ยินดีต้อนรับสู่ club.bloggang.com
...magazine online โดยหนุ่มสาวชาว =Neo=
สุรินทร์ อุปพัทธกุล 'กิจการกว่า 200 บริษัท ผมให้มืออาชีพบริหาร'


ในบรรดานักธุรกิจและนักลงทุนไทยที่ไปประสพความสำเร็จ สร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยในต่างแดน และกำลังมองหาโอกาสกลับเข้ามาพัฒนาธุรกิจในไทยนั้น ถึงขณะนี้ ต้องยอมรับว่ามีหลายคน และน่าจะเป็นเรื่องที่ดีเมื่อคนเหล่านี้พร้อมที่จะขนเงินลงทุนและประสบการณ์เข้ามาช่วยพัฒนาเศรษฐกิจไทย และช่วยสร้างความมั่นใจให้เกิดขึ้นกับต่างชาติทั้งหลายได้อีกทางหนึ่งด้วย
ในกลุ่มคนเหล่านี้ มี สุรินทร์ อุปพัทธกุล รวมอยู่ด้วย หรือที่คนไทยเพิ่งเริ่มรู้จักเขาในนาม ดาโต๊ะสุรินทร์ อุปพัทธกุล บุคคลที่ตำรวจกำลังสอบสวน หลังจากตั้งข้อกล่าวหา ว่า เขาเป็นนอมินี(ถือหุ้นแทน) ต่างชาติ จากการลงทุนซื้อหุ้น บริษัท กุหลาบแก้ว จำกัด มูลค่า 70 ล้านดอลลาร์สหรัฐเมื่อต้นปี 2549 ที่ผ่านมา

ปัจจุบัน ดาโต๊ะสุรินทร์ เป็นกรรมการผู้จัดการ บริษัท มัลติ-เพอร์โพส โฮลดิ้ง เบอร์ฮัท จำกัด (มหาชน)หรือ เอ็มพีเฮชบี ที่เขาถือหุ้นกว่า 50% มีธุรกิจหลักคือ บริการด้านการเงิน ซื้อขายหลักทรัพย์และอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง กิจการหวยออนไลน์เลข 4 หลัก และกิจการด้านไฟฟ้า นอกจากนี้ยังมีธุรกิจที่เขานั่งเป็นกรรมการและผู้ถือหุ้น อีกประมาณ 200 แห่ง นับพนักงานรวมกันแล้วเกือบ 10,000 คนทั้งในมาเลเซียและต่างประเทศ

ตัวเลขเป็นทางการที่ดาโต๊ะสุรินทร์แจ้งกับกระทรวงพาณิชย์ของไทยหลังจากเข้ามาลงทุนในกุหลาบแก้ว ระบุว่า เขามีสินทรัพย์ประมาณ 50,000 ล้านบาท ซึ่งมากกว่ามหาเศรษฐีไทยหลายๆคนที่นิตยสารฟอร์บ จัดอันดับไว้ในปี 2549 ซึ่งเกิดจากการทำธุรกิจตลอดระยะกว่า 30 ปีที่ผ่านมา

โดยเฉพาะช่วงที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจเอเชีย ปี 2540 เขาเป็นหนึ่งในจำนวนไม่มีคนที่โชคดี เพราะตอนที่หุ้นขึ้นไปมากจึงตัดสินใจขายทิ้งหมดทุกแห่งเริ่มตั้ง 2538 หรือก่อนที่หุ้นทุกตัวจะตกต่ำสุดช่วงปลายปี 2540 ส่วน เงินที่ได้จากการขายหุ้น ก็นำไปลงทุนต่อที่สหรัฐอเมริกา พอดีกับที่ตอนนั้นมูลค่าดอลลาร์สหรัฐเพิ่มขึ้นจาก 20 กว่าบาทไปที่ 40 บาท และเมื่อเขาขายดอลลาร์ออกไปก็ได้ราคาสูงถึง 55 บาท

เขาเล่าว่าตอนที่นำเงินริงกิตออกไป ราคาอยู่ที่ 2.50 ดอลลาร์ แต่ตอนนำกลับมาอยู่ที่ 4.20-4.50 ดอลลาร์มูลค่าเพิ่มขึ้นเกือบ 100% ตอนนั้นจึงถือว่าโชคดี และการลงทุนส่วนใหญ่ก็อยู่ในต่างประเทศ จึงถือว่าได้กำไรสองต่อ พอขายทิ้งทุกอย่างแล้ว มีเงินเหลือไปซื้อเครื่องบินไอพ่น 9 ที่นั่ง ราคา 11 ล้านดอลลาร์คิดเป็นเงินประมาณ 27-28 ล้านริงกิต แต่ตอนขายได้ราคา 40 กว่าล้านริงกิต คิดเป็นดอลลาร์ได้แค่ 10 ล้านดอลลาร์เศษ แต่ตอนนั้นดอลลาร์สูงกว่า 4 ริงกิต ถือว่ามีกำไร และยังได้ใช้ฟรีอยู่เกือบ 2 ปี

สินทรัพย์ที่เกิดขึ้นในวันนี้ จึงเกิดจากผลกำไรตัวหุ้น ซึ่งเริ่มต้นลงทุนทำมาตั้งแต่ปี 2535- 2538 หลังจากนั้นก็หันมาทำธุรกิจซื้อขายหุ้นซึ่งได้กำไรกลับมาค่อนข้างมาก ส่วนใหญ่เป็นการซื้อขายหุ้นในมาเลเซีย ฮ่องกง และอเมริกาเป็นหลัก

อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จที่เกิดขึ้นในวันนี้ ดาโต๊ะสุรินทร์ ย้ำว่า เคยเจอวิกฤตที่เป็นปัญหาหนักไม่ต่างกับนักธุรกิจและนักลงทุนคนอื่นๆ เพียง แต่มองว่า ทำ ธุรกิจทุกอย่างต้องมีปัญหา อยู่ที่ว่าจะหาวิธีแก้ไขอย่างไร และอยู่ในสถานการณ์ใด?

โดยในช่วงอายุ 33 และเป็นผู้บริหาร บริษัทเท็กซ์ไทล์ของครอบครัว ช่วงนั้นเศรษฐกิจตกต่ำมาก เมื่อกู้เงินมาทำธุรกิจก็ทำให้กลายเป็นหนี้ 200-300 ล้านบาท แต่ก็หาวิธีแก้ปัญหาด้วยกรขายทิ้งธุรกิจหลายอย่างออกไป และนำเงินทุนที่ได้กลับมาลงทุนเพิ่มในธุรกิจส่วนที่ดีต่อ ใช้เวลา 3-4 ปีก็ล้างหนี้ได้หมด

แม้ปัจจุบันเครือข่ายธุรกิจของดาโต๊ะสุรินทร์ จะครอบคลุมเกือบทุกอุตสาหกรรม และมักใช้เวลาไปพักผ่อนบนเรือยอท์ชส่วนตัว ชื่อ เลดี้ โอเรียนต์ ขนาด 157 x 66 ฟุต ซึ่งเขาชอบดำน้ำและตกปลามาตั้งแต่เป็นวัยรุ่นกับครอบครัว เพื่อนฝูง โดยเฉพาะที่หมู่เกาะสุรินทร์ แต่เขาก็ยังไม่หยุดที่จะมองหาโอกาสลงทุนต่อไปอีก โดยการพิจารณาลงทุนในธุรกิจแต่ละครั้ง เขาเผยว่า ดีที่สุดให้ดูที่ตัวเลขการดำเนินงานว่าเชื่อถือได้หรือไม่ได้ ซึ่งก็จะตอบโจทย์ได้ทันทีว่ากิจการนั้นดีหรือไม่ดี เวลาที่ต้องตัดสินใจเรื่องยากๆก็จะมี ที่ปรึกษาเข้ามาช่วยหาข้อมูล วิเคราะห์ แนะนำ แต่ในท้ายที่สุดจะเป็นคนตัดสินใจเอง และการลงทุนแต่ละครั้งต้อง คำนวณความเสี่ยง(calculated risk)ว่า เสี่ยงมากน้อยแค่ไหน ถ้าคิดไม่ได้ก็ไม่เสี่ยง

เนื่องจากอยู่ในวงการหุ้นมาตั้งแต่อายุ 30 ปี ดาโต๊ะสุรินทร์จึงยอมรับว่า ธุรกิจที่ทำ กำไรเร็วที่สุด คือ หุ้น ตอนซื้อหุ้นชินคอร์ป(ผ่านทางกุหลาบแก้ว) ก็ดูงบดุล ซึ่งธุรกิจส่วนใหญ่ดี เช่น บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิสเซส มีรายได้ดี ส่วนที่หลายคนมองว่ามีเงินลงทุน 27,000 ล้านไปซื้อทำไม อยู่เฉยๆก็สบายไม่ดีกว่าเหรอ ถ้าคิดอย่างนั้นผมไม่จำเป็นต้องเป็นนักธุรกิจแล้ว

ส่วนที่คนส่วนหนึ่งตั้งข้อกล่าวหาว่าเป็นนอมินี นั้นดาโต๊ะสุรินทย์ กล่าวว่า เคยเกิดขึ้นมาแล้วครั้งหนึ่งว เมื่อครั้งลงทุนซื้อกิจการ เอ็มพีเฮชบี ใช้เงินประมาณ 10,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นการลงทุนที่สูงที่สุดในชีวิต ตอนนั้น ก็มีเรื่องการเมืองเข้ามายุ่ง เนื่องจากคนมาเลเซียมองว่าเป็นคนต่างประเทศก็เลยถือว่าเป็น นอมินี ใช้เวลาประมาณ 2 ปี จึงยอมรับว่าซื้อเองจริง ส่วนในไทยก็เชื่อว่าปัญหาจะผ่านพ้นไปได้เหมือนที่เคยเกิดขึ้นในมาเลเซีย และยังยอมรับว่า การซื้อชินคอร์ปถือว่าตัดสินใจพลาด เพราะมีสถานการณ์ที่คาดไม่ถึงเกิดขึ้นตามมา

สำหรับอนาคตนั้น ดาโต๊ะสุรินทร์ มองว่า การทำธุรกิจจะยากขึ้น เพราะทุกคนเก่งขึ้น และการแข่งขันเกิดขึ้นตลอดเวลา การทำงานจึงต้อง มีวิสัยทัศน์ ต้องดูว่าธุรกิจใดมีอนาคตมีแนวโน้มขยายตัวสูง และการลงทุนที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่จะเลือกลงทุนกับเพื่อนที่ถือหุ้นใหญ่ เมื่อปี 2537 ผมเข้าไปลงทุนธุรกิจผลิตแท่นขุดเจาะน้ำมัน ที่ประเทศจีน ตอนนี้บริษัทอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ มีมาร์เก็ตแคปประมาณ 600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เชื่อว่า ปลายปีนี้มาร์เก็ตแคปจะเพิ่มเป็น 1,000 ล้านเพราะธุรกิจนี้ทั่วโลกกำลังต้องการมาก

เมื่อถามถึงหลักการบริหารธุรกิจให้ประสพความสำเร็จ เขาเน้นว่า กว่า 200 บริษัทที่เกี่ยวข้องอยู่นั้น จะให้มืออาชีพบริหาร เพราะคนเดียวคงทำไม่ได้ แต่จะให้ความสำคัญในเรื่องระบบ(system) เป็นตัวควบคุมการบริหาร โดยจะตรวจสอบจากตัวเลข ถ้าทำระบบไว้ดี ตัวเลขที่ออกมาทำอย่างไรก็ดูรู้แล้วว่า ธุรกิจดีหรือไม่ดี การบริหารคนเป็นเรื่องสำคัญมาก ต้องรู้จักใช้คน ถ้าไม่รู้จักใช้คนแล้วทำเองคนเดียวไม่ได้ การที่เราไม่ได้บริหารองค์กรนั้นทำให้มองสะท้อนกลับไปที่องค์กรได้ดีกว่า และที่สำคัญทำอะไรก็ตาม ต้องขยัน ด้วย



Create Date : 17 กันยายน 2551
Last Update : 17 กันยายน 2551 16:33:30 น. 1 comments
Counter : 2940 Pageviews.

 
สวัสดีครับผม ฝากชมโซฟาของผมบ้างนะครับพี่ ต้องการรายละเอียดคำแนะนำ บ้าง

https://www.bloggang.com/mainblog.php?id=cpr-computer

ขอบคุณมากครับ

Bank



โดย: cpr-computer วันที่: 21 ตุลาคม 2551 เวลา:1:36:40 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

=Neo=
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 15 คน [?]




Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add =Neo='s blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.