มิถุนายน 2552

 
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
 
 
All Blog
สอนลูกเองก็ได้...ง่ายจัง 20 : บทส่งท้าย





ฉิก : สวัสดีครับ คุณผู้อ่านที่รักทุกท่าน
ขอบคุณจริงๆครับที่ได้ติดตามอ่านกันมาโดยตลอด
และ ขอขอบคุณในทุกๆข้อคิดเห็นที่มีค่ายิ่งกับบล็อกเล็กๆแห่งนี้

ก่อนอื่นคงต้องขอบอกกล่าวกันก่อนว่า
เราคงจะได้เจอกันเป็นครั้งสุดท้ายในหัวข้อ สอนลูกเองก็ได้...ง่ายจัง แล้วล่ะครับ !!!!!!!!!

ไม่น่าเชื่อจริงๆ ที่พวกเราต่างก็ได้คุยกันต่อเนื่องมาจนถึงตอนที่ 20 เข้าไปแล้วนะครับ จากเดิมที่ผมเคยคิดเล่นๆว่า มีได้ซัก 5 ตอนก็คงน่าจะพอแล้ว

ที่ผ่านมาไม่เคยได้คาดหวังว่า กระทู้หัวข้อนี้จะมีสาระอะไรที่จะให้กับผู้อ่านซักเท่าไหร่หรอกครับ คิดว่าเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การเลี้ยงลูกกันซะมากกว่า

และ อยากเน้นให้มันอ่านง่ายๆ ไม่ต้องมีศัพท์แสงวิชาการอะไรให้หนักสมอง มีมุกตลกโปกฮาแทรกบ่อยๆ เพื่อมิให้มันดูเคร่งเครียดจนผิดคอนเซ็พท์ที่ตั้งไว้ว่าเป็นแนว Edutainment

แต่พอลองกลับมาอ่านตอนเก่าๆดู ผมเองก็ต้องตกใจว่าหลังๆมันชักจะกลายเป็นบทความ review หนังสือที่ผมสนใจไปตั้งแต่เมื่อไหร่ก็ไม่รู้ และ คงมีผู้อ่านหลายท่านต้องเข้าใจผิดว่าผมต้องเป็นหน้าม้าเชียร์แขกเข้าร้านหนังสือแหงๆเลย

ส่วนนึงคงเป็นเพราะตัวผมเองก็ชอบการอ่านเป็นชีวิตจิตใจ จนเอาสิ่งที่ตนเองชอบมานำเสนอผู้อ่านเข้าให้โดยที่ไม่รู้ตัวแน่ๆ ทั้งๆที่จริงๆแล้วก็มีเรื่องที่ยังอยากจะคุยเกี่ยวกับการเลี้ยงลูก และ การสอนลูกอีกตั้งเยอะแยะ แต่มักจะหลงทางเข้าป่าเข้าพงอยู่เรื่อย เพราะ หนังสือที่อ่านมันก็น่าสนใจจริงๆด้วยแหล่ะครับ เลยอดไม่ได้ที่จะมานำเสนอจริงๆ

ผมจึงตัดสินใจแล้วว่า จะขอหยุดบทความตรงนี้ ก่อนที่มันจะออกนอกลู่นอกทางไปไกล และ ขอตัวกลับไปอ่านหนังสืออื่นๆที่ซื้อมาเป็นกองพะเนิน แต่ยังไม่ค่อยมีเวลาไปอ่าน ถ้าผมอ่านเสร็จเมื่อไหร่ เราคงได้เจอกันอีกนะครับ










ป้อม : โห......นี่คุณเล่นตัดช่องน้อยแต่พอตัวจบบทความดื้อๆอย่างงี้เลยเหรอ แบบนี้ผมก็แย่นะซิครับ ผมเองก็ยังมีอีกตั้งหลายเรื่องที่อยากพูด แต่ยังไม่มีโอกาสได้พูดซักที เพราะ คุณมัวแต่เอาหนังสือเล่มโน้นเล่มนี้มาแนะนำคุณผู้อ่านอยู่นั่นแหล่ะ



ฉิก : อ้าว......คุณป้อมยังอยู่อีกเหรอครับ
พอดีเลย จะได้กล่าวคำอำลาผู้อ่านด้วยกัน
หา...อะไรนะ ยังมีเรื่องที่อยากพูดเต็มเลยเหรอ

เอางี้ ผมว่าวันนี้เรามาสรุปส่งท้ายกันดีกว่า คุณอยากพูดเรื่องอะไร ผมให้พูดได้หมดเลยนะ แต่ขอให้สรุปสั้นๆหน่อยนะครับ เพราะ พอมันยาวเกินไป คนเขาจะไม่อยากอ่านกันอีก



ป้อม : ได้เลยครับ ที่ผมอยากจะบอกความในใจของผมจริงๆก็คือ

ความพยายามอยู่ที่ไหน......ความสำเร็จอยู่อีกที่นึง

และ หากคุณอยากเป็นคนดี.....แสดงว่าคุณไม่ใช่คนดี




ฉิก :

เอ่อคุณครับ.....นี่มันตอนสุดท้ายแล้วนะครับ ไม่ต้องตลกแล้วก็ได้ ขออะไรที่มันเป็นสาระหน่อยก็ดีนะครับ








ป้อม : อ้าวเหรอ โทษทีๆ เอาใหม่นะ เที่ยวนี้สาระเต็มเปี่ยมแน่นอน


เอางี้ผมขอสรุปหลักการสอนลูกเลยละกันว่า เคล็ดลับมันอยู่ที่ "การรู้จักการรอคอย"

คือมีพ่อแม่บางคนที่ลองสอนลูกแล้ว รู้สึกว่าลูกไม่เห็นได้อะไรเลย ลูกไม่ค่อยเชื่อฟังบ้าง สอนแล้วไม่ได้ดั่งใจบ้างก็เลยหงุดหงิดไปซะหมด

จริงๆแล้วผมไม่อยากให้เราไปมองที่เป้าหมาย คือ "ความสำเร็จ" หรือ ความสัมฤทธิ์ผลทางการศึกษามากเกินไป คือ เข้าใจนะครับว่าทุกคนก็อยากให้ลูกเราเก่งไวๆ เพราะ คิดว่าชีวิตเรามีเวลาน้อยกว่าคนยุคก่อน เลยชอบการเรียนลัด อาจเป็นเพราะชีวิตที่เร่งรีบก็เลยทำให้เราคิดอย่างนี้

แต่การเร่งรีบส่วนใหญ่จะเป็นอันตรายกับการใช้ชีวิต มันจะทำให้คุณไม่นิ่ง ไม่มีช่วงตกผลึกทางความคิด ทำให้คุณผลีผลาม

และ เมื่อพบกับความล้มเหลว แทนที่คุณจะคิดว่าเป็นการสอนบทเรียนของชีวิต กลับเป็นการบั่นทอนความตั้งใจจนกลายเป็นความท้อถอย

สิ่งสำคัญที่เราควรเรียนรู้ คือ การรู้จักการรอคอย ขอให้คิดเสมอว่า ความสำเร็จย่อมมีขั้นตอนของมัน ต้องมีการบ่มเพาะ

และ มันมักจะไม่มาแบบฟลุ้คๆ เพราะ อันนั้นเขาเรียกว่า "โชค" แค่ชั่วครั้งชั่วคราว

ความสำเร็จ เป็นเหมือนแสงสว่างในยามเช้า ที่จะค่อยๆเผยตัวออกมา เหมือนขั้นตอนการเติบโตของมนุษย์เรา ที่เริ่มจากคลาน เดิน แล้วก็วิ่ง ไม่มีใครหรอกที่เกิดออกมาปุ๊บก็วิ่งได้เลย









ฉิก : อื้อหือ........คมมากกกกกกกกก ยังมีอะไรอื่นที่อยากบอกท่านผู้อ่านไหมครับ



ป้อม : ยังมีอีกหลายเรื่องเลยล่ะครับ

ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเรียนพิเศษที่ผมเองก็ไม่ได้แอนตี้นะครับ เพราะ ถือว่ามันก็เป็นการเรียนรู้อย่างนึง ที่มันมากับระบบการสอบแข่งขัน และ เนื่องจากความไม่เท่าเทียมกันในการศึกษาของบ้านเราที่แก้ไม่ได้กันซักที มันก็คงต้องมีการกวดวิชาคู่กันไปเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้อยู่แล้ว

ประโยชน์ข้อนึงที่ผมเห็น คือ อย่างน้อยเราก็สามารถเลือกครูได้ล่ะ เพราะที่ผ่านมาเราเรียนในห้องเรียนโดยที่เราไม่มีสิทธิที่จะเลือกครูของเราได้เลย ใครสอนดีไม่ดียังไงเราก็ต้องจำใจเรียน การเรียนพิเศษก็เหมือนเป็นทีของเราบ้างล่ะ

แต่ผมขอร้องไว้อย่างนึง คือ จะเลือกเรียนวิชาอะไร กับครูคนไหนก็ขอให้เลือกด้วยข้อมูลรอบด้านซักหน่อย ไม่ใช่ว่า "เฮไหน เฮนั่น" เขาว่าดีก็ตามๆเขาไป เรียนกันแบบเป็นแฟชั่น คือเราต้องดูว่าเด็กเราจำเป็นต้องไปเรียนหรือไม่ เรียนแล้วได้ประโยชน์อะไรชัดเจนจริงหรือเปล่า เรียนพิเศษนี้แล้วทำให้เด็กเขาเสียโอกาสในการทำกิจกรรมอื่นๆที่เขาอยากทำหรือเปล่า รบกวนชีวิตประจำวันของเด็กมากเกินไปหรือเปล่า และที่สำคัญมันรบกวนกระเป๋าสตางค์เราเกินขนาดอ๊ะปล่าว










ฉิก : แล้วเรื่องเรียนล่วงหน้า เรียนเกินชั้นเรียนล่ะครับ คุณคิดว่าไง


ป้อม : แต่ก่อนตอนเด็กๆอยู่ชั้น ป.2 ผมอ่านหนังสือเริ่มคล่องแล้ว ตอนนั้นผมชอบเรื่อง"มานะ มานี" มาก ผมก็ไปห้องสมุดเอาหนังสือเรียนภาษาไทยตั้งแต่ ป.1 -ป.6 มาอ่านรวดเดียวจบเลย อ่านด้วยความสนุกสนานเมามัน และ ด้วยความอยากรู้

หลังจากนั้นพอผมชอบวิชาอะไร ผมก็จะเอาหนังสือเรียนของปีที่สูงกว่ามาตะลุยอ่านจนหมด โดยที่ไม่ได้กลัวว่ามันจะยาก อ่านแล้วจะเครียด หรือ ไม่รู้เรื่องแต่อย่างใด ซึ่งในภายหลังผมก็มารู้ว่าเพื่อนผมที่เก่งๆเขาก็ทำอย่างนี้กันทั้งนั้น และ ผลพลอยได้ก็ทำให้เรารู้มากขึ้น จนเรียนเก่งขึ้นมาโดยไม่รู้ตัว

ประเด็นอยู่ที่ว่า มันไม่สำคัญหรอกว่าเราเรียนอยู่ชั้นอะไร เราก็ต้องเรียนเฉพาะหลักสูตรของชั้นนั้นๆ ถ้าเราสนใจก็ไม่ต้องไปแคร์หรอกว่ามันหลักสูตรของชั้นไหน ยิ่งเรารู้ได้ลึกซึ้งเท่าไหร่ ก้ยิ่งทำให้เรามีความมั่นใจกับเรื่องนั้นๆมากยิ่งขึ้น

อย่าลืมว่าหลักสูตรที่เขาเขียนมาว่า ชั้นนั้นชั้นนี้ต้องเรียนอะไร เป็นการคิดว่าเด็กส่วนใหญ่ในประเทศโดยเฉลี่ยควรจะเข้าใจ หรือ รับรู้อะไรบ้าง ซึ่งอาจจะไม่เหมาะกับตัวเราเลยก็เป็นได้


ดังนั้น อย่าไปกลัวเลยครับ ว่าความรู้ที่เราจะเรียนนั้นมันเกินหลักสูตรหรือเปล่า อย่าไปปิดกั้นตัวเองด้วยมายาคติบางอย่างที่คนอื่นเขากำหนดให้เรา มันไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตายอะไรนักหรอก










ฉิก : แล้วเรื่องเกี่ยวกับการเรียนของลูก มีความเห็นอะไรเพิ่มเติมมั้ยครับ




ป้อม : จากการได้พูดคุยกับคุณแม่ของคนไข้เด็กหลายๆคนของผมนะครับ เรื่องเรียนของลูกในยุคนี้นี่เป็นอะไรที่หนักหนาสาหัสมากพอดูสำหรับทุกครอบครัวเลยล่ะครับ

ส่วนใหญ่คนที่จะดูแลเรื่องเรียนของลูกๆ มักจะเป็นคุณแม่ซะเป็นส่วนใหญ่ โดยที่คุณแม่เองนอกจากจะต้องดูแลลูกๆ งานบ้านงานเรือนแล้ว ก็มักจะต้องออกไปช่วยทำงานหาเงินอีกแรงเช่นเดียวกับคุณพ่อ เพราะ สภาพเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป

ส่วนคุณพ่อสมัยนี้ที่ผมเห็นมา ก็มีอยู่หลายคนที่ไม่รู้วิธีที่จะเป็นคุณพ่อ
รู้จักเพียงแต่ทำงานหาเงินเข้าบ้าน
โดยที่ไม่รู้จักวิธีดูแลภรรยา ไม่รู้วิธีดูแลบ้าน
และ ไม่รู้วิธีเล่น หรือ พูดคุยกับลูก

จริงๆแล้ว ผมว่าคุณพ่อเองก็คงอยากเล่น หรือ คุยกับลูกเหมือนกันนั่นแหล่ะ
แต่ที่ไม่ทำ ส่วนนึงอาจเป็นเพราะมันทำไม่เป็นจริงๆ คือ ไม่รู้ว่าจะเข้าหาลูกยังไงดีถึงจะดูเข้าท่า ก็เลยพาลไม่ทำมันเลยซะอย่างงั้น

คุณพ่อบางคนไม่เคยคิดว่า ควรต้องทำอะไรอื่นอีกนอกจากเป็น"เครื่องจักรปั๊มเงิน" ประโยคที่เรามักได้ยินบ่อยๆก็คือ "แค่หาเงินก็เหนื่อยแล้ว ยังจะให้ทำอะไรอีก...หา"

แล้วทีนี้ พอลูกเริ่มมีปัญหาติดเกม ติดแช็ต หรือ ดูโทรทัศน์ทั้งวัน ก็ได้แต่ก่นด่าลูก โดยที่ไม่เคยหันกลับมามองตัวเองเลยว่า ที่ผ่านมาเราได้ดูแลลูกดีพอหรือยัง









ฉิก : แล้วหน้าที่ของคนเป็นพ่อที่ดี ควรเป็นยังไงล่ะครับ


ป้อม : อย่างแรกเลย คือ ยอมรับลูกในแบบที่ลูกเป็น

อย่าไปบังคับ หรือ ครอบงำให้ลูกเขาเป็นในสิ่งที่เราอยากให้เป็น
โดยที่ไม่เหลียวกลับมาดูตัวเขาบ้างว่าเขามี"ตัวตน"เช่นไร
เขายินดีที่จะเป็นเช่นนั้นหรือเปล่า เขามีความสุขกับสิ่งนั้นๆจริงหรือไม่ และ เขาได้มีเวลาที่จะสนุกสนานตามวัยเขาบ้างหรือเปล่า

และ พยายามมองหาเรื่องดีๆสำหรับลูก
รวมทั้งหยิบยื่น "โอกาส" ดีๆ เท่าที่จะพอทำได้ให้แก่เขาในทุกๆด้าน
แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าต้องไปขีดเส้นทางเดินให้ลูกเสียหมด

ที่พ่อควรทำ คือ ให้ลูกๆของเราเติบโตได้อย่างเท่าทันชีวิต และ มีชีวิตที่มีความสุขตามวิถีที่เขาได้เลือก และ ตามทางที่เขาอยากเดินไป

ผมว่าหน้าที่ของพ่อๆเรา คือ เข้าใจ และ ส่งเสริมเขา มากกว่าจะไปบีบบังคับให้เขามีชีวิตอยู่กับการเรียนหรืองานที่เขาไม่ชอบ










ฉิก : แล้วคุณป้อมคิดอยากจะสอนอะไรที่คิดว่าสำคัญที่สุดให้กับลูกล่ะครับ


ป้อม : บางคนอาจจะคิดว่า " ความรู้ " เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด

แต่ผมกลับมองว่า ข้อมูลข่าวสาร และ ข้อเท็จจริงที่เราเคยคิดว่ามันถูกต้อง ณ เวลานี้ มันเปลี่ยนแปลงไปเร็วมาก แค่ 5 ปีข้างหน้ามันก็เปลี่ยนแปลงไปหมดแล้ว ข้อมูลที่เราเคยคิดว่ามันถูกก็อาจกลายเป็นผิดไปเลยก็ได้ ดังนั้น ป่วยการที่เราจะไปจดจำทุกสิ่งทุกอย่างที่เราเคยได้รับการสอนมา เพราะ เราไม่มีทางจำมันได้หมด และ มันก็มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา

ที่ผมคิดว่าอยากสอนให้ลูกผมมากที่สุด คือ
1 ทักษะการแสวงหาความรู้
2 ทักษะการใช้ความคิด

ก่อนอื่นผมต้องขอทำความเข้าใจก่อนว่า

คนเรา "สอน" กันทุกอย่างไม่ได้หรอก
แต่คนเราสามารถ "เรียนรู้" ได้ตลอดชีวิต

ที่ใดที่มีการ"สอน" ที่นั่นอาจจะไม่มีการ"เรียนรู้"เลยก็ได้
ที่ใดที่มีการ"เรียนรู้" การเรียนรู้นั้นก็อาจไม่ได้เกิดจากการ"สอน"
และ การ"เรียนรู้"ก็ไม่จำเป็นต้องอยู่แต่ในห้องเรียน แต่สามารถเกิดได้ทุกที่

การแสวงหาความรู้เอง ก็ไม่เหมือนกับ การแสวงหาข้อเท็จจริง

ในขณะที่การแสวงหาข้อเท็จจริง เป็นแต่เพียงการรับรู้ข้อมูลข่าวสาร
การแสวงหาความรู้ นั้นมีความลึกซึ้งยิ่งกว่า กล่าวคือ เป็นกระบวนการทำความเข้าใจที่เราต้องสร้างแก่ตนเอง ตั้งแต่ต้นจนถึงบทสรุป ซึ่งเกิดขึ้นด้วยตัวของเราเอง

การแสวงหาความรู้นั้น เปรียบเหมือนกับ
ถ้าคุณหาปลามาให้เด็ก เด็กก็มีกินไปแค่ไม่กี่วัน
แต่ถ้าคุณสอนวิธีหาปลาให้เด็ก เขาก็จะไม่มีวันที่จะอดตายไปตลอดชีวิต

แต่เดิมเราอาจจะเคยได้เรียนรู้จากพ่อแม่ คุณครู เพื่อนๆ หนังสือ และ การได้ปฏิบัติจริง ปัจจุบันเรามีสื่อที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะการมาของสื่อที่ทันสมัยอย่างเช่น โทรทัศน์ DVD และ Internet




Internet ในแง่นึง มันก็ทำให้เราสามารถเข้าถึงข่าวสารข้อมูลได้กว้างขวางรวดเร็ว และ สะดวกง่ายดายขึ้น

แต่ในอีกด้านนึง ตัวมันเองก็ได้บั่นทอนความสามารถรับรู้ข้อมูลข่าวสารของเราลงอย่างมากเช่นกัน.........










ฉิก : ยิ่งฟังยิ่งชักงงแล้ว อะไรของคุณน่ะ ทำไมพูดๆไปแล้วมันดูขัดแย้งกันเองล่ะครับ


ป้อม : ผมไม่ได้พูดผิดหรอก คือ ผมอยากจะบอกว่า มนุษย์เราไม่ได้มีความสามารถเพียงรับรู้ข้อมูลจากตัวอักษรและภาพบนจออย่างเดียว

แต่เราสามารถใช้หูประเมินน้ำเสียง ใช้ตาดูอารมณ์ที่ถ่ายทอดทางแววตาและใบหน้าท่าทาง ใช้การหยั่งข้อมูลเชิงลึกจากการถาม หรือ การแสดงปฎิกริยาอื่นๆเมื่อรับฟัง ซึ่งเราเรียกกันว่า อวัจนะภาษา หรือ ภาษากาย

พูดง่ายๆคือ เมื่อมนุษย์เราพบปะพูดจากัน เราใช้ประสาทสัมผัสทั้งหลายสำหรับรับข้อมูลข่าวสาร และ ที่สำคัญรวมถึงการรับรู้ด้วย "ใจ" ด้วย

เด็กที่เล่นคอมพิวเตอร์ไปนานๆ มักจะมีวิธีคิดอยู่วิธีเดียว คือ วิธีคิดแบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งเป็นการคิดเรียงลำดับของระบบตรรกะที่แน่นอน (Algorhythm)

แต่มนุษย์เรามีวิธีคิดอื่นๆอีกหลายอย่าง ซึ่งทำให้มนุษย์คิดได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าคอมพิวเตอร์มาก รวมทั้งมนุษย์เรายังสามารถรู้ได้ด้วยว่าตัวกำลัง"คิด"อะไรอยู่

ดังนั้น เราอาจจะไม่จำเป็นต้อง"ก้าวทันเทคโนโลยี"หรอก เพราะพวกนี้มันมาเร็วไปเร็ว แต่เราต้องเราต้องรู้ "เท่าทันเทคโนโลยี"

พูดง่ายๆว่าเราต้องเป็น"นาย" มิใช่ "ทาส" ของเทคโนโลยี คือ รู้จักเลือกใช้มันในทางที่เหมาะสม มองว่ามันเป็นเพียงเครื่องมือ หรือ สื่อชนิดหนึ่ง ที่ทำให้เรามีอิสระมากขึ้น มิใช่ไปหลงยึดติด และ คอยแต่จะตามก้นมันไปตลอด

และ ที่สำคัญ อย่าลืมที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์ด้วยกันเองเพื่อการเรียนรู้ มากกว่าที่จะนั่งจับเจ่าอยู่แต่หน้าจอเพื่อหาข้อมูลข่าวสารต่างๆ










ฉิก : แล้วทักษะเรื่องวิธีคิดล่ะครับ ทำไมถึงต้องฝึกด้วย



ป้อม : อย่างที่บอกไปแต่ต้นว่า ข้อเท็จจริง ข้อมูลข่าวสารในปัจจุบันเรามีมากมายซะเหลือเกิน เป็นหน้าที่ที่เราต้องมาพินิจพิจารณา กลั่นกรอง และ วิเคราะห์ข้อมูลเหล่านั้นอย่างรอบด้าน เพื่อให้สามารถเข้าถึง "ความจริง" ที่แท้

วิธีคิดอันนึงที่เราใช้กันบ่อยๆ ซึ่งมีประสิทธิภาพมาก คือ วิธีคิด หรือ วัฒนธรรมแบบ "วิทยาศาสตร์"

คุณค่าของวิทยาศาสตร์อยู่ที่ "วิธีคิด" นั่นคือ การมองหาความสัมพันธ์เชื่อมโยงของโลกทางวัตถุที่อยู่แวดล้อมตัวเราด้วยข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ และ ด้วยระบบเหตุผลชนิดหนึ่ง

ข้อมูล ทฤษฎี หรือ สูตรต่างๆที่เราใช้คำนวณทางวิทยาศาสตร์ เรียนแล้วก็ลืมถ้าไม่ได้ใช้มันบ่อยๆ หรือไม่ก็เปลี่ยนแปลงตกยุคจนไม่น่าเชื่อถือในเวลาต่อมา

แต่ "วิธีคิด"แบบวิทยาศาสตร์นี่แหล่ะที่จะติดตัวเราไปตลอด คือ การรู้จักมองหาความสัมพันธ์เชิงเหตุ และ ผลของสิ่งต่างๆ

รู้จักแสวงหาข้อเท็จจริง ประเมินข้อเท็จจริง ยกระดับประสบการณ์ ความรู้ ขึ้นเป็นความรู้ระดับนามธรรม หรือ แนวคิดเพื่อเพิ่มอำนาจอธิบายของความรู้

นี่ล่ะครับ จุดมุ่งหมายที่สำคัญที่สุดในการเรียนวิทยาศาสตร์ และ วิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์นี่แหล่ะที่ส่งอิทธิพลไปให้วิชาการแขนงอื่นๆทั่วไปหมด ไม่เว้นแม้แต่ปรัชญา หรือ ศิลปะ

เป้าหมายของการสอนวิทยาศาสตร์จึงมิใช่เพียงเพื่อเป็นการสร้างนักวิทยาศาสตร์ชั้นเยี่ยมของชาติ หรือ ของโลก ซึ่งจะทำให้เราเลือกเฉพาะเด็กบางคนเท่านั้นที่จะได้พัฒนาวิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์ไปได้ไกล แล้วปล่อยให้เด็กส่วนใหญ่ขาดโอกาสอันเดียวกันนี้

ผลก็คือ เราอาจจะมีนักเรียนที่ไปคว้าเหรียญทองโอลิมปิกวิชาการระดับโลก แต่มาตรฐานการเรียนวิทยาศาสตร์ของประเทศติดอันดับรั้งท้าย

ที่เราควรทำ ก็คือ เราควรสอนวิทยาศาสตร์เพื่อเพิ่มศักยภาพให้เด็กไทย เพิ่มความแพร่หลายของวิธีคิดทางวิทยาศาสตร์ของคนทั่วไป แม้ว่าในที่สุดเขาเหล่านั้นจะไม่ได้เป็นนักวิทยาศาสตร์เลยก็ตาม แต่ก็ยังสามารถนำวิธีคิดเหล่านี้ไปใช้ในอาชีพต่างๆของตนได้ตามความเหมาะสม

ดังนั้น ความเท่าเทียมกันทางการศึกษา จึงมีความหมายลึกซึ้งยิ่งไปกว่า การเปิดโอกาสให้เด็กทุกคนได้เรียนฟรี 15 ปีมากมายนัก









ฉิก : แปลว่าคุณต้องการสอนให้ลูกคุณคิดแบบวิทยาศาสตร์แบบนั้นใช่มั้ยครับ



ป้อม : แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าผมต้องการให้ลูกผมคิดแบบวิทยาศาสตร์เพียงอย่างเดียวนะครับ

วิทยาศาสตร์เป็นวิธีคิด วิธีมองโลก วิธีจัดการเกี่ยวกับโลก และ วิธีการประเมินสิ่งต่างๆ นั่นคือ วิทยาศาสตร์ เป็น "วัฒนธรรม" อย่างนึงเช่นกัน

ซึ่งโดยตัววัฒนธรรมวิทยาศาสตร์เองก็มีทั้งจุดแข็ง และ จุดอ่อนในตัวมันเองไม่ต่างไปจากวัฒนธรรมอื่นๆ

จุดมุ่งหมายของวิทยาศาสตร์ คือ การประเมินความเป็นจริงโดยอาศัยเหตุผลในเชิงวัตถุ และ ตรรกะในเชิงคณิตศาสตร์

ด้วยเหตุนี้ วิทยาศาสตร์จึงจำกัดการพิสูจน์ทฤษฎีเกี่ยวกับความเป็นจริงไว้เฉพาะในแวดวงของวัตถุ หรือ อย่างน้อยก็เป็นตรรกะที่พอเทียบเคียงได้กับปรากฎการณ์ทางวัตถุ

ในแง่นึงก็ "ใจกว้าง" คือ ยอมรับฟังความเห็นแย้งได้เสมอ ไม่มีการผูกขาด ภาษาชาวบ้านก็คือ "เถียงได้"

แต่ในอีกแง่นึงก็ "ใจแคบ" คือ ยอมรับฟังเฉพาะความเห็นที่เกิดขึ้นจากกระบวนการคิดแบบเดียวกันเท่านั้น จึงต้องฟันฝ่าทำลายความศักดิ์สิทธิ์ของอะไรต่อมิอะไรไปหลายอย่าง เช่น เรื่องพระเจ้า และ ศาสนา

เพราะวิทยาศาสตร์ปฎิเสธอำนาจที่ไม่อาจอธิบายที่มาที่ไปของมันในเชิงวิทยาศาสตร์ได้ บุคคล และ ญาณทัศนะใดที่ไม่สามารถ "ชั่ง ตวง วัด" ไม่สามารถใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 หรือ ไม่ได้มาจากการะบวนการคิดแบบวิทยาศาสตร์ก็จะถูกปฏิเสธ และ ทำลายลงเช่นกัน


ดังนั้นเรื่องบางเรื่องก็ไม่จำเป็นต้องใช้ "วิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์" เสมอไป

เราอาจใช้ "ศรัทธา" "ความรู้สึก" หรือ "ญาณทัศนะ" เพื่อหยั่งถึงความจริงในอีกรูปแบบหนึ่งที่่วิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์ไม่สามารถเอามาใช้ได้









ฉิก : ไหนลองยกตัวอย่างวิธีคิดแบบที่คุณว่ามาบ้างซิครับ




ป้อม : อย่างถ้าสมมติให้คุณเกิดรู้สึก"ปิ๊ง"ใครขึ้นมาซักคนนึง และ รู้สึกว่าตัวเองกำลังหลงรักเธอผู้นั้นเข้าให้ซะแล้ว

คุณอาจจะบรรยายความรู้สึกตัวเองขณะนั้นว่า กำลังตกอยู่ในห้วงแห่งความรัก เหมือนมีศรรักมาปักเข้าให้ที่กลางใจ ทำให้คุณคล้ายๆว่าตกอยู่ในภวังค์อันรื่นรมย์ เหมือนต้องมนตราพิศวาสบาดจิตจากนางอัปสรผู้งดงามจะหาใดเหมือน อะไรทำนองนั้น ซึ่งก็ดูเหมาะสมกันดีกับความรู้สึกของคุณในตอนนั้นใช่มั้ยครับ......

แต่ถ้าเปลี่ยนมาใช้วิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์ดูบ้าง ผมอาจจะบอกว่า คุณกำลังมีการเปลี่ยนแปลงของ neurotransmitters (สารสื่อประสาท) บางตัวในสมองเข้าให้แล้ว ซึ่งเป็นผลมาจากฮอร์โมน testosterone (ฮอร์โมนเพศชาย) โดยมีอิทธิพลซ่อนเร้นมาจากสัญชาตญาณทางเพศเพื่อการดำรงสืบพันธุ์ให้ genes ของคุณได้มีโอกาสถ่ายทอดไปให้ลูกหลานต่อไป......


ฉิก : พอๆๆๆๆๆๆๆๆๆ โห ....คนกำลังฝันหวานอยู่แท้ๆ พอฟังคุณพูดแบบวิทยาศาสตร์แล้วหมดอารมณ์เลย เซ็งเป็นบ้า


ป้อม : นั่นล่ะครับ เราจึงควรฝึกคิด ด้วยวิธีต่างๆที่หลากหลาย และ เลือกนำไปใช้ให้เหมาะสมต่อสถานการณ์ต่างๆ



ฉิก : อืมมมมมมม ถึงตรงนี้คงต้องบอกว่ามันสมควรแก่เวลาแล้ว

จำใจจำจาก โอ้.......จำลา ลาก่อนนะครับ ขอให้ทุกท่านจงโชคดีมีสุขกับการสอนลูกๆด้วยตัวของท่านเอง แล้วซักวันนึงท่านก็จะรู้สึกภูมิใจว่า ลูกชั้นเนี่ย ชั้นสอนเองมากับมือเชียวนะ

อย่าลืมนะครับว่า สอนลูกเองก็ได้...ง่ายจัง


แล้วพบกันใหม่ สวัสดีครับ










หยุด Groove rider by ลูกแกะ

Kidding | MySpace Video



Create Date : 01 มิถุนายน 2552
Last Update : 23 มกราคม 2553 9:37:59 น.
Counter : 8151 Pageviews.

10 comments
  
สวัสดีค่ะ ยินดีที่ได้มีโอกาสรู้จักกันผ่านตัวอักษรนะคะ
โดย: พุทธิตา IP: 10.7.51.253, 202.28.181.220 วันที่: 2 มิถุนายน 2552 เวลา:7:50:54 น.
  
ประทับใจบทส่งท้ายมากค่ะ

จะรอบคุณหมออ่านหนังสือกองโตจบ แล้วช่วยมาแนะนำเล่มที่น่าสนใจด้วยนะคะ
โดย: แม่สองซน IP: 10.20.106.134, 202.44.210.45 วันที่: 2 มิถุนายน 2552 เวลา:9:12:38 น.
  
สวัสดีค่ะ

กำลังเพลินๆ กะ สอนลูกเองก้อได้ ง่ายจัง...
ไม่คิดว่าจะถึง บทส่งท้ายซะแล้วค่ะ

แต่คิดว่า ถ้าคุณหมอมีอะไรดีๆ คงจะภาคต่อ อีก (ใช่ไหมค่ะ )
star wars ยังมีตั้งหลายภาคแน่ะ

ตอนนี้ก้อกำลังสนุกเพลินกับ ท่องโลกกล้างกับอินเตอร์เนตค่ะ
สาวน้อยชอบมาก ตอนนี้ให้เปิดฟังเพลง เอบีซีดี ทุกวัน ร้องได้หลายเพลงแล้ว
ได้ภาพระบายสี จากที่คุณหมอแนะนำ

เลี้ยงลูกเองสไตล์ใคร สไตล์มัน ไม่มีสูตรอะไรสำเร็จรูป
ประสบการณ์ของคนอื่นๆ ถือเป็นแนวทาง
อย่างน้อยก้อไม่เสียเวลาในการลองผิดลองถูก

ต้องขอบคุณคุณหมอที่แนะแนวทางดีๆอย่างนี้ค่ะ

ขอบคุณค่ะ

ปล. ยังไงก้อรอภาคต่อค่ะ
โดย: ปลายดินสอ วันที่: 2 มิถุนายน 2552 เวลา:13:11:39 น.
  

เป็นบทส่งท้าย ที่ให้ข้อคิดมากมาย

เข้ามาโพสต์ เตือนสติ กันบ่อยบ่อย นะคะ

ปัญญาทาน ที่คุณหมอ ให้แก่พวกเรา จะส่งผล
กลับไป ให้น้องพลอย แน่แน่ค่า
โดย: mnpinpin IP: 58.8.118.45 วันที่: 2 มิถุนายน 2552 เวลา:19:43:33 น.
  
จบซะแล้ว ฮือๆๆ
จบได้ดีมากๆ เลยค่ะ คุณพ่อน้องพลอย
.
.

ตรงใจผู้อ่านแบบเรามากมาย

ไม่อยากให้จบเลย
โดย: หนึ่ง IP: 10.5.5.11, 203.99.253.13 วันที่: 18 มิถุนายน 2552 เวลา:18:15:57 น.
  

ขอบคุณสำหรับความรู้และข้อคิดดีๆนะคะ
โดย: mp IP: 58.64.92.187 วันที่: 28 มิถุนายน 2552 เวลา:7:51:12 น.
  
อ่านหนังสือ จบหรือยัง ค้าาาา
โดย: mnpinpin (mnpinpin.multiply.com) IP: 58.8.128.217 วันที่: 20 ธันวาคม 2552 เวลา:21:31:11 น.
  
สวัสดีปีใหม่ค่ะ

โดย: ปลายดินสอ วันที่: 30 ธันวาคม 2552 เวลา:12:28:44 น.
  
หวัดดีครับ

หลังจากหยุดเขียนblog เพื่อกลับไปเคลียร์ตัวเองกับกองหนังสือ และ DVD ทั้งหลายที่กองพะเนินท่วมหัว

และแล้ว...ผมก็ได้ค้นพบว่า มันไม่มีทางเป็นไปได้เลยที่จะเสพสิ่งเหล่านั้นได้หมดซักที

เพราะ พอผมเริ่มอ่านหนังสือไปได้จบ 1 เล่ม ดูหนังจบไปได้อีก 1 เรื่อง ผมก็จะไปซื้อหนังสือมาเพิ่มอีก 10 เล่ม และ หนังแผ่นอีก 10 เรื่องทุกที........

ถ้าใช้ความรู้ทางคณิตศาสตร์ที่เรียนมาคำนวณดูก็จะพบว่า ชาตินี้ก็ไม่มีทางอ่านและดูได้จบแหงๆ (อ้าวเพิ่งรู้ตัวเหรอ)

ดังนั้น ผมคิดว่าคงกลับมาเขียนblogใหม่ในเร็วๆนี้ดีกว่า
coming soon!!!!!!!!!!!!!!! ไว้เจอกันครับ
โดย: ฉิกซิงแซ วันที่: 19 มกราคม 2553 เวลา:8:22:57 น.
  
ขอบคุณมากนะคะ มีประโยชน์และแง่คิดดีๆมากมายเลยค่ะ
โดย: คุณแม่ IP: 61.19.114.10 วันที่: 29 กุมภาพันธ์ 2555 เวลา:21:21:31 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ฉิกซิงแซ
Location :
นครศรีธรรมราช  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 17 คน [?]



เกิดและโตที่กรุงเทพ
เป็นศิษย์เก่าร.ร.ใกล้บ้าน คือ วัดสุทธิ
จับพลัดจับผลู สอบติดหมอจุฬา แบบงงๆ
แล้วมาต่อเฉพาะทางด้านเด็กที่ มอ. หาดใหญ่

บังเอิญมาเจอ"จอม" ที่ต่อมากลายมาเป็นคู่ชีวิต
เลยได้มาอยู่อยู่ภาคใต้ยาวเลย
ไม่ได้กลับมาอยู่กทม.อย่างที่ตั้งใจไว้
เพราะ"คุณนาย"ไม่ชอบรถติดอย่างแรง

เป็นอาจารย์ด้านโรคหัวใจเด็กที่ มอ.ได้ไม่เท่าไหร่
ก็มาได้ข่าวดีว่าจะได้เป็นพ่อคนแล้ว

ต้องมาตัดสินใจกันอีกว่าจะไปเรียนต่อที่ ILLINOIS, USA
ดีหรือเปล่า เพราะ "ผบทบ." กลัวหนาวมาก เลยลาออกมาซะเลยดีกว่า

ตอนนี้ สบายๆกับงานที่คลินิก 2 แห่ง
ว่างๆก็เล่นกับลูกสาว(น้องพลอย)และ ลูกชาย(น้องเพชร)จอมซนน้อยๆ และ หาเรื่องไปเที่ยวกับครอบครัวบ้างตามสะดวก

New Comments