Group Blog
 
All Blogs
 

ความงามที่น่าใฝ่หา

บทความโดย : น้อมเศียรเกล้า
ภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต



บุคคลในโลกย่อมประสงค์ให้ตนมีความงามด้วยประการต่างๆ


ประสงค์ให้มี รูปสวย น่าดู น่าชม เช่น ผมงาม หน้างาม นัยน์ตางาม หูงาม จมูกงาม ริมฝีปากงาม ฟันงามปากงาม คิ้วงาม นมงาม อกงาม ท้องงาม เอวงาม ขางาม มืองาม แข้งงาม นิ้วงามหรือว่าเล็บงาม เป็นต้น และต่างหาแสวงหาวิธีที่จะได้มาซึ่งความงาม ทำไฉนหนอจึงจะเพิ่มพูนความงามให้กับตนได้ ?

แท้จริงแล้วอันความงามภายนอกนั้น เป็นสิ่งที่ไม่ยั่งยืน เพราะในไม่ช้าก็เปลี่ยนแปลงไป

พระเถรีอัพปาลี ท่านเคยได้กล่าวถึงความงามที่เปลี่ยนแปลงไปของตนว่า

“เมื่อก่อน.....มวยผมของเรามีกลิ่นหอม ดุจอบด้วยดอกมะลิเป็นต้นเต็มไปด้วยดอกไม้
เดี๋ยวนี้.....มีกลิ่นเหม็นเหมือนขนกระต่าย เพราะความแก่ชรา

เมื่อก่อน...นัยน์ตาของเราดำขลับเหมือนนิลมณี รุ่งเรืองงาม
เดี๋ยวนี้..ถูกความชราครอบงำไม่น่าดูเลย

เมื่อก่อน...ฟันของเราขาวงามดี เหมือนสีดอกมะลิตูม
เดี๋ยวนี้...กลายเป็นฟันหักและมีสีเหลืองเพราะความแก่ชรา

เมื่อก่อน..ถันทั้งคู่ (หน้าอก)ของเราเต่งตั่งกลมชิดสนิทกันและมีปลายงอนขึ้นงดงาม
เดี๋ยวนี้...กลับหย่อนเหมือนลูกน้ำเต้า เพราะความแก่ชรา

เมื่อก่อน...กายของเราเกลี้ยงเกลางดงาม เหมือนแผ่นทองที่ขัดดีแล้ว
เดี๋ยวนี้..สะพรั่งไปด้วยเส้นเอ็นอันละเอียด เพราะความแก่ชรา


เมื่อก่อน..เราพูดเสียงไพเราะ เหมือนเสียงนกดุเหว่าที่ร่ำร้องในป่าใหญ่

เดี๋ยวนี้..คำพูดของเราพลาดไปทุกคำ เพราะความแก่ชรา” ฯลฯ

(อัพปาลีเถรีคาถา ๒๖/๔๘๐)

ความงามนอกกายนั้น จึงหาได้มีคุณค่าอย่างแท้จริง เนื่องจากเป็นสิ่งที่ไม่ยั่งยืน และเปลี่ยนไปมาได้อยู่ตลอดเวลา

ในทางตรงกันข้าม โสภณธรรม จักเป็นธรรมอันทำให้งามทั้งภายนอกและภายในอย่างแท้จริงซึ่ง มี ๒ ประการคือ ขันติ ๑ โสรัจจะ ๑ ลักษณะ ของขันติ โสรัจจะ มีดังนี้

๑. ขันติ หมายถึง ความอดทน คือมีลักษณะอันมั่นคงไม่หวั่นไหว เป็นสภาพธรรมที่อดทนอดกลั้น ด้วยกุศลด้วยธรรมฝ่ายดี
๒. โสรัจจะ หมายถึง ความเสงี่ยม ความเรียบร้อยแห่งหายวาจาใจ


ธรรมอันทำให้งาม คือขันติและโสรัจจะนี้ ทำให้ผู้ปฏิบัติได้รับความความงามทั้ง ๒ ประการ คืองามภายนอก ๑ งามภายใน ๑

๑. ขันติ หรือ ความอดทน ว่าโดยลักษณะมี ๓ คือ
๑). ตีติกขาขันติ อดทนด้วยการกลั้นไว้ได้ด้วยสภาพธรรมฝ่ายดีไม่มีความกระสับกระส่าย มีสภาพเบาเป็นกุศลจิต

๒). ตปขันติ อดทนจนเป็นตบะเดชะ เป็นธรรมเผาบาปคืออกุศลให้หมดไปทั้งสามารถอดทนต่อสิ่งที่ไม่น่าพอใจ และอดทนต่อสิ่งที่น่าพอใจ
๓).อธิวาสนขันติ คือมีการยับยั้งไว้ได้ รับไว้ได้ คือยับยั้งทุกข์ทั้งปวงดังกล่าวนั้น มิให้มาเป็นเหตุทำให้ต้องขัดข้อง รับไว้ได้ก็คือแม้ว่าจะต้องพบกับทุกข์เหล่านั้น ก็รับได้

๒. โสรัจจะ แปลว่า ความเสงี่ยม ได้แก่ความรื่นรมย์ของใจ การรู้จักทำจิตใจให้แช่มชื่นผ่องใสเบิกบาน มีกายวาจาสงบเสงี่ยมเรียบร้อยดีงาม เพราะเมื่ออดทนได้แล้ว ก็ไม่แสดงกิริยากาย วาจา ให้ผิดปกติ เช่นคนที่ถูกด่าว่าให้ได้รับความเจ็บใจ ก็ไม่แสดงการโต้ตอบ หรือ ตาหน้าแดง หูแดง ขว้างปาข้าวของเพราะอดทนได้ โสรัจจะ ธรรมข้อนี้ย่อมเข้าสนับสนุนขันติให้สูงเด่นขึ้น นับว่าเป็นศีลสังวร เพราะมีอาการกายวาจาเป็นปรกติเรียบร้อยดีงาม และทำใจให้สบาย ตรงตามศัพท์ของโสรัจจะ ที่แปลว่ารื่นรมย์ดี สบายดี ใจดี

สมเด็จพระผู้มีพระภาคพระองค์ทรงเป็นแบบอย่างในการบำเพ็ญขันติธรรม เพราะทรงมีพระมหากรุณาต่อสรรพสัตว์ทั้งปวง โดยไม่เลือกชั้นวรรณะ

ครั้งงหนึ่งพระองค์ผู้เป็นพระจอมมุนีได้ทรงชนะอาฬวกยักษ์ ผู้มีจิตกระด้าง ดุร้ายเหี้ยมโหด มีฤทธิ์ยิ่งกว่าพญามาร ผู้เข้ามาต่อสู้ยิ่งนัก จนตลอดรุ่ง
ด้วยวิธีที่ทรงฝึกฝนเป็นอันดี คือ ขันติบารมี โดยอาฬวกยักษ์แผลงฤทธานุภาพเป็นประการต่างๆ เช่นทำให้เกิดพายุใหญ่บ้าง ทำให้เม็ดฝนตกลงมาเป็นศาสตราวุธต่างๆบ้าง

แต่ศาสตาวุธเหล่านั้นก็ไม่ได้เป็นอันตรายกับพระองค์เลย ซ้ำยังกลับกลายเป็นทิพยมาลา บ้าง เป็นของสุคันธทิพย์บูชาบ้าง อาฬวกยักษ์ตรวจดูเห็นว่าพระพุทธองค์ทรงไม่เกรงกลัวตน

เนื่องจากทรงตั้งอยู่ในเมตตาธรรม จึงคิดราวีกลั่นแกล้งหมายจะให้พระองค์ทรงกริ้วโกรธ โดยการขับไล่ออกไปบ้าง แล้วเชื้อเชิญกลับมาบ้าง ซ้ำๆกันอย่างนี้หลายครั้ง

ทั้งยังข่มขู่ว่าจะควักหัวใจของสมเด็จพระผู้มีพระภาคมาขยี้บ้างจะจับข้อพระบาทของพระองค์ยกขึ้น แล้วขว้างไปที่ฝั่งของแม่น้ำคงคาบ้าง เหมือนที่เคยกับกับดาบส หรือปริชาพกอื่นที่ตอบคำถามของตนไม่ได้


พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า “ เรายังไม่เห็นบุคคลใดในโลก พร้อมทั้งภพสาม จักทำเราเช่นนั้นได้ ดูก่อนยักษ์ เมื่อท่านหวังจะถาม เราก็จักตอบ ” อาฬวกยักษ์จึงได้ทูลถามปัญหา ดังนี้

..........อะไรหนอ เป็นทรัพย์เครื่องปลื้มใจอันประเสริฐของคนในโลกนี้ อะไรหนอ ที่บุคคลประพฤติดีแล้วนำความสุขมาให้ อะไรหนอเป็นรสอันล้ำเลิศกว่ารสทั้งหลาย นักปราชญ์ทั้งหลายกล่าวชีวิตของผู้ที่เป็นอยู่อย่างไร ว่าประเสริฐสุด

..........พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า ศรัทธาเป็นทรัพย์อันประเสริฐของ คนในโลกนี้ ธรรมอันบุคคลประพฤติดีแล้ว นำความสุขมาให้ ความสัตย์แลเป็นรสอันล้ำเลิศกว่ารสทั้งหลาย นักปราชญ์ทั้งหลายกล่าวชีวิตของผู้ที่เป็นอยู่ด้วยปัญญาว่าประเสริฐสุด
..........อาฬวกยักษ์ทูลถามว่า คนข้ามโอฆะได้อย่างไรหนอ ข้ามอรรณพได้อย่างไร ล่วงทุกข์ได้อย่างไร บริสุทธิ์ได้อย่างไร

..........พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า คนข้ามโอฆะได้ด้วยศรัทธา ข้ามอรรณพได้ด้วยความไม่ประมาท ล่วงทุกข์ได้ด้วยความเพียร บริสุทธิ์ได้ด้วยปัญญา

..........อาฬวกยักษ์ทูลถามว่า คนได้ปัญญาอย่างไรหนอ ทำอย่างไร จึงจะหาทรัพย์ได้ คนได้ชื่อเสียงอย่างไรหนอ ทำอย่างไรจึงจะผูกมิตรไว้ได้ คนละโลกนี้ไปสู่โลกหน้า ทำอย่างไรจึงจะไม่เศร้าโศก

..........พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสตอบว่า บุคคลเชื่อธรรมของพระอรหันต์ เพื่อบรรลุนิพพาน ฟังอยู่ด้วยดีย่อมได้ปัญญา เป็นผู้ไม่ประมาท เป็นผู้ฉลาด เป็นผู้ทำเหมาะเจาะ ไม่ทอดธุระ เป็นผู้หมั่น ย่อมหาทรัพย์ได้ คนย่อมได้ชื่อเสียงเพราะความสัตย์ ผู้ให้ย่อมผูกมิตรไว้ได้ บุคคลใดผู้อยู่ครองเรือนประกอบด้วยศรัทธา มีธรรม ๔ ประการนี้ คือ สัจจะ ธรรมะ ธิติ จาคะ บุคคลนั้นแล ละโลกนี้ไปแล้ว ย่อมไม่เศร้าโศก เชิญท่านถามสมณพราหมณ์เป็นอันมากเหล่าอื่นดูซิว่า ในโลกนี้มีอะไรยิ่งไปกว่าสัจจะ ทมะ จาคะ และขันติ

..........อาฬวกยักษ์กราบทูลว่า ทำไมหนอ ข้าพเจ้าจึงจะต้องถามสมณพราหมณ์เป็นอันมากในบัดนี้ วันนี้ข้าพเจ้ารู้ชัดถึงสัมปรายิกประโยชน์ พระพุทธเจ้าเสด็จมาอยู่เมืองอาฬวี เพื่อประโยชน์แก่ข้าพเจ้าโดยแท้ วันนี้ข้าพเจ้ารู้ชัดถึงทานที่บุคคลให้ในที่ใดมีผลมาก ข้าพเจ้าจักเที่ยวจากบ้านไปสู่บ้าน จากบุรีไปสู่บุรี พลางนมัสการพระสัมพุทธเจ้าและพระธรรมซึ่งเป็นธรรมที่ดี

..........ในที่สุดแห่งการทูลถามปัญหา ๘ ข้อ อาฬวกยักษ์ ก็ตั้งอยู่ ในโสดาปัตติผล (อาฬวกสูตรที่ ๑๒)

ด้วยเหตุที่ว่าสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงเป็นพระบรมครู ของมนุษย์และเทวาทั้งหลาย เหล่าภิกษุผู้ทรงธรรมวินัยก็ต่างมีความงามด้วย

ศีลสังวร เป็นผู้ควรแก่ของคำนับ ควรแก่ของต้อนรับ ควรแก่ของทำบุญ ควรกระทำอัญชลี และเป็นนาบุญของโลกซึ่งไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่าด้วย ธรรม ๕ ประการ เช่นนั้นเหมือนกันคือ คือ ความซื่อตรง ๑ ความเร็ว (ด้วยกำลังแห่งญาณ) ๑ ความอ่อนโยน ๑ ความอดทน ๑ ความเสงี่ยม ๑ (อาชานิยสูตร)

ความเสงี่ยมคือนอกจากการทำจิตให้ผ่องใส เบิกบานแล้ว ยังหมายถึงการรักษากาย วาจา ใจและเรียบร้อย ให้น่าดู น่าชม มีอินทรีย์สำรวม คือ มีการระวังกาย วาจาและใจ ด้วยการรักษามารยาทอันดีงาม ทุกอิริยาบถกล่าวคือ นั่ง เดิน ยืน นอน พูด คิด ทำ ทำให้มีอากัปกริยาภายนอกที่น่าดูน่าชม

อันความงามด้วยรูปลักษณ์ภายนอกเช่น งามรูปนั้น สู้ความงามด้วยจรรยามารยาทและความประพฤติดีงามซึ่งออกมาจากความงามภายในไม่ได้ เพราะหากมีแต่ความงามภายนอก ไม่ประพฤติอบรมตนให้เป็นผู้มีความงามจากภายในชีวิตก็คงไม่มีคุณค่าอะไรทั้งป้จจุบันและสัมปรายภพ

อุปมาเหมือน ผลไม้งาม อันเน่าในด้วยหนอนบ่อน รังแต่จะถึงกาลล่วงลับหล่นไป ให้ประโยชน์กับผู้ใดไม่ได้

ดังนั้นบุคคลผู้มุ่งหมายทำตนให้เป็นที่รัก และมีความงามที่มีคุณค่าอย่างแท้จริง จึงควรบำเพ็ญขันติ และโสรัจจะดังมีที่มาจากพระธรรมคำสอนด้วยประการฉะนี้ ฯ




 

Create Date : 24 กุมภาพันธ์ 2559    
Last Update : 24 กุมภาพันธ์ 2559 13:39:10 น.
Counter : 2791 Pageviews.  

ฉลองวันเกิดแบบชาวพุทธ

บทความโดย : น้อมเศียรเกล้า

เมื่อวันเวลาเวียนมาถึงวันครบรอบวันเกิด ผู้คนต่างเฉลิมฉลองในวาระที่เป็นวันดี วันสำคัญ วันอันเป็นมงคลอันน่าจดจำของตนอีกวันหนึ่งในชีวิต

ประเพณีการเฉลิมฉลองวันเกิดเริ่มต้นตั้งแต่เมื่อใด ไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่ประเพณีการเฉลิมฉลองของชนชาติต่างๆทั่วโลกในปัจจุบัน ก็มักจะมีรูปแบบหลักๆที่คล้ายคลึงกันได้แก่ การพบปะสังสรรค์ การกล่าวคำอวยพรและการมอบของขวัญเป็นต้น

สำหรับประเพณีการเฉลิมฉลองวันเกิดในประเทศไทยนั้น สันนิษฐานว่าเริ่มต้นจากประเพณีการทำบุญวันเกิด ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นผู้ทรงริเริ่มขึ้นโดยทรงทำเป็นแบบอย่างเมื่อครั้งยังทรงผนวชด้วยทรงพระราชดำริเห็นว่า "การมีอายุยืนมาบรรจบรอบปีครั้งหนึ่งๆ ไม่ตายไปเสียก่อนเป็นลาภอันประเสริฐ ควรยินดีเมื่อรู้สึกยินดีก็ควรจะบำเพ็ญกุศล ที่เป็นประโยชน์แก่ตนและแก่ผู้อื่น ให้สมกับที่มีน้ำใจยินดี และไม่ประมาท เพราะไม่สามารถจะรู้ได้ว่าจะอยู่ไปบรรจบรอบปีเช่นนี้อีกหรือไม่ ถึงวันเกิดปีหนึ่งเป็นที่เตือนใจครั้งหนึ่ง ให้รู้สึกว่าอายุล่วงไปต่อความตายอีกก้าวหนึ่งชั้นหนึ่ง เมื่อรู้สึกเช่นนั้น จะได้บรรเทาความมัวเมาประมาทในชีวิตเสียได้" นี้ เป็นพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งเป็นสาเหตุให้ มีการทำบุญวันเกิดขึ้นเรียกว่า เฉลิมพระชนมพรรษา

ต่อมาในกาลสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อทรงผนวชเป็นสามเณรก็ทรงทำบุญวันพระราชสมภพ ตามอย่างพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งทรงดำรัสให้มีการสวดมนต์ เลี้ยงพระและแจกสลากสิ่งของต่างๆ แก่พระสงฆ์ ซึ่งทรงทำตลอดมาจนกระทั่งเสวยราชย์และทำเป็นการใหญ่เช่น หล่อพระพุทธรูปอายุ เรียกว่า "หล่อพระชนมพรรษา" ทั้งมีการตกแต่งตามชาลาพระบรมมหาราชวัง ให้เป็นการครึกครื้นสนุกสนานตามริมน้ำและตามถนนก็สว่างไสวไปด้วยแสงประทีปโคมชวาลา จึงได้เกิดมีการแต่งซุ้มไฟประกวดประขันกันขึ้นและมีเหรียญพระราชทานแก่ผู้ แต่งซุ้มไฟเป็นรางวัลอนึ่งในวันนั้นได้มีผู้ไปลงนามถวายพระพร พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการอ่านคำถวายพระพรอันเป็นเครื่องหมายแสดงความจงรักภักดี จึงถือเป็นประเพณีเนื่องด้วยทำบุญวันเกิดมาจนปัจจุบันนี้

ในสมัยปัจจุบัน ถึงแม้นว่าค่านิยมการฉลองวันเกิดของชาวไทยพุทธจะเป็นไปตามกระแสชาติตะวันตก  แต่ประเพณีการทำบุญวันเกิดยังคงมีให้เห็นอยู่โดยมากเช่น การตักบาตรตอนเช้า การไปทำบุญ ถวายสังฆทาน การให้ชีวิตเป็นทาน(ปล่อยสัตว์ปล่อยปลา) ที่วัด เป็นต้น

ดังนั้นในวาระครบรอบวันเกิด จึงถือว่าเป็นวันมงคลอีกวันหนึ่งของพุทธศาสนิกชน ที่จะได้สั่งสมบุญบารมี ได้ฉลองความโชคดีในการได้อัตถภาพความเป็นมนุษย์อันได้โดยยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งได้ฉลองความโชคดีที่เมื่อเกิดมาแล้วได้รักษาชีวิตให้ดำเนินอยู่บนเส้นทางของความดี ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากยิ่งกว่า

กิจฺโฉ มนุสฺสปฎิลาโภ การที่เราจะมาเกิดเป็นมนุษย์พบพระพุทธศาสนานั้นยากแสนยาก ความยากในการเกิดเป็นมนุษย์นั้น สมเด็จพระอรหันตสัมมาพุทธเจ้าได้ทรงอุปมาไว้ว่า “ในท้องทะเลกว้างใหญ่สุดจะประมาณ มีเต่าตาบอดทั้งสองข้างอยู่ตัวหนึ่ง ทุกๆ หนึ่งร้อยปี จะโผล่ขึ้นมาบนผิวน้ำ ๑ ครั้งและในท้องทะเลนี้มีห่วงที่พอดีกับหัวเต่าลอยอยู่อันหนึ่ง โอกาสที่เต่าตาบอดจะโผล่หัวขึ้นมา แล้วเอาหัวสอดเข้าไปในห่วงพอดี มีความยากเพียงใด โอกาสที่จะได้เกิดเป็นมนุษย์นั้น มีความยากยิ่งกว่านั้น”

ประเพณีการเฉลิมฉลองวัตเกิดของชาวพุทธ จึงมิใช่เพียงประเพณีที่จัดเลี้ยง สังสรรค์เพียงเพื่อความสนุกสนานแต่เป็นโอกาสที่จะได้บำเพ็ญกุศลและรำลึกถึงความไม่ประมาทที่จะได้ใช้ชีวิตอยู่ด้วยการบำเพ็ญความดีเพื่อสร้างประโยชน์แก่ตนและผู้อื่น สมดังมีพุทธศาสนสุภาษิตว่า

อจฺเจนติ กาลา ตรยนฺติ รตฺติโย วโยคุณา อนุปุพฺพํ ชหนฺติ
กาลย่อมล่วงไป ราตรีย่อมผ่านไป ชั้นแห่งวัยย่อมละลำดับไป
เอตํ ภยํ มรเณ เปกฺขมาโน ปุญฺญานิ กยิราถ สุขาวหานิ
ผู้เล็งเห็นภัยในมรณะนั้น พึงทำบุญอันนำความสุขมาให้

สุขสันต์วันเกิด-ด้วยอานุภาพแห่งพระรัตนตรัยประทานพร ด้วยอานุภาพแห่งความดีประทานพรขอความเป็นมหามงคลอันสูงสุดจงสำเร็จแด่เจ้าของวันเกิดทุกท่านทุกประการเทอญฯ

Smiley

ขอบพระคุณข้อมูลจากธรรมจักร ดอทเน็ต

 




 

Create Date : 16 ตุลาคม 2556    
Last Update : 17 ตุลาคม 2556 8:41:56 น.
Counter : 5377 Pageviews.  

เรือพายเก่า

เรื่องและภาพโดย : น้อมเศียรเกล้า

 

เรีอเป็นพาหนะสัญจรที่มีความสำคัญเป็นอย่างมากมาตั้งแต่สมัยอดีต ผู้คนใช้เรือทำประโยชน์ด้านต่างๆไม่ว่าจะเป็นการเดินทาง การค้า การประมง การประกอบพิธีกรรมทางศาสนาสำหรับปัจจุบันเรือยังถูกเพิ่มบทบาทในเรื่องกิจการสันทนาการ อย่างเช่นการท่องเที่ยว


เนื่องจากเรือมีสัมพันธ์อย่างอย่างเหนียวแน่นกับการดำรงชีวิตถึงกับมีผู้นำเรือไปผูกสำนวน ตั้งโวหารเปรียบเปรยเรื่องราวต่างๆในการดำรงชีวิตของมนุษย์

การโยงใยชีวิตกับสำนวนเรือในแง่มุมของพระพุทธศาสนาอาจใช้คำสำนวนเปรียบเปรยเช่น

" ผู้ชายพายเรือ ผู้หญิงยิงเรือ" ซึ่งเป็นการเปรียบเปรยเรื่องราวของผู้ชายซึ่งพยายามประคับประคองนาวาคือเรือให้ข้ามฝั่งสังสารวัฏไปสู่ฝั่งนิพพาน แต่ก็ถูกอิตถีเพศ (ผู้หญิง)ดักยิงนาวา(เรือ)ให้ล่มจมอยู่สังสารวัฏคือฝั่งนี้ ไม่สามารถพ้นจากความเกิดความแก่ และความตายไปได้

แท้จริงแล้วภัยคือ"กามราคะ"อันเป็นเหตุให้พรหมจรรย์มัวหมอง มีความย่อหย่อนและท้อถอยในการปฏิบัติจนกระทั่งไม่สามารถข้ามฝั่งไปได้ ไม่ได้มีแต่เฉพาะเพศบรรพชิตเท่านั้น
แต่ล้วนเป็นภัยที่พระสัมมาสัมพุทธเข้าทรงตรัสสอนว่าเป็นอันตรายต่อทุกสรรพชีวิต เพราะเป็นเหตุให้จมอยู่ในห้วงทุกข์และเกิดความเนิ่นช้าในการข้ามฝั่งสู่พระนิพพาน

การติดกับดักเหยื่อล่อ ของรัก ของผูกพัน และความอยากในกามที่ทำให้จิตวิญญาณตกต่ำ จึงไม่ต่างอะไรกับคำเปรียบเปรยของคนโบราณที่ว่า เหมือนเรือที่ถูกยิงทิ้งจม.... ฉันใดก็ฉันนั้น

....Smiley




 

Create Date : 30 มิถุนายน 2556    
Last Update : 30 มิถุนายน 2556 14:10:30 น.
Counter : 1083 Pageviews.  

"พร"ประเสริฐแห่งชีวิต

 

บทความโดย : น้อมเศียรเกล้า




เวลาไปวัดเรามักได้ถูกเชิญชวนให้ทำบุญ และเมื่อฟังพระเทศน์เรามักจะได้ยินคำว่า “บุญ”แทรกอยู่ด้วยแทบทุกครั้ง หลายท่านสงสัยว่าคำว่า”บุญ”นี้เป็นอย่างไร


ตามพจนานุกรมฉบับประมวลคำศัพท์ คำว่า “บุญ”หมายถึงครื่องสกัดกั้นไม่ให้ความชั่วเกิดขึ้น บุญคือ ความดี, กุศล, ความสุข, ความประพฤติชอบทางกายวาจาและใจ, และบุญคือกุศลธรรม ซึ่งตรงกันข้ามกับคำว่า “บาป”


สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงเหตุที่จะทำให้เป็นทางมาแห่งบุญไว้ ๑๐ ประการด้วยกันเรียกว่า บุญกิริยาวัตถุ ได้แก่

๑.ทาน ๒.ศีล ๓. ภาวนา ๔.อปจายนะ (การประพฤติอ่อนน้อม) ๕.เวยยาวัจจะ (การขวนขวายช่วยเหลือผู้อื่น) ๖. ปัตติทานะ (การอุทิศส่วนบุญ) ๗.ปัตตานุโมทนา (การอนุโมทนายินดีกับความดีของผู้อื่น) ๘.ธัมมัสสวนะ (การฟังธรรม) ๙. ธัมมเทสนา (การแสดงธรรม) ๑๐. ทิฏฐุชุกรรม (การทำความเห็นให้ถูกต้องเหมาะสม)


บุญกริยาวัตถุนี้ เป็นกิจสำคัญของชีวิต เมื่อได้ประกอบให้งอกงามขึ้นทุกวันๆ อยู่เป็นเนืองนิจนั้น ชื่อว่าได้ทำให้ชีวิตของตนเป็น “สุชีวิตะ” คือเป็นชีวิตที่ดี เป็นชีวิตที่มีความสุข เมื่อเป็นดังนี้ก็เป็นผู้ที่ถือว่า ได้เจริญอยู่ด้วย"พร"สำคัญของชีวิตอยู่ทุกวันเวลา


”พร” เป็นสิ่งประเสริฐ ซึ่งในความหมายตามปรกติคือ "สิ่งน่าปรารถนาที่บุคคลหนึ่งอำนวยให้หรือแสดงความประสงค์ด้วยความปรารถนาดีให้เกิดมีขึ้นแก่อีกบุคคลหนึ่ง" ซึ่งเรามักจะอำนวยอวยพรกัน ในวาระสำคัญที่ดีงามต่างๆ เช่น วันคล้ายวันเกิด วันขึ้นปีใหม่ เป็นต้น

"พร" เป็นยอดปรารถนา และเป็นคำกล่าวที่ไพเราะดีงาม ถึงอย่างนั้นก็ตาม พรเกิดจากความประพฤติของตนเป็นหลัก ซึ่งทุกุคนสามารถทำให้เกิดขึ้นได้ด้วยตนเอง ดังมีพุทธพจน์ตรัสไว้ว่า อายุ วรรณะ สุขะ พละ ต่าง ๆ เหล่านี้เป็นสิ่งที่น่าใคร่ น่าปรารถนา น่าพอใจ แต่สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นด้วยการอ้อนวอนหรือความปรารถนาเท่านั้น ก็หาไม่ ท่านทั้งหลายที่ปรารถนาสิ่งเหล่านี้จะต้องปฏิบัติสิ่งที่เป็นเหตุปัจจัย จึงจะทำให้ได้พรอันเป็นที่น่าพอใจนั้น

พรที่น่าปรารถนาของบุคคลโดยทั่วไปมี ๗ ประการ ดังที่เราได้ยินพระสวดอนุโมทนาเมื่อเราได้ประกอบบุญกิริยาวัตถุ ว่า

“อายุวัฑฒะโก ธะนะวัฑฒะโก สิริวัฑฒะโก ยะสะวัฑฒะโก
พะละวัฑฒะโก วัณณะวัฑฒะโก สุขะวัฑฒะโก”


ซึ่งมีควาความหมายเป็นพรทั้ง ๗ ประการ ดังต่อไปนี้

พรที่ ๑ อายุวัฑฒะโก Smiley แปลว่า...ขอให้เจริญด้วยอายุ

คืออย่ามีอายุสั้นพลันตาย ให้มีอายุยืน...

ในทางพระพุทธศาสนา พระผู้มีพระภาคเจ้าเคยตรัสตอบปัญหาของสุภมาณพบุตรของโตเทยพราหมณ์ข้อหนึ่งว่าคนที่จะมีอายุยืนได้นั้นต้องไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิตสัตว์อื่น

พรที่ ๒ ธะนะวัฑฒะโก Smiley แปลว่าขอให้... เจริญด้วยทรัพย์

ทุกคนปรารถนาต้องการมีชีวิตที่ดี มีทรัพย์ใช้จ่ายให้เกิดความสุข ไม่มีใครที่จะปรารถนาอยากจะมีชีวิตที่ยากลำบาก ฝืดเคือง


พรคือหลักธรรมควรแก่การดำเนินชีวิตเพื่อให้เจริญด้วยทรัพย์ คือ ๑. ขยันหมั่นเพียร ๒. รักษาดี ๓. มีกัลยาณมิตร ๔. เลี้ยงชีวิตเหมาะสม

ขยันหานั้น คือ ขยันทำมาเลี้ยงชีพ รู้จักเก็บ รู้จักใช้รู้จักขวนขวายสร้างบุญสร้างกุศล และคบพื่อนที่ดี คือเพื่อนผู้ประพฤติอยู่ในศีลธรรม ก็จะทำให้เป็นผู้เจริญทรัพย์

พรที่ ๓ สิริวัฑฒะโก Smiley แปลว่า... เจริญด้วยสิริมงคล

คำว่า "สิริมงคล" แปลว่า สิ่งที่จะทำให้ชีวิตเราดีขึ้น งอกงามขึ้น
คนที่มีสิริวัฑฒะโก ต้องเป็นคนที่คิดดี พูดดี ทำดี คนคิดดี พูดดี ทำดีเป็นสิริมงคลแก่ตนถ้าคิดไม่ดี พูดไม่ดี ทำไม่ดี สิริมงคลก็หาได้ยาก มีแต่อัปมงคล เมื่อสิริมงคลของตนเกิดแล้วก็จะเป็นที่รักใคร่ของบุคคลอื่นผู้พบเห็น

พรที่ ๔ ยะสะวัฑฒะโก Smileyแปลว่า... ให้เจริญด้วยยศ


คำว่ายศ แปลว่า "ยิ่ง" แปลว่า "ใหญ่" ยศนั้นมีอยู่สองฝ่าย คือ ฝ่ายดี และชั่ว ยศฝ่ายดีมีสาม คือ


๑. อิสสริยยศ เป็นยศที่ได้จากการพระราชทานโดยพระมหากษัตริย์
๒. เกียรติยศ เป็นยศที่สังคมมอบให้ จากความดีที่เราได้ทำ เกิดจากประโยชน์ ที่เราได้สร้าง
๓. บริวารยศ เป็นยศที่เกิดจาก มีมิตรมีบริวารมาก การจะมีมิตรบริวารมากนั้น ต้องให้หลักธรรม ๔ ประการคือ การให้ การถนอมพูดจาปราศรัยกันด้วยดี การช่วยเหลือเกื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน และการประพฤติเสมอต้นเสมอปลายต่อกัน

มีอิสริยยศ ย่อมจะชนะอุปสรรค, มีเกียรติยศย่อมชนะภัย, มีบริวารยศ ย่อมชนะงาน

พระผู้มีพระภาคเจ้า ตรัสถึงเหตุของยศไว้ว่า การที่บุคคลจะมียศได้ ต้องมีคุณธรรมสำคัญ ๗ ประการ คือ

๑.อุฏฐานะวะโต คือเป็นผู้แข็งขันขยันในการงาน
๒. สะตีมะโต ทำงานด้วยความระมัดระวังคือเป็นผู้มีสติ
๓. สุจิกัมมัสสะ เป็นผู้มีการงานบริสุทธิ์สะอาด
๔.นิสัมมะการิโน ใคร่ครวญตรวจสอบก่อนแล้วจึงทำ
๕. ธัมมะชีวิโน ประพฤติตนตั้งมั่นอยู่ในศีลในธรรมโดยปรกติ
๖ .อัปปะมัตตัสสะ เป็นผู้ไม่ประมาท
๗.สัญญะตัสสะ จะ เป็นผู้มีปกติสำรวม

ทั้ง ๗ ประการนี้ จะทำให้ยศเจริญยิ่ง

พรที่ ๕ พะละวัฑฒะโก Smiley แปลว่า... ให้เจริญด้วยพละกำลัง ทุกคนปรารถนาให้ตนมีกำลังกาย และกำลังใจที่ดี ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ

อย่างไรก็ตามเมื่อคราวอายุมากขึ้นความไม่เที่ยงของสังขาร (อนิจจัง)ก็เกิดขึ้น เพียงแต่จะมากหรือน้อยก็เป็นไปตามกำลังบุญบารมีด้วยกันทั้งนั้น


พรที่ ๖ วัณณะวัฑฒะโก Smiley... ให้เจริญด้วยวรรณะ

คำว่า “วรรณะ” หมายเอาผิวพรรณก็ใช่ คำกล่าวสรรเสริญก็ด้วย

พรที่ ๗ สุขะวัฑฒะโก Smiley แปลว่า... ให้เจริญด้วยความสุข อุดมด้วยความสุข


ทุกคนปรารถนาก็คือความสุขกาย และสุขใจ สุขกาย…ต้องการมีความเป็นอยู่ที่ดีๆ ของอิริยาบถต่างๆทุกขณะ และ ความไม่มีโรคภัยเบียดเบียน และสุขใจ เพราะปราศจากกิเลสเบียดเบียน เป็นต้น


นี้คือความหมายของพรทั้ง ๗ ประการที่พร ซึ่งมีมูลเหตุมาจากการกระทำทางกาย วาจา ใจ ที่ประกอบด้วยกุศลของตนเป็นหลัก



การทำบุญก็เพื่อให้บุญนั้นชำระกิเลสอกุศลมลทินโทษที่มีอยู่ในใจ เมื่อกาย วาจา ใจ สะอาดบริสุทธิ์ ก็ย่อมเป็นที่มาของความเจริญและความสุข ทั้งหลาย ดังพุทธศาสนสุภาษิตที่กล่าวไว้ว่า “การสั่งสมบุญนำสุขมาให้”

 

SmileySmileySmiley

ขอให้มีความสุขด้วยพรอันน่าปรารถนาค่ะ ^ ^

 

-น้อมเศียรเกล้า-




 

Create Date : 15 ตุลาคม 2555    
Last Update : 15 ตุลาคม 2555 16:06:40 น.
Counter : 2012 Pageviews.  

+++++ การซ่อมแซมโบสถ์และโบราณสถาน +++++++

Smiley

บทความโดย : น้อมเศียรเกล้า






โบสถ์
เป็นอาคารที่พระภิกษุใช้กระทำสังฆกรรม แต่เดิมนั้นเมื่อยังมีภิกษุจำนวนน้อย การทำสังฆกรรมแต่ละครั้ง พระภิกษุจะกำหนดเขตขึ้นเป็นการชั่วคราว เมื่อหมดภารกิจแล้วก็ทิ้งร้างไป

ต่อเมื่อการบวชเรียนเป็นที่นิยมจนพระภิกษุมีจำนวนมากขึ้น ดังเช่นในสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถแห่งกรุงศรีอยุธยา (พ.ศ.๑๙๙๑-๒๐๓๑) ซึ่งทรงเป็นพระมหากษัตริย์ ผู้ทรงอุปถัมภ์พระพุทธศาสนาด้วยความศรัทธา ถึงกับเสด็จออกผนวชชั่วระยะเวลาหนึ่งจนเกิดเป็นธรรมเนียม ให้คนส่วนมากนิยมบวชเรียนตาม

โดยถือกันต่อๆ มาว่า คนที่ได้บวชเรียนเท่านั้นที่จะเป็นผู้มีความรู้เป็น “บัณฑิต” หรือ “ทิด” ตามที่เรียกติดปากมาจนปัจจุบัน และถือเป็นประเพณีว่าผู้ชายไทยควรบวชเมื่อมีอายุครบ ๒๑ ปี นับแต่นั้นมาจึงได้มีการสร้างโบสถ์เป็นอาคารถาวร(ธนาคารกรุงเทพ,2552)



โบสถ์เป็นสถาปัตยกรรมทางพระพุทธศาสนา ซึ่งเหมือนสถาปัตยกรรมอื่นๆ คือ มีการชำรุดเสื่อมโทรมลงไปตามกาลเวลาจากสภาวะอากาศ น้ำฝน น้ำท่วม น้ำจากชั้นใต้ดิน ลม แสงแดด โครงสร้างรากฐานของโบสถ์ซึ่งไม่แข็งแรงเพียงพอ การสั่นสะเทือนจากการจราจร แผ่นดินไหว ฯลฯ

ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่ต้องได้รับการซ่อมแซมปฏิสังขรณ์ ในเวลาที่เหมาะสม โดยมีการ แก้ไขปรับปรุงเพิ่มเติมส่วนที่ชํารุดให้กลับคืน สู่สภาพเดิม.

ซึ่งการการซ่อมแซมโบสถ์ในยุคแรกๆ ยังไม่ได้มีการคำนึงถึงคุณค่าของรูปแบบดั้งเดิมแต่อย่างใด แตกต่างกับปัจจุบันซึ่งพยายามรักษาไ้ว้ซึ่งคุณค่าของแบบดั้งเิดิมเอาไว้ให้ได้มากที่สุด



สาเหตุที่ต้องทำการบูรณะปฏิสังขรณ์โบสถ์มีดังต่อไปนี้


1.จำเป็นต้องซ่อมแซมเนื่องจากโบสถ์นั้นเป็นอาคารสำคัญทางประวัติศาสตร์ของชาติ
2. บูรณะปฏิสังขรณ์เพื่อให้กลับมาใช้งานได้อีกครั้ง
3. บูรณะปฏิสังขรณ์เพื่อประโยชน์ทางการศึกษา เช่นการทำวิจัย
4.เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว เนื่องจากการบูรณะปฏิสังขรณ์จะช่วยดึงนักท่องเที่ยวให้มาเยี่ยมชมมากขึ้น
5. เพื่ออนุรักษ์พื้นที่ เนื่องจากการบูรณะปฏิสังขรณ์จะช่วยลดการปฏิรูปพื้นที่ใกล้เคียง เช่นอนุรักษ์ไว้เป็นเขตโบราณสถาน การก่อสร้างอาคารอื่นใดที่ไม่เกี่ยวข้องจะทำได้ยากมากขึ้น



ข้อโต้แย้งเรื่องการซ่อมแซมโบสถ์


การซ่อมแซมโบสถ์/โบราณสถานต่างๆ ไม่ได้รับการสนับสนุนเสมอไปเนื่องจากมีความเชื่อจากนักวิชาการว่า

การอนุรักษ์โบสถ์เก่า/ซากโบราณสถานไว้เช่นนั้น ทำให้เกิดความสวยงามทางภูมิสถาปัตย์ ที่ส่งเสริมจินตนาการเป็นต้น และประเด็นเรื่องการบูรณะจะมีส่วนทำให้ทำลายคุณค่าทางประวัติศาสตร์ศิลปกรรมและความเป็นโบราณสถานและโบราณวัตถุของสิ่งของนั้น ๆ นอกจากนี้มีความเชื่อว่า การบูรณะซ่อมแซมการอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดทางประวัติศาสตร์ได้เช่นกัน

ทั้งการบูรณะซ่อมแซมโบสถ์อาจมีค่าใช้จ่ายสูง รวมถึงการบูรณะอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างหลังใดหลังหนึ่ง หรือ สองหลัง อาจจะทำให้เกิดความโดดเด่ดจนผู้คนไม่สนใจภูมิทัศน์ หรือซากสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นโดยรอบก็เป็นได้ ฯลฯ (Price N.S, 2009)

หน่วยราชการที่รับผิดชอบในการอนุรักษ์โบราณสถานและโบราณวัตถุในประเทศไทย คือ กรมศิลปากร ซึ่งได้วางระเบียบว่าด้วยการอนุรักษ์โบราณสถาน พ.ศ. ๒๕๒๘



หลักเกณฑ์โดยย่อในการซ่อมแซมโบสถ์ที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์/โบราณสถานที่ขึ้นทะเบียนกรมศิลปากรดังนี้


หากโบราณสถานนั้นมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ การบูรณะซ่อมแซมจะต้องศึกษาจากร่องรอยหลักฐานของโบราณสถานเดิม หรือ โบราณสถานในยุคเดียวกันมีรูปแบบศิลปะและลักษณะสถาปัตยกรรมใกล้เคียงกัน หากมีหลักฐานชัดเจนว่าโบราณสถานนั้นมีรูปร่างลักษณะอย่างไร การบูรณะซ่อมแซมก็สามารถต่อเติมให้กลับคืนเป็นโบราณสถานที่สมบูรณ์ได้โดยชิ้นส่วนที่ต่อเติมใหม่นั้น ต้องทำให้มีลักษณะที่แตกต่างจากชิ้นส่วนเดิมของโบราณสถานอย่างชัดเจน
ในกรณีที่ไม่มีหลักฐานยืนยันแน่ชัด การบูรณะซ่อมแซมก็จะพยายามรักษาสภาพเดิมให้มากที่สุด

ช่างท้องถิ่นสามารถซ่อมแซมโบราณสถานได้เฉพาะการซ่อมแซมเบื้องต้นได้แก่การค้ำยันเพื่อเสริมความมั่นคง หรือการซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอเพียงเล็กน้อยโดยไม่กระทบต่อคุณค่าลักษณะเด่นของโบราณสถานนั้น


ในกรณีที่โบสถ์หรือศาสนาสถานไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งชาตินั้นมักมีการบูรณะซ่อมแซมกันเองโดยช่างท้องถิ่นหรือแม้แต่พระภิกษุภายในวัด



โบสถ์เป็นศาสนสถาน ซึ่งนอกจากต้องให้ความเคารพแล้ว พุทธศาสนิกชนทุกคนถือว่าเป็นเจ้าของร่วมกันจึงต้องช่วยกันดูแลรักษาทำนุบำรุงให้คงอยู่สืบไปรวมทั้งปฏิบัติตนให้เหมาะสมกับสถานที่อันควรแก่การเคารพสักการะ หรือปฏิบัติตามขนบธรรมเนียมที่ดีงาม



อ้างอิง

Stanley-Price, N. (2009). The Reconstruction of Ruins: Principles and Practice. Retrieved July 11, 2012.from //www.archaeological.org/pdfs/sitepreservation/N_S-P_Article_Dec_2009.pdf


ธนาคารกรุงเทพ(2552).วัดในประเทศไทย. วันที่ค้นข้อมูล 11 กรกฎาคม 2555,จากลักษณะไทย เว็บไซด์ : //www.laksanathai.com/book2/p378.aspx

สำนักสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร.โบราณสถาน.วันที่ค้นข้อมูล 11 กรกฎาคม 2555 จาก (//www.gis.finearts.go.th/MIS/File/File_Knowledge/0002-0003/aw%20book%20P198-233.pdf





 

Create Date : 12 กรกฎาคม 2555    
Last Update : 12 กรกฎาคม 2555 21:37:46 น.
Counter : 2715 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  

น้อมเศียรเกล้า
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 7 คน [?]




Friends' blogs
[Add น้อมเศียรเกล้า's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.