"ยมฺหิ สจฺจญฺจ ธมฺโม จ..........อหึสา สญฺญโม ทโม..........ส เว วนฺตมโล ธีโร..........โส เถโรติ ปวุจฺจติ" ส่วนผู้ใดมีสัจจะ มีธรรม มีอหิงสา มีสัญญมะ มีทมะ ผู้นั้นแลเป็นปราชญ์สลัดมนทินได้แล้ว เรียกได้ว่าเป็นผู้ใหญ่..พุทธศาสนสุภาษิต
ยินดีต้อนรับเข้าสู่บล็อกครับ...เปิดตัวเมื่อวันที่ 24/11/2552 ยังคงมีการปรับแต่งอยู่บ้างในบางจุด ดังนั้นหากเกิดความไม่สะดวกหรือเกิดข้อผิดพลาดอะไรขึ้นต้องขออภัยล่วงหน้าด้วยครับ และหากเป็นไปได้รบกวนแจ้งให้ผมทราบด้วย จะขอบคุณเป็นอย่างสูงครับ หากพบข้อผิดพลาดกรุณา คลิกที่นี่.
Group Blog
 
<<
ตุลาคม 2553
 
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31 
 
26 ตุลาคม 2553
 
All Blogs
 
บทความ-ไขปัญหาวิปัสสนาห้ามคิดหริอไม่? ตอนที่ 2

ความเข้าใจเพิ่มเติมเรื่องห้ามคิดและให้คิด

ขั้นตอนแรกของการวินิจฉัยประเด็นปัญหา คือ การทำความเข้าใจกับปัญหาที่เกิดขึ้น คือ การห้ามคิดและการให้คิด ในการเจริญวิปัสสนา ให้เข้าใจเสียก่อนว่าคืออะไร มีรายละเอียดอย่างไร เพราะถ้าหากไม่เข้าใจปัญหาอย่างดีเพียงพอแล้ว ย่อมจะวินิจฉัย หรือตอบปัญหาได้อย่างไม่มีประสิทธิภาพ

ความเห็นที่ว่า “วิปัสสนาห้ามคิด” ในประเทศไทย เท่าที่ได้ทำการสืบค้น และมีหลักฐานปรากฏ ทำให้ทราบว่า เกิดขึ้นมาจากแนวคิดของการปฏิบัติธรรมยุคหลังสมัยพุทธกาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เริ่มต้นจากช่วงหนึ่งในวงการพระสงฆ์ได้มีความหย่อนยานในพระธรรมวินัย ไม่เคร่งครัดในการรักษาศีล และไม่ใส่ใจในการปฏิบัติธรรมกันเป็นจำนวนมาก จะมีบ้าง คือ การประกอบพิธีกรรมต่างๆ ของพระสงฆ์ที่ยังคงมีอยู่ และการศึกษาด้านพระปริยัติธรรมของพระสงฆ์ที่อยู่ในเมือง แต่สำหรับพระสงฆ์ที่พยายามรักษาพระธรรมวินัย ตั้งใจปฏิบัติธรรมกันอย่างจริงจังเพื่อบรรลุมรรค-ผล-นิพพานกันในชาตินี้แล้ว ช่วงยุคสมัยนั้นหาได้ยากยิ่ง และมีจำนวนน้อยมากหากเทียบกับในสมัยปัจจุบัน สถานการณ์ดำเนินไปอยู่เช่นนั้น จนกระทั่งต่อมาได้มีพระสงฆ์รูปหนึ่งที่ตั้งใจรักษาพระธรรมวินัย ตั้งใจปฏิบัติธรรมอย่างจริงจังเกิดขึ้น ท่านได้พยายามฟื้นฟูให้เหล่าพระสงฆ์หันมาสนใจปฏิบัติธรรมตามแนวทางไตรสิกขา ได้แก่ ศีล-สมาธิ-ปัญญา กันอย่างเป็นรูปธรรมจริงจังเพิ่มมากขึ้น นอกเหนือจากการสนใจประกอบพิธีกรรม หรือเรียนพระปริยัติธรรมโดยมิได้ปฏิบัติ และยังได้พยายามทำลายความเชื่อที่มีอยู่เดิมในสมัยนั้นว่าพระอรหันต์ได้หมดสิ้นไปแล้ว ไม่สามารถมีพระอรหันต์เกิดขึ้นในโลกนี้ได้อีกแล้ว ซึ่งสิ่งที่พระสงฆ์รูปนั้นได้พยายามกระทำเกิดบรรลุผลสำเร็จในที่สุด คือ ท่านสามารถปฏิวัติวงการพระสงฆ์ในประเทศไทย ให้กลับมามีความตื่นตัวสนใจรักษาพระธรรมวินัย ตั้งใจปฏิบัติธรรมกันอย่างจริงจัง และยังประสบความสำเร็จในการผลิตพระสงฆ์ระดับครูอาจารย์ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญในไตรสิกขา มีปฏิปทาอันน่าเลื่อมใส ให้ไปช่วยเผยแผ่พุทธธรรมให้กับพระสงฆ์รูปอื่น รวมทั้งเหล่าญาติโยมทั้งหลายต่อไปในภายภาคหน้าอีกด้วย

ต่อมาเมื่อเวลาได้ผ่านเลยไปไม่นาน แนวทางไตรสิกขาที่เหล่าพระสงฆ์กลุ่มนี้ได้เพียรปฏิบัติ และอบรมสั่งสอนกันอยู่ ปรากฏเป็นที่รู้จักแพร่หลายอย่างมากในเมืองไทย แต่ทว่าแนวทางไตรสิกขาดังกล่าว มิใช่จะกระทำกันได้โดยง่าย เพราะเมื่อพิเคราะห์ถึงรายละเอียดวิธีการสอน หรือขั้นตอนการปฏิบัติแล้ว จะเป็นไปในแนวทางของ “สมถยานิก” คือ ผู้มีสมถะเป็นยาน หมายถึง ผู้เจริญสมถกรรมฐาน จนได้ฌานก่อนแล้วจึงเจริญวิปัสสนาต่อจนกระทั่งสำเร็จอรหันต์ บุคคลใดก็ตามที่เกิดศรัทธาจะปฏิบัติตามแนวทางนี้ จะต้องรักษาศีลให้สมบูรณ์เป็นพื้นก่อน ต่อจากนั้นเมื่อมีศีลสมบูรณ์เป็นพื้นแล้ว จึงพากเพียรเจริญสมาธิให้บริบูรณ์ คือ จนได้ฌานต่อไป ต่อจากนั้นเมื่อมีสมาธิบริบูรณ์เป็นพื้นแล้ว จึงหมั่นเจริญปัญญาด้วยการเจริญวิปัสสนาต่อไปอย่างนี้เรื่อยๆ สุดท้ายย่อมจะสามารถบรรลุธรรม สำเร็จอริยบุคคลระดับต่างๆ ได้แก่ พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์ในที่สุด จะเห็นว่าแนวทางไตรสิกขาแบบที่กล่าวไปไม่สามารถจะกระทำได้โดยง่าย โดยเฉพาะขั้นตอนการเจริญสมาธิเพื่อให้ได้ฌานต้องอาศัยความพากเพียร วิริยะอุตสาหะอย่างมาก ต้องอาศัยสถานที่อันสงัดเข้ามาช่วยเหลือจึงจะฝึกให้สำเร็จได้ เป็นผลทำให้มีผู้ปฏิบัติบางท่านพยายามศึกษาหาวิธีการปฏิบัติใหม่ๆ แนวทางใหม่ๆ ขึ้นมา เพื่อช่วยให้การปฏิบัติธรรมเป็นไปโดยง่ายขึ้น อย่างวิธีการหนึ่ง คือ แนวทางเจริญปัญญาด้วยการเจริญวิปัสสนาในทันทีไม่ต้องรอให้ได้ฌานเสียก่อน เรียกว่าแนวทางของ “สุขวิปัสสก”

สุขวิปัสสก คือ แนวทางที่เจริญวิปัสสนาตั้งแต่แรกเรื่อยไปจนกระทั่งสำเร็จอรหันต์ เป็นแนวทางที่ไม่ได้คุณวิเศษอย่างอื่น ไม่ได้ฌานสมาบัติ และไม่ได้อภิญญาใดๆ วิธีการเจริญวิปัสสนาแนวทางสุขวิปัสสก ที่มีอยู่ในเมืองไทยและใช้กันมีด้วยกันหลายวิธี แต่วิธีการที่ก่อให้เกิดเป็นประเด็นโต้เถียง หรือถกเถียงกันขึ้นอยู่พักใหญ่ และยังคงมีหลงเหลือกันในปัจจุบัน เป็นครั้งคราว แต่ไม่รุนแรงเท่ากับในอดีต ได้แก่ วิธีการที่ 1 กระทำโดยใช้ความคิดช่วยพิจารณาให้เห็นว่าสิ่งต่างๆ เป็นไตรลักษณ์ได้อย่างไรอยู่เนื่องๆ เช่น เมื่อเห็นผู้หญิงก็คิดพิจารณาไปว่าเป็นเพียงอสุภะ ไม่ใช่สิ่งไม่สวยงาม เป็นสิ่งน่าเกลียด ต้องเน่าเปื่อยผุพัง เป็นต้น กับวิธีการที่ 2 ที่นำเข้ามาจากประเทศเพื่อนบ้าน คือ วิธีการใส่คำกำหนดลงท้ายชื่อของสิ่งต่างๆ เช่น เมื่อเห็นผู้หญิงจึงกำหนดว่า เห็นหนอๆ, เมื่อได้กลิ่น จึงกำหนดว่ากลิ่นหนอๆ, เมื่อหายใจเข้าท้องพองจึงกำหนดรู้ว่า พองหนอ เมื่อหายใจออกท้องแฟบจึงกำหนดรู้ว่า ยุบหนอ เป็นต้น ซึ่งวิธีการเจริญวิปัสสนารูปแบบใหม่เหล่านี้ ใช้เวลาเพียงไม่นาน ได้เป็นที่นิยมอย่างรวดเร็วในหมู่ผู้ปฏิบัติธรรมเช่นเดียวกัน เพราะเนื่องจากง่ายกว่า และยังสามารถทำได้ทุกที่ทุกเวลา ไม่จำเป็นต้องปลีกวิเวก ไร้เสียงรบกวน ก็สามารถกระทำได้ จึงทำให้ต่อมาเกิดกระแสวิภาควิจารจากผู้ที่ปฏิบัติแนวทางสมถยานิกเดิมว่า ห้ามคิด คือ ห้ามไปใช้ความคิดในเจริญวิปัสสนาหากว่ายังไม่ได้ฌาน สิ่งที่พวกเขากำลังกระทำอยู่ไม่ใช่การเจริญวิปัสสนา แต่เป็นเพียงการเจริญสมถะอย่างหนึ่งเท่านั้น หรือเป็นเพียงการเจริญสมาธิเท่านั้น การเจริญที่แท้จริงวิปัสสนาจะต้องกระทำหลังจากได้สมาธิระดับฌานเสียก่อน หาไม่แล้วจะเป็นแต่เพียงสิ่งที่เรียกว่า “วิปัสสนึก” หาใช่วิปัสสนาไม่? จึงทำให้ฝ่ายผู้ปฏิบัติที่ทำตามแนวทางสุขวิปัสสกเกิดอาการไม่พอใจ และได้แสดงเหตุผล หรือโต้แย้ง ถกเถียงกันขึ้นด้วยเหตุผลประการต่างๆ จนกระทั่งระยะเวลาผ่านไปนานเข้า ข้อพิพาทดังกล่าวยังไม่ได้รับการแก้ไขให้เกิดความกระจ่างชัดว่าเป็นอย่างไรกันแน่ จึงทำให้ทั้งสองฝ่ายต่างเลิกรากันไปเอง กลับมาต่างฝ่ายต่างปฏิบัติ ไม่พยายามก้าวก่ายพาดพึงถึงกัน ทำให้เกิดการปฏิบัติหลักเฉพาะนิกายกันขึ้น คือ การปฏิบัติตามหลักไตรสิกขาสายสมถยานิกกลายเป็นแนวทางหลักที่มีการนำไปปฏิบัติมากที่สุดของพระสงฆ์สายธรรมยุตินิกาย ส่วนการปฏิบัติแบบใส่คำกำหนดสิ่งต่างๆ สายสุขวิปัสสก ที่นำเข้ามาจากประเทศเพื่อนบ้าน กลายเป็นแนวทางหลักที่มีการนำไปปฏิบัติมากที่สุดของพระสงฆ์สายมหานิกาย

นอกเหนือจากสาเหตุของการห้ามคิดที่เกิดขึ้นดังกล่าวไปแล้ว ยังมีอีกสาเหตุ หรืออีกเหตุการณ์หนึ่งที่ทำให้เกิดความเห็นว่า “วิปัสสนาห้ามคิด” ขึ้น คือ หลังจากที่ฝ่ายผู้ปฏิบัติสายสมถยานิก และฝ่ายผู้ปฏิบัติสายสุขวิปัสสกได้ต่างฝ่ายต่างเลิกรา และตั้งหน้าตั้งตาปฏิบัติธรรมตามแต่ความศรัทธาของใครกันไปอยู่นั้น เวลาได้ล่วงเลยไป แต่ไม่นานเท่าไร ได้เกิดการปฏิบัติวิธีการใหม่ขึ้น เรียกว่า การปฏิบัติแบบดูจิต ที่แตกตัวออกมาจากการปฏิบัติสายสมถยานิกเดิม หลักการปฏิบัติแบบดูจิตจะไม่ใช้ความคิดช่วยพิจารณาแต่อย่างไร แต่จะใช้สติเป็นหลัก คอยระลึกรู้ลักษณะของจิตใจต่างๆ อย่างเป็นกลาง อยู่เนื่องๆ ตลอดเวลา โดยไม่มีการแทรกแทรง กดข่ม หรือปรับเปลี่ยนลักษณะของจิตใจให้เป็นไปต่างๆ แต่อย่างไร เช่น เมื่อจิตมีราคะ ให้เพียงมีสติระลึกรู้อยู่ อย่างเป็นกลาง ไม่แทรกแทรงเท่านั้น แล้วจิตที่มีราคะจะดับไป ,เมื่อจิตมีโทสะให้เพียงมีสติระลึกรู้อยู่อย่างเป็นกลาง ไม่แทรกแทรงเท่านั้น แล้วจิตที่มีโทสะจะดับไป, เมื่อจิตคิดให้เพียงมีสติระลึกรู้อยู่ อย่างเป็นกลาง ไม่แทรกแทรงเท่านั้น แล้วจิตที่คิดจะดับไป จะไม่มีการใช้ความคิดช่วยพิจารณา หรือเรียกชื่อบัญญัติแต่อย่างไรว่า จิตมีราคะไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ฯลฯ

การปฏิบัติแบบดูจิตแท้จริงแล้ว ได้นำเอาวิธีการมาจากการเจริญวิปัสสนาของสายสมถยานิกรูปแบบหนึ่ง หรือลักษณะหนึ่งมาประยุกต์ใช้ตั้งแต่เริ่มแรกนั่นเอง ซึ่งแต่เดิมจะสามารถทำได้ต้องฝึกสมาธิจนได้ฌานเสียก่อน แต่วิธีการดูจิตนี้ บางท่านเห็นว่าไม่จำเป็นต้องรอให้ได้ฌานเสียก่อน แต่สามารถนำวิธีการดูจิตมาปฏิบัติตั้งแต่เริ่มแรกจนสุดท้ายย่อมก่อให้เกิดการบรรลุมรรค-ผล-นิพพานได้เช่นเดียวกัน อย่างที่มีพระสงฆ์สายสมถยานิกบางรูป ได้นำเรื่องการดูจิต หรือบางครั้งเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “การเจริญสติ” มาอบรมสั่งสอนให้พุทธศาสนิกชนอยู่เนื่องๆ มีให้เห็นอยู่เหมือนกัน หลังจากการปฏิบัติแบบดูจิต หรือการเจริญสติ ได้ยืนกรานยึดหลักการนำวิธีเจริญวิปัสสนาของสมถยานิกมาใช้ตั้งแต่แรกอย่างนี้ จึงทำให้ไม่สามารถจัดอยู่ในแนวทางสายสมถยานิกได้อีกต่อไป จึงต้องกลายเป็นการปฏิบัติรูปแบบใหม่ ซึ่งข้อนี้ผู้ปฏิบัติตามแนวทางวิธีการดูจิตต่างยอมรับกันว่าวิธีที่ตนกระทำอยู่ไม่ใช่สายสมถยานิก และได้กล่าวว่าสายที่ตนปฏิบัติอยู่เป็นแบบสายสุขวิปัสสก เมื่อการปฏิบัติแบบดูจิตได้บอกว่าเป็นสุขวิปัสสกไปเสียอย่างนี้ จึงเป็นเหตุให้เกิดการกระทบกระเทือนขัดแย้งกับสายสุขวิปัสสกแบบเดิมในระดับของหลักการเข้าอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อย่างที่ได้ทราบแล้วว่า สุขวิปัสสกแบบเดิม มีหลักการสำคัญ คือ การใช้ความคิดช่วยพิจารณา หรือใช้คำกำหนดรู้ต่างๆ เช่น โกรธหนอ, อยากหนอ เป็นต้น เมื่อเป็นอย่างนี้ สุขวิปัสสกแบบใดจึงถูกต้องกันแน่? ต่างฝ่ายต่างย่อมคิดว่าของตนนั้นถูกต้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสายของผู้ปฏิบัติแบบดูจิตได้ยืนกรานอย่างหนักแน่นว่าวิธีการปฏิบัติของตนมีความถูกต้อง เพราะมีเอกสารต่างๆ ออกมาเพื่อให้เห็นว่าการเจริญวิปัสสนาแบบดูจิตเป็นแนวทางสายสุขวิปัสสก มีความถูกต้อง และปฏิบัติได้ง่าย เป็นทางลัด เหมาะสำหรับคนเมืองที่มีเวลาน้อย การปฏิบัติเป็นไปอย่างเป็นธรรมชาติ ฯลฯ และหลักการเจริญวิปัสสนาแบบสุขวิปัสสก ต้องห้ามใช้คิดพิจารณา ห้ามมีการกำหนดรู้ชื่อบัญญัติใดๆ หากใช้ความคิดช่วยพิจารณา หรือมีการกำหนดชื่อสิ่งต่างๆ จะทำให้ปิดบังความรู้ที่แท้จริง ย่อมไม่สามารถรู้ชัดตามความเป็นจริงได้

ไม่ใช่แต่เพียงเท่านั้น เมื่อเวลาผ่านไปสักระยะหนึ่ง การปฏิบัติแบบดูจิต หรือการเจริญสติ มีผู้นิยมกว้างขวางออกไป และได้มีความพยายามอย่างต่อเนื่องเพื่อทำให้เห็นว่าไม่จำเป็นต้องฝึกสมถกรรมฐานจนกระทั่งได้ฌานเสียก่อน ก็สามารถเจริญวิปัสสนาได้ และแสดงให้เห็นว่าเจริญวิปัสสนาที่ถูกต้อง ต้องไม่ใช้ความคิดช่วยพิจารณา จึงเป็นเหตุให้เกิดการกระทบกระทั่งรวมทั้งเกิดความไม่เห็นด้วยกับแนวทางปฏิบัติแบบดูจิตขึ้นกับผู้ปฏิบัติสายสมถยานิกเดิมอีกลักษณะหนึ่ง เพิ่มเติมขึ้นมาจากการกระทบกับสายสุขวิปัสสกแบบเดิม (ได้กล่าวไปแล้วว่า การปฏิบัติแบบดูจิตได้นำเอาวิธีการมาจากการเจริญวิปัสสนาของสายสมถยานิกรูปแบบหนึ่ง ลักษณะหนึ่งมาประยุกต์ใช้ ดังนั้นจึงยังมีผู้ที่ปฏิบัติสายสมถยานิกลักษณะอื่นอยู่อีกเช่นกัน) ซึ่งผู้ปฏิบัติสายสมถยานิกแบบนี้ มีวิธีเจริญวิปัสสนาด้วยการใช้ความคิดช่วยพิจารณา แต่มีข้อแม้ว่าต้องได้สมาธิระดับฌานเสียก่อน จึงให้ใช้ความคิดช่วยพิจารณาได้ หาไม่แล้วไปคิดพิจารณาเข้าจะถือว่าเป็นการเจริญสมาธิอยู่ ไม่ใช่การเจริญวิปัสสนาแต่อย่างไร เป็นเพียง “วิปัสสนึก” เท่านั้น

หากทำการสรุปปัญหาที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์ข้างต้นทั้งหมด ประเด็นปัญหา “วิปัสสนาห้ามคิดหรือไม่?” แท้จริงแล้ว สามารถแยกย่อยออกไปได้หลายอย่าง และมีการห้ามคิดเอาไว้หลายแบบ แต่เมื่อสรุปแล้วจะเห็นว่าในการห้ามคิดที่มีอยู่เหล่านั้น มีแนวคิดหลักในการห้ามคิดอยู่อยู่เพียง 2 แนวคิด ส่วนแนวคิดอื่นๆ ได้แตกแขนงออกไปจากแนวคิดทั้งสองนี้

แนวคิดที่ 1 ห้ามคิดบางกรณี หมายถึง การห้ามคิดถึงสภาพไตรลักษณ์ในขันธ์ห้า เช่น ห้ามคิดในสังขารว่ามีความเกิดขึ้นในเบื้องต้นแล้ว ต่อไปก็แตกสลายทำลายไปหมด, ห้ามคิดในร่างกายว่าเป็นเพียงธาตุสี่ต่างๆ มาประชุมกัน, ห้ามคิดในสังขารผู้อื่นว่าไม่เที่ยงมีอันต้องผุพังไปไม่ยั่งยืน, ห้ามคิดว่าจะต้องตายไปเป็นธรรมดา ไม่ล้วนพ้นไปได้ เป็นต้น เฉพาะผู้ที่ยังไม่ได้ฌานเท่านั้นที่ห้ามคิด ส่วนผู้ที่ได้ฌานแล้วสามารถที่จะคิดได้ โดยมีหลักการว่าหากจะคิดต้องเข้าฌานไปก่อนทุกครั้ง แล้วถอยออกจากฌานมาอยู่ในระดับอุปจารสมาธิก่อน แล้วจึงเริ่มคิดได้ หาไม่แล้ว ผู้ที่ไม่ได้ฌาน หากคิดพิจารณาไป จะไม่ใช่การเจริญวิปัสสนาแต่อย่างใด กลายเป็นเพียงสิ่งที่เรียกว่า “วิปัสสนึก” ไม่ได้เห็นตามเป็นจริง เป็นการเจริญสมถกรรมฐานให้จิตใจสงบเท่านั้น

แนวคิดที่ 2 ห้ามคิดทุกรณี หมายถึง เวลาเจริญวิปัสสนาห้ามใช้การคิดช่วยในทุกกรณี ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่ยังไม่ได้ฌาน หรือผู้ที่ได้ฌานแล้ว เพราะหากใช้การคิดจะทำให้เกิดการบิดเบือนในสภาวธรรมที่ปรากฏ ให้เป็นไปตามทิฐิของตนอย่างไม่เป็นกลางทำให้ไม่เห็นไตรลักษณ์ตามเป็นจริง ก่อให้เกิดการติดอยู่กับบัญญัติ ไม่อาจสัมผัสถึงสภาวปรมัตถ์ที่แท้จริงได้ การเจริญวิปัสสนาที่ถูกจะต้อง “รู้ไม่ใช่คิด” การคิดจะทำให้ไม่รู้ ถือว่าเป็นการแทรกแทรงที่ไม่ควรทำ เป็นเพียงการเจริญสมถกรรมฐานให้จิตใจสงบเท่านั้น เรื่องต่างๆ ที่ห้ามคิด จะเหมือนกับแนวคิดที่ 1 คือ ห้ามคิดถึงสภาพไตรลักษณ์ในขันธ์ห้า แต่ยังมีตัวอย่างเฉพาะแนวคิดนี้ที่น่าสนใจอีก เช่น ห้ามคิดพิจารณาร่างกายเป็นอสุภะ, ห้ามคิดเรื่องความเป็นปฏิกูลของอาหาร, ห้ามคิดเรียกชื่ออิริยาบถ, ห้ามคิดเรียกชื่ออาการพอง-ยุบของหน้าท้อง, ห้ามคิดเรียกชื่ออาการเข้า-ออกของลมหายใจ, ห้ามคิดเรียกชื่อกิเลส ราคะ โทสะ โมหะที่เกิดขึ้นในใจ, ห้ามคิดว่าอะไรเป็นรูป อะไรเป็นนาม เป็นต้น แต่แนวคิดนี้ได้มีข้อยกเว้นอยู่เหมือนกัน คือ หากไม่ใช่ความคิดที่เกิดขึ้นจากการคิดอย่างจงใจคิดด้วยตนเอง ดังกล่าวข้างต้นแล้ว แต่เป็นความคิดที่ผุดเกิดขึ้นมาเองอย่างอัตโนมัติโดยไม่ตั้งใจภายหลังจากที่จิตหลุดพ้นเป็นอิสระแล้ว ความคิดอย่างนี้ไม่ได้ห้ามแต่อย่างใด มีคำเรียกเฉพาะในหมู่นักปฏิบัติแนวคิดนี้ว่า “จิตอุทาน”


(โปรดติดตามตอนต่อไป...)




Create Date : 26 ตุลาคม 2553
Last Update : 26 ตุลาคม 2553 14:02:51 น. 0 comments
Counter : 556 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ศิรัสพล
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




จำนวนผู้เข้าชมบล็อก : คน
จำนวนผู้เข้าชมทั้งหมด : คน
Friends' blogs
[Add ศิรัสพล's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.