Group Blog
 
All Blogs
 
เกมโชว์

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2681/2553


มิสตรอล โปรดุ๊กสิยง ซาค์ล


โจทก์

บริษัทบีอีซี - เทโร เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด (มหาชน)


จำเลย



พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4



งานอันมีลิขสิทธิ์ประเภทศิลปประยุกต์ที่นำเอางานศิลปกรรมประเภทงานภาพร่าง ภาพประกอบ และหรืองานสถาปัตยกรรม อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างมารวมกัน ตามพ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4 ได้ให้นิยามศัพท์คำว่า “ศิลปกรรม” ไว้ ในส่วนของงานสถาปัตยกรรมนั้นจะต้องเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับอาคารหรือสิ่งปลูกสร้าง ไม่ใช่เป็นเพียงการออกแบบตกแต่งสถานที่ที่ใช้ในการผลิตรายการ ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างใดๆ โดยตรง สำหรับงานภาพร่างและงานภาพประกอบนั้น ตามนิยามศัพท์ข้างต้น งานภาพร่างและงานภาพประกอบจะต้องเกี่ยวกับภูมิศาสตร์ ภูมิประเทศ หรือวิทยาศาสตร์ด้วย ไม่ใช่งานภาพร่างหรืองานภาพประกอบใดๆ ก็ได้ เมื่อรูปแบบรายการเกมโชว์ไม่อาจพิจารณาว่าเป็นงานภาพร่าง งานภาพประกอบ และงานสถาปัตยกรรมแล้วย่อมไม่อาจเป็นงานศิลปประยุกต์ได้

นาฏกรรม หมายความว่า “งานเกี่ยวกับการรำ การเต้น การทำท่า หรือการแสดงที่ประกอบขึ้นเป็นเรื่องราว” แต่การเล่นเกมโชว์นับเป็นการแข่งขันภายใต้กรอบกติกาที่กำหนดไว้ ซึ่งผู้เล่นเกมโชว์มีอิสระที่จะกระทำการใดๆ ภายใต้กรอบกติกาดังกล่าวเพื่อให้ตนชนะการเล่นเกมโชว์นั้น มิใช่ว่าผู้เล่นเกมโชว์จะต้องปฏิบัติตนไปตามรูปแบบและกฎกติกาที่กำหนดไว้ เพราะมิเช่นนั้นแล้วการเล่นเกมโชว์ย่อมจะไม่ใช่การแข่งขันอย่างแท้จริง การเล่นเกมโชว์จึงเป็นเช่นเดียวกับการแข่งขันกีฬา ไม่ใช่งานเกี่ยวกับการรำ การเต้น การทำท่า หรือการแสดงที่ประกอบขึ้นเป็นเรื่องราวอันจะถือได้ว่าเป็นงานนาฏกรรมได้ รูปแบบรายการเกมโชว์ของโจทก์จึงไม่ใช่งานนาฏกรรม



________________________________



โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้อง ขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์รวมเป็นเงิน 730,005,316 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นรายเดือน เดือนละ 672,672,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะหยุดการกระทำละเมิดต่อโจทก์ ให้จำเลยหยุดผลิตและหรือแพร่เสียงแพร่ภาพรายการไทยแลนด์อเมซซิ่งเกมส์ ให้ยึดหรืออายัดเครื่องมือ อุปกรณ์ และเอกสารต่าง ๆ ที่ใช้ในการจัดทำรายการไทยแลนด์อเมซซิ่งเกมส์ รวมทั้งวิดีโอเทปที่ได้แพร่เสียงแพร่ภาพออกอากาศไปแล้ว และที่ยังมิได้นำฉายออกอากาศ ให้จำเลยลงโฆษณาคำพิพากษาของศาลในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ เดลินิวส์ กรุงเทพธุรกิจ บางกอกโพสต์ และเดอะเนชั่น เป็นเวลา 15 วัน

จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ

โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า ตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า รูปแบบรายการเกมโชว์ที่ใช้ชื่อว่า “อินเตอร์ซิตี้ส์” เป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ที่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ.2537 มาตรา 4 ได้ให้นิยามศัพท์คำว่า “ศิลปกรรม” ไว้โดย (4) งานสถาปัตยกรรม ได้แก่ งานออกแบบอาคารหรือสิ่งปลูกสร้าง งานออกแบบตกแต่งภายในหรือภายนอก ตลอดจนบริเวณของอาคารหรือสิ่งปลูกสร้าง หรือการสร้างสรรค์หุ่นจำลองของอาคารหรือสิ่งปลูกสร้าง (6) งานภาพประกอบ แผนที่ โครงสร้าง ภาพร่าง หรืองานสร้างสรรค์รูปทรงสามมิติ อันเกี่ยวกับภูมิศาสตร์ ภูมิประเทศ หรือวิทยาศาสตร์ และ (7) งานศิลปประยุกต์ ได้แก่ งานที่นำเอางานตาม (1) ถึง (6) อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างรวมกันไปใช้ประโยชน์อย่างอื่น นอกเหนือจากการชื่นชมในคุณค่าของตัวงานดังกล่าวนั้น เช่น นำไปใช้สอย นำไปตกแต่งวัสดุหรือสิ่งของอันเป็นเครื่องใช้ หรือนำไปใช้เพื่อประโยชน์ทางการค้า จะเห็นได้ว่า ในส่วนของงานสถาปัตยกรรมนั้นจะต้องเป็นงานที่เกี่ยวข้องกับอาคารหรือสิ่งปลูกสร้าง (Building) ไม่ใช่เป็นเพียงการออกแบบตกแต่งสถานที่ที่ใช้ในการผลิตรายการ ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างใด ๆ โดยตรง สำหรับงานภาพร่างและงานภาพประกอบนั้น ตามนิยามศัพท์ข้างต้น งานภาพร่าง และงานภาพประกอบจะต้องเกี่ยวกับภูมิศาสตร์ ภูมิประเทศ หรือวิทยาศาสตร์ด้วย ไม่ใช่งานภาพร่างหรืองานภาพประกอบใด ๆ ก็ได้ตามที่โจทก์อุทธรณ์โดยอ้างกฎหมายของประเทศสาธารณรัฐฝรั่งเศส เมื่อรูปแบบรายการเกมโชว์ไม่อาจพิจารณาว่าเป็นงานภาพร่าง งานภาพประกอบ และงานสถาปัตยกรรมแล้ว ย่อมไม่อาจเป็นงานศิลปประยุกต์ตามฟ้องได้

สำหรับประเด็นว่า รูปแบบรายการเกมโชว์ของโจทก์เป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ประเภทงานนาฏกรรมหรือไม่ เห็นว่า นิยามศัพท์คำว่า งานนาฏกรรม หมายความว่า “งานเกี่ยวกับการรำ การเต้น การทำท่า หรือการแสดงที่ประกอบขึ้นเป็นเรื่องราว” แม้โจทก์จะนำสืบในทำนองว่า การเล่นเกมโชว์เป็นไปตามรูปแบบและกฎกติกาที่มีการกำหนดเอาไว้ ถือเป็นการแสดงที่ประกอบขึ้นเป็นเรื่องราว แต่จะเห็นได้ว่า การเล่นเกมโชว์นับเป็นการแข่งขันภายใต้กรอบกติกาที่กำหนดไว้ ซึ่งผู้เล่นเกมโชว์มีอิสระที่จะกระทำการใด ๆ ภายใต้กรอบกติกาดังกล่าวเพื่อให้ตนชนะการเล่นเกมโชว์นั้น หาใช่ว่าผู้เล่นเกมโชว์จะต้องปฏิบัติตนไปตามรูปแบบและกฎกติกาที่กำหนดไว้ เพราะมิเช่นนั้นแล้ว การเล่นเกมโชว์ย่อมจะไม่ใช่การแข่งขันอย่างแท้จริง การเล่นเกมโชว์จึงเป็นเช่นเดียวกับการแข่งขันกีฬา หาใช่งานเกี่ยวกับการรำ การเต้น การทำท่า หรือการแสดงที่ประกอบขึ้นเป็นเรื่องราวอันจะถือได้ว่าเป็นงานนาฏกรรมได้ รูปแบบรายการเกมโชว์ตามฟ้องของโจทก์จึงไม่ใช่งานนาฏกรรม...

พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ





( พรเพชร วิชิตชลชัย - พลรัตน์ ประทุมทาน - อร่าม เสนามนตรี )



ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง - นายตุล เมฆยงค์



หมายเหตุ




Create Date : 02 กรกฎาคม 2554
Last Update : 2 กรกฎาคม 2554 18:10:36 น. 0 comments
Counter : 1760 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

boxxcatt
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 17 คน [?]




New Comments
Friends' blogs
[Add boxxcatt's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.