Group Blog
 
All blogs
 
60. วัดเขาตะเครา จ.เพชรบุรี

ตั้งอยู่ตำบลบางครก อำเภอบ้านแหลม สามารถไปได้สองทาง ทางแรกก่อนจะเข้าตัวเมืองเล็กน้อย มีถนนแยกซ้ายมือเข้าสู่วัดเขาตะเครา ระยะทาง 15 กิโลเมตร อีกเส้นทางหนึ่งคือ เดินทางจากเมืองเพชรไปบ้านแหลม แล้วขับรถต่อไปอีก 6 กิโลเมตร ก็ถึงวัดเขาตะเครา

หลวงพ่อวัดเขาตะเครา เป็นพระพุทธรูปที่ศักดิ์สิทธิ์ อยู่ที่วัดเขาตะเครา ซึ่งวัดนี้ตั้งอยู่ที่ตำบลบางครก อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่ และมีชื่อเสียงมานาน ที่ได้นามว่า วัดเขาตะเครา เพราะได้สันนิษฐานกันว่า มีเจ้าสัวชาวจีนผู้หนึ่งมีศรัทธามาก เมื่อได้พระพุทธรูปหลวงพ่อขึ้นมาแล้ว และนำมาประดิษฐาน ณ บ้านแหลม จึงได้สละทรัพย์สร้างเป็นวัดขึ้น ให้นายช่างซึ่งเป็นลูกน้องไม่ปรากฎนาม เป็นผู้ควบคุมงานก่อสร้าง นายช่างเป็นชาวจีน จึงไว้เครายาว ซึ่งเป็นที่นิยมของชาวจีนในยุคนั้น ชาวบ้านเห็นคนจีนเอาไว้เครายาวดังนี้ จึงเรียกวัดและเขาผนวกกันเข้าไปว่า วัดเขาจีนเครา ต่อมาคำว่า จีนเป็นคำเรียกยากสำหรับชาวเมืองเพชร ไม่คุ้นหูชาวบ้าน ในยุคต่อมาจึงเปลี่ยนคำว่า จีน เป็น ตา กลายเป็นเขาตาเครา เมื่อกาลเวลาล่วงไป ภาษากร่อน สระอา จึงกลายเป็นสระอะ เปลี่ยนจาก ตา เป็น ตะ นามที่เรียกกันในปัจจุบันจึงเรียกกันว่า วัดเขาตะเครา

ส่วนหลวงพ่อวัดเขาตะเครา นี้ มีตำนานเกี่ยวกับท่านสองตำนานคือ ตำนานแรก ท่านเป็นพี่น้องกับพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์อีกสององค์คือ หลวงพ่อพุทธโสธร จังหวัดฉะเชิงเทรา และหลวงพ่อวัดบ้านแหลม จังหวัดสมุทรสงคราม (หรือวัดเพชรสมุทร) อีกตำนานหนึ่ง เชื่อว่าท่านเป็นพี่น้องกับพระพุทธรูปอีกสององค์คือ หลวงพ่อวัดบางพลีใหญ่ จังหวัดสมุทรปราการ และหลวงพ่อวัดไร่ขิง จังหวัดนครปฐม ไม่สามารถยืนยันได้ว่า ท่านเป็นพี่น้องกับพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์องค์ใดแน่ หากเอาตามตำนานหรือประวัติของวัดบ้านแหลม หรือวัดเพชรสมุทร กับของวัดเขาตะเครา จังหวัดเพชรบุรี แล้วใกล้เคียงกัน และพื้นที่จังหวัดก็อยู่ติดต่อกันด้วย จึงขอเล่าประวัติของหลวงพ่อวัดเขาตะเครา หรือหลวงพ่อทอง วัดเขาตะเครา ไว้ดังนี้

เมื่อ พ.ศ.๒๓๐๒ ก่อนเสียกรุงศรีอยุธยา ครั้งที่ ๒ ให้แก่พม่า (เสียกรุงครั้งที่ ๒ พ.ศ.๒๓๐๑) ชาวบ้านแหลม เพชรบุรี ได้อพยพหนีทัพพม่า ไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ปากแม่น้ำแม่กลอง อำเภอเมืองสมุทรสงคราม ใกล้กับวัดบ้านแหลม หรือวัดเพชรสมุทร ในปัจจุบัน ซึ่งเวลานั้น วัดบ้านแหลมชื่อว่า วัดศรีจำปา เป็นวัดร้าง ชาวบ้านแหลมที่อพยพไปอยู่ จึงช่วยกันบูรณะ ก่อสร้างขึ้นใหม่แล้วให้ชื่อตามท้องถิ่น ที่พวกตนจากมาคือชื่อ วัดบ้านแหลม เพื่อเป็นอนุสรณ์ของชาวบ้านแหลมผู้สร้าง และต่อมาได้เปลี่ยนเป็น วัดเพชรสมุทร วันหนึ่งชาวบ้านแหลมที่มีอาชีพดั้งเดิมคือชาวประมง ได้ไปจับปลาลากอวน ลากอวนติดเอาพระพุทธรูปมา ๒ องค์ องค์หนึ่งเป็นพระพุทธรูปนั่ง ปางมารวิชัย อีกองค์หนึ่งเป็นพระพุทธรูปยืน จึงนำองค์พระพุทธรูปยืน มาประดิษฐานไว้ ณ วัดบ้านแหลม (วัดศรีจำปา) ต่อมาชาวบ้านเรียกพระพุทธรูปยืนองค์นี้ว่า หลวงพ่อบ้านแหลม ตามนามที่ได้พระพุทธรูปมา ส่วนอีกองค์หนึ่ง ที่เป็นพระพุทธรูปนั่งนั้น ได้มอบให้ชาวบ้าน ชาวบางตะบูน ซึ่งเป็นท้องถิ่นเดิมที่พวกตนได้จากมา ชาวบางตะบูน จึงนำไปประดิษฐานไว้ ณ วัดเขาตะเครา และเรียกกันว่า หลวงพ่อวัดเขาตะเครา ส่วนที่เรียกกันในภายหลังว่า หลวงพ่อทอง วัดเขาตะเครา เพราะว่าเมื่อวันที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๒๗ เวลาประมาณ ๒๑.๐๐ เณรรูปหนึ่ง ได้วิ่งมาบอกเจ้าอาวาสคือ พระครูวชิรกิจโสภณ ว่า เกิดเหตุไฟไหม้ขึ้นที่โบสถ์ พระเณรจึงวิ่งไปดูที่โบสถ์ เห็นไฟไหม้ลุกท่วมองค์หลวงพ่อทอง และไฟได้ไหม้ลุกลามขึ้นไปสูง ปรากฎว่ามีทองคำหลอมเหลวไหลออกมาจากหลวงพ่อทอง เมื่อไฟดับแล้ว นำทองคำไปชั่งได้น้ำหนักถึง ๙ กิโลกรัม ๙ ขีด ท่านเจ้าอาวาสจึงนำทองคำไปหล่อเป็นลูกอมทองไหล หลวงพ่อทอง ลักษณะเป็นรูปทองคำทรงกลม และมีรูปหลวงพ่อทองติดอยู่ แล้วหุ้มรูปทรงกลมด้วยพลาสติค นำออกให้ประชาชนเช่าบูชา มีรายได้เข้าวัดเป็นเงินมากถึง ๒๑ ล้านบาทเศษ และนำรายได้นี้ไปสร้างมณฑป สร้างโรงเรียน สร้างประปา สร้างศาลาเอนกประสงค์

หลวงพ่อทอง วัดเขาตะเครา ปัจจุบันไม่ได้ประดิษฐานอยู่ในอุโบสถ แต่ประดิษฐานอยู่ในศาลาหลังคาสีแดง ตรงข้ามกับอุโบสถเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง ๒๑ นิ้ว สูง ๒๙ นิ้ว ประดิษฐานอยู่ที่วัดเขาตะเครา นับถึง พ.ศ.๒๕๕๑ เป็นเวลา ๒๔๔ ปี ส่วนหลวงพ่อที่เป็นพระประธานในอุโบสถนั้น นามหลวงพ่อคือ

หลวงพ่อเทวฤทธิ์ ประดิษฐานในอุโบสถ เป็นพระทรงเครื่องแบบเทวรูป สูง ๕๔ นิ้ว หน้าตักกว้าง ๓๘ นิ้ว เนื้อปูน เป็นพระเก่าแก่องค์หนึ่ง พุทธลักษณะคล้ายกับพระประธานในอุโบสถวัดพระเมรุ ที่อยุธยา การปั้นอยู่ในลักษณะเดียวกัน ปูนก็ชนิดเดียวกัน มีความศักดิ์สิทธิ์ไม่แพ้หลวงพ่อทอง วัดเขาตะเครา ชาวบ้านในละแวกนั้น และชาวจังหวัดใกล้เคียว หากจะบนบานขอพึ่งพระบารมี ไม่ว่าในด้านใด ๆ ก็ตาม มักจะไปขอคู่กันคือ ขอจากหลวงพ่อทอง วัดเขาตะเครา ในศาลาหลังคาสีแดง ก่อน แล้วจึงไปขอจากหลวงพ่อเทวฤทธิ์ ในอุโบสถควบคู่กันไป มักได้รับความสำเร็จสมปรารถนา

วัดเขาตะเครา ยังมีพระพุทธรูปสำคัญอีกองค์หนึ่ง ประดิษฐานเป็นพระประธาน อยู่ในวิหารบนเขาที่อยู่ด้านหลังอุโบสถ มีบันไดให้ขึ้นไปนมัสการได้ หลวงพ่อองค์นี้ สร้างจำลองแบบหลวงพ่อเขาตะเครา สูง ๗๗ นิ้ว หน้าตักกว้าง ๖๐ นิ้ว ปั้นด้วยปูนขาวผสมน้ำเชื้อแบบโบราณ ตามตำนานเล่าไว้ว่า เมื่อได้หลวงพ่อทอง มาแล้ว ก็นำไปประดิษฐานไว้ที่ยอดเขาตะเครา เพื่อความสะดวกในการที่จะผ่านไป ผ่านมา ระหว่างแม่กลองกับบ้านแหลม ซึ่งเป็นถิ่นกำเนิดของตน สมัยก่อนทะเลกับเขาตะเครา ไม่ห่างกันมากนัก เมื่อชาวทะเลผ่านมาทางทะเล ก็นมัสการได้จากในทะเล ต่อมาชายทะเลได้งอกยาวออกไป นมัสการจากทะเลชักจะมองไม่เห็น ต้องขึ้นจากเรือมานมัสการบนบก ก็ต้องไต่เขาขึ้นไปเพราะยังไม่มีบันไดให้ขึ้น ได้สะดวกเช่นทุกวันนี้ (ขนาดมีบันได คนปูนผมก็หัวใจเกือบวาย) ชายทะเลก็งอกยาวออกไปไม่รู้จบ จึงได้ย้ายหลวงพ่อทอง ลงมาไว้ที่อุโบสถ และย้ายต่อมาไว้ที่ศาลาหลังคาแดง (น่าจะย้ายลงมาหลังเกิดไฟไหม้แล้ว) ในอุโบสถจึงสร้างหลวงพ่อเทวฤทธิ์เอาไว้ ส่วนวิหารยอดเขาตะเครา สร้างหลวงพ่อหมอ ไว้แทนหลวงพ่อทองวัดเขาตะเครา เหตุที่ไปเรียกท่านว่า หลวงพ่อหมอ ก็เพราะประชาชนละแวกนั้น ในสมัยก่อน เมื่อยามเจ็บป่วย หาหมอรักษายาก จึงเด็ดเอาต้นไม้บนเขา ที่เชื่อแน่ว่ากินได้ ถือว่าเป็นยาของหลวงพ่อ แล้วใส่หม้อยาเอาไปตั้งหน้าหลวงพ่อ จุดธูป เทียน อธิษฐานขอให้กินยาในหม้อนี้ แล้วหายโรค แล้วนำขี้ธูปเศษเทียน ที่จุดบูชาใส่ลงไปในหม้อด้วย นำไปต้มกิน ปรากฎว่าหายมากว่าตาย จึงเรียกท่านว่า หลวงพ่อหมอ











Create Date : 19 กันยายน 2556
Last Update : 8 กรกฎาคม 2560 21:38:01 น. 0 comments
Counter : 1337 Pageviews.

เหมียวสินธร
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 17 คน [?]




Friends' blogs
[Add เหมียวสินธร's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.