Group Blog
 
All blogs
 
นโยบายทางเศรษฐกิจของรัฐบาลทักษิณ และการปฏิรูปการเมืองในฐานสังคมแบบสองนคราประชาธิปไตย (1)

บทความต่อไปนี้เป็นบทความเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับนโยบายของรัฐบาล พตท.ทักษิณ ชินวัตร และการปฏิรูปการเมือง โดยจะเขียนเป็นตอนๆ มีทั้งหมดสี่ตอนด้วยกัน แต่ละตอนจะเป็นการอธิบายและชี้แจงข้อมูลในแต่ละประเด็น ตามลำดับดังต่อไปนี้
คำถาม

  • นโยบายทางเศรษฐกิจของรัฐบาลเป็นการแก้ไขปัญหาคนจน หรือเป็นเพียงการซื้อเสียงคนจน
  • นโยบายทางเศรษฐกิจของรัฐบาลพัฒนาประเทศทั้งระบบหรือไม่ และเกี่ยวข้องกับการแก้จนอย่างไร
  • นโยบายทางเศรษฐกิจของรัฐบาลส่งผลต่อสองนคราประชาธิปไตย และการปฏิรูปทางการเมืองอย่างไร
  • จุดยืนที่ควรจะเป็นต่อวิกฤตการณ์ทางการเมืองในปัจจุบัน

===

( 1 )

คำถามที่ 1. นโยบายทางเศรษฐกิจของรัฐบาลเป็นการแก้ไขปัญหาคนจน หรือเป็นเพียงการซื้อเสียงคนจน?

นิยามของความยากจน

ก่อนจะตอบคำถามนี้ จำเป็นจะต้องกำหนดนิยามของความยากจนให้ชัดเจนเสียก่อน เพราะนิยามที่แตกต่างกันนั้นจะส่งผลถึงเป้าหมาย และแนวทางการแก้ไขปัญหาของความยากจนที่แตกต่างกันออกไป

นิยามของความยากจน และการจัดแบ่งความยากจนมีได้หลายแนวทางดังต่อไปนี้[1]

  1. ความยากจนตามนิยามของสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) แบ่งความยากจนออกเป็นสองกรณีคือ

    1. ความยากจนเชิงรายได้ (Income Poverty) ซึ่งเป็นความยากจนที่เกี่ยวข้องกับรายได้ที่ไม่เพียงพอ ความยากจนในลักษณะนี้ยังแบ่งย่อยลงไปได้อีกสองกรณีคือ

      1. ความยากจนข้นแค้น (Extreme Poverty) หมายถึงการขาดแคลนรายได้ที่เพียงพอสำหรับบริโภคอาหารเพื่อยังชีพ การวัดความยากจนแบบนี้ส่วนใหญ่มักจะใช้การวัดแบบสัมบูรณ์ เช่น เส้นความยากจน (poverty line) หากใครมีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจนนี้ก็จะถือว่าเป็นคนยากจนตามความหมายนี้
      2. ความยากจนโดยรวม (Overall Poverty) เป็นการขาดแคลนรายได้ที่เพียงพอต่อความจำเป็นในการดำรงชีพที่มิใช่อาหาร การวัดความยากจนแบบนี้จะใช้วิธีการวัดในเชิงสัมพัทธ์ คือเปรียบเทียบกับกลุ่มรายได้ในกลุ่มต่างๆ (แบ่งคนออกเป็นกลุ่มๆตามระดับรายได้ เช่น 20% ที่จนที่สุด, 20% ที่มีรายได้มากถัดขึ้นไป จนกระทั่งถึงกลุ่มประชากรที่มีรายได้รวยที่สุด 20%)

    2. ความยากไร้ของคน (Human Poverty) เป็นความยากจนที่เกี่ยวข้องกับการคลาดแคลนโอกาส เช่นขาดแคลนขีดความสามารถในการเรียนรู้ ทุพโภชนาการ บิดามารดาป่วย อายุสั้น ป่วยเป็นโรคที่ป้องกันได้ ซึ่งความยากจนในลักษณะนี้ อาจวัดด้วยการเข้าถึงสาธารณูปโภคพื้นฐาน (เป็นการวัดโดยอ้อม)


  2. อมาตยา เซน นิยามความยากจนว่าเป็นการจำกัดสิทธิ์ ลิดรอนสิทธิ์ ก็ถือว่ายากจน (เช่นนักโทษถูกจำคุก)
  3. ในขณะที่ วิทยากร เชียงกูล เห็นว่าความยากจนมาจาก การด้อยโอกาสทางสังคมและวัฒนธรรม
  4. อภิชัย พันธเสน เห็นว่าควรมองความยากจนเป็นมิติต่างๆ ได้ 7 มิติ เช่น ความยั่งยืน การมีชีวิตอยู่ได้, การได้รับความปลอดภัยในความคุ้มครอง, การได้รับความรักความอบอุ่น, ฯลฯ เป็นต้น
  5. นักวิชาการอีกหลายคนได้แสดงความเห็นว่าความยากจนมาจากปัญหาเชิงโครงสร้างทางสังคมและการเมือง

นิยามที่แตกต่างกัน จะทำให้ผลที่ได้รับจากวิธีการวัดความยากจนมีความแตกต่างกัน คนจนที่ได้จากการวัดตามความหมายในนิยามหนึ่ง อาจจะไม่ใช่คนจนที่ได้จากการวัดในนิยามอื่นก็ได้

นอกจากนี้นิยามที่แตกต่างกันก็จะทำให้ได้แนวทางและยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาที่แตกต่างกันตามไปด้วย สำหรับแนวทางที่ได้รับการสนับสนุนจากสหประชาชาติ (อันเป็นแนวทางที่ประเทศส่วนใหญ่ใช้) จะนิยามความยากจนว่าเป็นการด้อยโอกาสทางสังคม แนวทางการแก้ไขปัญหาก็จะเน้นไปที่การเสริมสร้างศักยภาพคนจน และผู้ด้อยโอกาสให้มีการไต่เต้าทางสังคม ซึ่งใช้วิธีการต่างๆเช่น การขยายโอกาสในการเข้าถึงบริการสังคมพื้นฐานด้านการศึกษาและการสาธารณสุข และการเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงปัจจัยในการผลิต เช่นที่ดิน, สินเชื่อ หรือตลาด เป็นต้น

อนึ่งนิยามความยากจนและกลยุทธ์แนวทางการแก้ไขปัญหาในลักษณะนี้จะได้รับการสนับสนุนจากองค์กรการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ[2]

การแก้ไขปัญหาความยากจนที่ผ่านมาของภาครัฐ จะใช้นิยามที่เป็นมาตรฐานตามแนวทางของสหประชาชาติทั้งนี้เพื่อให้มีมาตรฐานที่เป็นสากลและสามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลและองค์ความรู้ที่เชื่อมโยงกันได้ แนวทางการแก้ไขปัญหาที่ผ่านมาจึงมุ่งลดจำนวนคนยากจน โดยให้มีรายได้เพิ่มขึ้นเหนือเส้นความยากจน และกำหนดให้การกระจายรายได้โดยเปรียบเทียบของกลุ่มประชากรที่มีรายได้ในระดับต่างๆให้มีความเท่าเทียมกันมากขึ้น

ยุทธศาสตร์การแก้ไขความยากจนของรัฐบาล
พรรคไทยรักไทยได้นำเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาความยากจนในช่วงการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งทั้งสองครั้ง โดยแนวทางการแก้ไขปัญหาความยากจนนั้นได้พิเคราะห์จากพื้นฐานของระบบเศรษฐกิจไทยซึ่งส่วนใหญ่ จะหาเลี้ยงชีพด้วยการเกษตร ดังนั้นจึงมีการกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาความยากจนเป็นโครงการตามแนวทาง "ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ขยายโอกาส"



สร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจฐานรากอย่างเป็นระบบ
"ระบบเศรษฐกิจของไทยกว่าสามในสี่ตั้งอยู่บนพื้นฐานการดำเนินงานของเศรษฐกิจฐานรากในขณะที่การกระจายผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจกว่าเก้าในสิบตกอยู่กับกลุ่มชนชั้นกลางและชั้นสูง การดำเนินการของรัฐบาลในระยะห้าปีที่ผ่านให้ความสำคัญกับการสร้างความเข้มแข็งให้เศรษฐกิจฐานรากอย่างเป็นระบบของครบวงจร ภายใต้หลักการ ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ขยายโอกาส เช่น การพักชำระหนี้เกษตรกร กองทุนหมู่บ้านและชุมชนฯ โครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ ธนาคารประชาชน และการส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม เป็นต้น"[3]

แนวทางข้างต้นนี้จึงเป็นแนวคิดที่ดูสอดคล้องกับแนวทางการแก้ไขปัญหาตามนิยามหลักที่ใช้ข้างต้น ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลก็ได้มีการกำหนดรายละเอียดในเชิงยุทธศาสตร์ และการกระจายงบประมาณลงไปเพื่อแก้ไขปัญหาตามยุทธศาสตร์ที่กำหนดไว้[4]

ประเมินผลประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาความยากจน
เมื่อดูประสิทธิภาพโดยรวมจะพบว่า จำนวนและสัดส่วนคนจนเมื่อวัดจากเส้นความยากจน จะมีปริมาณลดลงเรื่อยๆ[5] ตัวเลขความยากจนล่าสุดอยู่ที่ประมาณ 10 ล้านคน[6] แต่อย่างไรก็ตามนี่เป็นผลจากระบบเศรษฐกิจทั้งระบบ ซึ่งยากจะแยกแยะได้ว่า ประสิทธิภาพของนโยบายการแก้ไขปัญหาความยากจน ซึ่งพรรคไทยรักไทยได้หยิบยกขึ้นมาหาเสียงในช่วงรณรงค์การเลือกตั้งนั้น จำเป็นจะต้องพิจารณาแยกโดยต่างหาก

ซึ่งเมื่อพิจารณา 5 โครงการหลักของรัฐ และพิจารณาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับประชาชนแต่ละคนในแง่ของ รายได้, เงินออม และรายจ่าย ว่ามีการเพิ่มขึ้นลดลงหรือไม่อย่างไร ดังต่อไปนี้[7]








รายได้เงินออมรายจ่าย
กองทุนหมู่บ้าน+7.2%+6.1%+7.6%
OTOP+14.5%+5.8%+16.9%
30 บาท
-
+1.4%-0.5%
ธนาคารประชาชน+0.6%-5.6%+1.7%
พักชำระหนี้+21.9%-50.3%+30.2%

ประมวลผลจาก รายงานสรุปผลการดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจระดับรากหญ้า คิดรวมทั้งประเทศ

หากดูในภาพรวมจะเห็นว่าโครงการส่วนใหญ่จะทำให้รายได้, เงินออม และรายจ่ายเพิ่มมากขึ้น ยกเว้นโครงการที่ก่อให้เกิดหนี้เช่นโครงการธนาคารประชาชนและโครงการพักชำระหนี้ซึ่งสองโครงการนี้จะทำให้เงินออมลดลงซึ่งอาจสะท้อนถึงความสามารถในการชำระหนี้ของประชาชนในระยะยาวหากผู้กู้มิได้กู้สินเชื่อเพื่อไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในการประกอบอาชีพ

แต่อย่างไรก็ตามจะเห็นได้ว่าโครงการต่างๆของภาครัฐในการแก้ไขปัญหาความยากจน จะถูกประเมินผล และสรุปหาแนวทางการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นสำหรับแต่ละโครงการอย่างชัดเจน[8] ประเด็นนี้น่าจะพอสรุปได้ว่ารัฐบาลเอาจริงเอาจังกับการแก้ไขปัญหาของความยากจน แต่การจะพิจารณาว่าเป็นความจริงใจในการช่วยเหลือคนยากจนหรือไม่ ผู้เขียนเห็นว่าไม่ใช่เป็นสิ่งที่สำคัญ เนื่องจากรัฐมีหน้าที่ผลิตนโยบายเพื่อสร้างประโยชน์สุขให้กับประชาชน และประชาชนก็จะพิจารณาเปรียบเทียบแนวนโยบายของพรรคต่างๆในช่วงเวลาเลือกตั้ง ประกอบกับบุคคลและผลงานที่ผ่านมา ซึ่งประชาชนย่อมจะเลือกพรรคการเมืองที่ดูแล้วมีแนวโน้มที่จะสร้างประโยชน์ให้กับตนเองมากที่สุดเข้าไปทำหน้าที่บริหารงานรัฐบาล ในขณะที่พรรคการเมืองแต่ละพรรค ก็จำต้องแข่งขันกันนำเสนอนโยบายเพื่อดึงดูดใจให้ประชาชนมาลงคะแนนเสียงให้ตนเอง การแข่งขันของพรรคการเมืองดังกล่าวนั้นเองจะเป็นตัวบังคับให้พรรคการเมืองต้องตั้งใจนำเสนอนโยบายที่มีประโยชน์ให้กับประชาชน

ในอีกทางหนึ่งการบริหารงานของรัฐบาลที่ไม่สมดุล คือสร้างรายจ่ายมากเกินไปก็จะเป็นการก่อให้เกิดปัญหากับเสถียรภาพและการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ ดังนั้นนอกจากรัฐบาลจะดำเนินนโยบายเพื่อสร้างประโยชน์ให้กับประชาชนตามที่ได้หาเสียงไว้ ในอีกทางหนึ่งก็จำเป็นจะต้องบริหารประเทศเพื่อให้มีการเติบโตทางเศรษฐกิจและสามารถมีรายได้จากภาษีเพียงพอที่จะ บำรุงหล่อเลี้ยงโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนเหล่านั้นได้

มีข้อควรสังเกตเพิ่มเติมคือทุกโครงการยกเว้นโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค มีส่วนทำให้รายได้ของประชาชนเพิ่มขึ้น ซึ่งนี่จะเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจตามทฤษฎี consumtion-led growth หรือไม่ จะได้วิเคราะห์ในตอนถัดไป
[ยังมีต่อ]


[1] นิยามของความยากจนในความหมายต่างๆดูได้จาก เอกสารยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาความยากจน - กรอบแนวคิดเกี่ยวกับความยากจน : สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
[2]TDRI ใช้นิยามในแนวทางเดียวกันนี้ แต่มีข้อสังเกตว่าไม่ควรใช้รายได้ในการคำนวณหาเส้นความยากจน เนื่องจากไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนา แต่ควรจะใช้รายจ่ายในการคำนวณแทน แต่ก็ยอมรับว่าข้อมูลด้านรายได้หาได้ง่ายกว่า ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สถานการณ์ความยากจนในประเทศไทย
[3]ดูข้อมูลเพิ่มเติมจาก จุดเด่น 10 ประการของการบริหารจัดการประเทศโดยพรรคไทยรักไทย
[4]ดูข้อมูลเพิ่มเติมจาก เอกสารประกอบการประชุมเชิงปฏิบัติการ แนวทางการดำเนินงานตาม ยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาความยากจน : สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
[5]ดูข้อมูลเพิ่มเติมจาก เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจไทยที่สำคัญ พ.ศ. 2548, ตารางที่ 33 เส้นความยากจน สัดส่วน จำนวนคนจน ช่องว่างความยากจน และความรุนแรงของปัญหา ความยากจน พ.ศ. 2535 - 2547 : สำนักงานสถิติแห่งชาติ
[6]สภาพัฒน์ฯ และ TDRI ปรับเส้นความยากจนเพิ่มขึ้นจาก เส้นความยากจนจากรายได้เดือนละ 922 บาท เพิ่มเป็นเดือนละ 1,666 บาท ผลการปรับเส้นความยากจนนี้จะทำให้ปริมาณคนจนเพิ่มขึ้นจาก 6 ล้านคนเป็น 9-10 ล้านคน
[7]ดูข้อมูลได้จาก ผลการดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจระดับรากหญ้า : สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
[8]ดูสรุปการวิเคราะห์ และข้อเสนอแนะได้จาก [7]
[9]ยุทธศาสตร์หลักการแก้ไขความยากจนของภาครัฐดูได้จาก ยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาของความยากจน : สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ


Create Date : 24 มีนาคม 2549
Last Update : 24 มีนาคม 2549 18:18:29 น. 10 comments
Counter : 1734 Pageviews.

 
ขอบคุณมากครับ สำหรับความคิดเห็นดีๆๆ เช่นเคย

โดยส่วนตัวแล้ว ผมเห็นว่า แนวคิดทุกรัฐบาล ย่อมมองไปที่ การหาเสียงจากกลุ่มประชาชนเป้าหมาย (ในที่นี้ สำหรับ ทรท. คือคนจน) ก่อนอยู่แล้ว

เพียงแต่ว่า ในอดีต จากที่ผมพบมาคือ พรรคการเมืองต่างๆ พยายามแก้ไขปัญหาประชาชนยากจน โดยขาดองค์ความรู้ และ ให้ "ข้าราชการ" ในกระทรวงนั้นๆ ชี้นำมาโดยตลอด

รมต./รมช. ที่มีการเปลี่ยนแปลงตามจังหวะทางการเมือง ทำให้การทำงานของนักการเมืองรุ่นเก่าแทบทุกพรรค ทำงานโดยที่ต้องอิงแผนงานของข้าราชการเป็นหลัก

การเป็น รมต. ก็เปลี่ยนไป มา ได้หลากหลายกระทรวงมาก (คุณชวน เอง เป็นมาแล้วหลายกระทรวง ก่อนขึ้นมาเป็นนายก)
จะว่า มันดี ก็มองได้ในมุมของ การศึกษางานที่หลากหลาย มากขึ้น

แต่ สำหรับผม มันออกจะเป็น "เป็ด" เสียมากกว่า และทำให้เกิด พรรคข้าราชการขึ้นมาคู่กับสังคมประเทศไทย อย่างยาวนาน

----------

พอมารัฐบาลนี้ สิ่งที่ค่อนข้างชัดเจน ในตอนแรก สำหรับผมคือ

1. ทรท. มีการทำการบ้านที่หนัก และส่งผลให้มีแผนงานพัฒนาระยะยาว ที่ผ่านการคิดจากนักวิชาการ NGO และ คนที่เกี่ยวข้องมาจริง
ที่สำคัญ แผนพัฒนาของ ทรท. จะออกแนวซ้าย ในด้านประชาชน และ ผสานสัดส่วนของ ทุนนิยม ในแง่แผนมหภาค

2. ทรท. ทำทุกอย่าง ออกมาเป็น นโยบาย จริง (ส่วนจะเพื่อใคร นั่นอีกประเด็น) และประชาสัมพันธ์สู่สังคม

3. ทรท. นำนโยบายตามข้อ 2 มาทำจริง


อย่างที่บอกแต่ต้น..
ทรท. ถึงอย่างไรก็ต้องนึกถึง เสียงของโหวตเตอร์ เป็นลำดับแรก และพุ่งนโยบายของตน ไปสู่กลุ่มที่จะให้โหวตแก่พรรคตนได้มากที่สุด ในการเลือกตั้งทุกครั้ง

ซึ่งแน่นอน
หนีไม่พ้น กลุ่มคนยากจน โดยเฉพาะในภาคเหนือ และ อีสาน

และ ทรท. สามารถทำได้ และได้แบบ Landslide ด้วย...

(มีต่อ)






โดย: หมีPooH! วันที่: 24 มีนาคม 2549 เวลา:21:35:35 น.  

 
อย่างไรก็ตาม
เมื่อพิจารณาในระยะยาว ผมเห็นว่า ทรท.เอง ต้องยอมรับว่า ยังต้องเพิ่มระบบตรวจสอบ / ติดตาม โครงการดังกล่าวข้างต้น (กองทุนหมู่บ้าน / ยกหนี้ / ...) ให้เข้มงวดขึ้น

แม้ โดยภาพรวมของ โครงการหลายโครงการ จะดูดี และชาวบ้านชอบ

แต่ ในแง่ของผู้ปฏิบัติงานเอง ก็ต้องให้ความสำคัญและสนใจเช่นกัน

ผมเห็นความพยายามของ รัฐบาลอยุ่ ในแง่ของ โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค ที่พยายาม เพิ่มค่าตอบแทนให้ผู้ปฏิบัติงาน ทุกระดับ
ในแง่ของรายรับทุกเดือน (แพทย์ / ทันตแพทย์/เภสัช/พยาบาล ต่างได้เงินเพิ่มแบบกินเปล่า ในส่วนค่าวิชาชีพพิเศาในปี 2548 ที่ผ่านมา)

ซึ่งผมเองก็เห็นว่า เป็นแนวทางที่สมควรทำ
เมื่อเทียบกับประโยชน์ที่ได้จาก โครงการ 30 บาท ต่อประชาชน

เราคงต้อง ignore มุมมองของพวกคนสังคมเมืองที่เคยชินกับการนอน admit ในห้องแอร์ หรือ คลีนิค ออกไป จากโครงการนี้ เพราะเท่าที่เห็นมา ส่วนใหญ่มีแต่คนที่มองว่า
30 บาท ทำให้คุณภาพการรักษาแย่ลง ???

ซึ่งต่างจากมุมมองของคน ตจว.มากมาย
จำนวนคนไข้ที่เพิมมากขึ้น อาจทำให้ หมอ/พยาบาล เหนื่อยมากขึ้น

แต่นั่น ย่อมหมายความอีกแง่ถึง การที่ชาวบ้านร้านตลาด ยินยอมพาตัวเอง ในสภาพที่ป่วย เพื่ออกมาดรงพยาบาลแพทย์แผนปัจจุบัน

แทนที่จะยอม อดทนไม่ไปหาหมอ หรือไปเข้าหาหมอแบบโบราณ ซึ่งเสี่ยงอย่างยิ่งต่อสุขภาพของเขาในระยะยาว

ผมยังมองว่า การที่คนป่วย รีบออกมารักษาตั้งแต่ต้น
มันย่อมดีกว่าที่จะรอให้ เขาป่วยหนักๆ ใกล้ตาย แล้วถึงจะออกมารักษา ซึ่งทำให้ "ต้นทุนการรักษา"สุงขึ้นมาก

------------

(มีต่อ)


โดย: หมีPooH! วันที่: 24 มีนาคม 2549 เวลา:21:43:41 น.  

 
เมื่อกลับมาพิจารณา

สิ่งที่คุณปริเยศ ให้ความเห็นเชิงคำถามไว้นั้น น่าสนใจครับ

และ เราปฏิเสธไม่ได้ว่า การบริหารจัดการโครงการแนวทางประชานิยมของ ทรท. ยังต้องการการพัฒนาต่อเนื่องอยู่

อย่างน้อย ในแง่ของ 30 บาท นั้น
การจัดการงบประมาณก็สำคัญ

โครงการ OTOP (ผมชอบชื่อนี้มาก.. คนคิดเก่งจริงๆๆ)
ก็ยังต้องการ หน่วยงาน/องค์กร ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน (ตั้งเป็นสถาบันย่อยก็ได้) ที่จะช่วยพัฒนา ให้ชาวบ้านสามารถ develop products ที่ สู่สากลได้แบบ "มีชั้นเชิง"

โครงการโคล้านตัว / กองทุนหมู่บ้าน
อย่างไรก็ต้องการ ความละเอียดในการทำงาน ในแง่ "การติดตามผล" และ หลีกเลี่ยงข้อครหาต่างๆในแง่ คอรัปชั่นให้มาก

------------

สรุป
โดยระบบแล้ว ผมว่า โครงการเหล่านี้ แนวคิดโอเค

แต่ จะพอสรุปได้ว่ารัฐบาลเอาจริงเอาจังกับการแก้ไขปัญหาของความยากจน หรือไม่

ผมว่า ควรวัดกันที่ การ Maintain โครงการในระยะยาว

สิ่งที่คุณปริเยศบอกถึง ผลิตภาพ ในการเกษตร ที่ของเราต่ำมาก (มานานแล้ว) ก็เป็นสิ่งที่เราต้องทำเสริมขึ้นครับ

งบของ กรมวิชาการเกษตร ควรปรับให้เหมาะสมมากขึ้น
ไม่งั้น ในอนาคต หากเจอระบบเกษตรแบบ GMO
ที่มี productivity สูงมาก

ประเทศไทย จะเป็นประเทศที่เจ๊งทันที

เพราะ ภาคเกษตรก็สุ้ไม่ได้
ภาคอุตสาหกรรมก็มีแต่ รับจ้างผลิต แต่ขาดการพัฒนาทางทักษาะแรงงานและ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตนเอง

ไทยในอีก 20 ปีข้างหน้า น่าสนใจ และน่าห่วงมากครับ

รออ่านตอนต่อไปนะครับ..


(จบแล้ว และขออภัย หากบ่นอะไรไปมากมายครับ)


โดย: หมีPooH! วันที่: 24 มีนาคม 2549 เวลา:21:54:17 น.  

 

ลงชื่อไว้ก่อน กำลังอ่านนะคะเจ้านาย



โดย: นจ IP: 203.151.141.194 วันที่: 25 มีนาคม 2549 เวลา:15:25:35 น.  

 
ขอออกตัวก่อนว่าสิ่งที่ผมแสดงความเห็นต่อไปเป็นเพียงข้อสังเกตเท่านั้นครับ ผมไม่มีหลักฐานหรือข้อมูลมาแสดงเช่นเดียวกับ สหายสิกขา แต่หวังว่าข้อสังเกตผมพอจะเป็นประโยชน์สำหรับการร่วมแสดงมุมมอง

1. ผมไม่คิดว่า การมีการประเมินผลและสรุปแนวทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในแต่ละโครงการจะเป็นการสรุปได้ว่ารัฐบาลเอาจริงเอาจังกับการแก้ไขปัญหาความยากจน ดัง ที่คุณสหายสิกขา เขียนไว้ในด้านบน ซึ่งขอยกมาแสดงดังข้างล่างนี้

“.....แต่อย่างไรก็ตามจะเห็นได้ว่าโครงการต่างๆของภาครัฐในการแก้ไขปัญหาความยากจน จะถูกประเมินผล และสรุปหาแนวทางการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นสำหรับแต่ละโครงการอย่างชัดเจนประเด็นนี้น่าจะพอสรุปได้ว่ารัฐบาลเอาจริงเอาจังกับการแก้ไขปัญหาของความยากจน..”

เมื่อคำนึง ถึงนโยบายข้อตกลงการค้าเสรีแบบทวิภาคีที่ไทยไปทำการตกลงกับประเทศต่างๆโดยเฉพาะข้อตกลง ไทย-ออสเตรเลีย และ ไทย-นิวซีแลนด์ รวมทั้ง ไทย-จีน ซึ่งได้เอาภาคการเกษตรไทยไปแลกดังจะเห็นได้จากผลกระทบที่ส่งตรงทันทีไปยังพวกหัวหอม ผักผลไม้จากภาคเหนือของไทยที่ถูกสินค้าจีนตีตลาดเพราะราคาสินค้าจีนต่ำกว่า ภาคปศุสัตว์เช่น “นม” อันได้รับผลกระทบจากออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ ดังนั้นในแง่นี้ผมเห็นว่ารัฐบาลญี่ปุ่นดูจะปกป้องภาคการเกษตรของเขาอย่างเหนียวแน่นกว่าของประเทศไทย แม้ว่าชาวนาญี่ปุ่นจะรวยกว่าชาวนาไทย แต่ในกลุ่มสังคมญี่ปุ่น ชาวนาญี่ปุ่นมีระดับรายได้ไม่สูงนักเมื่อเทียบกลับกลุ่มอาชีพอื่นๆในญี่ปุ่น นอกจากนี้ชาวนาญี่ปุ่นมีการจัดตั้งในรูปกลุ่มสมาคมสูงกว่าและเป็นฐานเสียงสำคัญของพรรคการเมือง

ดังนั้นเราจะบอกได้อย่างไรว่าการที่ภาครัฐนำภาคการเกษตรส่วนหนึ่งไปแลกกับการได้ประโยชน์ในการส่งออกสินค้าภาคอุตสาหกรรมของไทยจากข้อตกลงการค้าเสรีแบบทวิภาคี โดยไม่พยายามปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตแก่คนรากหญ้าซึ่งโดยส่วนมากอยู่ในภาคการเกษตร เป็นการแสดงออกถึงความเอาจริงเอาจังในการแก้ไขปัญหาความยากจน

การนำเงินไปลงให้กับคนรากหญ้า โดยไม่นำทักษะหรือknow how หรือความช่วยเหลืออื่นในเชิงปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตลงไปด้วย นี่คือเป็นการอุปถัมภ์โดยรัฐ หรือเป็นนโยบายประชานิยมอย่างหนึ่งเช่นกัน เพราะเน้นการนำเงินลงไปอย่างเดียวโดยไม่ได้นำทักษะการจัดการ หรือวิธีอื่นๆในการประสิทธิภาพการผลิตลงไปด้วย แต่ไม่ใช่ทุกโครงการของรัฐบาลไทยรักไทยจะเป็นเช่นนี้หมดนะครับ อย่างน้อยผมเห็นถึงโครงการOTOP ที่ภาครัฐได้มีการนำปัจจัยอื่นๆนอกจากเงินลงทุนลงไปสนับสนุน ด้วย

ผมคิดว่าโดยส่วนใหญ่ โครงการของรัฐ ที่อัดลงไปช่วยคนรากหญ้า ผลการช่วยเหลือไม่ได้ช่วยให้เขามีความสามารถการผลิต เป็นแค่เงินโอนจากภาครัฐเท่านั้น และนั่นจะไม่ได้ทำให้คนรากหญ้าพ้นจากความยากจนอย่างยั่งยืน

ดังนั้นที่ว่า “ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ ขยายโอกาส” ต้องดูว่า รายได้ที่เพิ่มนั้นมีที่มาจากความสามารถในการผลิตหรือเป็นเพียงเงินโอนจากภาครัฐ เพราะแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวสูงขึ้นจนรัฐบาลไม่สามารถตั้งงบประมาณเพื่อช่วยเหลือคนจนได้ตรมใจชอบ นั่นจะทำให้เกิดวิกฤติของคนรากหญ้าขึ้นมา เพราะมาตรฐานรายได้ รายจ่าย และเงินออม ของพวกเขาที่ผ่านมาขึ้นอยู่กับระดับความสนับสนุนของรัฐไม่ใช่มาจากความสามารถในการผลิต ดังนั้นถ้ารัฐลดการสนับสนุน จะเกิดการตอบโต้เช่นการเดินขบวน การกดดันในรูปแบบอื่นๆ จนทำให้พรรคการเมืองพรรคอื่นจะต้องเสนอนโยบายประชานิยมเช่นกัน เพื่อดึงคะแนนเสียงของกลุ่มคนเหล่านี้ในฤดูการเลือกตั้ง และยิ่งเห็นถึงทิศทางที่รัฐบาลไทยรักไทย ไปทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีแบบทวิภาคี โดยนำภาคการเกษตรหลายสาขาไปแลก ยิ่งทำให้ระดับการแข่งขันในอนาคตของภาคการเกษตรในไทยอยู่ในระดับสูงขึ้น ถ้ารัฐไม่สามารถนำคนรากหญ้าส่วนหนึ่งเข้าสู่การผลิตภาคบริการ หรือภาคอุตสาหกรรม ได้ จะเกิดปัญหาอย่างแน่นอน

2. ผมอยากให้สหายสิกขา ลองไปหางานของ ดร.สมชัย จิตสุชน แห่ง TDRI ที่ได้ค้นคว้าประสิทธิผล และผลกระทบของนโยบายพรรคไทยรักไทยต่อกลุ่มรากหญ้ามา เป็นส่วนหนึ่งในการพิจารณาร่วมกับงานของสภาพัฒน์ฯ ด้วย เพราะโดยส่วนตัวผมคิดว่า งานของสภาพัฒน์ฯมีข้อน่ากังขาในเรื่องของการสนับสนุนประสิทธิผลของนโยบายรัฐบาลไทยรักไทยมาก แต่แน่นอนครับการอ่านงานของ TDRI เราต้องระวังจุดยืนทางการเมืองและความคิดที่ซ่อนอยู่ข้างหลังเช่นกัน แต่การมีงานวิจัยที่เปรียบเทียบกันในเรื่องเดียวกัน ช่วยขยายความเข้าใจในเรื่องด้วยกันได้เยอะ

3. โดยส่วนตัวเช่นกันครับ ผมเชื่อว่าการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา แยกไม่ออกจากเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การลดอัตราดอกเบี้ยต่ำของ อดีตประธาน กรีนสแปน เพราะประเทศที่วิกฤติพร้อมเราในปี 1997 ครั้งกระโน้นฟื้นตัวพร้อมๆกันหมด โดยที่ไม่จำเป็นต้องดำเนินนโยบายThaksinomics หรือ Dual Tracks แต่อย่างใด ดังนั้นการที่กระแสเศรษฐกิจโลกแปรไปเป็นขาลงตามต้นทุนน้ำมันที่เพิ่มขึ้น อัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวสูงขึ้น ต้องระวังให้ดีว่าประสิทธิภาพการใช้จ่ายของภาครัฐเป็นอย่างไร เพราะปริมาณเงินหรือสภาพคล่องของไทยไม่ได้ล้นระบบอยู่ในธนาคารดังปี 2544 แล้วครับ หากแต่ปริมาณเงินหรือสภาพคล่องเริ่มตึงตัวมากขึ้น ช่องว่างเงินออมและเงินลงทุนของไทยบีบตัวแคบมาก จนผมค่อนข้างมั่นใจว่า ไทยต้องนำเข้าเงินทุนจากต่างประเทศอีกครั้ง คงมีผลทำให้ดุลบัญชีเดินสะดัดขาดดุลและคงเป็นการบังคับให้ภาครัฐต้องมีดุลการคลังที่สมดุลหรือเกินดุล เพื่อแสดงให้ชุมชนการเงินระหว่างประเทศเห็นถึงความน่าเชื่อถือของสถานการณ์เงินประเทศไทย และนั่นเองทำให้ผมสงสัยว่าในที่สุดภาครัฐต้องลดทอนการสนับสนุนแก่คนรากหญ้าลงไปโดยอัตโนมัติเอง แต่ถ้าไม่คือมีการขาดดุลยบัญชีเดินสะพัดพร้อมๆกับการขาดดุลการคลัง แล้วล่ะก็ ถือว่าประเทศไทยเสี่ยงครับเสี่ยงมาก

4. โดยสรุป ผมเชื่อว่าโครงการ 30 บาท ,พักชำระหนี้ ,ธนาคารประชาชน และกองทุนหมู่บ้าน ยกเว้นโครงการOTOP เป็นโครงการอุปถัมภ์เงินโดยรัฐบาล เป็นการโอนเงินจากภาครัฐให้คนรากหญ้าโดยตรง ผลคือมีการเพิ่มอำนาจซื้อโดยตรงแก่คนรากหญ้าไม่ใช่เป็นการเพิ่มความสามารถในการทำมาหากินให้แก่เขา นอกจากนี้ข้อตกลงการค้าเสรีแบบทวิภาคีที่มีการนำเอาสินค้าภาคการเกษตรไปเปิดตลาดแก่ต่างประเทศโดยไม่ได้ปรึกษากับกลุ่มผลประโยชน์ภาคการเกษตรใดๆเลยโดยเฉพาะกลุ่มคนรากหญ้า เมื่อคำนึงว่าพรรคการเมืองผู้ขายนโยบายไม่มีความเสี่ยงหรือกลไกรับผิดชอบใดๆเลย เพราะเงินที่นำไปลงเป็นเงินภาษีอากรของประเทศไทย ไม่ใช่เงินส่วนตัวของพรรคไทยรักไทย และปัญหาหลายอย่างของโครงการประชานิยมทั้งหลายแหล่ ผมเชื่อว่าสามารถแก้ไขได้โดยไม่ต้องใช้เงิน แต่รัฐบาลไม่สนใจในแง่ดังกล่าวกับมุ่งหน้าอัดแต่เงินลงไปอย่างเดียว จึงน่าสุ่มเสี่ยงต่อสถานการณ์คลังของประเทศมากโดยเฉพาะ ในยามที่อัตราดอกเบี้ยขาขึ้น เศรษฐกิจโลกชะลอตัวทำให้ยอดส่งออกของไทยผันผวน เดี๋ยวเกินดุล เดี๋ยวขาดดุล ทำให้น่าเป็นห่วงว่าถ้าประสิทธิภาพภาคอุตสาหกรรมของไทยไม่แข็งแกร่งพอที่จะเป็นตัวนำความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เปลี่ยนคนรากหญ้าให้เป็นคนชั้นกลางแล้วละก็ เราจะพบวิกฤติทางการคลังอย่างยาวนาน แน่นอนครับ




โดย: ปริเยศ (Pariyed ) วันที่: 26 มีนาคม 2549 เวลา:20:56:43 น.  

 
แวะมาเยี่ยมเช่นเคยครับ

ผมชอบคุณสหายสิกขามาก ตรงที่การวิเคราะห์ต่างๆสามารถทำได้อย่างเข้าใจง่าย อีกทั้งข้อมูลนี่เพียบดีจริงๆเลย อ่านแล้วเพลินลูกกะตาอย่างมาก

สำหรับผมเชื่อว่า อันดับแรกเราต้อง นิยาม "ความยากจน" ให้ชัดก่อนครับ แน่นอนว่า สิ่งที่รัฐบาลทำมานั้น มุ่งเป้าแก้ปัญหาความยากจนในระดับหนึ่ง แต่มันไม่ใช่ทั้งหมดของความยากจน อีกทั้งผมยังไม่เห็นท่าทีอื่นๆ ของรัฐบาลที่จะพยายามมองเรื่องของความยากจนเกินไปกว่าเรื่องของรายได้และ infrastructure

และยังเห็นด้วยต่อไปยังความคิดของพี่ปริเยศ ว่าสุดท้ายแล้ว มันเป็นแค่การโอนเงินจากภาครัฐไปสู่มือประชาชน แม้ว่าการโอนเงินลงไปมันจะมีผลของตัวทวีหรืออะไรก็ตามแต่ สุดท้ายแล้วในแง่ของ innovation ในภาคเศรษฐกิจอันเป็นพื้นฐานของเรายังคงย้ำต๊อกอยู่กับที่

ซึ่งการใช้เงินจากภาครัฐอย่างมือเติบ มันก็มีนัยส่งผลต่อเสถียรภาพในระยะยาวนะ ตรงนี้ก็ต้องวัดกันแหละว่า จะ manage การคลังกันอย่างไรให้มันพริ้วไหวไม่ติดขัด

นอกจากนี้ยังมีนโยบายอะไรน่าสนุกสนานอีกเช่น จะปั้นให้เราเป็นดีทรอย (เขียนไงหว่า) แห่งเอเชีย โอ้ มายก้อด ทั้งๆที่สุดท้ายแล้วเราก็ได้รับจ้างผลิต เป็นเพียงหนึ่งในสายพายประกอบรถยนต์ แน่นอนว่าด้านผู้บริโภคเองคงทำใจลำบากนะถ้าอยู่ๆจะใช้รถที่เป็นแบรนด์ไทยจริงๆ ถ้าจะทำเป็นจริงเป็นจังคงยากอะนะ แต่ถ้ามองในมุมของการที่เป็นฐานการผลิตแต่อย่างเดียว ผมว่ามันก็ได้แหละ แต่มันจะดีกว่าถ้าเรามีตลาดภายในที่เข้มแข็งและเป็นของตัวเอง

เอาหละมาถึงประเด็นมันส์ๆ ก็คือเรื่องของนโยบายแบบประชานิยม วันนั้นฟังอาจารย์คนนึงให้สัมภาษณ์แล้วจี๊ดที่อกมากๆเลย (รู้สึกจะเป็นอาจารย์ที่หอการค้านะ) นักข่าวถามว่าสุดท้ายแล้วคิดว่านโยบายประชานิยมเป็นคำตอบหรือไม่ เค้าก็ตอบว่า "เป็น" เพราะสุดท้ายแล้วจะนโยบายแบบไหนอะไรยังไง ถ้าเป็นประโยชน์แก่สังคมถือว่าเป็นประโยชน์ทั้งนั้น แต่ผมว่าเนื้อแท้ของนโยบายประชานิยมนี้ค่อนข้างพรั่นพรึงนะ มันมีแนวโน้มที่จะลดแลก แจก แถมไม่มีวันหมด มันมีแนวโน้มที่จะสร้างวัฒนธรรมนั่งๆ นอนๆ รอๆ ให้กับประชาชนได้ สุดท้ายที่แย่ก็คือรัฐกับสังคมนั่นแหละ ผมว่าบางอย่างไม่ต้องอัดเงินลงไปก็ได้ แก้ที่ระบบซินั่น (แต่ตอนนี้สำหรับผมคงยังไม่มีอะไรเป็นรูปเป็นร่างในหัวสมอง ยังคิดไม่ออก 55)

สุดท้ายนี้ผมอยากจะมองว่า ความยากจนเป็นปัญหาที่ลึกซึ้งครับ ลึกมาก มากกว่าที่เราจะแก้กันด้วยวิธีการ consumption led growth เพียงอย่างเดียว

และต้องขอขอบคุณ คุณหมีพูห์มากๆเลยที่ได้เสนอในอีกมุมมองหนึ่ง น่าสนใจมากครับ ได้เปิดกะโหลดกะลาผมดี

แล้วผมจะแวะเข้ามาใหม่นะท่าน

ป.ล.

1) ผมขออนุญาติทำ link คุณเอาไว้ใน blog ผมคงไม่ว่ากันนะ

2) ใครก็ได้บอกผมทีเถิดว่าเวลาพิมชื่อเราลงไปทำอย่างไรให้มันขึ้นเป็น link ไป blog เรา เล่น blog มาก็นานนม แต่ยังทำไม่เป็นเลย 5555


โดย: gelgloog IP: 221.128.89.189 วันที่: 14 เมษายน 2549 เวลา:2:04:14 น.  

 
ขอประโยชน์ในการทำสินค้าOTopหน่อยนะคะเดี้ยว
คุณครูว่านะคะ


โดย: ปนัดดาพร ดาวเรือง IP: 58.8.118.84 วันที่: 5 พฤศจิกายน 2550 เวลา:17:37:48 น.  

 
รักคุณครู จุฬาภรณ์ คะจากมิลค์


โดย: ปนัดดาพร ดาวเรือง IP: 58.8.118.84 วันที่: 5 พฤศจิกายน 2550 เวลา:17:40:50 น.  

 
Love MONi


โดย: milk IP: 58.8.118.84 วันที่: 5 พฤศจิกายน 2550 เวลา:17:44:10 น.  

 
ความรับผิดชอบของผู้ปล่อยนโยบายนี้แย่มากๆ เป็นการปล่อยหนีเสียให้เกิดกับประชาชนไทย นะ กองหมูบ้านอะ ธนาคารเขาก็ดีอยู่แล้วพวกนี้เขาให้ความสำคัญกับหนี้ที่ก่อไม่ให้เป็นหนี้เสีย อาจจะดีกว่าการปล่อยกินเปล่าแบบนี้ นโยบายควรหนับหนุนธนาคารหรือเทคโอเวอร์ไปเลยส่วนวิธีปฏิบัติให้หน้าที่นี้แก่ธนาคาร คนที่ได้ผลประโยชน์เป็นคนส่วนน้อย เงินก็ภาษีเราทุกคน ควรจะไปสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกสาธารณะให้มากกว่า เพราะดูงบแบบขาดดุลก็คงทุมเงินแบบนี้นิหรอที่คุณภูมิใจ
30บาท เป็นโครงการที่ถูกต้องตามหลักนโยบายบริหาร คือลดต้นทุนให้กับประชาชน แต่มันผิดพลาดทางเทคนิคเท่านั้น สิ่งที่จะทำต่อไปข้างหน้าผมว่าน่าจะเป็นการบริหารเงินให้มาสนับสนุนการแพทย์ให้ได้ รัฐจะขาดทุนกับการให้การรักษาที่ฟุ้มเฟือยนี้ยังจะส่งผลให้ประชาชนปล่อยตัวปล่อยใจเป็นโรคง่าย ประเทศนี้คงขี้โรคเข้าไปเลย ซ้ำยังเป็นเจตนาที่จะทำให้ เอกชนมีรายได้มากขึ้นจากการเทตัวออกมาจากการรักษาเพี๊ยนๆ รัฐควรส่งเสริมอุตสาหกรรมพยาบาลเพื่อชุมชนและส่งออกนำเข้าจากผู้ป่วยต่างประเทศ

1ตำบล ก็สุดยอดจริง

คงหาที่ติได้ยาก เพราะประเทศเรามันจนจริงๆ นโยบายของรัฐจะควรเป็นสวัสดิ์การณ์ วางแนว ถนน รถไฟ ให้มากกว่าการให้ทุนไปเล่นพนันกัน เป็นการส่งเสริมการก่อหนี้


โดย: บิว IP: 125.26.141.51 วันที่: 9 มกราคม 2551 เวลา:6:13:43 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ฮันโซ
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




สหายสิกขา Lite version

สหายสิกขาตั้งคำถามกับการเป็นอยู่ของสรรพสิ่งตรงหน้า พร้อมกันนั้นก็เปิดรับแนวคิดของคำตอบในมุมมองที่แตกต่างอย่างเท่าเทียมกัน

สหายสิกขาจะมีความยินดียิ่ง หากคุณได้นำความรู้ที่ได้จุดประกายนี้ไปตีความต่อให้ลึกซึ้งยิ่งๆขึ้น เพราะยิ่งแลกเปลี่ยนยิ่งถกเถียงยิ่งสนทนาก็สามารถแตกประเด็นไปอีกได้มาก

สหายสิกขาต้องการกระตุ้นให้คนอ่านได้คิด และสัมผัสถึงขอบเขตที่ไม่สิ้นสุดแห่งจินตนาการ

พร้อมกันนั้นสหายสิกขา ก็พร้อมอยู่เป็นเพื่อนคู่คิด เพื่อนสนทนา เพื่อจับมือกันเรียนรู้ไปในโลกกว้าง ...ด้วยกัน

CC Developing Nations
Friends' blogs
[Add ฮันโซ's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.