้น ด้วยอานิสงส์จากการส่งออก (IS'') เพิ่มขึ้นเพราะในช่วงที่เกิด oil shock ค่าเงินจะตกทำให้สินค้าและบริการของประเทศเราในสายตาชาวโลกนั้นมีราคาถูกลง ชาวต่างประเทศจึงหันมาซื้อเพิ่มขึ้น (อันที่จริงผลแบบนี้ไม่ใช่เรื่องดี เพราะไม่ได้เกิดจากความสามารถในการแข่งขันที่เพิ่มขึ้น แต่เป็นลักษณะการปรับตัวทางเศรษฐกิจ)



เมื่อพิจารณาระดับราคาน้ำมันในตลาดโลกดังรูป



จะเห็นว่าราคาน้ำมันไต่ขึ้นตั้งแต่ช่วงเดือนกุมภาพันธ์แล้วไปปิดสูงสุดรอบหนึ่งที่ช่วงเมษายน แล้วก็ลดลงมาใหม่ จากนั้นคราวนี้ไต่ระดับยาวขึ้นไปจนถึงช่วงเดือนตุลาคม แล้วจึงค่อยปรับต่ำลงมา

ถ้าเป็นแบบนี้น่าจะพอวิเคราะห์ได้ว่า GDP ไตรมาสแรกของปี จะประสบกับการถดถอย (ตามการคาดการณ์จากโมเดลของเราข้างต้น) แต่ในไตรมาสถัดไป 2-3-4 น่าจะกลับมาขยายตัว ด้วยผลจากการที่ค่าเงินของเราอ่อนค่าลง (ทำให้ส่งออกได้มากขึ้น) ซึ่งก็เป็นไปตามนั้น


GDP หดตัวใน 1q2005 แต่เพิ่มขึ้นใน 2q2005 และ 3q2005


ด้วยผลจากค่าเงินบาทที่อ่อนค่าตามราคาน้ำมัน

แต่ตัวเลขต่อไปนี้ไม่เป็นไปตามการวิเคราะห์ เพราะมีปัจจัยอื่นแทรกซ้อนเข้ามา ซึ่งเราจะมาดูกันต่อไปนะครับ

เรื่องแรกคือภาวะเงินเฟ้อ อันเนื่องมาจากการที่ต้นทุนราคาน้ำมันซึ่งเป็นต้นทุนหลักในการขนส่ง (logistic) เพิ่มสูงขึ้น สินค้าอุปโภคบริโภคจึงเพิ่มขึ้นตามไปด้วย นี่จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ เรื่องนี้จะทำให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริง (คืออัตราดอกเบี้ยหักด้วยอัตราเงินเฟ้อ) เกิดภาวะติดลบ ถ้ายังจำได้การคาดการณ์ของเราก็ถูกต้อง r0-r1(r ตรงนี้คือ nominal interest rate) ด้วยปัญหานี้แบงค์ชาติจึงพยายามเข้ามาแก้ไขปัญหาด้วยการประกาศขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย (rp14) ตามธนาคารกลางสหรัฐ (fed fund rate) ไปติดๆ ซึ่งหม่อมอุ๋ยก็ประกาศเจตนารมย์ไว้แล้วว่าจะให้ ดอกเบี้ยที่แท้จริงกลับมาเป็นบวกให้ได้ภายในกลางปีหน้า (2549)



ผลจาก oil shock ยังส่งผลให้เกิดภาวะเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น


ตรงนี้ขอนอกเรื่องนิดครับ : มีความเห็นจากบางท่านวิจารณ์ว่าการที่แบงค์ชาติประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ก็เพื่อไม่ให้เงินไหลออกบ้าง หรือไม่ก็อาจจะทำให้สภาพคล่องส่วนเกินของธนาคารปล่อยไม่ออกบ้าง แต่มีความเห็นจากนักเศรษฐศาสตร์ลึกลับบางท่าน (ที่ใช้นามปากกาเข้ากับสมญานามของนักเศรษฐศาสตร์) ชี้ให้เห็นในอีกมุมหนึ่งว่า สภาพคล่องส่วนเกินที่แท้จริงของระบบธนาคารไทยไม่น่าจะมีแล้ว ภาวะเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นนั้นสะท้อนให้เห็นถึงความหามาได้ยากของเงินในบ้านเรา ดังนั้นการที่แบงค์ชาติขึ้นอัตราดอกเบี้ย ก็เท่ากับสะท้อนสภาพของความเป็นจริงของการขาดแคลนเงินในตลาดนั่นเอง...ลองอ่านดูนะครับ



แต่ถ้าเราสังเกตการเกิดของภาวะเงินเฟ้อดูให้ดีๆ จะเห็นว่าอันที่จริง มันไม่ไปตามจังหวะเวลาของการระดับราคาน้ำมันในตลาดโลก

ซึ่งสอดคล้องกับปรากฎการณ์อีกเรื่องหนึ่ง

คือการขาดดุลการค้า (trade balance) และการถดถอยของดุลการชำระเงิน (balance of payment, B/P)

อันที่จริงดุลการชำระเงิน ตามความรู้ทางเศรษฐศาสตร์ที่เราร่ำเรียนมา จะประกอบไปด้วย ดุลบัญชีเดินสะพัด (current account) และดุลเงินทุนเคลื่อนย้าย (capital account หรือ financial account)

ซึ่งดุลบัญชีเดินสะพัดก็จะประกอบด้วย รายรับรายจ่าย จากการค้าและการบริการของประเทศ



เมื่อพิจารณาจากรูปข้างบนนี้ จะเห็นว่าในแนวโน้มใหญ่ B/P (เส้นสีชมพู) เป็นไปตามที่คาดการณ์คือถดถอยลงอยู่ช่วงหนึ่ง แล้วก็กลับมาเพิ่มขึ้นในช่วงเดือนกันยายน ซึ่งถ้าหากวิเคราะห์ในรายละเอียดจะเห็นว่าองค์ประกอบหลักที่ทำให้ B/P เปลี่ยนแปลงเกิดจากดุลบัญชีเดินสะพัดเป็นหลัก (กราฟแท่งสีเทา) ในขณะที่ดุลบัญชีเงินทุนเคลื่อนย้าย (กราฟแท่งสีม่วง) โดยส่วนใหญ่จะเป็นบวก

สิ่งที่ผมบอกว่าผิดปกติก็คือการดีเลย์ของผลกระทบที่เกิดขึ้น มันยืดเวลาออกมาจากที่ควรจะเกิดขึ้น

ถ้าดูรูปดุลการค้า (อันเป็นองค์ประกอบหลักของดุลบัญชีเดินสะพัดอีกที) จะยิ่งเห็นชัดครับ


จะเห็นว่าดุลการค้าขาดดุลมาจนถึงเดือนมิถุนายน แล้วจึงมากระเตื้องในช่วงกันยายน

การบิดเบือนที่เกิดขึ้นทั้งหมด น่าจะเกิดมาจากนโยบายการชดเชยน้ำมันของรัฐบาล


ซึ่งส่งผลทำให้รัฐบาลต้องรับภาระในกองทุนน้ำมันอยู่ถึงเกือบ 1 แสนล้านบาท! จนต้องเตรียมออกพันธบัตรกองทุนน้ำมันเพื่อหาเงินมาใช้หนี้ดังกล่าว

ในความเห็นส่วนตัวของผม คิดว่ารัฐบาลเคยย่ามใจ (สังเกตดูในรูปข้างต้นครับ) มีอยู่ช่วงที่ใช้กองทุนน้ำมันเข้าไปแบกรับน้ำมันแล้วราคาลงมาทำให้ได้กำไรจากส่วนต่าง จึงคิดว่ายังพอชดเชยได้ แต่เผอิญอย่างที่เห็นราคาน้ำมันในรูปแรกของเรา ราคาน้ำมันพุ่งขึ้นไม่หยุด ในที่สุดก็ต้องยุติการชดเชยน้ำมัน

แต่เรื่องการชดเชยน้ำมันนั้นมาทำเอาช่วงหลังเลือกตั้งไปสักระยะหนึ่งครับ ลองดูราคาขายปลีกน้ำมันและราคาที่ควรจะเป็นที่นี่

เพราะถ้ายังจำกันได้ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์นั้นคือช่วงการเลือกตั้งทั่วไป และรัฐบาลต้องการให้ประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด จึงต้องอั้นราคาน้ำมันเอาไว้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำมันเศรษฐกิจอย่างน้ำมันดีเซล

แต่สุดท้ายรัฐบาลก็ต้องมาลอยตัวราคาน้ำมันอยู่ดี (แถมพกด้วยหนี้อีกเกือบหนึ่งแสนล้านบาท) เพราะในช่วงที่รัฐบาลให้การชดเชยราคาน้ำมันนั้นเอง ผู้บริโภคอย่างเราๆท่านๆ ก็ช่วยกันเผาผลาญน้ำมันเชื้อเพลิง (เพราะราคาน้ำมันไม่ได้สะท้อนความจริง) ปริมาณการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงก็เพิ่มขึ้นอย่างมาก และส่งผลกระทบไปถึงดุลการค้า (สะท้อนไปถึงดุลบัญชีเดินสะพัด และ ดุลการชำระเงินอีกทีนั่นแหละครับ)

ถ้ารัฐบาลใจกล้าลอยตัวน้ำมันตั้งแต่ที่ควรจะต้องทำ (คือช่วง มค 48) ป่านนี้เราอาจจะไม่มีหนี้แสนล้านที่ว่า (เอาเงินไปทำ mega project สบายไปแล้ว) แถมยังทำให้การบริโภคน้ำมันสะท้อนความเป็นจริง ทั้งการนำเข้าและการบริโภคน้ำมันก็จะลดลงมาอย่างอัตโนมัติเอง ได้ผลดีกว่าการรณรงค์ประหยัดพลังงานอย่างเดียวเป็นไหนๆ

แต่ก็อย่างว่าครับ ขืนทำแบบนี้รัฐบาลอาจจะไม่ชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทะลายเหมือนที่ผ่านมาก็ได้

ใีครที่อยากจะด่ารัฐบาลแบบมีหลักฐาน มีเหตุมีผลแบบเห็นๆ เรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน ช่วยเล่นเรื่องนี้หน่อยสิครับ เพราะข้อกล่าวหาเรื่องอื่นมันดูเบาและไร้น้ำหนักเหลือเกิน

เพราะพอรัฐบาลทำให้เศรษฐกิจย่ำแย่ (ในความรู้สึกของชาวบ้าน) เขาก็จะขุดเรื่องเลวร้ายของรัฐบาลขึ้นมาถล่มอยู่เสมอ ลองดูรัฐบาลชุดที่ผ่านๆมาก็ได้ครับว่ากี่รัฐบาลแล้วที่ต้องไปเพราะการบริหารเศรษฐกิจแล้วประสบปัญหา

ผมจึงคิดว่านี่เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้รัฐบาลประสบปัญหาวิกฤตศรัทธา เหมือนอย่างที่เราเห็นในช่วงที่ผ่านมา

คนรู้สึกว่ารัฐบาลชุดนี้โกงมากขึ้น จนกระทั่งอาจจะขายประเทศ ทั้งที่เรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน, เรื่องเผด็จการรัฐสภา ฯลฯ ก็ล้วนแล้วแต่เคยถูกนักวิชาการชำแหละมาในช่วง ทักษิณ 1 แล้วทั้งนั้น

ตรรกะของชาวบ้านอาจจะเป็นว่า ถ้ามีผลงานต่อให้โกงก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าไม่มีผลงาน(หรือผลงานลดลง) คุณก็ทำงานไม่คุ้มกับที่โกง

เพื่อให้ผมได้รับทราบข้อมูลในข้อเท็จจริงบ้าง (ไม่ใช่วิเคราะห์แต่ในกระดาษอย่างเดียว) ผมเลยได้โอกาสสอบถามแท็กซี่ในช่วงที่ผ่านมา

ก็ให้บังเอิญเสียว่า แท็กซี่ที่ผมนั่งมาทั้งสองคันนั่นเป็นแท็กซี่แบบเศรษฐกิจพอเพียง (แถมยังมีคันหนึ่งที่ได้ไปงานนายกฯพบแท็กซี่อีกต่างหาก) คือเขาไม่ค่อยประสบปัญหากับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำในช่วงที่ผ่านมา คือยอมรับว่ามีปัญหาบ้าง ข้าวของแพงขึ้น น้ำมันแพงขึ้น แต่ก็พยายามปรับตัว

ด้วยการปรับให้แท็กซี่ใช้ระบบก๊าซ ทั้งสองคันเลือก NGV แทนที่จะเป็น LPG แม้ว่าราคาค่าติดตั้งอุปกรณ์จะแพงกว่าและปั๊มที่ให้บริการมีปริมาณน้อยกว่า

แต่เนื่องจากเป็นระบบแบบสลับน้ำมันกับก๊าซได้ จึงไม่ค่อยมีปัญหา

ค่าน้ำมัน 400 กิโลเมตร ผมเติม gasohol 95 หมดไปเกือบ 1,000 บาท แต่ 400 กิโลเมตรสำหรับก๊าซหมดไปแค่ 200 บาทนิดๆ คิดดูเอาแล้วกันครับ

ส่วนเรื่องค่าใช้จ่าย ค่ากับข้าว ก็ใช้วิธีปรุงอาหารเอาเอง

ที่พักก็อาศัยเช่าร่วมกับเพื่อนบ้านที่รู้จักกัน (คนขับแท็กซี่ทั้งสองคันเป็นชาวจังหวัดเพชรบูรณ์) ราคาบ้านเช่า 4,000 บาท ก็จ่ายเพียง 1,000 บาท จึงไม่ค่อยเดือดร้อนเท่าใดนัก

ตกลงว่าแทนที่ผมจะได้ข้อเท็จจริงว่า เศรษฐกิจย่ำแย่หรือเปล่าในสายตาชาวบ้าน (แท็กซี่) ดันไปได้รู้ว่าเศรษฐกิจพอเพียงนี่ใช้ประยุกต์ไปได้หมด ไม่จำเป็นว่าจะต้องไปทำไร่ไถนา

เพียงแค่เราเพียงพอในการบริโภค รู้จักปรับตัวเข้ากับวิกฤตที่เกิดขึ้น ทำเศรษฐกิจให้มีความแข็งแรงทนทานต่อวิกฤต (resilient) แค่นี้เราก็อยู่รอดได้แล้ว


Create Date : 28 ธันวาคม 2548
Last Update : 28 ธันวาคม 2548 20:13:46 น. 6 comments
Counter : 749 Pageviews.

 
โอ้ว เดี๋ยวผมไปเรียกให้พวกเพื่อนผมที่มันอยากเข้าเศรษฐศาสตร์มาอ่านดีกว่าครับ

ผมอ่านไม่รู้เรื่องหรอก แหะๆๆ


โดย: nanoguy (nanoguy ) วันที่: 28 ธันวาคม 2548 เวลา:20:53:48 น.  

 
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า

"อะไรก็ไม่จริง เท่ากินข้าว"
ฮาฮา

สวัสดี(ยัง)ปีเก่าอยู่ครับ


โดย: a_somjai วันที่: 29 ธันวาคม 2548 เวลา:8:57:02 น.  

 
วิเคราะห์ได้น่าสนใจดีนะครับ

ที่ผมชื่นชอบในการวิเคราะห์นี้คงจะเป็นในแง่ของข้อมูลตัวเลขนะครับ ทำการบ้านมาดีจริงๆ เพราะลำพังเพียงแค่ IS-LM Model คิดว่าน้ำหนักไม่พอแหงมๆ

เขียนมาอีกละกันนะ จะเข้ามาติดตามอีกครับ


โดย: gelgloog IP: 61.47.107.55 วันที่: 11 มกราคม 2549 เวลา:17:45:11 น.  

 
ชอบเข้ามาอ่านค่ะ มีประโยชน์


โดย: VSr. วันที่: 15 มกราคม 2549 เวลา:0:01:55 น.  

 
คุณnanoguy: ยินดีที่มีประโยชน์นะครับ
คุณa_somjai: นึกถึงวลีอมตะของหม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร พระบิดาของการเกษตรสมัยใหม่ “เงินทองคือของมายา ข้าวปลาสิของจริง”
คุณgelgloog: ขอบคุณที่แวะเข้ามานะครับ ถ้ามีความเห็นอื่นๆก็แลกเปลี่ยนได้นะครับ
คุณVSr.: ยินดีที่บทความมีประโยชน์นะครับ


โดย: ฮันโซ วันที่: 18 มกราคม 2549 เวลา:17:58:03 น.  

 


โดย: การ์ตูน IP: 58.8.195.108 วันที่: 22 มีนาคม 2550 เวลา:10:40:09 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ฮันโซ
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




สหายสิกขา Lite version

สหายสิกขาตั้งคำถามกับการเป็นอยู่ของสรรพสิ่งตรงหน้า พร้อมกันนั้นก็เปิดรับแนวคิดของคำตอบในมุมมองที่แตกต่างอย่างเท่าเทียมกัน

สหายสิกขาจะมีความยินดียิ่ง หากคุณได้นำความรู้ที่ได้จุดประกายนี้ไปตีความต่อให้ลึกซึ้งยิ่งๆขึ้น เพราะยิ่งแลกเปลี่ยนยิ่งถกเถียงยิ่งสนทนาก็สามารถแตกประเด็นไปอีกได้มาก

สหายสิกขาต้องการกระตุ้นให้คนอ่านได้คิด และสัมผัสถึงขอบเขตที่ไม่สิ้นสุดแห่งจินตนาการ

พร้อมกันนั้นสหายสิกขา ก็พร้อมอยู่เป็นเพื่อนคู่คิด เพื่อนสนทนา เพื่อจับมือกันเรียนรู้ไปในโลกกว้าง ...ด้วยกัน

CC Developing Nations
Friends' blogs
[Add ฮันโซ's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.