Group Blog
 
All Blogs
 

คำพรพระ- น้อมเศียรเกล้า

คำพรพระ (อนุโมทนาวิธี)
๏ ยะถา วาริวะหา ปูรา ปะริปูเรนติ สาคะรัง
(ห้วงน้ำที่เต็มย่อมไหลไปสู่สมุทรสาครให้เต็ม ฉันใด)

๏ เอวะเมวะ อิโต ทินนัง เปตานัง อุปะกัปปะติ
(ทานที่ท่านให้แล้วแต่โลกนี้ ย่อมสำเร็จแก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้วฉันนั้น)

๏ อิจฉิตัง ปัตถิตัง ตุมหัง ขิปปะเมวะ สะมิชฌะตุ
(ขอสิ่งที่ท่านได้มุ่งมาดปรารถนาตั้งไว้ จงสำเร็จโดยพลันทันใด)

๏ สัพเพ ปูเรนตุ สังกัปปา จันโท ปัณณะระโส ยะถา มะณิ โชติระโส ยะถา
(ความดำริทั้งปวงของท่าน จงเต็มเปี่ยมบริบูรณ์ เหมือนดวงจันทร์ในวันเพ็ญ ๑๕ ค่ำ และเหมือนแก้วมณีโชติ อันให้สำเร็จประโยชน์ทั้งปวงฉันนั้น)

๏ สัพพีติโย วิวัชชันตุ
(ขอความเสนียดจัญไรทั้งปวง จงผ่านพ้นท่านไป)

๏ สัพพะโรโค วินัสสะตุ
(ขอโรคทั้งปวงของท่านจงพินาศหายไป)

๏ มาเต ภะวัตวันตะราโย
(ขออันตรายอย่าได้มีแก่ท่าน)

๏ สุขี ทีฆายุโก ภะวะ (ขอท่านจงมีความสุขมีอายุยินนาน)

๏ อะภิวาทะนะสีลิสสะนิจจัง วุฑฒาปะจายิโน จัตตาโร ธัมมาวัฑฒันติ อายุ วัณโณ สุขัง พะลัง
(พรทั้ง ๔ ประการ คือ อายุ วรรณะ สุข พละ ย่อมเจริญแก่ท่านผู้มีปกติกราบไหว้ และเคารพต่อผู้ใหญ่เป็นนิจ)

๏ ภะวะตุสัพ พะมัง คะลัง รักขันตุ สัพพะเทวะตา
(ขอมงคลทั้งหลายทั้งปวงจงมีแก่ท่าน ขอเหล่าเทวดาทั้งหลายทั้งปวงจงรักษาท่าน)

๏ สัพพะ พุทธา นุภาเวนะ สัพพะ ธัมธา นุภาเวนะ สัพพะ สังฆา นุภาเวนะ
(ด้วยอานุภาพแห่งพระพุทธเจ้าทั้งปวง ด้วยอานุภาพแห่งพระธรรมเจ้าทั้งปวง ด้วยอานุภาพแห่งพระอริยสงฆเจ้าทั้งปวง)

๏ สะทา โสตถี ภะวัน ตุเต
(ขอความสวัสดีจงมีแก่ท่านในกาลทุกเมื่อ เทอญ



บทสวดข้างต้นเป็นบท “อนุโมทนาวิธี” ซึ่งพระท่านจะสวดหลังจากเจ้าภาพถวายอาหาร และ จตุปัจจัยไทยธรรมเสร็จเรียบร้อย เมื่อพระสงฆ์สวดบทนี้เจ้าภาพทั้งหลายก็จะทำการกรวดน้ำและรับพรจากพระสงฆ์

“การกรวดน้ำ” ตามความหมายของพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานปีพ.ศ. ๒๕๒๕ ได้ให้คำจำกัดความไว้ว่าเป็นการ"แผ่ส่วนบุญด้วยวิธีหลั่งน้ำ"

ครั้งหนึ่งเมื่อผู้เขียน ไปทำบุญที่อำเภอปากช่อง พระท่านสั่งว่าให้เตรียม”หยาดน้ำ” รับพร ตอนนั้นเพิ่งจะได้ยินคำนี้ เป็นครั้งแรก ต่อมาจึงเข้าใจว่า การหยาดน้ำ ก็คือการ “หลั่งน้ำ” นี่เอง คนภาคอิสานจะเรียกว่า ”หยาดน้ำหมายทาน” คือหลั่งน้ำหมายเพื่อจะบอกการทานแด่พระแม่ธรณี

(อ้างอิงจากบทความชื่อ “จิตรกรรมฝาผนังเมืองร้อยเอ็ด ๑๒ แม่ธรณีของคนอีสาน”)



การกรวดน้ำเพื่ออุทิศกุศลนี้ เริ่มมีมาตั้งแต่สมัยใดก็ไม่อาจทราบ แต่หากจะศึกษาเอาจากพระไตรปิฏก พบว่าการกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลนี้ เกิดขึ้นแล้วมานานมาก นานยิ่งกว่าเมื่อ สมัยพระเจ้าพิมพิสารทรงถวายทานแด่พระพุทธเจ้าและพระสาวก และทรงได้หลั่งทักษิโณทกอุทิศส่วนกุศลให้แก่ญาติที่ล่วงลับ ไปแล้วเสียอีก ดังนี้คือ...

เมื่อครั้งสมเด็จพระผู้มีพระภาคผจญพญาวสวัตตีมาร พญามารได้อ้างว่ารัตนบัลลังค์ที่ทรงประทับนั้นเป็นของตนให้ท่านลุกไปเสีย สมเด็จพระผู้มีพระภาคทรงเอาดัชนีชี้พระธรณีเรียกแม่พระธรณีให้มาแสดงตนเป็นสักขีพยาน

แม่พระธรณีจึงอุบัติขึ้นเป็นรูปนารีผุดขึ้นจากพื้นพสุธา กล่าวเป็นพยานว่า น้ำทักษิโณทกที่พระพุทธเจ้าทรงหลั่งเมื่อบำเพ็ญทานบารมีทุกพระชาติรวมกันนี้มากมายเหลือคณานับได้ตกลงชุ่มอยู่ในเกศาของพระนาง และแสดงประจักษ์พยานโดยการบิดมวยพระเกศาเกิดเป็นกระแสธารพัดพาเอาหมู่มารลอยไปสิ้น พุทธประวัตินี้จึงเป็นหลักฐานชี้ว่าการกรวดน้ำหลั่งทักษิโณทกนี้ มีมานานเกินกว่าอายุของโลกนี้เสียอีก



วิธีการกรวดน้ำ

ก่อนทำการกรวดน้ำ ให้เตรียมน้ำสะอาดใส่ภาชนะ จะเป็นคณฑี แก้วน้ำ ขวดน้ำ หรือขัน อย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ และหาภาชนะสำหรับรองน้ำกรวดไว้ให้พร้อม พอพระเริ่มอนุโมทนาขึ้นบทว่า “ยถา วาริวหา……….”

จึงเริ่มกรวดน้ำโดยรินน้ำลงในภาชนะรอง ตั้งใจนึกอุทิศส่วนบุญส่วนกุศลโดยกล่าวบทกรวดซึ่งมี ๓ แบบ คือ แบบยาว (บทกรวดอิมินา) แบบกลาง (คาถาติโลกวิชัย) และแบบสั้น (อิทังเม ญาตินัง โหตุ) จะกล่าวบทใดก็ได้ เมื่อพระว่าจบและขึ้นบทว่า สัพพีติโย….พร้อมกัน ผู้กรวดน้ำพึงหยุดกรวดน้ำแล้วประนมมือรับพร เสร็จแล้วจึงนำน้ำที่กรวดนั้นไปเทลงบนดินที่สะอาด หรือที่โคนต้นไม้ก็ได้ (www. http: //www.rajpha.org)



จุดประสงค์การกรวดน้ำมีอยู่ ๓ ประการ คือ อ้างอิงจากหนังสือหมื่นร้อยพันผสานของกราศิลปากร ดังนี้

๑. เป็นการแสดงกิริยายกให้ เช่น ของที่ใหญ่โตเกินไปไม่สามารถหยิบยกให้ได้ ก็จะใช้วิธีหลั่งน้ำใส่มือผู้รับ หรือหลั่งลงบนแผ่นดิน ดังเช่น ตอนพระเวสสันดรพระราชทานช้างเผือกปัจจัยนาเคนทร์ ช้างคู่บ้านคู่เมืองคู่บุญบารมีของพระองค์แด่พราหมณ์ ก็ทรงหลั่งน้ำบนมือพราหมณ์ หรือตอนที่พระเจ้าพิมพิสารทรงจับพระเต้าทองหลั่งทักษิโณทกถวายอุทธยานเวฬุวันแด่พระผู้มีพระภาค

๒. เป็นการตั้งปรารถนาให้ผลบุญที่ทำไป จงอำนวยให้ประสบผลสมกับที่อนุโมทนา

๓. เพื่อให้การทำบุญครั้งนี้เป็นปัตติทานมัย คือเพื่ออุทิศส่วนบุญกุศลให้แก่สรรพสัตว์



กิริยาการ”หลั่งน้ำ”ของคนไทยมีจุดประสงค์อย่างอื่นอีก นอกเหนือไปจากการแบ่งส่วนบุญ เช่นการหลั่งน้ำเพื่อประกาศตัดขาดจากกัน อย่างที่สำนวนไทย ว่า“กรวดน้ำคว่ำขัน”

การกรวดน้ำคว่ำขัน, คว่ำกะลา และ คว่ำคะนน นี้ คนไทยรู้จักกันมานานและ มีหลักฐานปรากฏในบทประพันธ์หลายเรื่องเช่น ขุนช้างขุนแผน ตอนที่นางวันทองทะเลาะกับนางลาวทอง

"จึงว่าแก่สายทองจองจ้าน ล้างตะพานบ้านเรือนเอาตีนสี
ได้ตรวจน้ำคว่ำกะลากันวันนี้ อันจะกลับคืนดีอย่าสงกา"

คำถามที่หลายท่านอาจมีในใจ ก็คือ เหตุไฉน จึงต้องเป็นน้ำ? ฤาอาจจะเป็นเพราะน้ำมีความสำคัญต่อทุกชีวิต เป็นธาตุของความบริสุทธิ์ เอิบอาบ หล่อเลี้ยง แลไหลไม่ย้อนกลับประดุจทานที่ทำแล้วในโลกนี้ ย่อมไหลไปสู่บุคคลที่ไปสู่ปรโลก…

การกรวดน้ำเริ่มต้นขึ้นเมื่อไร และจะดำเนินไปถึงเมื่อไรก็ไม่อาจทราบ ผู้เขียนกระทู้ยังรู้สึกประหลาดใจว่าเหตุใด ประเพณีการกรวดน้ำ จึงได้ยาวนานต่อเนื่องจากกาลเวลาของพุทธันดรหนึ่ง สู่อีกพุทธันดรหนึงได้เช่นนั้น

อย่างไรก็ตามหากจะเปรียบประเพณีของการกรวดน้ำเป็นเปลือกของพระศาสนา ผู้เขียนก็มีความเห็นว่า “ใช่” แต่ก็มิได้ดูถูกดูแคลน หรือละเลยความสำคัญของประเพณีเหล่านี้ไป เพราะเห็นว่า ศาสนประเพณีที่สำคัญทั้งหลายเหล่านี้ ก็มีส่วนเป็นอันมาก ที่ทำให้พระศาสนาดำรงอยู่

จะกรวดน้ำเพื่ออุทิศบุญ เพื่อแสดงการยกให้ หรือเพื่อเป็นการตั้งความปรารถนาที่เรียกว่า เป็นการบำเพ็ญ “อธิษฐานบารมี” ย่อมเป็นการควรอยู่ แต่กรวดน้ำคว่ำขันนี้ คงไม่ดีแน่หากจะเกิดขึ้นกับผู้ใด

ขอให้ทุกท่านมีความสุขค่ะ



บทความธรรมะและภาพโดย :น้อมเศียรเกล้า และภาพส่วนหนึ่งจาก @Single Mind for Peace




 

Create Date : 21 พฤศจิกายน 2553    
Last Update : 19 สิงหาคม 2554 23:14:55 น.
Counter : 2564 Pageviews.  

เสื้อแห่งความสุข เมล็ดพันธุ์จากบ้านที่ไม่เคยมีคนตาย และจอกทองคำของพระราชา



ชอบฟังเพลงไหม? ถ้าหากได้ฟังเพลง คุณฟังเพลงอย่างไร...บางท่านอาจจะสงสัยว่าก็แค่ฟังเพลงยังมีวิธีการฟังเพลงที่หลากหลายอีกหรือ

ที่จริงมีวิธีการฟังเพลงหลายอย่าง

เช่นบางคน พอได้ยินเพลงก็จะทราบแค่เพียงว่า ..เอ้อ เพลงนี้ เพลงนั้นเพราะดี และกำลังเป็นที่นิยม รู้สึกเพลิดเพลิน ชื่นชอบ

บางคนเล่นและรู้จักเครื่องดนตรีประเภทต่างๆ ก็จะหัดฟังว่า มีเสียงของเครื่องดนตรีใดบ้างที่อยู่ในเพลงนั้น และดังขึ้นมาตอนท่อนไหนของเพลง บางทีนึกเห็นภาพได้ไปถึงนิ้วมือเรียวยาวที่โลดเล่นไปมาบนคีย์บอร์ด ตรงแป้นนี้ แป้นนั้น ด้วยความที่ก็เล่นดนตรีเป็นเช่นกัน

บางคนแม้ยามใส่หูฟัง กลับมีความสุนกสนานในการแยกเสียงเบสบ้างเสียงเครื่องดนตรีที่บางทีก็ดังออกมาทางหูฟังด้านซ้ายบ้าง ด้านขวาบ้าง คล้ายๆเป็นการฝึกประสาทสัมผัส และฝึกสมาธิอย่างหนึ่ง

ถ้าคุณชอบฟังเพลง การหัดฟังและจับเสียงต่างๆ ที่ออกมาแต่ละท่อนของเพลง ฟังว่าตอนไหนเสียงใดแหลม ขึ้นมา โดดขึ้นมา ดังขึ้นมา เป็นความบันเทิงและเป็นการฝึกสมาธิอีกวิธีหนึ่ง ดีกว่าฟังผ่านๆ เพราะได้ทั้งสุนทรียะของเสียง และการได้ฝึกประสาทสัมผัส ซึ่งสนุกอย่างยิ่ง ไม่เชื่อเชิญลองดู

แต่สำหรับบางคนนอกจากดิ่มด่ำเพลินใจไปกับจังหวะของดนตรีเสียงอันไพเราะของผู้ขับร้อง กลับชอบฟังเพลงแบบ วิเคราะห์บทความของเพลงอีกด้วยว่า ของเพลงๆนั้นต้องการจะสื่ออะไร บทเพลงสะท้อนอารมณ์แบบไหน ทำไมจึงเกิดอารมณ์เช่นนั้น แล้วก็ถามความเห็นกับคนข้างๆอย่างสนุกสนาน ….....



อย่างเช่นบทเพลง "เสื้อแห่งความสุข”เพลงนี้ให้ข้อคิดที่ดีอย่างยิ่ง หลายๆท่านอาจจะทราบกันดีอยู่แล้วว่า

เป็นเรื่องของ พระราชาที่อยากจะมีความสุขตลอดเวลา จึงให้ทหารออกตามหาเสื้อของคนที่ไม่เคยมีความทุกข์เพราะเชื่อว่า เมื่อพระองค์ได้เสื้อตัวนั้นมาใส่แล้ว จะไม่มีความทุกข์อีกต่อไป

แต่หาเท่าไรก็หาไม่พบคนที่ไม่เคยมีความทุกข์ จนกระทั่งวันหนึ่งทหารได้ยินเสียงของชายผู้หนึ่งดังออกมาจากกระท่อมปลายนาว่า ตนเองสุขเหลือเกิน จึงพากันพังประตูเข้าไปหมายยึดเสื้อ กลับพบเพียงชายธรรมดาคนหนึ่งที่ไม่มีแม้เสื้อจะสวมใส่
บทเพลงจบด้วยบทสรุปอันมีธรรมะแสดงอย่างเลิศล้ำว่า “คนที่ไม่เคยทุกข์ใจ ไม่มี”

ทำให้ฉันนึกถึงเรื่องราวอันเกิดขึ้นจริงจากพระไตรปิฏก อีก ๒ เรื่องที่คล้ายคลึงกัน เรื่องแรก เป็นเรื่องของ เมล็ดพันธ์จากบ้านที่ไม่มีคนตาย

เรื่องมีอยู่ว่า นางกีสาโคตรมี อุ้มลูกน้อยที่เพิ่งจะเสียชีวิต ร้องไห้ปริ่มใจจะขาด เหมือนคนเสียสติ วิ่งไปทั่วพระนคร หาคนที่จะมารักษาลูกตนให้ฟื้นคืน
เมื่อได้เข้าเฝ้าพระพุทธองค์ ทรงรับสั่งให้นางไปหาเมล็ดพันธุผักกาดหยิบมือหนึ่ง มาเป็นเครื่องปรุงยา แต่มีข้อแม้ว่าจะต้องเป็นเมล็ดพันธุ์ผักกาด ที่ได้จากบ้านที่ไม่เคยมีคนตายมก่อนเท่านั้นจึงสามารถใช้เป็นเครื่องปรุงยาได้

นางเที่ยวหาเมล็ดพันธุ์ผักกาดจากบ้านที่ไม่เคยมีคนตาย ปรากฏว่า หาเท่าไรก็ ไม่มี เพราะความจริงก็คือ ไม่เคยมีบ้านไหน ครอยบครัวไหน ที่ไม่มีคนตาย สุดท้ายนางจึงได้บรรลุธรรมว่า “สัตว์ทั้งหลายย่อมเกิดขึ้นและดับไป เหมือนเปลวดวงประทีป”และสุดท้ายได้บรรลุอรหัตผล



บทเพลงเสื้อแห่งความสุข ยังให้ข้อคิดกับเรื่องความพอใจ..เช่น”ทำไมเป็นถึงพระราชา จึงยังไม่มีความพอใจ?” ความพอใจอยู่ที่ไหน? เมื่อใดจึงจะเกิดความพอใจ ไม่มีใครตอบได้ แต่เมื่อใดก็ตามที่พอใจ ย่อมมีความสุข แต่เมื่อไรก็ตามที่ไม่พอใจถึงแม้จะได้ครอบครองสิ่งที่เป็นเลิศแค่ไหน ก็หาความสุขไม่ได้

ฉันคิดว่ามนุษย์และสัตว์ทั้งหลายนี่น่าจะมีความพึงพอใจน้อยมาก เพราะความไม่พอใจนี่เองจึงทำให้เกิดการแสวงหา แถมเมื่อหามาได้แล้วก็ยังเกิดความ หวง บ้าง ห่วงบ้าง หรือ หึงบ้างก็มี ในที่สุดก็ไปไม่พ้นจากวงเวียนแห่งความทุกข์กันเสียที

ความพอใจให้ความสุขได้อย่างไร? จริงๆแล้ว ความสุขนั้นน่าจะอยู่ที่ความรู้สึกทางใจเป็นสำคัญ

ภิกษุพึงพอใจจำวัดในกระท่อมมุงด้วยใบไม้ ก็มีความสุขกว่าอยู่ในพระราชฐานอันโอ่อ่า, พระราชาที่ดื่มน้ำจากจอกทองคำ หรือ วณิพก ทิ่ดื่มน้ำจากกะลา เมื่อมีความพึงพอใจ ย่อมมีความสุขเท่ากัน

สมดังพุทธพจน์ว่า "บุคคลที่ประสบความสำเร็จในชีวิตนั้นมิใช่คนใหญ่คนโต แต่เป็นคนที่รู้สึกว่าชีวิตของตนมีความสุข สงบเยือกเย็น ปราศจากความเร่าร้อนกระวนกระวาย"

เรื่องเสื้อของพระราชา เมล็ดพันธุ์จากบ้านที่ไม่มีคนตายและจอกทองคำของพระราชาอาจมีที่มาที่แตกต่างกัน เป็นเรื่องราวที่แตกต่างกัน แต่ก็จบในบทสรุปเป็นหนึ่งเดียวกัน คือเป็นธรรมะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เกี่ยวกับเรื่องราวความเป็นจริงของชีวิต




วิพากษ์บทเพลงเชิงธรรมะโดย : น้อมเศียรเกล้า
ขอขอบพระคุณภาพจากอินเตอร์เน็ต




 

Create Date : 15 พฤศจิกายน 2553    
Last Update : 20 พฤศจิกายน 2553 22:28:27 น.
Counter : 2035 Pageviews.  

ทำบาปเพราะความจำเป็น (จะหลอกตนเองไปถึงไหน)- น้อมเศียรเกล้า

ไม่มีใครอยากให้เกิดเรื่องผิดพลาด แต่ความผิดพลาดบางอย่างก็เกิดขึ้นโดยไม่ได้ความตั้งใจ…

มีเรื่องหลายเรื่องในโลกนี้ จบลงด้วยความผิดพลาด โดยที่ผู้ก่อเองไม่ได้มีความต้องการให้เรื่องราวลงเอยเช่นนั้น อย่างเช่น ตัวอย่างจากหนังเรื่อง “Before the devil knows you’re dead-ก่อนปิศาจปิดบาปบัญชี (2007)” หนังดีอีกเรื่องที่ผู้เขียนใคร่ขอค้นหาธรรมะที่สอดแทรกอยู่ในเรื่อง นำมาฝากผู้อ่าน



เรื่องย่อของหนังเรื่องนี้มีอยู่ว่า มีพี่น้องสองพี่น้อง ซึ่งทั้งคู่เกิดอาการถังแตกแทบจะพร้อมๆ กัน จึงร่วมกันหารือว่าจะปล้นร้านเครื่องเพชรของพ่อแม่ตัวเอง โดยฝ่ายพี่ชายวางแผนให้น้องชายปลอมตัว และใช้ปืนปลอม เข้าไปปล้นเพชรจากลูกจ้างในร้านช่วงเช้าซึ่งพ่อกับแม่ไม่อยู่ และคาดว่าจะจากไปโดยไม่ได้ทำร้ายใคร และไม่ได้หวังจะให้ใครเดือดร้อน

แต่มันไม่ง่ายอย่างนั้นเมื่องานปล้นครั้งนี้เกิดผิดพลาด และจบลงด้วยการตายของแม่ !!! และเรื่องก็กลับยิ่งลุกลามไปกันใหญ่ เพราะมีผู้รู้เห็นบอกว่าจะเปิดเผยเรื่องนี้ นำมาซึ่งการฆาตกรรมซึ่งได้ลุกลามต่อไปยังคนรอบข้างอีก

หลายคนรวมถึงผู้เขียนที่สังเกตการณ์อยู่นอกจอรู้สึกเห็นใจ เพราะสองคนนั่นก็ไม่ได้ต้องการให้แม่ของตนเองตายเลย และรู้สึกเสียดายว่า ถ้าเรื่องนี้ พี่น้องทั้งสองบอกความจริงแก่พ่อและแม่ของตนเอง และขอความช่วยเหลือเรื่องการเงินตั้งแต่ต้น คงจะไม่ลงเอยด้วยเรื่องสลดใจเช่นนี้ เพราะยังไงพ่อแม่ก็รักลูก และพร้อมที่จะช่วยเหลืออยู่แล้ว

จริงๆแล้ว มีหลายคนในโลกนี้ที่ประพฤติกรรมชั่ว เมื่อถูกจับได้ ก็อ้างว่าที่ทำไปเพราะเหตุจำเป็น เช่น “ทำเพื่อพ่อแม่บ้าง เพื่อลูกบ้าง เพราะเหตุแห่งบุตรและภริยา.... เพราะเหตุแห่งทาสกรรมกร และคนรับใช้...... เพราะเหตุแห่งมิตรและอำมาตย์....... เพราะเหตุแห่งญาติสาโลหิต....... เพราะเหตุแห่งแขก..... เพราะเหตุแห่งปุพพเปตชน...... เพราะเหตุแห่งเทวดา..... เพราะเหตุแห่งพระราชา...... เพราะเหตุแห่งการเลี้ยงกาย...... เพราะเหตุทำนุบำรุงกาย” และอื่นๆทั้งหลาย

ยิ่งไปกว่านั้นพวกเขาเหล่านั้นยังอ้างเหตุผลเหล่านั้นเพื่อมาปลุกปลอบตัวเอง เพื่อขับไล่ความกลัวจากโทษของการทำชั่ว ว่าทำไปโดยเหตุจำเป็นคงไม่เป็นไรหรอกน่า... ผลที่ตามมาคือความสงบใจหลอกๆชั่วคราว แต่โทษเหล่านั้นแท้จริงยังคงติดตามมาอยู่ ถึงแม้ตัวเขาจะรู้หรือไม่ก็ตาม


เข้ากับสำนวนชาวไอริชบทหนึ่งที่ว่า “May you be in heaven half an hour before the devil knows you're dead." แปลได้ใจความว่า คุณอาจได้อยู่ในสวรรค์เพียงชั่วเวลาสั้นๆ ก่อนที่ปิศาจจะรู้ว่าคุณตาย เข้ากั๊น เข้ากันเหมาะเจาะดีแท้ กับเรื่องเหตุต้นผลกรรม ว่ายังไง๊ ยังไง ถึงแม้คุณจะพยายามหาเหตุผลมาหลอกตัวเอง แต่คุณก็หลอกนรกและกฏแห่งกรรมไปไม่ได้!!!

ความยุติธรรมทางโลก ที่ตัดสินกันด้วยกฏหมาย กับกฏแห่งกรรมนั้นต่างกันสิ้นเชิง หลายคนได้ทำผิดขั้นร้ายแรง แต่จนบัดนี้ก็มีหลายที่ยังลอยนวลไปได้ แถมกฏหมายของประเทศหนึ่ง กับอีกประเทศหนึ่งมันไม่เหมือนกันเสียด้วยนา แล้วจะตัดสินกันด้วยอะไรเล่าทีนี้?


ครั้งหนึ่งเมื่อนานกว่าสองพันปีมาแล้ว นายธนัญชานิ เคยกราบเรียนถามพระสารีบุตร ว่า ข้าแต่ผู้เจริญ ถ้าคนเราต้องทำความชั่วเพราะเหตุจำเป็นทั้งหลาย เช่นพ่อแม่ บุตรภรรยา และญาติสาโลหิต และบลาๆๆ จัดว่าเป็นบาปหรือไม่ ??

พระสารีบุตรท่านตอบว่า ดูก่อน ท่านธนัญชานิ ท่านจะเข้าใจข้อความนั้นเป็นไฉน…

หากมีนายนิรยบาลมาฉุดคร่าคนประพฤติชั่วไปนรก ครั้นแล้วเขาได้อ้อนวอนว่า นายนิริยบาลขอจงอย่าฉุดคร่าเราไปนรกเลย เพราะเราประพฤติชั่วด้วยความจำเป็นเพราะเหตุแห่งบิดามารดา หรือบิดามารดาของเขาจะมาอ้อนวอนว่า ผู้นี้เป็นผู้ประพฤติไม่ชอบธรรมประพฤติผิดธรรม เพราะเหตุแห่งการทั้งหลาย ขอนายนิริยบาลอย่าพึงฉุดคร่าเขาไปนรกเลย

(คิดว่านายนิริยบาลจะฟังเหตุผลหรือไม่??? )


พระสารีบุตรท่านได้อธิบายดังนี้

“.....ดูก่อนธนัญชานิ ท่านจะเข้าใจความข้อนั้นเป็นไฉน บุคคลผู้ประพฤติไม่ชอบธรรม....... เพราะเหตุแห่งบิดามารดา กับบุคคลผู้ประพฤติชอบธรรม ประพฤติถูกธรรม เพราะเหตุแห่งมารดาบิดา ไหนจะประเสริฐกว่ากัน

“.....ดูก่อนธนัญชานิ การงานอย่างอื่นที่มีเหตุประกอบด้วยธรรม เป็นเครื่องให้บุคคลอาจเลี้ยงมารดาบิดาได้ ไม่ต้องทำกรรมอันลามก และให้ปฏิบัติปฏิปทาอันเป็นบุญได้ มีอยู่ฯ”


//www.84000.org/true/057.html

ผู้เขียนจึงสรุป(เอง)ว่า อย่ามาอ้างโน่น อ้างนี่ ว่าทำบาปเพราะความจำเป็นอย่างนี้ อย่างนั้นเลย เพราะวิธีการที่ไม่ต้องทำบาปเพื่อพ่อแม่ ลูกเมีย ญาติสา ฯลฯ นั้นมีอยู่ทำไมไม่เลือกใช้ คำอ้างต่างๆว่าทำผิดไปเพราะคนนั้นคนนี้ และเพราะความจำเป็นดั่งกล่าวนี้ จึงตกไป จะไม่ให้มีบาปติดตัว และหลุดลอยจากความผิด เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้!!!

แต่แหมเรื่องมันน่าสลดใจอย่างนั้นเชียวเหรอ? บางคนบอกว่าชั้นทำไปเพราะพ่อเพราะแม่ และอื่นๆแท้ๆ เหตุไฉนชีวิตถึงต้องลงเอยด้วยความเศร้าเช่นนั้น...

ถึงแม้จะมีความผิด แต่ความผิดต่างๆก็มีโทษไม่เท่ากัน จัดตามลำดับความแรงแห่งกรรมเป็นต้น จำแนกออกไปเป็น 4 คือ

1.ครุกรรม กรรมหนัก ให้ผลก่อน กรรมหนักในทางกุศล ได้แก่สมาบัติ 8 กรรมหนักในทางอกุศลได้แก่อนันตริยกรรม 5
2. พหุลกรรม หรือ อาจิณณกรรม กรรมที่ทำมากคือทำบ่อย จนเป็นการชินชา ให้ผลรองลงมาจากครุกรรม
3. อาสันนกรรม คือ กรรมจวนเจียน หรือกรรมที่ใกล้จะตาย (กรรมทำเมื่อจวนจะตาย) จับใจอยู่ใหม่ ๆ ถ้าไม่มีกรรม 2 ข้อต้น (2 ข้อก่อน) คือ ครุกรรม และพหุลกรรม หรืออาจิณณกรรม ก็จะให้ผลก่อน
4. กตัตตากรรม หรือ กตัตตาวาปนกรรม กรรมสักแต่ว่าทำ คือกรรมที่ทำด้วยอ่อนเจตนา หรือมิใช่เจตนาอย่างนั้นโดยตรง ต่อเมื่อไม่มีกรรมอื่นให้ผลแล้วกรรมนี้จึงจะให้ผล

ก็พออุ่นใจอยู่บ้าง สำหรับคนที่เคยทำผิดแล้วยังรู้สึกหนาวๆ ร้อนๆ และเสียวสันหลังกลัวกรรมมันจะตามทัน

อย่ากระนั้นเลย ขึ้นชื่อว่าความชั่ว อย่าไปทำเลยดีกว่า สมเด็จพระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ไม่ว่าบนท้องฟ้า ไม่ว่าท่ามกลางสมุทร ไม่ว่าในหุบเขา ไม่มีแม้แต่แห่งเดียว ที่ผู้ทำกรรมชั่วอาศัยอยู่ จะหนีพ้นกรรมไปได้” และ “ถ้าหากจำต้องทำชั่วไซร้ ก็ไม่ควรทำบ่อยนัก และไม่ควรพอใจในการทำชั่วนั้น เพราะการสะสมบาป นำทุกข์มาให้

ลืมไปให้หมด ความชั่วที่เคยกระทำ

ลืมในที่นี้ ไม่ได้หมายความว่า ไม่ใส่ใจ ไม่ตระหนัก ไม่รู้สึกผิดกับความชั่วที่ตนเองทำ ตรงกันข้าม คือเมื่อผิดพลาดทำความชั่วไปแล้ว ให้ตระหนัก ให้ใส่ใจ ให้พิจารณาด้วยปัญญาให้มาก ว่าสิ่งที่ตนทำนั้นเป็นความผิด ให้รู้สึกสลดใจในความผิด และเอาบทเรียนในความผิดของตนนั้น มาเฝ้าเตือนใจและระวังตนไม่ให้ทำสิ่งผิดเหล่านั้นอีก

คนเราจะไม่กลับไปทำความชั่วอีกหากได้ตระหนัก รู้โทษและสลดใจ ด้วยปัญญาว่า สิ่งเหล่านั้นเป็นบาป เมื่อเกิดหิริโอปตัปปะ คือความละอายชั่วกลัวบาปเข้าแล้วก็เป็นการยากที่จะกระทำความชั่วนั้นอีก

หลังจากเกิดปัญญารู้คุณรู้โทษของความผิดแล้ว ก็ไม่ต้องไปครุ่นคิดสิ่งเหล่านั้น ให้ใจเศร้าหมองอีกแต่ให้ เริ่มต้นชีวิตใหม่ด้วยการประกอบคุณงามความดี เพราะการครุ่นคิด กลัดกลุ้มใจในสิ่งที่เกิดขึ้นไปแล้ว ไม่ได้ช่วยแก้ไขความผิดพลาดในอดีตได้ ทั้งเป็นการทำให้จิตใจเศร้าหมอง เมื่อจิตเศร้าหมองแล้ว ทุคติเป็นอันต้องหวัง สมกับพุทธศาสนสุภาษิตว่า “จิตฺเต สงฺกิลิฏฺเฐ ทุคฺคติ ปาฏิกงฺขา. เมื่อจิตเศร้าหมองแล้ว ทุคติเป็นอันต้องหวัง”

เรื่องของเรื่องมันก็มีอยู่เท่านี้ คือไม่มีใครที่จะไม่เคยผิดพลาด ไม่มีใครที่ไม่เคยทำความชั่ว ตัวเราเองมื่อผิดพลาด เรายังต้องการให้คนอื่นให้อภัย ฉันนั้นเช่นกันค่ะ คนที่ผิดพลาดเมื่อเขากระทำความผิดเขาก็ต้องการการให้อภัยของเราเช่นกัน

พระพุทธเจ้าท่านตรัวสว่า เสียอะไรก็เสียได้ (เช่นเสียทรัพย์ เสียญาติ เสียเกียรติ เสียชื่อเสียง ) แต่อย่าให้เสียปัญญา เพราะ “ไม่มีอะไรที่จะเสื่อมไปมากกว่า ความเสื่อมแห่งปํญญา” ผิดแล้วให้เอาความผิดเป็นครู ป็นอาจารย์ อย่าไปเฝ้าปลอบประโลมและ หลอกตน เหตุด้วยข้ออ้าง อื่นใดอีกเลย (แหมคนเรานะ หลอกแม้กระทั่งตนเองอีก)

วันนี้เสื่อมลาภ วันหน้าอาจได้ลาภได้ วันนี้เสื่อมยศ ต่อมายศก็เจริญได้ วันนี้เสื่อมเสียชื่อเสียง ต่อไปก็อาจกู้ชื่อเสียงขึ้นมาอีกได้ เพราะของเหล่านี้มันเป็นโลกธรรม มันก็มีขึ้นๆลงๆ อยู่เช่นนั้นแหละ อย่าไปยึดมั่นถือมั่นเลยคุณๆ

จริงไหม?





วิพากษ์หนังเชิงธรรมะโดย : น้อมเศียรเกล้า
ขอขอบพระคุณภาพประกอบจากอินเตอร์เน็ต




 

Create Date : 10 พฤศจิกายน 2553    
Last Update : 19 สิงหาคม 2554 23:15:16 น.
Counter : 1088 Pageviews.  

วันนี้วันพระ.. พายเถิดหนาพ่อพาย - น้อมเศียรเกล้า

เมื่อกล่าวถึงวันพระ ปัจจุบันนี้เป็นที่น่าเสียดายว่า ความสำคัญของวันพระได้ ถูกลดความสำคัญให้น้อยลงไป และ ต้องยอมรับว่าปัจจุบันคนไม่ค่อยเห็นความสำคัญของวันพระเท่าที่ควร ยิ่งไปกว่านี้ไม่ทราบว่าวันพระคือ อะไร มีความสำคัญอย่างไร

ต่างกับสมัยก่อน ที่พุทธศาสนิกชนที่แทบ จะตั้งหน้าตั้งตารอคอยวันพระกันทีเดียว ในสมัยก่อน วันพระจะไม่มีการทำงานใดๆทั้งสิ้น เพราะถือว่าเป็นวันแห่งการเข้าวัดปฏิบัติธรรม หลักฐานของการหยุดทำงานในวันพระมีปรากฏมีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล เช่น เรื่องเล่า ที่อนาบิณฑิกเศรษฐีท่านให้คนในบ้านทุกคนหยุดงาน เพื่อรักษาอุโบสถศีลและปฏิบัติธรรม เป็นต้น

ต่างจากทุกวันนี้ คนส่วนใหญ่กว่าจะได้ทราบ ว่าวันพรุ่งนี้ หรือ วันนี้เป็นวันพระ ก็อาจจะด้วยต้องผ่านร้านขายพวงมาลัย ที่มักจะติดป้าย “วันนี้วันพระ” ไว้เป็นเครื่องเตือนใจให้ซื้อดอกไม้กันนั่นเอง ซึ่งยังถือว่าเป็นโชคดี ที่มีหน่วยงานหนึ่ง (คือหน่วยขายพวงมาลัย) ทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์ แจ้งประชาชนให้ทราบว่าวันนี้เป็นวันพระ

เนื้อหาในบทความนี้ ประกอบด้วยข้อควรทราบ เรื่อง วันพระคืออะไร , มีความสำคัญอย่างไร, พุทธศาสนิกชนทำอะไรกันบ้างในวันพระ และทำไมบางคนถึงนุ่งขาวห่มขาวในวันพระ

"วันพระ วันธรรมสวนะ หรือ วันอุโบสถ หมายถึง วันประชุมของพุทธศาสนิกชนเพื่อปฏิบัติกิจกรรมทางศาสนาในพระพุทธศาสนาประจำสัปดาห์ หรือที่เรียกกันทั่วไปอีกคำหนึ่งว่า "วันธรรมสวนะ" อันได้แก่วันถือศีลฟังธรรม (ธรรมสวนะ หมายถึง การฟังธรรม) โดยวันพระเป็นวันที่มีกำหนดตามปฏิทินจันทรคติ โดยมีเดือนละ ๔ วัน ได้แก่ วันขึ้น ๘ ค่ำ, วันขึ้น ๑๕ ค่ำ (วันเพ็ญ), วันแรม ๘ ค่ำ และวันแรม ๑๕ ค่ำ" (หากเดือนใดเป็นเดือนขาด ถือเอาวันแรม ๑๔ ค่ำ)

วันพระนั้นเดิมเป็นธรรมเนียมของนักบวชนอกพระพุทธศาสนา ที่จะประชุมกันแสดงธรรมทุก ๆ วัน ๘ ค่ำ ๑๕ ค่ำ ซึ่งในสมัยต้นพุทธกาล พระพุทธเจ้ายังคงไม่ได้ทรงวางระเบียบในเรื่องนี้ไว้ ต่อมาพระเจ้าพิมพิสารได้เข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อกราบทูลพระพุทธองค์ให้ทรงอนุญาตให้มีการประชุมพระสงฆ์ในวัน ๘ ค่ำ ๑๕ ค่ำ

แต่พระภิกษุเมื่อประชุมกันแล้ว พากันนิ่งเฉยไม่พูดอะไร ชาวบ้านก็พากันตำหนิ ว่าทำไมประชุมกันแล้ว ไม่แสดงธรรม เมื่อพระพุทธเจ้าทรงทราบ จึงทรงอนุญาตให้มีการแสดงธรรมในวันดังกล่าว ซึ่งเรียกกันภายหลังว่า “วันพระ” หรือ “วันธรรมสวนะ” และต่อมาทรงเห็นว่า ควรนำเอาศีลของภิกษุ ๒๒๗ ข้อมาแสดงในวัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำอันเป็นวันอุโบสถ ที่เรียกว่า สวดปาติโมกข์ด้วย

ประเพณีสวดปาติโมกข์ทุก ๑๕ วันดังที่ทรงบัญญัติไว้ จึงสืบต่อมา

โดยมากพุทธศาสนิกชนที่เคร่งครัดในการปฏิบัติมักจะมีการอาราธนาอุโบสถศีลในวันพระด้วย บางท่านจะนุ่งขาวห่มขาวออกจากบ้านอย่างน้อย ๑ วันเพื่อไปปฏิบัติธรรมอยู่ที่วัด โดยเป็นธรรมเนียมปฏิบัติมาจนถึงทุกวันนี้

ข้อปฏิบัติในวันพระของพุทธศาสนิกชนในวันพระ ยกตัวอย่างเช่น

ตื่นนอนแต่เช้า เพื่อเตรียมสำหรับอาหารสำหรับใส่บาตรในตอนเช้า ,สวดมนต์ไหว้พระ และอาราธนาอุโบสถศีล ซึ่งมี ๘ ข้อดังต่อไปนี้

๑. ปาณาติปาตา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ : เว้นจากการฆ่าสัตว์ ด้วยตนเองและใช้ให้ผุ้อื่นฆ่า
๒. อทินฺนา ทานา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ : เว้นจากการลักสิ่งของที่ผู้อื่นมิได้ให้ ด้วยตนเองหรือใช้ให้ผู้อื่นลัก
๓. อพฺรหฺมจริยา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ : เว้นจากการประพฤติผิดพรหมจรรย์
๔. มุสาวาทา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ : เว้นจากการพูดปด พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ
๕. สุราเมรยมชฺชปมาทฏฺฐานา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ : เว้นจากการดื่มสุราเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท
๖. วิกาลโภชนา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ : เว้นจากการบริโภคอาหารในยามวิกาล (คือนับตั้งแต่หลังเที่ยงวันจนถึงรุ่งอรุณของวันใหม่ คนโบราณจะถือว่าเมื่อตื่นนอนและมองเห็นลายมือของตนเองแล้วจึงจะเริ่มต้นรับประทานอาหารได้)
๗. นจฺจคีตวาทิตวิสูกทสฺสนา มาลาคนฺธวิเลปนธารณมณฺฑนวิภูสนฏฺฐานา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ : เว้นจากการฟ้อนรำขับร้อง ประโคมดนตรี และประดับร่างกายด้วยดอกไม้ของหอม เครื่องประดับ เครื่องทา เครื่องย้อม ทุกชนิด
๘. อุจฺจาสยนมหาสยนา เวรมณี สิกฺขาปทํ สมาทิยามิ : เว้นจากการนั่งนอนเหนือเตียงตั่ง สูงใหญ่ ภายในมีนุ่นหรือสำลี วิจิตรลวดลายงามไปด้วยเงินทอง

ศีลข้อที่สำคัญที่สุด ในอุโบสถศีล ได้แก่ การสมาทานงดเว้นจากรรมอันมิใช่พรหมจรรย์ ,งดเว้นการเสพประเวณี

ศีลพรหมจรรย์ข้อนี้จะขาดต่อเมื่อล่วงพร้อมด้วยองค์ ๒ หรือ ๔

๑ เสวนจิตฺตํ จิตคิดจะเสพ
๒ มคฺเคน มคฺคปฺปฏิปาทนํ อวัยวะเพศถึงกัน
(ตามนัยแห่งฎีกาพรหมชาลสูตรและกังขาวิตรณี)

*****************************************************************************************
๑ อชฺฌจรณียวตฺถุ เสพทางทวาร ๓ (คือ ปาก ทวารเบา และทวารหนัก)
๒ ตตฺถ เสวนจิตฺตํ จิตคิดจะเสพ
๓ เสวนปฺปโยโค พยายามเสพ
๔ สาทิยนํ มีความยินดี
(ตามนัยแห่งอรรถกถาขุททกปาฐะ)

*** จะเห็นได้ว่า ศีลข้อ ๓ ในอุโบสถศีลจะต่างกับศีลข้อ ๓ ของศีล ๕ คือ บุคคลผู้รับศีล ๕ ยังสามารถที่จะเสพประเวณี มีกามกิจได้ กับคู่ครองของตน แต่สำหรับผุ้สมาทานศีลพรหมจรรย์จะไม่สามารถมีกามกิจเสพประเวณีได้เลย ***

ด้วยการสมทานเว้นจากกรรมอันมิใช่พรหมจรรย์ นี่เอง ทำให้พุทธศาสนิกชนหลายท่านเดินทางไปปฏิบัติธรรมที่วัด เนื่องจากมีความสัปปายะมากกว่า และเป็นโอกาสที่จะได้บำเพ็ญบุญกิริยาวัตถุสิบประการ เช่น การทำทาน การฟังพระธรรมเทศนาจากพระภิกษุ และแลกเปลี่ยนพูดคุยธรรมะ ซึ่งจัดว่าเป็นการแสดงธรรมอย่างหนึ่ง นอกจากนี้ยังมีการสวดมนต์ทำวัตร และปฏิบัติพระกรรมฐาน และนิยมปล่อยสัตว์ เช่น นก ปลา และอุทิศส่วนกุศลให้กับญาติผู้ล่วงลับ เป็นต้น

หลายท่านเมื่อเดินทางไปที่วัดจึงมักเห็นอุบาสิกและอุบาสิกาแต่งกายในชุดสีขาวสะอาดตานั่งพับเพียบเรียบร้อย อยู่ในอาการสำรวม จึงมีความสงสัยว่าประเพณีการนุ่งขาวห่มขาวมาจากไหน

การนุ่งขาวห่มขาวนี้คาดว่าไม่ใช่ธรรมเนียมปฏิบัติของชาวพุทธโดยตรง แต่ได้รับอิทธิพลมาจากศาสนาพราหมณ์ที่เกิดที่ดินแดนชมพูทวีป ( ประเทศอินเดีย ) ก่อน พุทธศาสนา ด้วยพรามหณ์ ไศวนิกาย จะถือเพศ นุ่งขาว ห่มขาว ไว้มวยผม ถือศีล จริยาวัตรของพราหมณ์ มีครอบครัวได้อยู่บ้าน หรือ เทวสถาน ประจำลัทธิ นิกายแห่งตน

ส่วนพราหมณ์ ไวษณวะนิกาย จะไว้ผมเปียหรือมวยผม ถือเพศ พรหมจรรย์ กิน มังสวิรัติ ไม่ถูกต้องตัวสตรีเพศ นุ่งห่มสีขาว หรือสีต่าง ๆ และอาศัยอยูในเทวสถาน

เมื่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประกาศศาสนา และคำสอนเผยแผ่ออกไปในหมู่พราหมณ์ พราหมณ์เหล่านี้ก็ได้เปลี่ยนมานับถือพระพุทธศาสนามีวัตรปฏิบัติตามคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยที่ยังคงมีความนิยมในการนุ่งขาวห่มขาว ซึ่งนัยยะหนึ่งแสดงถึงอยู่ในภาวะการปฏิบัติธรรม มีความสะอาดบริสุทธิ์ จึงยังคงเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ

วันพระ เป็นวันที่เปิดโอกาสแห่งสนาทีทอง นาทีธรรม ให้ท่านผู้เกิดในร่มเงาบวรพระพุทธศาสนา ได้มีโอกาสประพฤติปฏิบัติธรรม ชำระจิตใจให้สะอาดบริสุทธิ์ ไกลห่างจากกิเลสทั้งปวง อันเป็นจุดมุ่งหมายสูงสุดแห่งการได้อัตถภาพความเป็นมนุษย์

วันพระ..หนึ่งอาทิตย์มีเพียงแค่หนึ่งวันเท่านั้น ขึ้นอยู่กับว่าผู้ใดจะรู้คุณค่า รีบบำเพ็ญบุญในเวลาที่ต้องอยู่ในโลกนี้ด้วยเวลาอันจำกัด ขึ้นชื่อว่ากาลเวลา ไม่เคยคอยท่าผู้ใด ที่โบราณท่านว่า “พายเถิดหนา พ่อพาย แม่พาย ตะวันจะสาย ตลาดจะวาย สายบัวจะเน่า” ก็คงไม่ผิดนัก



บทความและภาพประกอบโดย : น้อมเศียรเกล้า




 

Create Date : 06 พฤศจิกายน 2553    
Last Update : 19 สิงหาคม 2554 23:15:55 น.
Counter : 1133 Pageviews.  

จามรีรักษาขน - น้อมเศียรเกล้า

“เธอจงบำเพ็ญ ศีลบารมีเถิด อันว่า... จามรีรักษาขนหาง แม้ติดอยู่ในที่ใด ก็ยอมตายอยู่ที่นั้น ไม่ยอมให้ขนหางเสียไปฉันใด เธอจงบำเพ็ญศีล รักษาศีลทั้ง *** ๔ ให้บริบูรณ์ในกาลทุกเมื่อ ดุจจามรีรักษาขนหางของตนฉันนั้น

***ศีล ๔ คือ ปาติโมกขสังวรศีล อินทรียสังวรศีล อาชีวปาริสุทธิศีล และปัจจัยสันนิสิตศีล

“ข้าพเจ้ายอมให้เขาทำร้าย ยอมให้เขาจับหามไป ทั้งที่รู้ว่าเขาจะเอาไปฆ่าเป็นอาหาร ข้าพเจ้ายอมสละได้แม้ชีวิต แต่จะไม่ยอมล่วงละเมิดศีล” (สังขปาลนาคราชโพธิสัตว์)

“เพื่อนเอ๋ย งาของเราใช่ว่าเราจะไม่รัก แต่พระสัมมาสัมโพธิญาณเป็นสิ่งที่เรารักยิ่งกว่างานี้ ตั้งร้อยเท่า พันเท่า เราจึงไม่ประทุษร้ายท่าน” (พญาฉัททันต์โพธิสัตว์)

ศีลคืออะไร?

ศีลอาจได้ความหมายมาจากคำที่ไพเราะและมีความหมายอันลึกซึ้งสูงส่งกว่าความคาดเดายิ่งนัก นั้นก็คือ มาจากคำว่า ศิระซึ่งแปลว่ายอด หรือ ศีรษะ

ศีลอาจมาจากคำว่า สีละ ซึ่งแปลว่าปกติก็เป็นได้ เพราะการรักษาศีลจึงเป็นการนำไปสู่ความเป็นคนที่ปกติสมบูรณ์

นอกจากนี้คำว่าศีลอาจมาจากคำว่า สีละตะ อันหมายความว่า.. เย็น เพราะผู้มีศีลจะมีลักษณะที่เย็นคือ อิ่มเย็น ดุจดังผู้อาบน้ำชำระร่างกายจนหมดจดดีแล้วและนั่งพักอยู่ ณ ร่มไม่ใหญ่ ปานฉะนั้น

ศีลมีลักษณะ ดังต่อไปนี้คือ

๑) สีลนลกฺขณา
คือ ศีลนี้ มีการรักษากาย วาจา ให้ตั้งไว้ด้วยดี โดยไม่ให้กระจัดกระจายไป เป็นลักษณะ หรือ มีลักษณะเป็นพื้นฐานแห่งกุศลทั้งหลาย

๒) ทุสฺสีลฺยวิทฺธํสนรสา
ศีลนี้มีอันทำลายความเป็นผู้ไม่มีศีลเป็นรส หรือ อนวชฺชคุณรสา วา คือสมบูรณ์ด้วยคุณอันปราศจากโทษ เป็นสัมปัตติรส

๓) โสเจยฺยปจฺจุปฏฐานา
มีความสะอาดแห่งกายและวาจา เป็นอาการปรากฏ

๔) หิโรตฺตปฺปปทฏฺฐานา
มีความความละอายชั่วกลัวบาปเป็นเหตุใกล้

ศีลมีหลายประเภท เช่น ศีล ๕ ศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ เป็นต้น
แต่ศีลสำคัญที่เจตนา ผู้มีเจตนาในการักษาศีล จึงจะชื่อได้ว่าเป็นผู้รักษาศีล ความตั้งใจในการรักษาศีลนี้เรียกว่า "วิรัติ" หรือ "เวรมณี" คือตั้งใจงดเว้นจากความชั่ว หากมิได้ตั้งใจงดเว้น เพียงแต่ยังไม่ได้ทำชั่ว อย่างนี้ไม่เรียกว่าวิรัติ

อานิสงส์ของศีลมีเป็นลำดับชั้นดังนี้

๑.ศีลมีความไม่เดือดร้อนเป็นอานิสงส์ เป็นประโยขน์
๒.เมื่อไม่เดือดร้อนก็มีความบันเทิงเป็นอานิสงส์ เป็นประโยชน์
๓.เมื่อมีความบันเทิง ก็มีปิติเป็นอานิสงส์ เป็นประโยชน์
๔.เมื่อมีปิติ ก็มีปัสสัทธิความสงบ เป็นอานิสงส์ เป็นประโยชน์
๕.เมื่อมีความสงบก็ มีความสุข
๖.เมื่อมีความสุข ก็มีสมาธิเป็นอานิสงส์
๗.เมื่อมีสมาธิก็มีความ รู้เห็นตามความเป็นจริง
๘.เมื่อรู้เห็นตามความเป็นจริง ก็เกิดความเบื่อหน่าย ความคลายเป็นอานิสงส์
๙.เมื่อเบื่อหน่าย คลายกำหนัด ย่อมมีความรู้เห็นในวิมุติเป็นอานิสงส์

การรักษาศีลต้องใช้สติเป็นตัวรักษา คือระลึกได้อยู่เสมอ ว่าจะไม่ฆ่า ไม่ขโมย ไม่ประพฤติผิดในกาม ไม่พูดเท็จ ไม่ดื่มสุราเป็นต้น นอกจากนี้ ผู้รักษาศีลยังต้องรู้จักละอายชั่วกลัวบาป จึงจะรักษาได้โดยไม่ต้องให้ใครมากำกับ

การรักษาศีลไม่จำเป็นว่าต้องสมาทานกับพระสงฆ์เสมอไป รักษาได้ทุกเวลา หากตั้งใจรักษาตอนไหนก็เป็นศีลเวลานั้น

ศีลเป็นการบำเพ็ญบุญอย่างหนึ่ง เมื่อบำเพ็ญให้เข้มข้นมากขึ้นจะกลั่นเป็น บารมี ซึ่งมีอานิสงส์สูงกว่าการถวายทาน เพราะการถวายทานนั้นทำง่าย ส่วนการรักษาศีล นั้นทำยาก ต้องทำด้วยตนเอง อาศัยความเพียร และอาศัยความมีสติเป็นต้น จึงจะทำได้ และการรักษาศีลยังเป็นการทวนกระแสกิเลส กระแสโลก

คนที่ต้องมีปัญญาและความศรัทธาระดับหนึ่งเท่านั้น จึงจะตั้งใจรักษาศีล ปฏิบัติธรรม บุคคลทั้งหลายไม่ว่าจะอยู่ในวัยใด เพศใด ฐานะใดก็พึงรักษาศีล ระมัดระวังทะนุถนอมศีลตนประดุจดังจามรีรักและหวงแหนขน เพราะศีลของตนที่บริสุทธิ์ดีแล้ว ย่อมนำสุขมาให้ ศีลยังเป็นเขตแดน เป็นเครื่องกั้นความทุจริต ทำจิตให้ร่างเริงแจ่มใส และเป็นท่าหยั่งลงมหาสมุทรคือ พระนิพพาน ของพระพุทธเจ้าทั้งปวง

ศีลเปรียบประดุจดั่งดวงแก้วสารพัดนึก ที่จะบันดาลให้สมความปรารถนา และติดตามหล่อเลี้ยงรักษาผู้ที่รักษาศีลไปตราบกาลนาน

ดังที่พระท่านให้ศีลว่า..

"สีเลน สุคตึ ยนฺติ บุคคลเข้าถึงสุคคติได้ก็ ด้วยศีล

สีเลน โภคสมฺปทา บุคคลได้โภคสมบัติก็ด้วยศีล

สีเลน นิพพุตึ ยนฺติ บุคคลบรรลุพระนิพพานได้ก็ด้วยศีล"





บทความธรรมะเรียบเรียงโดย : น้อมเศียรเกล้า
ภาพวัดบางกะพ้อม จ. สมุทรสงคราม : น้อมเศียรเกล้า




 

Create Date : 03 พฤศจิกายน 2553    
Last Update : 19 สิงหาคม 2554 23:16:27 น.
Counter : 1547 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  12  

น้อมเศียรเกล้า
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 7 คน [?]




Friends' blogs
[Add น้อมเศียรเกล้า's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.