Group Blog
 
All blogs
 
ในเมื่อทุกคนฝันอย่างเดียวกัน ชีวิตจะมีทางเลือกได้อย่างไร




"เราทำงานเหมือนๆกัน
ออกจากบ้านเวลาเดียวกัน
เผชิญกับปัญหารถติดเหมือนกัน
อร่อยกับอาหารคล้ายๆกัน
มีแบบแผนการดำเนินชีวิตที่ไม่แตกต่างกัน

อะไรคือทางเลือกที่แท้จริงของเรา
หรือมันไม่มีอยู่เลย

คำถามก็คือว่า ทางเลือกชีวิตหายไปไหน ?
ใครขโมยสิ่งเหล่านี้ไป "


ความคุ้นเคย เป็นสิ่งแปลกและน่ากลัว เพราะเราไม่สามารถมองเห็นได้เมื่ออยู่ใกล้ หรือ รู้สึกได้เมื่อต้องเห็นหรือทำทุกวัน ลองจินตนาการโดยถีบตัวเองไปไกลนอกโลก แล้วมองกลับมาในมุมของมนุษย์ต่างดาว เรากลับพบความจริงน่าขำของตัวเอง

เราพบว่ามนุษย์ต่างมีลักษณะการดำเนินชีวิตหลักๆคล้ายคลึงกัน ไม่ว่าจะประกอบอาชีพใด เช่น สาวเย็บผ้าในโรงงาน พนักงานบัญชีในบริษัทฝรั่ง หรือ คนที่ทำงานในตลาดหลักทรัพย์ คือ ต่างก็ต้องตื่นแต่เช้า นั่งรถเมล์ หรือ ขับรถ ฝ่าปัญหารถติด เพราะทุกคนออกจากบ้านในเวลาเดียวกัน และต่างต้อง แลกด้วยกำลัง ความคิด โดยมีนายจ้างที่มองเห็นบ้างไม่เห็นบ้างสั่งให้คุณทำงาน เช่น เย็บผ้า ให้ได้จำนวนมากที่สุด ปิดบัญชีให้ทันก่อนสิ้นเดือน หรือ กระตุ้นให้นักลงทุนยอมควักเงินในกระเป๋าเป็นหมื่นเป็นแสนเพื่อให้ได้เท่ากับเซลล์ทาร์เก็ตที่กำหนดไว้

ไม่เฉพาะแต่ลักษณะงานเท่านั้นที่เหมือนกัน มันรวมไปถึงการดำเนินชีวิตด้วย คนที่อยู่ในโลกสมัยใหม่นี่ เริ่มต้นก็กินอะไรคล้ายๆกันแล้ว เช่น เป็นต้นว่าหลายคนก็กิน pizza กินไก่ทอดยี่ห้อฝรั่ง, มีวันเวลาออกไปกินข้าวนอกบ้านเหมือนกัน ส่วนข้าวในบ้านก็ไปซื้อมาจากตลาดเดียวกัน เป็นแต่เพียงใส่คนละถุงเท่านั้นเอง เป็นต้น

การใช้เวลาว่างก็คล้ายๆกัน คือ ทุกคนพอหลังกินข้าวเสร็จ ก็ใช้ตานั่งจ้องดูทีวี ดูละครเรื่องเดียวกัน ถูกสอนให้คิด, ให้เชื่อ, ให้รู้สึกอย่างเดียวกันตลอดเวลา. สินค้าที่บริโภคก็ประเภทเดียวกัน. เสื้อผ้าอาจจะปิดป้ายคนละยี่ห้อๆ แต่มันก็มาจากโรงงานเดียวกัน ไม่ว่าเสื้อฝรั่ง เสื้อไทย ก็มาจากโรงงานเพียงไม่กี่โรงงาน. รองเท้าอะไรต่างๆนาๆ ก็เหมือนกันหมด.

จนกระทั่งว่า หลายคนฝันอยากจะมีรถเบนซ์ แล้วก็เป็นรถเบนซ์ที่สีเดียวกัน รุ่นเดียวกัน, คลาสส์ซีเหมือนกัน, คลาสส์เอสเหมือนกัน, เหมือนกันเป๊ะเลย. ความใฝ่ฝันทุกอย่างก็ถูกทำให้เราแต่ละคน มีชีวิตอยู่ท่ามกลางเงื่อนไขที่ครอบงำ แม่แต่ฝันก็ฝันเรื่องเดียวกัน. เพราะฉะนั้น ทำให้ สงสัยว่า คนในปัจจุบันมันมีทางเลือกของชีวิตจริงหรือ ? สิ่งที่เราคิดว่าเราเลือก, เราเลือก หรือว่าเราถูกสร้างเงื่อนไขให้เรารู้สึกว่า เราเลือกสิ่งเหล่านี้. แต่จริงๆแล้วมันก็ตรงกับคนอื่นซึ่งอยู่ข้างๆเรานี่แหละ ก็เลือกอย่างเดียวกับที่เราเลือก. ไม่ได้มีอะไรแตกต่างอะไรกันเลย.

จริงๆแล้ววัตถุนิยมอาจเข้าไปทำลายจินตนาการ จนเรามีความฝัน และ ความอยาก ในระดับหยาบๆ เราทุกคนฝันอย่างเดียวกันกับคนข้างๆ ทางแก้ง่ายๆ ควรเริ่มจากหันมาฝึก "จินตนาการ" เพราะเจ้าจินตนาการคือกุญแจดอกสำคัญที่สามารถทำลายขอบความคิด ความเชื่อ และ กฏเกณฑ์ต่างๆได้ เพียงแต่เราทุกคน กล้าที่จะแตกต่าง และ สร้างทางเลือกด้วยตัวเอง ไม่ต้องสนใจคำทัดทานของคนที่ยึดติด หรือ สังคมที่ชี้นำว่าสิ่งใดถูกหรือผิด ล้าสมัย หรือไม่ เมื่อเริ่มจาก 1 เป็น 2 ต่อไปก็จะขยาย และส่งผลทำให้สังคมเปลี่ยนไปสู่จุดสมดุล เช่น ทุกคนกินเป๊ปซี่ เราอาจกินโอเลี้ยง อย่างนี้คนขายโอเลี้ยงก็อยู่รอด คนอื่นกิน KFC เรากินกล้วยทอด คนขายกล้วยทอดก็อยู่รอด

อย่าลืมว่าโลกที่สมดุลคือโลกที่มีตัวเลือก หรือ ทางเลือกเท่านั้น เมื่อใดก็ตามที่เราต้องทำเหมือนกันหมด หรือ มีทางเลือกเหลืออยู่เพียงทางเดียว เมื่อนั้นสังคมจะเข้าขั้นพิกลพิการ เสียสมดุล ถ้าเปรียบก็เหมือนคนป่วย ใกล้ตาย.....ต้องพึ่งหมออย่างเดียว (ค่ายาแพงด้วย จะไม่รักษาก็ไม่ได้)

แบบแผนของการดำเนินชีวิตซึ่งดูเหมือนว่าทุกคนเลือก แต่เอาเข้าจริงไม่ได้เลือกนี่ มันมาจากไหนกันแน่ ? คิดว่ามันมาจาก 3 อย่างด้วยกัน ซึ่งสำคัญมากๆเลย

1.ระบบการผลิตเชิงอุตสาหกรรมบวกกับพาณิชยนิยม ซึ่งที่จริงก็เป็นเรื่องเดียวกัน. คือเมื่อไหร่ที่คุณผลิตในเชิงอุตสาหกรรมเป็นจำนวนมากๆ คุณก็ต้องระบายออกไปให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ และเร็วที่สุด

คิดถึงปัจจุบันนี้ แทนที่คุณจะมีอาณานิคม, คุณทำให้เกิด KFC ขึ้น ทำให้การวางตลาดสินค้าไก่ทอด มันกลายเป็นรสนิยมใหม่ของคนทั้งโลก โดยที่คุณไม่ต้องมีอาณานิคม. อันนี้เป็นสิ่งที่ได้ผลกว่ากันแยะ... แล้วอย่านึกว่า ไก่ทอดแบบนั้น มันอร่อยในตัวของมันเอง. ความอร่อยเป็นสิ่งที่เขาสร้างขึ้นมา สร้างขึ้นมาโดยเราไม่รู้สึกตัวว่า การกินไก่แบบนั้นแล้วมันจะอร่อยมากๆ แล้วพอเรากินเข้าจริง มันก็อร่อยจริงเสียด้วย. อันนี้เขาพบวิธีการสร้างรสนิยม จะผ่านฮอลลีวูดหรือจะผ่านอะไรก็แล้วแต่เถอะ แต่สร้างรสนิยมให้คนทั้งโลกให้พร้อมจะเสพสินค้าที่เขาผลิตขึ้นมา.

2.บริโภคนิยม อะไรคือบริโภคนิยม ? บริโภคนิยมไม่ได้หมายความว่า ยั่วยุให้เราบริโภคสินค้าหรือบริการมากๆ. สินค้าทั้งหลายที่เราบริโภคไป ในที่สุดคุณก็อิ่ม ถ้ามันพอแค่นั้นผู้ผลิตก็เจ๊ง

เราซึ่งเป็นเหยื่อของบริโภคนิยม เราไม่ได้บริโภคสินค้า แต่เราบริโภคความหมายที่เขาแปลงมาแล้ว. และก็ยั่วยุให้เราบริโภคความหมายอยู่ตลอด, นี่คือบริโภคนิยม. และก็เป็นสิ่งที่ประสบความสำเร็จด้วยในการแปลงสินค้าให้เป็นความหมาย เมื่อเราทั้งหมดล้วนบริโภคความหมายอันเดียวกัน เราจะไปพูดถึงทางเลือกกันไปทำไม เพราะเริ่มต้นคุณก็ไปรับความหมายอันเดียวกันแล้ว...

3.รัฐรวมศูนย์. รัฐรวมศูนย์สมัยใหม่จะเป็นรัฐซึ่งพยายามตอบสนองต่อ 2 อย่างดังต่อไปนี้. อันแรกคือ พยายามจะตอบสนองการผลิตในระบบอุตสาหกรรมและพาณิชยนิยม. กับอันที่สอง, ตอบสนองการแพร่กระจายของบริโภคนิยม ขณะเดียวกัน รัฐรวมศูนย์จะมากำหนดวิถีชีวิตเรามากมายทีเดียว. เราทุกคนเรียนหนังสือมา ไม่ว่าจะมาจากโรงเรียนอะไรก็ตาม แต่ก็จะอยู่ภายใต้การกำกับของรัฐรวมศูนย์นี้. เราเรียนมหาวิทยาลัยใดก็แล้วแต่ที่เรียนมา ก็อยู่ภายใต้การกำกับของรัฐแบบนี้


อ้างอิงจาก อาจารย์นิธิพูดนี้คือ "ข้อเสนอการศึกษากับทางเลือกของชีวิต"




Create Date : 17 ธันวาคม 2549
Last Update : 18 ธันวาคม 2549 13:58:55 น. 0 comments
Counter : 276 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

ตุ๊ดตู่ โอ้เย
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]









Friends' blogs
[Add ตุ๊ดตู่ โอ้เย's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.