Group Blog
 
All blogs
 
สัญญาณเตือน ปรับเพิ่มระดับความเสี่ยงเป็น 8/10

1. ได้นำเสนอไปใน "สัญญาณเตือน" ฉบับที่แล้วว่า "นับจากนี้ อาวุธทุกรูปแบบ เครื่องมือทุกชนิด จะถูกระดมจากทั้งสองฝ่าย เพื่อทำสงครามอุดมการณ์ครั้งใหญ่"

(ดู //www.arayachon.org/starlight/20080226/390)

ซึ่งสถานการณ์ตอนนี้ ก็เป็นเช่นนั้นจริง.
สถานการณ์ครั้งนี้ กำลังถูกปลุกปั่นให้ไต่ขึ้นสู่ระดับสูง

1.1 กระบวนการเชื่อมโยงการโจมตีสัญลักษณ์ของชาติเข้ากับคู่ต่อสู้ทางการเมือง

(ก) "มติชน" ซึ่งเคยสนับสนุนบทสัมภาษณ์พิเศษทักษิณ ในช่วงโค้งท้ายการเลือกตั้ง กลับกลายเป็นผู้เปิดประเด็นเรื่อง ชื่อทักษิณบนธงชาติ ทั้งที่อาจมองได้ว่าเป็นวัฒนธรรมการเชียร์กีฬา (ปรากฎชื่อสเวน โกรัน อีริคสันบนธงสวีเดนเคียงคู่กัน) ถูกนำไปขยายต่อโดย "ผู้จัดการ"

(ข) "ผู้จัดการ" เชื่อมโยง ฟ้าเดียวกัน - ธนาธร - จึงรุ่งเรืองกิจ - พานทองแท้ และประชาไท เข้ากับฝ่ายสนับสนุนทักษิณ ทั้งที่สองกลุ่มนี้ เพียงแต่ไม่สนับสนุนการรัฐประหาร ไม่ถึงกับสนับสนุนทักษิณ การเปิดการโจมตีแบบนี้ จะทำให้เกิดแนวร่วมประชาธิปไตยสากลโดยไม่ได้ตั้งใจขึ้นมา

(ค) ความผิดพลาดของรายการ " เมโทรไลฟ์ " ในการใช้เพลงปลุกใจสมัย 2519 ปลุกระดมคนเพื่อทำร้ายโชติศักดิ์ ในลักษณะที่คล้ายกับเหตุการณ์ 6 ตุลา ทำลายความชอบธรรมของผู้จัดการและพันธมิตรเอง ส่งผลให้นักวิชาการ นักเคลื่อนไหวและสื่อทางเลือก ประท้วงและต่อต้านกลับ มีจดหมายเปิดผนึกจากสองนักวิชาการ เรียกร้องให้ทบทวนความชอบธรรมของสื่อกระแสหลัก

1.2 แนวร่วมสื่อกระแสหลัก + นักเคลื่อนไหว + นักวิชาการ + แพทย์อาวุโส สายไม่ต่อต้านการรัฐประหาร เริ่มโจมตีความชอบธรรมของรัฐบาลสมัครอย่างหนัก คำว่า "ลูกกรอกและกุมารทอง" เริ่มถูกนำมาใช้เพื่อเปรียบเปรย แทนคำว่า "นอมินี" ซึ่งเข้าถึงชาวบ้านได้ง่ายกว่า

1.3 ปัญหาเศรษฐกิจจากภาวะเงินเฟ้อในระดับสูง เนื่องจากราคาน้ำมัน และสินค้าต่างๆ ที่ปรับตัวสูงขึ้น กำลังส่งผลต่อความเชื่อมั่นของประชาชนต่อรัฐบาลอย่างมาก ทั้งนี้เนื่องจากประชาชนมองว่า ในระยะเวลา 3 เดือนนี้ รัฐบาลแก้ไขปัญหาได้ไม่ว่องไวพอ (แม้ว่าจะถูกประเมินว่า ตอบสนองต่อแนวทางเศรษฐกิจได้ดีกว่าช่วงสามเดือนแรกของรัฐบาลทักษิณหรือรัฐบาลสุรยุทธ์)

1.4 การเชื่อมโยงการโจมตีสัญลักษณ์ของชาติ เข้ากับคู่ต่อสู้ทางการเมือง ในที่สุดแล้วจะส่งผลให้ "องคาพยพ" ของกองทัพเคลื่อนไหว ซึ่งนำไปสู่การรัฐประหารที่กำลังถูกพูดถึงอย่างกว้างขวางและคาดเดากันล่วงหน้าตามวงสนทนาทางการเมืองต่างๆในขณะนี้

พล.อ. อนุพงษ์ ถูกพิจารณาว่าในที่สุดแล้ว ไม่ได้อ้างอิงสมัคร หรือฝ่ายรัฐบาลอย่างที่เข้าใจ ในขณะที่พล.ท. ประยุทธ์ ก็ไม่ได้แสดงท่าทีว่าจะเห็นด้วยหรือเข้าข้างรัฐบาลนัก ในขณะที่แกนนำของ คมช. เดิมอย่างพล.อ.อ ชลิต ก็แสดงทีท่าว่า อยู่ตรงข้ามกับฝ่ายรัฐบาลอย่างชัดเจน

2. รัฐประหารที่ 'อาจจะ' เกิดขึ้น ถูกประเมินว่า เป็นเครื่องมือที่อาจสร้างปัญหา มากกว่าสร้างทางออก เพราะ

2.1 รัฐประหารที่เกิดขึ้นครั้ง 19 กันยา 2549 ในที่สุดก็ต้องยอมให้มีการเลือกตั้ง ซึ่งผลก็ปรากฎว่า พปช. สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ (คือรัฐบาลสมัคร)

2.2 การรัฐประหารครั้งใหม่ อาจเผชิญกับแรงต่อต้านของประชาชนฝ่ายต้านรัฐประหาร (รูปธรรมคือกลุ่มโหวตไม่สนับสนุนรธน 50) และบางส่วนผ่านประสบการณ์ภาคสนาม ในการแสดงพลังมวลชนการต้านรัฐประหารมาแล้ว ความเป็นไปได้ลำดับต้นคือ การชุมนุมสำแดงพลังต่อต้านทันที ขั้นต่อไปคือการไม่ยอมให้ความร่วมมือกับรัฐบาลทหาร

2.3 รัฐบาลต่างชาติแสดงท่าทีกดดัน รัฐบาลทหารอย่างชัดเจนว่า ไม่อาจยอมรับการรัฐประหาร ครั้งใหม่ได้

2.4 ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นหลังรัฐประหาร จะรุนแรงจนอาจส่งผลให้เกิดความวุ่นวายและการปะทะ กันตามท้องถนน

2.5 อย่างไรเสีย จุดสิ้นสุดของการรัฐประหารก็คือ การคืนการปกครองให้กับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งก็มีโอกาสสูงที่ พปช. จะสามารถทำได้อีก (แม้จะถูกยุบพรรค ก็สามารถก่อตั้งพรรคใหม่ในอุดมการณ์เดิมต่อไปได้)

ด้วยเหตุผลต่างๆเหล่านี้ ทำให้การรัฐประหารครั้งใหม่ แม้ว่าอาจเกิดขึ้นได้ ก็ไม่สามารถเป็นทางออกได้ กลับกลายจะเป็นปัญหามากกว่าเดิม และนำไปสู่ทางตันในสถานการณ์ทางการเมืองอย่างแท้จริง

3. Best solution ของฝ่าย 'ประชาธิปไตยแบบไทยๆ' คือการกำหนดแนวต้านการแก้รธน. 50 , ล็อคเส้นทางการส่งเรื่องยุบพรรค พปช. (รวม มัชฌิมา และ ชาติไทย) ให้กับศาลรัฐธรรมนูญตัดสิน ซึ่งผลที่ออกมาคงจะเป็น 'ยุบพรรค' แต่ปัญหาของ solution นี้คือ

3.1 กระบวนการนี้ใช้เวลาราว 1 ปี ซึ่ง ฝ่ายรัฐบาลอาจชิงจังหวะ ยุบสภา เตรียมจัดตั้งพรรคและ คณะกรรมการพรรคใหม่ เพื่อรองรับการยุบพรรค

3.2 ฝ่ายรัฐบาลเตรียมสร้างกระแสเพื่อแก้ไขรธน. 50 เพื่อนำไปสู่ รัฐธรรมนูญที่ใกล้เคียงกับฉบับ 40 มากขึ้น โดยในที่สุด คงจำเป็นต้องยอมทำประชามติ (เนื่องเพราะ รธน. 50 ผ่านการทำประชามติมาก่อน และจากผลสำรวจโพลล์ ประชาชนไม่ได้เห็นว่าการแก้รธน. เป็นปัญหาเร่งด่วนอันดับแรก), ไม่แตะเรื่องกระบวนการยุติธรรมของ พ.ต.ท. ทักษิณ และไม่แตะต้องเรื่องการอภัยโทษนักการเมืองในบ้านเลขที่ 111

ซึ่งเรามองว่า ทางเลือกนี้ "ดีที่สุด"

4. ข่าวร้ายคือ สงครามระหว่างอุดมการณ์ครั้งนี้ "ไม่สามารถประนีประนอม" และ "เดิมพัน" ของแต่ละฝ่ายสูงเกินไป กระบวนการเรียกร้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เป็นเพียงเงาสะท้อน เบื้องหลังการต่อสู้เชิงอุดมการณ์ เพื่อนำไปสู่การช่วงชิงอำนาจครั้งใหญ่ครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ ซึ่งดำเนินต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2548 เป็นต้นมา

ประเด็นจึงไม่ได้จบอยู่ที่ การคงไว้ซึ่ง รธน. 50 หรือ การแก้รธน. 50

แต่เป็นประเด็นที่ ในที่สุด "ฝ่ายใด" จะได้คุมอำนาจรัฐ





Create Date : 07 พฤษภาคม 2551
Last Update : 7 พฤษภาคม 2551 16:44:46 น. 0 comments
Counter : 300 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ฮันโซ
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




สหายสิกขา Lite version

สหายสิกขาตั้งคำถามกับการเป็นอยู่ของสรรพสิ่งตรงหน้า พร้อมกันนั้นก็เปิดรับแนวคิดของคำตอบในมุมมองที่แตกต่างอย่างเท่าเทียมกัน

สหายสิกขาจะมีความยินดียิ่ง หากคุณได้นำความรู้ที่ได้จุดประกายนี้ไปตีความต่อให้ลึกซึ้งยิ่งๆขึ้น เพราะยิ่งแลกเปลี่ยนยิ่งถกเถียงยิ่งสนทนาก็สามารถแตกประเด็นไปอีกได้มาก

สหายสิกขาต้องการกระตุ้นให้คนอ่านได้คิด และสัมผัสถึงขอบเขตที่ไม่สิ้นสุดแห่งจินตนาการ

พร้อมกันนั้นสหายสิกขา ก็พร้อมอยู่เป็นเพื่อนคู่คิด เพื่อนสนทนา เพื่อจับมือกันเรียนรู้ไปในโลกกว้าง ...ด้วยกัน

CC Developing Nations
Friends' blogs
[Add ฮันโซ's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.