Group Blog
 
All Blogs
 
"เพื่อน" กับ คนที่"ไม่ใช่เพื่อน"- น้อมเศียรเกล้า

เราทุกคนล้วนแต่มีปฏิสัมพันธ์กับผู้คนมากมาย ไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่ง ทั้งตัวเราและผู้คนเหล่านี้ต่างก็ค่อยๆเรียนรู้ซึ่งกันและกัน จนกระทั่งวันหนึ่งเราก็พบว่าเราได้เอา ความคิด ค่านิยม ทัศนะอย่างใดอย่างหนึ่งของเขามาเป็นของเราโดยไม่รู้ตัว และเขาเองก็ได้เรียนรู้และซึมซับเอาความคิด และค่านิยมของเราไปด้วย เหตุการณ์เช่นนี้เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ในการอยู่ร่วมกันในสังคม

คนเราอยู่รวมกันเป็นสังคม และไม่มีใครสามารถที่จะอยู่ได้อย่างโดดเดี่ยว การที่เรามารวมกันเช่นนี้ ทำให้เรามีแบ่งแยกและจัดลำดับของความสัมพันธ์กับบุคคลต่างๆ เช่น กลุ่มครอบครัว ญาติ คนรัก เพื่อนหรืออาจจะเป็นศัตรู!

ในชีวิตเราอาจจะมีคนที่เราเรียกว่า เป็น "เพื่อน" อยู่มากมาย คนนั้นก็เพื่อน คนนี้ก็เพื่อน คนรู้จักกันนิดๆหน่อยก็เรียกเพื่อน แต่จริงๆแล้วใครกันที่เรียกได้ว่าเป็น ”เพื่อน” ???




ลักษณะของคนที่ไม่ใช่เพื่อน ๑๖ ประการในมิตตามิตชาดก

ผู้ไม่ใช่เพื่อน เมื่อเห็นเพื่อนแล้วก็จะไม่ยิ้มแย้ม
ผู้ไม่ใช่เพื่อน จะไม่ร่าเริงต้อนรับเพื่อน
ผู้ไม่ใช่เพื่อน จะไม่แลดูเพื่อน
ผู้ไม่ใช่เพื่อน จะกล่าวคำย้อนเพื่อน
ผู้ไม่ใช่เพื่อน คบหาศัตรูของเพื่อน
ผู้ไม่ใช่เพื่อน ไม่คบหามิตรของเพื่อน
ผู้ไม่ใช่เพื่อน ห้ามผู้ที่กล่าวสรรเสริญเพื่อน
ผู้ไม่ใช่เพื่อน สรรเสริญผู้ที่ด่าเพื่อน
ผู้ที่ไม่ใช่เพื่อน ไม่บอกความลับแก่เพื่อน
ผู้ไม่ใช่เพื่อน ไม่ช่วยปกปิดความลับของเพื่อน
ผู้ไม่ใช่เพื่อน ไม่สรรเสริญการงานของเพื่อน
ผู้ไม่ใช่เพื่อน ไม่สรรเสริญปัญญาของเพื่อน
ผู้ไมใช่เพื่อน จะยินดีในความหายนะของเพื่อน
ผู้ไม่ใช่เพื่อน จะไม่ยินดีในความเจริญของเพื่อน
ผู้ไม่ใช่เพื่อน ได้อาหารที่ดีมีรสอร่อยมาแล้วก็มินึกถึงเพื่อน
ผู้ไม่ใช่เพื่อน ไม่ยินดีอนุเคราะห์เพื่อนว่าทำอย่างไรถึงเพื่อนของเราจะได้ลาภอย่างนี้บ้าง



ส่วนผู้เป็นเพื่อนนั้นย่อมระลึกถึงเพื่อนผู้อยู่ห่างไกล ยินดีต้อนรับ เพื่อนผู้มาหา รักใคร่จริง ทักทายปราศรัยด้วยวาจาไพเราะ คบหามิตรของเพื่อน ไม่คบหาผู้ที่มิใช่มิตรของเพื่อน ห้ามปรามผู้ที่ด่าติเตียนเพื่อน สรรเสริญผู้ที่พรรณนาคุณความดีของเพื่อน ผู้เป็นมิตรย่อมบอกความลับแก่เพื่อนได้ ปกปิดความลับของเพื่อน สรรเสริญการงานของเพื่อน และสรรเสริญปัญญาของเพื่อน ผู้เป็นมิตรยินดีในความเจริญของเพื่อน ไม่ยินดีความเสื่อมของเพื่อน หากได้อาหารอร่อยย่อมระลึกถึงเพื่อน ยินดีอนุเคราะห์เพื่อน คิดว่าทำอย่างไรเพื่อนของเราจะได้ลาภอย่างนี้บ้าง

พอลองนึกถึงคนรอบๆตัวเรา แล้วเอามาเปรียบเทียบกับเกณฑ์นี้ก็จะพบว่าคนที่เข้าข่ายในลักษณะต่างๆ ก็รู้ว่าคนไหนใช่เพื่อน และไม่ใช่เพื่อน

ในพระไตรปิฎกกล่าวถึงการพิจารณา “คนที่นับว่าเป็นเพื่อน”ไว้ในชาดกต่างๆ ยกตัวอย่างดังนี้

ปากบอกว่าเป็นเพื่อน แต่ไม่ช่วยเพื่อน อย่างนี้ไม่ใช่เพื่อน

“ผู้ใดไม่มีความอายทำลายเมตตา พูดแต่ว่าเราเป็นเพื่อนท่านๆ แต่มิได้เอื้อเฟื้อช่วยทำการงาน บัณฑิตรู้จักผู้นั้นดีว่ามิใช่มิตรสหาย เพราะว่าบุคคลทำอย่างไรก็ควรกล่าวอย่างนั้น ไม่ทำอย่างไร ก็ไม่ควรกล่าวอย่างนั้น ผู้ใดมุ่งความแตกร้าวคอยแต่จับผิด ผู้นั้นไม่ชื่อว่าเป็นเพื่อน ส่วนเพื่อนที่ผู้อื่นยุยงให้แตกกันไม่ได้ ไม่มีความรังเกียจในเพื่อน นอนอยู่อย่างปลอดภัยเหมือนบุตรนอนแอบอกมารดา ผู้นั้นนับว่าเป็นมิตรแท้ “ (หิริชาดก.)



ความพินาศจักบังเกิดหากคบหากับคนพาล

“ผู้ใดคุ้นเคยกะเจ้าแล้วอดทนความคุ้นเคยของเจ้าได้ ผู้ใดเชื่อถือคำพูดเจ้ายกโทษให้เจ้าได้ เจ้าไปจากที่นี้แล้วคบหาผู้นั้นเถิด ผู้ใดไม่มีกรรมชั่วด้วยกาย วาจา ใจ เจ้าไปจากที่นี้จงคบหาผู้นั้น ทำตนให้เหมือนบุตรของผู้นั้นเถิด

คนที่มีจิตเหมือนน้ำย้อมขมิ้น กลับกลอก รักง่ายหน่ายเร็ว เจ้าอย่าไปคบคนเช่นนั้นแม้พื้นชมพูทวีปทั้งสิ้นจะไม่มีมนุษย์อื่นเหลืออยู่ก็ตาม จงหลีกคนนั้นให้ห่างไกล เหมือนอยู่ห่างอสรพิษดุร้าย หรือเหมือนหลีกทางที่เปื้อนอุจจาระ ความพินาศมีแก่ผู้คบคนพาล การอยู่ร่วมคนพาลเป็นทุกข์ทุกเมื่อดุจอยู่ร่วมกับศัตรู”

เพื่อนไม่ดี ก็จากไปเสีย ไม่จำเป็นต้องคบหา

“บัณฑิตมีความโกรธเป็นเจ้าเรือนไม่ดี พึงอ่อนน้อมต่อผู้อ่อนน้อม พึงคบผู้ที่เขาพอใจจะคบด้วย และทำกิจแก่ผู้ช่วยทำกิจ ไม่ควรทำความเจริญแก่ผู้หวังความเสื่อมให้ตน ไม่ควรคบผู้ที่ไม่พอใจจะคบหาด้วย ไม่พึงสิเน่หาในผู้เลิกลา ไม่พึงสมาคมกับผู้มีจิตคิดออกห่าง นกรู้ว่าต้นไม้ผลหมดแล้วย่อม บินสู่ต้นอื่น คนก็รู้ว่าเขาหมดอาลัยแล้วควรเลือกหาคนอื่นที่เขาสมัครรักใคร่เพราะโลกกว้างใหญ่พอ (โคธชาดก)



คบคนเช่นไรก็เป็นคนเช่นนั้น พึงคบหาบัณฑิต ไม่คบหาคนลามก (คนพาล)

“ผู้คบคนเช่นใดเขาย่อมตกอยู่ใต้อำนาจของบุคคลนั้น บุคคลคบคนเช่นไรย่อมเป็นเช่นคนนั้น อาจารย์คบอันเตวาสิกย่อมทำอันเตวาสิกที่ยังไม่แปดเปื้อนให้แปดเปื้อนเหมือนลูกศรเปื้อนยาพิษ ทำแล่งลูกศรให้เปื้อนด้วย

ฉะนั้น นักปราชญ์ไม่พึงมีเพื่อนลามกเพราะจะแปดเปื้อนบาป นรชนใดห่อปลาเน่าด้วยใบหญ้าคา ใบหญ้าคานั้นก็มีกลิ่นเน่าฟุ้งไป ฉันใด การเข้าไปคบหาคนพาลก็เช่นนั้น นรชนใดห่อกฤษณาด้วยใบไม้ ใบไม้นั้นหอมฟุ้ง การคบหานักปราชญ์ย่อมเป็นเช่นกัน บัณฑิตรู้ความเปลี่ยนแปลงของตนดั่งการห่อใบไม้แล้วไม่ควรเข้าไปคบหาพวกอสัตบุรุษ ควรคบหาแต่เหล่าสัตบุรุษ ด้วยว่าอสัตบุรุษฉุดไปนรก สัตบุรุษพาให้ถึงสุคติ (สัตติคุมพชาดก)

การคบเพื่อน มี ๓ แบบ คบคนที่ดีกว่า คบกันที่เสมอกัน และคบคนทีเลวกว่า
“คนสูงส่งแต่คบคนต่ำทรามจะเป็นคนเลวกว่าคนนั้นทีเดียว ผู้คบหาคนเลวทรามเป็นปกติจะเสื่อมเสีย แต่ผู้คบหาคนเสมอกันเป็นปกติจะไม่เสื่อมเสียในกาลไหนๆ ส่วนผู้คบหาคนที่ประเสริฐสุดจะเข้าถึงเขาโดยเร็ว เพราะฉะนั้นควรคบแต่คนที่สูงกว่าตน

หมายเหตุ : มีความเห็นว่า หากจะคบกับผู้ที่ด้อยกว่าตน ก็ควรเป็นไปเพื่ออนุเคราะห์ คนเราไม่จำเป็นต้องแบ่งพักแบ่งพวกกันก็จริงอยู่ แต่หากจำเป็นจะต้องคบหามิตรที่คุณธรรมด้อยกว่าตน ก็ไม่ควรที่จะประพฤติตนตามแบบนั้น



บุคคลไม่ควรประทุษร้ายต่อมิตร

ในปัณฑรกชาดก กล่าวว่า บุคคลไม่ควรประทุษร้ายมิตร เพราะผู้ประทุษร้ายมิตรเป็นคนเลวทรามที่สุด จะหาคนอื่นที่เลวกว่าเป็นไม่มี เช่นเดียวกับผู้ที่ไปอาศัยความช่วยเหลือจากคนอื่น พอได้ประโยชน์ก็ทำลายเขา คนอย่างนี้ไม่ควรคบ โดยเฉพาะผู้ที่ไปร่ำเรียนกับท่านสุดท้ายก็เนรคุณท่านประพฤติตนดังศิษย์เนรคุณเป็นต้น

“บุคคลนั่งหรือนอนที่ร่มเงาของต้นไม้ใดไม่ควรหักรานกิ่งของไม้นั้น เพราะผู้ประทุษร้ายมิตรเป็นผู้ชั่วช้า ผู้ขจัดความสงสัยได้ชื่อว่าเป็นเกาะ เป็นที่พึ่งพาของบุรุษนั้น คนมีปัญญาไม่พึงละ มิตรภาพกับอาจารย์เช่นนั้น.” (ภูริปัญหาชาดก)

คบคนเช่นไรถูกมองว่าเป็นคนเช่นนั้น ท้ายสุดก็เป็นไปเหมือนบุคคลเช่นนั้นจริงๆ

ผู้ที่มีอุปนิสัย มีรสนิยม มีความชอบ มีพื้นฐานทางสังคม แนวคิด ศาสนาที่คล้ายกันแม้นอย่างใดอย่างหนึ่งคล้ายกันก็จะคบหากัน

...ดูช้างให้ดูที่หาง ดูนางให้ดูที่แม่ ส่วนใครมีอุปนิสัยเป็นเช่นไร ก็พึงดูเอาได้จากบุคคลที่เขาคบหาอยู่ แม้นตอนแรกบางคนอาจมิได้มีนิสัยเหมือนกับคนที่เราคบ แต่พอนานเข้าก็ย่อมรับอุปนิสัยอย่างใดอย่างหนึ่งของเขามาเป็นของเราอย่างแน่นอน ถ้ารับของดีมาก็ดีไป แต่ถ้ารับสิ่งไม่ดีมา ถึงกับพินาศได้ทีเดียว



สมเด็จพระผู้มีพระภาคตรัสว่า คนเราคบกันโดยธาตุ มีเรื่องเป็นมาดังนี้

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่ภูเขาคิชฌกูฏ เขตพระนครราชคฤห์ สมัยนั้นแล ท่านพระสารีบุตร พระมหาโมคคัลลานะ พระมหากัสสป พระอนุรุทธ พระปุณณมันตานีพระอุบาลี พระอานนท์ แม้พระเทวทัตต์ ก็จงกรมอยู่ด้วยกันกับภิกษุหลายรูป ในที่ไม่ไกลพระผู้มีพระภาค

ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอเห็นสารีบุตรกำลังจงกรมอยู่ด้วยกันกับภิกษุหลายรูปหรือไม่ ฯภิกษุทั้งหลายกราบทูลว่า เห็น พระเจ้าข้า ฯ

พ. ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุทั้งหมดนี้ ล้วนมีปัญญามาก พวกเธอเห็นมหาโมคคัลลานะกำลังจงกรมอยู่ด้วยกันกับภิกษุหลายรูปหรือไม่ ฯ
ภิ. เห็น พระเจ้าข้า ฯ
พ. ภิกษุทั้งหมดนี้ ล้วนมีฤทธิ์มาก
พ. พวกเธอเห็นมหากัสสปกำลังจงกรมอยู่ด้วยกันกับภิกษุหลายรูปหรือไม่ ฯ
ภิ. เห็น พระเจ้าข้า ฯ
พ. ภิกษุทั้งหมดนี้ ล้วนเป็นธุตวาท
พ. พวกเธอเห็นอนุรุทธ กำลังจงกรมอยู่ด้วยกันกับภิกษุหลายรูปหรือไม่
ภิ. เห็น พระเจ้าข้า ฯ
พ. ภิกษุทั้งหมดนี้ ล้วนเป็นผู้มีทิพยจักษุ
พ.พวกเธอเห็นปุณณมันตานีบุตรกำลังจงกรมอยู่ด้วยกันกับภิกษุหลายรูปหรือไม่ ฯ
ภิ. เห็น พระเจ้าข้า ฯ
พ. ภิกษุทั้งหมดนี้ ล้วนเป็นธรรมกถึก
พ.พวกเธอเห็นอุบาลีกำลังจงกรมอยู่ด้วยกันกับภิกษุหลายรูปหรือไม่ ฯ
ภิ. เห็น พระเจ้าข้า ฯ
พ. ภิกษุทั้งหมดนี้ ล้วนเป็นผู้ทรงวินัย
พ.พวกเธอเห็นอานนท์ กำลังจงกรมอยู่ด้วยกันกับภิกษุหลายรูปหรือไม่ ฯ
ภิ. เห็น พระเจ้าข้า ฯ
พ. ภิกษุทั้งหมดนี้ ล้วนเป็นพหูสูต
พ.พวกเธอเห็นเทวทัตต์กำลังจงกรมอยู่ด้วยกันกับภิกษุหลายรูปหรือไม่
ภิ. เห็น พระเจ้าข้า ฯ
พ. ภิกษุทั้งหมดนี้ ล้วนมีความปรารถนาลามก ฯ



ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัตว์ทั้งหลายย่อมคบค้ากัน ย่อมสมาคมกันโดยธาตุเทียว คือสัตว์จำพวกที่มีอัธยาศัยเลว ย่อมคบค้ากัน ย่อมสมาคมกัน กับสัตว์จำพวกที่มีอัธยาศัยเลว สัตว์จำพวกที่มีอัธยาศัยดี ย่อมคบค้ากัน ย่อมสมาคมกัน กับสัตว์จำพวกที่มีอัธยาศัยดี แม้ในอดีตกาล ปัจจุบัน อนาคต สัตว์ทั้งหลายก็คบหากันเช่นนี้ (จังกมสูตร)

เมื่อจะคบกันให้นำความเจริญมาสู่ซึ่งกันและกัน และคบกันให้ได้ยืนยาว สมเด็จพระผู้มีพระภาคตรัสสอนวิธีการวางตนกับบุคคลต่างไว้ในเรื่อง ทิศ ๖ เป็นหลักการปฏิบัติกับบุคคลต่างๆที่เราต้องเกี่ยวข้อง อุปมาดังทิศที่อยู่รอบตัวเรา ๖ ทิศ

การปฏิบัติต่อเพื่อนซึ่งเปรียบเสมือนทิศเบื้องซ้ายมีดังนี้
พึงบำรุงมิตรสหาย ดังนี้ และมิตรสหายอนุเคราะห์ตอบ ดังนี้

๑. เผื่อแผ่แบ่งปัน
๒. พูดจามีน้ำใจ
๓. ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน
๔. มีตนเสมอร่วมสุขร่วมทุกข์ด้วย
๕. ซื่อสัตย์จริงใจต่อกัน

(สิงคาลกสูตร)



อเสวนา จ พาลานัง ปัณฑิตานัญ จ เสวนา การไม่คบคนพาล และคบแต่บัณฑิต จัดเป็นมงคลชีวิตข้อต้นๆจากมงคลทั้ง ๓๘ ข้อ เห็นได้ว่าการเลือกคบเพื่อนนั้นมีความสำคัญมากในชีวิต เพื่อนที่ดีเรียกว่า “กัลยาณมิตร” ซึ่งไม่ได้หมายถึงเพียงแต่เพื่อนที่ดีตามความหมายทั่วไป แต่เป็นผู้เพียบพร้อมด้วยคุณธรรม และชักนำไปในหนทางที่ถูกต้องดีงาม

"เมื่อดวงอาทิตย์อุทัยอยู่ ย่อมมีแสงอรุณขึ้นก่อนเป็นบุรพนิมิตฉันใด การมีกัลยาณมิตรเป็นบุรพนิมิต แห่งการเกิดขึ้นของหนทางพระนิพพานแก่ผู้ประพฤติธรรมฉันนั้น"

"ภิกษุทั้งหลาย เมื่อดวงอาทิตย์อุทัยอยู่ ย่อมมีแสงอรุณขึ้นมาก่อนเป็นบุพพนิมิต ฉันใด ความมีกัลยาณมิตรก็เป็นตัวนำเป็นบุพพนิมิต แห่งการเกิดขึ้นของอริยอัษฎางคิกมรรค แก่ภิกษุฉันนั้น ภิกษุผู้มีกัลยาณมิตร พึงหวังสิ่งนี้ได้ คือ จักเจริญ จักทำให้มาก ซึ่งอริยอัษฎางคิกมรรค”

(สํ.ม.)



ภาษิตจีนบทหนึ่งกล่าวไว้ว่า “งูพิษที่เลวร้ายมีค่ากว่าเพื่อนเลวที่หักหลัง” ก็สมดังคำสอนของพระผู้มีพระภาคเจ้า ที่ให้หลีกหนีคนพาลซะยิ่งกว่าหลีกหนีอสรพิษ อันงูพิษถึงจะกัดบางก็ไม่ถึงตาย ถึงจะตายก็ไม่ได้เจ็บใจ แต่เพื่อนเลวหักหลังทั้งเจ็บตัว ชีวิตพังพินาศและเจ็บใจไปจนตายก็มี

ตอนนี้ถึงจะรู้แล้วว่าใครเป็นเพื่อน ใครไม่ใช่เพื่อนก็ตาม แต่ก็ “คนรักเท่าผืนหนัง คนชังเท่าผืนเสื่ออยู่ดี !!! แต่ช่างเถิด..เพราะท่านว่า “ถ้าไม่ประสบคนดีกว่าหรือเป็นเช่นกับตน ควรเที่ยวไปผู้เดียวให้มั่นไว้ เพราะความเป็นสหายในคนพาลย่อมไม่มี.”

“หนทางพิสูจน์ม้า กาลเวลาพิสูจน์คน” การจะรู้จักใครสักคนไม่ใช่อาศัยเวลาอันสั้น ต้องอาศัยกาลเวลาอันยาวนาน ขอให้ทุกท่านได้พบมิตรแท้ค่ะ.




ภาพชุด "ใจเดียวเที่ยวขุนสมุทร" จาก @Single Mind for Peace และ
ภาพชุด "ใจหนึ่งซึ่งอาวรณ์. จาก น้อมเศียรเกล้า


บทความธรรมะเรียบเรียงโดย : น้อมเศียรเกล้า




Create Date : 02 ธันวาคม 2553
Last Update : 19 สิงหาคม 2554 23:11:07 น. 0 comments
Counter : 1619 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

น้อมเศียรเกล้า
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 7 คน [?]




Friends' blogs
[Add น้อมเศียรเกล้า's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.