"ยมฺหิ สจฺจญฺจ ธมฺโม จ..........อหึสา สญฺญโม ทโม..........ส เว วนฺตมโล ธีโร..........โส เถโรติ ปวุจฺจติ" ส่วนผู้ใดมีสัจจะ มีธรรม มีอหิงสา มีสัญญมะ มีทมะ ผู้นั้นแลเป็นปราชญ์สลัดมนทินได้แล้ว เรียกได้ว่าเป็นผู้ใหญ่..พุทธศาสนสุภาษิต
ยินดีต้อนรับเข้าสู่บล็อกครับ...เปิดตัวเมื่อวันที่ 24/11/2552 ยังคงมีการปรับแต่งอยู่บ้างในบางจุด ดังนั้นหากเกิดความไม่สะดวกหรือเกิดข้อผิดพลาดอะไรขึ้นต้องขออภัยล่วงหน้าด้วยครับ และหากเป็นไปได้รบกวนแจ้งให้ผมทราบด้วย จะขอบคุณเป็นอย่างสูงครับ หากพบข้อผิดพลาดกรุณา คลิกที่นี่.
Group Blog
 
<<
ตุลาคม 2553
 
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31 
 
27 ตุลาคม 2553
 
All Blogs
 

บทความ-ไขปัญหาวิปัสสนาห้ามคิดหริอไม่? ตอนที่ 3

วิปัสสนาคืออะไร

ขั้นตอนต่อไปของการวินิจฉัยประเด็นปัญหา “วิปัสสนาห้ามคิดหรือไม่?” สืบต่อเนื่องจากการทำความเข้าใจกับปัญหามาอย่างดีเพียงพอแล้ว คือ การอธิบายให้ทราบว่าวิปัสสนาคืออะไร เพราะหากได้เข้าใจว่าวิปัสสนาคืออะไร และหลักการเจริญวิปัสสนาเป็นอย่างไร ย่อมจะทำให้ไขปัญหาได้ว่าวิปัสสนาห้ามคิดหรือไม่ในที่สุดได้ วิปัสสนามีความหมายดังต่อไปนี้

“วิปัสสนา” หากดูจากคำศัพท์แล้ว มาจากสองคำผสมกัน คือ “วิ” (วิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + “ปสฺสนา” (การเห็น) รวมสองคำเข้าด้วยกันหมายถึง การเห็นวิเศษ, การเห็นแจ้ง, การเห็นโดยประการต่างๆ

“วิปัสสนา” หากดูความหมายจากอรรถกถาได้แก่ “เห็น เห็นแจ้ง โดยประการต่างๆ”[1], “ญาณเป็นเครื่องกำหนดสังขาร”[2], “การตามเห็น (อนุปัสสนา) 7 อย่าง”[3]

“วิปัสสนา” หากดูความหมายจากพจนานุกรม ได้แก่ “ความเห็นแจ้ง คือเห็นตรงต่อความเป็นจริงของสภาวธรรม, ปัญญาที่เห็นไตรลักษณ์อันให้ถอนความหลงผิดรู้ผิดในสังขารเสียได้, การฝึกอบรมปัญญาให้เกิดความเห็นแจ้งรู้ชัดภาวะของสิ่งทั้งหลายตามที่มันเป็น”[4]

จากความหมายข้างต้น ทำให้ทราบแล้วว่าวิปัสสนาหมายถึงอะไร ต่อไปยังมีอีกคำหนึ่งที่ควรทราบเอาไว้ เป็นคำที่คล้าย และใกล้เคียงกับคำว่าวิปัสสนาได้แก่คำว่า “อนุปัสสนา”

“อนุปัสสนา” หากดูจากคำศัพท์แล้ว มาจากสองคำผสมกันเช่นกัน คือ “อนุ” + “ปสฺสนา” แปลว่า “ตามเห็น ตามดูให้เห็นแจ้ง หรือดูบ่อย ๆ”[5]

“อนุปัสสนา” หากดูความหมายจากอรรถกถาบางแห่ง ได้แก่ “ความรอบรู้ ความรู้ทั่ว ฯลฯ [ความวิจัย ความเลือกสรร ความวิจัยธรรม ความกำหนดหมาย ความเข้าไปกำหนด ความเข้าไปกำหนดเฉพาะ ภาวะที่รู้ ภาวะที่ฉลาด ภาวะที่รู้ละเอียด ความรู้แจ่มแจ้ง ความค้นคิด ความใคร่ครวญ ปัญญาเหมือนแผ่นดิน ปัญญาเครื่องทำลายกิเลส ปัญญาเครื่องนำทาง ความเห็นแจ้ง ความรู้ชัด ปัญญาเหมือนปฏัก ปัญญา ปัญญินทรีย์ ปัญญาพละ ปัญญาเหมือนศาตรา ปัญญาเหมือนปราสาท ความสว่างคือปัญญา แสงสว่าง คือปัญญา ปัญญาเหมือนประทีป ปัญญาเหมือนดวงแก้ว ความไม่หลง ความวิจัยธรรม] ความเห็นชอบ” บุคคลที่เพียรทำอนุปัสสนาอยู่ เรียกว่า “อนุปสฺสี”[6]

“อนุปัสสนา” จัดเป็นตทังควิมุตติ คือ พ้นจากกิเลสโดยอาศัยธรรมตรงกันข้ามที่เป็นคู่ปรับกัน เช่น พ้นจากความเห็นว่าเที่ยงด้วยอนิจจานุปัสสนา, พ้นจากความเห็นว่าสุขด้วยทุกขานุปัสสนา, พ้นจากความเห็นว่าเป็นตัวตนด้วยอนัตตานุปัสสนา เป็นต้น[7]

“อนุปัสสนา” สามารถทำให้เกิดขึ้นด้วยการนึกถึงอนุปัสสนาข้อใดข้อหนึ่ง เช่น นึกถึงอนิจจานุปัสสนา เป็นต้น เช่นนึกถึงบ่อยๆ เจริญบ่อยๆ ว่า อนิจฺจํ อนิจฺจํ ทุกฺขํ ทุกฺขํ อนตฺตา อนตฺตา เป็นต้น จนเกิดความวางเฉย[8]

“อนุปัสสนา” ย่อมมีได้เฉพาะกับผู้มีสติเท่านั้น อนุปัสสนา “จะไม่มีแก่ผู้ปราศจากสติ” และการเจริญสติปัฏฐานสี่มีต้องอาศัยอนุปัสสนาร่วมทำงานด้วย หมายถึง พระโยคาวจรใช้สติกำหนดอารมณ์แล้ว จึงพิจารณาเห็น (กายเป็นต้น) ด้วยปัญญา[9] เช่น ใช้สติระลึกรู้เท่าทันสภาพจิตที่ได้เกิดขึ้นมา ต่อจากนั้นจึงพิจารณาเห็นด้วยอนัตตานุปัสสนาว่าเกิดขึ้นมาจากเหตุปัจจัย ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตนของเรา เป็นต้น

“อนุปัสสนา” มีด้วยกัน 7 อย่าง[10] คือ (1) อนิจจานุปัสสนา คือ การพิจารณาเห็นเป็นของไม่เที่ยง, (2) ทุกขานุปัสสนา คือ การพิจารณาเห็นเป็นทุกข์, (3) อนัตตานุปัสสนา คือ การพิจารณาเห็นว่าเป็นอนัตตา, (4) นิพพิทานุปัสสนา คือ การพิจารณาเห็นความเบื่อหน่าย, (5) วิราคานุปัสสนา คือ การพิจารณาเห็นความคลายกำหนัด, (6) นิโรธานุปัสสนา คือ การพิจารณาเห็นความดับ, (7) ปฏินิสสัคคานุปัสสนา คือ การพิจารณาเห็นการสละคืน อนุปัสสนาทั้ง 7 อย่างข้างต้น สามารถย่อให้เหลือเพียง 3 อย่างเท่านั้น คือ อนิจจานุปัสสนา, ทุกขานุปัสสนา, อนัตตานุปัสสนา

เมื่อได้ทราบความหมายของทั้งสองคำข้างต้น คงสังเกตว่ามีความคลายคลึงกันอยู่ จุดที่คล้ายคลึงกันที่สำคัญได้แก่ เป็นการ “เห็น” เหมือนกันที่ส่งผลทำให้เกิดการหลุดพ้นจากกิเลส ดังนั้นผู้ที่เพียรทำอนุปัสสนาอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่ เช่น อนิจจานุปัสสนา เป็นต้น ชื่อว่ากำลังเจริญวิปัสสนาอยู่เหมือนกัน แต่คำว่าวิปัสสนาจะมีความหมายกว้างขวางครอบคลุมกว่าคำว่า อนุปัสสนา การเพียรทำ อนุปัสสนา ในภาคปฏิบัติเหมือนเป็นเพียงขั้นตอนหนึ่งในขั้นตอนของวิปัสสนาทั้งหมดเท่านั้น เพราะ การเจริญวิปัสสนาในพระไตรปิฎกที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสสอนมีอยู่ด้วยกัน 3 ขั้นตอน เรียกว่า ปริญญา 3 ได้แก่ “ญาตปริญญา ตีรณปริญญา ปหานปริญญา”[11] ผู้ปฏิบัติต้องทำให้ครบจะขาดขั้นตอนใดไม่ได้ ปริญญา ในพจนานุกรมได้ให้ความหมายไว้ว่า

ปริญญา : การกำหนดรู้, การทำความเข้าใจโดยครบถ้วน มี 3 คือ

1. ญาตปริญญา กำหนดรู้ขั้นรู้จัก

2. ตีรณปริญญา กำหนดรู้ขั้นพิจารณา

3. ปหานปริญญา กำหนดรู้ถึงขั้นละได้[12]

โดยอนุปัสสนาจัดอยู่ในขั้นตอนที่ 2 คือ ตีรณปริญญา ดังข้อความจากอรรถกถากล่าวไว้ว่า “ในปริญญา 3 เหล่านั้นนั่นแล การที่ภิกษุยกนามรูปขึ้นสู่ไตรลักษณ์แล้ว พิจารณาเห็นโดยเป็นของไม่เที่ยง เป็นต้น ด้วยสามารถแห่งอนุปัสสนา 7 ชื่อว่าตีรณปริญญา.”[13] และในคัมภีร์วิสุทธิมรรคได้ทำการขยายความเรื่อง ปริญญา 3 ในชั้นพระไตรปิฎกออกไป เป็นวิปัสสนาญาณ 9 และแตกวิปัสสนาญาณ 9 ออกเป็นวิปัสสนาญาณ 16[14]

หลักการบรรลุธรรม

การจะทราบว่าหลักการเจริญวิปัสสนาที่ถูกต้องทำอย่างไร ก่อนอื่นควรทำความรู้จักกับหลักการของการบรรลุธรรมเสียก่อน เพราะถ้าหากไม่เข้าใจหลักการบรรลุธรรมเสียก่อนแล้ว ย่อมแยกแยะไม่ออกว่าวิธีการเจริญวิปัสสนาแบบไหนที่ถูกต้อง หรือวิธีการเจริญวิปัสสนาแบบไหนที่ไม่ถูกต้อง บางทีอาจสงสัยว่าเพราะเหตุใดจึงไม่ทำการอธิบายขยายความจากความหมายของวิปัสสนาออกไปให้เห็นว่าหลักการที่ถูกต้องทำอย่างไรเสียเลยเล่า? เหตุผลที่กระทำแบบนี้ เพราะพิจารณาเห็นว่า การอธิบายจากความหมายของวิปัสสนา แล้วขยายออกไปสู่วิธีการปฏิบัติอย่างที่เห็นกันโดยทั่วไปในทันทีเลยนั้น แม้จะเป็นการดี แต่ว่าย่อมมีโทษ ถ้าหากผู้ที่อธิบาย หรือแม้แต่ผู้ปฏิบัติไม่ได้รู้จักหลักการบรรลุธรรมมาเสียก่อนแล้ว การอธิบายจะไปขัดแย้งกับหลักการบรรลุธรรมได้ เมื่อขัดแย้งกับหลักการบรรลุธรรมแล้ว วิธีการที่อธิบายไป ย่อมไม่ทำให้เกิดการบรรลุธรรมได้อย่างแน่นอน อาจจะได้เพียงกุศลธรรมอย่างอื่น แต่ไม่ถึงขนาดทำให้เกิดมรรค-ผล-นิพพานได้ และยังทำให้เกิดปัญหาวิธีปฏิบัติขัดแย้งกันเอง หรือขัดแย้งกับวิธีการอื่นที่ถูกต้องตามหลักการบรรลุธรรมอยู่แล้วขึ้นได้ ตรงกันข้าม ถ้าหากผู้อธิบาย หรือผู้ปฏิบัติได้ศึกษาเรียนรู้ ทำความรู้เข้าใจในหลักการบรรลุธรรมเสียก่อนเป็นอย่างดีแล้ว เวลาอธิบายวิธีการเจริญวิปัสสนา ย่อมไม่อธิบายขัดแย้งกับหลักการบรรลุธรรม เมื่อไม่ขัดแย้งกับหลักการบรรลุธรรม วิธีการที่อธิบายย่อมทำให้เกิดการบรรลุธรรม สำเร็จมรรค-ผล-นิพพาน รวมทั้งไม่ขัดแย้งกับวิธีการอื่นที่ถูกต้องตามหลักการบรรลุธรรมอยู่แล้วอย่างแน่นอน หลักการบรรลุธรรมในพระไตรปิฎก เมื่อได้ศึกษาแล้วพบว่ามีอยู่หลักการหนึ่งที่สำคัญ พระอานนท์ได้กล่าวเอาไว้ เพื่อให้รู้ว่าผู้ที่สามารถบรรลุธรรมในพระพุทธศาสนาได้ ต้องปฏิบัติธรรมตามแนวทางใดแนวทางหนึ่งหรือทั้งหมด ดังต่อไปนี้

ดูกรอาวุโสทั้งหลาย ก็ภิกษุหรือภิกษุณีรูปใดรูปหนึ่ง พยากรณ์อรหัตในสำนักเรา ด้วยมรรค 4 ทั้งหมดหรือด้วยมรรคเหล่านั้นมรรคใดมรรคหนึ่ง มรรค 4 เป็นไฉน ฯ

ดูกรอาวุโสทั้งหลาย ภิกษุในศาสนานี้ ย่อมเจริญวิปัสสนาอันมีสมถะเป็นเบื้องต้น เมื่อภิกษุนั้นเจริญวิปัสสนาอันมีสมถะเป็นเบื้องต้นอยู่ มรรคย่อมเกิด ภิกษุนั้นเสพ เจริญ ทำให้มากซึ่งมรรคนั้น เมื่อภิกษุนั้นเสพ เจริญทำให้มากซึ่งมรรคนั้นอยู่ ย่อมละสังโยชน์ได้ อนุสัยย่อมสิ้นไป ฯ

อีกประการหนึ่ง ภิกษุเจริญสมถะมีวิปัสสนาเป็นเบื้องต้น เมื่อภิกษุนั้นเจริญสมถะมีวิปัสสนาเป็นเบื้องต้นอยู่ มรรคย่อมเกิดขึ้น ภิกษุนั้นเสพ เจริญทำให้มากซึ่งมรรคนั้น เมื่อภิกษุนั้นเสพ เจริญ ทำให้มากซึ่งมรรคนั้นอยู่ย่อมละสังโยชน์ได้ อนุสัยย่อมสิ้นไป ฯ

อีกประการหนึ่ง ภิกษุเจริญสมถะและวิปัสสนาคู่กันไป เมื่อภิกษุนั้นเจริญสมถะและวิปัสสนาคู่กันไป มรรคย่อมเกิด ภิกษุนั้นเสพ เจริญ ทำให้มากซึ่งมรรคนั้น เมื่อภิกษุนั้นเสพ เจริญทำให้มากซึ่งมรรคนั้นอยู่ ย่อมละสังโยชน์ได้ อนุสัยย่อมสิ้นไป ฯ

อีกประการหนึ่ง ภิกษุมีใจนึกถึงโอภาสอันเป็นธรรมถูกอุทธัจจะกั้นไว้สมัยนั้น จิตย่อมตั้งมั่นสงบอยู่ภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ตั้งมั่นอยู่มรรคย่อมเกิดแก่ภิกษุนั้น ภิกษุนั้นเสพ เจริญ ทำให้มากซึ่งมรรคนั้น เมื่อภิกษุนั้นเสพ เจริญ ทำให้มากซึ่งมรรคนั้นอยู่ ย่อมละสังโยชน์ได้ อนุสัยย่อมสิ้นไป ดูกรอาวุโสทั้งหลาย ก็ภิกษุหรือภิกษุณีรูปใดรูปหนึ่ง พยากรณ์อรหัตในสำนักเรา ด้วยมรรค 4 นี้ทั้งหมด หรือด้วยมรรคเหล่านั้นมรรคใดมรรคหนึ่ง ฯ
[15]


สรุปเนื้อความข้างต้นได้ว่า ผู้สามารถบรรลุธรรมในพระพุทธศาสนาได้ ต้องปฏิบัติตามแนวทางใดแนวทางหนึ่ง หรือทั้งหมด จาก 4 แนวทาง คือ (1) เจริญวิปัสสนาอันมีสมถะเป็นเบื้องต้น หมายถึง ทำสมาธิให้เกิดก่อน แล้วจึงเจริญวิปัสสนาภายหลัง, (2) เจริญสมถะมีวิปัสสนาเป็นเบื้องต้น หมายถึง ทำวิปัสสนาให้เกิดก่อน แล้วจึงเจริญสมาธิภายหลัง, (3) เจริญสมถะและวิปัสสนาคู่กันไป หมายถึง ทำสมาบัติให้ได้ทีละขั้น เมื่อได้สมาบัติขั้นใดแล้ว ให้ออกจากสมาบัติขั้นนั้น แล้วพิจารณาสังขารที่เกิดขึ้น-ดับไปของสมาบัติขั้นที่ออกมา ต่อไปจากนั้นจึงทำอย่างเดียวกันกับสมาบัติที่สูงขึ้นไป (4) นึกถึงโอภาสอันเป็นธรรมถูกอุทธัจจะกั้นไว้ หมายถึง ละจิตที่หลงไปในวิปัสสนูปกิเลสที่บังเกิดขึ้น เช่น โอภาส เป็นต้น ทำให้สำคัญว่าตนบรรลุแล้ว ด้วยการกำหนดว่าอะไรใช่มรรค(ใช่ทาง) และอะไรไม่ใช่มรรค(ไม่ใช่ทาง) ที่ทำให้เกิดการหลุดพ้นบรรลุธรรมที่แท้จริง หลังจากนั้นจึงตั้งหน้าเพียรเจริญวิปัสสนาขั้นที่สูงขึ้นต่อไป ไม่หยุดแค่นั้น ทั้งนี้ ไม่ว่าจะปฏิบัติแนวทางใดใน 4 แนวทางก็ตาม ย่อมต้องเกิดสิ่งหนึ่งที่เหมือนกันขึ้น เรียกว่า “มรรค” หลังจากมรรคเกิดขึ้นแล้ว ให้หมั่นเจริญมรรคที่เกิดขึ้นให้มาก แล้วย่อมละสังโยชน์ คือ กิเลสต่างๆ ได้ อนุสัย คือ กิเลสที่สะสมอยู่ในสันดานย่อมหมดสิ้นไปได้ หมายถึง บรรลุธรรมสำเร็จอรหันต์ หรืออริยบุคคลชั้นอื่นๆ ได้ หลักการข้างต้น ถือเป็นหลักการสำคัญอย่างมาก ที่ใช้ตรวจสอบว่า แนวทางและวิธีการปฏิบัติธรรมใด ที่บุคคลใดก็ตามปฏิบัติอยู่ หรือเผยแพร่อยู่ ถูกต้องหรือไม่ ทำให้เกิดการบรรลุธรรมได้จริงหรือเปล่า เพราะไม่ว่าใครกำลังปฏิบัติธรรมตามวิธีการอะไรใน โพธิปักขิยธรรม 37 ประการ (ธรรมอันเป็นฝักฝ่ายแห่งความตรัสรู้, ธรรมที่เกื้อหนุนแก่อริยมรรค มี 37 ประการ ได้แก่ สติปัฏฐาน 4, สัมมัปปธาน 4, อิทธิบาท 4, อินทรีย์ 5, พละ 5, โพชฌงค์ 7, มรรคมีองค์ 8) อย่างใดอย่างหนึ่งอยู่ก็ตาม ย่อมไม่ล่วงพ้นจากหลักการบรรลุธรรมที่พระอานนท์กล่าวไว้นี้ไปได้ ย่อมจัดอยู่ในแนวทางทั้ง 4 นี้ได้เสมอ เมื่อปฏิบัติไปแล้วย่อมเกิดมรรค-ผล-นิพพานขึ้น หลักการบรรลุธรรม สามารถนำมาเขียนเป็นขั้นตอนให้เข้าใจง่ายดังต่อไปนี้


แนวทางทั้ง 4 ---> มรรคเกิด ---> เสพ-เจริญ-ทำให้มากในมรรค ---> ละสังโยชน์ได้ ---> อนุสัยสิ้นไป

ขั้นตอนที่เขียนมีคำสำคัญอยู่คำหนึ่ง คือ “มรรค” คำว่า มรรคในที่นี้ ได้แก่ “อริยอัฏฐังคิกมรรค” เรียกอย่างสามัญว่า มรรคมีองค์ 8 ประกอบด้วย สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ และยังหมายถึง “อริยมรรค” ได้แก่ ญาณอันให้สำเร็จความเป็นพระอริยะ มี 4 ระดับ (1) โสดาปัตติมรรค, (2) สกทาคามิมรรค (3) อนาคามิมรรค, (4) อรหันตตมรรค โดยเมื่อปฏิบัติแนวทางทั้ง 4 ไปแล้ว ย่อมเกิดภาวะที่มรรคมีองค์ 8 ประการสมบูรณ์ขึ้นพร้อมกันในขณะจิตเดียวกลายเป็นสิ่งที่เรียกว่า “มัคคสมังคี” เมื่อเกิดภาวะอย่างนี้ขึ้นเมื่อใด เรียกว่า “อริยมรรค” ได้เกิดขึ้นแล้ว หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “บรรลุมรรค” แล้ว พระอานนท์อธิบายถึงรายละเอียดของมรรคมีองค์ 8 ประการสมบูรณ์ขึ้นพร้อมกันในขณะจิตเดียวเอาไว้ดังนี้ว่า

คำว่า มรรคย่อมเกิด ความว่า มรรคเกิดอย่างไร ฯ สัมมาทิฐิด้วยอรรถว่าเห็น เป็นมรรคย่อมเกิด สัมมาสังกัปปะด้วย อรรถว่าดำริ เป็นมรรคย่อมเกิด สัมมาวาจาด้วยอรรถว่ากำหนด เป็นมรรคย่อมเกิด สัมมากัมมันตะด้วยอรรถว่าเป็นสมุฏฐาน เป็นมรรคย่อมเกิด สัมมาอาชีวะด้วยอรรถว่าผ่องแผ้ว เป็นมรรคย่อมเกิด สัมมาวายามะด้วยอรรถ ว่าประคองไว้ เป็นมรรคย่อมเกิด สัมมาสติด้วยอรรถว่าตั้งมั่น เป็นมรรค ย่อมเกิด สัมมาสมาธิด้วยอรรถว่าไม่ฟุ้งซ่าน เป็นมรรคย่อมเกิด มรรคย่อมเกิดอย่างนี้ ฯ[16]

อริยมรรคที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นระดับใดตั้งแต่โสดาปัตติมรรคจนถึงอรหันตตมรรค ย่อมมีลักษณะดังกล่าวข้างต้นทั้ง 8 ประการเกิดขึ้นพร้อมกันในขณะจิตเดียวอย่างนี้ทุกครั้ง จะขาดข้อใดข้อหนึ่งไม่ได้ เพราะถือว่าไม่ครบองค์ประกอบ เช่น ขาดสัมมาทิฐิ, ขาดสังกัปปะ, ขาดสัมมาสมาธิ (สมาธิระดับอัปปนาสมาธิตั้งแต่ปฐมฌานขึ้นไป) เป็นต้น อย่างนี้ไม่ได้ หรือจะมีแต่สมถะ หรือมีแต่วิปัสสนาเท่านั้นไม่ได้อีกเช่นเดียวกัน ต้องมีทั้งสมถะและวิปัสสนาสองอย่าง หากใครยังไม่สำเร็จสมถะหรือยังไม่สำเร็จวิปัสสนา จะมาสำเร็จ มาได้พร้อมกัน ช่วยกันทำงาน ประหารกิเลสตอนเกิดอริยมรรคขึ้น เช่น หากผู้ใดเจริญแนวทางสมถะอันมีวิปัสสนาเป็นเบื้องต้น แล้วยังไม่ได้ในสมาธิระดับฌาน สมาธิจะสมบูรณ์เป็นสัมมาสมาธิ คือ ได้สมาธิระดับฌาน ตอนขณะเกิดอริยมรรคขึ้น เป็นต้น ในชีวิตของผู้ปฏิบัติคนหนึ่งสามารถเกิดอริยมรรคได้เพียง 4 ครั้ง และไม่มีการเกิดอริยมรรคระดับเดิมซ้ำอีก มีแต่เกิดอริยมรรคระดับสูงขึ้นไปเท่านั้น โดยครั้งที่ 1 เกิดโสดาปัตติมรรค ครั้งที่ 2 เกิดสกทาคามิมรรค ครั้งที่ 3 เกิดอนาคามิมรรค ครั้งที่ 4 เกิดอรหันตตมรรค พระสูตรข้างต้นที่พระอานนท์กล่าวไปยังได้บอกเพิ่มเติมเอาไว้ว่า หลังจากที่อริยมรรคครั้งแรกเกิดขึ้น คือ โสดาปัตติมรรค พระอานนท์ท่านได้บอกให้เสพ ต่อจากนั้น ท่านบอกว่า “ให้เจริญ ทำให้มากซึ่งมรรคนั้น” ข้อความนี้หมายถึง หลังจากเสพโสดาปัตติมรรคแล้ว ให้พยายามเจริญสกคามีมรรคให้เกิดขึ้นต่อไป พยายามทำให้มากในอนาคามิมรรคให้เกิดขึ้นต่อไป และสุดท้ายพยายามทำให้มากในอรหันตตมรรคให้เกิดขึ้นต่อไปคำอธิบายดังกล่าวผู้เขียนประยุกต์มาจากอรรถกถาที่ว่า

บทว่า สมฺมาทิฏฐิ มคฺโค ได้แก่มรรคคือสัมมาทิฏฐิ. ในองค์แห่งมรรค 8 แม้องค์หนึ่งๆ ท่านก็เรียกมรรค.

บทว่า อาเสวติ ย่อมเสพ คือย่อมเสพด้วยอำนาจแห่งโสดาปัตติมรรค.

บทว่า ภาเวติ ย่อมเจริญ คือย่อมเจริญด้วยอำนาจแห่งสกทาคามิมรรค.

บทว่า พหุลีกโรติ ย่อมทำให้มาก คือย่อมทำให้มาก ด้วยให้เกิดอนาคามิมรรคและอรหัตมรรค
[17]

อริยมรรคใดเกิดขึ้นแล้ว ย่อมสามารถละสังโยชน์ และทำให้อนุสัยหมดสิ้นไปไม่กลับมาเกิดขึ้นในจิตใจอีกเลย ละได้มากน้อยตามแต่ระดับอริยมรรคที่บังเกิดขึ้น ผู้ที่บรรลุอริยมรรคแล้ว ย่อมได้เสวยอริยผลต่อเนื่องไปทันที ไม่มีจิตลักษณะอื่นมาเกิดขึ้นมาขวางกั้น คือ เมื่อเกิดโสดาปัตติมรรค ย่อมได้เสวยโสดาปัตติผล เรียกว่าสำเร็จ พระโสดาบัน, เมื่อเกิดสกทาคามิมรรค ย่อมได้เสวยสกทาคามิผล เรียกว่าสำเร็จ พระสกทาคามี, เมื่อเกิดอนาคามิมรรค ย่อมได้เสวยอนาคามิผล เรียกว่าสำเร็จ พระอนาคามี, เมื่อเกิดอรหันตตมรรค ย่อมได้เสวยอรหันตตผล เรียกว่าสำเร็จ พระอรหันต์ ได้รับโลกุตรสุข คือ ความสุขอย่างโลกุตตระ เป็นความสุขที่เหนือกว่าระดับของปุถุชน ความสุขเนื่องด้วยมรรค-ผล-นิพพาน

เมื่อได้ทราบหลักการของการบรรลุธรรมเรียบร้อยแล้ว คงรู้ว่าการปฏิบัติธรรมเพื่อให้บรรลุมรรค-ผล-นิพพานในพระพุทธศาสนาเป็นอะไรที่เปิดกว้าง แต่เป็นการเปิดกว้างอย่างมีหลักการ ใครจะเจริญสมาธิไปจนกระทั่งได้ฌานก่อน แล้วจึงค่อยเจริญวิปัสสนาก็ได้ หรือจะเจริญวิปัสสนาก่อนตั้งแต่แรก แล้วจึงให้เกิดสมาธิขึ้นในภายหลังก็ได้ หรือจะเจริญทั้งสมาธิเคียงคู่ไปกับวิปัสสนาก็ได้เช่นเดียวกัน ดังนั้นจากหลักการบรรลุธรรมข้างต้น สามารถนำไปประยุกต์เพื่อตรวจสอบวิธีการปฏิบัติธรรมในอดีต-ปัจจุบัน-อนาคตได้ โดยถ้าหากสมมติว่าสำนักปฏิบัติใดประยุกต์วิธีการปฏิบัติ หรือวิธีการเจริญวิปัสสนาขึ้นมาใหม่ หากตรวจสอบแล้วไม่ค้านกับในพระไตรปิฎกทั้ง 3 อีกทั้งรวมลงกันได้กับหลักการบรรลุธรรมข้างต้น มีองค์ประกอบแห่งมรรคครบถ้วน ไม่มีการขัดแย้ง ย่อมถือว่าเป็นวิธีการที่ไม่ผิด สามารถนำไปปฏิบัติได้ สันนิษฐานได้ว่าทำให้บรรลุธรรมได้จริง ตรงกันข้ามหากตรวจสอบแล้วค้านกับในพระไตรปิฎกทั้ง 3 หรือค้านกับหลักการบรรลุธรรม ปฏิบัติองค์มรรคไม่ครบถ้วน ย่อมถือว่าเป็นวิธีการที่ผิด อาจสามารถนำไปปฏิบัติได้ แต่สันนิษฐานได้ว่าไม่สามารถทำให้ถึงขั้นเกิดการบรรลุธรรมได้จริง อาจทำได้เพียงเกิดกุศลธรรมบางอย่างขึ้นเท่านั้น หลักการบรรลุธรรมที่แสดงไป เป็นเพียงหลักการใหญ่ที่สำคัญหลักการหนึ่งเท่านั้น ความเป็นจริงในพระไตรปิฎกยังมีหลักการอื่นๆ อีก ปลีกย่อยมากกว่านี้โดยเฉพาะในอภิธรรม แต่เมื่อตรวจสอบแล้ว เห็นว่ารวมลงอยู่ในหลักการนี้ทั้งสิ้น เพราะทุกๆ หลักการไม่มีการขัดแย้งกัน รวมลงกันได้ ดุจรอยเท้าสัตว์ต่างๆ ย่อมรวมลงกันได้กับรอยเท้าช้าง ดังนั้นวิธีการปฏิบัติธรรม หรือวิธีการเจริญวิปัสสนาที่ถูกต้อง จะต้องไม่ขัดแย้งกับหลักการนี้ และไม่ขัดแย้งกับหลักการใดๆ ที่ยังไม่ได้กล่าวถึงในที่นี้เลย ต่อไปพิจารณาเห็นว่าถึงวาระที่เหมาะสมแล้ว สำหรับอธิบายการให้ทราบว่าหลักการเจริญวิปัสสนาอย่างถูกต้องตรงตามหลักการบรรลุธรรมเป็นอย่างไร

(โปรดติดตามตอนต่อไป...)

----------------------------------------------------------------

[1] ขุ.ป.อ. (ไทย) 68/55.
[2] อง.ฉกฺก.อ. (ไทย) 36/705.
[3] ม.ม.อ. (ไทย) 19/309.
[4] พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต). พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ พิมพ์ครั้งที่ 10 (กรุงเทพมหานคร : บริษัท เอส.อาร์.พริ้นติ้ง แมส โปรดักส์ จำกัด, 2546), หน้า 231.
[5] พระอนุรุทธเถระ, “อภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉทที่ 9”, .
[6] ที.ม.อ. (ไทย) 14/286
[7] ดูรายละเอียดใน ที.ม.อ. (ไทย) 13/93.
[8] ดูรายละเอียดใน ขุ.ป.อ. (ไทย) 69/479.
[9] ม.มู.อ. (ไทย) 17/668.
[10] ดูรายละเอียดใน ขุ.ป.อ. (ไทย) 69/676-678.
[11] ขุ. ม. (ไทย) 29/62/48.
[12] พระธรรมปิฎก (ป.อ.ปยุตฺโต). พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ พิมพ์ครั้งที่ 10 (กรุงเทพมหานคร : บริษัท เอส.อาร์.พริ้นติ้ง แมส โปรดักส์ จำกัด, 2546), หน้า 126.
[13] สํ.นิ.อ. (ไทย) 26/322.
[14] ดูรายละเอียดใน พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต), พุทธธรรม ฉบับปรับปรุงและขยายความ, พิมพ์ครั้งที่ 20, (กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์ บริษัท สหธรรมิก จำกัด, 2545), หน้า 360 – 364.
[15] ขุ.ป. (ไทย) 31/534-543/245-253.
[16] เรื่องเดียวกัน.
[17] ขุ.ป.อ. (ไทย) 69/468.




 

Create Date : 27 ตุลาคม 2553
1 comments
Last Update : 27 ตุลาคม 2553 8:49:39 น.
Counter : 2007 Pageviews.

 

อนุโมทนาบุญค่ะ

 

โดย: นาฬิกาสีชมพู 27 ตุลาคม 2553 10:33:50 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


ศิรัสพล
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




จำนวนผู้เข้าชมบล็อก : คน
จำนวนผู้เข้าชมทั้งหมด : คน
Friends' blogs
[Add ศิรัสพล's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.