ยินดีต้อนรับสู่ club.bloggang.com
...magazine online โดยหนุ่มสาวชาว =Neo=
วาดภาพด้วยผงคาร์บอน

ลุงบุญไขอาชีพ
ตอนรับจ้างวาดภาพขาวดำด้วยผงถ่านคาร์บอน

วัสดุมีดังนี้ครับ…
อุปกรณ์ที่จำเป็นจะต้องใช้ก็จะมี

1.กระดานรองเขียนขนาด ๒๐ คูณ ๓๐ นิ้ว เท่าแผ่นกระดาษวาดเขียน หรืออาจใช้แค่ ๑๕ คูณ ๒๐ ก็ได้ ควรเป็นกระดานอัด ดีกว่า กระดาษอัด เพราะทนทานกว่าและสามารถกดหมุดติดกระดาษได้ง่ายกว่า


2.กระดาษ100ปอนด์(มีสองด้านคือด้านเรียบกับด้านหยาบในการเขียนภาพคาร์บอนนี้เราจะใช้ด้านหยาบเขียนครับ) ขนาด ๒๐ คูณ ๓๐ นิ้ว เอามาตัดได้เป็น ๒ ซีก เพื่อวาดรูปขนาด ๑๐ คูณ ๑๕ นิ้วได้ ๒ รูป


3.ตัวหนีบ


4.ดินสอ แนะนำให้ใช้ยี่ห้อ staedtler


เราจะใช้ 2 แท่งในการ เขียน คือ ee กับ hb

ee นั้นมีความเข้มมากจึงเหมาะในการวาดทำให้ได้น้ำหนักที่ดี


และ hb นั้นความเข้มอ่อนเอาไว้วาดร่างภาพก่อนลงน้ำหนักจริงจะง่ายแก่การลบแก้ไข


5.ตัวต่อดินสอ



6.ยางลบ มีทั้งแบบแท่งและแบบก้อน ชนิดดี ที่เวลาลบรอยดินสอแล้วกระดาษไม่ถลอกเป็นขุย


7.ไม้บรรทัดยาว ๒๔ นิ้ว ๑ อัน ถ้าได้ไม้บรรทัดเหล็กได้ยิ่งดี เพราะขีดแบ่งเซนติเมตร นิ้ว ชัดเจนและแม่นยำกว่าบรรทัดไม้หรือพลาสติก เพราะถ้าเป็นไม้หรือพลาสติก ขีดที่พิมพ์ไว้บนสันบรรทัดมักลบเลือน


8.กล่องดินสอ


9.คัตเตอร์


10.กระดาษกาว


11.กาวน้ำ


12.แปรงขนกระต่าย แปรงที่ช่างทาสีใช้ทาน้ำมันขัดเงา หรือแปรงตับติดกันเป็นตับ เอาไว้ปัดขี้ยางลบเวลาลบรอยร่าง หรือเส้นตารางบนรูปภาพ


13.ปี๊ดหรือพู่กันจีน ซื้อมาประมาณ ๑ โหล เพราะจะต้องดัดแปลงให้เป็นขนาดเบอร์ต่าง ๆ ทั้งปลายใหญ่ ปลายเล็ก หรือปลายแหลม ปรกติพู่กันจีนหรือปี๊ดไม่มีเบอร์ แต่มีขนาดเท่ากันหมด ต้องเอามาทำให้มีปลายเล็กปลายใหญ่เอง


14.ผงถ่านคาร์บอนด์เป็นผงฝุ่นสีดำมีขายเป็นขวด ๆ ชนิดดีจะเป็นเม็ดเล็ก ๆ ไว้ค่อยมาบดขยี้อีกที เพื่อให้เป็นผงละเอียด ผงคาร์บอนด์ชนิดนี้มีความดำจัดกว่าชนิดที่บดเป็นผงละเอียดมาแล้ว ซึ่งเวลาใช้งานชนิดหยาบจะติดดีกว่าและวาดได้เร็วกว่า ส่วนชนิดที่บดมาละเอียดจะช้าและเสียเวลามาก ปัจจุบันมีคนทำเทียมเอาเขม่าดำ ๆ มาใส่ขวดขาย ใช้วาดภาพขาวดำได้แต่ช้าและวาดไม่ค่อยติด


15.ขาตั้งเขียนแบบ กับสะพานมือ(สะพานมือคือไม้(ไม้อะไรก็ได้)ลักษณะยาวตรงที่เราใช้ค้ำกับขาตั้งเพื่อความนิ่งของมือเราเวลาเขียนภาพแล้วยังช่วยไม่ให้มือ-แขนของเราโดนชิ้นงานจนเกิดความเสียหายและอาจเลอะเทอะหรือสกปรกได้)



16.วงเวียนเอาไว้วัดกะช่อง เวลาจะตีตารางทับรูปถ่ายต้นแบบ และตีตารางในกระดาษที่จะใช้ร่างภาพ



18.สำลีก้อนใหญ่ เอามาใช้ถูฉากหลังของภาพทำแบ็กกราวน์ ตอนวาดจะเสร็จช่วยลัดเวลาทำงาน


19.กระจกสเกล(มักมีเท่าขนาดเท่าฝ่ามือ หรือโตกว่า) มีขายตามร้านขายเครื่องเขียน สำหรับไว้วางทับรูปถ่ายเล็ก ๆ ขนาด ๑/๒ คูณ ๒ นิ้ว ที่จะนำมาเป็นแบบวาดขยายเป็นภาพขนาด ๘ คูณ ๑๒ นิ้ว, ๑๓ คูณ ๑๘ หรือ ๑๕ คูณ ๒๐ นิ้ว

อุปกรณ์ที่กล่าวมาข้างต้นนี้เป็นอุปกรณ์ที่ควรมีไว้ในการทำงานแต่บางอย่างก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมีหรือใช้อย่างอื่นมาทดแทนได้และยังมีอุปกรณ์ที่เป็นส่วนเสริมปลีกย่อยอีกแล้วแต่เทคนิคและวิธีของผู้สร้างผลงานนั้นๆครับ





การวาดรูปเริ่มต้นด้วยตัดกระดาษร้อยปอนด์หรือกระดาษลายหนังไก่ ออกมาให้มีขนาดเหมาะสมกับภาพที่จะวาด ส่วนภาพต้นแบบมักจะเป็นภาพถ่ายซึ่งมีขนาดเล็กกว่าภาพที่จะต้องวาด เอากระดาษที่จะวาดภาพติดลงบนกระดานรองเขียน ใช้หมุดกดตรงมุมทั้ง ๔ และเพิ่มตรงขอบกระดาษตอนกลาง ๆ ด้านซ้ายและด้านขวา อีก ๒ จุด

ภาพถ่ายต้นแบบถ้าเป็นภาพขนาดโปสการ์ดและถ่ายครึ่งตัว ผมจะวัดกะช่องและตีตารางทับรูปถ่าย ไม่พึ่งกระจกสเกล โดยใช้ช่องขนาด ๑ กระเบียด ๒ กระเบียด หรือ ครึ่ง ซม.จากไม้บรรทัด ใช้ดินสอจุดให้ตรงช่องแล้วตีตาราง แต่ถ้าภาพถ่ายเล็กกว่านี้ ผมใช้กระจกสเกลวางทับจะสะดวกกว่า

ดินสอที่ใช้ตีตารางทับรูปหรือตีตารางในกระดาษที่วาดภาพ ใช้ดินสออ่อน ที่ต้องเหลาให้ปลายแหลมที่สุด เพื่ออย่าให้ภาพถ่ายมีตำหนิและลบออกง่ายเมื่อร่างภาพเสร็จ เวลาร่างภาพก็ใช้วิธีนับช่องเอาจากตารางบนภาพถ่าย บนภาพถ่ายมีตาราง กี่ช่อง บนกระดาษที่จะวาดขยายภาพก็ต้องมีจำนวนช่องตารางที่เท่ากัน และขนาดตารางในภาพถ่ายเล็กกว่าตารางของรูปที่จะวาดมาก เช่นช่องในรูปถ่าย ๑ กระเบียด ในภาพที่จะวาดช่องต้อง ๑ นิ้ว หรือ ๒ ซม.เป็นต้น

กระดาษที่วาดรูปผมชอบใช้กระดาษลายหนังไก่ ซึ่งมีผิวขรุขระเหมือนไก่ถูกถอนขน ความขรุขระของผิวกระดาษถ้ามองในแง่ศิลปะ จะทำให้ภาพมีเทคเจอร์หรือพื้นผิวที่เหมือนผิวหนังของคน ดูแล้วภาพไม่แข็งกระด้างเหมือนภาพปั้น แต่ชาวบ้านบางคนชอบภาพวาดที่มีผิวลื่นเป็นมัน แบบนั้นต้องวาดบนกระดาษร้อยปอนด์ที่มีผิวเรียบธรรมดา ผมเคยเห็นพระเณรบางรูปวาดภาพแบบผิวลื่นเป็นมัน ผิวของคนจึงเหมือนผิวของโลหะ ก็แล้วแต่จะชอบกัน

ก่อนจะตีตารางทั้งในรูปถ่ายต้นแบบ และภาพที่จะวาดขยายใหญ่ต้องใช้เซ็ทสแควร์หรือไม้ฉากสามเหลี่ยมจับมุมหรือขอบของภาพให้ได้ฉาก ใช้วงเวียนกางวัดขนาดหรือช่องแล้วนำไปปักลงเบา ๆ เป็นจุด ๆ คอยยกวงเวียนวัดจุดแต่ละช่องไปเรื่อย ๆ จนถึงขอบมุมของภาพทั้ง ๔ ด้าน จำนวนช่องจะต้องไปลงตัวตรงกันพอดีที่มุมทั้ง ๔ ถ้าไม่พอดี เช่น ขาด หรือเกิน คือมุมกับจุดที่วัดไปไม่พอดีกันแสดงว่า มุมไม่ได้ฉาก หรือขนาดของช่องคลาดเคลื่อน จะมีผลทำให้ภาพที่วาดขยายออกมาไม่เหมือน หรือมีรูปทรงของใบหน้าบิดเบี้ยว

เมื่อตีตารางเสร็จควรจะเขียนหมายเลขกำกับช่องด้วยดินสอ ทั้งในภาพถ่ายและในภาพที่วาด เพื่อว่าเวลาที่เริ่มลงมือร่างภาพ จะได้รู้ว่าตา จมูก ปาก คิ้ว คาง กรอบของใบหน้า ทรงผม หน้าผาก หู ของภาพต้นแบบอยู่ในช่องที่เท่าใด ต้องมองแล้วจับมาใส่ในภาพที่วาดให้ถูกให้ตรงช่อง

อาจมีนักวาดรูปบางคนมาดูแล้วตำหนิเราว่า
“พวกที่วาดรูปโดยตีตารางนี่มันช่างระดับกระจอก ไม่แน่จริง แบบนั้นใคร ๆ ก็วาดได้”
ก็อย่าไปฟังนะครับ เพราะถ้าใช้วิธีดูภาพถ่ายแล้วร่างภาพลงไปในกระดาษเลย โดยไม่ใช้ตาราง เพื่อจะคุยว่าข้าแน่ วาดภาพเหมือนไม่ต้องตีตาราง อย่างที่ผมเคยเจอลูบคมมาแล้ว ผมจึงอยากจะให้ท่านเข้าใจว่า งานแบบที่ผมกำลังแนะนำเป็นงานตลาด เป็นงานอาชีพ ที่ท่านที่ไม่เคยเรียนเพาะช่าง หรือช่างศิลป์ สามารถที่จะนำไปใช้ทำมาหากินได้ คนละเรื่องกับงานของพวกจิตรกรที่วาดภาพแบบศิลปะ เพราะฉะนั้นอย่าไปเชื่อ และจงเก็บเอาความเป็นศิลปินของท่านใส่กระเป๋าไว้ก่อน เอาไว้ค่อยแสดงเวลามีงานแสดงศิลป์ หรือแข่งขันกันด้านฝีมือ เช่นวาดภาพจากนายแบบ นางแบบตัวจริง

ผมเองก็เคยวาดภาพจากนายแบบและนางแบบได้เหมือนไม่แพ้ใคร สมัยที่ผมไปสอบวาดเขียนเอก และตอนมีโอกาสไปสอบเรียนต่อปริญญาตรีวิชาเอกศิลปะที่ มศว.ประสานมิตร แต่ถ้ามาใช้กับงานตลาด วาดออกมาใบหน้า ปาก ตา หู จมูก คาง ผิดส่วน คนจ้างจะไม่จ่ายเงินให้ จึงอย่าเสี่ยงดีกว่า…

สรุปว่าการร่างภาพที่ขยายมาจากรูปถ่ายต้นแบบท่านทำเสร็จแล้วนะครับ คราวนี้ผมจะเล่าถึงเทคนิคการลงฝุ่นผงคาร์บอนด์ แต่ก่อนอื่นหรือเมื่อร่างภาพเสร็จท่านต้องใช้ยางลบ ลบเส้นตารางในภาพที่วาดขยายออกเสียก่อนนะครับ ภาพจะได้ออกมาดูดีไม่มีตำหนิ ส่วนในรูปถ่ายถ้าเจ้าของภาพมีภาพแบบเดียวกันหลายๆ ภาพ อาจจะลบหรือไม่ต้องลบก็ได้ เผื่อเขาให้วาดเพิ่มจะได้ไม่ต้องเสียเวลาตีตารางใหม่ คราวนี้มาถึงขั้นลงแสงเงานะครับ

หากล่องกระดาษแข็ง ๆ มากล่องหนึ่ง ถ้าได้กล่องขนาด ๔ คูณ ๖ นิ้ว มีฝาปิดเรียบร้อยด้วยจะดีมากฝุ่นผงจะไม่เข้าไปร่วมแจมทำให้ภาพวาดสกปรก และสามารถเก็บผงถ่านที่เหลือไว้ใช้ได้ใหม่ ในทุก ๆ ครั้งที่ท่านจะวาดรูป รูปต่อ ๆ ไป แต่ถ้าไม่มีหรือหากล่องไม่ได้ ท่านลองหากระดาษแข็งมาพับ ใช้เศษกระดาษวาดรูปก็ได้ พับ ๔ มุมให้เป็นกระทงสี่เหลี่ยมแล้วเย็บมุมทั้งสี่ด้วยเข็มแม็กซ์



ขั้นต่อมา เทผงคาร์บอนด์ด์ลงในกล่อง บดด้วยช้อนแกงหรือใช้ก้นขวดเล็ก ๆ ขนาดขวดยานัดถุ์บด เพื่อให้ผงคาร์บอนด์ที่ยังเป็นเม็ดอยู่แตกละเอียด (ผมเคยใช้ด้ามของปี๊ดบด แต่ไม่ดีเพราะด้ามปี๊ดทำด้วยไม้ไผ่จึงมีรู) จากนั้นก็ใช้ปี๊ดหรือพู่กันจีนอันแรก(ขอย้ำว่า อันแรก) จุ่มลงไปในกล่องผงถ่าน ตอนจุ่มปลายปี๊ดลงไปในกล่องผงถ่าน ให้กวาดไปมาเพื่อให้ผงถ่านติดปลายปี๊ด(แล้วเคาะเสียหน่อยให้ส่วนที่ยังเป็นเม็ดร่วงลงไป) ผงถ่านจะติดปลายปี๊ดขึ้นมาดำปี๋



ครั้งแรกเอาปลายปี๊ดไปจดลงที่ตรงใจกลางของดวงตาของภาพ ข้างใดข้างหนึ่งภาพก่อนซ้ายหรือขวาก็ได้ เพราะบนใบหน้าของคนจุดเด่นที่สุดคือดวงตา จดปลายปี๊ดลงตรงตาดำซึ่งมีลักษณะเป็นจุดกลม ๆ ถูวน ๆ แต่ตรงจุดนี้มักมีจุดขาวอยู่ด้วย จุดขาวตรงกลางตาดำ คือแสงสว่างหรือแสงไฟที่มากระทบแก้วตาคนทุกคน ทำให้เกิดเป็นจุดขาว ถ้าไม่มีจุดนี้ในดวงตาจะเป็นนัยน์ตาของคนตายทันที

เคยเห็นในรูปการ์ตูนญี่ปุ่นไหมครับ เขาจะเน้นที่ดวงตาและตรงจุดนี้มากเป็นพิเศษ นัยน์ตาของการ์ตูนญี่ปุ่นจึงดูมีแสงแวววาว แต่ท่านต้องดูตามภาพถ่ายต้นแบบด้วยนะครับ ตรงกลางดวงตามีจุดดำกลมแล้วก็มีจุดขาวมากน้อยแค่ไหน ให้ใช้ปลายปี๊ดถูวน ๆ จนดำสนิท ต่อจากนั้นให้ถูหรือวนปลายปี๊ดออกมายังขอบเขตของดวงตาดำทั้งดวง ยังไม่ต้องไปจุ่มผงเพราะตาดำไม่ดำจัดทั้งดวง แต่เป็นสีที่อ่อนกว่าจุดตรงกลางของดวงตา



เสร็จจากดวงตาข้างหนึ่งใช้ปี๊ดจุ่มผงดำอีกที คราวนี้ลากหรือถูเบา ๆ ให้เป็นขอบของดวงตา ขอบตาบนจะเข้มกว่าขอบตาล่าง แล้วถ้าสามารถจับรายละเอียดของขนตาได้ยิ่งดี โดยเฉพาะถ้าเป็นนัยน์ตาของผู้หญิงสวย ๆ ประเภทดารา เพราะจะทำให้ภาพงามโดดเด่นโดนใจลูกค้ามากขึ้น แต่ถ้าเป็นภาพใบหน้าของผู้ชายอาจไม่ต้องถึงขนาดนั้น เพราะผู้ชายเราจะหล่อแบบแข็ง ๆ เข้ม ๆ ไม่ต้องใช้ความงามที่ดวงตา(ยกเว้นกะเทย) จากนั้นก็จุ่มปี๊ดลงไปในกล่องผงดำใหม่อีกครั้ง วาดดวงตาอีกข้างพอเสร็จก็ไปที่คิ้วทั้งสองข้าง เสร็จจากคิ้วแล้วไปที่จมูก เขียนรูจมูกก่อนเขียนแก้มจมูกและสันจมูก เพราะรูจมูกจะดำกว่าส่วนอื่นของจมูก

เสร็จจากจมูกย้ายปลายปี๊ดลงมาที่ปาก ใช้ปลายปี๊ดจุ่มผงดำอีกที ถูหรือลากเส้นเป็นเงาดำระหว่างเปลือกปากล่างกับเปลือกปากบน ที่มุมปากสองข้างเงาจะเข้มกว่ากลางปาก ปากบนจะมีขอบ ๆ พอมองเห็น แต่ปากล่างขอบจะไม่ชัด ยกเว้นปากที่ทาลิปสติก ให้จดปลายปี๊ดลงที่ใต้เปลือกปากล่าง ภาพส่วนมากใต้เปลือกปากล่างเงามักจะเข้ม พอจดปี๊ดลงไปถูวน ๆ เปลือกปากล่างก็จะยกตัวขึ้นเอง ผมพูดราวกับกำลังดูภาพต้นแบบ อย่าทำตามที่ผมว่าทั้งหมด ท่านต้องดูภาพต้นแบบที่เอามาวาดด้วย ว่าเป็นอย่างที่ผมเล่าหรือเปล่า

ต่อไปก็ย้ายปี๊ดไปที่หูทั้งสองข้างแล้วก็ลงมาที่ปลายคาง ใต้คางมักจะมีเงาเข้มพอ ๆ กับรูจมูกเพียงแต่มีพื้นที่ใต้คางมีมากกว่า ยกเว้นนักการเมืองบางคน หรือพวกอาเสี่ยที่คางกับคอกลมกลืนเป็นอันเดียวกัน ต่อจากคางท่านถูเป็นเส้นลงไปถึงคอเสื้อได้เลย ก่อนจะกลับขึ้นไปที่ทรงผมซึ่งเป็นกรอบสำคัญของใบหน้า และการลงเงาดำของทรงผมนี่แหละ เราจะใช้ปี๊ดอันไหนทำดี เพราะว่าทรงผมต้องลงเงาแบบดำจัดและมีพื้นที่มาก ลองฟังต่อไปครับ…
ตอนที่ท่านใช้ปี๊ดอันแรก ถูวน ๆ แบบแรเงามาหลายที่ ท่านลองสังเกตดูปลายปี๊ดไหมครับ ว่ามันค่อย ๆ แตกออกจนปลายบานใหญ่กว่าเดิม และมีขนนิ่ม ๆ เกิดขึ้นแล้วใช่ไหมครับ คราวนี้แหละครับเข้าทางที่ผมวางแผนไว้แต่ต้น…

แผนที่ผมวางไว้สำหรับมือหัดใหม่ คือ พอปี๊ดอันแรกของท่านเริ่มกลายเป็นปลายบาน กลายเป็นเบอร์ ๒ หรือ เบอร์ ๓ ตอนนี้เราจะใช้มันถูวนโดยไม่ต้องไปจิ้มผงดำ แต่นำปลายของปี๊ดไปถูลงบนกระดาษวาดรูปที่เราไม่ใช้ หรือเศษที่เราตัดเหลือไว้ ถูเพื่อให้ผงดำที่ปลายปี๊ดอ่อนจาง แล้วใช้ถูวน ๆ ไปตามส่วนต่าง ๆ ของใบหน้า ตั้งแต่ใต้ขอบตา เหนือดวงตา ใต้คิ้ว เหนือคิ้ว แก้ม หน้าผาก ลูกคาง จนเกิดเงากลมกลืนไปทั้งใบหน้า ยิ่งมาถึงตรงนี้ปี๊ดหรือพู่กันจีนยิ่งมีปลายบานมากขึ้นเรื่อย ๆ ท่านก็เอาไปจุ่มในกล่องผงดำ ถู ๆ แล้วเคาะเพื่อให้ผงที่อาจจะเกาะมากเกินไปร่วงกลับลงไปลงในกล่อง ก่อนจะนำไปถูกหนัก ๆ ในส่วนที่เป็นทรงผมได้เลย แต่ระวังนะครับ ที่ทรงผมก็มีแสงเงาท่านต้องเว้นหรือทำให้มีแสงเงาหนักเบา เหมือนที่ปรากฏบนใบหน้านะครับ แต่ถ้าปลายภู่กันแตกบานมากเกินไป จนบังคับพื้นที่ไม่ได้ให้ใช้กาวลาเท็กซ์ หรือกาวน้ำ(อย่าใช้กาวตราช้าง หรือกาวที่โดนน้ำไม่พองนะครับ) ใช้กาวป้ายข้าง ๆ และรวบปลายขนพู่กันให้เล็กลง แต่อย่ารูดกาวจนถึงปลายสุดเพราะภู่กันจะแข็งจนจุ้มผงถ่านไม่ติด วิธีแก้พู่กันที่ปลายแข็งให้จุ่มปลายในน้ำร้อน เช็ดออกแล้วตากแดดหรือลมไว้ให้แห้ง

หลังจากลงเงาดำจัดในส่วนที่เป็นทรงผม ปลายปี๊ดของท่านก็บานเต็มที่ จนไม่อาจที่จะนำไปใช้เพื่อวาดส่วนที่เป็นเส้นเล็ก ๆ เช่น ขอบตา นัยน์ตา หรือ รูจมูกได้อีกแล้ว และถ้าวาดมาถึงตรงนี้แล้วท่านเกิดพบว่ายังมีส่วนที่จะต้องเน้นเส้นที่เป็นเส้นเล็ก ๆ อีกหลายที่ ท่านก็ไปหยิบปี๊ดอันที่สอง ที่สามหรือที่สี่… มาใช้แบบตอนแรกเพื่อให้เกิดเป็นปี๊ดเบอร์ต่าง ๆ ในตัวมันเองต่อไปได้เลยนะครับ และต่อจากนี้ท่านต้องเลือกใช้ปี๊ดอันที่มีปลายใหญ่เล็ก ให้เหมาะกับส่วนที่จะวาดนะครับ

อย่างเช่นการวาดเสื้อผ้า ต้องใช้ปี๊ดหลายอันและหลายเบอร์ เพราะเสื้อผ้าในรูปก็จะมีน้ำหนัก อ่อน กลางแก่ แม้แต่เสื้อสีขาว ต่อจากนี้ก็มาถึงขั้นสุดท้ายของการวาดภาพ คือ การทำแบ๊กกราวน์หรือพื้นหลัง

ใช้สำลีก้อนขนาดลูกมะนาว แตะผงดำในกล่องถูไปถูมาในกล่องก่อน ก่อนจะมาลองถูที่กระดาษเปล่า(กระดาษอะไรก็ได้ที่ไม่ใช้) เมื่อเห็นว่าผงที่ถูดูติดเรียบดี ไม่มีดำ ๆ ด่าง ๆ ท่านก็เอาไปถูในส่วนที่เป็นพื้นหลังของภาพได้เลย ถูไปนาน ๆ และทั่ว ๆ ข้อควรระวังก่อนถูพื้นหลัง ให้ใช้กระดาษปิดส่วนที่เป็นขอบหรือกรอบภาพไว้ด้วยคลิบกันผงล้นออกนอกกรอบ แต่ส่วนพื้นหลังที่ชิดกับไหล่ หรือใบหน้าของภาพต้องใช้ปี๊ดอันที่ปลายบานมาถูแต่งให้กลมกลืนอีกทีนะครับ เป็นอันว่าการวาดภาพเหมือนด้วยผงถ่านขาวดำ ก็จบลงเท่านี้

อ้อ ยางลบที่ตัดเป็นชิ้นเล็ก ๆ หรือยางลบแบบแท่งเหลาให้แหลม สามารถใช้ลบถูสร้างไฮไลท์บนใบหน้า และทรงผมของภาพได้นะครับ อย่าลืม



รูปละ $20 ก็น่าจะพอมีรายได้ยามตกงานนะ







Create Date : 12 เมษายน 2554
Last Update : 12 เมษายน 2554 3:28:20 น. 2 comments
Counter : 12034 Pageviews.

 
gooddd


โดย: TanaPon_M. วันที่: 18 เมษายน 2554 เวลา:17:01:40 น.  

 
ดีมากเลยครับ เพิ่งมาพบเจอโดยบังเอิญ ท่านทำเหมือนที่ผมเคยทำเลยครับ แถมพูดและคิดเหมือนที่ผมคิดและเคยเจอคำหมิ่นประมาทมาแล้วด้วย

และผมก็จบวาดเขียนเอกก่อนจะไปต่อเอกศิลปะที่ มศว.ประสานมิตรเหมือนกันครับ


โดย: ไพบูลย์ พันธ์เมือง (pantamuang ) วันที่: 24 สิงหาคม 2558 เวลา:20:08:30 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

=Neo=
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 15 คน [?]




Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add =Neo='s blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.