Group Blog
 
All blogs
 

เนื่องในโอกาส การบรรพชาของ "สันติจิตโตภิกขุ"


สุวิชาโน ภะวัง โหติ
ผู้รู้ดีเป็นผู้เจริญ,

ทุวิชาโน ปะราภะโว
ผู้รู้ชั่วเป็นผู้เสื่อม,

ธัมมะกาโม ภะวัง โหติ
ผู้ใคร่ธรรมเป็นผู้เจริญ,

ธัมมะเทสสี ปะราภะโว
ผู้เกลียดชังธรรมเป็นผู้เสื่อม,

ขออโหสิกรรม และขออภัยในกรรมใดๆ ที่ล่วงเกินกันมา.




 

Create Date : 08 พฤศจิกายน 2550    
Last Update : 8 พฤศจิกายน 2550 14:21:01 น.
Counter : 662 Pageviews.  

ความรุนแรงในพม่า เรื่องที่ยากจะเลี่ยง

The Economist เพิ่งถามผู้อ่านในเว็บไซต์ของตัวเองวันก่อนนี้ว่า

Monks and the military : What will the junta do?

พระกับกองทัพ : แล้วพวกผู้นำทหารที่เป็นคณะปกครองจะเอาอย่างไร?

คำตอบก็ออกมาแล้ววันนี้






ภาพจากบีบีซี : Mood darkens in Burma


ทหารพม่าเริ่มใช้กองกำลังตำรวจปราบจราจล โดยการยิงแก็สน้ำตา และใช้กระบองทุบตีผู้เข้าชุมนุม มีการจับกุมตัวผู้ชุมนุมและแกนนำ ตลอดจนมีรายงานข่าวว่าเริ่มมีการยิงกราดใส่ฝูงชนที่ประท้วง (รายงานข่าววันนี้)

นี่คือสูตรของ การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของประเทศในเอเชีย (ที่ด้อยพัฒนา)

- ความขัดแย้งระหว่างความคิดแบบเสรีชน และการเผด็จการในการปกครอง หยั่งรากฝังลึก แต่ถูกกดทับ ด้วยระเบียบการปกครองและความเชื่อ
- การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ ที่กระทบกระเทือนเศรษฐกิจรากหญ้าอย่างรุนแรง อ่านเบื้องหลังการปรับราคาเชื้อเพลิงของพม่าได้ที่นี่
- การระดมมวลชนออกมาต่อต้าน โดยเริ่มจากคนจำนวนน้อย
- กลายเป็นการเดินขบวนครั้งใหญ่นับแสนคน ก่อนที่จะมีการจราจล
- ทหารทำการปราบปราม ผู้คนถูกจับกุม บาดเจ็บ ล้มตาย
- ประเทศกลับสู่ความสงบอีกครั้ง? หรืออาจจะไม่ใช่?




 

Create Date : 26 กันยายน 2550    
Last Update : 26 กันยายน 2550 17:54:53 น.
Counter : 751 Pageviews.  

สามวิจารณ์ของ ส. ศิวรักษ์ (เมื่อ ส. พูดถึง TKNS)

หนังสือปาจารยสาร เล่มใหม่ (ปีที่ 32 ฉบับที่ 1 กันยายน - ตุลาคม 2550) ลงบทความของ ส. ศิวรักษ์ ที่พูดถึง TKSN ของ Paul Handley pp. 80 - 82





สามวิจารณ์ที่ผมพูดถึงนั้น หมายถึงสิ่งที่ ส. เขียนวิจารณ์ไว้ในบทความ ซึ่งผมคิดว่าน่าสนใจดี เลยเอามาฝากกัน

1. ส. วิจารณ์ตัวเอง (ซึ่งเชื่อมโยงไปถึงหนังสือ The Devil's Discus ของ Rayne Kruger) , ส. เล่าว่า ในทัศนะของเขา หนังสือเล่มนี้ออกมาโดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ เกิดความประนีประนอมระหว่าง วัง กับ นายปรีดี พนมยงค์ แต่ ส. ชี้ว่าหนังสือเล่มนี้ไม่บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว เพราะตัวเขาเองยังเชื่อในคำโฆษณาชวนเชื่อว่า นายปรีดีเกี่ยวข้องกับกรณีการลอบปลงพระชนม์

นั่นจึงเป็นเหตุให้เขาเขียนวิจารณ์หนังสือเล่มนี้ใน สังคมศาสตร์ปริทัศน์ อย่างรุนแรง ซึ่งเป็นการวิจารณ์ทั้งผู้เขียนหนังสือ และตัวนายปรีดีด้วย โดยเหตุการณ์นี้ทำให้ ส. เป็นที่ชื่นชอบในแวดวงเจ้าขุนมูลนาย และทำให้นายปรีดี โกรธเขามาก ต่อมา ส. ก็เล่าว่า เขาจึงไถ่บาป ด้วยการเขียนหนังสือเกี่ยวกับนายปรีดี ซึ่งมีการแปลเป็นภาษาอังกฤษในชื่อ Powers That Be: Pridi Banomyong through the Rise and Fall of Thai Democracy

2. ในบทความนี้ ส. อ้างอิงหนังสือสามเล่ม คือนอกจาก TKNS และ The Devil's Discus แล้ว ก็ยังพูดถึง The Revolutionary King ของ William Stevenson อีกด้วย, ส. พูดถึงสั้นๆ เกี่ยวกับหนังสือเล่มนี้ว่า พยายามเชื่อมโยงเหตุการณ์ลอบปลงพระชนม์ว่าเป็นฝีมือของสายลับชาวญี่ปุ่น ชื่อว่า ทสึจิ มาซาโนบุ แต่ในทัศนะของ ส. แล้วเรื่องนี้ไม่น่าเชื่อถือ และเต็มไปด้วยข้อมูลที่ผิดพลาด แต่ก็ให้ hint ที่สำคัญว่า หนังสือเล่มนี้ทำให้เข้าใจพระเจ้าอยู่หัว ว่าเป็นบุคคลผู้โดดเดี่ยว และไม่ไว้วางใจใคร

3. ในส่วนหลักของบทความ ส. พูดถึง TKNS และเนื้อหาในหนังสือเล่มนี้เป็นหลัก

ส. ชมว่า Handley มีแหล่งข้อมูลอ้างอิงจำนวนมากทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ นอกจากนี้ยังมีความน่าสนใจที่มีการเชื่อมโยงระหว่าง วัง กับ วัด แต่ก็มีการอ้างอิงข้อมูลผิดพลาดเช่นกรณี สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส และมี hint ที่น่าสนใจคือ การที่สมเด็จพระราชชนนีเคยไปปฏิบัติสมาธิภาวนากับพระพิมลธรรม ในช่วงที่มีการประหารชีวิตจำเลยสามคน ในคดีลอบปลงพระชนม์ นอกจากนี้ Handley ก็ให้ข้อมูลที่สอดคล้องกับ Stevenson ในแง่ที่ว่า พระเจ้าอยู่หัวไม่เคยไว้ใจใคร พระองค์ถือว่าข้าราชบริพารและเหล่านายพลเท่านั้นที่เป็นพวก ทรงไม่ค่อยชื่นชมนักการเมืองยกเว้นพวกที่ศิโรราบให้กับพระองค์อย่างสิ้นเชิงเช่น นายธานินทร์ กรัยวิเชียร และ เปรม ติณสูลานนท์

ส. ยังไม่เห็นกับ Handley ในกรณีที่มอง พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์ ว่ามีฐานะเป็นผู้ฟื้นฟูพระเกียรติคุณของราชวงศ์ หากแต่ควรจะเป็น พระองค์เจ้าธานีนิวัต เสียมากกว่า

ส. แสดงความเห็นที่น่าสนใจตรงนี้เล็กน้อยว่า ในความเห็นของพระองค์เจ้าธานีฯ แล้ว เฉพาะสมาชิกของพระราชวงศ์เท่านั้นที่รู้ถึงการปกครองประเทศ และว่าหาก พระองค์เจ้าวรรณไวทยากร ไม่ร่วมมือกับคณะราษฎรภายหลังการอภิวัฒน์ในปี 2475 แล้ว คณะราษฎรก็ไร้ความสามารถในการบริหารประเทศ, ทั้งยังทรงไม่ไว้วางในนายปรีดี แม้จะเห็นว่าเป็นคนฉลาด และแม้ว่าภริยานายปรีดีกับ หม่อมของพระองค์มีความสัมพันธ์ทางสายโลหิตต่อกันก็ตาม

hint อีกเรื่องหนึ่งในบทความของ ส. กล่าวถึงการแทรกแซงของ ลอร์ดหลุยส์ เมาท์แบตตัน ในกรณีแผนการส่งพระเจ้าอยู่หัวไปรับการศึกษาที่อังกฤษ

ในส่วนท้ายๆของบทความ ส. แสดงทัศนะต่อพระราชวงศ์ และปิดท้ายด้วยข้อเขียนใน TKNS...

ปล. สามวิจารณ์ของผมคือ วิจารณ์ตนเอง, วิจารณ์ผู้เขียนหนังสือสามเล่ม (โดยเน้นไปที่ Handley), และวิจารณ์ subject ของหนังสือทั้งสามเล่มนั้น




 

Create Date : 24 กันยายน 2550    
Last Update : 24 กันยายน 2550 13:53:05 น.
Counter : 1170 Pageviews.  

ไม่มีนครใดในผืนพิภพที่จะเติมเต็มความฝันได้เท่านี้อีกแล้ว

หากคุณเป็นผู้บริหารเมืองขนาดย่อมเมืองหนึ่ง เมืองนี้ไม่มีทรัพยากรอื่นใด ผืนดินก็แห้งแล้งเป็นทะเลทราย ผู้คนที่อยู่อาศัยก็เป็นชนเผ่าเร่ร่อนเพียงไม่กี่หมู่บ้าน



วิดีโอยูทิวป์พูดถึงโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในดูไบ (ต้องรีบดูเพราะได้ข่าวว่าจะโดนกระทรวงไอซีทีปิดอีก)


โชคดีอยู่บ้างที่ใต้ผืนดินที่คุณอยู่นั้นมีทรัพยากรที่มีค่าที่สุด ซึ่งก็คือ "น้ำมันดิบ", และนั่นก็ทำให้คุณสามารถกอบโกยความมั่งคั่งจากความต้องการน้ำมันดิบที่พุ่งสูงขึ้นอย่างมากทั่วโลกได้, คุณสามารถเนรมิตเมืองขนาดใหญ่ขึ้นกลางทะเลทรายได้ ประชากรของเมืองก็เพิ่มสูงขึ้นจากผู้คนที่เข้ามาแสวงโชคและหางานทำ

โชคร้ายในโชคดี, ที่คุณเพิ่งทราบว่า น้ำมันดิบที่ว่านี้จะมีสำรองอยู่อีกเพียงไม่ถึงยี่สิบปีข้างหน้านี้

คุณจะทำอย่างไรกับเมืองของคุณดี?

ชีค โมฮัมเหม็ด บิน ราชิด อัล มัคโทอูม ผู้ครองนครดูไบบอกแผนการณ์ของเขาว่า ก็เปลี่ยนระบบเศรษฐกิจที่พึ่งพาการผลิตที่อิงน้ำมันดิบ ไปสู่เศรษฐกิจบริการและการท่องเที่ยวสิ

นี่เป็นที่มาของโครงการอสังหาริมทรัพย์ขนาดมหึมา และล้ำหน้าที่สุดในโลก สถาปนิกและวิศวกรแถวหน้าของวงการพาเหรดกันเข้ามาก่อสร้างอภิมหาโครงการมากมาย ในดินแดนทะเลทรายแห่งนี้



ภาพจากวิกิพีเดีย


ไม่ว่าจะเป็น เบิร์ชอัลอาหรับตึกสูงทรงเรือใบ และเป็นโรงแรมขนาด 7 ดาวแห่งเดียวในโลก ซึ่งตั้งอยู่บนเกาะที่ถูกถมขึ้นเป็นฐานของอาคารกลางทะเล ค่าห้องพัก $US 7,500 ต่อคืน (262,500 บาทต่อคืน)



แผนผังโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ทั้งหมดในดูไบมุมมองจากอากาศ : ภาพจาก tendancehightech.com


ไม่ว่าจะเป็นโครงการดูไบวอเตอร์ฟร้อนท์ ซึ่งทำเป็นแนว lagoon (ปะการังเทียม) ที่มองจากท้องฟ้าลงมาเป็นรูปใบปาล์ม โครงการหมู่เกาะรีสอร์ทสวรรค์ "เดอะเวิร์ล" หรือจะเป็นโครงการขุดคลองอาระเบียนกลางทะเลทราย

ในสารคดีเนชันแนลจีโอกราฟฟิคพูดถึงโครงการเมกะโปรเจ็กต์ระดับโลก ของดูไบเหล่านี้ และเมื่อดูไบวางแผนที่จะแปรเปลี่ยนสภาพเมืองทะเลทรายให้กลายเป็นเวนิสของคาบสมุทรอาระเบีย เมื่อมีการประกาศโครงการเหล่านี้ออกไปทั่วโลก ปรากฎว่า สถาปนิกจากแคนาดารับคำท้า สร้างโอเอซิสที่จำลองภาพมาจากเวนิสเมืองที่ถักทอด้วยคูคลองในอิตาลี แต่คราวนี้เป็นการโครงการก่อสร้างคลองและเมืองขนาดใหญ่ริมคลองกลางทะเลทราย หลังจากแข่งขันกับเมืองนานาชาติอย่างดุเดือด ชาวแคนาดามีเวลาเพียง 2 สัปดาห์ที่จะวาดฝันนี้ให้เป็นจริง



สภาพดูไบเมื่อปีทศวรรษ 1990 : ภาพจาก tendancehightech.com


และเมื่อผลการตัดสินสิ้นสุด ทีมโครงการแคนาดาบินไปดูไบเพื่อสร้างโครงการในฝันนี้ให้เป็นจริง

น้ำจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของเมือง ผู้คนสัญจรผ่านเรือที่ตระเวนไปมาบนคลอง ไม่ต่างอะไรไปจากเมืองเวนิส

แต่ต้องไม่ลืมว่าโครงการขนาดยักษ์เหล่านี้ถูกสร้างขึ้นบนสภาพแวดล้อมที่โหดหินสุดๆ ไม่ว่าจะเป็น บรรยากาศแห้งแล้งที่มีฝนตกน้อยกว่า 2 นิ้วต่อปี, อุณหภูมิร้อนระอุขนาด 45 องศา แม้ว่าจะอยู่ในที่ร่ม และหลายครั้งต้องเผชิญกับพายุทะเลทรายที่ถึงกับทำให้โครงการต้องหยุดชะงักไปอย่างต่ำก็สองวันเต็มๆ

วิศวกรต้องหล่ออิฐบล็อกขนาด 40 - 70 ตัน นับสิบรูปแบบ จำนวนนับพันนับหมื่นก้อนแล้วเรียงรายเป็นผนังคลองส่งน้ำ หลังจากที่มีการขุดเอาทรายออกและลำเลียงออกด้วยเครื่องดูดน้ำผสมทรายออกไปเป็นจำนวนมาก ในที่สุดเมื่อโครงการนี้สำเร็จ, นี่จะกลายเป็นคลองส่งน้ำที่ระบายน้ำจากทะเลไหลเวียนเข้ามาและออกไป ด้วยพลังของน้ำจากการออกแบบเชิงวิศวกรรมทางน้ำอันชาญฉลาด



สภาพดูไบเมื่อปี ค.ศ. 2003 : ภาพจาก tendancehightech.com


นั่งชมสารคดีแล้วก็อดคิดถึงประเทศที่ขาดแคลนทรัพยากรอย่างสิงคโปร์ขึ้นมาไม่ได้ ว่าช่างมีทัศนคติที่คล้ายคลึงกันไม่น้อย แล้วก็คิดถึงเมืองไทยที่ยังหากินกับทรัพยากรเก่าเก็บ แต่ดูไบสร้างมันขึ้นมาใหม่

สำหรับประเทศร่ำรวยน้ำมันในภูมิภาคอาเซียนอย่างบรูไนวาดแผนเป็นศูนย์กลางท่าเรือและการขนส่งสินค้าทางทะเลแข่งกับมาเลเซียและสิงคโปร์ แต่โครงการดังกล่าวทำท่าจะแข่งขันกับศูนย์กลางขนส่งทางน้ำทั้งสองแห่งได้ยากเย็นยิ่ง

ปัจจุบันดูไบมีประชากรราว 1.4 ล้านคน (เพิ่มขึ้นจากเพียง 1,200 คนเมื่อปี ค.ศ. 1822) มีสถานภาพเป็น "อิมิเรต" หรือรัฐๆหนึ่ง ในเจ็ด "อิมิเรต" ที่รวมตัวกันในรูปแบบสหพันธรัฐขึ้นเป็น สหรัฐอาหรับอิมิเรต (United Arab Emirates : UAE)

(ควรกล่าวด้วยว่า ดูไบมีประชากรอพยพเข้ามาเป็นแรงงานก่อสร้างจากทั้ง อินเดีย, ปากีสถาน และ ฟิลิปปินส์ -- มีข้อมูลว่าดูไบมีปัญหากับการดูแลสิทธิมนุษยชนให้กับแรงงานเหล่านี้อย่างมากด้วย, เรื่องที่ต้องคำนึงอีกเรื่องคือการที่ดูไบมีฐานเงินทุนอย่างมากจากการขายน้ำมัน ทำให้ดูไบมีสิทธิทำอะไรหรูหราฟุ่มเฟือยอลังการแบบนี้ให้เป็นไปได้ และเงินทุนก็เป็นปัจจัยสำคัญไม่น้อยเช่นกัน)




ภาพตำแหน่งของ UAE และดูไบในคาบสมุทรอาระเบีย : ภาพจากวิกิพีเดีย


ประชากรทั้งหมดของ UAE มีจำนวนราว 3.1 ล้านคน มีขนาด GDP รวม 104 พันล้านเหรียญสหรัฐ และมี GDP ต่อหัวขนาด 33,610 เหรียญสหรัฐ ดูไบเป็นเพียงหนึ่งในสองอิมิเรต นอกเหนือจาก อะบูดาบีที่เป็นอิมิเรต ที่มีขนาดประชากรอันดับหนึ่งของ UAE ที่สามารถวีโต้กฎหมายที่ส่งผลสะเทือนสำคัญกับทั้ง UAE ได้

แม้ว่ารัฐสมาชิกอื่นๆ ใน UAE ยังคงพึ่งพาการส่งออกน้ำมันเป็นหลัก แต่สำหรับดูไบเองแล้วสัดส่วนรายได้จากน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติมีเพียง 3% ของรายได้รวมทั้งหมด 46 พันล้านเหรียญสหรัฐ รายได้หลักมาจากเขตเศรษฐกิจพิเศษ จีเบล อาลี (Jebel Ali free zone authority : JAFZA) รวมทั้งรายได้จากการท่องเที่ยวและการบริการทางธุรกิจก็เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว

ในเขตเศรษฐกิจพิเศษเหล่านี้เป็นที่ตั้งของบริษัทไอทีข้ามชาติไม่ว่าจะเป็น อีเอ็มซี, ออราเคิล, ไมโครซอฟต์ และ ไอบีเอ็ม รวมไปถึงบริษัทสื่ออย่าง เอ็มบีซี, ซีเอ็นเอ็น, รอยเตอร์ และ เอพี

ในขณะที่ตลาดการเงินของดูไบ (Dubai Financial Market : DFM) ซึ่งเป็นตลาดรองสำหรับค้าขายหลักทรัพย์และตราสารหนี้ (เพิ่งก่อตั้งเมื่อเดือนมีนาคมปี ค.ศ. 2000) มีมูลค่าตลาดขนาด 87 พันล้านเหรียญสหรัฐ

ยังไม่รวมไปถึงหน่วยงานกำกับดูแลโครงการด้านอสังหาริมทรัพย์ (Real Estate Regulatory Authority : RERA) คอยดูแลทิศทางการพัฒนาโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ต่างๆในดูไบ มีบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ชั้นแนวหน้าต่างพาเหรดกันเข้าไปลงทุนก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่และหรูหราหลายโครงการ โดยโครงการต่างๆจะต้องมีการลงทะเบียนและเปิดเผยข้อมูลการลงทุนทุกอย่างให้ RERA ทำการตรวจสอบก่อนได้รับการอนุญาตให้ลงทุน รวมทั้งจะต้องตั้ง escrow เพื่อดูแลเงินลงทุนของลูกค้าในกรณีที่โครงการไม่เป็นไปตามเป้าหมายอีกด้วย

โครงการที่เกิดขึ้นหลากหลาย และผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดเหล่านี้ ทำให้ดูไบได้ชื่อว่าเป็นเมืองที่เติบโตและมีพัฒนาการอย่างรวดเร็วแห่งหนึ่งของโลก ไม่แปลกที่ดูไบจะกล่าวว่าเมืองของตนเองเป็น

"No other city on earth can dream like this"

ดูเหมือนว่าดูไบจะเริ่มเติมเต็มความฝันของตนให้เป็นจริงได้แล้ว



ข้อมูลท้ายบท




 

Create Date : 21 กันยายน 2550    
Last Update : 21 กันยายน 2550 20:14:57 น.
Counter : 677 Pageviews.  

เศรษฐกิจพอเพียงกับความสุขในการสร้างครอบครัวที่มีลูกขนาด 14 คน?

รายการ ถังความคิด (Think tank) ของสถานีโทรทัศน์ MCOT ที่ออกอากาศเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2550 พูดถึงเรื่องราวของครอบครัวขนาดใหญ่ในสหรัฐฯ ครอบครัวหนึ่งในชื่อตอน 14 children and pregnant again (สามารถดูรายการย้อนหลังได้จาก อินเทอร์เน็ต โดยคลิ้กที่นี่)



ภาพประกอบจากวิกิพีเดีย


ครอบครัวนี้มีชือว่าครอบครัว "ดักเกอร์" (Duggar family) โดยมีผู้นำครอบครัวคือคุณพ่อ เจมส์ โรเบิร์ต ดักเกอร์ (วัย 42 ปี) และคุณแม่ มิชเชล ดักเกอร์ (วัย 43 ปี) ที่ได้รับรางวัลแม่ดีเด่นแห่งรัฐอาคันซัสในปี ค.ศ. 2004 ทั้งสองแต่งงานกันเมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม ค.ศ. 1984 (เมื่อ 23 ปีก่อน) และหลังจากนั้นอีกสี่ปี ทั้งคู่ก็เริ่มมีบุตรชายคนแรก "โจชัว เจมส์ ดักเกอร์" จากนั้นก็แทบจะกล่าวได้ว่า ครอบครัวดักเกอร์ก็มีสมาชิกเพิ่มขึ้นปีละคน (บางปีมีสมาชิกแฝด) จนถึงปัจจุบันมีบุตรชายและบุตรสาวรวมกันถึง 17 คน โดยเป็นบุตรชาย 10 คน และเป็นบุตรหญิง 7 คน

สมาชิกหนูน้อยที่เกิดใหม่ล่าสุดคือ หนูน้อย "เจนนิเฟอร์ ดาเนียล ดักเกอร์"

ในช่วงเวลาที่สารคดี 14 children and pregnant again ออกอากาศนั้น เป็นช่วงที่ถูกถ่ายทำขึ้นในปี ค.ศ. 2004 (เมื่อ 3 ปีก่อน) ซึ่งในขณะนั้มีเหตุการณ์ที่สำคัญคือ ครอบครัวดักเกอร์กำลังมีสมาชิกคนใหม่ถือกำเนิดขึ้น (คือ "แจ็กสัน ลีวาย ดักเกอร์") และครอบครัวดักเกอร์กำลังสร้างบ้านใหม่ที่มีขนาดใหญ่ขึ้น

ประเด็นที่น่าสนใจ (และเมื่อชมแล้วก็รู้สึกมีความสุขไปกับครอบครัวนี้) ก็คือปัญหาพื้นฐานที่ครอบครัวใหญ่ขนาดนี้จะต้องเผชิญก็คือ จากที่เรารับรู้กันมานานว่า "มีลูกมากจะยากนาน" พวกเขาทำอย่างไรจึงสามารถเอาชนะความเชื่อแบบนี้และดูเหมือนจะเลี้ยงดูลูกๆทั้งหลายได้อย่างมีความสุขด้วย, พ่อแม่ดักเกอร์จะดูแลอย่างไรให้ลูกชายลูกสาวจำนวนมากขนาดนี้อยู่ได้โดยไม่ทะเลาะกัน, ด้วยขนาดบ้านที่เล็ก (ช่วงเวลาถ่ายทำ ยังเป็นบ้านเดี่ยวขนาดหนึ่งชั้น และมีห้องน้ำจำนวนแค่สองห้อง) พวกเขาจะจัดสรรทรัพยากรที่มีจำกัดได้อย่างไร, จะจัดการเรื่องการทำอาหาร และพื้นที่การใช้สอยในบ้านได้อย่างไร (บ้านที่พวกเขาอาศัยอยู่ในเวลานั้นเหมาะสำหรับคนเพียง 6 คน ในขณะที่พวกดักเกอร์ตอนนั้นมีคนอยู่ถึง 14 คน)

ครอบครัวดักเกอร์ใช้หลักที่ว่า "จะไม่เป็นหนี้" คือจะไม่สร้างหนี้เพื่อซื้อข้าวของที่ไม่จำเป็น, การจับจ่ายใช้สอยของใช้ในบ้านต้องผ่านการวางแผนและการบริหารจัดการเป็นอย่างดี พวกเขาจัดการการซื้อข้าวของเครื่องใช้ประจำสัปดาห์ ราวกับการบริหารจัดการร้านค้าขนาดย่อมร้านหนึ่ง (มีการกำหนดรายการซื้อล่วงหน้าแน่นอน และไม่ซื้อของแบบตามใจตัวเอง), มีการจัดพื้นที่ห้องส่วนหนึ่งในห้องครัวให้เป็นโกดังเก็บของแบบในร้านชำ (คุณพ่อดักเกอร์เคยผ่านงานดูแลร้านชำมาก่อน), มีการจัดระบบบั๊ดดี้ โดยให้พี่ที่มีอายุมากกว่า คอยดูแลน้องที่ยังเล็กกว่า, มีการจัดระบบหมุนเวียนในการใช้ห้องน้ำ โดยผลัดกะในการอาบน้ำช่วงเช้าและช่วงเย็นสลับกัน (เนื่องจากบ้านพวกเขามีห้องน้ำเพียงสองห้อง การใช้ห้องน้ำในเวลาเดียวกัน และใช้เวลาคนละนานๆ จึงเป็นไปไม่ได้) , การมีรถขนาดใหญ่ (รถตู้หรือรถแวน ที่สามารถถอดที่นั่งออกได้ เมื่อใช้ขับไปซื้อเสบียงอาหารจากซูเปอร์สโตร์)



ภาพประกอบจากวิกิพีเดีย


เด็กบ้านดักเกอร์ทุกคนจะมีตารางเวลาตั้งแต่ตื่นนอนไปจนหลับ และตารางเวลานี้จะถูกกำหนดให้เห็นกันอย่างชัดๆ กลางบ้าน ดูๆไปสิ่งต่างๆเหล่านี้ แทบไม่ต่างอะไรกับการบริหารจัดการหน่วยธุรกิจขนาดย่อมหน่วยหนึ่ง เมื่อมองในแง่ของ การวางแผนล่วงหน้า การบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ และระเบียบวินัยขององค์กร

ควรกล่าวไว้ด้วยว่าวิกิพีเดียจัดพวกดักเกอร์ไว้เป็น conservative fundamentalist Christian คือมีศรัทธาในศาสนาคริสต์อย่างแรงกล้า (ค่านิยมในการไม่คุมกำเนิดการมีบุตร ก็เป็นผลมาจากการศรัทธาแบบนี้) แต่มองในแง่หนึ่ง การมีศรัทธาในศาสนาแบบนี้ก็เป็นจุดเชื่อมโยงความอบอุ่นของครอบครัว ความมีเยื่อใยอาทรซึ่งกันและกัน การใช้เวลาอยู่ด้วยกันและดูแลกัน

ในสารคดีจะเห็นภาพของครอบครัวดักเกอร์ใช้เวลาอยู่ด้วยกัน เพื่อร่วมเรียนรู้สิ่งต่างๆ (ไม่มีใครเป็นครูของใคร แม้แต่พ่อแม่) มีการทัศนศึกษานอกสถานที่เป็นระยะๆ (ทำให้ทั้งครอบครัวดูเหมือนเป็นโรงเรียนประจำไปเลย) ดูเหมือนจะทำกิจกรรมในโลกความเป็นจริงกันมากกว่าจะเสียเวลาไปดูโทรทัศน์หรือเล่นเกมส์คอมพิวเตอร์หรืออินเทอร์เน็ตทั้งวันทั้งคืน จนกระทั่งถึงทำกิจกรรมทางศาสนาด้วยกัน หรือแม้กระทั่งสร้างบ้านหลังใหม่ด้วยกันเอง ทั้งที่ลูกชายคนโตยังคิดในตอนแรกๆ ว่าอาจจะต้องว่าจ้างช่างหรือคนงานมาช่วยสร้างบ้าน

จำได้ว่าสมัยเรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยในต่างจังหวัด ซึ่งเป็นช่วงที่ผมสนใจศึกษาแนวคิดด้านศาสนาและปรัชญา ผมได้ติดต่อขอเพื่อนที่เป็นสมาชิกของชุมชนคริสเตียน เพื่อขอออกไปตระเวณเยี่ยมบ้านของสมาชิกต่างๆ ในวันคาโรลิ่ง (คืนก่อนวันคริสต์มาสหนึ่งวัน) ท่ามกลางอากาศที่หนาวเย็นในช่วงปลายเดือนธันวาคม เรานั่งรถกระบะไปตระเวณเยี่ยมเยือนบ้านต่างๆ แล้วก็ร่วมทานของว่าง และร้องเพลงฉลองคริสต์มาสด้วยกัน มีสมาชิกหลายคนมุงกันแน่นในบ้านหลังเล็กท่ามกลางเสียงเปียนโนและบทเพลงสวดสรรเสริญ เป็นช่วงเวลาที่แสนประทับใจ และทำให้ผมรู้สึกถึงความอบอุ่นของชุมชนชาวคริสเตียนเหล่านี้ (แม้ว่าผมจะไม่ได้เป็นคริสเตียนด้วยก็ตาม -- แต่ก็ดูเหมือนว่าเขาไม่ได้รังเกียจอะไรที่ผมขอตามไปสังเกตการณ์ด้วย)

ครอบครัวดักเกอร์ก็ดูเหมือนเป็นเช่นนี้ พวกเขาพยายามทำบ้านให้เป็นเหมือนโบสถ์คริสต์ และมีความเชื่อมั่นในพระเจ้าอย่างหนักแน่นจริงจัง (สังเกตชื่อของสมาชิกดักเกอร์จะขึ้นต้นด้วย ตัวอักษร "J")

แน่นอนว่าครอบครัวนี้ไม่ได้รับทราบเกี่ยวกับเรื่อง ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาก่อน แต่ก็ดูเหมือนจะเชื่อมั่นในแนวทางการใช้สอยตามความจำเป็นและประหยัด แต่เบื้องหลังนั้นก็ต้องพิจารณาถึง วินัย การบริหารจัดการ การวางแผนในแบบองค์กรธุรกิจ

ตัวคุณพ่อเจมส์ โรเบิร์ต ดักเกอร์เอง ก็ประกอบอาชีพเป็น นายหน้าค้าขายอสังหาริมทรัพย์ และเคยเป็นผู้แทนรัฐอาคันซัส

ครอบครัวดักเกอร์อาศัยอยู่ในประเทศสหรัฐอเมริกา ที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดและสำคัญที่สุดในโลก ด้วยมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติราว 117 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีอัตรา GDP ต่อหัวเฉลี่ยที่ 39,680 เหรียญต่อคนต่อปี (เทียบกับของไทยที่ 8,090 เหรียญสหรัฐต่อคนต่อปี)

ผมคุ้นเคยกับการนำเสนอสารคดีแบบนี้ของสื่อมวลชน ก็ทราบดีกว่าเป็นการตั้งใจเฉพาะการนำเสนอภาพด้านดี (ครอบครัวที่อบอุ่น, มีศรัทธาในศาสนา, มีความสุข) แต่อีกด้านหนึ่งของเหรียญ (ปัญหาในแง่การใช้ศรัทธานำความเชื่อ, สุขภาพของมารดา, ฯลฯ) ไม่ต้องพูดถึงที่ผมได้ยกมาย่อหน้าข้างบนในเรื่องความต่างชั้นของระดับเศรษฐกิจของแต่ละประเทศในโลกที่มีอยู่อย่างมากมายมหาศาล

ไม่นับรวมถึงปัญหาเรื่อง subprime mortgage (สินเชื่ออสังหาริมทรัพย์สำหรับบุคคลด้อยความน่าเชื่อถือ) ที่กำลังระบาดถล่มหนักไปทั่วเศรษฐกิจสหรัฐ (จนกระทั่งทำให้ล่าสุดประธานเฟด --นายเบอนังเค่ ถึงกับประกาศลดอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงลงไป 50 basis point) จะสร้างปัญหาให้กับ "เจมส์ โรเบิร์ต ดักเกอร์" ผู้นำครอบครัวดักเกอร์ ที่ประกอบอาชีพเป็นนายหน้าค้าอสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐฯ ซึ่งเมื่อพิจารณาตามสถานการณ์แล้วจะต้องได้รับผลกระทบโดยตรงหรือไม่?

เช่นเดียวกับคำถามที่สังคมไทยส่วนหนึ่งกำลังขบคิดอยู่ว่า "เศรษฐกิจพอเพียง" เป็นคำตอบสำเร็จรูปสำหรับการแก้ทุกๆปัญหาในประเทศเราหรือไม่?

ดูเหมือนข้อสงสัยเหล่านี้จะไม่มีคำตอบที่หาได้ง่ายนัก...



ข้อมูลเพิ่มเติมท้ายบท




 

Create Date : 20 กันยายน 2550    
Last Update : 20 กันยายน 2550 17:25:41 น.
Counter : 929 Pageviews.  

1  2  3  

ฮันโซ
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




สหายสิกขา Lite version

สหายสิกขาตั้งคำถามกับการเป็นอยู่ของสรรพสิ่งตรงหน้า พร้อมกันนั้นก็เปิดรับแนวคิดของคำตอบในมุมมองที่แตกต่างอย่างเท่าเทียมกัน

สหายสิกขาจะมีความยินดียิ่ง หากคุณได้นำความรู้ที่ได้จุดประกายนี้ไปตีความต่อให้ลึกซึ้งยิ่งๆขึ้น เพราะยิ่งแลกเปลี่ยนยิ่งถกเถียงยิ่งสนทนาก็สามารถแตกประเด็นไปอีกได้มาก

สหายสิกขาต้องการกระตุ้นให้คนอ่านได้คิด และสัมผัสถึงขอบเขตที่ไม่สิ้นสุดแห่งจินตนาการ

พร้อมกันนั้นสหายสิกขา ก็พร้อมอยู่เป็นเพื่อนคู่คิด เพื่อนสนทนา เพื่อจับมือกันเรียนรู้ไปในโลกกว้าง ...ด้วยกัน

CC Developing Nations
Friends' blogs
[Add ฮันโซ's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.