Group Blog
 
All Blogs
 

งานอันมีลิขสิทธิ์นำมาจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้ ไม่ทำให้สิ้นสิทธิงานเดิม

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4588/2552


เมอร์ซิส บี.วี.


โจทก์

กรมทรัพย์สินทางปัญญา


จำเลย



พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 6, 8, 16



การนำงานอันมีลิขสิทธิ์ของบุคคลอื่นมาใช้เป็นเครื่องหมายการค้า แม้จะไม่ปรากฏข้อห้ามในกฎหมายว่าด้วยเครื่องหมายการค้าโดยตรง แต่ พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 8 (9) ห้ามมิให้รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือรัฐประศาสโนบายเมื่อเจตนารมณ์ของกฎหมายว่าด้วยลิขสิทธิ์ต้องการที่จะให้ความคุ้มครองแก่เจ้าของลิขสิทธิ์ และเจตนารมณ์ของกฎหมายว่าด้วยเครื่องหมายการค้าก็มุ่งที่จะให้ความคุ้มครองแก่บุคคลผู้กระทำการโดยสุจริตเป็นสำคัญ ดังนั้น การที่บุคคลใดทำซ้ำหรือดัดแปลงงานอันมีลิขสิทธิ์ของบุคคอื่นโดยวิธีใดๆ อันไม่สุจริต และนำไปใช้เป็นเครื่องหมายการค้าของตน ย่อมเป็นการขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมายและขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือรัฐประศาสโนบายนั่นเอง เครื่องหมายการค้าที่ขอจดทะเบียนจึงมีหรือประกอบด้วยลักษณะอันต้องห้ามไม่ให้รับจดทะเบียนตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 8 (9) และไม่อาจรับจดทะเบียนได้ตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 6 ประกอบมาตรา 16



________________________________



โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้า “รูปภาพกระต่าย NIJNTJE” ทะเบียนเลขที่ ค98118 ซึ่งได้รับจดทะเบียนเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2541 จำพวกสินค้า 25 รายการสินค้า ชุดเสื้อผ้าเด็ก ชุดเด็กอ่อน กางเกงขายาว กางเกงขาสั้น กางเกง (ไม่รวมกางเกงชั้นใน กางเกงกีฬา) ฯลฯ ต่อมานายทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้ประกาศโฆษณาเครื่องหมายการค้า “OJOSUN และรูปภาพกระต่ายยืนอยู่บนหลังช้าง” จำพวกสินค้า 25 รายการสินค้า เสื้อ เสื้อกีฬา ยกเว้นเสื้อชั้นใน กางเกง กางเกงกีฬา ยกเว้นกางเกงชั้นใน คำขอเลขที่449331 ของนายณรงค์กฤษณ์ ผู้ขอจดทะเบียน โจทก์ยื่นคำคัดค้าน ผู้ขอจดทะเบียนได้ยื่นคำโต้แย้งคัดค้าน นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าวินิจฉัยให้ยกคำคัดค้านของโจทก์ และดำเนินการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าของผู้ขอจดทะเบียนต่อไป โจทก์อุทธรณ์คำวินิจฉัยดังกล่าว แต่คณะกรรมการเครื่องหมายการค้าวินิจฉัยยืนตามคำวินิจฉัยของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า คำวินิจฉัยของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะเครื่องหมายการค้าที่ขอจดทะเบียนนี้มีความเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ทั้งในส่วนประกอบหลักและสาระสำคัญในตัวเครื่องหมายคือ “รูปกระต่าย” รวมทั้งเสียงเรียกขานของเครื่องหมายการค้าก็เหมือนหรือคล้ายกันคือเรียกว่า “ตรากระต่าย” เช่นกัน มิได้เรียกขานว่า “โอโจซัน กระต่ายยืนบนหลังช้างหรือกระต่ายบนหลังช้าง” ตามที่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าวินิจฉัย เมื่อจำพวกสินค้าและรายการสินค้าต่างก็มีลักษณะอย่างเดียวกัน โอกาสที่สาธารณชนจะสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าจึงเกิดขึ้นได้ เครื่องหมายการค้าของโจทก์เป็นเครื่องหมายที่มีชื่อเสียงแพร่หลายและเป็นที่รู้จักอย่างดีในหมู่ผู้บริโภคทั่วโลกสำหรับสินค้าประเภทเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม ซึ่งได้รับการจดทะเบียนไว้ทั่วโลก นอกจากนี้เครื่องหมายการค้าที่ขอจดทะเบียนยังคล้ายกับงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ด้วยเพราะ “รูปภาพกระต่าย NIJNTJE” ของโจทก์เป็นส่วนหนึ่งของงานอันมีลิขสิทธิ์รูปภาพกระต่ายยืนอยู่บนหลังช้างเรียงกัน

สามเชือก ที่โจทก์เป็นผู้คิดค้นและออกแบบ โดยได้ขึ้นทะเบียนลิขสิทธิ์ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ตั้งแต่วันที่ 26 พฤศจิกายน 2529 โจทก์จึงเป็นผู้มีสิทธิแต่ผู้เดียวในรูปภาพดังกล่าว และมีสิทธินำรูปภาพนั้นมาจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้ คำวินิจฉัยของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าไม่ชอบด้วยกฎหมายทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าและให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าปฏิเสธไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำขอเลขที่ 449331

จำเลยให้การว่า เครื่องหมายการค้าที่ขอจดทะเบียนไม่เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายของโจทก์ โดยมีรูปลักษณะแตกต่างกันอย่างชัดเจน เสียงเรียกขานก็แตกต่างกันไม่ทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของและแหล่งกำเนิดของสินค้า ลิขสิทธิ์ แม้จะเป็นทรัพย์สินทางปัญญาประเภทหนึ่ง แต่มิใช่เครื่องหมายการค้าโจทก์ไม่อาจอ้างเพื่อเป็นเหตุให้ระงับการจดทะเบียนของผู้ขอจดทะเบียนได้ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่ 262/2545 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ 783/2547 ที่ให้ดำเนินการเกี่ยวกับคำขอเลขที่ 449331 ของผู้ขอจดทะเบียนนั้นต่อไปเสีย ส่วนคำขออื่น

ให้ยก กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความเป็นเงิน 3,000 บาท

จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว คดีมีข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติในเบื้องต้นตามที่คู่ความไม่โต้แย้งกันว่า โจทก์เป็นเจ้าของอันมีลิขสิทธิ์ประเภทจิตรกรรม เป็นรูปกระต่ายยืนบนหลังช้าง ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.4 และโจทก์เป็นเจ้าของ

เครื่องหมายการค้า ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.10 ส่วนเครื่องหมายการค้าที่ขอจดทะเบียน

ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.9 เครื่องหมายการค้าทั้งสองเครื่องหมายมีรูปกระต่ายเป็นภาคส่วนของเครื่องหมายการค้าและจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเพื่อใช้กับสินค้าจำพวก 25 เหมือนกัน มีปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยซึ่งศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นควรหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเป็นประการแรกว่า เครื่องหมายการค้าที่ขอจดทะเบียนนี้เป็นเครื่องหมายการค้าที่อาจรับจดทะเบียนตามกฎหมายได้หรือไม่ โดยจำเลยอุทธรณ์ในข้อ 2 (ค) ทำนองว่า รูปลักษณะของเครื่องหมายการค้าที่ขอจดทะเบียนแตกต่างจากงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ นอกจากนี้ โจทก์ไม่อาจอ้างงานอันมีลิขสิทธิ์ของตนเป็นเหตุให้ระงับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าได้ เห็นว่า โจทก์ฟ้องและกล่าวอ้างมาโดยตลอดในทำนองว่าเครื่องหมายการค้าที่ขอจดทะเบียนเป็นการทำซ้ำหรือดัดแปลงงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ ปรากฏตามเอกสารหมาย จ.13 และ จ.16 ซึ่งเมื่อพิจารณาเปรียบเทียบระหว่างงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ เอกสารหมาย จ.4 กับเครื่องหมายการค้าที่ขอจดทะเบียน เอกสารหมาย จ.9 แล้ว งานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์เป็นรูปภาพกระต่ายยืนอยู่บนหลังช้าง ซึ่งยืนเรียงกันสามเชือก ส่วนเครื่องหมายการค้าที่ขดจดทะเบียนเป็นรูปกระต่ายยืนอยู่บนหลังช้าง มีกรอบสีทึบล้อมรอบรูปกระต่ายยืนบนหลังช้าง และมีอักษรโรมันคำว่า OJOSUN ล้อมรอบสลับกับขีดเส้นไขว้สามช่องล้อมเป็นวงกลมเป็นภาคส่วนประกอบด้วย แต่รูปกระต่ายยืนบนหลังช้างอยู่กึ่งกลางของเครื่องหมาย มองเห็นได้เด่นชัดกว่าภาคส่วนอื่น ถือว่ารูปกระต่ายยืนบนหลังช้างเป็นภาคส่วนสำคัญของเครื่องหมายการค้าดังกล่าว งานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์กับส่วนที่เป็นสาระสำคัญของเครื่องหมายการค้าที่ขอจดทะเบียนคือ ตัวกระต่ายกับช้างนั้นมีลักษณะที่เหมือนกันมาก โดยตัวกระต่ายจะหันหน้าตรง รูปหน้าทรงกลม มีตาเป็นจุด ปากเป็นเส้นทแยงมุม 2 เส้นตัดกัน ใบหูยาวตั้งตรงปลายมน ไม่ปรากฏแขนซ้ายขวา และเท้าที่ปรากฏ 2 ข้าง ไม่มีนิ้วเท้า ส่วนช้างหันศีรษะไปทางซ้าย ลำตัวมีลักษณะเป็นเส้นโค้ง มีตาเป็นจุด ใบหูเป็นเส้นโค้ง ไม่ปรากฏว่าเครื่องหมายการค้าที่ขอจดทะเบียนดังกล่าวคิดค้นขึ้นมาได้เช่นใด และเหตุใดจึงมีความใกล้เคียงกับงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ได้ ทั้งๆ ที่งานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์เป็นรูปการ์ตูนตัวกระต่ายกับช้างประกอบกันถึง 2 ตัว และมีลักษณะพิเศษเฉพาะ แตกต่างจากกระต่ายและช้างในลักษณะของสัตว์ที่มีอยู่ตามธรรมชาติโดยทั่วไป ไม่น่าจะมีการคิดสร้างรูปการ์ตูนกระต่ายที่ยืนบนหลังช้างขึ้นมาเหมือนกันได้โดยบังเอิญเช่นนี้ อุทธรณ์ของจำเลยที่ว่า เครื่องหมายการค้าที่ขอจดทะเบียนทั้งเครื่องหมายแตกต่างจากงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ จึงไม่อาจรับฟังได้สำหรับอุทธรณ์ของจำเลยที่ว่า โจทก์ไม่สามารถอ้างงานอันมีลิขสิทธิ์ขอนตนมาเป็นเหตุให้ระงับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้านั้น เห็นว่า การนำงานอันมีลิขสิทธิ์ของบุคคลอื่นมาใช้เป็นเครื่องหมายการค้าเช่นนี้ แม้จะไม่ปรากฏข้อห้ามในกฎหมายว่าด้วยเครื่องหมายการค้าโดยตรง แต่พระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 8 ได้บัญญัติห้ามมิให้รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่มีหรือประด้วยลักษณะดังนี้.... (9) เครื่องหมายที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนหรือรัฐประศาสโนบาย เมื่อเจตนารมณ์ของกฎหมายว่าด้วยลิขสิทธิ์ต้องการที่จะให้ความคุ้มครองแก่เจ้าของลิขสิทธิ์ และเจตนารมณ์ของกฎหมายว่าด้วยเครื่องหมายการค้าก็มุ่งที่จะให้ความคุ้มครองแก่บุคคลผู้กระทำการโดยสุจริตเป็นสำคัญ ดังนั้น การที่บุคคลใดทำซ้ำหรือดัดแปลงงานอันมีลิขสิทธิ์ของบุคคลอื่นโดยวิธีใดๆ อันไม่สุจริต และนำไปใช้เป็นเครื่องหมายการค้าของตนเช่นนี้ ย่อมเป็นการขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมาย และขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือรัฐประศาสโนบายนั่นเอง เครื่องหมายการค้าที่ขอจดทะเบียนนี้จึงมีหรือประกอบด้วยลักษณะอันต้องห้ามไม่ให้รับจดทะเบียนตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 8 (9) และไม่อาจรับจดทะเบียนได้ตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 6 ประกอบมาตรา 16 ดังนั้น ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้ามานั้นจึงชอบแล้ว ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ข้ออื่นของจำเลยอีกต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง”

พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ





( บุญรอด ตันประเสริฐ - พลรัตน์ ประทุมทาน - รัตน กองแก้ว )






 

Create Date : 05 ตุลาคม 2554    
Last Update : 5 ตุลาคม 2554 18:15:30 น.
Counter : 1706 Pageviews.  

เอกสารประชาสัมพันธ์ยังไม่ถือว่าเป็นงานสร้างสรรค์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2610/2553


บริษัทบิสซิเนส คอนซัลแทนท์ เซ็นเตอร์ จำกัด


โจทก์

นายคำรณ เรืองดิษฐ์ กับพวก


จำเลย



ป.อ. มาตรา 272(1)

พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4



เอกสารประชาสัมพันธ์เป็นการเชิญชวนให้ลูกค้าของโจทก์เข้าร่วมสัมมนาที่โจทก์จัดขึ้น องค์ประกอบสำคัญของเอกสารประชาสัมพันธ์การอบรมสัมมนาดังกล่าว ไม่ว่าผู้ใดจัดอบรมสัมมนาก็ต้องระบุชื่อผู้จัดการอบรม ชื่อหลักสูตร หัวข้อการอบรม ชื่อวิทยากร อัตราค่าอบรม วัน เวลา สถานที่อบรม เพื่อเป็นข้อมูลให้ลูกค้าใช้ประกอบการตัดสินใจว่าจะอบรมหรือไม่ ซึ่งล้วนเป็นรายละเอียดที่จำต้องระบุไว้ในเอกสารประชาสัมพันธ์ทั่วไป ดังนั้น ชื่อหรือหัวข้อหลักสูตรการสัมมนาตามเอกสารประชาสัมพันธ์ของผู้จัดแต่ละสถาบันจึงอาจซ้ำกันได้ เมื่อพิจารณาเอกสารประชาสัมพันธ์ของโจทก์แล้ว ส่วนที่สำคัญที่เป็นสาระคือหัวข้อสัมมนาหรืออบรม ซึ่งแม้จะมีการรวบรวมข้อมูลจัดลำดับเกี่ยวกับทางบัญชีและกฎหมายเกี่ยวกับภาษีอากร ก็เป็นเพียงเนื้อหาบางส่วนของชื่อหัวข้อซึ่งอาจจะซ้ำกับคนอื่นได้ เอกสารประชาสัมพันธ์ของโจทก์ดังกล่าว จึงยังไม่ถึงกับเป็นการใช้ความรู้ความสามารถ สติปัญญาวิริยะอุตสาหะที่เพียงพอถึงขนาดที่จะถือว่าเป็นการริเริ่มสร้างสรรค์งานนิพนธ์อันเป็นวรรณกรรมที่จะได้รับความคุ้มครองลิขสิทธิ์ ดังนั้น การกระทำของจำเลยทั้งสามที่ออกเอกสารประชาสัมพันธ์ในการจัดอบรม แม้จะมีลักษณะข้อมูลเกี่ยวกับหลักสูตรการสัมมนาของโจทก์อยู่บ้าง จึงไม่เป็นความผิดฐานร่วมกันละเมิดลิขสิทธิ์เอกสารประชาสัมพันธ์ของโจทก์ และเมื่อพิจารณาเอกสารประชาสัมพันธ์ของโจทก์เปรียบกับของจำเลยทั้งสามแล้ว จะเห็นได้ว่า แม้เอกสารประชาสัมพันธ์ของโจทก์และจำเลยต่างวางตำแหน่งรูปรอยประดิษฐ์ลูกโลกอยู่ที่มุมบนด้านซ้ายของเอกสารเหมือนกัน ลูกโลกกลมมีขนาดเท่ากัน ตรงบริเวณกลางลูกโลกต่างมีคำภาษาอังกฤษว่า “CONSULTANT” เหมือนกัน แต่รูปลูกโลกของโจทก์อยู่ในกรอบสี่เหลี่ยม ส่วนของจำเลยทั้งสามไม่มีกรอบสี่เหลี่ยม ของโจทก์จะมีคำภาษาอังกฤษคำว่า “BUSINESS” เหนือคำว่า “CONSULTANT” แต่ของจำเลยทั้งสามเป็นคำภาษาอังกฤษว่า “ADVANCE” เมื่อพิจารณาในส่วนที่เป็นภาพรวมแล้วยังมีความแตกต่างกันในนัยสำคัญมาก ไม่อาจทำให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเอกสารประชาสัมพันธ์ของจำเลยทั้งสามเป็นเอกสารประชาสัมพันธ์ของโจทก์ การกระทำของจำเลยทั้งสามจึงไม่เป็นความผิดฐานร่วมกันนำเอา ชื่อ รูป รอยประดิษฐ์รูปลูกโลกในการประกอบการค้าของผู้อื่นมาใช้เพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นสินค้าหรือการค้าของผู้อื่น ตาม ป.อ. มาตรา 272 (1)



________________________________



โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 4, 6, 8, 9, 15, 27, 31, 69, 70 และมาตรา 76 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 90, 272

ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง

จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ

ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 272 (1) ประกอบมาตรา 83 ให้ลงโทษจำคุกคนละ 15 วัน และปรับคนละ 2,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ให้ริบเอกสารประชาสัมพันธ์จำนวน 9 ฉบับ ซึ่งเป็นเอกสารที่จำเลยทั้งสามใช้ในการกระทำความผิด คำขออื่นให้ยก ส่วนความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 27 (1) (2) ประกอบมาตรา 69 ให้ยกเสีย

โจทก์และจำเลยทั้งสามอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า จำเลยทั้งสามร่วมกันละเมิดลิขสิทธิ์เอกสารประชาสัมพันธ์ของโจทก์หรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 4 นิยามคำว่า “ผู้สร้างสรรค์” หมายความว่า ผู้ทำหรือก่อให้เกิดงานสร้างสรรค์อย่างใดอย่างหนึ่งที่เป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้ ซึ่งงานสร้างสรรค์ดังกล่าวผู้สร้างสรรค์จะต้องสร้างสรรค์ด้วยตนเอง กล่าวคือมิได้ลอกเลียนผู้อื่นและต้องใช้ความรู้ความสามารถสติปัญญาในระดับหนึ่งเพื่อจะก่อให้เกิดงานนั้น การที่นางสาวหทัยรัตน์กรรมการโจทก์เบิกความว่า เป็นผู้จัดทำเอกสารประชาสัมพันธ์อันประกอบด้วย ชื่อหลักสูตร สาระสำคัญของหลักสูตร หัวข้อการอบรม อัตราค่าอบรม ชื่อวิทยากร และเอกสารประชาสัมพันธ์ ซึ่งจะบอกให้ลูกค้าทราบรายละเอียดในการอบรมสัมมนา เพื่อเป็นข้อพิจารณาว่าลูกค้าจะได้รับประโยชน์อย่างไรเพื่อตัดสินใจเข้าอบรมสัมมนาหรือไม่ นางสาวหทัยรัตน์จัดทำหลักสูตรโดยนำข้อมูลมาจาก (1) ประสบการณ์ที่ได้จัดฝึกอบรมมาเป็นเวลา 13 ปี (2) จากการฝึกอบรมจึงทราบถึงปัญหา แนวทางการตอบปัญหาจากการรวบรวมคำถามที่มีการถามในระหว่างการฝึกอบรม (3) การติดตามกฎหมายภาษีอากรที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา (4) จากการเป็นที่ปรึกษาให้บริษัทต่าง ๆ จึงทราบปัญหา (5) จากคำแนะนำของ ดร.อรรถพลสามีของนางสาวหทัยรัตน์เองซึ่งมีตำแหน่งเป็นรองอธิการบดี คณบดี บัณฑิตวิทยาลัย สาขาบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยสยาม และเคยเป็นที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ ดังนั้น เอกสารประชาสัมพันธ์ของโจทก์เป็นเอกสารสำคัญต่อการประกอบธุรกิจของโจทก์เพื่อดึงดูดลูกค้าให้มาใช้บริการของโจทก์ เป็นงานวรรณกรรมที่สร้างสรรค์ เป็นการนำข้อมูลที่รวบรวม คัดเลือกและจัดลำดับเข้าด้วยกันโดยไม่ได้ลอกเลียนงานของผู้อื่น ทั้งยังนำข้อกฎหมายเกี่ยวกับการหักภาษี ณ ที่จ่ายมารวบรวมเรียบเรียงจัดลำดับใหม่เป็นหลักสูตรในการอบรมในเอกสารประชาสัมพันธ์ โดยความเพียรพยายามอุตสาหะในการสร้างสรรค์งานดังกล่าวนั้น เห็นว่า เอกสารประชาสัมพันธ์ดังกล่าวเป็นการเชิญชวนให้ลูกค้าของโจทก์เข้าร่วมสัมมนาที่โจทก์จัดสัมมนาขึ้น องค์ประกอบสำคัญของเอกสารประชาสัมพันธ์การอบรมสัมมนาดังกล่าวไม่ว่าผู้ใดจัดอบรมสัมมนาก็ต้องระบุชื่อผู้จัดการอบรม ชื่อหลักสูตร หัวข้ออบรม ชื่อวิทยากร อัตราค่าอบรม วัน เวลา สถานที่อบรม เพื่อเป็นข้อมูลให้ลูกค้าใช้ประกอบการตัดสินใจว่าจะอบรมหรือไม่ ล้วนเป็นรายละเอียดที่ต้องระบุไว้ในเอกสารประชาสัมพันธ์โดยทั่วไป แต่ที่สำคัญที่สุดคือ ส่วนที่เป็น “หัวข้อการอบรม” ส่วนชื่อของหลักสูตรหรือหัวข้อของหลักสูตรอาจซ้ำกันได้ เป็นเรื่องที่บุคคลโดยทั่วไปต้องรับรู้ ใครก็สามารถจัดอบรมได้ ซึ่งนางสาวผ่องพรรณผู้อำนวยการสำนักกำกับดูแลธุรกิจ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์สมชายรองคณบดีฝ่ายการเงิน คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และเป็นวิทยากรให้แก่โจทก์และบริษัทรับจัดฝึกอบรม กับนายสุพัฒน์ผู้สอบบัญชี รับอนุญาตเป็นวิทยากรเกี่ยวกับบัญชีและภาษีอากรต่างเบิกความในทำนองเดียวกันว่า การจัดอบรมสัมมนา ชื่อ หัวข้อหลักสูตรสัมมนาของแต่ละสถาบันจะซ้ำกัน เป็นเรื่องที่สาธารณชนทั่วไปต้องรับรู้ แต่เอกสารประชาสัมพันธ์ของผู้จัดแต่ละแห่งจะไม่ซ้ำกัน โดยมีรายละเอียดและเทคนิคการเชิญชวนให้คนสนใจเข้าร่วมสัมมนาต่างกัน ซึ่งนายสาธิตกรรมการบริษัทรุ่งศิลป์ โพลีพลาสท์ จำกัด ผู้เคยร่วมสัมมนากับโจทก์ก็เบิกความยืนยันความในข้อนี้ โดยเฉพาะนางสาวผ่องพรรณยืนยันว่า ชื่อหลักสูตรอาจซ้ำกันได้ ใครก็สามารถจัดอบรมได้ เช่น ชื่อเรื่อง “BALANCE SCORE CARD” มีการจัดหลายหน่วยงานด้วยกัน ดังนั้น ชื่อหรือหัวข้อหลักสูตรการสัมมนาตามเอกสารประชาสัมพันธ์ของผู้จัดแต่ละสถาบันจึงซ้ำกันได้ ไม่ใช่เป็นสาระสำคัญของเอกสารประชาสัมพันธ์ โดยนางสาวผ่องพรรณเบิกความว่า ที่สำคัญคือการอบรมซึ่งหัวข้อการอบรมเกี่ยวกับการบัญชีใช้เวลาอบรม 18 - 27 ชั่วโมง กฎหมายเกี่ยวกับภาษีอากรและการบัญชีประมวลรัษฎากรใช้เวลาอบรมจำนวน 9 ชั่วโมง เมื่อพิจารณาเอกสารประชาสัมพันธ์ของโจทก์เป็นเพียงเอกสารโฆษณาประชาสัมพันธ์เผยแพร่กิจการของโจทก์เพื่อผลประโยชน์ของโจทก์เท่านั้น ไม่ใช่เป็นเอกสารใช้ประกอบการอบรมหรือสัมมนา หรือเป็นเอกสารที่ต้องใช้ความรู้ ความสามารถและความวิริยะอุตสาหะสร้างสรรค์ขึ้นมา ส่วนที่สำคัญที่เป็นสาระคือหัวข้อสัมมนาหรืออบรมมีจำนวน 8 ชุด เฉลี่ยแล้วมีเนื้อหาประมาณ 22 บรรทัด เท่านั้น แม้จะมีการรวบรวมข้อมูลจัดลำดับเกี่ยวกับทางบัญชีและกฎหมายเกี่ยวกับภาษีอากรซึ่งก็เป็นเพียงเนื้อหาบางส่วนของชื่อหัวข้อหลักสูตรที่อาจซ้ำกับบุคคลอื่น ๆ ดังกล่าว เอกสารประชาสัมพันธ์ของโจทก์ยังไม่ถึงกับเป็นการใช้ความรู้ความสามารถ สติปัญญา และความวิริยะอุตสาหะที่เพียงพอถึงขนาดที่จะถือว่าเป็นการริเริ่มสร้างสรรค์งานนิพนธ์อันเป็นวรรณกรรมที่จะได้รับความคุ้มครองลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ดังกล่าว การกระทำของจำเลยทั้งสามที่ออกเอกสารประชาสัมพันธ์ในการจัดการอบรม แม้จะมีข้อมูลเกี่ยวกับหลักสูตรการสัมมนาของโจทก์อยู่บ้าง ก็ยังไม่เป็นความผิดฐานร่วมกันละเมิดลิขสิทธิ์เอกสารประชาสัมพันธ์ของโจทก์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 27 (1) (2) ประกอบมาตรา 69 ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น

ปัญหาต่อไปมีว่า การกระทำของจำเลยทั้งสามเป็นความผิดฐานร่วมกันนำเอาชื่อ รูป รอยประดิษฐ์รูปลูกโลกในการประกอบการค้าของผู้อื่นมาใช้เพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นสินค้าหรือการค้าของผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 272 (1) หรือไม่ เมื่อพิเคราะห์เอกสารประชาสัมพันธ์ของจำเลยทั้งสามเปรียบเทียบกับของโจทก์แล้ว จะเห็นได้ว่า แม้รูป รอยประดิษฐ์รูปโลกเอกสารประชาสัมพันธ์ทั้งของโจทก์และของจำเลยทั้งสามต่างวางตำแหน่งรูปลูกโลกอยู่ที่มุมบนด้านซ้ายของเอกสารเหมือนกัน ลูกโลกกลมมีขนาดเท่ากัน ตรงบริเวณกลางลูกโลกต่างมีคำภาษาอังกฤษว่า “CONSULTANT” เหมือนกัน แต่รูปลูกโลกของโจทก์อยู่ในกรอบสี่เหลี่ยม รูปลูกโลกของจำเลยทั้งสามจะไม่มีกรอบสี่เหลี่ยม ภาษาอังกฤษเหนือคำว่า “CONSULTANT” ของโจทก์จะมีคำภาษาอังกฤษว่า “BUSINESS” แต่ของจำเลยทั้งสามเป็นคำภาษาอังกฤษว่า “ADVANCE” เมื่อพิจารณาในส่วนที่เป็นภาพรวมแล้ว ยังมีความแตกต่างกันในนัยสำคัญ ไม่อาจทำให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเอกสารประชาสัมพันธ์ของจำเลยทั้งสามเป็นเอกสารประชาสัมพันธ์ของโจทก์ การกระทำของจำเลยทั้งสามจึงไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 272 (1) ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสามในความผิดฐานนี้มาด้วยนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสามฟังขึ้น

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ในความผิดฐานร่วมกันนำเอาชื่อ รูป รอยประดิษฐ์ในการประกอบการค้าของผู้อื่นมาใช้ เพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นสินค้าหรือการค้าของผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 272 (1) คืนเอกสารให้แก่เจ้าของ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง





( ประจวบ พัชนีรัตนกรณ์ - อร่าม เสนามนตรี - ธนพจน์ อารยลักษณ์ )



ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง - นายสุรพล คงลาภ




 

Create Date : 05 ตุลาคม 2554    
Last Update : 5 ตุลาคม 2554 17:55:24 น.
Counter : 1280 Pageviews.  

เพลงสายชลกับการตีความมาตรา ๓๒

ำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5469/2552


นายไชย ณ ศีลวันต์ โจทก์

บริษัทเอ.จี.เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด กับพวก จำเลย



พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 18, 27, 32



การนำส่วนที่เป็นสาระสำคัญ (Substantial part) ของเพลง “สายชล” ไปใช้ในภาพยนตร์ หากจะมีการนำไปใช้เพื่อแสวงหาประโยชน์ในทางการค้า ย่อมจะต้องดำเนินการขออนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ตามกฎหมาย การนำเพลง “สายชล” ไปใช้ในภาพยนตร์เพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชนโดยมีจุดประสงค์ในการหากำไรและมีการจัดทำโสตทัศนวัสดุในรูปแบบบวีซีดีและดีวีดีเพื่อจำหน่ายในเวลาต่อมา นับเป็นการแสวงหาประโยชน์ทางการค้าของจำเลยทั้งสองแล้ว จึงไม่เข้าข่ายที่จะได้รับยกเว้นตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฯ มาตรา 32

นอกจากนี้ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฯ มาตรา 18 กำหนดว่า ผู้สร้างสรรค์งานอันมีลิขสิทธิ์ตาม พ.ร.บ. นี้มีสิทธิที่จะแสดงว่าตนเป็นผู้สร้างสรรค์งานดังกล่าว เมื่อข้อเท็จจริงเป็นอันยุติว่า โจทก์เป็นผู้ประพันธ์ทำนองเพลง “สายชล” โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะแสดงว่าโจทก์เป็นผู้สร้างสรรค์ทำนองเพลง “สายชล” ดังกล่าว

ส่วนคำขออื่นของโจทก์ที่ให้จำเลยทั้งสองยุติการจำหน่ายและเผยแพร่ต่อสาธารณชน การเก็บแผ่นวีซีดีและดีวีดีออกจากตลาดรวมทั้งการลงประกาศในหนังสือพิมพ์นั้น เห็นว่า แม้งานดนตรีกรรมของโจทก์ในส่วนที่เป็นสาระสำคัญจะถูกนำไปใช้ แต่ก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งของภาพยนตร์ ทั้งการทำให้ปรากฏข้อความว่านางสาว จ. เป็นผู้ประพันธ์คำร้องและทำนองเพลง “สายชล” ยังไม่ถือว่าจำเลยทั้งสองมีเจตนาละเมิดสิทธิของโจทก์ เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบความเสียหายของโจทก์กับความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจากการดำเนินการดังกล่าว ตลอดจนค่าเสียหายที่ได้กำหนดให้แก่โจทก์แล้ว จึงเห็นควรไม่กำหนดให้จำเลยทั้งสองต้องดำเนินการต่างๆ อีก



________________________________



โจทก์ฟ้องว่า การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ทำนองเพลงของโจทก์รวมทั้งเป็นการละเมิดต่อชื่อเสียงเกียรติคุณและทางทำมาหาได้ของโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงินจำนวน 1,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันยุติการจำหน่ายและเผยแพร่ต่อสาธารณชน ให้ดำเนินการเก็บแผ่นวีซีดีและดีวีดีของภาพยนตร์เรื่อง “จี้” ออกจากตลาด ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันลงประกาศในหลังสือพิมพ์ไทยรัฐ มติชน และเดลินิวส์ เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงและขอโทษโจทก์ รวมทั้งยอมรับว่าโจทก์เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในทำนองเพลง “สายชล” เป็นเวลา 3 วัน ติดต่อกัน

จำเลยทั้งสองให้การในทำนองเดียวกันว่า จำเลยทั้งสองเข้าใจโดยสุจริตมาตลอดว่าคำร้องและทำนองเพลง “สายชล” เป็นของบุคคลอื่นไม่ใช่ของโจทก์ จำเลยทั้งสองจึงไม่ได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ ค่าเสียหายที่โจทก์เรียกมาตามฟ้องนั้นสูงเกินสมควร ขอให้ยกฟ้อง

ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “...ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการแรกมีว่า การกระทำของจำเลยทั้งสองเข้าข้อยกเว้นการละเมิดลิขสิทธิ์หรือไม่ เห็นว่า คดีนี้ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางได้วินิจฉัยแล้วว่า จำเลยทั้งสองได้กระทำแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ทำนองเพลง “สายชล” ของโจทก์ด้วยการทำซ้ำและดัดแปลง โดยจำเลยทั้งสองไม่ได้โต้แย้งคัดค้าน จึงรับฟังเป็นยุติตามคำวินิจฉัยดังกล่าว และในส่วนของทำนองเพลง “สายชล” ตามที่ปรากฏในภาพยนตร์นั้นแม้จะเป็นเพียง 2 ประโยคแรกของเพลงโดยไม่มีดนตรีประกอบ แต่การพิจารณาว่าทำนองเพลง “สายชล” ที่ถูกนำไปใช้นั้นเป็นส่วนสาระสำคัญของเพลงหรือไม่ ย่อมต้องพิจารณาจากคุณภาพ (Quality) ของงานที่ถูกละเมิดด้วย นอกเหนือจากการพิจารณาปริมาณ (Quantity) ของงานที่ถูกละเมิด แม้ทำนองเพลง “สายชล” จะถูกนำไปใช้เพียง 2 ประโยค แต่จำเลยทั้งสองไม่ได้นำสืบเลยว่า เพลง 2 ประโยคดังกล่าวไม่ใช่เป็นส่วนสาระสำคัญของเพลงหรือมีลำดับดนตรีเป็นทำนองสามัญหรือคล้ายกับเพลงทั่วๆ ไป หรือเมื่อสาธารณชนรับฟังแล้วก็ไม่อาจทราบได้ว่าเป็นทำนองเพลงอะไร ในทางกลับกันท่อนแรกของเพลงทั่วไปมักจะเป็นส่วนสำคัญของเพลงที่สาธารณชนสามารถจดจำได้ ทั้งเพลงนี้มีชื่อเพลงปรากฏอยู่ในท่อนที่สองของเพลงด้วย ถือว่าเป็นการนำส่วนที่เป็นสาระสำคัญ (Substantial part) ของเพลง “สายชล” ไปใช้ในภาพยนตร์ดังกล่าวแล้วซึ่งหากจะมีการนำไปใช้เพื่อแสวงหาประโยชน์ในทางการค้าเช่นนี้ ย่อมจะต้องดำเนินการขออนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ตามกฎหมาย การนำเพลง “สายชล” ไปใช้ในภาพยนตร์เพื่อเผยแพร่ต่อสาธารณชนโดยมีจุดประสงค์ในการหากำไรและมีการจัดทำโสตทัศนวัสดุในรูปแบบวีซีดีและดีวีดีเพื่อจำหน่ายในเวลาต่อมา นับเป็นการแสวงหาประโยชน์ทางการค้าของจำเลยทั้งสองแล้ว จึงไม่เข้าข่ายที่จะได้รับการยกเว้นตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 32 แต่อย่างใด ข้อโต้แย้งของจำเลยทั้งสองทำนองว่าเพลง “สายชล” ที่ปรากฏในภาพยนตร์ไม่ใช่ส่วนที่เป็นสาระสำคัญของภาพยนตร์ก็ดี ไม่มีการนำเพลงประกอบภาพยนตร์ไปรวมบันทึกเพื่อจำหน่ายต่างหากก็ดี ไม่อาจรับฟังได้เพราะไม่ทำให้การกระทำของจำเลยทั้งสองตามที่ได้วินิจฉัยมากลายเป็นการกระทำที่จะได้รับการยกเว้นตามกฎหมายไปได้ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ในข้อนี้ฟังขึ้น

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการต่อมามีว่า การทำให้ปรากฏข้อความว่า นางสาวจันทนีย์ เป็นผู้ประพันธ์คำร้องและทำนองเพลง “สายชล” เป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์หรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 18 กำหนดว่า ผู้สร้างสรรค์งานอันมีลิขสิทธิ์ตามพระราชบัญญัตินี้มีสิทธิที่จะแสดงว่าตนเป็นผู้สร้างสรรค์งานดังกล่าว เมื่อข้อเท็จจริงเป็นอันยุติว่า โจทก์เป็นผู้ประพันธ์ทำนองเพลง “สายชล” โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะแสดงว่าโจทก์เป็นผู้สร้างสรรค์ทำนองเพลง “สายชล” อย่างไรก็ดี จำเลยทั้งสองนำสืบต่อสู้ว่า นางสาวจันทนีย์ เป็นผู้ประพันธ์คำร้องและทำนองเพลง “สายชล” ซึ่งโจทก์เองก็ไม่ได้คัดค้านข้อเท็จจริงนี้ดังปรากฏตามคำเบิกความของโจทก์ตอบทนายจำเลยทั้งสองถามค้านว่า เคยมีผู้เข้าใจผิดว่าเพลง “สายชล” มีนางสาวจันทนีย์ เป็นผู้ประพันธ์คำร้องและทำนอง พยานหลักฐานโจทก์เท่าที่นำสืบมายังรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองมีเจตนาบิดเบือนข้อเท็จจริงดังกล่าว การทำให้ปรากฏข้อความว่านางสาวจันทนีย์ เป็นผู้ประพันธ์คำร้องและทำนองเพลง “สายชล” จึงไม่นับเป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ประการต่อมามีว่า โจทก์ได้รับความเสียหายเพียงใด เห็นว่า เมื่อมีการละเมิดลิขสิทธิ์เกิดขึ้นในลักษณะเช่นนี้ โจทก์ย่อมได้รับความเสียหาย อนึ่ง งานภาพยนตร์เป็นส่วนหนึ่งของงานอันมีลิขสิทธิ์ตามกฎหมาย ซึ่งผู้เกี่ยวข้องกับการสร้างงานภาพยนตร์ต่างมีความประสงค์ที่จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายว่าด้วยลิขสิทธิ์ แต่การที่ผู้เกี่ยวข้องกับการสร้างงานภาพยนตร์เรื่อง “จี้” กลับละเมิดงานอันมีลิขสิทธิ์ของบุคคลอื่นเสียเองเช่นนี้ โดยอ้างว่างานดนตรีกรรมถูกนำไปใช้เป็นเพียงส่วนน้อยของงานภาพยนตร์บ้าง งานดนตรีกรรมดังกล่าวไม่มีชื่อเสียงจึงไม่มีความเสียหายบ้าง และเมื่อโจทก์มีหนังสือบอกกล่าวแล้วก็ไม่ปรากฏว่าจะดำเนินการตรวจสอบเพื่อเยียวยาแก้ไขเช่นใด ย่อมเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสมอย่างยิ่งโดยเฉพาะในการดำเนินการแก้ไขปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ในประเทศ อย่างไรก็ดี โจทก์เพียงนำสืบลอยๆ ว่า ได้รับความเสียหายเป็นเงินจำนวน 1,000,000 บาท โดยไม่ปรากฏว่าคำนวณมาเช่นใด แม้โจทก์จะเบิกความตามคำถามค้านและคำถามติงถึงการอนุญาตให้ผู้อื่นใช้สิทธิทำนองเพลง “สายชล” ว่าโจทก์จะได้รับค่าตอบแทนครั้งละ 40,000 บาท แต่ก็ไม่ปรากฏชัดว่าเป็นจริงเช่นนั้นหรือไม่ เพราะโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานอื่นใดมาสนับสนุน ประกอบกับทำนองเพลง “สายชล” ถูกนำมาใช้ให้ปรากฏในภาพยนตร์เพียงบางส่วนมิใช่ทั้งหมด ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นสมควรกำหนดค่าเสียหายให้แก่โจทก์ตามสมควรโดยคำนึงถึงความร้ายแรงของความเสียหาย การสูญเสียประโยชน์และค่าใช้จ่ายอันจำเป็นในการบังคับตามสิทธิของโจทก์เป็นเงินจำนวน 50,000 บาท ส่วนคำขออื่นของโจทก์ที่ให้จำเลยทั้งสองยุติการจำหน่ายและเผยแพร่ต่อสาธารณชน การเก็บแผ่นวีซีดีและดีวีดีออกจากตลาดรวมทั้งการลงประกาศในหนังสือพิมพ์นั้น เห็นว่า แม้งานดนตรีกรรมของโจทก์ในส่วนที่เป็นสาระสำคัญจะถูกนำไปใช้ แต่ก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งของภาพยนตร์ ทั้งการทำให้ปรากฏข้อความว่า นางสาวจันทนีย์ เป็นผู้ประพันธ์คำร้องและทำนองเพลง “สายชล” ยังไม่ถือว่าจำเลยทั้งสองมีเจตนาละเมิดสิทธิของโจทก์ เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบความเสียหายของโจทก์กับความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจากการดำเนินการดังกล่าวตลอดจนค่าเสียหายที่ได้กำหนดให้แก่โจทก์แล้ว จึงเห็นควรไม่กำหนดให้จำเลยทั้งสองต้องดำเนินการต่างๆ อีก”

พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายจำนวนเงิน 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าว นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 4 พฤษภาคม 2549)เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้เพียงเท่าที่โจทก์ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความทั้งสองศาลรวมเป็นเงินจำนวน 50,000 บาท





( พรเพชร วิชิตชลชัย - พลรัตน์ ประทุมทาน - อร่าม เสนามนตรี )






 

Create Date : 19 กรกฎาคม 2554    
Last Update : 19 กรกฎาคม 2554 22:07:41 น.
Counter : 1732 Pageviews.  

ตีความคำว่า แพร่เสียงแพร่ภาพซ้ำ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6359/2551


พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด โจทก์

นายธีรพล อุ่นอนุโลม จำเลย


ป.อ. มาตรา 56

พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 29(1)



การที่จำเลยจัดทำงานแพร่เสียงแพร่ภาพรายการบันเทิงต่างประเทศในงานแพร่เสียงแพร่ภาพของผู้เสียหายทั้งสอง โดยการลักลอบใช้อุปกรณ์เครื่องรับสัญญาณดาวเทียม (จานดาวเทียม) รับสัญญาณงานแพร่เสียงแพร่ภาพดังกล่าวเข้ามาแล้วส่งผ่านเข้าไปในเครื่องรวมสัญญาณ จากนั้นจึงส่งสัญญาณผ่านทางสายนำสัญญาณไปยังเครื่องรับโทรทัศน์ที่อยู่ในห้องพักในอพาร์ตเมนต์ โดยเรียกเก็บเงินและผลประโยชน์เป็นค่าบริการรายเดือนรวมอยู่ในค่าเช่าห้องพักของจำเลย เป็นการกระทำเพื่อการค้า และก่อความเสียหายอย่างมากแก่ผู้เสียหายทั้งสอง เนื่องจากอาคารดังกล่าวมีห้องพักที่เปิดให้สาธารณชนทั่วไปเช่าพักได้หลายห้อง ซึ่งหากผู้เช่าห้องพักแต่ละห้องบอกรับเป็นสมาชิกของผู้เสียหายทั้งสองเอง ผู้เสียหายทั้งสองก็จะได้รับค่าสมาชิกและค่าบริการรายเดือนเป็นจำนวนมาก การกระทำของจำเลยจึงนับว่าร้ายแรง หากศาลไม่กำหนดโทษที่จะลงแก่จำเลย จำเลยก็จะไม่หลาบจำกลับมากระทำความผิดซ้ำอีก และเป็นเยี่ยงอย่างที่ไม่ดีแก่ผู้อื่น จึงเห็นสมควรลงโทษจำเลยไปโดยไม่รอการกำหนดโทษ

จำเลยแพร่สัญญาณงานแพร่เสียงแพร่ภาพของผู้เสียหายทั้งสองให้สาธารณชนผู้ใช้บริการเช่าห้องพักในอาพาร์ตเมนต์ของจำเลยได้รับชมรับฟังด้วยการต่อสัญญาณเข้าไปในห้องเช่า ซึ่งมีลักษณะเป็นการแพร่เสียงแพร่ภาพต่อไปจากการแพร่เสียงแพร่ภาพของผู้เสียหายทั้งสองโดยไม่มีการบันทึกงานนั้นไว้ก่อน การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานจัดทำงานแพร่เสียงแพร่ภาพตามมาตรา 29 (1)



________________________________



โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2546 เวลากลางวัน จำเลยละเมิดลิขสิทธิ์ในงานแพร่เสียงแพร่ภาพทางโทรทัศน์ของบริษัทยูไนเต็ด บรอดคาสติ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้เสียหายที่ 1 และบริษัทยูบีซี เคเบิ้ล เน็ตเวอร์ค จำกัด (มหาชน) ผู้เสียหายที่ 2 โดยการนำงานแพร่เสียงแพร่ภาพรายการบันเทิงต่างประเทศ รายการอัศจรรย์กับเรื่องเหลือเชื่อ อันเป็นลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายทั้งสองไปจัดเผยแพร่ต่อสาธารณชนให้ผู้เช่าพักห้องเช่าในอาคารซี เฮ้าส์อพาร์ตเมนท์ ตั้งอยู่แขวงหนองจอก เขตมีนบุรี กรุงเทพมหานคร ของจำเลย ซึ่งจำเลยเป็นผู้ประกอบกิจการ ได้ฟังและชม โดยการลักลอบใช้อุปกรณ์เครื่องรับสัญญาณดาวเทียม (จานดาวเทียม) รับสัญญาณงานแพร่เสียงแพร่ภาพดังกล่าวเข้ามาแล้วส่งผ่านเข้าไปในเครื่องรวมสัญญาณ จากนั้นจึงส่งสัญญาณผ่านทางสายนำสัญญาณไปยังเครื่องรับโทรทัศน์ที่อยู่ในห้องพักในอพาร์ตเมนต์ โดยเรียกเก็บเงินและผลประโยชน์เป็นค่าบริการรายเดือนรวมอยู่ในค่าเช่าห้องพักของจำเลยเพื่อการค้า ทั้งนี้โดยจำเลยรู้อยู่แล้วว่าการกระทำดังกล่าวเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายทั้งสองและโดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้เสียหายทั้งสอง เหตุเกิดที่แขวงหนองจอก เขตมีนบุรี กรุงเทพมหานคร ต่อมาเจ้าพนักงานยึดได้จานรับสัญญาณดาวเทียม (DTH) 1 จาน ตัวรวมสัญญาณ 1 เครื่อง เครื่องแปลงสัญญาณภาพและเสียง 2 เครื่อง และบัตรสมาร์ตการ์ด (อุปกรณ์ถอดรหัสสัญญาณภาพและเสียง) 2 ใบ จากที่เกิดเหตุ อันเป็นทรัพย์ที่จำเลยได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดดังกล่าว เป็นของกลาง ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4, 6, 8, 15, 29, 69, 70, 75, 76, 78 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33 ริบของกลาง และสั่งจ่ายเงินค่าปรับฐานละเมิดลิขสิทธิ์กึ่งหนึ่งให้แก่ผู้เสียหายทั้งสองซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์

จำเลยให้การรับสารภาพ

ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 29 (2), 69 วรรคสอง ให้รอการกำหนดโทษไว้มีกำหนด 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 56 ริบของกลาง คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก

โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “ที่โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยโดยไม่รอการกำหนดโทษนั้น เห็นว่า การที่จำเลยจัดทำงานแพร่เสียงแพร่ภาพรายการบันเทิงต่างประเทศในงานแพร่เสียงแพร่ภาพของผู้เสียหายทั้งสองด้วยวิธีการตามฟ้องโดยแพร่สัญญาณไปยังเครื่องรับโทรทัศน์ของผู้เช่าห้องพักในอพาร์ตเมนต์ของจำเลย เป็นการกระทำเพื่อการค้า และก่อความเสียหายอย่างมากแก่ผู้เสียหายทั้งสอง เนื่องจากอาคารดังกล่าวมีห้องพักที่เปิดให้สาธารณชนทั่วไปเช่าพักได้หลายห้อง ซึ่งหากผู้เช่าห้องพักแต่ละห้องบอกรับเป็นสมาชิกของผู้เสียหายทั้งสองเอง ผู้เสียหายทั้งสองก็จะได้รับค่าสมาชิกและค่าบริการรายเดือนเป็นจำนวนมาก การกระทำของจำเลยจึงนับว่าร้ายแรง หากศาลไม่กำหนดโทษที่จะลงแก่จำเลย จำเลยก็จะไม่หลาบจำกลับมากระทำความผิดซ้ำอีก และเป็นเยี่ยงอย่างที่ไม่ดีแก่ผู้อื่น จึงเห็นสมควรลงโทษจำเลยไปโดยไม่รอการกำหนดโทษอุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น

อนึ่ง ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานแพร่เสียงแพร่ภาพซ้ำตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 29 (2) นั้น เห็นว่า การแพร่เสียงแพร่ภาพซ้ำตาม มาตรา 29 (2) เป็นการแพร่เสียงแพร่ภาพซ้ำงานแพร่เสียงแพร่ภาพที่บันทึกไว้ก่อนแล้ว แต่ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องคดีนี้ที่จำเลยให้การรับสารภาพปรากฏว่าจำเลยแพร่สัญญาณงานแพร่เสียงแพร่ภาพของผู้เสียหายทั้งสองให้สาธารณชนผู้ใช้บริการเช่าห้องพักในอพาร์ตเมนต์ของจำเลยได้รับชมรับฟังด้วยการต่อสายสัญญาณเข้าไปในห้องเช่า ซึ่งมีลักษณะเป็นการแพร่เสียงแพร่ภาพต่อไปจากการแพร่เสียงแพร่ภาพของผู้เสียหายทั้งสองโดยไม่มีการบันทึกงานนั้นไว้ก่อน การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานจัดทำงานแพร่เสียงแพร่ภาพตามมาตรา 29 (1) การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามมาตรา 29 (2) จึงเป็นการปรับบทมาตราผิด ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง”

พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 29 (1), 69 วรรคสอง ให้ลงโทษปรับ 100,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงปรับ 50,000 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 และให้จ่ายเงินค่าปรับที่ได้ชำระตามคำพิพากษาให้แก่ผู้เสียหายทั้งสองซึ่งเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์เป็นจำนวนกึ่งหนึ่ง ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 76 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง





( อร่าม เสนามนตรี - พลรัตน์ ประทุมทาน - พินิจ บุญชัด )





หมายเหตุ




 

Create Date : 02 กรกฎาคม 2554    
Last Update : 2 กรกฎาคม 2554 18:42:18 น.
Counter : 2283 Pageviews.  

ละเมิดบทความและชื่อ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11047/2551


นางสาวปองศิริ คุณงาม โจทก์

บริษัทเมกกะ โปรดักส์ จำกัดหรือ

บริษัทเมก้า ไลฟ์ ไซแอ็นซ์ พีทีวาย จำกัด กับพวก จำเลย



ป.พ.พ. มาตรา 18

พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4, 6, 74



บทความเกี่ยวกับวิตามิน อี ที่โจทก์จัดทำขึ้นตามเอกสารหมาย จ.4 ถึง จ.6 เป็นบทความที่จัดทำขึ้นด้วยการใช้ข้อความที่แตกต่างกัน แม้จะประกอบด้วยข้อมูลเพียง 3 ถึง 5 ย่อหน้าสั้น ๆ แต่บทความดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าเป็นการเรียบเรียงขึ้นโดยอาศัยข้อมูลเกี่ยวกับวิตามิน อี ไม่ได้มีลักษณะเป็นเพียงการรวบรวมข้อมูลหรือเป็นการแปลข้อมูลจากบทความอื่นโดยตรง แต่ได้แสดงให้เห็นถึงทักษะ การตัดสินใจและความวิริยะอุตสาหะในการนำข้อมูลที่มีอยู่มาเรียบเรียงเป็นบทความ จึงเป็นงานสร้างสรรค์และถือได้ว่าเป็นงานวรรณกรรมอันมีลิขสิทธิ์ตามกฎหมาย

กฎหมายลิขสิทธิ์มุ่งประสงค์ที่จะให้ความคุ้มครองการแสดงออก ไม่ได้ให้ความคุ้มครองความคิด ดังนั้น แม้บทความเอกสารหมาย จ.7 ถึง จ.9 จะมีเนื้อหาเกี่ยวกับวิตามิน อี แต่ฝ่ายจำเลยนำสืบให้เห็นว่า แนวคิดเกี่ยวกับการนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับวิตามิน อี มีอยู่แล้วในบทความต่าง ๆ ซึ่งมีปรากฏเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายทั่วไป ข้อมูลดังกล่าวจึงไม่จำเป็นต้องนำมาจากบทความเอกสารหมาย จ.4 ถึง จ.6 ทั้งบทความตามเอกสารหมาย จ.7 ถึง จ.9 มีการระบุถึงแหล่งที่มาของบทความอ้างอิงไว้ด้วย เมื่อเปรียบเทียบบทความเอกสารหมาย จ.7 ถึง จ.9 กับบทความเอกสารหมาย จ.4 ถึง จ.6 แล้ว ไม่ปรากฏว่ามีการนำข้อความที่เป็นสาระสำคัญในเนื้อหาของบทความเอกสารหมาย จ.4 ถึง จ.6 มาใช้โดยตรง หรือเป็นการดัดแปลงบทความดังกล่าวเพียงเล็กน้อยหรือในส่วนที่ไม่สำคัญ จึงไม่อาจรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ละเมิดลิขสิทธิ์ในบทความเอกสารหมาย จ.4 ถึง จ.6 ของโจทก์

ตาม ป.พ.พ. มาตรา 18 บุคคลย่อมมีสิทธิในการใช้ชื่อของตน การที่จำเลยที่ 1 ใช้ชื่อโจทก์ในบทความเอกสารหมาย จ.7 ถึง จ.9 โดยไม่ได้รับอนุญาตจากโจทก์ย่อมเป็นการละเมิดต่อสิทธิในชื่อของโจทก์

จำเลยที่ 1 ละเมิดสิทธิในชื่อของโจทก์ หาได้ละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์ จึงไม่จำต้องพิจารณาว่าจะนำข้อสันนิษฐานตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฯ มาตรา 74 มาใช้แก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 หรือไม่ เมื่อไม่ได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานของกฎหมายแล้วโจทก์จะต้องนำสืบตามข้อกล่าวอ้างของตนให้เห็นว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ในการละเมิดสิทธิของโจทก์เช่นใด



________________________________



โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า จำเลยทั้งหกร่วมกันตีพิมพ์บทความเรื่อง “Vitamin E วิธีง่าย ๆ สู่ผิวสวยใส ไร้ริ้วรอยก่อนวัย” ในนิตยสารเพื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและวิตามินตราเมดิคราฟท์ บทความดังกล่าวดัดแปลงมาจากงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์โดยไม่ได้รับอนุญาต และจำเลยทั้งหกร่วมกันเพิ่มเติมข้อความบางส่วนในบทความ และใช้บทความที่ทำการเพิ่มเติมดังกล่าวเพื่อแสวงหาประโยชน์ในทางการค้าของจำเลยทั้งหก โดยตีพิมพ์ในนิตยสารรวม 3 ฉบับ การแก้ไขดังกล่าวไม่ได้ตรวจสอบความถูกต้องแท้จริง การกระทำดังกล่าวเป็นการละเมิดสิทธิและลิขสิทธิ์ของโจทก์ เป็นการทำซ้ำ ดัดแปลง และเผยแพร่ต่อสาธารณชนแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ โดยไม่ได้รับอนุญาต ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายต่อชื่อเสียง โจทก์แจ้งให้ชำระค่าเสียหายและบรรเทาความเสียหายแล้ว แต่จำเลยทั้งหกเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งหกร่วมกันชำระค่าเสียหาย 2,009,041.09 บาท พร้อมดอกเบี้ย นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์

จำเลยทั้งหกให้การว่า โจทก์มิใช่ผู้สร้างสรรค์บทความที่กล่าวอ้างตามฟ้อง บทความดังกล่าวไม่มีผู้ใดเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ เป็นเพียงข่าวสารเกี่ยวกับคุณประโยชน์ของวิตามินที่มีอยู่ทั่วไป แหล่งที่มาของข้อมูลประกอบการเรียบเรียงบทความได้แสดงไว้อย่างชัดเจนในส่วนท้ายของบทความ ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับวิตามินอี มีเผยแพร่ในอินเทอร์เน็ตอย่างแพร่หลาย ข่าวสารดังกล่าวไม่ใช่งานในแผนกวรรณกรรม แผนกวิทยาศาสตร์ หรือแผนกศิลปะ ไม่ถือว่าเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง บทความเรื่อง “Vitamin E วิธีง่าย ๆ สู่ผิวสวยใส ไร้ริ้วรอยก่อนวัย” มิได้เป็นการดัดแปลงงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ เป็นแต่เพียงการนำเอาข่าวสารอันเกี่ยวกับคุณประโยชน์ของวิตามินที่มีอยู่ทั่วไปมาเรียบเรียงให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจประโยชน์และทราบคุณสมบัติของวิตามินไม่ได้เป็นการทำขึ้นเพื่อหากำไร การตีพิมพ์บทความไม่ได้ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 1 ตอบแทนโจทก์ในการเป็นผู้ตรวจทานบทความที่ฝ่ายจำเลยจัดหาและเรียบเรียง จึงไม่ใช่การกระทำโดยไม่ได้รับอนุญาตดังที่โจทก์กล่าวอ้าง จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 เป็นกรรมการซึ่งกระทำการแทนจำเลยที่ 1 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ในฐานะส่วนตัว ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม โจทก์ไม่เคยบอกกล่าวทวงถามให้จำเลยทั้งหกบรรเทาความเสียหายหรือให้เจรจาชำระค่าเสียหายค่าเสียหายที่อ้างมาเคลือบคลุมและสูงเกินส่วน หากเสียหายจริงไม่เกิน 5,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง

ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งหกร่วมกันชำระค่าเสียหายเป็นเงิน 500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยทั้งหกร่วมกันชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความเป็นเงิน 30,000 บาท

จำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 5 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “...พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัท จำกัด ช่วงเกิดเหตุมีจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน โจทก์เป็นแพทย์เฉพาะทางด้านผิวหนัง และเป็นอาจารย์พิเศษสอนวิชาแพทยศาสตร์ สาขาผิวหนังเฉพาะทางด้านศัลยกรรมผิวหนัง จำเลยที่ 1 ประกอบกิจการจำหน่ายและส่งออกสินค้าเวชภัณฑ์และอาหารเสริมสุขภาพ ประเภทอาหารเสริมสำหรับบำรุงผิวผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสำหรับกระชับสัดส่วน วิตามินและเกลือแร่ต่าง ๆ รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของวิตามิน อี ตราเมดิคราฟท์ จำเลยที่ 1 ติดต่อกับโจทก์ และต่อมามีการจัดทำบทความเอกสารหมาย จ.4 ถึง จ.9 ขึ้น แล้วจำเลยที่ 1 ได้ลงตีพิมพ์บทความเรื่อง “Vitamin E วิธีง่าย ๆ สู่ผิวสวยใส ไร้ริ้วรอยก่อนวัย” เพื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและวิตามิน ตราเมดิคราฟท์ โดยระบุชื่อ “พญ.ปองศิริแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนัง” ไว้ด้วย

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 5 ประการแรกมีว่า โจทก์เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในบทความเอกสารหมาย จ.4 ถึง จ.6 หรือไม่ ซึ่งปัญหานี้ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นควรวินิจฉัยเสียก่อนว่า บทความเอกสารหมาย จ.4 ถึง จ.6 เป็นงานอันมีลิขสิทธิ์หรือไม่ เห็นว่า บทความดังกล่าวได้จัดทำขึ้นด้วยการใช้ข้อความที่แตกต่างกันแม้จะประกอบด้วยข้อมูลเพียง 3 ถึง 5 ย่อหน้าสั้นๆ แต่บทความดังกล่าวก็แสดงให้เห็นว่าเป็นการเรียบเรียงขึ้นโดยอาศัยข้อมูลเกี่ยวกับวิตามิน อี ไม่ได้มีลักษณะเป็นเพียงการรวบรวม (Compilation) ข้อมูล หรือเป็นการแปล (Translation) ข้อมูลจากบทความอื่น เช่น เอกสารหมาย ล.1 ถึง ล.5 โดยตรง ในทางตรงข้ามบทความดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงทักษะ การตัดสินใจ และความวิริยะอุตสาหะ (Skill, judgment and effort) ในการนำข้อมูลที่มีอยู่มาเรียบเรียงเป็นบทความจึงเป็นงานสร้างสรรค์ (Originality) และถือได้ว่าบทความดังกล่าวเป็นงานวรรณกรรม (Literary work) อันมีลิขสิทธิ์ตามกฎหมาย

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า โจทก์เป็นผู้สร้างสรรค์บทความเอกสารหมาย จ.4 ถึง จ.6 หรือไม่ ในประเด็นนี้โจทก์มีตัวโจทก์และนางสาวปนิดามาเป็นพยานเบิกความประกอบเอกสารหมาย จ.4 ถึง จ.6 ยืนยันว่า โจทก์เป็นผู้สร้างสรรค์บทความเอกสารหมาย จ.4 ถึง จ.6 และมอบให้นางสาวปนิดา พนักงานของจำเลยที่ 1 ในขณะนั้นไปส่งมอบให้จำเลยที่ 1 แต่จำเลยที่ 1 ไม่พอใจเนื้อหาในบทความดังกล่าว เพราะเห็นว่าเป็นบทความที่มีเนื้อหาทางด้านวิชาการ ไม่ได้สนับสนุนผลิตภัณฑ์ของจำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องการตีพิมพ์บทความดังกล่าว และได้แจ้งให้โจทก์ทราบเรื่องนี้แล้ว ส่วนฝ่ายจำเลยมีนางสาววิชชุลดาพนักงานของจำเลยที่ 1 เป็นพยานเบิกความว่า จำเลยที่ 1 ได้ส่งตัวอย่างบทความที่เภสัชกรของจำเลยที่ 1 เรียบเรียงไว้แล้วพร้อมเอกสารประกอบไปให้โจทก์ตรวจทานโดยทำเป็น 2 ชุด ชุดแรกเป็นบทความตามเอกสารหมาย จ.4 ถึง จ.6 และชุดที่ 2 เป็นบทความตามเอกสารหมาย จ.7 ถึง จ.9 เมื่อโจทก์ตรวจทานทั้งสองชุดแล้ว จำเลยที่ 1 จึงนำบทความเอกสารหมาย จ.7 ถึง จ.9 มาตีพิมพ์ตามที่โจทก์ตรวจทาน เห็นว่า โจทก์เบิกความยืนยันว่า โจทก์เป็นผู้สร้างสรรค์บทความเอกสารหมาย จ.4 ถึง จ.6 เอง โดยมีนางสาวปนิดาเบิกความสนับสนุน พยานของโจทก์ทั้งสองปากเป็นผู้เกี่ยวข้องใกล้ชิดในการติดต่อจัดทำบทความนี้ ในขณะที่ฝ่ายจำเลยอ้างว่า เภสัชกรของจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดทำบทความและส่งไปให้โจทก์ตรวจแทน แต่กลับไม่ได้นำเภสัชกรหรือบุคคลที่รู้เห็นเกี่ยวกับการจัดทำบทความตามที่ฝ่ายจำเลยกล่าวอ้างมาเบิกความสนับสนุน นางสาววิชชุลดาเองก็เบิกคาวามตอบทนายโจทก์ถามค้านว่า พยานไม่ได้ติดต่อกับโจทก์โดยตรง คำเบิกความของนางสาววิชชุลดาจึงเป็นเพียงพยานบอกเล่า นอกจากนี้ลักษณะของการนำเสนอข้อมูลในบทความเอกสารหมาย จ.4 ถึง จ.6 กับเอกสารหมาย จ.7 ถึง จ.9 ก็มีความคล้ายคลึงกัน ซึ่งไม่มีความจำเป็นที่จะต้องจัดทำขึ้นหลายชุดเพื่อให้โจทก์ตรวจทานตามที่ฝ่ายจำเลยกล่าวอ้าง เมื่อพยานโจทก์เบิกความโดยไม่ปรากฏข้อพิรุธน่าสงสัย ย่อมมีน้ำหนักน่าเชื่อถือกว่าพยานหลักฐานของฝ่ายจำเลยที่นำสืบมา คดีเป็นอันรับฟังว่า โจทก์เป็นผู้สร้างสรรค์บทความเอกสารหมาย จ.4 ถึง จ.6

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า บทความเอกสารหมาย จ.4 ถึง จ.6 เป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์หรือไม่ เห็นว่า โจทก์มีตัวโจทก์และนางสาวปนิดามาเบิกความเกี่ยวกับการติดต่อให้โจทก์จัดทำบทความเอกสารหมาย จ.4 ถึง จ.6 ซึ่งข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏนั้น ยังไม่ถึงขนาดที่จะเกิดสัญญาจ้างให้ทำบทความดังกล่าว โดยโจทก์ได้เบิกความตอบทนายจำเลยทั้งหกถามค้านด้วยว่าโจทก์ไม่ได้ค่าตอบแทนใด ๆ จากฝ่ายจำเลย ซึ่งฝ่ายจำเลยเองก็ไม่ได้นำสืบให้เห็นในทำนองว่า จำเลยที่ 1 ว่าจ้างให้โจทก์สร้างสรรค์บทความนั้น หรือนำสืบโต้แย้งเป็นอย่างอื่น พฤติการณ์จึงยังไม่พอฟังว่าโจทก์รับจ้างจำเลยที่ 1 ในการสร้างสรรค์บทความของโจทก์ หรือมีข้อตกลงใด ๆ ที่จะให้ลิขสิทธิ์ในบทความดังกล่าวตกเป็นของจำเลยที่ 1 ถือได้ว่าโจทก์ในฐานะผู้สร้างสรรค์บทความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในบทความเอกสารหมาย จ.4 ถึง จ.6 ดังนั้นที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยมาจึงชอบแล้ว ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 5 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 5 ประการต่อไปมีว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการละเมิดสิทธิและลิขสิทธิ์ของโจทก์หรือไม่ ซึ่งศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นควรวินิจฉัยเสียก่อนว่า บทความเอกสารหมาย จ.7 ถึง จ.9 เป็นการทำซ้ำหรือดัดแปลงบทความเอกสารหมาย จ.4 ถึง จ.6 หรือไม่ เห็นว่า บทความเอกสารหมาย จ.4 ถึง จ.6 มีเนื้อหาทำนองเดียวกัน แต่นำเสนอด้วยข้อความที่แตกต่างกัน ในขณะที่บทความเอกสารหมาย จ.7 ถึง จ.9 เป็นเอกสารชุดเดียวกัน และเป็นการนำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับวิตามิน อี เช่นเดียวกับบทความเอกสารหมาย จ.4 ถึง จ.6 แต่ข้อความในบทความเอกสารหมาย จ.7 ถึง จ.9 แตกต่างจากบทความเอกสารหมาย จ.4 ถึง จ.6 อย่างเห็นได้ชัดว่าไม่ได้เป็นการทำซ้ำ (Copy) ส่วนจะเป็นการดัดแปลง (Adaptation) หรือไม่นั้น เห็นว่า กฎหมายลิขสิทธิ์มุ่งประสงค์ที่จะให้ความคุ้มครองการแสดงออก (Expression) ไม่ได้ให้ความคุ้มครองความคิด (ldea) ดังนั้น แม้บทความเอกสารหมาย จ.7 ถึง จ.9 จะมีเนื้อหาเกี่ยวกับวิตามิน อี แต่ฝ่ายจำเลยก็นำสืบถึงเอกสารหมาย ล.1 ถึง ล.5 ว่าแนวคิดเกี่ยวกับการนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับวิตามิน อี มีอยู่แล้วในบทความต่าง ๆ นอกจากนี้ ข้อมูลดังกล่าวยังมีปรากฏเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลายทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลเกี่ยวกับอนุมูลอิสระ (Free radical) หรือโรคร้ายและผลเสียที่เกิดขึ้น หรือสารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidant) หรือแหล่งอาหารที่มีวิตามิน อี หรือประโยชน์ของวิตามิน อี รวมทั้งปริมาณของวิตามิน อี ที่ควรได้รับในแต่ละวัน เป็นต้น ข้อมูลดังกล่าวจึงไม่จำเป็นต้องนำมาจากบทความเอกสารหมาย จ.4 ถึง จ.6 ทั้งบทความเอกสารหมาย จ.7 ถึง จ.9 ได้มีการระบุถึงแหล่งที่มาของบทความอ้างอิงไว้ด้วย เมื่อเปรียบเทียบบทความเอกสารหมาย จ.7 ถึง จ.9 กับบทความเอกสารหมาย จ.4 ถึง จ.6 แล้ว ไม่ปรากฏว่ามีการนำข้อความที่เป็นสาระสำคัญในเนื้อหา (Substantial part) ของบทความเอกสารหมาย จ.4 ถึง จ.6 มาใช้โดยตรงหรือเป็นการดัดแปลงบทความเอกสารหมาย จ.4 ถึง จ.6 เพียงเล็กน้อยหรือในส่วนที่ไม่สำคัญ (Slavish imitation) จึงไม่อาจถือว่าบทความเอกสารหมาย จ.7 ถึง จ.9 ดัดแปลงมาจากบทความเอกสารหมาย จ.4 ถึง จ.6 และไม่อาจรับฟังต่อไปว่า จำเลยที่ 1 ละเมิดลิขสิทธิ์ในบทความเอกสารหมาย จ.4 ถึง จ.6 ของโจทก์

อย่างไรก็ตาม โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งหกร่วมกันละเมิดสิทธิและลิขสิทธิ์ของโจทก์ โดยการดัดแปลงบทความอันมีลิขสิทธิ์ของโจทก์ และนำไปตีพิมพ์ในนิตยสาร 3 ฉบับ เท่ากับว่าโจทก์ได้บรรยายฟ้องแล้วว่า การที่จำเลยที่ 1 ตีพิมพ์บทความเอกสารหมาย จ.7 ถึง จ.9 ในนิตยสารเป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์ด้วย เมื่อบทความเอกสารหมาย จ.7 ถึง จ.9 มีข้อความว่า “พ.ญ.ปองศิริแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนัง” ซึ่งหมายถึงโจทก์ปรากฏอยู่ และคดีเป็นอันรับฟังแล้วว่าบทความเอกสารหมาย จ.7 ถึง จ.9 ไม่ใช่บทความที่โจทก์ได้จัดทำขึ้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นควรพิจารณาต่อไปว่าการใช้ชื่อโจทก์ในบทความเอกสารหมาย จ.7 ถึง จ.9 เป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์หรือไม่ ซึ่งฝ่ายจำเลยนำสืบรับว่า มีการลงชื่อของโจทก์ในบทความเอกสารหมาย จ.7 ถึง จ.9 จริง แต่ฝ่ายจำเลยอ้างว่าได้ตกลงให้โจทก์มีชื่ออยู่ใต้บทความที่จะโฆษณาเพราะต้องการให้โจทก์มีชื่อเสียงในการโฆษณาดังกล่าวด้วย ส่วนโจทก์ยืนยันว่า โจทก์ไม่ทราบเรื่องและไม่ได้อนุญาตให้ตีพิมพ์บทความดังกล่าว เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 18 บุคคลย่อมมีสิทธิในการใช้ชื่อของตนโจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของชื่อเบิกความยืนยันว่า ไม่เคยอนุญาตให้นำชื่อของตนไปใช้ ส่วนฝ่ายจำเลยไม่มีหลักฐานใด ๆ ที่เกี่ยวข้องโดยตรงมาแสดงว่าโจทก์ให้ความยินยอมแล้ว พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักน่าเชื่อถือมากกว่าฝ่ายจำเลย ดังนั้น การที่จำเลยที่ 1 ใช้ชื่อโจทก์ในบทความเอกสารหมาย จ.7 ถึง จ.9 โดยไม่ได้รับอนุญาตย่อมเป็นการละเมิดต่อสิทธิในชื่อของโจทก์ จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วยในผล อุทธรณ์ของ่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 5 ในข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยต่อไปมีว่า จำเลยที่ 1 จะต้องรับผิดต่อโจทก์เพียงใด เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 438 นั้น ศาลอาจกำหนดค่าสินไหมทดแทนให้ตามควรแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิด เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า โจทก์เป็นแพทย์เฉพาะทางด้านผิวหนัง และเป็นอาจารย์พิเศษสอนวิชาแพทยศาสตร์ สาขาผิวหนังเฉพาะทางด้านศัลยกรรมผิวหนัง เท่ากับว่าโจทก์เป็นบุคคลที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเป็นที่ยอมรับในสาขาอาชีพของตน การตีพิมพ์บทความซึ่งมีชื่อของโจทก์แต่มีข้อความที่โจทก์ไม่เห็นด้วย เช่น การระบุเน้นถึง ดี-แอลฟา-โทโคเฟอริล อะซิเตต (d-alpha-tocopheryl acetate) ซึ่งมีลักษณะเป็นการสนับสนุนผลิตภัณฑ์วิตามิน อี ของจำเลยที่ 1 และอาจทำให้บุคคลทั่วไปเข้าใจผิดในคุณสมบัติของวิตามิน อี จากธรรมชาติ รวมทั้งการใช้ชื่อของโจทก์ในลักษณะที่เกี่ยวข้องกับการประชาสัมพันธ์สินค้าของจำเลยที่ 1 ย่อมทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายต่อชื่อเสียงตำแหน่งหน้าที่ ตลอดจนสถานภาพในสังคมของโจทก์ และการที่จำเลยที่ 1 ตีพิมพ์บทความเอกสารหมาย จ.7 ถึง จ.9 ในนิตยสารจำนวน 3 ฉบับ น่าจะทำให้บทความดังกล่าวแพร่หลายทั่วไปในสังคม ถือได้ว่าการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ได้สร้างความเสียหายให้แก่โจทก์ นอกจากนี้ การที่จำเลยที่ 1 ติดต่อให้โจทก์จัดทำบทความให้ แต่จำเลยที่ 1 กลับใช้ชื่อของโจทก์ในบทความของตนเองเพื่อใช้ในการโฆษณาเผยแพร่สินค้าของจำเลยที่ 1 ย่อมจะทำให้โจทก์ขาดประโยชน์อันพึงได้รับจากการสร้างสรรค์บทความของโจทก์ด้วย อย่างไรก็ดี โจทก์ไม่ได้นำสืบให้ปรากฏชัดถึงความเสียหายเหล่านี้ที่เกิดขึ้นจริงในลักษณะที่เป็นตัวเงิน ทั้งข้อมูลในบทความเอกสารหมาย จ.7 ถึง จ.9 ไม่ปรากฏชัดว่ามีข้อผิดพลาดหรือไม่ถูกต้องเช่นใด รวมถึงข้อนำสืบของโจทก์ในทำนองที่ว่า โจทก์อาจต้องรับผิดชอบในการนำเสนอข้อมูลหรือบทความที่ไม่ถูกต้อง สาธารณชนอาจจะไม่เชื่อถือในความรู้ของโจทก์ และการนำเสนอข้อมูลหรือบทความเช่นนี้ขัดกับระเบียบของแพทยสภานั้น ก็ไม่ปรากฏชัดว่าความเสียหายดังกล่าวเกิดขึ้นต่อโจทก์แล้วหรือไม่ เพียงใด ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศจึงเห็นสมควรกำหนดให้ตามความเหมาะสมเป็นเงินจำนวน 200,000 บาท อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 5 ในข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน

ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 5 เป็นประการสุดท้ายมีว่า จำเลยอื่นต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์หรือไม่ โดยฝ่ายจำเลยอุทธรณ์ในทำนองว่า การที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางนำพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 74 มาพิจารณาเป็นข้อสันนิษฐานว่า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ในฐานะกรรมการของจำเลยที่ 1 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคลด้วย เว้นแต่ฝ่ายจำเลยจะนำสืบให้เห็นเป็นอย่างอื่นนั้นไม่ถูกต้อง เห็นว่า เมื่อคดีเป็นอันรับฟังว่า จำเลยที่ 1 ละเมิดสิทธิในชื่อของโจทก์ หาได้ละเมิดลิขสิทธิ์ของโจทก์แล้ว กรณีย่อมไม่จำต้องพิจารณาว่าจะนำข้อสันนิษฐานตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 74 มาใช้แก่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 หรือไม่อีกต่อไปเมื่อไม่ได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานของกฎหมายแล้ว โจทก์จะต้องนำสืบตามข้อกล่าวอ้างของตนให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ในการละเมิดสิทธิของโจทก์เช่นใด ซึ่งในประเด็นนี้โจทก์มีตัวโจทก์มาเบิกความเพียงว่า จำเลยทั้งหกร่วมกันละเมิดสิทธิของโจทก์ โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 กระทำการใดอันมีลักษณะเป็นการร่วมกับจำเลยที่ 1 ละเมิดสิทธิของโจทก์ ในขณะที่ฝ่ายจำเลยมีนางสาววิชชุลดามาเบิกความในทำนองว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ดำเนินการเกี่ยวกับบทความเอกสารหมาย จ.7 ถึง จ.9 โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 โดยส่วนตัวได้เกี่ยวข้องในการนำบทความเอกสารหมาย จ.7 ถึง จ.9 ตีพิมพ์อย่างไร พยานหลักฐานของโจทก์จึงมีน้ำหนักน้อย ไม่พอรับฟังว่าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ในการละเมิดสิทธิของโจทก์ ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ถึงที่ 5 ในข้อนี้ฟังขึ้น กรณีเกี่ยวด้วยการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ จึงมีผลถึงจำเลยที่ 2 และที่ 6 ซึ่งไม่ได้อุทธรณ์ด้วย ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 45 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 245 (1)”

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 200,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 8 กันยายน 2547) เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 1 ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความรวม 45,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้แทนเพียงเท่าทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดีในชั้นอุทธรณ์ ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 ทั้งสองศาลให้เป็นพับ





( พรเพชร วิชิตชลชัย - พลรัตน์ ประทุมทาน - อร่าม เสนามนตรี )





หมายเหตุ





 

Create Date : 02 กรกฎาคม 2554    
Last Update : 2 กรกฎาคม 2554 18:30:51 น.
Counter : 2352 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  

boxxcatt
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 17 คน [?]




New Comments
Friends' blogs
[Add boxxcatt's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.