ยินดีต้อนรับสู่ club.bloggang.com
...magazine online โดยหนุ่มสาวชาว =Neo=
ถึงคราวที่เศรษฐีต้องนอนสะดุ้ง

เมื่อวันที่ 13 ก.พ.ที่ผ่านมาได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติสถาบันคุ้มครองเงินฝาก พ.ศ.2551 ในราชกิจจานุเบกษาแล้ว โดยจะมีผลใช้บังคับเมื่อพ้น 180 วัน นับจากวันประกาศใช้ กฎหมายนี้มีเนื้อหาสาระที่น่าสนใจมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่มีเงินฝากในธนาคารเพราะไม่ว่าจะมีเงินฝากเป็นแสนล้านหรือหมื่นล้านก็จะได้คืนเพียงแค่ล้านเดียวเท่านั้น



เหตุผลของการออกกฎหมายนี้มาบังคับใช้ก็เพราะว่า จากหลักการเดิมที่มีการคุ้มครองเงินฝากในสถาบันการเงินเต็มจำนวน เป็นผลให้เกิดภาระการคลังแก่รัฐมากเกินไปอีกทั้งยังไม่มีกลไกดำเนินการที่เหมาะสม ดังนั้น เพื่อลดภาระการคลังจึงมีการนำระบบการคุ้มครองเงินฝากแบบจำกัดวงเงินมาใช้ พร้อมกำหนดกลไกต่างๆ ในการคุ้มครองเงินฝาก อย่างเป็นระบบ ซึ่งจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของประชาชนต่อระบบ สถาบันการเงิน อันจะเป็นการสนับสนุนการออมเงินของประเทศและเสริมสร้างความมั่นคงและเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงินภาพรวม

พ.ร.บ.สถาบันคุ้มครองเงินฝากมีหลักเกณฑ์หรือประเด็นสำคัญที่ผู้มีเงินฝากจะมากจะน้อยพึงทราบสองเรื่องครับ หนึ่งคือเรื่องของหลักเกณฑ์ที่สถาบันการเงินต่างๆจะต้องนำส่งเงินสมทบเข้าสถาบันคุ้มครองเงินฝาก ในอัตราไม่เกิน 1% ของเงินฝากในสถาบันการเงินแต่ละแห่ง ซึ่งสถาบันการเงินต่างๆเคยจ่ายให้กับกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาสถาบันการเงินอยู่ในอัตรา 0.4% ของเงินฝาก


โครงสร้างของสถาบันคุ้มครองเงินฝาก

กำหนดให้สถาบันมีฐานะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายและเป็นหน่วยงานของรัฐที่ไม่เป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณและกฎหมายอื่น โดยรัฐบาลจัดสรรทุนประเดิมให้แก่สถาบันเป็นวงเงินไม่เกินหนึ่งพันล้านและมีคณะกรรมการสถาบันคุ้มครองเงินฝากจำนวนอย่างน้อย 7 คน แต่ไม่เกิน 9 คน



การคุ้มครองเงินฝาก

แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ กองทุนคุ้มครองเงินฝาก เงินฝากที่ได้รับการคุ้มครองและการจ่ายเงินแก่ผู้ฝากเงิน



ส่วนที่หนึ่ง กองทุนคุ้มครองเงินฝาก ประกอบด้วย เงินที่สถาบันการเงินนำส่ง ดอกผลของกองทุน และเงินหรือทรัพย์สินที่ได้รับจากการชำระบัญชี ทั้งนี้ สถาบันการเงินมีหน้าที่ต้องนำส่งเงินเข้ากองทุนตามอัตราที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา แต่ไม่เกินร้อยละหนึ่งต่อปีของยอดเงินฝากถัวเฉลี่ยของบัญชีเงินฝากที่ได้รับการคุ้มครอง และเมื่อนำส่งเงินเข้ากองทุนแล้วสถาบันการเงินจะไม่ต้องนำส่งเงินเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินตามกฎหมายว่าด้วยธนาคารแห่งประเทศไทยต่อไป หากสถาบันการเงินใดไม่นำส่งหรือนำส่งไม่ครบ จะต้องเสียเงินเพิ่มอีกไม่เกินหนึ่งเท่าของจำนวนเงินดังกล่าว และให้ถือว่าเงินที่ส่งเข้ากองทุนและเงินเพิ่มเป็นหนี้บุริมสิทธิลำดับต่อจากหนี้ภาษีอากรของสถาบันการเงิน



ส่วนที่สอง เงินฝากที่ได้รับการคุ้มครอง ประกอบด้วย



(1) เงินฝากทุกประเภทของสถาบันการเงินที่นำมาคำนวณยอดเงินฝาก ถัวเฉลี่ย และดอกเบี้ยค้างจ่ายที่เกิดจากเงินฝากนั้นจนถึงวันที่สถาบันการเงินถูกเพิกถอนใบอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงิน และ



(2) เงินฝากดังกล่าวต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไข คือ ต้องเป็นเงินฝากและดอกเบี้ยที่เป็นเงินบาท ต้องเป็นเงินฝากในบัญชีเงินฝากภายในประเทศ โดยต้องมิใช่เงินฝากในบัญชีประเภทบัญชีเงินฝากของบุคคลที่มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมการแลกเปลี่ยนเงินและให้คณะกรรมการประกาศรายละเอียดประเภทเงินฝากที่ได้รับการคุ้มครองในราชกิจจานุเบกษา



ส่วนที่สาม การจ่ายเงินแก่ผู้ฝากเงิน ซึ่งเป็นขั้นตอนที่เกิดขึ้นภายหลังจากที่สถาบันการเงินถูกเพิกถอนใบอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงินแล้ว จึงเป็นการกำหนดอำนาจหน้าที่ตลอดจนสิทธิของบุคคลที่เกี่ยวข้อง ดังนี้



(1) กำหนดให้สถาบันในฐานะผู้ชำระบัญชีเป็นผู้ดูแลทรัพย์สินตลอดจนเอกสารทั้งปวงของสถาบันการเงินและกำหนดให้คณะกรรมการควบคุม หรือผู้แทนนิติบุคคลของสถาบันการเงินซึ่งเป็นผู้ดูแลจัดการทรัพย์สินของสถาบันการเงินมีหน้าที่ต้องส่งมอบเงินและทรัพย์สิน ตลอดจนเอกสารทั้งปวงให้แก่สถาบันในฐานะผู้ชำระบัญชีภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่สถาบันการเงินนั้นถูกเพิกถอนใบอนุญาต



(2) กำหนดหน้าที่ของสถาบันที่จะต้องประกาศกำหนดให้ผู้ฝากเงินมายื่นคำขอรับเงินภายในสี่สิบวันนับแต่วันที่สถาบันการเงินถูกเพิกถอนใบอนุญาต



(3) กำหนดให้ผู้ฝากเงินมีหน้าที่ที่จะต้องยื่นคำขอรับเงินและแสดงพยานหลักฐานเพื่อขอรับเงินภายในเก้าสิบวันนับแต่วันที่สถาบันประกาศกำหนดให้มายื่นคำขอรับเงิน ซึ่งระยะเวลาดังกล่าวนี้ หากรัฐมนตรีเห็นว่ามีความจำเป็น รัฐมนตรีมีอำนาจสั่งขยายได้ไม่เกินสองครั้ง ครั้งละไม่เกินเก้าสิบวัน



(4) กำหนดให้สถาบันต้องจ่ายเงินให้แก่ผู้ฝากเงินแต่ละรายผู้มีชื่อเป็นเจ้าของบัญชีหรือทายาทภายในระยะเวลาไม่เกินสามสิบวันนับแต่วันที่ผู้ฝากเงินยื่นขอรับเงินโดยสถาบันจะจ่ายเงินให้แก่ผู้ฝากเงินตามจำนวนเงินที่ฝากไว้สำหรับทุกบัญชีรวมกันในแต่ละสถาบันการเงิน แต่หากเงินฝากทุกบัญชีรวมกันดังกล่าวมีจำนวนเกินกว่าหนึ่งล้านบาท ให้จ่ายเงินเป็นจำนวนหนึ่งล้านบาท (มาตรา 53)



ในกรณีที่มีชื่อบุคคลหลายคนร่วมกันเป็นเจ้าของบัญชี ให้สถาบันจ่ายเงินให้แก่ผู้มีชื่อเป็นเจ้าของบัญชีแต่ละคนตามส่วนที่บุคคลนั้นมีสิทธิในบัญชีเงินฝาก หากไม่อาจทราบจำนวนเงินฝากที่แต่ละคนมีส่วนในบัญชี ให้ถือว่าผู้ฝากเงินดังกล่าวมีส่วนเท่ากัน



(5) เมื่อสถาบันจ่ายเงินให้แก่ผู้ฝากเงินตาม (4) แล้ว ให้สถาบันเข้ารับช่วงสิทธิของผู้ฝากเงินเท่ากับจำนวนเงินที่ได้จ่ายไปแล้ว และมีสิทธิได้รับชำระหนี้ในจำนวนเงินนั้นจากเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์หรือผู้ชำระบัญชี โดยมีบุริมสิทธิเหนือเจ้าหนี้สามัญของสถาบันการเงินนั้นทั้งหมด



อย่างไรก็ดีเพื่อมิให้เกิดความสับสนวุ่นวายในระยะเริ่มแรกกฎหมายก็กำหนดบทเฉพาะกาลไว้ว่าเมื่อมีการจัดตั้งสถาบันคุ้มครองเงินฝากขึ้นแล้ว ให้ยกเลิกการประกันผู้ฝากเงินของสถาบันการเงิน โดยรัฐบาลที่มีอยู่ก่อนการจัดตั้งสถาบันคุ้มครองเงินฝาก และใน 4 ปีแรกของการบังคับใช้กฎหมาย ให้จ่ายเงินแก่ผู้ฝากเงินตามหลักเกณฑ์ โดยกำหนดจำนวนเงินที่ให้ความคุ้มครองไม่เกินจำนวน ดังนี้



ปีที่หนึ่ง เต็มตามจำนวนเงินที่ปรากฏในบัญชี ปีที่สอง หนึ่งร้อยล้าน ปีที่สาม ห้าสิบล้านบาท ปีที่สี่ สิบล้านบาท



ทั้งนี้ ในช่วง 4 ปีแรกของการบังคับใช้กฎหมาย หากภาวะเศรษฐกิจ และระบบการเงินเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ อันเป็นเหตุให้ต้องกำหนดจำนวนเงินที่ให้ความคุ้มครองเงินฝากเพิ่มขึ้นจากที่กำหนด ให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา



พอถึงปีที่ 5 เป็นต้นไปก็เข้าสู่ภาวะปกติ คือ คุ้มครองไม่เกินหนึ่งล้านบาท

ใครที่มีเงินเกินกว่าหนึ่งล้านบาทก็ต้องวางแผนทางการเงินว่าจะต้องทำอย่างไรกับเงินที่มีอยู่ จะแบ่งไปฝากหลายๆสถาบันการเงินหรือจะนำไปลงทุน ก็ต้องศึกษากันให้ดีล่ะครับ

หลายคนพอได้ทราบข่าวเรื่องนี้ก็ออกตัวก่อนเลยครับว่า แม้ตัวเองจะไม่ได้มีเงินออมมากมายก่ายกองเป็นล้านๆ และแม้จะเชื่อว่าไม่ใช่เรื่องง่ายๆที่ธนาคารหรือสถาบันการเงินจะมีปัญหาจนถึงกับต้องล้มหายตายจาก แต่ก็ยังอดที่จะรู้สึกว่ามีเรื่องน่าปวดหัวเพิ่มมากขึ้นมาในชีวิตไม่ได้

แต่คนที่น่าจะต้องปวดหัวตัวจริงนั้น นอกเหนือจากผู้ฝากเงินรายใหญ่แล้วคงจะหนีไม่พ้นกลุ่มธนาคารหรือสถาบันการเงินเอง โดยเฉพาะสถาบันการเงินขนาดเล็กยิ่งมีเรื่องที่ต้องขบคิดมากเป็นพิเศษ ทั้งนี้เพราะผู้ฝากเงินอาจเห็นว่าการฝากเงิน (1บัญชีเกิน 1 ล้านบาท) ไว้กับธนาคารนั้นมีความเสี่ยง ดังนั้นสิ่งที่น่าจะตามมาก็คือการตัดสินใจเคลื่อนย้ายเงินฝากออกไปยังธนาคารขนาดใหญ่ที่มีความมั่นคงมากกว่า หรือไม่ก็ขยับเงินไปยังแหล่งลงทุนอื่นอย่างตลาดทุน ตลาดเงิน เช่นซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนประเภทต่างๆ ที่น่าจะให้ผลตอบแทนได้สูงกว่า

ปัญหาของธนาคารขนาดเล็กก็คือ เงินฝากส่วนมากกว่า 80% มักจะเป็นเงินฝากประเภทลูกค้ารายใหญ่ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นกลุ่มลูกค้าที่ได้รับผลกระทบ อีกทั้งธนาคารขนาดเล็กยังไม่มีเครือข่ายสาขารองรับเงินฝากออมทรัพย์รายย่อยซึ่งได้รับผลกระทบน้อยมาก

จึงคาดการณ์ได้ว่าในห้วงเวลาจากนี้ไปเราคงจะได้เห็นการปรับกลยุทธ์จากธนาคารขนาดเล็กกันอย่างคึกคักโดยเฉพาะกับการหันมาเน้นตลาดเงินฝากรายย่อย รวมถึงการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันให้สูงขึ้น ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องของการเสนอดอกเบี้ยเงินฝากที่สูงกว่าธนาคารใหญ่ขึ้นไปอีกบ้างก็เป็นได้

ยังคงมีการบ้านอีกหลายข้อที่ต้องตามตีโจทย์ให้แตกว่าจะรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวกันอย่างไร คำตอบที่ต้องมีข้อหนึ่งแน่ๆก็คือสถานการณ์จะที่บังคับให้สถาบันการเงินต้องปรับปรุงโครงสร้างฐานะการเงิน และการพัฒนาระบบการบริหารความเสี่ยงตลอดจนภาพลักษณ์กันฝุ่นตลบ

ในอนาคตนโยบายในการบริหารของผู้บริหารสถาบันการเงินหรือธนาคารต่างๆ ที่จะส่งผลต่อความมั่นคงและเสถียรภาพธนาคารนั้นๆ คงจะได้รับการจับตามองจากผู้มีเงินฝากและสังคมกันอย่างใกล้ชิดอย่างที่หลายคนคาดไม่ถึงกันเลยทีเดียว และจะเป็นเครื่องพิสูจน์ฝีไม้ลายมือครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่งของสถาบันการเงินไทยและผู้บริหารว่าจะดีพอที่จะอยู่รอดปลอดภัยต่อไปได้ในระยะยาวได้มากน้อยเพียงใด

สำหรับคนที่มีเงินฝากโดยเฉพาะที่มีมากๆ อาจจะต้องเหนื่อยหน่อย เพราะอยู่ดีๆนอกจากจะต้องเสียประโยชน์จากที่เคยได้รับความคุ้มครองแล้ว ยังจะต้องมานั่งคิดมากขึ้นว่าต่อไปนี้จะต้องจัดการเงินทองเหล่านี้กันอย่างไรให้ปลอดภัยและได้ผลตอบแทนที่ดี เพราะเมื่อคุ้มครองเงินฝาก 1 ล้านบาทต่อบัญชีต่อธนาคาร ก็จะเท่ากับว่าฝากธนาคารเดียวกันบัญชีละ 1 ล้าน 2 บัญชี ก็จะได้รับความคุ้มครองเพียงบัญชีเดียวจำนวน 1 ล้านบาท เช่นนี้คนมีเงินมากไม่วุ่นวายบ้างก็คงจะเป็นเรื่องแปลกครับ

ก่อนหน้านี้ กรรมาธิการการคลังการธนาคารและสถาบันการเงิน สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ท่านหนึ่งได้กล่าวให้สัมภาษณ์ในเชิงแนะนำแก่ผู้มีเงินฝากไว้ครั้งหนึ่งว่า แม้ว่าอนาคตรัฐบาลจะค้ำประกันแค่บัญชีละ 1 ล้านบาท แต่ประชาชนสามารถกระจายเงินฝากไปยังสถาบันการเงินในไทยทั้งหมด 43 แห่ง ดังนั้น ก็จะเท่ากับว่าลูกค้า 1 ราย รัฐบาลคุ้มครองเงินฝาก ถึง 43 ล้านบาท

แค่คิดตามคำแนะนำที่ว่าแทนคนที่มีเงินขนาดนั้นแล้วก็แสนที่จะเหนื่อยแทนกับการที่จะต้องคอยวิ่งรอกกันขนาดนี้แล้วครับ ยังไม่พักต้องพูดถึงคนที่มีเงินมากกว่า 43 ล้านบาท หรือมากกว่านั้ แต่อย่างไรเสีย คิดๆดูแล้วอย่างน้อยก็ยังดีกว่าไม่มีให้วุ่น ว่าไหมครับ


ตารางข้อมุลเงินฝาก


























 รายการทั้งหมดเงินฝากเกิน 1 ล้านเงินฝากต่ำกว่า 1 ล้าน
จำนวนบัญชี70,995,444888,98570,108,522
สัดส่วน100.00%1.25%98.25%
จำนวนเงิน (หน่วยล้านบาท)6,816,2405,092,4071,723,833
สัดส่วน100%74.74%23.23%

#ข้อมูลจากนสพ.รายวันข่าวหุ้น ออนไลน์ วันที่ 14 ก.ย. 2550


ข้อมูลเงินฝากของระบบธนาคารพาณิชย์ ณ สิ้น ก.ค. 2550 : ซึ่งดูตัวเล้วแล้วคนหรือจำนวนบัญชีที่ได้รับผลกระทบจากการลดการคุ้มครองเงินฝากเหลือ 1 ล้านบาทมีน้อย แต่ตรงกันข้ามจำนวนเงินที่ได้รับผลกระทบมีมากถึงภึง 5 ล้านๆบาท หรือราว 75% ของยอดเงินฝากทั้งระบบ นอกจากนี้ตัวเลขดังกล่าวยังสะท้อนให้เห็นภาพประเทศไทยได้ในอีกหลากหลายแง่มุมเช่นเดียวกัน





ถามตอบเกี่ยวกับการประกันเงินฝาก*

1. การคุ้มครองเงินฝากคืออะไร?
ตอบ คือ ระบบการจ่ายคืนเงินให้ผู้ฝากในวงเงินที่กำหนดไว้เมื่อสถาบันการเงินที่อยู่ภายใต้ระบบประกันเงินฝากถูกปิดกิจการ โดยผู้ฝากจะได้รับเงินฝากของตนคืนไม่เกินจำนวนที่กำหนดโดยเร็วในเวลาที่กำหนดไว้ โดยไม่ต้องรอขอรับชำระหนี้จากการชำระบัญชีทรัพย์สิน ทำให้ผู้ฝากไม่ต้องเร่งถอนเงินเมื่อสถาบันการเงินมีปัญหา


2. สถาบันคุ้มครองเงินฝากคือใคร มีหน้าที่อะไร จะเปิดดำเนินการเมื่อใด?
ตอบ เป็นหน่วยงานของรัฐมีหน้าที่จ่ายเงินคืนผู้ฝาก เรียกเก็บเงินนำส่งจากสถาบันการเงิน และชำระบัญชีสถาบันการเงินที่ปิดกิจการ ปัจจุบันร่าง พ.ร.บ.สถาบันคุ้มครองเงินฝากผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แล้ว และ พ.ร.บ.สถาบันฯ จะมีผลบังคับใช้เมื่อพ้น 180 วัน นับจากลงใน ราชกิจจานุเบกษา


3. ผู้ฝากจำเป็นต้องสมัคร หรือจ่ายเงินเพื่อให้ได้รับความคุ้มครองเงินฝากหรือไม่?
ตอบ ไม่ต้อง ผู้ที่ฝากเงินกับธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุน และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ จะได้รับความคุ้มครองโดยอัตโนมัติ


4. ใคร คือธนาคารหรือสถาบันการเงินสมาชิก?
ตอบ ธนาคารพาณิชย์ (34 แห่ง) บริษัทเงินทุน (5 แห่ง) และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ (3 แห่ง)


5. ใครเป็นผู้จ่ายเงินนำส่งให้แก่สถาบันคุ้มครองเงินฝาก?
ตอบ สถาบันการเงินสมาชิก ได้แก่ ธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุน และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์


6. เงินฝากประเภทใดบ้างที่ได้รับความคุ้มครองและไม่ได้รับการคุ้มครองจากสถาบันคุ้มครองเงินฝาก?
ตอบ คุ้มครองเงินฝากในประเทศทุกประเภทที่เป็นเงินบาท ส่วนเงินฝากที่ไม่ได้รับความคุ้มครอง คือ เงินฝากสกุลต่างประเทศ เงินฝากสาขาธนาคารพาณิชย์ไทยในต่างประเทศ และเงินฝากใน "บัญชีเงินบาทของผู้มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศ" ซึ่งเป็นประเภทบัญชีพิเศษที่เปิดเพื่อทำรายการเฉพาะตาม พ.ร.บ.ควบคุมการแลกเปลี่ยนเงิน โดยสถาบันจะประกาศรายละเอียดต่อไป เมื่อจัดตั้งสถาบันคุ้มครองเงินฝากแล้ว

7. วงเงินคุ้มครองจำกัดไว้เท่าไร อย่างไร?
ตอบ คุ้มครองต่อรายผู้ฝากต่อสถาบันการเงินแต่ละแห่ง ดังนี้
ปีพ.ศ. 2551 คุ้มครองเต็มจำนวน
ปีพ.ศ. 2552 100 ล้านบาท
ปีพ.ศ. 2553 50 ล้านบาท
ปีพ.ศ. 2554 10 ล้านบาท
ปีพ.ศ. 2555 เป็นต้นไป 1 ล้านบาท

8. เงินฝากในบัญชีร่วมได้รับความคุ้มครองอย่างไร?
ตอบ ตามสัดส่วนของแต่ละคนที่เป็นเจ้าของตามหลักฐานที่สถาบันการเงินมี หากไม่ทราบสัดส่วนให้แบ่งเท่ากัน และนำไปรวมกับบัญชีเดี่ยวของแต่ละคนที่มีรวมแล้วได้รับความคุ้มครองไม่เกินจำนวนที่กำหนดในข้อ 7

9. เงินฝากของชาวต่างประเทศที่อยู่ในประเทศไทยได้รับความคุ้มครองหรือไม่?
ตอบ สถาบันคุ้มครองเงินฝากคุ้มครองเงินฝากที่เป็นเงินบาทในประเทศ ทั้งของผู้ฝากชาวไทยและชาวต่างประเทศ


10. ผู้ฝากเงินจะต้องปฏิบัติอย่างไร เมื่อธนาคารหรือสถาบันการเงินที่ฝากไว้ถูกเพิกถอนใบอนุญาต?
ตอบ ภายใน 40 วัน สถาบันคุ้มครองเงินฝากจะประกาศให้ผู้ฝากมายื่นเรื่องขอรับเงิน และผู้ฝากเงินจะได้รับเงินฝากคืนภายใน 30 วันนับแต่ยื่นคำขอรับเงิน


11. ทำไมต้องมีสถาบันคุ้มครองเงินฝาก?
ตอบ เพื่อให้มีองค์กรเฉพาะที่มีกฎหมายรองรับทำหน้าที่จ่ายคืนเงินให้ผู้ฝาก เพื่อช่วยให้ผู้ฝากเงินไม่ตื่นตระหนกเร่งถอนเงินฝากในกรณีที่สถาบันการเงินมีปัญหา เพราะผู้ฝากมั่นใจได้ว่าจะได้รับเงินคืนโดยเร็วจากสถาบันคุ้มครองเงินฝาก


12. ประเทศชาติและประชาชนจะได้อะไรจากการมีสถาบันคุ้มครองเงินฝาก?
ตอบ ลดภาระทางการคลัง รัฐสามารถนำภาษีไปใช้จ่ายในการพัฒนาภาคเศรษฐกิจอื่น ในขณะเดียวกันระบบคุ้มครองเงินฝากจะช่วยเสริมสร้างความเข้มแข็งแก่ระบบสถาบันการเงิน โดยสถาบันการเงินต้องดำเนินการให้ดี เพื่อให้ผู้ฝากไว้วางใจนำเงินมาฝาก

13. สถาบันการเงินได้รับผลกระทบอย่างไรหรือไม่?
ตอบ สถาบันการเงินจะต้องระมัดระวังในการประกอบธุรกิจมากยิ่งขึ้น อันเป็นการยกระดับให้สถาบันการเงินบริหารงานอย่างมืออาชีพ และแข่งขันเชิงคุณภาพ เพราะจะถูกกำกับดูแล โดยตลาดคือ ผู้ฝากเงินด้วย


14. ฝากเงินที่ธนาคารของรัฐ เช่น ธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และธนาคารอาคารสงเคราะห์ จะได้รับความคุ้มครองจากสถาบันคุ้มครองเงินฝากหรือไม่?
ตอบ การคุ้มครองจะครอบคลุม ธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุน และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์ ไม่ครอบคลุมถึงธนาคารออมสิน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร และ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ซึ่งเป็นธนาคารที่มีรัฐถือหุ้นเต็มจำนวนและดูแลอยู่แล้ว อย่างไรก็ดี หากต่อไปเห็นว่าเหมาะสมที่จะขยายความคุ้มครองไปยังสถาบันการเงินอื่นที่มีกฎหมายเฉพาะจัดตั้งขึ้น เช่น ธนาคารอิสลาม ก็กระทำได้โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา


___________________________________
* ที่มา : ธนาคารแห่งประเทศไทย



Create Date : 05 กรกฎาคม 2551
Last Update : 5 กรกฎาคม 2551 19:22:14 น. 0 comments
Counter : 675 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

=Neo=
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 15 คน [?]




Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add =Neo='s blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.