บล๊อกของลุง กับป้า ที่ชอบการท่องเที่ยว
Group Blog
 
<<
กรกฏาคม 2558
 1234
567891011
12131415161718
19202122232425
262728293031 
 
12 กรกฏาคม 2558
 
All Blogs
 
เปรู 3 - มาชู ปิกชู (Machu Picchu)

 
Peru Rail เที่ยวแรกจาก Ollantaytambo เวลาตี 5.07 ถึง Aguas Calientes เวลา 6.34 น. ข้างนอกยังมืดอยู่ ถ้าไม่นั่งหลับ (ตื่นกันตั้งแต่ตี 4 ทั้งนั้น) ก็นั่งมองเพดานรถไฟไป เริ่มสว่างก็เห็นวิวผ่านช่องเพดาน
 
 
 



จากสถานีรถไฟเดินไปไม่ไกล ก็จะเห็นรถบัสจอดรอนักท่องเที่ยวเป็นแถว ที่ขายตํ๋วก็อยู่ตรงนั้นค่ะ ค่ารถบัสจ่ายได้ทั้งเงินเปรู (P$- Peruvian Soles) และU$ ค่ะ  เที่ยวเดียว U$10 ไป-กลับ U$19 ....รีบขึ้นมาชู พิกชูเช้าเลย คนยังไม่เยอะ มาชู ปิกชู เปิดให้เข้าชม ตั้งแต่ 6 โมงเช้า ถึง 5 โมงเย็น แต่ก็มีตัวแทนท่องเที่ยวบางแห่งที่จัดให้เข้าชม ตั้งแต่ 6 โมงเย็น ถึง ตี 1 วันรุ่งขึ้น รายละเอียดต่าง ๆ ดูได้จาก https://www.machupicchuperu.info/ ค่ะ  ตั๋วเข้ามาชู พิกชู ตอนที่จองผ่านเว็บ คิดเป็น P$  คนละ P$126
 
รถบัสเลี้ยวไปตามถนนที่โค้งไปมาขึ้นมาชู ปิกชู มันโค้งดีจริง ๆ เล่นเอาเวียนหัวเลย
 
 

 
 
 
มาชู ปิกชู (Machu Picchu)  
 
แล้วก็มาถึงมาชู ปิกชู หลังจากผ่านมาหลายประเทศ  และท้าย ๆ ของเส้นทางอเมริกาใต้ของ สว. ทั้ง 2 แล้วค่ะ
 

 

 

 
ต้องอุทานแล้วล่ะว่า โอ้ มาชู ปิกชู ไม่ว่าจะเป็นเมืองในกลุ่มเมฆ หรือสายหมอก เธอทำให้ทุกคนตะลึงตะลานไปกับเธอ.. กว่าจะมายลโฉมเธอได้ ก็ต้องเดินทางมาไกลแสนไกล และใช้เวลาเนินนานเหลือเกิน

 

 

 

 
มาชู ปิกชู หรือ นครสาบสูญของชาวอินคา  นครกลางฟ้านี้ซ่อนตัวอยู่ในเทือกเขาแอนดิส ของหุบเขาอุรุแบมบา  ดูราวกับลอยอยู่ในสายหมอก  มีเนื้อที่ประมาณ 13 ตร.กม.  ณ ความสูง 2,430 เมตร ..... ในสมัยโบราณมีประตูแคบ ๆ ตรงป้อมกำแพงด้านตะวันตกเฉียงใต้  เป็นทางเข้าออกเพียงทางเดียว 

 

 
 เมื่อมองจากตีนเขา จะไม่สามารถมองเห็นมาชู ปิกชูได้ และนี่คงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้มาชู ปิกชู ไม่ถูกค้นพบเป็นเวลานาน และยังคงสภาพอันสมบูรณ์ไว้ได้

 

 

 

 
ปี 1911 นักประวัติศาสตร์ และนักโบราณคดี ชื่อ ฮีแรม หรือ ไฮแรม บิงแฮม (Hiram Bingham)  จากมหาวิทยาลัยเยล ได้พบป้อมโบราณบนยอดเขาท่ามกลางแมกไม้  ระหว่างการหาโบราณสถานของอินคาในละแวกใกล้เคียง  เขากลับพบเมืองที่ไม่ปรากฏอยู่ในเอกสารใดทั้งสิ้น  จึงได้ตั้งชื่อเมืองตามชื่อภูเขาอันเป็นที่ตั้ง คือ Machu Picchu แปลว่า Old Mountain - ยอดเขาเก่า

 

 
มาชู ปิกชู ตั้งอยู่บนสันเขาระหว่าภูเขาสองลูก คือ มาชู ปิกชู และอวยนา ปิกชู (Huayna Picchu หรือ New Mountain - ยอดเขาใหม่) ซึ่งเป็นเสมือนปราการธรรมชาติอย่างวิเศษ มองจากหน้าผาสูงชันลงไป จะเห็นภาพงดงามของหุบเขาแคบ ๆ ที่มีแม่น้ำอุรุแบมบาไหลผ่าน   

 

 

 
มาชู ปิกชู ถูกสร้างเป็นลักษณะขั้นบันได ไล่ลงมาตามความชันของหุบเขา  แต่ละชั้นสูง 3 เมตร มีจำนวนทั้งหมด 40 ชั้น ซึ่งถูกเชื่อมด้วยบันไดกว่า 3,000 ขั้น 

 
 
 

 
 
มีสิ่งก่อสร้างซึ่งสร้างด้วยหินกว่า 200 หลัง ซ้อนกันหลายชั้น มีหมู่วิหาร วัง บ้านเรือน โรงอาบน้ำ ลานกว้าง ท่อส่งน้ำ และอาคารต่าง ๆ สร้างด้วยหินแกรนิตก้อนมหึมา 
 

 

 
ก้อนหินเหล่านี้ไม่มีการโบกปูนยึดไว้ แต่ก็ต่อเข้ากันได้พอดี จนแม้แต่ใบมีดก็ไม่สามารถแทรกผ่านเข้าไปได้  ช่างหินวางเรียงหินแต่ละก้อนที่มีด้านเอียงไม่เท่ากันอย่างประณีต  เหมือนจัดเรียงปริศนารูปต่อขนาดยักษ์  รูปแบบการก่อสร้างนี้เสริมให้กำแพงแกร่งยิ่งขึ้น  ซึ่งเป็นทางป้องกันหนึ่งสำหรับบริเวณที่เสี่ยงต่อแผ่นดินไหว ดังเช่นเทือกเขาแอนดิส   

 

 

 
จากหนังสือหน้าต่างสู่โลกกว้าง ฉบับอเมริกาใต้  กล่าวว่ามาชู ปิกชู เคยเป็นที่พำนักของนักบวช ผู้ปกครองชั้นสูง และพวกมามากูนา (mamacunas) หรือพรหมจาริณีที่ได้รับเลือกให้มาเป็นผู้รับใช้สุริยเทพ

 

 

 
มาชู ปิกชู เป็นเมืองที่ปราศจากคนยากไร้ มีถนนหนทาง ท่อส่งน้ำ บ่อน้ำพุศักดิ์สิทธิ์และบาทวิถี  แต่เข้าถึงไม่ได้ จนทศวรรษ 1940 คณะชุดสำรวจทางโบราณคดี จึงได้ค้นพบถนนที่ชาวอินคาตััดจากใจกลางหุบเขา ไปยังป้อมบัญชาการ 

 

 
ภายในเมืองมีพื้นที่เพาะปลูก 12 เอเคอร์ (ประมาณ 30 กว่าไร่) อยู่ตามลาดเนินสูงชัน เชื่อมต่อด้วยบันไดหลายพันขั้น  และยังคงสภาพสมบูรณ์ แม้เวลาจะผ่านไปหลายร้อยปีแล้ว  เชื่อกันว่ามาชู ปิกชู สามารถทำการเพาะปลูกได้ปีละ 2 - 3 ครั้ง

 

 
ตัวเมืองแบ่งออกเป็นเขตสุสาน เรือนจำ ที่พำนัก และวิหารต่าง ๆ ......วิหารไตรบัญชร (Temple of the Three Windows) ...สร้างให้แสงอาทิตย์ลอดผ่านหน้าต่าง ส่องลงมายังลานศักดิ์สิทธิ์  ซึ่งใช้ประกอบพิธีบวงสรวงสุริยเทพ

 

 

 
เบื้องบนเป็นหอดูดาว และศิลาอินติวาตานา (Intiwatana) รูปทรงคล้ายเสา เชื่อว่าเป็นนาฬิกาแดด  แต่บางข้อมูลก็ว่าเป็น "เสาที่ผูกติดกับดวงอาทิตย์"  และตำแหน่งที่เงาเสาตกกระทบ  จะเป็นตัวกำหนดกิจกรรมต่าง ๆ ในแต่ละช่วงฤดูกาล รวมถึงงานพิธีทางศาสนาด้วย

 

 

 
 
อาคารบางหลังเป็นอาคารสองชั้น สมัยก่อนมุงด้วยหญ้าฟางเป็นทรงแหลมสูง  และที่น่าพิศวงมาก ก็คือศิลาทุกก้อนตัดได้ขนาดพอดี และเรียงต่อกันอย่างแนบสนิท
 
 

 
เนินด้านหน้าตัวเมืองเป็นที่ตั้งแท่นบูชาหินนกแร้ง (Condor Stone)  ซึ่งเป็นแผ่นหินแบนราบรูปหัว และตัวนกแร้ง
 
 
 
  ...ส่วนหัวมีโพรงทะลุลงไปสู่ถ้ำเล็ก ๆ ด้านล่าง  เชื่อกันว่าการบูชายัญจะทำกันบนแผ่นหิน ถ้ำด้านล่างเป็นที่รองรับเลือด
 
 

 

 
มาชู ปิกชู งดงามและน่าอัศจรรย์เกินกว่าคำบรรยาย โดยเฉพาะเรื่องราวอันลึกลับของที่แห่งนี้  นี่คือเมืองที่ไม่กี่ร้อยปีมานี้ ยังมีผู้คนอาศัยอยู่ ก่อนเมืองจะถูกทิ้งร้าง ผู้คนหายสาบสูญ 

 

 

 
 มีสมมุติฐานหลายประการเกี่ยวกับการหายสาบสูญนี้  เช่นชาวอินคาอาจจะทิ้งเมืองให้ร้าง ก่อนที่พวกสเปนจะมาถึงเมืองหลวงกุซโก ในปี 1572  ....แต่สาเหตุของการทิ้งเมืองอย่างกะทันหัน ... ไม่ใครสืบทราบ  หรือเป็นไปได้ว่า อาจมีการรบพุ่งกันเองระหว่างชาวอินคาเผ่าต่าง ๆ ซึ่งก็อาจถึงกับส่งผลกระทบให้ผู้คนทั้งเมืองสูญสลายไปสิ้นก็ได้
 
 

 
หรืออาจเกิดโรคระบาดร้ายแรง ทำให้ชาวเมืองต้องอพยพทิ้งเมืองไป  หรือ อาจเป็นว่ามีคนล้มตายเป็นจำนวนมาก  จนชนชั้นปกครองต้องสั่งปิดเมืองอย่างถาวร 

 

 
 
 
แม้ว่าสาเหตุที่ทำให้มาชู ปิกชู กลายเป็นเมืองร้างนั้น อาจเป็นเรื่องลี้ลับตลอดไป แต่ปมปริศนานี้กลับยิ่งสร้างเสน่ห์น่าพิศวงหลงใหล ให้แก่นครลึกลับแห่งนี้ตลอดมา
 
 
 

 
มาชู ปิกชู ได้รับการประกาศให้เป็น 1 ใน 7 สิ่งมหัศจรรย์ของโลกยุคใหม่ เมื่อวันที่ 7 เดือน 7 ปี 2007  หลังจากที่มูลนิธิสิ่งมหัศจรรย์ 7 อย่าง ซึ่งตัั้งโดย นายเบอร์นาร์ด เวเบอร์ นักผจญภัยขาวสวิส ได้สำรวจประชามติของชาวโลก ผ่านทางอินเตอร์เนตมาตั้งแต่ ปี 2000
 
 

 
 
 
ผลการสำรวจ มีผู้เสนอชื่อสิ่งมหัศจรรย์ถึง 200 ชื่อ มูลนิธิคัดเหลือเพียง 21 ชื่อ แล้วก็มีการโหวตให้เหลือ 7 สิ่งมหัศจรรย์ ซึ่งมีอยู่ในเอเชีย 2 สิ่ง อเมริกาใต้ 3 สิ่ง และยุโรป 2 สิ่ง  ...ในขณะที่แอฟริกา อเมริกาเหนือ และออสเตรเลีย ไม่มีสิ่งมหัศจรรย์ที่มนุษย์สร้าง (ข้อมูลจาก https://www.sahavicha.com/)
 
ข้อมูลมาชู ปิกชู มีมากมาย เป็นพระเอก - นางเอกของหนังสือต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับอเมริกาใต้เสมอ ..  ขอบคุณข้อมูลจากหนังสือหน้าต่างสู่โลกกว้าง ฉบับอเมริกาใต้ ประเทศเปรู    www.sanookguru.com, www.thaiza.com   ข้อมูลเกี่ยวกับมาชู ปิกชู ที่ละเอียดมาก ๆ สามารถอ่านได้จากผู้ที่ใช้ชื่อ "Moonoi" ตามนี้ ค่ะ pantip.com/topic/32419193
 
บ่ายก็นั่งบัสกลับลงมาที่ Aguas Calientes คืนนี้พักที่เมืองนี้ แต่ต้องไปเอาตั๋วรถไฟที่จะพากลับไป Ollantaytambo คือขามา ..มา Peru Rail คนละ U$60 สามารถพิมพ์ใบที่ใช้เป็นตั๋วจากบ้านได้เลย  แต่ขากลับของ Inka Rail (U$47) ต้องไปรับตั๋วที่สถานีรถไฟที่นี่ก่อน โดยแสดงใบรับเงิน เครดิตการ์ดที่ใช้จอง และหลักฐานแสดงตน
 
ปัจจุบัน รถไฟไปมาชู พิกชู ไม่ได้ออกจาก Ollantaytambo เท่านั้น มีรถไฟที่ออกจากกุสโก และอุรุแบมบาด้วย  เพียงแต่ว่าออกจาก Ollantaytambo จะมีหลายเที่ยวกว่า เข้าไปดูได้ที่ 
www.ticketmachupicchu.com ค่ะ
 
 

 
เมือง Aguas Calinetes  หรือ Machu Picchu town เมืองเล็ก ๆ ที่มีรถบัสนำเราขึ้นมาชู พิกชู  นักท่องเที่ยวที่ต้องการขึ้นมาชู พิกชู แต่เช้าก่อนคนอื่น ๆ ที่มาโดยรถไฟ จึงเลือกมานอนที่นี่กัน  แต่เรานอนที่นี่หลังจากขึ้นมาชู พิกชูแล้ว  เพราะถ้ากลับกุสโกก็จะดึกเกินไป
 
 

 
ในหนังสือ Let's go Peru บอกว่าประชากรที่เดินไปเดินมาที่เมืองนี้ เกือบ 90% เป็นนักท่องเที่ยว การที่เป็นเมืองที่มีบ่อน้ำร้อน และอากาศสบาย ทำให้เหมาะที่จะพักหลังจากสำรวจแหล่งอารยธรรมมาทั้งวัน
เมืองนี้เต็มไปด้วยร้านอาหาร และร้านขายของที่ระลึก ราคาไม่แพงค่ะ


 
 
 
 

 

 
 
พักที่ Machu Picchu B&B พร้อมอาหารเช้าให้อิ่มท้องสำหรับ backpackers ที่พร้อมจะออกเดินทางต่อไปแล้วค่ะ
 
 



Create Date : 12 กรกฎาคม 2558
Last Update : 6 กรกฎาคม 2562 10:14:42 น. 0 comments
Counter : 3040 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

สมาชิกหมายเลข 1920579
Location :
เชียงใหม่ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 8 คน [?]




New Comments
Friends' blogs
[Add สมาชิกหมายเลข 1920579's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.