Group Blog
 
All Blogs
 
น้อมเล่าเรื่อง "เปรตจัดหัวนอนกับผู้เพ่งโทษ" - น้อมเศียรเกล้า

มีเรื่องเล่าอยู่เรื่องหนึ่ง ชื่อเรื่องว่า “ เปรต จัดหัวนอน” เป็นเรื่องขัน ที่ฟังสืบต่อกันมาดังนี้

มีคณะเดินทางอยู่คณะหนึ่ง พากันมาอาศัยพักผ่อนหลับนอนอยู่ที่วัดแห่งหนึ่ง ที่วัดแห่งนี้มีเ ป ร ต อยู่ตนหนึ่ง เป็น เ ป ร ต ที่ยึดติดกับความเป็นระเบียบ และเป็นเ ป ร ต ผู้รักความสะอาด พอตกกลางคืน คณะเดินทางทั้งหลายเหน็ดเหนื่อยจากการทำงานก็มานอนบนเสื่อเรียงรายกันเป็นแถวอยู่ภายในวัด พอตกดึกเข้า ก็หลับสนิทกันทุกคน เ ป ร ต จึงลงมาจากขื่อ มองเห็นคณะที่มาพัก นอนเรียงกันไม่เป็นระเบียบเลยไม่ชอบใจ บ่นไปพลาง ว่ามนุษย์พวกนี้ มันไม่รู้จักความเป็นระเบียบ

ว่าแล้ว เ ป ร ต จึงดึงขาของคนที่นอนหลับลงมาให้เสมอกัน

แต่ปรากฏว่า เมื่อทำเสร็จแล้ว เ ป ร ต ก็ยิ่งไม่ชอบใจเข้าไปใหญ่ เพราะพบว่าหัวของคนมันเรียงไม่เป็นระเบียบไม่เสมอกันอีก เ ป ร ต ก็เลยต้องเหนื่อยไปจัดเรียงให้คนแต่ละคนนอนเรียงหัวเสมอกันอีก เป็นเช่นนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่าจวบจนรุ่งเช้าก็ยังทำให้คนนอนเป็นระเบียบ หัวเสมอกัน ขาเสมอกันไม่ได้สักที

...ในที่สุด กว่า เ ป ร ต จะก็สำนึกถึงความจริงว่า จะไปกะเกณฑ์ให้ผุ้ใดยอดเยี่ยมเข้ามาตรฐานของตนนั้น มันเป็นไปไม่ได้ เพราะแต่ละคนต่างก็มีส่วนสูงของตนเอง ไม่ใช่สิ่งที่เคาะออกจากพิมพ์เดียวกันดังนี้ ก็ทำเอา เ ป ร ต เหนื่อยแทบแย่…



แม้ไม่ใช่ เ ป ร ตตนนี้ เราทั้งหลายก็ทราบดีว่า การพยายามจะให้ผู้อื่นดีเทียบเท่ากับมาตรฐานที่ตนตั้งไว้ มันเป็นเรื่องยากเย็นแค่ไหน หรือการที่ต้องเห็นผู้อื่นกระทำ พูด คิด ขัดกับสิ่งที่เป็นมาตรฐานของตนมันเป็นเรื่องที่น่าเหนื่อยใจปานใด…

“แฟนของฉันป่านนี้ยังไม่กลับบ้าน โทรไปเช็คดีกว่า ว่าอยู่กับนั ง หนูหรือเปล่า”, “ลูกน้องคนนี้ทำตัวเด่นน่าหมั่นไส้ วันนี้ฉันจะจับตาดูมัน ว่าไปประจบเจ้านายอย่างไรบ้าง”, “นั ง คนนี้ “มันเคยเอาเรื่องเราไปนินทาแล้วครั้งหนึ่ง กลางวันนี้จะคอยจับตามันว่ามันจะพูดอะไรถึงเราอีกบ้าง” “พูดผิดทฤษฏีวิชาเคมีเมื่อไรล่ะ น้องเอ๋ย พี่จะแหกหน้ากลางวงแน่ๆ” “ วันนี้มันจะก่อเรื่องอะไรอีกล่ะ คอยดูฉันจะต้องจับผิดมันให้ได้” ฯลฯ

เรื่องราวแบบนี้ เราต่างเจอมาแล้วไม่มากก็น้อย แล้วเสร็จแล้วเราก็มานั่งทุกข์ใจ หงุดหงิดใจ จริงๆแล้วไม่ใช่ใครอื่นใดที่ทำเรา แต่เป็นเพราะใจเราเองที่ทำตัวเองมุ่งแต่ไปจับผิดผู้อื่น




การจับผิดผู้อื่น เรียกอีกอย่างว่า “การเพ่งโทษ”

“เพ่ง” ตามพจนานุกรม (เปลื้อง ณ นคร) ให้ความหมายไว้ว่า
จ้องดู, มองดู, ตั้งใจจ้องดู; เจาะจง, หมายเอา.

ดังนั้นเพ่งโทษจึงมีความหมายว่า ตั้งใจมองดูโทษ, หมายเอาโทษ ก็คือตั้งใจดูเพื่อจะจับผิดนั่นเอง !



สมเด็จพระผู้มีพระภาคตรัสถึงการเพ่งโทษไว้ในพลสูตรที่ ๑ ซึ่งกล่าวถึง "กำลัง ๘ ประการ” ดังนี้

“…ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ทารกทั้งหลายมีการร้องไห้เป็นกำลัง ๑
มาตุคามทั้งหลายมีความโกรธเป็นกำลัง ๑
โจรทั้งหลายมีอาวุธเป็นกำลัง ๑
พระราชาทั้งหลายมีอิสริยะยศเป็นกำลัง ๑

คนพาลทั้งหลายมีการเพ่งโทษผู้อื่นเป็นกำลัง ๑
บัณฑิตทั้งหลายการเพ่งโทษตนเป็นกำลัง ๑


พหุสุตบุคคลทั้งหลายมีการพิจารณาเป็นกำลัง ๑
สมณพราหมณ์ทั้งหลายมีขันติเป็นกำลัง ๑

(พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๕ อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต)



ดังนั้น อนุมานได้ว่า “การเพ่งโทษ” จึงเป็นสามารถเป็นได้ทั้งธรรมของฝ่ายบัณฑิต และฝ่ายธรรมอันมิใช่ของบัณฑิต ถ้าเป็นการเพ่งโทษของตนเองก็จัดว่าเป็นฝ่ายบัณฑิต แต่หากเป็นการเพ่งโทษผู้อื่น ก็กลายเป็นธรรมของคนพาล



“บัณฑิตไม่มีความเพ่งโทษผู้อื่น บัณฑิตจะเพ่งโทษตนเอง”

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช ทรงตรัสว่า การเพ่งโทษตนเองนั้นเป็นการฝึกตนเองที่เกิดผลจริง ส่วนการเพ่งโทษผู้อื่นเป็นวิสัยของผู้ไม่ใช่บัณฑิต เพราะผู้ที่เพ่งแต่โทษผู้อื่น ไม่เพ่งโทษตนเอง ย่อมไม่เห็นโทษของตนเอง ๑ ย่อมไม่เห็นความบกพร่องที่จะต้องแก้ไขให้ดีขึ้น ๑ ย่อมไม่รู้ว่ามีโทษเพียงไรในแง่ใด ๑



"ผู้ไม่แก้ไขตนเอง แต่จะมุ่งไปแก้ผู้อื่น จึงไม่เป็นประโยชน์แก่ตนอย่างใด แถม ผู้อื่นนั้นไม่ใช่ว่าจะยอมให้แก้ เพราะ…ถ้าเป็นผู้อื่นที่เป็นบัณฑิต เขาย่อมแก้ตนเองอยู่แล้ว ส่วนผู้ที่ไม่เป็นบัณฑิตก็ย่อมไม่สนใจที่จะแก้ตนเองฝึกตน ดังนั้นจะให้ ผู้อื่นจะไปแก้จึงเป็นไปได้ยาก".

นอกจาก ผู้อื่นจะไม่ยอมให้ใครแก้ไขอะไรของตนแล้ว เรื่องบางเรื่องยังเป็นไปไม่ได้ที่จะไปเที่ยวแก้ไขให้ใครต่อใคร เช่น การที่ เ ป ร ต เจ้าระเบียบ มีความพยายามจะไปแก้ไขให้หัวคน เท้าคนมีเรียงอยู่ในระนาบเท่าๆกัน



ผู้ไม่ฝึกตน เพ่งโทษผู้อื่น เป็นผู้ขาดปัญญา กิเลสของเขาจักเพื่องฟู

“คนดีหรือผู้มีปัญญาก็เป็นคนเดียวกันนั่นเอง คนมีปัญญาจะเป็นคนไม่ดีไปไม่ได้ ถ้าเป็นคนไม่ดีก็เพราะไม่มีปัญญา”

ผู้มีปัญญาจะไม่ประมาทตนว่ามีความดี เพียงพอแล้ว เขาจึงหมั่นฝึกตน ส่วนผู้ที่ขาดปํญญาก็เพราะไม่ฝึกตน มัวแต่ไปเพ่งโทษ ผู้อื่น จับผิดผู้อื่น ไม่สนใจความผิดตน ซ้ำร้าย คิดว่าความผิดของตนนั้นเล็กน้อย ส่วนความผิดของผู้อื่นเป็นเรื่องที่ใหญ่หลวงมาก ดังโคลงโลกนิติ บทหนึ่งที่ว่า

“โทษท่านผู้อื่นเพี้ยง เมล็ดงา
ปองติฉินนินทา ห่อนเว้น
โทษตนเท่าภูผา ใหญ่ยิ่ง
ป้องปิดคิดซ่อนเร้น เรื่องร้าย หายสูญ“



สมเด็จพระผู้มีพระภาค ตรัสว่า ผู้ที่เพ่งโทษผู้อื่นห่างไกลจากความสิ้นอาสวะดังนี้

"คนที่เห็นแต่โทษผู้อื่น คอยแต่เพ่งโทษนั้น
อาสวะก็เพิ่มพูน เขายังไกลจากความสิ้นอาสวะ"

ขุ. ธ. ๒๕/๔๙



ทรงตรัสอุปมาอุปไมยโทษของการ เป็นผู้เพ่งโทษไว้ อย่างน่าฟังยิ่งนักดังนี้

ในยุคสมัยของพระพุทธเจ้าปทุมุตตระ พระยสทัตตเถระได้เกิด อยู่ในตระกูล พราหมณ์ ออกบวช เป็นฤาษี อยู่ในป่าบำเพ็ญเพียร

วันหนึ่ง ด้วยอำนาจแห่งบุญเก่า ฤาษีนี้ก็ได้พบกับพระพุทธเจ้าปทุมุตตระ ผู้ซึ่งสูงสุด กว่าสัตว์โลกทั้งปวง ได้บังเกิดจิตเลื่อมใสอย่างแรงกล้า ถึงกับวางสิ่งของในมือ ทำผ้าเฉวียงบ่าแสดงความ-เคารพ แล้วน้อมประคองอัญชลี กล่าวสรรเสริญ ชมเชยพระพุทธเจ้า… ด้วยอำนาจแห่งการ เคารพในพระพุทธเจ้าพระองค์นั้น จึงได้ท่องเที่ยวไป ในเทวโลก (โลกของผู้มีจิตใจสูง) และมนุษยโลก (โลกของผู้มีจิตใจประเสริฐ) อยู่นาน



ต่อมา ไปเกิดในยุคสมัยพระพุทธเจ้าสมณโคดม เกิดอยู่ในตระกูลมัลลกษัตริย์ ชอบสัญจรเที่ยวไปเป็นเพื่อนกับปริชาพกผู้หนึ่งชื่อ “สภิยะ”

วันหนึ่ง ได้มีโอกาสพบกับพระผู้มีพระภาคเจ้าในเมืองสาวัตถี พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงแก้ปัญหา ที่สภิยปริพาชกถาม ขณะนั้นเอง ยสทัตตะก็นั่งฟังไป เพ่งโทษไป อดคิดในใจไม่ได้ว่า

"เราจะแสดงโทษในวาทะของพระสมณโคดม"

พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรู้สภาวะจิตของเขา ครั้นได้ประทานโอวาท แก้ปัญหาให้ สภิยปริพาชก สิ้นสงสัยแล้ว จึงได้หันไปตรัสกับ ยสทัตตะว่า

***"คนมีปัญญาทราม มีจิตคิดเพ่งโทษ ฟังคำสอนของเราตถาคต ย่อมเป็นผู้ห่างไกล จากสัทธรรม (ธรรมะที่ดีแท้ของผู้มีสัมมาทิฐิ) เสมือนฟ้ากับดิน ฉะนั้น

***คนมีปัญญาทราม มีจิตคิดเพ่งโทษ ฟังคำสอนของเราตถาคต ย่อมเสื่อมจากสัทธรรม เสมือนพระจันทร์ข้างแรม ฉะนั้น

***คนมีปัญญาทราม มีจิตคิดเพ่งโทษ ฟังคำสอนของเราตถาคต ย่อมเหี่ยวแห้งในสัทธรรม เสมือนปลาในน้ำน้อย ฉะนั้น

***คนมีปัญญาทราม มีจิตคิดเพ่งโทษ ฟังคำสอนของเราตถาคต ย่อมไม่งอกงาม ในสัทธรรม เสมือนพืชเน่าในไร่นา ฉะนั้น

***ส่วนผู้ใดมีจิตอันคุ้มครองดีแล้ว ฟังคำสอนของเราตถาคต ย่อมทำอาสวะทั้งปวง ให้สิ้นไปได้ โดยรู้แจ้งธรรมอันทำให้กิเลสไม่กลับกำเริบได้อีก สามารถบรรลุความสงบ อันยอดเยี่ยม เป็นผู้ทำกิเลสสิ้นเกลี้ยงแล้วปรินิพพาน

จบโอวาทของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ยสทัตตะได้สติรู้ตัว บังเกิดความสังเวช ในความคิดของตน และเลื่อมใสในพระผู้มีพระภาคเจ้ายิ่งขึ้น จึงขอบวชเป็นภิกษุ อยู่ในพระพุทธศาสนา แล้วกระทำความเพียรยิ่ง เจริญวิปัสสนา ไม่นานนักก็ได้บรรลุเป็น พระอรหันต์องค์หนึ่ง



หลวงปู่มั่นวิสัชนาเรื่องการเพ่งโทษ
พระธรรมเจดีย์ :
อาสวะ 3 ไม่เห็นมีกิเลสประเภทโกรธ แต่ทำไมการเพ่งโทษนั้นเป็นกิเลสเกลียดชังขาดเมตตา กรุณา เพราะอะไรจึงได้มาทำให้อาสวะเกิดขึ้น?

พระอาจารย์มั่น :
เพราะความเข้าไปชอบไปเป็นอยู่ในสิ่งใดที่ถูกใจของตน ครั้นเขามาทำที่ไม่ชอบไม่ถูกใจจึงได้เข้าไปเพ่งโทษ เพราะสาเหตุที่เข้าไปชอบไปถูกใจเป็นอยู่ในสิ่งใดไว้ซึ่งเป็นสายชนวนเดียวกัน อาสวะทั้งหลายจึงได้เจริญแก่บุคคลนั้น

(ปฏิปัตติปุจฉาวิสัชนา (๑๘))



หลวงปู่ชาท่านตำหนิผู้เพ่งโทษว่า “เป็นผู้พกเอาของเน่าของเสีย”

มีเรื่องเล่าว่า …
พระขี้บ่นรูปหนึ่ง ชอบติเตียนเพื่อนสหธรรมิกบ้าง ครูบาอาจารย์บ้าง สถานที่บ้าง ว่าไม่สัปปายะ ไม่เอื้อเฟื้อต่อการปฏิบัติ คอยแต่จะนึกตำหนินั่น ตำหนินี่ จิตใจหมักหมมไว้แต่เรื่องอกุศลมูลจนกลิ่นตลบ คราวนี้หลวงพ่อชา ท่านกระทุ้งเอาอย่างแรงแต่เป็นเชิงตลกว่า

“คุณนี่แปลก.. ชอบเอาขี้พกใส่ย่าม แล้วพกติดตัวไปไหนต่อไหนด้วย แล้วมาบ่นว่าเหม็นขี้ ที่โน่นเหม็นขี้ ที่นี่เหม็นขี้ ที่ไหนๆก็เหม็นขี้ ดีแต่บ่น ทำไมไม่ลองสำรวจย่ามของตัวเองดูบ้าง “

ผู้ฝึกตน ย่อมเป็นผู้มีความสงบยิ่ง เพราะผู้ฝึกตนจะหมั่นพัฒนาตน ไม่เอาตนเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่น ว่าสูงกว่าคนอื่น หรือ ต่ำกว่าคนอื่น ทั้งยังไม่เพ่งโทษผู้อื่น ไม่ยินดียินร้ายไปกับความดี หรือ ความชั่วของผู้อื่น ผู้ที่เพ่งโทษผู้อื่นย่อมเกิดความสำคัญตน สำคัญตนว่าด้อยกว่าเขา ก็จิตใจห่อเหี่ยว สำคัญตนกว่าดีกว่าเขา ก็กลายเป็นเห่อเหิม ดังนั้นจึงควรมุ่งที่จะฝึกตน ละการเพ่งโทษผู้อื่น ตามพุทธศาสนสุภาษิตว่า

“ผู้ปฏิบัติดี ย่อมฝึกตน”




กระทู้เรื่อง “ เ ป ร ต จัดหัวนอน กับผู้เพ่งโทษนี้” ขอกราบน้อมถวายเป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชา เพื่อกราบขอขมาสุดเศียรเกล้าต่อคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ต่อผุ้มีพระคุณ มีจิตเจตนางามเพื่อค้ำคูณ เผยแผ่คำสอนของพระศาสนา เพื่อขออนุญาตขอโอกาสกราบน้อมรับมหามรดกธรรมและอภิมงคลัยให้แด่ตน ครอบครัว และมวลโลก

ด้วยอานุภาพแห่งบุญนี้ ขอให้ผู้เขียน และผู้อ่านทุกท่าน ได้มีความเพียร ฝึกฝนตน เกิดมหาอานุภาพล้น เป็นมหามงคลแด่ตนและครอบครัว รวมทั้งมวลโลก ทุกประการเทอญ.



เนื้อเรื่องโดย : น้อมเศียรเกล้า
ขอขอบพระคุณภาพประกอบ ชุด "รักตัว ฝึกใจ" จากอินเตอร์เน็ต



Create Date : 25 ตุลาคม 2553
Last Update : 20 สิงหาคม 2554 14:43:22 น. 5 comments
Counter : 3264 Pageviews.

 
เข้ามาอ่านครับ.


โดย: เจียวต้าย วันที่: 27 ตุลาคม 2553 เวลา:4:39:20 น.  

 
อนุโมทนาค่ะ เป็นประโยชน์มากๆเลย


โดย: เม่นน้อย IP: 203.144.220.241 วันที่: 18 พฤศจิกายน 2553 เวลา:17:44:34 น.  

 
อนุโมทนาครับ

อ่านแล้วได้ประโยชน์มาก

จะนำไปแก้ไขตัวเองต่อไป



โดย: ปิ๊ง IP: 58.9.176.65 วันที่: 2 ธันวาคม 2553 เวลา:0:47:03 น.  

 
ภาพสวย
งามธรรม

สาธุ


โดย: 5942 IP: 183.88.8.132 วันที่: 19 พฤศจิกายน 2555 เวลา:18:44:22 น.  

 
ผมป่วยเป็นโรคชนิดหนึ่ง มักมีอาการลบหลู่สิ่งศักดิ์สิทธิ์,เพิ่งโทษผู้อื่น มีความคิดสกปรก


โดย: สวัสดี IP: 207.148.105.90 วันที่: 14 พฤษภาคม 2562 เวลา:0:05:59 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

น้อมเศียรเกล้า
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 7 คน [?]




Friends' blogs
[Add น้อมเศียรเกล้า's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.