Group Blog
 
All Blogs
 

ไม่ได้ใช้เครื่องหมายต่อสินค้าตามรายการสินค้าที่จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้ไม่เป็นความผิด

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๕๓๔๐/๒๕๕๓ โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดตามกฎหมายประเทศสวีเดน มีนายเพอร์ มาร์ติน เพ็ทเทอร์สัน เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ โจทก์มอบอำนาจให้นายวรชัยและ/หรือบริษัทวิคเคอรี่ แอนด์ วรชัย จำกัด ฟ้องและดำเนินคดีนี้แทน จำเลยที่ 1เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด จดทะเบียน ณ สำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานคร กรมทะเบียนการค้า กระทรวงพาณิชย์ มีจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน โจทก์เป็นเจ้าของและจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “Q-MATIC” ต่อนายทะเบียน สำนักเครื่องหมายการค้า กรมทรัพย์สินทางปัญญา สำหรับสินค้าจำพวก 9 คือ คอมพิวเตอร์ ซอฟต์แวร์ เครื่องคอมพิวเตอร์ เครื่องพิมพ์ใช้กับคอมพิวเตอร์ ฯลฯ โจทก์ประกอบธุรกิจจำหน่ายเครื่องจัดระบบคิว เครื่องคอมพิวเตอร์ กระดาษพิมพ์บัตรคิว ซอฟต์แวร์ ภายใต้เครื่องหมายการค้า “Q-MATIC” และได้ใช้คำว่า “Q-MATIC” เป็นชื่อทางการค้า โจทก์ใช้เครื่องหมายการค้าของโจทก์มาเป็นระยะเวลานานกว่า 30 ปี โดยใช้แพร่หลายทั้งในประเทศและต่างประเทศ โจทก์เคยอนุญาตให้จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าต่าง ๆ ที่มีเครื่องหมายการค้า “Q-MATIC” ของโจทก์ในเขตประเทศไทย ต่อมาวันที่ 23 กันยายน 2545 โจทก์มีหนังสือแจ้งเพิกถอนการอนุญาตแก่จำเลยที่ 1 และห้ามจำเลยที่ 1 ใช้เครื่องหมายการค้า “Q-MATIC” ประกอบเป็นชื่อบริษัทและชื่อทางการค้าของจำเลยที่ 1 หรือแสดงต่อบุคคลภายนอกว่า จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้า “Q-MATIC” อีกต่อไป ระหว่างวันที่ 7 มีนาคม 2546 ถึงวันที่ 8 พฤษภาคม 2546 จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ได้ร่วมกันกระทำผิดต่อโจทก์โดยนำเครื่องหมายการค้าคำว่า “Q-MATIC” ของโจทก์พิมพ์ในหัวกระดาษจดหมาย เอกสารธุรกิจ และตราประทับของจำเลยที่ 1 แล้วนำเอกสารที่มีเครื่องหมายการค้าของโจทก์ดังกล่าวไปติดต่อทางธุรกิจของจำเลยที่ 1 กับบุคคลภายนอกหลายกรรมต่างกัน คือ วันที่ 7 มีนาคม 2546 เวลากลางวัน จำเลยทั้งสองได้ออกจดหมายที่มีเครื่องหมายการค้า “Q-MATIC” ของโจทก์ที่หัวกระดาษจดหมายและตราประทับของจำเลยที่ 1 ไปยังลูกค้า เพื่อยืนยันว่า จำเลยทั้งสองมีสิทธิประกอบธุรกิจเกี่ยวกับสินค้าระบบจัดการคิว ซึ่งเป็นสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าของโจทก์ วันที่ 11 มีนาคม 2546 เวลากลางวัน จำเลยทั้งสองได้ให้พนักงานของจำเลยที่ 1 ออกใบสั่งงานแก่ที่ทำการไปรษณีย์บางกอกน้อย ซึ่งเอกสารดังกล่าวมีเครื่องหมายการค้า “Q-MATIC” ของโจทก์ เพื่อส่งมอบสินค้าและให้บริการแก่ลูกค้า วันที่ 9 เมษายน 2546 เวลากลางวัน จำเลยทั้งสองได้สั่งการให้นางสาวธมลวรรณ ลูกจ้างจำเลยที่ 1 ออกจดหมายและใบสั่งงานให้แก่ที่ทำการไปรษณีย์พัทยา ซึ่งเอกสารดังกล่าวมีเครื่องหมายการค้า “Q-MATIC” ของโจทก์ปรากฏที่หัวกระดาษจดหมายและตราประทับของจำเลยที่ 1 เพื่อติดต่องานกับลูกค้าของจำเลยทั้งสอง เมื่อวันที่ 7 ถึง 8 พฤษภาคม 2546 จำเลยทั้งสองได้สั่งการให้นายณรงค์ศักดิ์ และนายกิติพศ ไม่ทราบนามสกุล ลูกจ้างจำเลยที่ 1 ออกใบสั่งงานให้แก่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาประตูช้างเผือก ซึ่งใบสั่งงานมีเครื่องหมายการค้า “Q-MATIC”ของโจทก์ปรากฏที่หัวกระดาษเอกสารเพื่อให้บริการแก่ลูกค้า และวันเวลาใดไม่ปรากฏชัดตั้งแต่เดือนเมษายน 2546 ตลอดมาถึงวันฟ้อง จำเลยทั้งสองได้ใช้คำว่า “Q-MATIC” ลงโฆษณากิจการค้าของจำเลยที่ 1 ในอินเทอร์เน็ตที่เว็บไซต์ www.q - maticthailand.com ซึ่งประชาชนทั่วไปทั่วประเทศสามารถเปิดดูรายละเอียดเกี่ยวกับกิจการค้าและบริการของจำเลยที่ 1 ได้ การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงเป็นการเอาชื่อ รูป รอยประดิษฐ์ หรือข้อความใด ๆ ในการประกอบการค้าของโจทก์มาใช้ หรือทำให้ปรากฏที่รายการแสดงราคา จดหมายเกี่ยวกับการค้า หรือสิ่งอื่นทำนองเดียวกัน เพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าสินค้า บริการ หรือการค้าของจำเลยที่ 1 นั้นเป็นสินค้าหรือการค้าของโจทก์ และเป็นกรณีที่จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ซึ่งได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักร เพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 109 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 272, มาตรา 274 ประกอบมาตรา 83, มาตรา 91 และสั่งให้จำเลยทั้งสองระงับหรือห้ามการใช้เครื่องหมายการค้า “Q-MATIC” ของโจทก์ รวมทั้งเว็บไซต์ www.q - maticthailand.com ให้จำเลยทั้งสองทำลายเอกสารและสิ่งของต่าง ๆ ที่มีเครื่องหมายการค้า “Q-MATIC” ซึ่งอยู่ในความครอบครองของจำเลยทั้งสองเสียทั้งสิ้น ห้ามจำเลยทั้งสองใช้ชื่อ “คิว เมติค” เป็นชื่อบริษัทจำเลยที่ 1 อีกต่อไป

          ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง

          จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ

          ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง

          โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

          ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “         พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดภายใต้กฎหมายประเทศสวีเดน โจทก์มอบอำนาจให้นายวรชัย และ/หรือ บริษัทวิคเคอรี่ แอนด์ วรชัย จำกัด ฟ้องและดำเนินคดีแทน ตามหนังสือมอบอำนาจพร้อมคำแปลและหนังสือมอบอำนาจช่วงเอกสารหมาย จ.2 และ จ.1 โจทก์ประกอบกิจการจำหน่ายเครื่องจัดระบบคิว เครื่องคอมพิวเตอร์ ซอฟต์แวร์ และกระดาษพิมพ์บัตรคิว ใช้เครื่องหมายการค้าว่า “Q-MATIC” ซึ่งได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าในประเทศไทย สำหรับสินค้าจำพวก รายการสินค้าคอมพิวเตอร์ ซอฟต์แวร์ เครื่องพิมพ์ใช้กับคอมพิวเตอร์ เป็นต้น เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2544 ตามเอกสารหมาย จ.3 และ จ.4 ส่วนจำเลยที่ 1 จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2534 โดยมีจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อพร้อมประทับตราสำคัญของบริษัทมีผลผูกพันจำเลยที่ 1 ได้ ตามหนังสือรับรองเอกสารหมาย จ.5 ดวงตราสำคัญของจำเลยที่ 1 ตามเอกสารหมาย จ.5 แผ่นที่ 3 และเอกสารหมาย จ.8, จ.10 ด้านล่างซ้ายมือ โจทก์เคยอนุญาตให้จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าต่าง ๆ ของโจทก์ในประเทศไทยตั้งแต่จำเลยที่ 1 ก่อตั้งบริษัท ต่อมาโจทก์เพิกถอนการอนุญาตให้จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนจำหน่าย และห้ามมิให้จำเลยที่ 1 ใช้เครื่องหมายการค้าที่โจทก์จดทะเบียนไว้ มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำผิดตามฟ้องหรือไม่ โจทก์นำสืบว่า จำเลยทั้งสองกระทำผิด 5 กระทง โดยการใช้และแสดงออกซึ่งเอกสารตามเอกสารหมาย จ.8 ถึง จ.12 รวม 5 ชุด อันเป็นความผิดตามฟ้องข้อ 3.1 ถึง 3.5 โดยการเอาชื่อ รูป รอยประดิษฐ์หรือข้อความใด ๆ ในการประกอบการค้าของโจทก์มาใช้หรือทำให้ปรากฏที่รายการแสดงราคา จดหมายเกี่ยวกับการค้า หรือสิ่งอื่นทำนองเดียวกัน เพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าสินค้า บริการ หรือการค้าของจำเลยที่ 1 นั้น เป็นสินค้าหรือการค้าของโจทก์อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 272 (1) และเป็นกรณีที่จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ซึ่งได้จดทะเบียนแล้วในราชอาณาจักรเพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์ อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 274 และตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 109 เห็นว่า สำหรับความผิดฐานเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่จดทะเบียนไว้แล้วในราชอาณาจักร ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าพ.ศ.2534 มาตรา 109 นั้น โจทก์ในฐานะเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่จดทะเบียนไว้แล้วเป็นผู้มีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในอันที่จะใช้เครื่องหมายการค้านั้นสำหรับสินค้าที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วเท่านั้น เมื่อโจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าซึ่งจดทะเบียนไว้สำหรับสินค้าจำพวก 9 รายการสินค้า คอมพิวเตอร์ซอฟต์แวร์ เครื่องคอมพิวเตอร์เครื่องพิมพ์ใช้กับคอมพิวเตอร์ เครื่องปลายทางคอมพิวเตอร์ จอภาพคอมพิวเตอร์เครื่องเซ็นเซอร์บัตร ส่วนจำเลยทั้งสองใช้ตราประทับของจำเลยที่ 1 อันมีเครื่องหมายอักษรโรมัน Q และคำว่า Q-MATIC ประกอบอยู่ด้วยเป็นหัวกระดาษจดหมายที่จำเลยทั้งสองมีถึงลูกค้าของจำเลยทั้งสองตามเอกสารหมาย จ.8 และ จ.10 กับเป็นหัวกระดาษใบสั่งงานตามเอกสารหมาย จ.9 และ จ.11 และใช้ลงโฆษณากิจการของจำเลยทั้งสองทางอินเทอร์เน็ตในเว็บไซต์ของจำเลยทั้งสองตามเอกสารหมาย จ.12แม้จะตรงกับเครื่องหมายการค้าพิพาทอยู่ด้วย แต่เมื่อจำเลยทั้งสองไม่ได้ใช้เครื่องหมายต่อสินค้าตามรายการสินค้าที่โจทก์จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าไว้ และไม่ใช่ในลักษณะที่เป็นการใช้อย่างเครื่องหมายการค้าแล้ว การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นความผิดฐานเลียนเครื่องหมายการค้าของผู้อื่นที่จดทะเบียนไว้แล้วในราชอาณาจักร ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 109 ส่วนความผิดฐานเลียนเครื่องหมายการค้าของผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 274 นั้น เมื่อมาตรา 3 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ให้ใช้ มาตรา 109 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวแทนบทบัญญัติในส่วนที่เกี่ยวกับการเลียนเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนภายในราชอาณาจักรตามมาตรา 274 แห่งประมวลกฎหมายอาญาแล้ว จึงไม่จำต้องวินิจฉัยความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 274 อีก สำหรับความผิดฐานเอาชื่อ รูป รอยประดิษฐ์ หรือข้อความใด ๆ ในการประกอบการค้าของผู้อื่นมาใช้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 272 (1) นั้น เห็นว่า การกระทำที่จะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 272 (1) นั้น จะต้องได้ความว่า ผู้กระทำมีเจตนาพิเศษในการเอาชื่อ รูป รอยประดิษฐ์ หรือข้อความใด ๆ ในการประกอบการค้าของผู้อื่นมาใช้ หรือทำให้ปรากฏที่สินค้า หีบ ห่อ เพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นสินค้าหรือการค้าของผู้อื่น แต่ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติแล้วว่า เดิมโจทก์อนุญาตให้จำเลยที่ 1 ซึ่งมีจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าโดยใช้เครื่องหมายการค้าและชื่อทางการค้าคำว่า Q-MATICการที่จำเลยทั้งสองใช้คำดังกล่าวในการประกอบการค้าของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการใช้ตามสิทธิที่จำเลยทั้งสองได้รับอนุญาตจากโจทก์ ไม่ใช่เป็นการกระทำอันมีลักษณะเป็นการเอาชื่อ รูป หรือรอยประดิษฐ์ในการประกอบการค้าคำว่า Q-MATIC ของโจทก์ไปใช้กับการประกอบการค้าของจำเลยที่ 1 โดยไม่มีสิทธิหรือโดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ โดยมีเจตนาพิเศษเพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นสินค้าหรือการค้าของโจทก์แต่อย่างใด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติต่อไปว่า จำเลยที่ 1 จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลโดยใช้ตราประทับดังที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งมีคำว่า Q-MATIC ประกอบอยู่ด้วย ตั้งแต่ก่อนที่โจทก์จะจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของตนในราชอาณาจักรหรืออนุญาตให้จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าของโจทก์ในราชอาณาจักรแล้ว ย่อมแสดงให้เห็นว่า จำเลยที่ 1 ดำเนินกิจการโดยแสดงออกว่าเป็นสินค้าและการค้าของจำเลยที่ 1 เองมาโดยตลอด หาได้มีเจตนาพิเศษเพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นสินค้าหรือการค้าของโจทก์แต่อย่างใด แม้ต่อมาโจทก์จะได้แจ้งยกเลิกการอนุญาตให้จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าของโจทก์ และไม่ประสงค์จะให้จำเลยที่ 1 ใช้คำว่า Q-MATIC ประกอบการค้าของจำเลยที่ 1 ต่อไป หากจำเลยทั้งสองยังคงใช้คำดังกล่าวต่อไปอีกก็ย่อมเป็นเพียงความรับผิดทางแพ่งของจำเลยทั้งสอง หากมี ทั้งการที่จำเลยที่ 1 ใช้ตราประทับตามที่จดทะเบียนนิติบุคคลโดยใช้ชื่อและตราประทับที่ประกอบด้วยคำว่า Q-MATIC มาก่อนที่โจทก์จะอนุญาตให้จำเลยที่ 1 เป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าของโจทก์ในราชอาณาจักรนั้นก็ยังมีข้อโต้แย้งอยู่ว่า โจทก์มีสิทธิห้ามจำเลยที่ 1 ใช้ดังกล่าวในการประกอบการค้าของจำเลยที่ 1 หรือไม่ การกระทำของจำเลยทั้งสองยังไม่มีเจตนาอันเป็นองค์ประกอบของการกระทำความผิดทางอาญาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 272 (1) และเมื่อการกระทำของจำเลยทั้งสองไม่เป็นความผิดอาญาทั้งสองฐานความผิดที่โจทก์ฟ้อง โจทก์จึงไม่อาจขอให้บังคับจำเลยทั้งสองตามคำขอทางแพ่งท้ายคำฟ้อง ซึ่งเป็นคำขอที่เป็นผลต่อเนื่องจากความผิดอาญาที่โจทก์ฟ้อง ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”

          พิพากษายืน.

 

( ประจวบ พัชนีรัตนกรณ์ - อร่าม เสนามนตรี - ธนพจน์ อารยลักษณ์ )




 

Create Date : 03 สิงหาคม 2557    
Last Update : 3 สิงหาคม 2557 20:55:34 น.
Counter : 2560 Pageviews.  

ความคาบเกี่ยวลิขสิทธิ์กับเครื่องหมายการค้า(Big)

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6270/2554

โซซิเอเต้ บิค

     โจทก์

ห้างหุ้นส่วนจำกัดบิ๊กเทรดดิ้ง กับพวก

     จำเลย

พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4, 6, 8

พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 6, 7, 13

พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 และ พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มีความมุ่งหมายให้ความคุ้มครองแก่เจ้าของลิขสิทธิ์และเจ้าของเครื่องหมายการค้าแยกต่างห่างจากกันโดยชัดเจน โดยเฉพาะกรณีลิขสิทธิ์นั้น งานอันจะมีลิขสิทธิ์ได้ต้องเกิดจากการที่ผู้สร้างสรรค์ได้สร้างสรรค์งานประเภทใดประเภทหนึ่งที่กฎหมายให้ความคุ้มครองเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามบทบัญญัติของมาตรา 8 ประกอบมาตรา 6 และคำนิยาม “ผู้สร้างสรรค์” ตามมาตรา 4 อันหมายถึงผู้สร้างสรรค์จะต้องใช้ความคิดและการกระทำให้เกิดงานขึ้นโดยมุ่งหมายให้เกิดผลงานอันมีลักษณะเป็นงานสร้างสรรค์ที่จัดได้ว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ ซึ่งตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏได้ความว่าโจทก์ใช้รูปเด็กศีรษะโตอย่างเครื่องหมายการค้า โดยเดิมโจทก์ผลิตสินค้าปากกาลูกลื่นออกจำหน่ายและต่อมาได้ว่าจ้าง ร. ออกแบบภาพประดิษฐ์รูปเด็กศีรษะโตเพื่อใช้กับสินค้าปากกาลูกลื่นและผลิตภัณฑ์แบบต่างๆ ของโจทก์ออกจำหน่ายจนเป็นที่รู้จักแพร่หลาย ส่อแสดงว่าโจทก์ประสงค์จะให้ ร. ออกแบบภาพประดิษฐ์นี้เพื่อใช้เป็นเครื่องหมายการค้า โดยภาพที่เป็นรูปเด็กดังกล่าวก็มีลักษณะเป็นรูปทรงกลมทำนองเดียวกับหัวปากกาลูนลื่น ทั้งมีรูปปากกาลูกลื่นปรากฏประกอบกับรูปเด็กด้วย จึงเป็นข้อเท็จจริงที่แสดงว่าผู้ออกแบบได้ออกแบบรูปนี้ตามวัตถุประสงค์ของโจทก์ให้เป็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์ จึงไม่ใช่การสร้างสรรค์เพื่อให้เกิดงานสร้างประเภทศิลปกรรมอันมีลิขสิทธิ์แต่อย่างใด ย่อมถือไม่ได้ว่าโจทก์มีลิขสิทธิ์ในภาพประดิษฐ์รูปเด็กศีรษะโต อันจะได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537

          เครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นรูปเด็กผู้ชายมีศีรษะกลมโต สวมเสื้อ กางเกงขาสั้น ใส่รองเท้า แขนสองข้างวางแนบลำตัว ยืนตัวตรงขาชิดกัน และมีปากกายาวเรียวบางพาดเฉียงด้านหลังจากซ้ายไปขวา ประกอบกับคำว่า BIC ส่วนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ 1 เป็นรูปคนประดิษฐ์มีรูปมีดโกนพาดเฉียงด้านหลังจากซ้ายไปขวา และมีคำว่า Razor King Sensitive Skin Shaver มีรูปมงกุฎอยู่บนตัวอักษร Z เครื่องหมายการค้าทั้งสองจึงมีส่วนคล้ายกันบ้างก็เฉพาะรูปเด็กประดิษฐ์หรือคนประดิษฐ์เท่านั้น นอกนั้นแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง ทั้งรูปเด็กหรือคนประดิษฐ์ก็มีลักษณะนำมาจากรูปร่างของคนอันเป็นสิ่งที่ควรใช้กันได้ทั่วไป ไม่ใช่ให้คนใดคนหนึ่งหวงกันใช้แต่เพียงผู้เดียว เพียงแต่ผู้นำมาใช้ภายหลังต้องทำให้เห็นส่วนแตกต่างให้สังเกตเห็นได้ว่าเป็นเครื่องหมายการค้าต่างเจ้าของกันโดยไม่สับสนหลงผิด ซึ่งข้อเท็จจริงที่ปรากฏดังกล่าวประกอบรายละเอียดอื่นและภาพเครื่องหมายการค้าทั้งสองโดยภาพรวมแล้ว มีความแตกต่างเพียงพอให้สังเกตได้ เมื่อนำสินค้าของโจทก์และสินค้าของจำเลยที่ 1 ไปวางรวมกันแล้ว ไม่ทำให้สาธารณชนสับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า จำเลยทั้งสองจึงไม่ได้ละเมิดสิทธิในเครื่องหมายการค้าของโจทก์

________________________________

( ประจวบ พัชนีรัตนกรณ์ - อร่าม เสนามนตรี - ธนพจน์ อารยลักษณ์ )

ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง - นายจำลอง สุขศิริ




 

Create Date : 21 กรกฎาคม 2556    
Last Update : 21 กรกฎาคม 2556 17:13:08 น.
Counter : 1537 Pageviews.  

ละเมิดลิขสิทธิ์เพลงเด็กดอยใจดี

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9602/2554

นายวีระศักดิ์ ขุขันธิน

     โจทก์

บริษัทป่องทรัพย์ จำกัด (มหาชน) กับพวก

     จำเลย

ป.พ.พ. มาตรา 5, 1272

ป.วิ.พ. มาตรา 177 วรรคสอง

พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4, 15, 18, 27(1), 31(1), 64, 75

พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26

การฟ้องเรียกหนี้สินที่บริษัทจำเลยที่ 2 หรือผู้ชำระบัญชีเป็นลูกหนี้ ป.พ.พ. มาตรา 1272 ห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้นกำหนด 2 ปี นับแต่วันถึงที่สุดแห่งการชำระบัญชี โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 ซึ่งนายทะเบียนได้จดทะเบียนเลิกบริษัทจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2547 และจดทะเบียนเสร็จการชำระบัญชีเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2548 เป็นคดีนี้เมื่อวันที่ 13ตุลาคม 2549 จึงไม่เกิน 2 ปี นับแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2548 อันเป็นวันถึงที่สุดแห่งการชำระบัญชี โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2

พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4 ให้ความหมายของคำว่า ดนตรีกรรม ว่า งานเกี่ยวกับเพลงที่แต่งขึ้นเพื่อบรรเลงหรือขับร้องไม่ว่าจะมีทำนองและคำร้องหรือทำนองอย่างเดียวและให้หมายความรวมถึงโน้ตเพลงหรือแผนภูมิเพลงที่ได้แยกและเรียบเรียงเสียงประสานไว้แล้ว ดังนั้น งานดนตรีกรรมที่จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายลิขสิทธิ์ จึงต้องมีทำนองเพลงเป็นสำคัญ จะมีคำร้องหรือไม่ ไม่ใช่ข้อสำคัญ ลำพังเพียงทำนองเพลงอย่างเดียวก็ถือว่าเป็นงานดนตรีกรรมแล้ว โดยไม่นำคุณค่าของงานดนตรีกรรมมาเป็นเงื่อนไขแห่งการคุ้มครองลิขสิทธิ์ เพราะหากผู้แต่งเพลงได้ริเริ่มสร้างสรรค์งานเพลงนั้นขึ้นเองด้วยความวิริยะอุตสาหะโดยมิได้ทำซ้ำหรือดัดแปลงจากงานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาตแล้ว ไม่ว่างานเพลงที่แต่งขึ้นนั้นจะเป็นที่นิยมของผู้ฟังเพียงใดหรือไม่ หรือผู้แต่งเพลงนั้นอาจขายลิขสิทธิ์ในเพลงนั้นให้แก่ผู้ใดได้เพียงใดหรือไม่ก็ตาม งานเพลงนั้นก็ได้รับความคุ้มครองทันทีที่สร้างสรรค์งานเพลงนั้นเสร็จ เมื่อโจทก์เป็นผู้สร้างสรรค์งานเพลงโดยเป็นผู้แต่งทั้งคำร้องและทำนองเพลงหนุ่มดอย งานเพลงหนุ่มดอยของโจทก์ย่อมเป็นงานดนตรีกรรมอันมีลิขสิทธิ์และได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 การใช้สิทธิป้องกันลิขสิทธิ์และเรียกร้องค่าเสียหายจากผู้กระทำละเมิดลิขสิทธิ์เพลงหนุ่มดอยของโจทก์เป็นการใช้สิทธิที่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมาย การฟ้องคดีนี้ของโจทก์จึงมิใช่การใช้สิทธิโดยไม่สุจริต

          โจทก์เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานดนตรีกรรมโดยเป็นผู้สร้างสรรค์ทั้งคำร้องและทำนองเพลงชื่อเพลง “หนุ่มดอย” ซึ่งเพลงหนุ่มดอยของโจทก์มีคำร้องและทำนองในท่อนสร้อยว่า “ผม ผม ผม ผม ผม ผมเอาแครอตมาฝาก อยาก อยาก อยาก อยาก อยาก อยากให้เธอได้กิน กิน กิน กิน แครอต ร่างกาย ๆ แข็งแรง แก้มของเธอจะแดง แดงเหมือนสีแครอต” ซึ่งการเปิดครั้งหนึ่งจะต้องเล่นท่อนสร้อยดังกล่าวซ้ำจำนวน 4 ครั้ง ตอนท้ายของเพลงจะเล่นซ้ำท่อนสร้อยเฉพาะข้อความว่า “แก้มของเธอจะแดง แดงเหมือนสีแครอต” เพิ่มอีกหนึ่งครั้ง และในตอนท้ายของท่อนสร้อยจะมีคำร้องและทำนองคำว่า “ลา ลันลา” ต่อท้ายทุกครั้ง ส่วนเพลง “เด็กดอยใจดี” ของจำเลยทั้งสามที่จำเลยที่ 3 ประพันธ์ขึ้นใหม่ มีคำร้องและทำนองในท่อนสร้อยว่า ผมเอาแครอตมาฝาก อยากให้เธอได้กิน ผักมีวิตามิน ไม่ต้องกินของแพง ผมเอาแครอตมาฝาก อยากให้เธอแข็งแรง แก้มของเธอจะแดง แดงเหมือนสีแครอต ลา... ลันลา ลันลา ลัน ลัน ลันลา ลันลา ลันลา” และในการเปิดเพลงเด็กดอยใจดี 1 ครั้ง จะต้องเล่นท่อนสร้อยดังกล่าวซ้ำจำนวน 3 ครั้ง และในตอนท้ายของท่อนสร้อยจะมีคำร้องและทำนองคำว่า “ลา ลันลา” ต่อท้ายทุกครั้ง ซึ่งการมีทำนองและคำร้องท่อนสร้อยจำนวน 3 ถึง 4 ครั้ง ย่อมทำให้ผู้ฟังจดจำเพลงดังกล่าวได้ง่ายจากท่อนสร้อย คำร้องและทำนองในท่อนสร้อยหรือท่อนฮุกของเพลงหนุ่มดอยและเพลงเด็กดอยใจดีจึงเป็นสาระสำคัญของเพลง เมื่อเพลงเด็กดอยใจดีมีเนื้อร้องคำว่า “แก้มของเธอจะแดง แดงเหมือนสีแครอต” ในท่อนสร้อยและคำว่า “ลา ลันลา” ในตอนท้ายเช่นเดียวกับเพลงหนุ่มดอยของโจทก์และจำเลยทั้งสามมิได้ให้การปฏิเสธว่าการแต่งทำนองเพลงท่อนสร้อยของเพลงเด็กดอยใจดีมิได้เลียนแบบและมิได้ทำซ้ำโดยปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมในส่วนอันเป็นสาระสำคัญของทำนองเพลงหนุ่มดอยของโจทก์ ข้อเท็จจริงย่อมรับฟังได้ว่าการประพันธ์เพลงเด็กดอยใจดีของจำเลยที่ 3 เป็นการทำซ้ำและดัดแปลงด้วยการเลียนแบบและปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมในส่วนอันเป็นสาระสำคัญของทำนองเพลงหนุ่มดอยของโจทก์โดยไม่มีลักษณะเป็นการจัดทำงานขึ้นใหม่ จึงเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ในงานดนตรีกรรมอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 27 (1)

จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นผู้มีลิขสิทธิ์และผู้จัดจำหน่ายอัลบัมเพลงที่ประกอบด้วยเพลงเด็กดอยใจดีโดยว่าจ้างให้จำเลยที่ 3 เป็นผู้แต่งคำร้องและทำนอง จำเลยที่ 1 ประกอบกิจการผลิตสิ่งบันทึกเสียงและแถบบันทึกภาพ จัดจำหน่าย ให้เช่า แลกเปลี่ยนซึ่งเทปหรือวัสดุโทรทัศน์ ดนตรีกรรม โสตทัศนวัสดุ ภาพยนตร์ รวมทั้งงานอื่นใดอันมีลิขสิทธิ์ ส่วนจำเลยที่ 2 ประกอบกิจการจัดสร้างและจำหน่ายภาพยนตร์ ละคร เนื้อร้องทำนองแพร่ภาพแพร่เสียงแทนผู้ผลิตในสื่อต่าง ๆ แก่บุคคลหรือนิติบุคคลทั่วไป และเป็นบริษัทในเครือของบริษัทจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 และที่ 2 ย่อมรู้จักเพลงหนุ่มดอยของโจทก์และทราบว่าจำเลยที่ 3 ร่วมแต่งคำร้องในเพลงหนุ่มดอยกับโจทก์ และทราบเป็นอย่างดีว่าเพลงหนุ่มดอยของโจทก์ไม่ประสบผลสำเร็จด้านการตลาด จึงต้องการให้จำเลยที่ 3 ช่วยแก้ไขปรับปรุงเพลงหนุ่มดอยให้เป็นเพลงเด็กดอยใจดีและให้เด็กหญิง ช. ขับร้อง แล้วจัดทำเป็นซีดีออกจำหน่ายจนประสบผลสำเร็จในด้านการตลาด พฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีลักษณะเป็นการร่วมกันก่อให้จำเลยที่ 3 กระทำการละเมิดลิขสิทธิ์งานเพลงหนุ่มดอยของโจทก์ ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 3 ทำซ้ำและดัดแปลงเพลงหนุ่มดอยซึ่งเป็นงานดนตรีกรรมอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์โดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ และการที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันผลิตออกจำหน่ายซีดีเพลงและวีซีดีคาราโอเกะดังกล่าวจึงเป็นการทำซ้ำและนำสิ่งบันทึกเสียงและภาพยนตร์ที่ทำซ้ำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ออกขายตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 27 (1)และ 31 (1) ต้องร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายในฐานละเมิดลิขสิทธิ์ต่อโจทก์

          โจทก์บรรยายฟ้องว่าโจทก์ได้รับความเสียหายด้านชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น เกลียดชังด้วยข้อความต่าง ๆ เนื่องจากประชาชนสับสนหลงผิดว่าเป็นเพลงของผู้ใดระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 3 เป็นความเสียหายในเชิงการประกอบธุรกิจจากการขาดประโยชน์อันควรได้จากงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์และต้องเสียค่าใช้จ่ายอันจำเป็นในการบังคับตามสิทธิของโจทก์ ซึ่งความเสียหายด้านชื่อเสียงตามฟ้องดังกล่าวนั้น ไม่ใช่ความเสียหายที่โจทก์จะเรียกร้องได้ในกรณีที่มีการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ เพราะค่าเสียหายต่อชื่อเสียงในกรณีนี้มีได้เฉพาะกรณีที่ผู้กระทำละเมิดได้บิดเบือน ตัดทอน ดัดแปลงหรือกระทำอื่นใดแก่งานอันมีลิขสิทธิ์จนเกิดความเสียหายต่อชื่อเสียงหรือเกียรติคุณของผู้สร้างสรรค์ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537มาตรา 18 เท่านั้น ส่วนค่าใช้จ่ายอันจำเป็นในการบังคับตามสิทธินั้น พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 บัญญัติให้ศาลมีอำนาจสั่งให้ผู้ละเมิดชดใช้ค่าเสียหายแก่เจ้าของลิขสิทธิ์ตามจำนวนที่เห็นสมควร รวมทั้งการสูญเสียประโยชน์และค่าใช้จ่ายอันจำเป็นในการบังคับตามสิทธิของเจ้าของลิขสิทธิ์โดยมีเจตนารมณ์จะเยียวยาความเสียหายแก่เจ้าของลิขสิทธิ์ให้ได้กลับคืนสู่ฐานะที่เป็นอยู่เดิมก่อนมีการละเมิดลิขสิทธิ์ มิได้ให้สิทธิแก่เจ้าของลิขสิทธิ์ที่จะเรียกร้องเอาค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจริงเนื่องจากการละเมิดลิขสิทธิ์โดยตรงเท่านั้น ดังนี้ ค่าใช้จ่ายในการบอกกล่าวทวงถามให้จำเลยทั้สามชดใช้ค่าเสียหาย ค่าจ้างทนายความและว่าความแทนโจทก์ในการฟ้องบังคับให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายสำหรับการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์และค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีนี้ จึงเป็นค่าใช้จ่ายอันจำเป็นในการบังคับตามสิทธิของโจทก์ในความหมายของมาตรานี้

          เจ้าของลิขสิทธิ์ในงานดนตรีกรรม มีสิทธิแต่เพียงผู้เดียวในการทำซ้ำหรือดัดแปลง เผยแพร่ต่อสาธารณชนและอนุญาตให้ผู้อื่นใช้สิทธิตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา15 ย่อมทำให้เจ้าของลิขสิทธิ์มีโอกาสแสวงหาผลประโยชน์ตอบแทนในงานดังกล่าวได้อย่างกว้างขวาง การที่จำเลยทั้งสามกระทำละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ด้วยการทำซ้ำและดัดแปลงงานดนตรีกรรมของโจทก์เพื่อแสวงหากำไรจากการขายซีดีและวีซีดีซึ่งมีเพลงที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์และได้กำไรจากการอนุญาตให้ผู้อื่นนำเพลงไปให้บริการริงก์โทนแก่บุคคลทั่วไปเป็นผลประโยชน์ที่จำเลยได้รับจากการละเมิดลิขสิทธิ์ โดยจำเลยทั้งสามไม่ต้องจ่ายเงินค่าแห่งลิขสิทธิ์ในการขออนุญาตใช้ลิขสิทธิ์แก่โจทก์ และไม่ต้องแบ่งผลกำไรที่ได้รับให้แก่โจทก์ ถือเป็นการแสวงหากำไรจากการกระทำที่ผิดกฎหมายโดยไม่สุจริต มีผลเสียหายต่อการตลาดของโจทก์ ย่อมมีเหตุผลสมควรที่จะถือว่าผลประโยชน์ที่เป็นกำไรซึ่งจำเลยทั้งสามได้รับจากการละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์เป็นจำนวนค่าเสียหายที่เหมาะสมกับความเสียหายที่เกิดขึ้นเนื่องจากการที่จำเลยทั้งสามร่วมกันละเมิดลิขสิทธิ์ในเพลงหนุ่มดอยของโจทก์

          พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 ไม่ได้บัญญัติให้อำนาจโจทก์ที่จะขอคุ้มครองสิทธิของโจทก์ในลักษณะที่ให้จำเลยทั้งสามเก็บสินค้าที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ซึ่งวางจำหน่ายอยู่ในท้องตลาดทั้งหมด ในทำนองซึ่งจะมีผลหรือสภาพบังคับเช่นเดียวกับให้สิ่งที่ได้ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ตกเป็นของเจ้าของลิขสิทธิ์ตามมาตรา 75 อันเป็นบทบัญญัติในหมวด 8 ว่าด้วยบทกำหนดโทษ ซึ่งใช้เฉพาะคดีอาญา เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้เป็นคดีแพ่งโจทก์จึงไม่อาจขอให้ศาลสั่งจำเลยทั้งสามเก็บสินค้าที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ซึ่งวางจำหน่ายอยู่ในท้องตลาดได้

________________________________

( ปริญญา ดีผดุง - อร่าม เสนามนตรี - ธัชพันธ์ ประพุทธนิติสาร )

ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง - นายณัฐพล จุลละเกศ




 

Create Date : 21 กรกฎาคม 2556    
Last Update : 21 กรกฎาคม 2556 16:34:39 น.
Counter : 2016 Pageviews.  

ความผิดพลาดในการนำสืบพยานคดีเครื่องหมายการค้า

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  4561/2553

พนักงานอัยการสำนักงานอัยการสูงสุด โจทก์

นายภูมิพันธ์ตวยกระโทก หรือ วรเกียรติ์ชูกิจ จำเลย

โจทก์ฟ้องและแก้ไขฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าพ.ศ.2534 มาตรา 4, 109, 110, 115, 117ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33 และริบของกลาง

จำเลยให้การปฏิเสธ

ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้าพ.ศ.2534 มาตรา 109 ประกอบมาตรา 110ปรับ 5,000 บาท ริบของกลาง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33(1) หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29,30

จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องโจทก์หรือไม่ เห็นว่าโจทก์มีนางสาวสุดาภรณ์ผู้รับมอบอำนาจช่วงผู้เสียหายและเป็นผู้เข้าตรวจค้นร้านจำเลยเบิกความแผ่นดิสก์วัตถุพยาน ขาดลักษณะเฉพาะของสินค้าแท้ แต่เป็นความลับไม่สามารถจะเปิดเผยได้โดยลักษณะเฉพาะนี้ขาดหายไปถึง 2 ประการซึ่งลักษณะเฉพาะสามารถสังเกตได้ด้วยตาเปล่าและวัตถุพยานหากวางจำหน่ายประชาชนทั่วไปดูลักษณะแล้วจะเข้าใจว่าเป็นสินค้าซึ่งเป็นของแท้แต่พยานทราบว่าไม่ใช่สินค้าของผู้เสียหาย เพราะขาดลักษณะเฉพาะ 2 ประการ ส่วนนายชาญสิญจ์ ผู้รับมอบอำนาจผู้เสียหายเบิกความสินค้าแผ่นดิสก์ของผู้เสียหายมีลักษณะเฉพาะซึ่งเป็นความลับ 4ประการ เปิดเผยไม่ได้ แต่สามารถสังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่า วัตถุพยานมีข้อสังเกตคือ(1) กระดาษที่ปะอยู่ที่ด้านหนึ่งของแผ่นดิสก์ที่มีคำว่า โซนี่เป็นภาษาอังกฤษนี้ แถบสีที่อยู่ส่วนล่างกินพื้นที่ประมาณ 2ใน 5 โดยแถบสีที่ปรากฏอยู่แตกต่างไปจากสินค้าของผู้เสียหายและ (2) เมื่อพลิกแผ่นดิสก์ไปอีกด้านหนึ่งที่แถบล่างส่วนที่เป็นพลาสติก ไม่มีอักษรแสดงไม่มีหมายเลขกำกับถึงจำนวนสินค้าเรียงลำดับ 1 ถึงจำนวนต่างๆที่เรียกว่า serial number โดย (1) และ(2) เป็นความลับ 2 ใน 4 อย่าง และยังมีอีก 2อย่างเป็นความลับสุดยอดเปิดเผยไม่ได้ และตอบทนายจำเลยถามค้านสินค้าซึ่งเป็นของแท้มีลักษณะอย่างไรนั้นตัวแทนจำหน่ายของผู้เสียหายไม่ได้โฆษณาหรือชี้แจงให้ประชาชนทั่วไปทราบ แสดงว่าการจะสังเกตสินค้าแผ่นดิสก์ของผู้เสียหายว่าเป็นของแท้หรือของที่ผู้อื่นทำเลียนแบบจะต้องรู้จุดสังเกตเฉพาะจำนวน4 จุดซึ่งมีเฉพาะผู้ที่รู้จุดสังเกตเท่านั้นจึงจะสามารถสังเกตได้โดยเฉพาะผู้เสียหายไม่เคยโฆษณาจุดสังเกตเฉพาะทั้ง 4 จุดให้ผู้ใดทราบโดยเก็บไว้เป็นความลับเป็นการยากที่ประชาชนหรือผู้ขายทั่วไปจะรู้ได้ว่าสินค้าแผ่นดิสก์ที่นำมาจำหน่ายเป็นสินค้าที่แท้จริงของผู้เสียหายหรือมีผู้อื่นทำเลียนแบบขึ้นนอกจากนี้ นายชาญสิญจ์เบิกความตอบทนายโจทก์ถามติงแม้จะไม่เปิดเผยว่าสินค้าแผ่นดิสก์ของแท้มีลักษณะอย่างไร แต่ประชาชนทั่วไปสามารถทราบได้ว่าของที่ซื้อนั้นเป็นของแท้หรือของไม่แท้ได้เพราะราคาของแท้จะแตกต่างกับราคาของไม่แท้อยู่มากแต่ไม่ปรากฏจากทางนำสืบของโจทก์เลยว่าสินค้าแผ่นดิสก์ของแท้ของผู้เสียหายจำหน่ายในราคาเท่าไรและสินค้าแผ่นดิสก์วัตถุพยาน ที่จำเลยจำหน่ายนี้จำหน่ายในราคาเท่าไรพยานหลักฐานโจทก์เท่าที่นำสืบมายังมีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยจะรู้หรือไม่สินค้าแผ่นดิสก์ที่จำหน่ายอยู่เป็นสินค้าที่เลียนเครื่องหมายการค้าของผู้เสียหายต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้แก่จำเลยตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศพ.ศ.2539 มาตรา 45ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาลงโทษจำเลยไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศอุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น อย่างไรก็ตามเมื่อฟังได้ว่าแผ่นดิสก์ของกลางจำนวน 360 แผ่นที่จำเลยเสนอจำหน่ายมีเครื่องหมายที่เลียนเครื่องหมายการค้าของผู้เสียหายเป็นสินค้าที่ต้องริบแม้ว่าจะไม่มีผู้ถูกลงโทษในคดีนี้ก็ตามตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 115

พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์แต่ให้ริบของกลาง

(อร่าม เสนามนตรี - พลรัตน์ ประทุมทาน - พรเพชร วิชิตชลชัย )

ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง- นายพิธี อุปปาติก




 

Create Date : 13 เมษายน 2556    
Last Update : 13 เมษายน 2556 16:22:05 น.
Counter : 1081 Pageviews.  

ความคาบเกี่ยวระหว่างเครื่องหมายการค้ากับลิขสิทธิ์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่  6270/2554

พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 และพ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534มีความมุ่งหมายให้ความคุ้มครองแก่เจ้าของลิขสิทธิ์และเจ้าของเครื่องหมายการค้าแยกต่างห่างจากกันโดยชัดเจนโดยเฉพาะกรณีลิขสิทธิ์นั้น งานอันจะมีลิขสิทธิ์ได้ต้องเกิดจากการที่ผู้สร้างสรรค์ได้สร้างสรรค์งานประเภทใดประเภทหนึ่งที่กฎหมายให้ความคุ้มครองเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามบทบัญญัติของมาตรา8 ประกอบมาตรา 6 และคำนิยาม “ผู้สร้างสรรค์”ตามมาตรา 4 อันหมายถึงผู้สร้างสรรค์จะต้องใช้ความคิดและการกระทำให้เกิดงานขึ้นโดยมุ่งหมายให้เกิดผลงานอันมีลักษณะเป็นงานสร้างสรรค์ที่จัดได้ว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ซึ่งตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏได้ความว่าโจทก์ใช้รูปเด็กศีรษะโตอย่างเครื่องหมายการค้าโดยเดิมโจทก์ผลิตสินค้าปากกาลูกลื่นออกจำหน่ายและต่อมาได้ว่าจ้าง ร. ออกแบบภาพประดิษฐ์รูปเด็กศีรษะโตเพื่อใช้กับสินค้าปากกาลูกลื่นและผลิตภัณฑ์แบบต่างๆของโจทก์ออกจำหน่ายจนเป็นที่รู้จักแพร่หลาย ส่อแสดงว่าโจทก์ประสงค์จะให้ ร.ออกแบบภาพประดิษฐ์นี้เพื่อใช้เป็นเครื่องหมายการค้าโดยภาพที่เป็นรูปเด็กดังกล่าวก็มีลักษณะเป็นรูปทรงกลมทำนองเดียวกับหัวปากกาลูนลื่นทั้งมีรูปปากกาลูกลื่นปรากฏประกอบกับรูปเด็กด้วยจึงเป็นข้อเท็จจริงที่แสดงว่าผู้ออกแบบได้ออกแบบรูปนี้ตามวัตถุประสงค์ของโจทก์ให้เป็นเครื่องหมายการค้าของโจทก์จึงไม่ใช่การสร้างสรรค์เพื่อให้เกิดงานสร้างประเภทศิลปกรรมอันมีลิขสิทธิ์แต่อย่างใดย่อมถือไม่ได้ว่าโจทก์มีลิขสิทธิ์ในภาพประดิษฐ์รูปเด็กศีรษะโตอันจะได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 




 

Create Date : 13 เมษายน 2556    
Last Update : 13 เมษายน 2556 15:20:43 น.
Counter : 1780 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  

boxxcatt
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ให้ทิปเจ้าของ Blog [?]
ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 17 คน [?]




New Comments
Friends' blogs
[Add boxxcatt's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.