บทความ-ไขปัญหาวิปัสสนาห้ามคิดหริอไม่? ตอนที่ 5 (ตอนจบ)
โยนิโสมนสิการคืออะไร เท่าที่กล่าวมา ผู้ปฏิบัติคงได้ทราบแล้วว่าโยนิโสมนสิการมีความสำคัญ และมีความสัมพันธ์อย่างมาก ต่อการเห็นแจ้งอันเป็นตัววิปัสสนา โยนิโสมนสิการช่วยให้สัมมาทิฐิเกิดขึ้น เมื่อสัมมาทิฐิเกิดขึ้น ชื่อว่ามีวิปัสสนาเกิดขึ้นด้วย ดังนั้น การเห็นแจ้งอันเป็นตัววิปัสสนาจะเกิดขึ้น ต้องเจริญโยนิโสมนสิการหมั่นมนสิการโดยแยบคายอยู่เนื่องๆ มาก่อน เพราะฉะนั้นดังนั้นจึงได้คำตอบในเบื้องต้นแล้วว่า หลักการเจริญวิปัสสนาที่ถูกต้อง คือ การเจริญวิปัสสนาโดยอาศัยโยนิโสมนสิการช่วย ต่อไป ขอนำความหมายของโยนิโสมนสิการมาให้ศึกษา ดังนี้
โยนิโสมนสิการ หากดูจากคำศัพท์แล้ว มาจากสองคำผสมกัน คือ โยนิโส (เหตุ, ต้นเค้า, แหล่งเกิด, ปัญญา, อุบาย, วิธี, ทาง)[1] + มนสิการ (การทำในใจ, การคิด, คำนึง, นึกถึง, ใส่ใจ, พิจารณา)[2] รวมสองคำเข้าด้วยกันแปลสืบๆ กันว่า การทำในใจโดยแยบคาย โยนิโสมนสิการ ได้แก่การทำไว้ในใจโดยถูกอุบาย=การทำไว้ในใจโดยถูกทาง=การนึก=การน้อมนึก=การผูกใจ=การใฝ่ใจ=การทำไว้ในใจ ซึ่งจิตในอนิจจลักษณะเป็นต้น โดยนัยเป็นต้นว่า ไม่เที่ยง หรือโดยสัจจานุโลมิกญาณ นี้เรียกว่า โยนิโสมนสิการ[3]
บทว่า เอวํ พหุปการํ ยถยิทํ โยนิโสมนสิกาโร ได้แก่ มนสิการโดยอุบาย มนสิการโดยคลองธรรม มนสิการโดยนัยในอนิจจลักษณะเป็นต้นว่า เป็นของไม่เที่ยงเป็นต้น หรือการพิจารณา การตามพิจารณา การรำพึง การใคร่ครวญ การใส่ใจ อนุโลมในของไม่เที่ยงนี้ ชื่อว่า โยนิโสมนสิการ.[4]
โยนิโสมนสิการ การทำในใจโดยแยบคาย, กระทำไว้ในใจโดยอุบายอันแยบคาย, การพิจารณาโดยแยบคาย คือพิจารณาเพื่อเข้าถึงความจริง โดยสืบค้นหาเหตุผลไปตามลำดับจนถึงต้นเหตุ แยกแยะองค์ประกอบ จนมองเห็นตัวสภาวะและความสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัย หรือตริตรองให้รู้จักสิ่งที่ดีที่ชั่ว ยังกุศลธรรมให้เกิดขึ้นโดยอุบายที่ชอบ ซึ่งจะมิให้เกิดอวิชชาและตัณหา, ความรู้จักคิด, คิดถูกวิธี[5] คำว่า โยนิโสมนสิการ ได้รู้แล้วว่ามีความหมายอย่างไรบ้าง ต่อไปขออธิบายวิธีเจริญโยนิโสมนสิการว่ามีอะไรบ้างจากชั้นอรรถกถาและฎีกาได้แยกออกมา 4 วิธี ดังต่อไปนี้ 1. อุบายมนสิการ แปลว่า คิดหรือพิจารณาโดยอุบาย คือ คิดอย่างมีวิธี หรือคิดถูกวิธี หมายถึงคิดถูกวิธีที่จะให้เข้าถึงความจริง สอดคล้องเข้าแนวกับสัจจะ ทำให้หยั่งรู้สภาวลักษณะและสามัญลักษณะของสิ่งทั้งหลาย
2. ปถมนสิการ แปลว่า คิดเป็นทาง หรือคิดถูกทาง คือ คิดได้ต่อเนื่องเป็นลำดับ จัดลำดับได้หรือมีลำดับ มีขั้นตอน แล่นไปเป็นแถวเป็นแนว หมายถึง ความคิดเป็นระเบียบตามแนวเหตุผลเป็นต้น ไม่ยุ่งเหยิงสับสน ไม่ใช่ประเดี๋ยววกเวียนติดพันเรื่องนี้ ที่นี้ เดี๋ยวเตลิดออกไปเรื่องนู้นที่โน้น หรือกระโดดไปกระโดดมา ต่อเป็นชิ้นเป็นอันไม่ได้ ทั้งนี้รวมทั้งความสามารถที่จะชักดความนึกคิดเข้าสู่ทางที่ถูกต้อง
3. การณมนสิการ แปลว่า คิดตามเหตุ คิดค้นเหตุ คิดตามเหตุผล หรือคิดอย่างมีเหตุผล หมายถึง การคิดสืบค้นตามแนวความสัมพันธ์สืบทอดกันแห่งเหตุปัจจัย พิจารณาสืบสาวหาสาเหตุ ให้เข้าใจถึงต้นเค้า หรือแหล่งที่มาซึ่งส่งผลต่อเนื่องมาตามลำดับ
4. อุปปาทกมนสิการ แปลว่า คิดให้เกิดผล คือใช้ความคิดให้เกิดผลที่พึงประสงค์ เล็งถึงการคิดอย่างมีเป้าหมาย ท่านหมายถึง การคิดการพิจารณาที่ทำให้เกิดกุศลธรรม เช่น ปลุกเร้าให้เกิดความเพียร การรู้จักคิดในทางที่ทำให้หายหวาดกลัว ให้หายโกรธ การพิจารณาที่ทำให้มีสติ หรือทำให้จิตใจเข้มแข็งมั่นคง เป็นต้น[6] คงเห็นแล้วว่าวิธีเจริญโยนิโสมนสิการมีด้วยกันหลายวิธี แต่ละวิธีล้วนต้องใช้ความคิดร่วมทำงานด้วยเสมอ เพื่อให้เห็นตามความเป็นจริงแห่งไตรลักษณ์ต่างๆ ที่ถูกซ่อนเร้นอยู่ เช่น คิดพิจารณาให้รู้ถึงความเสียหาย-ผุพัง-คงอยู่สภาพเดิมไม่ได้ที่ซ่อนเร้นอยู่ภายในของรถยนต์คันใหม่เอี่ยมที่เพิ่งซื้อมา (รถที่เพิ่งซื้อมาย่อมไม่แสดงความเสียหายหรือผุพังให้เห็น), คิดพิจารณาให้รู้ถึงความความแก่-เจ็บ-ตายที่ซ้อนเร้นอยู่ภายในบุคคลหนุ่มสาวยังแข็งแรง เป็นต้น หรือคิดพิจารณาเพื่อให้เกิดการจดจำความจริงแห่งไตรลักษณ์ต่างๆ ที่ได้ปรากฏขึ้นมาแล้ว เช่น เมื่อรถยนต์คันใหม่เอี่ยม เกิดไปเฉี่ยวชนอะไรเข้าจนเกิดการเสียหาย (ลักษณะไตรลักษณ์ปรากฏขึ้นมาแล้ว) จึงคิดพิจารณาให้จิตจดจำว่ารถยนต์มีอันต้องเสียหาย-ผุพัง-คงอยู่สภาพเดิมไม่ได้เป็นธรรมดา, เมื่อจิตเผลอไปคิดเรื่องอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับงานที่ทำอยู่ พอใช้สติระลึกรู้จิตที่คิดจึงได้ดับไป (ลักษณะไตรลักษณ์ปรากฏขึ้นมาแล้ว) จึงคิดพิจารณาเพื่อให้จิตจดจำว่าจิตที่คิดนี้ไม่เที่ยง มีอันต้องดับไปเป็นธรรมดา แล้วอาจจะคิดสืบสาวหาเหตุปัจจัยต่อไปอีกว่าจิตที่คิด เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยอะไร มีอะไรเป็นปัจจัยจึงเกิดขึ้นมาได้ ฯลฯ การคิดอย่างนี้ ทำให้เกิดการเห็นด้วยปัญญาขึ้นในจิตใจ เป็นการเจริญวิปัสสนาโดยอาศัยโยนิโสมนสิการช่วยเพื่อให้เกิดการเห็นแจ้ง แต่ถ้าหากว่าไม่ใช้ความคิดช่วยแล้ว ย่อมจะไม่เรียกว่าโยนิโสมนสิการไปได้ แต่จะเรียกเป็นชื่อข้อธรรมอื่นแทน เช่น สติ คือ ระลึกรู้, สมาธิ คือ ความตั้งมั่น เป็นต้น เท่านั้น แต่เมื่อใดมีการใช้ความคิดเข้าไปร่วมด้วยจึงเรียกว่าโยนิโสมนสิการ ถ้าศึกษาให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นไปแล้วสาเหตุที่โยนิโสมนสิการมีความเกี่ยวข้องและเน้นมากในทางการใช้ความคิด เนื่องมาจาก โยนิโสมนสิการ ถ้าหากจัดเข้าในมรรคมีองค์ 8 ประการแล้ว สามารถจัดลงได้ในข้อ สัมมาสังกัปปะ หลักฐานของการจัดโยนิโสมนสิการ เข้าในสัมมาสังกัปปะมีปรากฏอยู่ในชั้นอรรถกถาที่ท่านใช้คำว่า สัมมาสังกัปปะ มาแทน คำว่า โยนิโสมนสิการ ในประโยคเดียวกันว่า โยนิโสมนสิการมีอุปการะมากแก่สัมมาทิฐิ จากเนื้อความพระสูตรที่ผู้เขียนยกมาก่อนหน้านี้แล้ว ดังต่อไปนี้ อนึ่ง สัมมาสังกัปปะเป็นธรรมมีอุปการะมากแก่สัมมาทิฏฐินั้น เพราะฉะนั้น จึงตรัสไว้ในลำดับสัมมาทิฏฐินั้น เปรียบเหมือนเหรัญญิก (ผู้ดูเงิน) ใช้มือพลิกเงินกลับไปมาแล้วตรวจดูกหาปณะด้วยตา ย่อมรู้ว่า กหาปณะนี้เก๊ กหาปณะนี้ดี ฉันใด แม้พระโยคาวจร ก็ฉันนั้น ใช้วิตกตรึกแล้ว ๆ ในกาลส่วนเบื้องต้นแล้วตรวจดูอยู่ด้วยวิปัสสนาปัญญา ก็จะทราบได้ว่า ธรรมเหล่านี้เป็นกามาพจร ธรรมเหล่านี้เป็นรูปาพจรเป็นต้น ก็หรือว่า เปรียบเหมือนช่างถากใช้มีดถากท่อนไม้ใหญ่ อันบุรุษ จับตรงปลายพลิกกลับไปมาโดยรอบ ให้แล้ว ย่อมนำไปในการงานได้ ฉันใด พระโยคาวจรก็ฉันนั้น กำหนดธรรมทั้งหลายอันวิตกตรึกแล้ว ๆ ให้แล้ว โดยนัยมีอาทิว่า ธรรมเหล่านี้เป็นกามาพจรธรรมเหล่านั้นเป็นรูปาพจร ด้วยปัญญา ดังนี้แล้ว ย่อมน้อมไปในการงานได้ ด้วยเหตุนั้น จึงกล่าวว่า ก็สัมมาสังกัปปะเป็นธรรมมีอุปการะมากแก่สัมมาทิฏฐินั้น เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสสัมมาสังกัปปะในลำดับแห่งสัมมาทิฏฐินั้น[7] สรุปความจากอรรถกถาได้ว่า สัมมาสังกัปปะเป็นธรรมมีอุปการะมากแก่สัมมาทิฐิ (ใช้คำว่า สัมมาสังกัปปะ แทนคำว่าโยนิโสมนสิการในประโยค โยนิโสมนสิการมีอุปการะมากแก่สัมมาทิฐิ) ขั้นตอนการทำให้สัมมาทิฐิเกิดขึ้นเริ่มต้นโดยใช้สัมมาสังกัปปะ คือ วิตก ได้แก่ ความตรึก, ความดำริ เรียกง่ายๆ ว่าใช้ความคิด เพื่อตรวจสอบว่าสภาวธรรมใด จัดอยู่ในหมวดธรรมใด เช่น เป็นกามาวจรหรือรูปาวจร เป็นต้น เหมือนกับเหรัญญิกทำการตรวจสอบเงินว่าจริงหรือปลอม เวลาตรวจสอบเหรียญย่อมต้องใช้ความคิด เพื่อตรวจสอบว่าเหรียญใดเป็นเหรียญปลอม เหรียญใดเป็นเหรียญจริง เมื่อใช้วิตกตรวจสอบแล้ว จึงเกิดปัญญาความรู้ขึ้นมาว่าเหรียญนี้เป็นเหรียญจริงหรือว่าปลอม การเกิดความรู้ว่าเหรียญนี้เป็นเหรียญจริงหรือว่าปลอม คือ เกิดสัมมาทิฐิ เกิดทัสสนะ หรือเกิดวิปัสสนา ได้แก่ เกิดการเห็นด้วยปัญญา หรือความเห็นแจ้งขึ้น นอกจากหลักฐานของชั้นอรรถกถาที่ยกมา ยังมีหลักฐานอีกแห่งหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า การหมั่นคิด หรือหมั่นตรึกในสัมมาสังกัปปะเพื่อให้เห็นว่าอะไรเป็นทุกข์ อะไรเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ อะไรเป็นความดับทุกข์ อะไรเป็นปฏิปทาให้ถึงความดับอยู่ ย่อมเป็นเหตุให้เข้าถึงนิพพานได้ เป็นการใช้คำว่า สัมมาสังกัปปะ แทนคำว่า โยนิโสมนสิการ ของพระพุทธเจ้าที่ทรงตรัสไว้ใน เรื่อง ว่าด้วยการละอาสวะได้เพราะการเห็นก่อนหน้านี้ว่าเพียรทำการมนสิการโดยแยบคายว่า นี้ทุกข์ นี้เหตุให้เกิดทุกข์ นี้ความดับทุกข์ นี้ปฏิปทาให้ถึงความดับทุกข์อยู่เนื่องๆ อริยสาวกนั้น ย่อมมนสิการโดยแยบคายว่า นี้ทุกข์ นี้เหตุให้เกิดทุกข์ นี้ความดับทุกข์ นี้ปฏิปทาให้ถึงความดับทุกข์ เมื่ออริยสาวกนั้นมนสิการอยู่โดยแยบคายอย่างนี้ สังโยชน์ 3 คือ สักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพตปรามาส ย่อมเสื่อมสิ้นไป ดูกรภิกษุทั้งหลาย อาสวะเหล่านี้เรากล่าวว่า จะพึงละได้เพราะการเห็น[8] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ... เมื่อเธอทั้งหลายจะตรึก พึงตรึกว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ข้อนั้นเพราะเหตุไร? เพราะความตรึกเหล่านี้ ประกอบด้วยประโยชน์ เป็นพรหมจรรย์เบื้องต้น ย่อมเป็นไปเพื่อความหน่าย ความคลายกำหนัด ความดับ ความสงบ ความรู้ยิ่ง ความตรัสรู้ นิพพาน ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะฉะนั้นแหละ เธอทั้งหลาย พึงกระทำความเพียรเพื่อรู้ตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรคามินีปฏิปทา.[9] ดูกรภิกษุทั้งหลาย... เมื่อเธอทั้งหลายจะคิด พึงคิดว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา ข้อนั้นเพราะเหตุไร เพราะความคิดนี้ประกอบด้วยประโยชน์ เป็นพรหมจรรย์เบื้องต้น ย่อมเป็นไปเพื่อความหน่าย ความคลายกำหนัด ความดับ ความสงบ ความรู้ยิ่ง ความตรัสรู้ นิพพาน ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะฉะนั้นแหละ เธอทั้งหลายพึงกระทำความเพียรเพื่อรู้ตามความเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ ฯลฯ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา.[10] หากวิเคราะห์ให้ลึกไปอีกชั้นหนึ่ง เมื่อโยนิโสมนสิการสามารถจัดเข้าในมรรคข้อ สัมมาสังกัปปะ เพราะว่าต้องมีการตรึกคิดอยู่ตลอดเวลา จึงทำให้ โยนิโสมนสิการ มีความสัมพันธ์กับอีกข้อธรรมหนึ่ง ได้แก่ วิตก อย่างใกล้ชิด เนื่องจากว่า สัมมาสังกัปปะ มีความสัมพันธ์กับวิตกเสมือนเป็นข้อธรรมเดียวกัน คำเดียวกัน ใช้แทนกันก็ว่าได้ เรื่องดังกล่าวนี้ ในพระไตรปิฎกได้แสดงหลักฐานไว้ว่าที่ใดมีวิตกอยู่ ที่นั่นย่อมมีสัมมาสังกัปปะอยู่ ที่ใดมีสัมมาสังกัปปะอยู่ ที่นั่นย่อมมีวิตกอยู่เช่นเดียวกัน ดังต่อไปนี้ วิตก มีในสมัยนั้น เป็นไฉน? ความตรึก ความตรึกอย่างแรง ความดำริ ความที่จิตแนบอยู่ในอารมณ์ ความที่จิตแนบสนิทอยู่ในอารมณ์ ความยกจิตขึ้นสู่อารมณ์ สัมมาสังกัปปะ ในสมัยนั้น อันใด นี้ชื่อว่า วิตกมีในสมัยนั้น...
สัมมาสังกัปปะ มีในสมัยนั้น เป็นไฉน? ความตรึก ความตรึกอย่างแรง ความดำริ ความที่จิตแนบอยู่ในอารมณ์ ความที่จิตแนบสนิทอยู่ในอารมณ์ ความยกจิตขึ้นสู่อารมณ์ ความดำริชอบ ในสมัยนั้น อันใด นี้ชื่อว่า สัมมาสังกัปปะ มีในสมัยนั้น[11] จากพระไตรปิฎกทำให้ทราบว่า วิตก กับ สัมมาสังกัปปะ มีความคล้ายคลึงกันเป็นอย่างมาก ดังนั้น เมื่อเจริญโยนิโสมนสิการคราวใด ย่อมมีวิตกเกิดขึ้นคราวนั้น เมื่อเจริญโยนิโสมนสิการไปเรื่อยๆ วิตกย่อมเกิดขึ้นไปเรื่อยๆ เมื่อเจริญโยนิโสมนสิการอย่างต่อเนื่องไม่ว่างเว้น วิตกย่อมเกิดขึ้นซ้ำๆ อย่างต่อเนื่องไม่ว่างเว้นเช่นเดียวกัน เมื่อวิตกเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องไม่ว่างเว้นเช่นนี้ ต่อไปตามพัฒนาการของจิตแล้ว วิตกจะกลายเป็นวิจาร หมายถึง เกิดการเคล้าคลึงอยู่กับอารมณ์ เคล้าคลึงอยู่กับสิ่งที่นำมาคิด กล่าวให้เข้าใจง่าย คือ เกิดการคิดอย่างต่อเนื่องแนบสนิทกับสิ่งที่คิดอยู่อย่างนั้น สภาวะที่คิดอย่างต่อเนื่องนี้ มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า การพิจารณา เช่น เจริญโยนิโสมนสิการในร่างกายด้วยการใช้วิตกคิดว่าแท้จริงร่างกายประกอบไปด้วยอวัยวะ 32 ประการอะไรบ้าง เมื่อคิดอย่างต่อเนื่องไม่ว่างเว้นจะเกิดวิจารขึ้น คือ เคล้าคลึงอยู่กับร่างกายที่คิดอยู่ การคิดต่อเนื่องอย่างนี้เรียกว่า การพิจารณา
การพิจารณาสามารถทำได้ทุกที่ทุกเวลา พระศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสสอนเอาไว้ ไม่ว่าจะยืน เดิน นั่ง นอน หรืออยู่ในอิริยาบถใด สามารถทำการพิจารณาได้ สิ่งต่างๆ ไม่ว่าอะไรอยู่ภายใน-ภายนอกตัวเรา หรืออยู่ภายใน-ภายนอกผู้อื่น จะอยู่ใกล้หรือไกล จะหยาบหรือละเอียดนำมาพิจารณาได้หมด แต่ว่าอย่าทำจนคร่ำเคร่งมากจนเกินไป โดยเฉพาะผู้ที่เป็นปุถุชน เพราะจิตจะเกิดความเหนื่อยล้า แล้วฟุ้งซ่านได้ ควรรู้จักพักการพิจารณาให้จิตหายเหน็ดเหนื่อย หรือหายฟุ้งซ่านด้วยการทำสมถกรรมฐานอย่างใดอย่างหนึ่ง เมื่อจิตใจหายฟุ้งซ่าน หรือหายเหนื่อยแล้ว ต่อจากนั้น จึงกลับมาทำการพิจารณาใหม่อีกครั้ง สิ่งต่างๆ ที่สามารถนำมาทำการพิจารณาได้ พระพุทธเจ้าทรงจัดแบ่งออกเป็น 4 หมวดด้วยกัน ได้แก่ กาย เวทนา จิต ธรรม วิธีการพิจารณา 4 หมวดนี้ รู้จักกันดีในชื่อ สติปัฏฐานสี่ เนื่องจากต้องใช้สติเข้าไปตั้งไว้ในหมวดทั้งสี่ เพื่อนำมาทำการพิจารณาอยู่เนื่องๆ หากไม่มีสติเข้าไปตั้งไว้แล้ว การพิจารณาจะเกิดขึ้นไม่ได้ การพิจารณากับสติต้องอาศัยกันและกัน สติเข้าไประลึกรู้แล้วนำมาทำการพิจารณา ขณะที่ทำการพิจารณาอยู่ ย่อมทำให้เกิดสติควบคู่ไปด้วย เหมือนคำว่า สติ กับ สัมปชัญญะ เป็น สติสัมปชัญญะ, สติ กับ ปัญญา เป็น สติปัญญาต้องอยู่คู่กันช่วยกันทำงานประหารกิเลส สติปัฏฐานสี่จึงเป็นทางสายเดียว ที่ทำให้ถึงพระนิพพานได้ ผู้ใดปรารถนาพระนิพพานต้องเจริญสติปัฏฐานสี่ ต้องนำสิ่งใดสิ่งหนึ่งมาทำการพิจารณาอยู่เนื่องๆ หาไม่แล้วย่อมไม่อาจถึงที่สุดแห่งทุกข์ได้ เรื่องสติปัฏฐานสี่หากท่านใดสนใจสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ในพระไตรปิฎก เช่น สติปัฏฐานสูตร, มหาสติปัฏฐานสูตร, สติปัฏฐานกถา เป็นต้น
ต่อไป ขอกล่าวต่อถึงกระบวนการที่ปรากฏขึ้นหลังจากได้ทำการพิจารณา คือ เมื่อพิจารณาต่อเนื่องมากๆ เข้า จิตจะเกิดความปีติ และเกิดความสุขขึ้นตามมา สุดท้ายจะเกิดเป็นสมาธิที่แนวแน่เป็นอารมณ์เดียวในระดับอัปปนาสมาธิ เรียกว่า เกิดฌาน เมื่อจิตรวมลงเป็นฌานด้วยโยนิโสมนสิการเป็นตัวนำอย่างนี้ ต่อไป อริยมรรค จะบังเกิดขึ้น หรือเรียกว่า มัคคสมังคี เมื่ออริยมรรคบังเกิดขึ้นเพราะมีองค์ประกอบของมรรค 8 บังเกิดขึ้นครบถ้วน เช่น สัมมาทิฐิที่เป็นตัวปัญญา หรือ วิปัสสนาเกิดขึ้นเพราะเห็นไตรลักษณ์, สัมมาสังกัปปะเกิดเพราะดำริ..., สัมมาสติเกิดเพราะตั้งมั่นระลึกอยู่ตลอดเวลา, สัมมาสมาธิเกิดเพราะไม่ฟุ้งซ่านมีอารมณ์เดียวแน่วแน่ เป็นต้น จากนั้นจึงเกิดการละสังโยชน์ได้ อาสวะย่อมสิ้นไปได้ ดังที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสเอาไว้ถึงพัฒนาการของจิตที่เกิดจากการหมั่นเจริญโยนิโสมนสิการว่า ธรรม 9 อย่างที่มีอุปการะมาก เป็นไฉน ได้แก่ธรรมอันมีมูลมา แต่โยนิโสมนสิการ 9 คือ เมื่อกระทำไว้ในใจโดยแยบคาย ปราโมทย์ย่อมเกิด ปีติย่อมเกิดแก่ผู้ปราโมทย์ กายของผู้มีใจกอปรด้วยปิติย่อมสงบ ผู้มีกายสงบ ย่อมเสวยสุข จิตของผู้มีสุขย่อมตั้งมั่น ผู้มีจิตตั้งมั่น ย่อมรู้เห็นตามเป็นจริง ผู้รู้เห็นตามเป็นจริง ตนเองย่อมหน่าย เมื่อหน่าย ย่อมคลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัดย่อมหลุดพ้น ธรรม 9 อย่างเหล่านี้มีอุปการะมาก[12]
พระสูตรข้างต้นเป็นการกล่าวให้ทราบถึงว่า เมื่อเจริญโยนิโสมนสิการไปแล้ว ย่อมจะทำให้เกิดการพัฒนาธรรม 9 ประการขึ้นมาอย่างเป็นลำดับจากหยาบไปหาละเอียด คือ
โยนิโสมนสิการ -> (1) ปราโมทย์ -> (2) ปีติ -> (3) กายสงบ(กายปัสสัทธิ) -> (4) สุข -> (5) สมาธิ -> (6) รู้ชัดตามเป็นจริง -> (7) หน่าย -> (8) คลายกำหนัด -> (9) หลุดพ้น สรุป ทั้งหมดทั้งสิ้นที่อธิบายมาตั้งแต่ต้นคงทำให้เกิดความเข้าใจแล้วว่า หลักการเจริญวิปัสสนาที่ถูกต้องเป็นอย่างไร สรุปอีกครั้งหนึ่งได้แก่ การเจริญวิปัสสนา คือ ความเห็นแจ้งไตรลักษณ์โดยประการต่างๆ การจะเห็นแจ้งได้ ต้องเห็นด้วยปัญญา การจะเห็นด้วยปัญญาได้ ต้องอาศัยโยนิโสมนสิการช่วย การใช้โยนิโสมนสิการช่วย ต้องหมั่นทำการพิจารณา การทำการพิจารณาต้องคิดอย่างต่อเนื่อง โยนิโสมนสิการเป็นข้อธรรมสำคัญจะขาดไม่ได้ หากขาดไปแล้วย่อมไม่อาจบรรลุธรรมได้ เมื่อขาดโยนิโสมนสิการ ชื่อว่าขาดสัมมาสังกัปปะ ขาดองค์ธรรมสำคัญที่จะทำให้เกิดสัมมาทิฐิ เมื่อขาดดังกล่าวแล้วมรรคมีองค์ 8 ย่อมไม่ครบ เมื่อมรรคมีองค์ 8 ไม่ครบ อริยมรรคย่อมเกิดไม่ได้สังโยชน์และอนุสัยย่อมไม่หมดไป ดังนั้นจึงห้ามขาด การเจริญวิปัสสนาจะห้ามคิดไม่ได้
การเจริญวิปัสสนาโดยอาศัยโยนิโสมนสิการช่วยคิดพิจารณานี้ สามารถนำมาใช้เพื่อให้เห็นตามความเป็นจริงของไตรลักษณ์ต่างๆ ที่ถูกซ่อนเร้นอยู่ หรือนำมาใช้เพื่อให้เกิดการจดจำความจริงของไตรลักษณ์ต่างๆ ที่ได้ปรากฏขึ้นมาแล้วก็ได้ หากไม่ใช้การคิดช่วยแล้ว ย่อมจะไม่เรียกว่าโยนิโสมนสิการไปได้ แต่จะเรียกเป็นชื่อองค์ธรรมอื่นแทน เช่น สติ คือ ระลึกรู้, สมาธิ คือ ความตั้งมั่น เป็นต้น เท่านั้น แต่เมื่อใดมีการใช้ความคิดเข้าไปร่วมด้วยจึงเรียกว่าโยนิโสมนสิการ
การเจริญวิปัสสนาโดยอาศัยโยนิโสมนสิการช่วย สามารถนำมาเจริญหลังจากฝึกสมาธิจนได้ฌานแล้วก็ได้ ตามแนวทางบรรลุธรรมที่ 1 คือ เจริญวิปัสสนาอันมีสมถะเป็นเบื้องต้น หรือจะนำมาใช้ตั้งแต่เริ่มแรก ตามแนวทางบรรลุธรรมที่ 2 คือ เจริญสมถะมีวิปัสสนาเป็นเบื้องต้น หรือจะนำวิธีการเจริญวิปัสสนาโดยอาศัยโยนิโสมนสิการช่วยมาใช้สลับกันไปกับการฝึกสมาธิตามแนวทางบรรลุธรรมที่ 3 คือ เจริญสมถะและวิปัสสนาคู่กันไป หรือจะนำมาใช้เพื่อแก้ไขในแนวทางบรรลุธรรมสุดท้ายที่ 4 คือ นึกถึงโอภาสอันเป็นธรรมถูกอุทธัจจะกั้นไว้ ไม่ถือว่าเป็นสิ่งที่ผิดแต่อย่างไร เพียงแต่การคิดพิจารณาต้องสอดคล้องกับหลักโยนิโสมนสิการ 4 ประการได้แก่ อุบายมนสิการ, ปถมนสิการ, การณมนสิการ, อุปปาทกมนสิการ ให้เห็นตามเป็นจริงในอริยสัจ 4 ให้เห็นลักษณะไตรลักษณ์ต่างๆ จนความปล่อยวางไม่ยึดติดถือมั่นเกิดขึ้น
การเจริญวิปัสสนาโดยอาศัยโยนิโสมนสิการไม่ว่าจะทำในแนวทางบรรลุธรรมใดใน 4 แนวทาง ย่อมทำให้มีสภาวะเดียวกันเกิดขึ้น คือ ทำให้อริยมรรคเกิดขึ้นได้ เนื่องจากเวลาเจริญโยนิโสมนสิการจะทำให้เกิดการพัฒนาการทางจิตไปอย่างเป็นลำดับจากหยาบไปหาละเอียดจนกระทั่งบรรลุมรรค-ผล-นิพพานดังได้กล่าวไปแล้ว
การเจริญโยนิโสมนสิการในเบื้องต้นจะเป็นปัญญาระดับ จินตมยปัญญา คือ ปัญญาที่เกิดจากการคิดพิจารณา แต่เมื่อเพียรเจริญโยนิโสมนการไปเรื่อยๆ จนกระทั่งจิตได้รับการพัฒนารวมลงไปเป็นสมาธิระดับอัปปนาสมาธิ บังเกิด อริยมรรค ขึ้นแล้ว ปัญญาจะไม่ใช่ระดับจินตมยปัยญาอีกต่อไป แต่เกิดเป็นปัญญาระดับ ภาวนามยปัญญา ขึ้นได้
สุดท้ายนี้ขอฝากข้อคิดคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ทรงตรัสแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของโยนิโสมนสิการว่าจำเป็นเพียงใด ดังนี้ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรายังไม่เล็งเห็นธรรมอันอื่นแม้สักอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นเหตุให้อริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ 8 ที่ยังไม่เกิด ย่อมเกิดขึ้น หรือที่เกิดขึ้นแล้วย่อมถึงความเจริญบริบูรณ์ เหมือนความถึงพร้อมแห่งการกระทำไว้ในใจโดยแยบคาย ดูกรภิกษุทั้งหลาย อันภิกษุผู้ถึงพร้อมด้วยการกระทำไว้ในใจโดยแยบคาย พึงหวังข้อนี้ได้ว่า จักเจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ 8 จักกระทำให้มากซึ่งอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ 8[13] พระผู้มีพระภาคตรัสคาถาประพันธ์ดังนี้ว่า ธรรมอย่างอื่นอันมีอุปการะมาก เพื่อบรรลุประโยชน์อันสูงสุดแห่งภิกษุผู้เป็นพระเสขะ เหมือนโยนิโสมนสิการไม่มีเลย ภิกษุเริ่มตั้งไว้ซึ่งมนสิการโดยแยบคาย พึงบรรลุนิพพานอันเป็นที่สิ้นไปแห่งทุกข์ได้ ฯ[14] %%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%%
บรรณานุกรม
พระธรรมปิฎก, (ป.อ.ปยุตฺโต). พจนานุกรมพุทธศาสน์ (ฉบับประมวลศัพท์). พิมพ์ครั้งที่ 10. กรุงเทพมหานคร : บริษัท เอส.อาร์.พริ้นติ้ง แมส โปรดักส์ จำกัด, 2546. พระพรหมคุณากรณ์, (ป.อ.ปยุตฺโต). พุทธธรรม. (ฉบับปรับปรุงและขยายความ). พิมพ์ครั้งที่ 20. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์ บริษัท สหธรรมิก จำกัด, 2545. พระพุทธโฆสเถระ, วิสุทธิมรรค, ฉบับแปลและเรียบเรียงโดยสมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสภมหาเถร). กรุงเทพมหานคร : พิมพ์ที่ธนาเพรส จำกัด, 2548. มหามงกุฎราชวิทยาลัย. พระไตรปิฎกพร้อมอรรถกถา แปล ชุด 91 เล่ม. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์มหามงกุฎราชวิทยาลัย, 2534.
------------------------------------------------------------------------------ [1] พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต), พุทธธรรม ฉบับปรับปรุงและขยายความ, พิมพ์ครั้งที่ 20, (กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์ บริษัท สหธรรมิก จำกัด, 2545), หน้า 669 670. [2] เรื่องเดียวกัน. [3] ม.มู.อ. (ไทย) 17/157. [4] ขุ.อิติ.อ. (ไทย) 54/118. [5] พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต). พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ พิมพ์ครั้งที่ 10 (กรุงเทพมหานคร : บริษัท เอส.อาร์.พริ้นติ้ง แมส โปรดักส์ จำกัด, 2546), หน้า 206. [6] พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต), พุทธธรรม ฉบับปรับปรุงและขยายความ, พิมพ์ครั้งที่ 20, (กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์ บริษัท สหธรรมิก จำกัด, 2545), หน้า 670. [7] อภิ.วิ.อ. (ไทย) 77/361. [8] ม.มู. (ไทย) 12/12/11-16. [9] สํ. ม. (ไทย) 19/1660/416. [10] สํ. ม. (ไทย) 19/1661/416-417. [11] อภิ.สงฺ (ไทย) 34/22/29., อภิ.สงฺ (ไทย) 34/36/29. [12] ที.ปา. (ไทย) 11/455/322. [13] สํ. ม. (ไทย) 19/172-173/41. [14] ขุ. ขุ. (ไทย) 25/194/203-204.
------------------------------------------------------------------------
บทความนี้ได้จบลงแล้วครับ ขอบคุณผู้อ่านที่ติดตามบทความที่ผมเขียนมาจนจบ ไว้พบกันในบทความเรื่องต่อไปครับ.
ขอให้เจริญในธรรม
ศิรัสพล
Create Date : 29 ตุลาคม 2553 |
|
5 comments |
Last Update : 29 ตุลาคม 2553 9:26:25 น. |
Counter : 4350 Pageviews. |
|
 |
|
ผมติดตามอ่านจนจบแล้วครับ บทความของท่านนับว่าเป็นประโยชน์
มากครับ และจะติดตามอ่านในบทความเรื่องต่อไปครับ
ขอบพระคุณครับ
ฐิติวัฒน์