อินเดีย - วัันที่สิบ กัลกัตตากันอีกครั้งก่อนกลับเมืองไทย

เช้าวันสุดท้ายใน City of Joy



แสงแดดยามเช้าที่ Sudder Street


มองในภาพดีๆ จะเห็นหนุ่มน้อยใหญ่อินเดียอาบน้ำกันอยู่ริมถนนและทางเดิน 




แบบนี้



ตามธรรมเนียมปฎิบัติเดิม แวะเดินเที่ยวเก็บตกตัวเมืองกันอีกครั้ง เดินมันใกล้ๆที่พักนี่แหละ แล้วค่อยกลับมาทานอาหารเช้าที่โรงแรมก่อนเดินทางไปสนามบิน


เวลาไปเที่ยวนี่ก็แปลกนะคะ จะเหนื่อยแค่ไหน นอนไม่พอยังไง กะเหรี่ยงไทยก็ยังมีแรงสปริงตัวเองออกจากที่นอนได้แบบออโตเมติกแต่เช้าตรู่ แต่ในชีวิตประจำวันของมนุษย์เงินเดือนที่กรุงเทพ เอาซุงมางัดยังไม่อยากจะลุกจากที่นอนไปทำงานเลยอ่ะ 



กัลกัตตาสำหรับกะเหรี่ยงไทย คงต้องใช้เวลาเกือบๆหนึ่งเดือนถึงจะเที่ยวได้ทะลุปรุโปร่ง 




แต่คงต้องหาที่พักถูกๆอยู่แทนที่เดิมล่ะค่ะ พักที่ Fairlawn Hotel ทุกวันคงจะไม่ไหว 




เสียดายทีีมีเวลาที่นี่น้อยเกินไปจริงๆ




ใกล้เวลาเดินทางแล้ว กลับโรงแรมดีกว่าค่ะ




Saint Thomas Day School ที่ Sudder Street



ประตูสีเหลืองที่ Saint Thomas Day School




Wesleyan Church บน Sudder Street เช่นกัน




Indian Museum ภาพยามเช้าจาก Sudder Street




รถแท็กซี่สีเหลืองสด




หลายๆคนคงจะเคยคุ้นตากับ Yellow Taxi ที่นิวยอร์ก แต่นี่คือ Yellow Taxi แห่งเวสต์เบงกอล 




เถลไถลรายทางไปเรื่อย แต่สุดท้ายก็กลับถึงโรงแรมจนได้



อาหารเช้าที่บริเวณโต๊ะอาหารชั้นล่างติดกับล็อบบี้ เริ่มตั้งแต่ 7 โมงครึ่งนะคะ



พนักงานเตรียมพร้อมให้บริการตั้งแต่เช้าแล้วค่ะ




โต๊ะอาหารเช้าที่นั่งครองอยู่คนเดียว  และ..จานแรกของเช้านี้ ผลไม้ค้า  ที่บ้านเรา ทานผลไม้เป็นของหวานหลังของคาว ธรรมเนียมของ Fairlawn Hotel เสิรพ์ผลไม้เป็นจานแรกก่อนเลยจ้า 





พนักงานที่ร้านอาหารเช้านี้ เป็นพนักงานที่กะเหรี่ยงไทยเจอหน้าบ่อยที่สุดในโรงแรมนี้รองจากผู้จัดการโรงแรม   เดินออกจากห้องพักทีไรก็เห็นเค้าเดินไปเดินมาอยู่ที่ชั้นสองของโรงแรมอยู่เรื่อย



ทานอาหารเช้าเสร็จก็เช็คเอาท์พร้อมออกเดินทางแล้ว



แบกเป้เดินกลับไปเอสพลานาดเพื่อนั่งรถไฟฟ้าไปลงที่สุดสถานีที่ Dum Dum Station ขาลงโดนเจ้าหน้าที่สแกนกระเป๋าอย่างดุเดือดนิดหน่อย เพราะเป้อิชั้นใบใหญ่มาก พอบอกว่าจะไปสนามบินเจ้าหน้าที่ก็ปล่อยกะเหรี่ยงไปอย่างง่ายดาย  ค่ารถไฟฟ้าใต้ดินถูกมากๆๆๆ ถ้าจำไม่ผิดประมาณ 6 หรือ 8 รูปีเท่านั้นค่ะ รถไฟใต้ดินวิ่งเร็วมาก ประมาณครึ่งชั่วโมงก็ถึงจุดหมายแล้ว แต่มันจะไม่ถึงสนามบินเลยนะคะ เราต้องต่อรถไปอีกไกลสักหน่อย ของกะเหรี่ยงไทยเลือกต่อไปสนามบินด้วยริกชอร์ค่ะ   คนขับริกชอร์เปิดราคามาถูกมากมาย 50 รูปีเท่านั้น โอเคเลยล่ะค่ะ แต่มีเสียวตกเครื่องหน่อยนะคะ เพราะริกชอร์มันก็คือสามล้อถีบนี่แหละ


ไหนๆก็โอกาสสุดท้ายที่จะได้ลองนั่งแล้ว เวลายังเหลือเยอะ ลองดูก็ไม่เสียหายนิ 


วัวน้อยใหญ่ที่นอนหลบแดดริมทางระหว่างทางไปสนามบิน




รถปกติธรรมดาแบบนี้ก็มีนะคะ แต่อิชั้นพิสดารเลือกนั่งริกชอร์เข้าสนามบินเอง




แต่เค้าถีบได้เร็วสะใจมาก นึกว่าจะเอื่อยๆช้า ที่ไหนได้ ขับซิ่งน่าดู 





ถึงแล้ว!!!! 





สนามบินกัลกัตตา คนขับริกชอร์ถีบรถเลี้ยวลดไปตามทางและไปจอดให้กะเหรี่ยงไทยลงที่หน้าอาคารผู้โดยสารขาออกอย่างสวยงาม 





เช็คอินของสนามบินในอินเดียเค้าจะให้เราสแกนกระเป๋าที่จะโหลดก่อนจะเช็คอินด้วยนะคะ ฝรั่งที่สแกนกระเป๋าก่อนหน้ากะเหรี่ยงโดนสั่งให้รื้อเป้หาไฟแช็คที่สแกนเจอในเป้ใบยักษ์ของเธอออกมาให้เจ้าหน้าที่ริบเก็บไว้ค่ะ เหอๆๆๆๆๆ นี่ขนาดว่ากระเป๋าโหลดก็ยังพกของแบบนี้ไปด้วยไม่ได้นะคะ ลองนึกภาพตามนะคะ ฝรั่งวัยรุ่นที่ต้องเปิดเป้แบ็คแพ็คใบใหญ่ รื้อข้าวของทั้งกระเป๋าออกมากองกับพื้นเพื่อหาไฟแช็คอันเดียว ดูไม่จืดเชียวล่ะค่ะ  แต่ของกะเหรี่ยงไทยผ่านโลดนะคะ


จากนั้นก็ไปเช็คอิน เคาท์เตอร์เช็คอินที่อินเดียแปลกมาก คนที่เช็คอินกับคนรอคิวคนต่อไปต้องยืนห่างกันเกือบ 10 เมตร! แล้วก็จะมีเจ้าหน้าที่เดินมาแจก tag เขียนชื่อและไฟล์บินสำหรับกระเป๋าที่จะถือขึ้นเครื่อง ถือกี่ใบขอ tag ให้ครบตามใบเลยนะคะ ใบไหนไม่มี tag ห้อยอยู่ จะโดนเจ้าหน้าที่ภายในอาคารขาออกไล่กลับมาทำเช็คอินใหม่ 


ปลั๊กไฟในสนามบิน




ระยะทางจากอาคารผู้โดยสารกับเครื่องบินห่างกันแค่นี้เองค่ะ แต่โดยหลักข้อบังคับตามสากลของสนามบิน เค้าจะให้เราเดินไปเดินมาเองในลานบินไม่ได้ ต้องขึ้นรถให้เค้าขับมาส่งนะคะ




ภาพสุดท้ายของประเทศอินเดีย ประเทศที่เราไม่รู้จักใครและไม่มีใครรู้จักเรา ที่ๆเราระหกระเหินเดินทางคนเดียว ได้พบเจอคนดีๆ เพื่อนใหม่และกัลยาณมิตรที่ช่วยเหลือในระหว่างการเดินทางตลอด 10 วันที่ผ่านมา


ภาพจากหน้าต่างเครื่องบินที่จะพากะเหรี่ยงไทย Back to Reality กลับสู่ชีวิตมนุษย์เงินเดือนกันอีกครั้ง 












Free TextEditor




 

Create Date : 08 กรกฎาคม 2554   
Last Update : 8 กรกฎาคม 2554 18:03:08 น.   
Counter : 3097 Pageviews.  


อินเดีย - วันที่เก้า เดินไปเที่ยวไปในกัลกัตตา

เนื่องจากกว่าเราจะออกตัวจากโรงแรมก็บ่ายกว่าๆแล้ว เรื่องของเรื่องคือเกิดอาการเหนื่อยจากการเดินทาง เพลียจากการนั่งรถทัวร์ทั้งคืน และข้อเท้าบวมจากการเดินมากเกินไปในแต่ละวัน พอเข้ามาเช็คอินเสร็จก็ง่วงนอนมาก เผลอหลับไป ตื่นมาอีกทีก็บ่ายโมงแล้วอ่ะ

ตัดสินใจทันทีว่าจะต้องตัด The Great Banyan ที่ Acharya Jagadish Chandra Bose Indian Botanic Garden ออกจากโปรแกรมวันนี้ เพราะสถานที่อยู่ไกลออกจากตัวเมือง และโดยนิสัยส่วนตัว ถ้าไปถึงแล้วก็คงจะเดินอยู่แต่ในนั้นอีกนานจนพลาดสถานที่อีกสองแห่งที่มีเวลาเปิดปิดตายตัว ส่วนอีกสองแห่งที่จะไปนั้น อยู่ค่อนข้างใกล้ ถ้าทำเวลาดีๆไปได้ครบแน่นอน กะเหรี่ยงไทยมีโครงการกลับมาซ่อมทริปสิกขิมในปีหน้า เพราะฉะนั้นคราวหน้าเดี๋ยวค่อยมาเก็บตก The Great Banyan ก็ได้ ไม่ซีเรียสค้า

เอาล่ะสิ ทีนี้จะไปไหนก่อนดี??? ขอเลือกไป Rabindranath Tagore House ก่อนก็แล้วกัน เพราะสามารถนั่งรถไฟใต้ดินไปลงแล้วเดินไปถึงได้  ส่วนบ้านของแม่ชีเทเรซ่า Mother Teresa House กะเหรี่ยงไทยค่อยนั่งรถไฟใต้ดินกลับมาแล้วมาต่อแท็กซี่เอา หรือถ้ามีเวลาก็เดินจาก Park Street ไปก็ได้ ดูจากแผนที่แล้วก็ไกลนิดหน่อยแต่ไม่ถึงกลับไกลมากมายจนเดินไม่ไหว   ถ้างั้นก็เดินออกซอยข้างๆโรงแรมไปเข้า New Market แล้วลัดไปลงรถไฟฟ้าใต้ดินที่เอสพลานาดดีกว่า จะได้เดินเที่ยว New Market ไปด้วยเลย

New Market ก็จะเป็นย่านการค้าที่คล้ายๆบางลำพูผสมกับตลาดพัฒน์พงศ์ค่ะ



คนเยอะยุบยับไปหมด เดินไปก็แวะไปเพราะมีของขายมากมายเหมือนจตุจักร    กะเหรี่ยงไทยหมดเงินไปแถวๆนี้ก็หลายอยู่ ซื้อของฝากทั้งนั้น  วันนี้ถ้ามีอะไรถูกใจต้องรีบคว้าไว้เลย เพราะวันรุ่งขึ้นไม่มีเวลามาแวะอีกแล้ว



ผ้าพันคอหลากสี เลือกไม่ถูกเลยว่าจะเอาอะไรดี น่าซื้อไปหมด



New Market กันอีกรูป


ทริปนี้เกิดข้อผิดพลาดที่ไม่น่าให้อภัยที่สุดของกะเหรี่ยงไทย นั่นคือ..แบตเตอร์รี่กล้องหมด!!!!!!!!  เวรและกรรม  เดินทางมาร้อยเอ็ดเจ็ดย่านน้ำ มาตกม้าตายเพราะสาเหตุนี้..อีกแล้ว!!!!!  คำว่าอีกแล้วหมายความว่า มันเคยเกิดขึ้นครั้งหนึ่งแล้วค่ะ  ตอนไปเที่ยวเวียดนาม แบตเตอร์รี่ของกล้องอิชั้นก็หมดตอนเข้าไปดูโชว์หุ่นกระบอกน้ำที่ฮานอย ครั้งนี้อันที่จริงก็เตรียมแบตเตอร์รี่สำรองมาเรียบร้อยแล้ว แต่เพราะว่าคืนที่ผ่านมากะเหรี่ยงไทยใช้เวลาบนรถทัวร์ แล้วเมื่อมาถึงกัลกัตตา พอเช็คอินเสร็จก็เข้าไปนอนหลับก่อนเป็นอย่างแรก พอตื่นขึ้นมาก็รีบเก็บของออกจากโรงแรมโดยที่ลืมเอาแบตเตอร์รี่ใหม่ที่เพิ่งชาร์ตติดตัวไปด้วย และแบตเตอร์รี่ที่ติดกล้องไปก็หมดพอดี เศร้าใจอีกรอบ เสียดายที่สุดที่ไม่มีรูปแม้แต่ใบเดียวจาก Rabindranath Tagore House เลย


Rabindranath Tagore House เป็นบ้านของระพินทรนาถ ฐากูร มหากวีและนักปรัชญาชาวอินเดีย เป็นคนเอเซียคนแรกที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมในปี พ.ศ 2456 เกิดที่คฤหาสน์โชราสังโก ในกัลกัตตานี่แหละค่ะ ท่านเกิดในวรรณะพราหมณ์แห่งตระกูลฐากูร ซึ่งเป็นตระกูลที่ร่ำรวยมั่งคั่งที่สุดตระกูลหนึ่งของแคว้นเบงกอลในประเทศอินเดีย ระพินทรนาถ ฐากูรเป็นบุตรชายของมหาฤๅษีเทเพนทรนาถ ฐากูร ชีวิตในวัยเด็กของท่านมักจะถูกจำกัดอยู่ในคฤหาสน์ของตระกูล แวดล้อมไปด้วยนักคิด นักปรัชญา เสียงดนตรี กวีและศิลปิน ท่านถูกส่งไปเรียนที่ประเทศอังกฤษในวัย 17 ปี แต่เนื่องจากความอึดอัดและไม่มีความสุขกับระบบของสถานศึกษา ทำให้ท่านตัดสินใจเลิกเรียนกลางคันและเดินทางกลับประเทศอินเดีย


ในยุคนั้น กัลกัตตาเป็นเมืองหลวงของรัฐบาลอังกฤษในช่วงที่อังกฤษปกครองประเทศอินเดีย ท่านระพินทรนาถ ฐากูร จึงเป็นคนที่เติบโตมากับสองวัฒนธรรมที่หล่อหลอมเข้าด้วยกัน ว่ากันว่า ปู่ของท่านเป็นพ่อค้าใหญ่ซึ่งมีจิตใจกว้างขวาง มีมิตรมากมายเข้ากับคนได้ทุกชนชั้นเฉกเช่นชาวตะวันตก แต่บิดาของท่านกลับเป็นคนสมถะเรียบง่าย และยึดถือปฎิบัติตามขนบธรรมเนียมและประพฤติตามประเพณีของฮินดูอย่างเคร่งครัด หลังจากเดินทางกลับจากประเทศอังกฤษ ท่านระพินทรนาถ ฐากูรได้มองว่า ระบบการศึกษาที่อังกฤษวางให้แก่อินเดียนั้น ไม่สอดคล้องกับความต้องการที่แท้จริงของคนอินเดียซึ่งเป็นชาวตะวันออก เพราะเป็นการเอารากฐานการวางระบบมาจากอังกฤษ เนื่องจากโรงเรียนไม่ใช่โรงงานอุตสาหกรรมที่จะผลิตหรือออกแบบมามาตรฐานเดียวแล้วสามารถใช้ได้ทั่วโลก จุดมุ่งหมายในครั้งนั้นของท่านก็คือ ทำอย่างไรให้แนวทางการศึกษานี้สอดคล้องไปกับวัฒนธรรมของอินเดีย


ท่านได้รวบรวมเงินจำนวนหนึ่งจากงานเขียนของท่านและงานบรรยายส่วนตัวตามสถาบันศึกษาต่างๆ ไปจัดตั้งโรงเรียนในที่ดินของตระกูลฐากูรตามแนวคิดของตนเองขึ้นที่ศานตินิเกตัน Santiniketan


โรงเรียนที่ศานตินิเกตัน มหาวิทยาลัยวิศวภารตี และศรีนิเกตันที่ท่านเป็นผู้ก่อตั้ง ปัจจุบันได้ถูกรวบรวมขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยวิศวภารตี ภายใต้การสนับสนุนของรัฐบาลในยุคปัจจุบัน คนไทยที่ได้มาเรียนที่ศานตินิเกตันก็มีหลายคนนะคะ ที่เป็นรู้จักกันก็เช่น อาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์


บ้านที่กะเหรี่ยงไทยแวะเข้ามาชมวันนี้คือบ้านเกิดของท่านในกัลกัตตาค่ะ ขอโทษที่ไม่มีรูปมาฝากนะคะ เสียใจมากจริงๆ  หลังจากออกจาก Rabindranath Tagore House แล้ว กะเหรี่ยงตัดสินใจแวะไปเอาแบตเตอร์รี่ที่เสียบชาร์ตเอาไว้ที่โรงแรมก่อนออกเดินทางไป Mother Teresa House ต่อทันที



ที่กังต็อกเราซื้อซิมการ์ดของ Vodafone ที่ร้านขายมือถือบนถนน MG Marg ใช้ค่ะ ซิมนี้ใช้ได้ที่กัลกัตตาด้วย ก่อนเดินทางก็มีคนใจดีให้ยืมซิมการ์ดโทรศัพท์ของ AirTel ของอินเดียติดตัวไป ใช้ได้ที่กัลกัตตาแต่ไม่มีสัญญานในสิกขิมเลย ไปหาซื้อซิมการ์ดเอาที่โน่นเลยก็ได้นะคะ ซิมถูกมาก ประมาณ 5-10 รูปีเอง บางเจ้าก็ประมาณ 1 รูปี แล้วก็เติมเงินเอาที่ร้านโทรศัพท์เลยนะคะ ขอแนะนำว่าควรซื้อ เพราะความสะดวกในการติดต่อทัวร์และโรงแรมหรือแม้แต่กับไกด์และคนขับรถ โทรกลับเมืองไทยถูกแสนจะถูก เราโทรกลับมาเมืองไทยทุกวันคุยกับครอบครัววันละ 3-5 นาที ส่งsmsและใช้โทรในอินเดีย เติมเงินไป 500 รูปีตอนที่ซื้อซิมการ์ด วันกลับยังเหลือเงินอยู่ 300 รูปีกว่าๆเลยค่ะ ถูกแสนจะถูก มิน่าเห็นคนอินเดียมีมือถือใช้กันคนละ 2-3 เครื่อง มันถูกกันแบบนี้นี่เอง ส่งsmsในอินเดีย เสียครั้งละ 1 รูปีเอง  ถูกมากกกก!!!!!!!!!


เรื่องซิมการ์ดที่อินเดียเนี่ย มีคนบอกกันมาหลายคนแล้วว่าซื้อยากมาก เราว่าก็จริงนะคะ เพราะต้องใช้เอกสารเยอะ ซิมที่เราซื้อ เจ้าของร้านลงทะเบียนให้เป็นชื่อของเค้าเองค่ะ เพราะเราเป็นนักท่องเที่ยวไม่มีหลักแหล่งแน่นอนในอินเดีย ร้านค้าทั่วๆไปเค้าจะไม่ขายให้นะคะ เค้าคงจะกลัวการเอาโทรศัพท์ไปก่อวินาศกรรมในประเทศเค้า เช่น ใช้โทรศัพท์ลิ้งค์จุดระเบิดเหมือนภาคใต้บ้านเรา ตอนเราเดินเข้าไปซื้อในร้าน พนักงานของเค้ายังไม่ขายให้เราเลยค่ะ พนักงานขายชี้ๆให้เราเดินไปหลังร้าน พอเจอเจ้าของร้านเค้าก็มีสัมภาษณ์เราเล็กน้อย ขอดูพาสปอร์ต แล้วถึงจะยอมขายให้เรา เค้ายังขอให้เราหักซิมการ์ดทิ้งด้วยถ้าหากว่าเราไม่มีกำหนดจะเดินทางกลับมาอินเดียอีก คือถ้ามีใครเก็บซิมการ์ดที่เราทิ้งไปก่อการร้ายแล้วทางรัฐบาลสาวมาถึงว่าซิมนี้เป็นชื่อของเค้า เค้าก็จะลำบากไปด้วย


ทางไป Mother Teresa House จาก Sudder Street มีสองทาง ทางลัดก็เดินออกทางท้ายซอยของถนนแล้วก็ลัดเลาะไปตามทางลัดไม่นานก็ถึง เหอๆๆๆๆ ไปง่ายๆอย่างนั้นก็ไม่ใช่สไตล์เราซะด้วย ขอไปทางอ้อมนิดนึงก็แล้วกันค่ะ  เราเลือกไปทาง Park Street แล้วเดินเลียบไปตามถนนใหญ่ จุดประสงค์เพราะอยากชมเมืองไปด้วยในตัว ดูเวลาแล้วก็เพิ่งจะสามโมงกว่าๆ เดินทำเวลานิดหน่อยไปทันก่อนเวลาปิดแน่นอน

Park Street ที่เป็นย่านออฟฟิตสำนักงานของกัลกัตตา ใครมองหาร้านแมคโดนัลด์ มีอยู่บนถนน Park Street อยู่ร้านหนึ่งนะคะ

แมคโดนัลด์เมืองแขก เข้าไปไม่ต้องหาเมนูหมูหรือเนื้อให้เสียเวลา มีแต่เบอร์เกอร์ไก่ให้สั่งเท่านั้น ประตูทางเข้าร้านก็แปลก แบ่งเป็นทางเข้ากับทางออกแยกคนละประตูเลยค่ะ แถมมียามร่างยักษ์ยืนเฝ้าอยู่ด้วย กะเหรี่ยงไทยไม่เก็ตว่าทำไมไม่ให้ตรูเข้าร้านฟะ?  ยามชี้ป้ายทางออกให้ดูแล้วก็ชี้ให้เดินไปเข้าอีกประตูแทน อึ้งด้วยความงุนงงไปเลยอ่ะ!!!!


Park Street ในยามใกล้จะเย็น สี่แยกถนนเมืองแขกนี่ก็ข้ามยากไม่ใช่เล่นเหมือนกันนะ ต่อให้มีไฟแดงไฟเขียวยังไง แต่เลนที่รถเลี้ยวได้นี่เค้าขับกันไม่ลดสปีดเลยค่ะ คุณจราจรแขกเห็นกะเหรี่ยงไทยยืนเงอะๆงะๆ จะข้ามไม่ข้ามอยู่หลายรอบ จนต้องมาช่วยห้ามรถให้เธอได้ข้ามถนนไปก่อน


ทางเดินจาก Park Street ไป Mother Teresa House เริ่มออกมาไกลจากแหล่งอาคารสำนักงานแล้วค่ะ ถนนบางช่วงคล้ายๆถนนสีลมแถวๆโรงพยาบาลกรุงเทพคริสต์เตียน


ตึกสวยที่ทรุดโทรมไปตามกาลเวลาและขาดการบูรณะ ตึกนี้อยู่หลังกำแพงริมถนนระหว่างทางเดินไปจุดหมายสุดท้ายของกะเหรี่ยงไทยค่ะ แต่พอดีว่าประตูนั้นเปิดแง้มอยู่เล็กน้อย ทำให้มีโอกาสได้เห็นว่าหลังกำแพงมีสนามหญ้ากว้างและอาคารที่มีสถาปัตย์ที่สวยมากๆ รีบถ่ายรูปแล้วก็รีบเดินออกมาเลยค่ะ กลัวว่าคนที่อาศัยอยู่ถ้ามาเห็นอาจจะไม่พอใจที่เรามาถ่ายรูปที่อยู่ของเค้า เมืองใหญ่ๆอย่างนี้ จะถ่ายรูปอะไรต้องระมัดระวังนิดนึง


ร้านหนังสือที่มีขอบประตูสีฟ้าทำให้นึกถึงร้านหนังสือของ William Thacker (Hugh Grant) ในเรื่อง Notting Hill


ถ้าเดินมาจาก Park Street เพื่อจะไป Mother Teresa House เมื่อคุณเดินมาจนเจอถนนที่รถรางวิ่งผ่านแบบนี้ ไม่ต้องข้ามถนนไปต่อแล้วนะคะ เลี้ยวซ้ายที่หัวมุมถนนแล้วเดินต่อไปเลยค่ะ ไม่ใกล้เท่าไหร่นะคะ  ไปอีกไกลอยู่หมือนกัน อันที่จริงจะนั่งรถรางจากเอสพลานาดมาก็ได้ค่ะ แต่มันจะไม่ตื่นเต้นเหมือนเดินเองมั่วจากแผนที่เอง ที่สำคัญ ถ้าไม่ใช่เซียนเที่ยวอินเดียที่เคยมาแล้ว คุณคงจะมองหา Mother Teresa House จากบนรถรางไม่เจอง่ายๆแน่นอน


พอเลี้ยวซ้ายเดินมา คราวนี้มันจะกลายเป็นถนนพาหุรัดและสำเพ็งแบบแขกกันอีกรอบนะคะ ริมถนนจะมีร้านค้าและของตั้งขายจนแทบไม่มีทางเท้าเหลือให้เดินเลยค่ะ กะเหรี่ยงไทยตัดสินใจเดินบนถนนเท่านั้น เพราะขี้เกียจไปเดินเบียดบนทางเท้ากับแขก    ใครจะเดินแบบนี้ ระวังรถข้างหลังคุณกันให้ดีเชียวนะคะ อ้อ!! ระวังกระเป๋าสะพายด้วย สะพายแบบพาดไหล่เฉียงๆเลยก็ดี เวลาใครมากระชากกระเป๋าจากข้างๆหรือข้างหลังก็จะได้ตัวเราปลิวติดไปเป็นของแถมด้วย

เหมือนครั้งที่ไปพนมเปญ กะเหรี่ยงไทยโดนคนขู่มาเยอะเรื่องกระชากและกรีดหรือล้วงกระเป๋า ขอบคุณสำหรับคำเตือนของทุกคนค่ะ  อยู่เมืองใหญ่ก็ต้องระวังกันให้ดี นักท่องเที่ยวอย่างกะเหรี่ยงก็ตกเป็นเป้าสายตาของแขกสองข้างทาง เดินให้พี่แขกชมกันเพลินตลอดไปเลยนะคะ คนแซวก็มีแต่อิชั้นไม่คิดอะไรมาก ทำเอาหูไปนาเอาตาไปไร่ซะ ถือซะว่าฟังไม่รู้เรื่อง แต่ถ้ามาจับมาแตะตัวล่ะก็ จะสวนกลับอย่างแรงให้จริงๆด้วย คือประชากรตามท้องถนนของเค้าเนี่ยมันก็จะเป็นผู้ชายซะส่วนมากอยู่แล้ว ไม่ค่อยมีผู้หญิงมากเท่าไหร่ แล้วก็ยิ่งเป็นนักท่องเที่ยวหน้าตาประหลาดๆแบบนี้ด้วย ยิ่งเป็นเป้าสายตาได้ง่าย คุณผู้หญิงที่จะเดินทางท่องเที่ยวทั้งหลาย จะต้องมีความระมัดระวังและสายตาไวกับสิ่งที่เคลื่อนไหวได้รอบข้างนะคะ


เดินมาตั้งไกลก็ยังไม่เจอ กะเหรี่ยงไทยเริ่มท้อใจ เกือบจะกระโดดขึ้นรถรางกลับเอสพลานาดแล้ว   ไปยืนแอบๆหน้าโบสถ์เล็กๆแห่งหนึ่งพร้อมเปิดแผนที่มองหาที่หมายอีกรอบ เหมือนฟ้าจะส่งคนมาช่วย มีชายหนุ่มที่ยืนอยู่แถวๆนั้นเดินตรงเข้ามาหา พร้อมเปิดฉากพูดกับกะเหรี่ยงไทยทันทีว่า สิ่งที่คุณมองหาอยู่ไม่ไกลจากตรงนี้แล้วครับ พร้อมชี้มือไปให้กะเหรี่ยงไทยเดินต่อไปอีก เค้าพยายามอธิบายว่าตึกที่กะเหรี่ยงไทยมองหาเป็นตึกสูงๆสีเทาๆริมถนน และเดินเข้าไปในซอยนั้นจะมีทางเข้าบ้านของแม่ชีเทเรซ่า

กะเหรี่ยงไทยคาดว่า มันคงจะมีพวกนักท่องเที่ยวที่มายืนหลงทางมองตามแผนที่อยู่แถวๆนั้นหลายคนแล้วล่ะค่ะ แล้วย่านนั้นก็ไม่มีอะไรที่พวกนักท่องเที่ยวจะมาดูกันนอกจากมาเยี่ยมบ้านของแม่ชีเทเรซ่าเท่านั้น แต่ยังไงซะ เมื่อกะเหรี่ยงไทยมองใบหน้าเปื้อนรอยยิ้มจริงใจที่จ้องหน้ากะเหรี่ยงไทยอยู่หลังจากเค้าอธิบายทางด้วยภาษาอังกฤษแบบง่ายๆ ข้างหลังของเค้าก็คือโบสถ์ของศาสนาคริสต์แห่งหนึ่งก่อนถึงบ้านแม่ชีเทเรซ่า 


เจอแล้ว!!!! Mother Teresa House บ้านของแม่ชีเทเรซ่า


เดินเข้ามานิดเดียวก็เจอทางเข้าแล้ว 54A บ้านเลขที่ของ Mother House เปิดให้เข้าได้ตั้งแต่ 8 โมงเช้าถึงเที่ยงตรง แล้วก็จะเปิดอีกครั้งตั้งแต่เวลาบ่าย 3 โมงถึง 6 โมงเย็น วันพฤหัสเป็นวันเดียวในหนึ่งสัปดาห์ที่ปิดไม่ให้เข้า




ซิสเตอร์กลุ่มใหญ่ที่เจอกันตรงทางเข้าจากปากซอย ทุกคนมาร่วมพิธีช่วงเย็นที่นี่


Mother Teresa หรือแม่ชีเทเรซ่า มีชื่อเดิมว่า Agnes Gonxha Bojaxhiu (แอ็กเนส กอนซา โบจาซิอู) เกิดที่เมือง Üsküb (อุซคูบ) ใน Ottoman Empire (จักรวรรดิออตโตมัน)  ซึ่งในปัจจุบันคือเมือง Skopje ใน Republic of Macedonia (ประเทศมาซิโดเนีย) คำว่า Gonxha ในชื่อเดิมหมายถึง กุหลาบแรกแย้ม (Rosebud) หรือ Little Flower ในภาษาอัลเบเนียนั่นเอง ท่านเป็นบุตรสาวคนเล็กของครอบครัวชนชั้นกลางเชื้อสายอัลเบเนียจากเมือง Shkodër ประเทศอัลเบเนีย พ่อและแม่คือ Nikollë และ Drane Bojaxhiu
Nikollë ฺBojaxhiu ( ชื่อของท่านหมายความว่าจิตรกรหรือช่างเขียน) ผู้เป็นพ่อเป็นชาว Kosovar ผู้ซึ่งอาจจะมาจาก Prizrenใน Kosovo  ส่วน Drane Bojaxhiu ผู้เป็นแม่คาดว่าน่าจะมาจากหมู่บ้านใกล้ๆกับ Đakovica อันที่จริงแล้วแม่ชีเทเรซ่าท่านเกิดในวันที่ 26 สิงหาคม ค.ศ 1910 นะคะ แต่ท่านเลือกที่จะนับวันที่ 27 สิงหาคม ถัดจากวันเกิดอีกวันหนึ่งซึ่งท่านได้เข้าพิธีบัพติศมา (Baptized) เป็นวันเกิดที่แท้จริงแทน

Nikollë พ่อของแม่ชีเทเรซ่าเป็นเจ้าของกิจการก่อสร้างแห่งหนึ่ง เนื่องจากเป็นครอบครัวที่มีฐานะดีจากการค้า ในวัยเด็กแม่ชีเทเรซ่ามีบ้านสองหลังที่หมู่บ้านเล็กๆใน Skopje ในวัยเด็กท่านเป็นคนร่าเริงและชอบการเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ  ท่านและพี่สาวเป็นสมาชิกและนักร้องประสานเสียงของโบสถ์ในหมู่บ้าน

ในปี ค.ศ 1919  พ่อของท่านซึ่งผู้มีส่วนร่วมในการเคลื่อนไหวการเมืองอันยุ่งเหยิงของอัลเบเนียได้เสียชีวิตลงหลังจากกลับจากเข้าร่วมทานอาหารมื้อเย็นกับเพื่อน โดยที่แพทย์ระบุว่าสาเหตุของการเสียชีวิตเกิดจากยาพิษ ขณะนั้นแม่ชีเทเรซ่าหรือแอ็กเนสมีอายุเพียง 9 ขวบ หลังจากพ่อเสียชีวิต ฐานะของครอบครัวก็เปลี่ยนไป ธุรกิจที่ขาดพ่อดูแลก็ถูกโกงไปโดยหุ้นส่วนของบริษัท ทั้งครอบครัวสูญเสียทุกอย่างเหลือแต่เพียงแค่บ้าน Drane แม่ผู้เข้มแข็งจึงเริ่มต้นทำงานเย็บปักถักร้อยเพื่อหาเลี้ยงและจุนเจือครอบครัว และอบรมเลี้ยงดูบุตรสาวทั้งสองตามแบบอย่างของแคทอลิกที่ดี นับได้ว่า แม่ชีเทเรซ่าได้เรียนรู้คุณธรรมและความเมตตาจากแม่ของเธอนั่นเอง


Drane เป็นแม่ที่มองการณ์ไกล ดังนั้นเธอจึงต้องการให้การศึกษาที่ดีกับลูกของเธอ ถึงแม้ว่าลูกๆจะไม่ได้เรียนจบการศึกษาสูงอย่างที่ตั้งใจหลังจากสามีเสียชีวิต แต่เธอและลูกๆมักจะเข้าร่วมฟังการบรรยายจากพระสงฆ์และแม่ชีผู้ไปทำหน้าที่คณะธรรมทูตในแดนไกล แม่ชีเทเรซ่าหรือแอ็กเนสในวัยเด็กมีความสนใจในเรื่องราวของคณะธรรมทูต (มิชชันนารี) ที่ไปช่วยเหลือชุมชนและเผนแพร่ศาสนาในประเทศอินเดีย และเมื่ออายุ 12 ปี ท่านก็ตั้งมั่นว่าจะอุทิศตนเพื่อศาสนาเท่านั้น ปณิธานอันแน่วแน่นี้เกิดขึ้นในวันที่ 15 สิงหาคม ค.ศ 1928 ขณะที่ท่านกำลังอธิษฐานอยู่ในวิหารแห่ง Black Madonna of Letnice ซึ่งท่านไปอธิษฐานและแสวงบุญอยู่บ่อยครั้ง

แม่ชีเทเรซ่านั้น อันที่จริงท่านมีพี่ชายอยู่คนหนึ่งนะคะ ชื่อว่า Lieutenant Lazar Bojaxhui แต่ถูกพ่อตัดขาดจากครอบครัวเพราะการออกจากบ้านไปสมัครเป็นทหารในกองทัพอัลเบเนีย เมื่อแม่ชีเทเรซ่าอายุครบ 18 ปี ท่านก็ตัดสินใจบวชชีกับสำนักชีโลเรโต (Sisters of Loreto) ในกรุงดับลิน ประเทศไอร์แลนด์ ท่านได้ส่งข่าวทางจดหมายไปบอกพี่ชายถึงการตัดสินใจออกบวช  Lieutenant Lazar Bojaxhui ยังเขียนจดหมายกลับมาหยอกน้องสาวว่า How can a girl like you become a nun? Do you realize that you are burying yourself?

หลังจากการบวชครั้งนั้น แม่ชีเทเรซ่าก็ไม่เคยได้มีโอกาสพบกับมารดาหรือพี่ๆอีกเลย



หลังจากเข้าเรียนภาษาอังกฤษที่สำนักชีโลเรโต Loreto Abbey ใน Rathfarnham ประเทศไอร์แลนด์ ภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่แม่ชีในสำนักชีโลเรโตใช้สอนเด็กๆในอินเดีย ในปี ค.ศ 1929 แม่ชีเทเรซ่าก็ถูกส่งไปประเทศอินเดียและเริ่มฝึกหัดเป็นแม่ชีที่เมืองดาร์จีลิ่ง ท่านได้เลือกชื่อทางศาสนาว่า เทเรซ่า ตามชื่อของนักบุญ Thérèse of Lisieux แต่เนื่องจากมีแม่ชีคนหนึ่งได้เลือกใช้ชื่อนั้นไปก่อนแล้ว ดังนั้นท่านจึงต้องเลือกชื่อที่ออกเสียงแบบภาษาสเปนว่า Teresa

แม่ชีเทเรซ่าสอนหนังสืออยู่ในกัลกัตตาอยู่ช่วงหนึ่งจนกระทั่งเมื่อปี ค.ศ 1946 ขณะที่กำลังเดินทางไปดาร์จีลิ่ง ท่านได้พบเห็นชาวบ้านที่ยากจนและเจ็บป่วยในระหว่างการเดินทาง ทำให้ท่านตัดสินใจทำเรื่องขออนุมัติเป็นกรณีพิเศษจากศาสนจักรแห่งกรุงวาติกันเพื่อก่อตั้ง คณะธรรมฑูตแห่งเมตตาธรรม Missionaries of Charity ในกัลกัตตา ตั้งแต่นั้นมา ผู้คนก็เริ่มเรียกท่านว่า Mother Teresa

ในปี ค.ศ 1950 หลังการก่อตั้ง Missionaries of Charity และเริ่มโครงการ Home for the Dying ในกัลกัตตา โดยท่านจะช่วยพาคนที่กำลังนอนเจ็บและรอความตายตามท้องถนนเข้ามาอยู่ในบ้าน ทำความสะอาดร่างกายและให้การดูแลเป็นอย่างดี ถึงแม้ว่าคนส่วนมากก็ล้วนแล้วแต่ใกล้จะเสียชีวิตแล้ว ท่านไม่ได้ต้องการต่อชีวิตให้แก่คนเหล่านั้น แต่ต้องการให้พวกเค้าตายจากไปอย่างสงบและเป็นสุขโดยไม่ทุกข์ทรมานมาก ซึ่งขัดกับความเชื่อของฮินดู เพราะศาสนาฮินดูเชื่อว่า การตายเป็นเพียงการละสังขาร เป็นการปลอดปล่อยตัวคนเพื่อการไปเกิดใหม่ โครงการนี้เริ่มต้นจากการใช้พื้นที่ภายในวัดฮินดู  ทำให้เกิดปัญหาและอุปสรรคจากชาวฮินดูที่ตะขิดตะขวงใจที่จะให้คนต่างศาสนามาใช้พื้นที่ภายในวัดฮินดูและมองว่าการกระทำของแม่ชีเทเรซ่าเป็นเรื่องแปลกประหลาด แต่อุปสรรคทั้งหลายก็คลี่คลายจากความช่วยเหลือของเจ้าหน้าที่ตำรวจอินเดียในขณะนั้น

ปี ค.ศ 1955 มีผู้ใจบุญบริจาคบ้านให้แก่ Missionaries of Charity เพื่อให้ท่านได้ใช้บ้านให้เป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม ท่านจึงริเริ่มโครงการบ้านรับเลี้ยงเด็กกำพร้า Children's Home of the Immaculate Heart เพื่อช่วยเหลือเด็กกำพร้าตามท้องถนนและเด็กๆที่พ่อแม่ไม่สามารถเลี้ยงดูได้

ค.ศ 1957 ท่านเริ่มใช้รถพยาบาลออกรักษาผู้ป่วยที่เป็นคนยากจนและเป็นชาวไร่ชาวนา โรคในขณะนั้นที่คนเป็นกันมากที่สุดก็คือโรคเรื้อน สังคมอินเดียมองว่าคนป่วยเป็นโรคเรื้อนเป็นสิ่งน่ารังเกียจ ผู้ป่วยโรคเรื้อนก็มักจะมองว่าตนเองเป็นสิ่งไม่มีค่า แม่ชีเทเรซ่าเริ่มมองปัญหานี้อย่างลึกซึ้ง หลังจากที่เริ่มมีผู้คนเข้าใจสิ่งที่ท่านทำมากขึ้น ผู้ว่ารัฐเบงกอลก็ได้ให้ท่านยืมที่ดินขนาดใหญ่กว่า 80 ไร่ เพื่อใช้สร้างเป็นสถานสงเคราะห์ผู้ป่วยโรคเรื้อน ท่านได้ก่อตั้งนิคมคนโรคเรื้อน Colony for Lepers เพื่อคนที่ป่วยเป็นโรคเรื้อนจะได้มีโอกาสใช้ชีวิตแบบคนธรรมดาปกติทั่วไปในนิคมแห่งนี้

ผลจากการช่วยเหลือสังคมและบุคคลอื่นด้วยจิตใจอันมีเมตตา ทำให้แม่ชีเทเรซ่าได้รับการสรรเสริญจากผู้คนทั่วโลก ได้รับรางวัลที่นานาประเทศมอบให้ เช่น ปี ค.ศ 1963 รางวัล Pad Mashri Award เนื่องจากท่านเป็นผู้ที่ให้ความอนุเคราะห์แก่ชาวอินเดีย และรางวัลรามอน แมกไซไซด์ Remon Maqsaysay ในปีเดียวกัน    ปี ค.ศ 1971 รางวัลสันติภาพ Peace Award   ปี ค.ศ 1979 รางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ Nobel Peace Prize และปี ค.ศ 1985 รางวัลเหรียญอิสริยาภรณ์แห่งเสรีภาพ Presidential Medal of Freedom จากประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน ที่ทำเนียบขาว

ปี ค.ศ 1983 ขณะเข้าเฝ้าพระสันตะปาปา จอห์น ปอล ที่ 2 ที่กรุงโรม แม่ชีเทเรซ่ามีอาการป่วยเป็นโรคหัวใจเป็นครั้งแรก และครั้งที่สองในปี ค.ศ 1989 เป็นเวลาหลายปีที่ท่านมีปัญหาด้านสุขภาพ แต่ก็ยังตรากตรำทำงานหนัก จนเมื่อ 5 กันยายน ค.ศ 1997 ขณะที่มีอายุ 87 ปี ท่านก็ถึงแก่กรรมด้วยโรคหัวใจในบ้านของท่านที่อินเดีย โดยปกติแล้วนะคะ ผู้หญิงในประเทศอินเดียโดยเฉพาะเป็นคนต่างชาติ จะไม่ค่อยได้รับการยอมรับจากสังคมอินเดียสักเท่าไหร่ แต่รัฐบาลอินเดียจัดงานพิธีศพของแม่ชีเทเรซ่าขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ เทียบเท่ากับพิธีของผู้นำประเทศและบุคคลสำคัญของอินเดียซึ่งน้อยคนนักแม่แต่คนอินเดียด้วยกันที่จะได้รับเกียรติเช่นนี้

ภายหลังการจากไปของท่าน ศาสนจักรแห่งกรุงวาติกันโดยสมเด็จพระสันตะปาปา จอห์น ปอล ที่ 2 เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม ค.ศ 2003 ที่มหาวิหารเซนต์ปีเตอร์ ประเทศอิตาลี ได้ประกาศให้แม่ชีเทเรซ่าเป็น บุญราศีเทเรซ่าแห่งกัลกัตตา Blessed Teresa of Calcutta ซึ่งเป็นขั้นต้นของการได้รับพิจารณาประกาศให้เป็นนักบุญในอนาคต

ปัจจุบันร่างของแม่ชีเทเรซ่านอนหลับอย่างสงบอยู่ที่ Mother House แห่งนี้นะคะ


ภายในอาคารชั้นล่างนี้แหละ ที่ๆกะเหรี่ยงไทยจะเข้าไปเยี่ยมและเคารพหลุมศพของแม่ชีเทเรซ่า ระหว่างเดินเข้าไปมีการประกอบพิธีอยู่ แม่ชีอนุญาติให้นักท่องเที่ยวสามารถเดินเข้าไปได้ในระหว่างพิธี ภายในไม่อนุญาติให้ถ่ายภาพ

สิ่งที่กะเหรี่ยงไทยเรียนรู้จากการไปเยือนที่นี่คือ การมีมารยาทที่ดีของผู้มาเยือนค่ะ ระหว่างการเดินตามแถววนรอบหลุมศพของท่าน กะเหรี่ยงไทยเห็นนักท่องเที่ยวต่างชาติบางคนที่กำลังเดินออกจากห้องประกอบพิธี หยุดยืนและหันไปถ่ายภาพภายในอาคาร โดยที่แม่ชีที่ยืนที่ประตูก็ได้สะกิดบอกด้วยความสุภาพว่าไม่สามารถถ่ายภาพได้ กะเหรี่ยงไทยต่อคิวต่อจากกลุ่มคณะทัวร์ต่างชาติเข้ามาเยี่ยมหลุมศพ ผู้หญิงฝรั่งหนึ่งนางที่อยู่ก่อนกะเหรี่ยงไป 2 คนข้างหน้า หยุดยืนที่หน้าหลุมศพ อิชั้นก็นึกว่าเธออยากจะยืนเพื่อระลึกถึงแม่ชี   แต่เธอกลับบรรจงหยิบกล้อง DSLR ของเธอขึ้น พร้อมกดชัตเตอร์รัวแบบไม่ยั้งชนิดที่ไม่คิดจะหยุดกดไปที่หลุมศพทั้งๆที่ภายในอาคารยังมีแม่ชีและคนภายนอกเข้ามาประกอบพิธีทางศาสนากันอยู่เต็มไปโม้ดดดด!!!  แถมที่สำคัญ ป้ายห้ามถ่ายภาพทั้งแบบสัญลักษณ์และตัวหนังสือเค้าก็ติดอยู่โท้งๆ เล่นเอาคนที่มากรุ๊ปทัวร์ในคณะเดียวกันหลายๆคนมีสีหน้าอีหลักอีเหลือกใจกับการกระทำของลูกทัวร์คนนี้ชนิดพูดกันไม่ออกเชียวล่ะค่ะ

หญิงสาวต่างชาติใจกล้าหนึ่งนางสะกิดบอกเธอว่า ภายในเค้าห้ามถ่ายภาพนะคะ หญิงฝรั่งนางนั้นหันกลับมาฉกควับให้ทันทีว่า ไกด์เค้าบอกชั้นว่าถ่ายรูปได้ย่ะ ทำไม เธอมีปัญหาอะไรมิทราบ  หญิงต่างชาตินางนั้นสวนกลับอย่างฉับไวเช่นกันว่า มีย่ะ!! ขอโทษนะยะ!! ชั้นเห็นว่าหล่อนเป็น caucasian เลยนึกว่าหล่อนจะอ่านภาษาอังกฤษและดูสัญลักษณ์ที่ป้ายห้ามถ่ายภาพออก เอาล่ะ..ถ้าหล่อนไม่ใช่ native speaker ล่ะก็ ชั้นจะอธิบายให้หล่อนฟังชัดๆอีกครั้งด้วยภาษาอังกฤษว่าเค้าห้ามถ่ายรูปข้างในนะยะ ป้ายห้ามก็อยู่ข้างหน้าหล่อนเนี่ยแหละ รักษามารยาทของนักท่องเที่ยวและก็ให้เกียรติคนตายด้วยสิยะ แม่คุณ!!!!! เดี๋ยว local เค้าจะมาเหมาว่านักท่องเที่ยวต่างชาติเหมือนกันหมด เชอะ!!!

นึกว่าจะมีมวยในโบสถ์ซะแล้ว แต่สุดท้ายก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น


ตรงที่คนเดินขึ้น-ลงบันไดข้างๆตึกคือทางเดินไปห้องนอนซึ่งเป็นห้องทำงานของแม่ชีเทเรซ่าด้วย



มีห้องที่จัดแสดงภาพและประวัติชีวิตของแม่ชีเทเรซ่าด้วยนะคะ ใครที่มีความสนใจก็สามารถเข้าไปเยี่ยมชมได้ เนื่องจาก Mother House เป็นที่ประกอบกิจทางศาสนาคริสต์ด้วย กะเหรี่ยงขอแนะนำให้ท่านที่อยากจะไปเที่ยวมีความสำรวมในการเข้าชมด้วยนะคะ




ฟ้าเริ่มมืดแล้ว กะเหรี่ยงไทยควรจะเดินทางกลับที่พักได้แล้ว ก่อนที่จะมืดจนจำทางเดินกลับผิด หลงทางขึ้นมาล่ะยุ่งแน่ๆ ขากลับจะไม่กลับทางเดิมนะคะ จะเดินไปตามถนนใหญ่แล้วไปเลี้ยวซ้ายที่สี่แยกใหญ่เพื่อเดินตรงกลับไปเอสพลานาด ดูจากแผนที่แล้วก็ไม่ไกลมาก ที่ไหนได้ ไกลพอๆกับขามาเลย  กว่าจะกลับถึงโรงแรมฟ้าก็มืดแล้ว


เด็กนักเรียนโรงเรียนสตรีแบบพวกคอนแวนท์ที่กะเหรี่ยงเจอน้องๆเดินผ่านหน้า Mother House ตอนขากลับ



การเจอกันครั้งที่สามของกะเหรี่ยงไทยกับพนักงานรถทัวร์ Royal Cruiser 


อินเดียมันก็ไม่ใช่ประเทศเล็กๆนะ แต่เราจะเจออะไรกันบ่อยขนาดนี้คะ??? เพิ่งจะร่ำลากันไปเมื่อเช้านี้เอง  กลายเป็นญาติกันไปแล้วสำหรับอิชั้นและสองหนุ่มคนขับและพนักงานรถบริษัทนี้  เค้าให้บริการรับ-ส่งนักท่องเที่ยวที่เที่ยวแบบทัวร์ชมเมืองในกัลกัตตาด้วย วันนี้เค้ามีคิวรับ-ส่งนักท่องเที่ยวฝรั่งกลุ่มใหญ่ที่กะเหรี่ยงคาดว่าน่าจะเป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มใหญ่ข้างใน Mother House


ตอนกะเหรี่ยงเดินกลับโรงแรมวันนั้น ก็เห็นรถคันนี้ไปจอดอยู่ที่หน้าโรงแรมใหญ่สุดไฮโซ Oberoi Grand ใกล้ๆกับสถานีเอสพลานาด



ตึกสวยๆระหว่างทางเดินกลับไปเอสพลานาด ถ้าซ่อมแซมและทาสีใหม่ก็คงจะสวยไม่น้อย น่าเสียดาย




ระหว่างทางเดินกลับมีเรื่องให้ระทึกขวัญเช่นกัน คือกะเหรี่ยงไทยจะต้องเดินเลี้ยวซ้ายที่สีแยกใหญ่เพื่อกลับไปเอสพลานาด ตรงสี่แยกเป็นย่านชุมชนที่มีของขายแน่นๆตามฟุตบาทและทางเดิน กะเหรี่ยงไทยเจอเด็กอินเดีย 3-4 คนรุมขอเงินค่ะ  อายุอานามก็ยังไม่มากนะคะ ประมาณ 8-9 ขวบ เค้าฉวยโอกาสที่เราเดินชะลออย่างช้าๆเพราะคนเยอะ


คนแรกวิ่งมาใกล้แล้วยื่นดอกไม้ให้พร้อมแบมือใส่   ไม่จ้า..โบกมือใส่เด็กพร้อมบอกว่า ป้าไม่เอาดอกไม้เน้อนังหนู อีกคนเข้ามาประชิดอีกข้างพร้อมจับขวดน้ำที่กะเหรี่ยงไทยถืออยู่ กะเหรี่ยงไทยเริ่มใจคอไม่ค่อยดี เอาล่ะสิหว่า นี่มันเป็นสิ่งที่ใครๆเค้าเตือนให้ระวังเวลามาอินเดีย อย่านะจ๊ะ ป้ายังไม่อยากกลายร่างเป็นนางยักษ์จับเด็กกิน ยังพยายามรักษาภาพพจน์สุภาพสตรีใจดีไว้อยู่ ยังไม่ทันไร อีกสองคนวิ่งมาประกบหน้า-หลังจนกะเหรี่ยงเดินต่อไม่ได้ พร้อมส่งภาษาฮินดี้ที่อิชั้นไม่เข้าใจมันเลย พูดรัยกันวุ้ย? ป้าไม่เข้าใจนะคะ และเด็กๆก็เริ่มจับๆคลำๆกระเป๋าถือของอิชั้น วินาทีนั้น..ใครจะว่าอิชั้นใจร้ายไม่รักเด็ก อิชั้นก็ไม่สนแล้วล่ะค่ะ  เพราะมีเด็กอีกคนที่เริ่มเอามือไปจับซิบจะเปิดกระเป๋าอิชั้นแล้ว  กะเหรี่ยงไทยสะบัดแขนขาเหวี่ยงเด็กที่มารุมจับล้อมและว๊ากเสียงดังโวยวายกลางชุมชน แขกรอบตัวเริ่มหันมามอง มีผู้ใหญ่ใจดีแถวๆนั้นส่งเสียงดังไล่เด็กๆที่มารุมล้อมให้ทันที ขอบคุณผู้ใหญ่ใจดีรอบๆตัวแล้วแบบนางง้ามมมมมนางงาม  แล้วก็รีบเดินกลับโรงแรมโดยรวดเร็วทันที  ขนาดว่าเดินมาไกลๆเหนื่อยๆแล้วยังไม่อยากจะหยุดยืนพักข้างทางเลย


ระวังแต่ผู้ชาย ลืมไปว่าเด็กๆนี่แหละที่กล้าถึงเนื้อถึงตัวเราเลย



ยามเย็นในกัลกัตตา




แผงหนังสือแถวๆแยกเอสพลานาด สังเกตดูจะพบว่ามีหนังสือปลุกใจไปเกือบครึ่งแผงแล้ว    กะเหรี่ยงไทยว่าจะซื้อไปฝากเพื่อนร่วมงานที่เมืองไทย แต่ใจไม่กล้าพอ  เพราะตอนไปยืนแวะดู มีผู้ชายอินเดียยืนรุมหน้าแผงหนังสือเต็มไปหมด  ยืนเล็งไปก็เล็งมาหลายรอบ สุดท้ายเอาเป็นรูปถ่ายมาฝากพอ












Free TextEditor




 

Create Date : 01 กรกฎาคม 2554   
Last Update : 1 กรกฎาคม 2554 18:55:05 น.   
Counter : 5483 Pageviews.  


อินเดีย - วันที่เก้า Fairlawn Hotel

มารู้สึกตัวอีกทีตอนเช้าแล้วค่ะ รถขับผ่านชุมชนน้อยใหญ่สองข้างทางตามเส้นทางเดิม แถวๆนี้ตอนขามา รถขับน่ากลัวมาก เป็นถนนเล็กๆที่มีต้นไม้ใหญ่ๆขึ้นสองฝั่งถนน ภาพยามเช้ากลับให้มุมมองที่แปลกตากว่าเดิม มันกลายเป็นท้องนาสีเขียวขจีและวิถีชีวิตของคนชนบท


ไม่น่าเชื่อเลย เมื่อวานนี้เรายังอยู่บนเมืองเล็กๆบนยอดเขาที่มีถนนเล็กๆชวนให้เวียนหัว มาวันนี้กะเหรี่ยงไทยเดินทางกลับมาถึงพื้นที่ราบใกล้กัลกัตตาแล้ว



ระหว่างทางก็จะเจอกับที่กั้นรถไฟและสัญญานจอดรอให้รถไฟผ่านไปก่อนเป็นระยะ สัญลักษณ์ของชุมชนเลยล่ะค่ะ 



ตลาดยามเช้าตามชุมชนริมทาง มองออกจากรถไปไม่เห็นผู้หญิงเลยซักนาง   ผู้หญิงอินเดียเนี่ย เค้าจะไม่ค่อยออกจากบ้านไปไหนมาไหนกันเลยใช่มั๊ยคะ?



อันที่จริงแล้ว ตามกำหนดการ รถต้องมาถึงกัลกัตตาประมาณ 8 โมงเช้านะคะ แต่ก็มีรถติดบ้างตามรายทาง จอดรอขบวนรถไฟบ้าง จอดส่งคนลงตามรายทางอีก รถเลยเข้ามาจอดที่บริเวณเอสพลานาดช้าไปประมาณ 1 ชั่วโมง กดโทรศัพท์ดูเวลาอีกครั้ง  9 โมงกว่าๆค่ะ

รถมาจอดให้ลงตรงที่เดิมริมถนนที่เดียวกับที่กะเหรี่ยงไทยมาขึ้นรถครั้งแรก ทีนี้ก็หวานหมูแระ  เพราะย่านนี้กะเหรี่ยงไทยเดินจนทะลุปรุโปร่งไม่มีเหลือ เก็บข้าวของลงจากรถไปรับกระเป๋าที่โหลดลงใต้ท้องรถเอาไว้ ตามสไตล์ของท่ารถสำหรับนักเดินทางทุกแห่ง มีแท็กซี่เข้ามาเสนอตัวไปส่งมากมาย แต่กะเหรี่ยงไทยเซย์โนพร้อมแหวกกลุ่มแขกมุงออกมา เดินลัดเข้า B C Roy Market ออกไปโผล่ถนนใหญ่ วิ่งข้ามถนนแล้วเดินกลับไปที่ Sudder Street ไปเช็คอินเข้าโรงแรมที่จองเอาไว้สำหรับคืนสุดท้ายในกัลกัตตาแทน

การตัดสินใจพักอยู่ย่านนี้เป็นเพราะใกล้กับทุกอย่างในกัลกัตตาที่กะเหรี่ยงไทยจะต้องใช้บริการค่ะ ทั้งรถไฟใต้ดิน รถโดยสารระหว่างเมือง พิพิธภัณฑ์ ตลาด สารพัดจะมี พอมีทุกอย่างครบ เลยทำให้ไม่ต้องไปฟาดฟันกับแท็กซี่แขกให้หงุดหงิดหัวใจไปตลอดทริปอีกตังหาก


ที่พักคืนสุดท้ายในกัลกัตตาของกะเหรี่ยงไทย Single room ที่ Fairlawn Hotel ในถนน Sudder Street

เป็นอะไรที่ยังถูกชาวบ้านชาวช่องใกล้ๆตัวกระแนะกระแหนมาจนถึงทุกวันนี้ว่า คนงกๆเค็มๆอย่างเธอจะบ้าและกล้าจ่ายค่าที่พักราคาแบบนี้ในสภาพนี้ด้วยเหรอ?   ที่นี่เป็นโรงแรมที่ไม่ได้แพงมากนะคะ แต่..แน่นอนว่า ไม่ได้ถูกอย่างที่คิด เหอๆๆๆๆ

กะเหรี่ยงไทยมีคอนเซ็บต์ในการเดินทางว่า ไม่ว่าจะเป็นรถ เรือ เครื่องบิน ที่พัก รถไฟ จะต้องถูก ดี ประหยัด คุ้ม จองล่วงหน้าได้ก่อนเดินทาง ถ้าเป็นโรงแรมไม่ว่าจะแพงระดับไหนหรือถูกยังไง ถ้ามีบริการ Wi-Fi แต่มาคิดตังค์เพิ่ม ก็รับรองได้ว่าจะไม่มีทางได้งาบเงินอิชั้นเด็ดขาด เพราะ Wi-Fi มันจะต้องเป็นบริการเสริมแบบให้ฟรีแล้วนะคะ สำหรับโรงแรมในยุคศตวรรษที่ 21 นี้  แต่..ถ้าเป็นคืนสุดท้ายก่อนเดินทางกลับ อิชั้นจะยอมจ่ายสำหรับ budget hotel ที่ราคาสูงกว่าระดับมาตรฐานทั่วไป  คือว่า..ทุกครั้งกะเหรี่ยงไทยจะมีงบเดินทางสำหรับทั้งทริปแล้วในใจ บวกลบนิดๆหน่อยๆ ถ้าทั้งทริปใช้เงินไปน้อยมากกว่าที่คิดไว้ งบประมาณทั้งหมดที่เหลือจะถูกทุ่มเทให้กับที่พักในวันสุดท้ายทันที ก็ประหยัดมาทั้งทริปแล้ว วันสุดท้ายทั้งทีก็ขอพักดีๆกะเค้าบ้างเน้อ 

อันที่จริงราคาที่จ่ายสำหรับห้องพักเดี่ยวนี้ ถ้าเพิ่มอีกนิดก็จะไปพักโรงแรมไฮโซย่านนั้นได้เช่นกัน แต่กะเหรี่ยงมีเหตุผลในการเลือกที่นี่ค่ะ   เป็นที่พักที่ตั้งใจไว้แล้วด้วยว่า ถ้าได้มีโอกาสมากัลกัตตาก็จะมาพักที่นี่ให้ได้สักครั้ง


ราคาห้องพักเดี่ยวเมื่อไปรวมภาษีมูลค่าเพิ่มพร้อมเซอร์วิสชาร์ตแล้ว ต้องจ่ายเงินรูปีให้แขกไปสามพันรูปีกว่าๆ เอิ๊ก!!  น้ำตาแทบเล็ด พักเดี่ยวด้วยนะคะ ไม่ใช่ห้องพักคู่ พักสองคนจ่ายแพงกว่านี้นะคะ  พักคืนเดียวเล่นเอากระเป๋าตุงๆของเศรษฐินีไทยที่เพิ่งหอบเงินรูปีที่แลกมาหมาดๆจากสิกขิมแฟ้บไปเลยอ่ะ กะเหรี่ยงไทยรู้อยู่ก่อนแล้วว่าต้องจ่ายราคาประมาณนี้ ก็เลยมีการกักตุนงบประมาณไว้เรียบร้อยแล้วค่ะ โนพราเบลิ้ม สามพันกว่าๆไอก็จ่ายได้จ้า

ราคาที่ว่าจะรวมบริการห้องพักที่มี Free Wi-Fi แอร์ น้ำอุ่น เคเบิ้ลแขก สาม-สี่ร้อยกว่าช่อง (นอนดูโดราเอม่อนเวอร์ชั่นฮินดี้ซาว์ดแทร็กอย่างฮา แต่เค้าเลือกคนมาพากษ์ได้ดีนะคะ ใกล้เคียงกับเสียงพากษ์ที่เคยดูในเมืองไทยเลยค่ะ) ตู้เย็นและระเบียงส่วนตัวอย่างในรูป (เป็นระเบียงซึ่งไม่เคยได้ใช้ เพราะกลางวันไม่เคยอยู่ในห้องพัก แถมเช้าอีกวันต้องเช็คเอาท์แต่เช้า  ที่สำคัญ แถวๆนั้นอีกาดำเยอะมากมาย กลัวมันจะบินเข้ามาแจมพักด้วยในห้อง อีกาจะเยอะอะไรขนาดนั้นก็ไม่รู้ ซอกมุมไหนของกัลกัตตาก็มีแต่อีกา นกชนิดอื่นแทบจะไม่มีให้เห็น หรือมันจะสู้รบปรบมือกับอีกาไม่ไหวจนต้องอพยพย้ายถิ่นฐานไปอยู่ที่อื่นซะแล้วก็ไม่รู้) แล้วก็อาหารเช้าแบบอังกรี๊ด อังกฤษ   

ที่นี่มีบริการรถแท็กซี่ไปส่งสนามบินนะคะ ค่าบริการอยู่ที่ 350 รูปี กะเหรี่ยงไทยไม่ได้ใช้เพราะวันกลับตัดสินใจใช้บริการรถไฟใต้ดินที่เอสพลานาดไปลงที่ Dum Dum แล้วต่อรถเข้าไปสนามบินเอง

คือที่อินเดียเนี่ย ตามเมืองใหญ่ๆเท่าที่หาๆข้อมูลก่อนเดินทาง มันช่างหาทีพักราคาปานกลางได้ยากเย็นเหลือเกิน ราคาถูกก็มักจะไม่มีคุณภาพหรือต่ำกว่าที่ควรจะเป็นเมื่อเทียบกับราคาที่ต้องจ่าย ราคาแพงก็แพงเวอร์ๆไปเลย โดยที่ราคาประมาณสอง-สามพันรูปี กะเหรี่ยงไทยสามารถได้ห้องพักดีๆในโรงแรมที่เมืองไทย, เวียดนาม, เขมรหรือญี่ปุ่นได้ไม่ยากเย็น แต่นี่คืออินเดีย   ถ้าเป็นที่เมืองไทย กะเหรี่ยงไทยสามารถหาห้องราคาจ่ายหลักร้อยหรืออาจจะมากสุดพันบาทต้นๆสำหรับห้องแบบนี้


ถ้าพักสองคนก็จะได้ห้องใหญ่ขึ้นแล้วก็เสียค่าห้องเพิ่มอีกประมาณพันกว่าๆรูปี พักคืนเดียวที่นี่เราพักที่กังต็อกได้สี่-ห้าคืนเลยอ่ะ  แต่ที่พักก็จะเหมาะกับคนที่ไม่ได้เน้นเซอร์วิสแบบพวกโรงแรมตามระดับมารตฐานทั่วไปนะคะ เพราะว่าเค้าบริหารกันเป็นแบบระบบครอบครัว เจ้าของเป็นชาวอังกฤษที่มาปักหลักสร้างฐานกันในอินเดียมาหลายรุ่นของตระกูลเค้า ห้องพัก single room ของที่นี่ก็มีแค่สองห้องเอง ตอนที่จองที่พักไปก็ไม่ได้จ่ายเงินไปล่วงหน้า แต่ไปจ่ายเอาตอนเช็คเอาท์

เราว่าเค้ามีระบบการรับจองและการติดต่อกับลูกค้าที่ดีนะคะ เพราะเป็นโรงแรมเดียวในกัลกัตตาที่เราเขียนอีเมล์ไปสอบถามแล้วเค้าตอบกลับมาเลยทันที การเลือกรถทัวร์ของ Royal Crusier ในการเดินทางของเราก็เพราะสาเหตุนี้เช่นกัน อีกอย่างขอสารภาพเลยว่าอิชั้นเป็นคนไม่มี skill ในเรื่องการเดินทางโดยรถไฟเลย ถ้าขืนจองตั๋วรถไฟท่องเที่ยว ทริปที่ผ่านมาก็คงจะมีเรื่องมาเล่ามากกว่านี้อีกเยอะ ถ้าปกติมีทางเลือกให้นั่งรถก็จะเลือกเดินทางโดยรถโดยสาร

วันแรกที่ไปถึงกัลกัตตาก็แวะไปโรงแรมก่อนครั้งหนึ่งเพื่อให้มั่นใจว่าจะได้ห้องพักจริง เค้าเขียนชื่อและนามสกุลของเราลงที่บอร์ดจองห้องพักไว้เรียบร้อยแล้วค่ะ เมื่อก่อนเห็นว่า Fairlawn Hotel เค้าก็จองได้ผ่าน booking.com หรือไม่ก็ Agoda นะคะ แต่หลังๆนี่ไม่ได้แล้ว ต้องจองกับทางโรงแรมโดยตรง การที่เราติดต่อผ่านทางอีเมล์อย่างเดียวก็เลยทำให้นอยด์นิดนึงว่า ถ้าไม่จ่ายเงินก่อนแล้วเดี๋ยวมาถึงห้องจะโดนพวกลูกค้า walk in ตัดหน้าเอาห้องเอาไปกินซะก่อน แต่เมื่อมาถึงโรงแรมแล้วเห็นระบบการจัดการที่โอเคอย่างนี้ทั้งๆที่เราไม่ได้จ่ายอะไรมาเลยก็เลยทำให้มีความมั่นใจในโรงแรมขึ้นมาอีกแยะเชียวค่ะ

รูปห้องพักอีกครั้ง ชอบเพดานที่สูงดี ทำให้ไม่รู้สึกอึดอัด เดี๋ยวจะเล่าที่มาที่ไปว่าทำไมสำหรับกะเหรี่ยงไทยต้องเป็นที่นี่เท่านั้น


ทางเดินที่ระเบียงหน้าประตูห้องพัก ตรงประตูที่มีผ้าม่ายลายดอกไม้สีแดงๆนั่นแหละค่ะ ห้องที่อิชั้นจะนอนพักคืนนี้  ที่นี่ให้ความรู้สึกเป็นเหมือนวิลล่าในยุคโคโลเนียลมากกว่าเป็นโรงแรมทั่วๆไป เป็นจุดเด่นที่กะเหรี่ยงไทยชอบมากๆ

Fairlawn Hotel ตั้งอยู่ที่ถนน Sudder Street ถ้าเดินเข้ามาจากปากซอยทาง Indian Museum เดินเข้ามาไม่ไกลมากประมาณ 300เมตร โรงแรมจะอยู่ซ้ายมือนะคะ หาไม่ยากคะ โรงแรมตั้งอยู่หัวมุมถนนเล็กๆที่เราเดินลัดไป New Market ได้เลยโดยที่ไม่ต้องเดินไปถนนใหญ่  คำว่า New Market ที่กัลกัตตาเนี่ยมันแปลกดีนะคะ เพราะ New Market ที่นี่มันอายุ 100 กว่าปีมาแล้ว แล้วมันจะ new ตรงไหนกันล่ะ?   คือมันเป็น New Market ในยุคนั้นไงคะ แล้วเค้าก็เรียกกันติดปากมาถึงปัจจุบัน



ตัวอาคารที่ปัจจุบันคือโรงแรมนั้น ได้ถูกสร้างขึ้นตั้งแต่เมื่อ ค.ศ 1783 นับไปนับมาก็สองร้อยกว่าปีมาแล้วค่ะ มันถูกสร้างขึ้นโดย William Ford ชาวยุโรปผู้ที่ซื้อที่ดินแปลงนี้ต่อมาจากเจ้าของที่ดินเดิมคือ Sheikh Ramjan และ Bhonay เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม ค.ศ 1781

โรงแรมแห่งนี้ก็ผลัดมือเปลี่ยนเจ้าของกันมาหลายต่อหลายรุ่น จนมาถึงเจ้าของปัจจุบัน แต่เจ้าของทั้งหมดของอาคารแห่งนี้เป็นชาวตะวันตกทั้งหมดค่ะ ไม่เคยปรากฏว่ามีเจ้าของเป็นอินเดียเลยสักคน อย่างเจ้าของคนปัจจุบันเนี่ยคือป้า Violet Smith โรงแรมนี้เป็นของแม่ของแก Rosie Sarkies แม่ของป้า Violet เนี่ย แกเป็นนักธุรกิจหญิงที่มีสัญชาตญานการทำธุรกิจในยุคนั้นเลย เธอเอาเงินเก็บที่มีอยู่ไปซื้อกิจการของโรงแรม Astoria ท้ายถนน Sudder ที่ปัจจุบันก็ยังดำเนินกิจการอยู่ในชื่อเดิมนะคะ แล้วเธอไปรู้มาว่าเจ้าของเดิมของ Fairlawn Hotel อยากขายกิจการ เธอเลยขายโรงแรม Astoria ทิ้งแล้วเอาเงินที่ได้มาซื้อ Fairlawn Hotel เอาไว้เอง

ป้า Violet เจ้าของปัจจุบันเป็นเจ้าของมาตั้งแต่ปี ค.ศ 1962 เมื่อวันที่กะเหรี่ยงไทยเข้าพักวันแรกก็เห็นแกนั่งเช็คเอกสารอยู่ที่โต๊ะอาหารภายในโรงแรม

มุมนั่งเล่นสบายๆที่หน้าห้องพักของกะเหรี่ยงไทยที่ชั้นสอง



นี่ต่างหาก เหตุผลของกะเหรี่ยงไทยในการเข้าพักที่นี่ Patrick Swayze คนนี้ค้า


พระเอกฮอลลีวู้ดคนดังที่คนดูหนังบ้านเรามักจะจำเค้าได้จากหนังเรื่อง Ghost ที่เล่นคู่กับ Demi Moore นั่นแหละค่ะ มีหนังเรื่องหนึ่งของเค้าที่ออกฉายในปี ค.ศ 1992 คือเรื่อง City of Joy ที่ถ่ายทำที่กัลกัตตาโดยมี Patrick Swayze เป็นตัวเอกของเรื่อง Patrick Swayze มาพักที่ Fairlawn Hotel ในระหว่างการถ่ายทำภาพยนต์เรื่องนั้น และโรงแรมแห่งนี้ก็เป็นฉากหนึ่งของหนังเรื่องนั้นด้วย เมื่อรู้ว่าจะต้องมากัลกัตตา อิชั้นเลยบอกกับตัวเองเอาไว้ว่า ยังไงๆก็จะต้องไปพักที่นี่ให้ได้ จะว่าไปเราก็ทำตัวเหมือนพวก groupie ที่ไล่ตามพวกนักร้องและคนดังไปทั่วเหมือนกันนะเนี่ย   


Patrick Swayze เสียชีวิตไปแล้วนะคะด้วยโรคมะเร็งที่ตับอ่อน ในวันที่ 15 กันยายน ค.ศ 2009 เมื่อมีอายุเพียง 57 ปีเท่านั้นเอง


ขอบคุณรูปจาก mymovies.ge ค่ะ  เป็นภาพจากซีนหนึ่งใน City of Joy



โปสเตอร์เก่าจากหนัง City of Joy ที่ทางโรงแรมใส่กรอบโชว์ไว้ที่ทางเดิน




ห้องโถงที่ชั้นสองของโรงแรม แวะมานั่งเล่นได้ถ้าเป็นแขกที่พักที่นี่ แต่มาคนเดียวจะมานั่งๆนอนๆมันก็โล่งๆพิกลนะคะ  ตรงห้องโถงนี้เป็นทางเดินลัดไปถึงห้องพักที่อยู่ตึกข้างหลังได้ค่ะ



ไม่อยากใช้สถานที่ร่วมกับคนอื่น ก็มีโต๊ะแบบเป็นส่วนตัวแยกออกไปอีกบล็อคของห้องโถงนะคะ


จะว่าไปแล้วโรงแรมแห่งนี้มันเกือบๆจะเป็นพิพิธภัณฑ์ของครอบครัวคุณป้า Violet Smith ไปแล้ว เพราะมันเต็มไปด้วยรูปถ่ายตั้งแต่คุณป้าแกยังเด็กๆ ยันรูปหลานแกในยุคปัจจุบัน ตามซอกมุมของโรงแรมก็ตกแต่งไปด้วยของสะสมจากการเดินทางของแกกับสามี รวมทั้งเฟอร์นิเจอร์แบบโบราณที่ปัจจุบันหาซื้อคงจะหลายตังค์อยู่ แล้วก็สไตล์การแต่งโรงแรมแบบที่แสดงออกถึงความเป็น British ของป้าอย่างชัดเจนสุดโต่ง


บ้านคนรู้จักของกะเหรี่ยงไทยที่เค้ามาจากอังกฤษบางคนก็แต่งกันประมาณนี้ล่ะค่ะ เค้าจะชอบพวกผ้าลายดอกไม้จุ๋มจิ๋มเล็กๆน่ารักๆ เฟอร์นิเจอร์แบบ British Colonial มีสวนรกๆยุ่งๆปลูกดอกไม้เป็นหย่อมๆ แล้วก็จะมีรูปภาพใส่กรอบติดเต็มบ้านไปหมด เอ..แต่เท่าที่เราเคยเห็นมันก็เป็นบ้านคนแก่ๆทั้งนั้นนี่นา อายุอานามก็รุ่นๆป้า Violet นี่แหละ    คงจะเอามาเป็นมาตรฐานวัดรสนิยมวัยรุ่นอังกฤษยุคนี้ไม่ได้แน่ๆ


ทางเดินไปห้องพักที่อยู่ตึกข้างหลังและระเบียงห้องพักด้านหลัง แอบดีใจที่ห้องพักตัวเองไม่ได้อยู่แถวๆนั้น เพราะเราว่ามันไม่ค่อยน่าอยู่อ่ะ พักที่ตึกใหญ่ดีกว่า ตึกด้านหลังมันดูโทรมๆไปนิด เหมือนเอาพวกบ้านพักคนงานมาทำห้องพักอ่ะ  แต่ก็ไม่แน่นะคะ ภายในห้องอาจจะดูดีมากกว่าภายนอกก็ได้



ระเบียงส่วนตัวสำหรับลูกค้าที่พักที่นี่เท่านั้นเช่นกันค่ะ อยู่ที่ชั้นสองบริเวณหน้าโรงแรม


ถ้าแค่จะแวะมาทานอาหารหรือหาเครื่องดื่มนั่งเล่นชิวๆ ก็สามารถนั่งเล่นที่ล็อบบี้ตรงชั้นหนึ่งของโรงแรมแถวๆนี้ได้นะคะ


ห้องน้ำสำหรับลูกค้าไม่ได้พักแต่มาใช้บริการร้านอาหารและเครื่องดื่มของโรงแรม อยู่ชั้นล่างตรงทางเดินไปข้างหลังตึก แต่ถ้าจะเข้าต้องไปขอกุญแจจากพนักงานที่ Front Desk ก่อนค่ะ

วันแรกที่มาถึงกัลกัตตา กะเหรี่ยงไทยแวะมาคอนเฟิร์มที่พักก่อนเดินทางไปสิริกุรี พอไปแวะเข้าห้องน้ำก่อนออกเดินทาง มีคุณป้าฝรั่งอยู่คนนึง พิลึกจริงเชียว แกเข้าไปสูบบุหรี่อยู่ตั้งนานสองนาน เราก็ยืนรอไปเถอะ พอแกเดินออกมา สังเกตเห็นมือของแกคีบบุหรี่ที่สูบจนหมดไปแล้วออกมาทิ้งนอกห้องน้ำค่ะ ส่วนในห้องน้ำก็อบอวลไปด้วยกลิ่นควันบุหรี่ของแกเนี่ยแหละ อันที่จริงเค้าก็อนุญาติให้สูบได้ที่บริเวณร้านอาหารของโรงแรมอยู่แล้วนะ ไม่รู้ว่าเอามาสูบในห้องน้ำแล้วมันจะทำให้รสชาติของบุหรี่มันดีกว่าเดิมรึยังไงหว่า??? แอบงงเล็กน้อย และงงมากกว่าเดิม.. เมื่อมาเห็นแกนั่งสูบต่อที่โต๊ะของแกกับเพื่อนๆหน้าตาเฉย  อ้าว!!! แกก็รู้นี่นาว่าข้างนอกก็สูบได้ รึว่าแกจะเป็นโรคติดควันบุหรี่แบบงอมแงมกันฟะ???


ชั้นล่างและด้านหน้าของโรงแรม

เช็คอินเสร็จเก็บของเสร็จก็ออกไปเที่ยวกัลกัตตากันดีกว่า วันสุดท้ายแล้ว ยังมีอีกสอง-สามแห่งที่กะเหรี่ยงตั้งปณิธานไว้ว่าจะต้องไปให้ถึงให้ได้ในทริปนี้เช่นกัน ที่แรก The Great Banyan ที่ Acharya Jagadish Chandra Bose Indian Botanic Garden ที่ๆสอง Rabindranath Tagore House และที่ๆสามที่จะไปวันนี้ก็ไม่ไกลจากที่พักเท่าไหร่ Mother Teresa House












Free TextEditor




 

Create Date : 01 กรกฎาคม 2554   
Last Update : 1 กรกฎาคม 2554 18:50:21 น.   
Counter : 1347 Pageviews.  


อินเดีย - วันที่แปด การเดินทางกลับ City of Joy

เช้าวันที่แปดของการเดินทาง กะเหรี่ยงไทยก็ยังคงคอนเซ็บต์เดิมเหมือนทุกครั้ง ตื่นเช้าออกไปเก็บตกตัวเมืองก่อนเดินทางกลับกันอีกรอบ



เช้าตรู่หน้าการท่องเที่ยวสิกขิมบนถนน MG Marg กับเจ้าหน้าที่ตำรวจหน้าเดิมๆที่เจอกันแทบจะทุกวัน จากคนแปลกหน้า มาถึงวันนี้เราได้กลายเป็นคนคุ้นเคยกันไปแล้ว




คนนี้เจอกันอยู่บ่อยๆ 



อยู่มาหลายวัน ไม่อยากจะโม้เลย..ว่าเดินขึ้นลงเนินเขาเก่งขึ้นเยอะ   



เมืองที่รวมความหลากหลายของวัฒนธรรมและผู้คนไว้ด้วยกัน ไม่อยากจะเชื่อว่านี่คืออินเดีย





จะต้องได้กลับมาอีก อย่างน้อยก็อีกครั้งแน่นอน 



ระเบียงที่พักและห้องพักที่ได้อัพเกรดอย่างไม่คาดคิด




เจ้าของโรงแรม Sagorika ผู้มีอุปการะคุณสำหรับห้องพักที่สุดแสนจะสะดวกและสบาย ถึงแม้ว่าจะต้องปีนขึ้นไปชั้นบนสุดของโรงแรมก็เถอะ  แถมยังใจดีไม่เก็บเงินค่าข้าวมื้อสุดท้ายที่กะเหรี่ยงไทยสั่งมาทานเป็นมื้อเที่ยงก่อนออกเดินทางด้วย



ห้องพักที่ชั้นสองของโรงแรม สะดวก กว้างขวาง แต่วิวอาจจะไม่สวยเท่าไหร่เพราะอยู่ชั้นล่างๆ  คุณเจ้าของโรงแรมใจดีเปิดให้เข้าไปใช้ห้องน้ำทั้งๆที่กะเหรี่ยงไทยเช็คเอาท์ไปเรียบร้อยแล้ว เลยได้เห็นว่าแต่ละห้องจะมีหน้าตาไม่ค่อยเหมือนกัน



ติดรถคนใจดีที่จะไปธุระที่สนามบินไปแวะลงสิริกุรี เลยไม่ต้องไปขึ้นแชร์จิ๊บกลับเอง มีลุ้นเสียวกลัวตกรถนะคะ เพราะเค้าออกตัวกันบ่ายสอง แต่รถเราออกจากสิริกุรีตอนหนึ่งทุ่มตรง คนใจดีบอกว่าทันแน่นอน เพราะเค้าขับกันสปีดดีไม่มีตก เออ..อันนั้นแหละที่อิชั้นกลัวที่สุด  ขับไวไม่ว่า อย่าให้เค้าตกรถก็แล้วกันนะเธอ



ภาพสุดท้ายของสิกขิมก่อนพระอาทิตย์ลับเส้นขอบฟ้า เส้นทางระหว่างกังต็อกกลับไปสิริกุรี



ใกล้ถึงสิริกุรีแล้ว คนขับรถซิ่งๆบนภูเขา พอมาขับทางราบเค้าก็ขับกันได้นิ่มอยู่นะ ท่ารถ Tenzing Norgey Bus Stand ของกะเหรี่ยไทยเป็นทางผ่านคนใจดีจะไปรับเพื่อนเค้าที่สนามบินพอดี เพื่อนของเค้ามาถึง 6 โมงกว่าๆ รถมาส่งกะเหรี่ยงเวลา 5 โมงครึ่งที่ท่ารถเดิมที่กะเหรี่ยงมาลงรถทัวร์เมื่อตอนขามา   อยากจะช่วยค่าน้ำมันรถก็ไม่เอา บอกว่ายังไงก็ต้องผ่านมาอยู่แล้ว แถมยังลงมาช่วยแบกเป้หนักๆพามาส่งถึงหน้า Gupta Travels Agency ที่กะเหรี่ยงไทยต้องมารอรถทัวร์ ขอบอกขอบใจกันอยู่พักใหญ่ก็แยกย้ายกันไป



Tenzing Norgey Bus Stand น่าจะมาจากชื่อของ Tenzing Norgey หรือบางที่ก็จะเขียนว่า Tenzing Norgay


Tenzing Norgay ชื่อของนักปีนเขาและมัคคุเทศน์ชาวเนปาลที่สามารถพิชิตยอดเขาเอเวอร์เรสต์ได้สำเร็จเป็นคนแรกร่วมกับชาวนิวซีแลนด์ชื่อ Edmund Hillary เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม ค.ศ 1953


กะเหรี่ยงไทยเพิ่งจะได้ดูสารคดีเกี่ยวกับผู้พิชิตยอดเขาเอเวอร์เรสต์ทั้งสองคนผ่านเคเบิ้ลทีวีเมื่ออาทิตย์ก่อนนี้เอง พอไปสัมภาษณ์ทางคนเนปาล ก็แน่นอนอยู่แล้วว่าคนจะต้องชื่นชม Local Hero คนนี้อย่างมากมาย พอไปสัมภาษณ์ทางญาติของ Edmund Hillary ก็จะมีบทสัมภาษณ์ในแนวว่า Edmund Hillary ก็ช่วยเหลือ Tenzing Norgay มากสำหรับการเดินทางในทริปนั้นนะ โดยทั่วๆไปที่กะเหรี่ยงไทยได้ยินมา เสียงชื่นชมของทาง Tenzing Norgay จะมีมากกว่าอีกฝ่ายอยู่เยอะ อาจจะเป็นเพราะว่า ณ เวลาที่ทั้งสองไปถึงยอดเขาเอเวอร์เรสต์นั้น Edmund Hillary ได้ถ่ายภาพที่มีชื่อเสียงอีกภาพหนึ่งของศตวรรษเอาไว้ นั่นคือภาพของ Tenzing Norgay ที่ยืนอยู่บนจุดสูงสุดของเอเวอร์เรสต์ ภาพนั้นได้รับการตีพิมพ์ไปทั่วโลก ในขณะที่ Edmund Hillary นั้นไม่มีภาพของตัวเองกลับลงมาเลยแม้แต่รูปเดียว เพราะว่า Tenzing Norgay ใช้กล้องถ่ายรูปไม่เป็น 

นานาจิตตังนะคะ เพราะคนที่รู้จริงว่าใครเป็นยังไงก็มีแค่เค้าทั้งสองในทริปนั้นเท่านั้น

ภาพความวุ่นวายภายนอกที่ Bus Stand ตรงที่รถส้มๆแดงๆจอดอยู่ คือจุดที่กะหรี่ยงไทยลงรถในวันที่มาถึงค่ะ


เอาตั๋วรถขากลับที่พิมพ์จากอีเมล์ออกมายื่นที่เคาท์เตอร์ เจ้าหน้าที่รับไปดู เช็คตามรายชื่อผู้โดยสารแล้วก็บอกว่ารถจะมาถึง 15 นาทีก่อนเวลาเดินทาง ภายใน Gupta Travels Agency มีเก้าอี้ให้นั่งรอ กะเหรี่ยงไทยก็ปักหลักนั่งอยู่ในนี้ไม่ไปไหนแล้วค่ะ เป้หนักเหลือหลาย เดินเล่นไม่ไหวแล้วอ่ะ   เย็นวันนั้นมีถ่ายทอดสดการแข่งคริกเก็ตระหว่างอินเดียกับออสเตรเลีย แขกมุงกันเต็มหน้าจอทีวีใน Gupta Travels Agency เลยค่ะ


หน้าออฟฟิต Gupta Travels Agency


รถมาแล้วค่ะ ได้เวลาเดินทางกลับ City of Joy กัลกัตตากันแล้ว

ขึ้นไปนั่งประจำที่ตรงที่ๆจองเอาไว้ ที่นั่งเดิมเลยค่ะ ข้างหลังคนขับ  เป็นอะไรที่อะเมซิ่งมากๆ เพราะรถคันนี้เป็นคันที่กะเหรี่ยงไทยนั่งมาจากกัลกัตตา แถมคนขับและพนักงานประจำรถเป็นคนเดิมหมด โดนแขกปรี่เข้าทักทายอย่างสนิทสนมทันที


ฝากเป้ลงใต้ท้องรถเรียบร้อย รับใบฝากของ พอรถออกจาก Bus Stand เจ้าหน้าที่ประจำรถก็จะมาเช็คตั๋วเดินทางของเรา เก็บกันให้ดีอย่าให้หายเชียวนะคะ ต้องให้เค้าดูพร้อมกับพาสปอร์ตตัวจริงด้วยเหมือนกับขามา รถวิ่งไปได้ไกลพอสมควร น่าจะประมาณ 4 ทุ่มกว่าๆ รถก็แวะมาจอดที่หน้า Food Court ภายในปั้มน้ำมันแห่งหนึ่ง มีอาหารขายสำหรับคนที่อยากทานอะไรระหว่างการเดินทางนะคะ กะเหรี่ยงไทยก็ลงมาเดินยืดเส้นยืดสาย สักพักเกือบๆ 30 นาที รถก็ออกเดินทางต่อ






Free TextEditor




 

Create Date : 26 มิถุนายน 2554   
Last Update : 1 กรกฎาคม 2554 18:57:38 น.   
Counter : 981 Pageviews.  


อินเดีย - วันที่เจ็ด Hanuman Tok - Himalayan Zoological Park - Sikkim Palace

เช้าวันใหม่ตามเวลานัด 6 โมงเช้า เพื่อนใหม่บอกว่าจะพาไปรอดู Khangchendzonga ตอนที่พระอาทิตย์กำลังขึ้น


แต่ยูอย่าหวังมากนะ เพื่อนใหม่หันมาบอกในขณะที่รถเริ่มเลี้ยวไปตามทางบนภูเขาสูง ช่วงเดือนมีนา-พฤษภา อากาศดีก็จริง แต่มันจะแลกกับฟ้ามัวๆ ถ้าจะเอาแบบไปแล้วได้ดูแน่นอน ยูจะต้องกลับมาหลังเดือนพฤศจิกายนไปแล้ว แต่อากาศก็จะหนาวมากๆ อ้าวพี่ท่าน!! พูดเหมือนลางบอกเหตุว่าอิชั้นจะต้องได้กลับมาสิกขิมอีกนะเนี่ย


แล้วเราจะไปดูกันที่ไหนล่ะ Tashi Viewpoint เหรอ? ไม่ใช่ ยูไปมารอบนึงแล้วนี่ วันนี้เราจะไปรอดูที่ Hanuman Tok กัน



Hanuman Tok หรือศาลหนุมาน อยู่ห่างจาก White Hall ที่อยู่ติดกับ Flowers Exhibition Centre ประมาณ 5 กิโลเมตร เป็นศาลที่ทางกองทัพของอินเดียสร้างขึ้นอุทิศแด่หนุมาน ซึ่งเป็นเทพเจ้าของเค้า



ที่นี่ถูกสร้างอยู่ใกล้ๆกับ Lukshyama ซึ่งเป็นที่จัดงานถวายพระเพลิงศพของเชื้อพระวงศ์แห่งราชวงศ์สิกขิม โดยงานถวายพระเพลิงศพของสมาชิกของราชวงศ์สิกขิมพระองค์สุดท้ายก็ได้จัดขึ้นที่นั่นด้วย



หน้าบันก็เป็นปูนปั้นนูนต่ำเต็มตัวของหนุมาน



บริเวณภายในตรงนี้ห้ามถ่ายรูปนะคะ



แต่กะเหรี่ยงไทยได้รับอนุญาติจากท่านผู้ดูแลศาลหนุมานแห่งนี้เรียบร้อยแล้วนะคะ  เลยขอนำภาพมาแบ่งปันกัน



คนนี้แหละค่ะ







พนักงานที่ทำงานอยู่ใน Hanuman Tok


ผู้ดูแลศาลเห็นกะเหรี่ยงไทยเดินไปเดินมาอยู่ในศาลหนุมานแต่เช้าตั้งแต่อากาศยังหนาวอยู่ เลยเดินมาถามว่าอยากจะได้ชาร้อนๆดื่มแก้หนาวสักแก้วไหม น้ำใจจากคนแปลกหน้าที่เราอาจจะได้พบกันเพียงแค่เสี้ยวนาทีเดียวกลางหุบเขาสูงแห่งนี้ กะเหรี่ยงไทยพยักหน้าโดยไม่ต้องคิด ถึงแม้จะสื่อสารโดยภาษากันไม่ค่อยเข้าใจ แต่น้ำใจที่หยิบยื่นให้คนแปลกหน้านั้นกลับมีค่ามากกว่าเงินทองของนอกกาย


บทสนทนาเริ่มต้นขึ้นผ่านชาแก้วเล็กๆที่คนในศาลยื่นให้ ภาษาไม่ใช่อุปสรรคใหญ่เมื่อเราต่างก็พยายามจะสื่อสารกันด้วยประโยคง่ายๆ อาจเพราะที่นี่ไม่ค่อยจะมีคนแวะมาเหมือนที่อื่นๆในกังต็อก เมื่อมีแขกมาเยือนจากแดนไกล เจ้าบ้านจึงเต็มใจให้การต้อนรับเป็นอย่างดี



หนุ่มน้อยขี้อาย ลูกชายของพนักงานที่ทำงานใน Hanuman Tok



เป็นไปตามคาดหมาย อากาศที่ขมุกขะมัวทำให้เราพลาดการชม Khangchendzonga ไปอย่างสุดแสนจะเสียดาย หรืออาจจะเป็นลางบอกเหตุว่า นี่จะไม่ใช่การมาสิกขิมครั้งสุดท้ายแน่นอน  ตรงกลางระหว่างเทือกเขาโค้งๆเว้าๆในภาพนี้ ก็คือตำแหน่งของ Khangchendzonga ที่เรามารอดูนั่นเอง



วิวสวยๆที่จะต้องกลับมารอดูอีกครั้งในอนาคตอันใกล้นี้



เวลาเข้าวัดฮินดูแล้วเจอระฆังแบบนี้แขวนอยู่ เราต้องสั่นระฆังให้เกิดเสียงกังวานด้วยนะคะ เพื่อนใหม่บอกว่าถ้ายูทำแบบนั้น เค้ามีความเชื่อแบบในศาสนาของเค้าว่า เสียงระฆังที่เราตีจะดังไปถึงเทพเจ้าที่เฝ้ามองเราอยู่จากสรวงสวรรค์



ไปเที่ยวสวนสัตว์กันเถิด



Himalayan Zoological Park ไม่ได้ไกลเร้ยยยยย  ตอนแรกก็นึกว่าจะอยู่ออกไปไกลๆ ที่ไหนได้ ทางขึ้นอยู่ตรงข้ามกับ Ganesh Tok เอง ถ้าใครคิดว่าจะมีสัตว์มากมายให้ดู คุณจะผิดหวังนะคะ เพราะมันเป็นสวนสัตว์ที่มีสัตว์ค่อนข้างน้อยมาก คนละคอนเซ็บต์กับสวนสัตว์บ้านเรา  เอ..ถ้างั้นควรแวะมั๊ยอ่ะ? ถ้าถามกะเหรี่ยงไทย ขอตอบตามแบบของตัวเองว่าควรแวะนะคะ ถ้าคุณมีเวลาพอ เพราะจะต้อง เดิน เดิน เดิน แล้วก็เดินเท่านั้น แต่จะคุ้มกับการมาชมสัตว์บางประเภทที่เราคงจะไม่มีโอกาสได้เห็นในเมืองไทยชนิดมีแค่ลูกกรงบางๆกั้น


ถ้าต้องเดินแต่อากาศไม่ร้อนกะเหรี่ยงไทยทนได้ค่ะ


โม้เข้าไป เที่ยวที่แรกๆก็งี้ พอไปหลายๆที่เข้าหน่อยก็งอแงประจำ    เสียค่าเข้าชมแล้วก็แล่นรถเข้าไปค่ะ ตอนแรกก็แอบดีใจเพราะคิดว่าเป็นสวนสัตว์ที่เอารถเข้าไปขับดูสัตว์ตามจุดต่างๆได้ พอขับเข้ามานิดเดียวก็เจอที่จอดรถซะแล้ว  แล้วก็ต้องเดินต่อไปเอง



ขับรถเข้ามาสักพัก เลยจุดชำระเงินค่าเข้าสวนสัตว์ก็จะเจอกรงอยู่ข้างๆทางซ้ายมือ ขอแวะดูแป๊ปนึงนะคะ



แถวๆนี้เป็นกรงสัตว์ปีกค่ะ แต่ว่าด้านหลังของกรงสัตว์ปีกแห่งนี้ มีดาราดังจากหนังดังของค่าย Dreamworks Animation Distributed ของ Paramount Pictures อยู่ด้วย ตามไปดูกันต่อนะคะ



Master Shifu จาก Kang Fu Panda  จำกันได้ไหมคะ



Red Panda แพนด้าแดง


ที่สวนสัตว์ดุสิตบ้านเราก็มีให้ชมอยู่ 1 คู่นะคะ เราได้รับแพนด้าแดงคู่นั้นจากโครงการแลกเปลี่ยนกับรัฐบาลออสเตรเลีย ส่วนที่เคยมีที่สวนสัตว์ชั้นบนของห้างพาต้า ปัจจุบันไม่แน่ใจว่ายังอยู่รึเปล่านะคะ



แพนด้าแดงแบ่งออกได้เป็นสองประเภทย่อยนะคะ พวกแรกจะตัวเล็ก ขนที่หน้าสีอ่อน ประเภทนี้จะพบในประเทศเนปาล ทิเบต อินเดีย ภูฐาน และประเทศจีน ส่วนอีกพวกจะมีลายที่หน้าเป็นสีเข้ม พบได้ในพม่าและบางพื้นที่ของลาวที่อยู่ติดกับประเทศจีน แต่มีข้อน่าสังเกตว่า แพนด้าแดงที่พบในภาคเหนือของอินเดียจะตัวใหญ่กว่าแพนด้าแดงที่พบในเอเซียตะวันออก


เนื่องจากเป็นสัตว์อนุรักษ์ในกลุ่มเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ เพราะแหล่งที่อยู่ในธรรมชาติถูกทำลาย และถูกล่าจากมนุษย์ คือมันมักจะถูกล่าเอาขนหางมาทำพู่ติดหมวก หรือไม่ก็จับส่งขายสวนสัตว์ต่างประเทศ เลยทำให้มันได้ขึ้นทะเบียนเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองจากรัฐบาลจีนและเนปาล



น่ารักและขี้เล่น น่าจะเป็นนิยามของแพนด้าแดง


ตอนที่กะเหรี่ยงไทยอยู่ไกลจากกรงเห็นมันสามตัวนอนอาบแดดกันแน่นิ่งไม่ไหวไม่ติง เลยคิดว่าคงเป็นสัตว์เรียบร้อย แต่พอเดินเข้าไปใกล้ๆกรง พวกมันเดินมาดมกลิ่นเราและมองอย่างสนอกสนใจเชียวล่ะค่ะ จากนั้นก็ทำการโชว์ออฟวิ่งไปมาบนขอนไม้ที่ถูกจัดไว้ในกรงให้กะเหรี่ยงไทยดู



ไปรุมอะไรกันอยู่ตรงนั้นน่ะเธอ?




สงสัยจะมีอะไรดีๆตรงนั้น ทีนี้มารุมกันทั้งครอบครัวเลย



เจ้าตัวเล็กตัวนี้ให้ความสนใจผู้ชมมากที่สุด ถึงขนาดวิ่งมายืนเกาะลูกกรงเพื่อมาดมกลิ่นมือที่เราเพิ่งจับไปหมาดๆ  เค้าไม่ใช่คนให้อาหารเธอนะจ๊ะ



น่ารัก!!!!!!



เพื่อนใหม่เริ่มเซ็งอีกครั้ง นึกว่าพามาสวนสัตว์แล้วเธอจะแค่เดินๆดูๆแล้วก็กลับ นี่ยังไม่ถึงจุดจอดรถเธอแวะกรงนี้กรงเดียวไปเกือบครึ่งชั่วโมง!!! เจ๊..ข้างในมีอีกเพียบเลยอ่ะ อันนี้แค่น้ำจิ้ม ตรงโน้นมีเป็นฝูงเลย ขึ้นรถแล้วเข้าไปดูต่อกันเถอะ



Leopard เสือดาว



เสือดาวกับเสือดำเป็นเสือชนิดเดียวกันนะคะ แต่ลูกเสือในครอกเดียวกันนั้นมีได้ทั้งเสือดำและเสือดาว



ตัวนี้ก็เอนเตอร์เทนผู้ชมเก่งอยู่เหมือนกัน



แอ็คติ้งเหลือเกิ้นนนนน


ตอนกะเหรี่ยงไทยเดินไปใกล้ๆกรง มันวิ่งไปรอบๆใหญ่เลย คงจะดีใจว่า มื้อเที่ยงของชั้นมาแว้วววววววว   



Himalayan Palm Civet หรือ อีเห็นเครือ เป็นสัตว์จำพวกชะมดและอีเห็น



พบเห็นได้ในภาคเหนือของอินเดีย และประเทศเพื่อนบ้านนะคะ



Snow Leopard เสือดาวหิมะ จำ Tai Lung ตัวร้ายจาก Kang Fu Panda ได้ไหมคะ



เสือดาวหิมะจะพบได้มากแถบยอดเขาสูงที่มีหิมะปกคลุมของเอเซียกลาง เป็นสัตว์อีกชนิดที่มีสถานะใกล้จะสูญพันธุ์แล้วเหมือนกัน



มีสองตัวค่ะ เป็นตัวผู้ 1 และตัวเมีย 1 เค้าจะขังแยกกรงกันแบบนี้นะคะ เวลาปล่อยให้เข้าไปยังบริเวณสวนของเสือดาวที่มีบริเวณกว้าง เค้าก็จะปล่อยทีละตัว อาจจะเป็นการป้องกันการต่อสู้ทำร้ายกันเองจนบาดเจ็บ เพราะว่ามีอยู่แค่สองตัวเท่านั้น และอาจจะปล่อยให้ใช้อาณาบริเวณร่วมกันในฤดูผสมพันธุ์



แมวยักษ์ตัวเนี้ย ตัวจริงบุคลิกคนละเรื่องกับในหนังเลยอ่ะ



เท่ และสุขุม



อย่านึกว่าที่นี่เค้าจะเลี้ยงสัตว์กันในกรงอันคับแคบเหมือนบางสวนสัตว์ในบ้านเรานะคะ เฉพาะ Snow Leopard เค้ามีทั้งส่วนของสนามหญ้าขนาดใหญ่ มีโรงให้อาหารแยกต่างหาก และบริเวณที่เป็นพื้นดินและขอนไม้สูงให้ปีนป่ายเหมือนกับภูมิประเทศที่เค้าอาศัยอยู่กันเลยล่ะ



ดูเผินๆนึกว่ามันกำลังโชว์ท่าโยคะให้ดู   



Himalayan Wolf หมาป่าหิมาลัย



หมาป่าหิมาลัยนั้น เดิมเชื่อว่าเป็นสายพันธุ์เดียวกันกับหมาป่าธิเบต แต่เมื่อศึกษาลึกลงไปแล้วพบว่า มันอาจจะเป็นคนละสายพันธุ์กัน ถิ่นอาศัยก็จะอยู่ตามภาคเหนือของอินเดีย เช่นที่ Himachal Pradesh แคว้น Kashmir และเทือกเขาหิมาลัยในเนปาล ที่สวนสัตว์นี้ยังมีสัตว์อีกหลายประเภท แต่เนื่องจากกะเหรี่ยงไทยเห็นว่า ถ้าเอาข้อมูลมาลงมากเกินไปจะทำให้เราออกนอกเส้นทางท่องเที่ยวอีกครั้ง



ออกจากสวนสัตว์ก็สายพอสมควรแล้ว แต่ยังเหลืออีกที่ในกังต็อกที่กะเหรี่ยงไทยอยากไป Tsuklakhang Palace หรือ Tsuklakhang Palace Chapel and Monastery ที่บ้างก็รู้จักกันในชื่อ Sikkim Palace ที่นี่ไม่อนุญาติให้ถ่ายภาพนะคะ กะเหรี่ยงไทยไม่รู้เลยเผลอถ่ายไป 2-3 รูป แต่หลังจากเห็นป้ายห้ามถ่ายรูปแล้ว เราก็ควรทำตามธรรมเนียมของนักท่องเที่ยวที่ดี เก็บกล้องเข้ากระเป๋าแล้วเดินชมสถานที่อย่างสำรวมค่ะ



Tsuklakhang Palace ไม่ได้เปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าเที่ยวชมทั่วไปเหมือนกับที่อื่นๆ เนื่องจากว่าเป็นอารามที่อยู่ในเขตวังหลวงของเจ้าผู้ครองนครสิกขิมในอดีต อันที่จริงก็เปิดให้เข้าชมได้สำหรับเทศกาลปีใหม่ทิเบต (Losar) เพื่อเข้าไปชม Chaam Dance ได้ นอกเหนือจากเทศกาลนั้นๆก็จะเปิดให้เข้าสำหรับผู้ที่มาปฎิบัติธรรมเท่านั้น

คงจะมีคนสงสัยว่า แล้วทำไมกะเหรี่ยงไทยเข้าไปได้? ตอนแรกเราก็โดนทหารที่เฝ้าตรงประตูกั้นเอาไว้ค่ะ แต่เพื่อนใหม่ของกะเหรี่ยงไทยเข้าไปเจรจาที่ตู้ยาม เค้าบอกว่ากะเหรี่ยงไทยเป็นเพื่อนของเค้าที่มาเที่ยวจากเมืองไทยเพียงคนเดียว  แล้วก็เป็นคนมีศรัทธาในศาสนามากๆ ไปวัดในกังต็อกมาเกือบครบแล้ว ฟังถึงตรงนี้แล้วเริ่มไม่แน่ใจว่าอิชั้นถูกชมหรือโดนกระแนะกระแหน และมีเวลาเหลือแค่วันนี้วันเดียวซึ่งเค้าอยากจะพากะเหรี่ยงไทยมาไหว้องค์พระที่อารามของ Tsuklakhang Palace ขอความกรุณาให้เราได้ผ่านเข้าไปชมสถานที่ด้วย ไม่รู้เค้าไปคุยกันอีท่าไหนนะคะ เห็นไปลงรายชื่อที่สมุดตรงป้อมยามสักพัก จากนั้นพี่ทหารก็ให้กะเหรี่ยงไทยเดินเข้าไปได้เลย โดยที่พี่ทหารแอบเดินตามมาไกลๆตลอดทาง

กะเหรี่ยงไทยว่า ถ้าเราทำเรื่องขออนุญาติเข้าชม ก็คงจะเข้าไปได้ไม่ยากเย็นนัก เพราะกะเหรี่ยงไทยก็เห็นว่ามีนักท่องเที่ยวแบบพวกภูฎานหรือทิเบตมาเข้าชมกันอยู่บ้าง แต่ก็เป็นเหมือนพวกที่มาจาริกแสวงบุญกันนะคะ บางคนก็มาสวดมนต์รอบๆพระอาราม บ้างก็มารอทำพิธีภายในพระอารามหลวง ตอนที่กะเหรี่ยงไทยเดินเข้าไปภายใน ก็ยังเห็นมีชาวตะวันตกอยู่สองสามคนนั่งทำสมาธิที่สนามหญ้า คิดว่าคงจะเป็นคนที่ตั้งใจจะมาปฎิบัติธรรมที่นี่เช่นกัน

เพื่อนใหม่ของกะเหรี่ยงไทยเป็นคนพื้นที่ เลยอาจจะไม่รู้ว่าถ้าเป็นคนต่างชาติ อาจจะต้องทำการขออนุญาติเข้าชมก่อน นับว่าเป็นโชคดีอีกอย่างค่ะ 

Tsuklakhang Palace อยู่ภายในเขตพระราชวังของราชวงศ์สิกขิม ซึ่งอาศัยอยู่ที่นี่จนถึงในสมัยของกษัตริย์พระองค์สุดท้ายคือ เป็นทั้งที่ประกอบพิธีทางศาสนาและพิธีแต่งงานของเชื้อพระวงศ์สิกขิมในอดีต และรวมถึงเป็นสถานที่ประกอบพระราชพิธีขึ้นเป็นกษัตริย์ของเจ้ามหาชีวิตแห่งสิกขิมด้วย โครงสร้างของอารามแห่งนี้งดงามมาก เป็นศิลปะแบบสิกขิมอย่างแท้จริง ตัวอารามเป็นไม้แกะสลักลงสี มีจิตรกรรมฝาผนังที่สมบูรณ์แบบอยู่ภายใน แท่นบูชาก็ตกแต่งอย่างหรูหรา

ทั้งหมดที่ว่ามา มีให้ชมแค่ภาพนี้ภาพเดียวค่ะ 

ว่าจะไม่เขียนถึงแล้ว แต่ก็อดไม่ได้ ขอเอาเกร็ดความรู้เล็กๆน้อยๆของ Chogyal ที่ 12 กษัตริย์องค์สุดท้ายของราชวงศืสิกขิมมาเล่าสู่กันฟังนะคะ

Palden Thondup Namgyal เป็นพระราชโอรสองค์ที่สองของ Chogyal Sir Tashi Namgyal ประสูติเมื่อ 22 พฤษภาคม ค.ศ 1923 ขึ้นครองพระราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์แห่งสิกขิมเมื่อวันที่ 4 เมษายน ค.ศ 1965

เมื่อเยาว์วัย พระองค์ได้บรรพชาเป็นลามะในระหว่างปี ค.ศ 1931-1934 เข้ารับการศึกษาจาก St Joseph Convent ที่ Kalimpong, St Joseph Academy ที่ Darjeeling, Bishop Cotton School ที่ Simla และ ICS Training camp ที่ Dehradun เป็นรัชทายาทลำดับสอง จนเมื่อเจ้าชายรัชทายาทอันดับหนึ่งหรือพระเชษฐาองค์โตผู้เป็นพี่สิ้นพระชนม์ในอุบัติเหตุเครื่องบินในสงครามโลกครั้งที่สอง ทำให้พระองค์ถูกเลื่อนขึ้นมาเป็นรัชทายาทอันดับหนึ่งทันที

พระองค์เข้าพิธีอภิเษกสมรสกับ Sangey Deki จนเมื่อพระนางสิ้นพระชนม์ไป พระองค์ก็ได้เข้าพิธีสมรสใหม่กับสตรีชาวอเมริกันเชื้อสายไอริชชื่อ Hope Cooke ในปี ค.ศ 1963 เรื่องนี้เป็นเหมือน Fairly Tales มากๆ คือ Hope Cooke เป็นสาวสวยเกิดที่ซานฟรานซิสโก แคลิฟอร์เนีย เรียน Asian Studies ที่ Sarah Lawrence College เธอเป็นเพื่อนร่วมแชร์อพาร์ทเมนต์กับดารานักแสดงชื่อ Jane Alexander

Hope Cooks ตัดสินใจไปเที่ยวในอินเดียตอนปิดเทอมภาคฤดูร้อนและเธอได้พบกับ Palden Thondup Namgyal ซึ่งในขณะนั้นเป็นเจ้าชายรัชทายาทแห่งสิกขิม ทั้งคู่พบกันที่บาร์ของโรงแรม Windamere ในดาร์จีลิ่ง หลังจากนั้นอีกสองปี ในปี ค.ศ 1961 ทั้งสองก็เข้าสู่พิธีหมั้นอย่างเป็นทางการ แต่ก็ต้องรอไปอีก 2 ปีเพื่อเข้าสู่พิธีอภิเษกเมื่อวันที่ 20 มีนาคม ค.ศ 1963 เนื่องจากปี ค.ศ 1962 นั้น เป็นปีที่ไม่มีฤกษ์สำหรับพิธีมงคลสมรสของคู่บ่าวสาวคู่นี้

แต่นิยายรักก็จบลงอย่างรวดเร็วเช่นกัน ทั้งสองได้หย่าขาดจากกันเมื่อปี ค.ศ 1980  Hope Cooke พาลูกสองคน Palden Namgyal และ Hope Leezun Namgyal เดินทางกลับไปอยู่แมนฮัตตัน ส่วน Choygal ที่ 12  พระองค์สิ้นพระชนม์ลงเพราะโรคมะเร็งในปี ค.ศ 1982 ที่นิวยอร์ก


หลังจากเดินชมบริเวณอารามวัดแล้ว เพื่อนใหม่ก็พากะเหรี่ยงไทยเดินออกทางประตูหลังของพระราชวังโดยเดินลัดออกมาทางสวนด้านหลัง ระหว่างทางสังเกตเห็นวิลล่าหลังใหญ่อยู่ซ้ายมือใกล้ๆกับสนามหญ้า เพื่อนใหม่บอกว่านี่เป็นวังที่อยู่ของ Hope Cooke ตอนที่เธอพำนักอยู่ที่วังแห่งนี้ในฐานะราชินีของสิกขิม เดินไปเรื่อยๆก็ถึงประตูทางออกแล้วค่ะ


วันสุดท้ายแล้วก็ต้องตระเวณซื้อของฝากผู้มีอุปการะคุณทั้งหลายที่เมืองไทย เล็งๆของฝากไว้หลายอย่างแล้วล่ะ ว่าแล้วก็ต้องไปแลกเงินเพิ่มอีกหน่อย ที่ MG Marg กะเหรี่ยงไปแลกเงินแถวๆร้าน Baker's Cafe ค่ะ แถวๆนั้นมีร้านรับแลกที่กะเหรี่ยงไทยจำชื่อไม่ได้ เอาเป็นว่ามองหาโลโก้ Western Union เอาไว้ให้ดีนะคะ ร้านเป็นร้านเล็กๆอยู่ชั้นล่าง โอ๊ย!!! ให้เรทแลกเงินดีมหาศาลและมากมาย แลกเป็นร้อยดอลล่าร์ขึ้นไปจะเห็นข้อแตกต่างกับแลกที่สนามบินหรือธนาคารชัดเจนเลยค่ะ

กำเงินออกมาระดับเศรษฐินีแขก ทีนี้ก็ต้องเดินหาของฝากให้ครบทุกท่าน สำหรับเพื่อนร่วมงาน อู้ยยยย!!! ออฟฟิตอิชั้นมีพนักงานรวมแล้วเกือบๆ 30 ชีวิต เพื่อนสนิท? ก็หลายคนอยู่นะเนี่ย ต้องไม่ลืมของเจ้านายด้วย ซื้อให้ชาวบ้านแล้วอย่าลืมซื้อให้ตัวเองนะจ๊ะ  ของฝากหายากนะคะ สำหรับสิกขิมเนี่ย แต่ในที่สุดเราก็สามารถรวบรวมของฝากให้หลายชีวิตที่เมืองไทยได้สำเร็จ น้ำหนักกระเป๋าเพิ่มอีกเกือบๆ 5 กิโลเลยอ่ะ


คืนสุดท้ายสำหรับสิกขิม ยังไม่ค่อยอยากจะเชื่อว่าต้องกลับแล้วจริงๆ   ต้องเริ่มทะยอยเก็บสัมภาระทั้งหมดใส่กระเป๋า เพื่อกลับไปเป็นมนุษย์เงินเดือนอีกครั้ง







Free TextEditor




 

Create Date : 26 มิถุนายน 2554   
Last Update : 26 มิถุนายน 2554 16:12:34 น.   
Counter : 4952 Pageviews.  


1  2  3  4  5  6  7  

bkkplayground
 
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]


ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]





MusicPlaylist
Music Playlist at MixPod.com
[Add bkkplayground's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com