bloggang.com mainmenu search



พระสาทิสลักษณ์จากกระทู้ "พระราชินีที่สวยที่สุดในโลก"


เพลงพระราชนิพนธ์ แสงเดือน




ชวนไปชมพิพิธภัณฑ์ผ้าในสมเด็จพระนางเจ้าฯ กันค่ะ ตอนที่ได้ข่าวเปิดพิพิธภัณฑ์ก็อยากไปมาก แต่ก็ยังไม่ได้จังหวะสักที พอดีอ่านคอลัมน์ที่เขียนถึงพิพิธภัณฑ์ในกรุงเทพธุรกิจ ก็เลยแฮ้บมาลงบล็อกก่อน นสพ.ลงตั้งแต่เดือนที่แล้ว กว่าจะเขียนบล็อกเสร็จก็เป็นเดือนเลย บล็อกนี้ขออนุญาตใส่ข้อมูลแบบเต็ม ๆ ไว้ได้ไปชมพิพิธภัณฑ์เมื่อไหร่ ค่อยให้ชมภาพเป็นหลัก


ดีใจมากตอนที่รู้ข่าวพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ เพราะเราชอบชุดไทยค่ะ ขนาดเห็นแค่ภาพฉลองพระองค์ของสมเด็จฯ ที่อัญเชิญมาจัดแสดงก็ยังรู้สึกตื่นเต้น ถ้าไปเห็นด้วยตาคงตื่นตาตื่นใจน่าดู แต่ละองค์ตัดเย็บได้อย่างงดงามประณีตเป็นที่สุด ต้องยกย่องพระอัฉจริยภาพในการออกแบบของสมเด็จฯ ชุดไทยพระราชนิยมทั้งแปดแบบมีความงดงาม มีเอกลักษณ์ ถึงจะออกแบบมานานหลายสิบปีแต่ก็ไม่เชยเลย ที่สำคัญคือ เป็นชุดที่เหมาะกับรูปร่างผู้หญิงไทยที่สุด


สาวไทยเวลาใส่ชุดไทยแล้วจะดูสวยทุกคนเลยนะ แต่เราไม่ชอบชุดไทยสมัยใหม่อยู่อย่างคือ ส่วนใหญ่จะตัดแบบเอวต่ำ เอวกระโปรงจะมาอยู่ตรงสะโพกบน ที่ถูกแล้ว เอวต้องเป็นเอว อย่างชุดแต่งงานของสาวแอฟที่จัดที่เขาใหญ่นั่นแหละค่ะ ต้องชมแอฟที่เลือกเก่ง ทั้งแบบและสีเลิศมากกก ช่างก็ตัดเย็บได้เนี๊ยบ ถือได้ว่าเป็นชุดไทยที่งดงามมากจริง ๆ










ฉลองพระองค์ชุดไทยพระราชนิยม องค์กลางเป็นฉลองพระองค์ชุดไทยดุสิต
ออกแบบโดย ปิแอร์ บัลแมง สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถทรงในโอกาส
เสด็จพระราชดำเนินงานแสดงนาฏศิลป์ของกรมศิลปากร
ณ หอประชุมธรรมศาสตร์เมื่อวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ ๒๕o๗



ตระการตา ราชพัสตราภรณ์ ทูตวัฒนธรรมไทยที่งดงามและล้ำลึก



ฉลองพระองค์ของ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ มีความหมายมากกว่าความงดงามในการออกแบบตัดเย็บด้วยผ้าไทย หากยังบ่งบอกถึงนัยอีกหลายประการ

ไม่ว่าจะเป็นการบ่งบอก ถึงความเป็นเอกลักษณ์ของวัฒนธรรมการแต่งกายของสตรีไทย การสื่อให้เห็นถึงความสวยงามของผ้าไทยอันเกิดจากฝีมือของคนไทย

ฉลองพระองค์ของ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ยังเปรียบเสมือนทูตทางวัฒนธรรมที่ทำหน้าที่เผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมไทยในต่างแดน ทั้งยังเป็นการอนุรักษ์และสนับสนุนผลงานหัตถกรรมของชาวบ้านได้มีรายได้ใน ครัวเรือนเพิ่มขึ้นโดยไม่ต้องดิ้นรนย้ายถิ่นฐานไปทำงานต่างถิ่น






ตลอดระยะเวลา ๔๒ ปีที่ทรงงานมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ 'ฉลองพระองค์' มีส่วนเกี่ยวพันกับชาวบ้านในถิ่นทุรกันดารอย่างไร การเดินทางจากหม่อนไหมมาสู่ผืนผ้า ผ่านการทำงานของนักออกแบบ ช่างตัดเย็บ ชาวไทยและต่างประเทศ ก่อนจะเผยแพร่ออกสู่สายตาชาวโลกเพื่อแสดงให้เห็นถึงความงดงามของเอกลักษณ์ ไทย มีเส้นทางอย่างไร ?

มีคำตอบที่ชัดเจนในความรู้สึก ตระการตาที่ได้ชมฉลองพระองค์จริง และเนื้อหาที่จัดแสดง ณ พิพิธภัณฑ์ผ้า ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ภายในหอรัษฎากรพิพัฒน์ ในพระบรมมหาราชวัง











หอรัษฎากรพิพัฒน์
ภาพจากเวบ matichon.co.th



พิพิธภัณฑ์ผ้า ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ



พิพิธภัณฑ์ผ้าฯ ใน สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ จัดตั้งขึ้นตามแนวพระราชดำริ ของ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ซึ่งทรงสนับสนุนงานทอผ้าให้เป็นอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ แก่ราษฎรมาเป็นระยะเวลาหลายสิบปี และทรงเล็งเห็นว่าผ้าไทยงดงามและมีเอกลักษณ์ ควรอนุรักษ์ไว้มิให้สูญหาย ทรงมุ่งหวังให้พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นแหล่งเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับผ้าทั้งใน ราชสำนักและท้องถิ่น ทั้งนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ รับเป็นประธานในการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์

พิพิธภัณฑ์ผ้าฯ เป็นหน่วยงานหนึ่งภายใต้มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เป็นศูนย์กลางการเก็บรักษาและจัดแสดงผ้าประเภทต่าง ๆ รวมทั้งจัดแสดงฉลองพระองค์ใน สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ โดยแบ่งการจัดแสดงเป็น ๓ นิทรรศการ ได้แก่ ราชพัสตราจากผ้าไทย ไทยพระราชนิยม และ พระหัตถ์ที่ทรงงานเพื่อแผ่นดิน















ฉลองพระองค์แบบผสมผสานไทย โดย ปิแอร์ บัลแมง
ตัดเย็บจากผ้าทอยกทองลายดอกดาวกระจาย
บริเวณสไบปักด้วยลูกปัดสีทอง เลื่อม และคริสตัล
เช่นเดียวกับผ้าสองชิ้นด้านหน้าของพระสนับเพลา (แบบโจงกระเบน)
แถบผ้าสองชิ้นด้านหน้าคล้ายเครื่องแต่งกายในพระราชพิธีโสกันต์
ทรงในงานสองร้อยปีแห่งสายสัมพันธ์ จัดขึ้นเนื่องในโอกาสสมโภชกรุงรัตนโกสินทร์ ๒oo ปี
ณ พระราชวังบางปะออิน ๒๑ ตุลาคม ๒๕๒๕



ราชพัสตราจากผ้าไทย



จัดแสดงฉลองพระองค์ชุดสากลใน สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นักออกแบบไทยและต่างชาตินำผ้าไหมไทยมาใช้ในการตัดเย็บ ทำให้ผ้าไทยที่สวยงามเป็นเอกลักษณ์ และเกิดจากภูมิปัญญาท้องถิ่นเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง ถือเป็นพระราชกุศโลบายในการเผยแพร่และส่งเสริมผ้าไทย รวมทั้งศิลปวัฒนธรรมด้านการแต่งกายของสตรีไทยให้เป็นที่รู้จักในระดับสากล

อลิสา ใสเศวตวารี เจ้าหน้าที่ภัณฑารักษ์ ในห้องจัดแสดงราชพัสตราจากผ้าไทย อธิบายว่าฉลองพระองค์ทุกองค์ตัดเย็บด้วยผ้าไหมจากมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพทั้งหมด ในการเสด็จพระราชดำเนินไปประกอบพระราชกรณียกิจต่าง ๆ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถทรงฉลองพระองค์ผ้าไหมนั้นมีเหตุผลหลายประการ กล่าวคือ





ฉลองพระองค์ชุดไทยจักรพรรดิ (องค์กลาง) ทรงในงานพระราชทานเลี้ยงอาหารค่ำ
แก่นายเชิน ดู ฮวาน ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐเกาหลีใต้และภริยา
ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ๓ กรกฎาคม ๒๕๒๔



"เพื่อเป็นการให้กำลังใจแก่คนทอ ให้เห็นว่าผ้าที่ทอมีคุณค่า มีความสวยงาม ในขณะเดียวกันท่านก็ทรงฉลองพระองค์ผ้าไหมในการเสด็จไปเยือนต่างประเทศด้วย เพื่อเป็นการเผยแพร่ผ้าไทย โดยทรงให้ช่างไทยและช่างต่างชาติเป็นผู้ตัดเย็บเพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ ผ้าไทยอีกทางหนึ่งด้วย"

ดังในนั้นห้องจัดแสดงนี้ เราจึงได้เห็นฉลองพระองค์ที่ทรงในพระราชกรณียกิจครั้งสำคัญ เช่น การเสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปเยือนสาธารณรัฐประชาชนและสหพันธรัฐรัสเซีย เป็นอาทิ






"การเสด็จพระราชดำเนินในครั้งนั้นเป็นสิ่งที่ทรงภาคภูมิพระทัยที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงวางพระราชหฤทัยให้เป็นผู้แทนพระองค์ ทางพิพิธภัณฑ์จึงนำฉลองพระองค์มาจัดแสดงให้เห็น พระองค์ท่านคิดแม้กระทั่งว่า การเสด็จลงจากเครื่องบิน การตรวจพลสวนสนาม ชุดที่เป็นทางการควรทรงฉลองพระองค์แบบไหนม ทหารเป็นสีเขียว พระองค์ท่านก็ทรงฉลองพระองค์สีเขียว คราวเสด็จไปรัสเซียทรงฉลองพระองค์ประดับปีกแมลงทับ ซึ่งเป็นเทคนิคของราชสำนักไทยโบราณในการปักผ้า เป็นการเผยแพร่งานหัตถศิลป์ไทยในเวทีโลก" สุทธิรัตน์ แก้วอาภรณ์ เจ้าหน้าที่ภัณฑารักษ์ กล่าวเพิ่มเติม











ฉลองพระองค์กางเกงผ้าไหม ที่สะท้อนให้เห็นความงดงามและทันสมัยในการสวมใส่


ไทยพระราชนิยม



จากห้องนิทรรศการจัดแสดงฉลองพระองค์แบบตะวันตกที่ตระการตา มาสู่ห้องจัดแสดงฉลองพระองค์ชุดไทยพระราชนิยมของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถกว่า 30 องค์ ตลอดจนผ้าและเครื่องแต่งกายในราชสำนักที่วิจิตรตระการตา

เจ้าหน้าที่ภัณฑารักษ์ที่รับผิดชอบในส่วนนี้ ศาสตรัตน์ มัดดิน กล่าวว่า

"เมื่อปี พ.ศ. ๒๕o๓ เป็นปีที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จประพาสยุโรปเพื่อเจริญสัมพันธไมตรีกับสหรัฐอเมริกา และประเทศในยุโรปอีก ๑๕ ประเทศ ณ เวลานั้น ผู้หญิงไทยไม่ได้แต่งกายแบบผู้หญิงไทยในสมัยโบราณกันแล้ว พระองค์ท่านจึงย้อนกลับไปดูว่าผู้หญิงไทยในวังสมัยก่อนนั้นแต่งกายกันอย่างไร โดยศึกษาจากภาพถ่ายพบว่าการแต่งกายครึ่งบนก็เป็นฝรั่งแล้วส่วนท่อนล่างยังคงเป็นไทยอยู่ ซึ่งก็ยังไม่ใช่การแต่งกายแบบไทยทั้งหมดอยู่ดี

พระองค์ท่านจึงโปรดให้ตั้งกลุ่มคณะทำงานประกอบไปด้วย ผู้เชี่ยวชาญทางด้านประวัติศาสตร์ ช่างตัดเสื้อ ในช่วงแรกชุดไทยที่ออกมามีหลากหลายแบบมาก ยังไม่ได้เป็น ๘ แบบดังที่พระราชทานในปัจจุบัน





ฉลองพระองค์ชุดราตรีที่เราคุ้นตากันในภาพข่าวพระราชกรณียกิจ



พระองค์ทรงฉลองพระองค์เสด็จพระราชดำเนินไปเวียดนาม พม่า และ เสด็จประพาสยุโรปและอเมริกา หลังจากนั้นทรงเลือกให้เหลือ ๘ แบบเพื่อเป็นชุดไทยพระราชนิยม ประกอบด้วย ชุดไทยเรือนต้น ชุดไทยจิตรลดา ชุดไทยอมรินทร์ ชุดไทยบรมพิมาน ชุดไทยดุสิต ชุดไทยจักรี ชุดไทยศิวาลัย และ ชุดไทยจักรพรรดิ พระราชทานให้สตรีไทยทุกคนไทยได้สวมใส่ เหมือนกับว่าเรามีชุดไทยที่เป็นแบบแผนสำหรับการสวมใส่ในโอกาสต่าง ๆ "

ในห้องนี้เราจะได้เห็นถึงวิวัฒนาการของการแต่งกายของสตรี ในราชสำนักในสมัยโบราณ ที่ต่อมามีการคลี่คลายและวัฒนาการออกมาเป็นชุดไทยพระราชนิยมที่มีงามงดงาม เหมาะสมสำหรับโอกาสที่แตกต่างกันไป





ฉลองพระองค์ชุดไทยบรมพิมาน (องค์กลาง) โดยห้องเสื้อนายน้อย
ตัดเย็บจากผ้าไหมพื้นสีม่วง พระภูษทจีบยกทองสีม่วง ลายโคกพุ่มข้าวบิณฑ์
สันนิษฐานว่าทรงเมื่อปี ๒๕o๘



ภัณฑารักษ์อธิบายว่า เหตุที่ทรงมอบหมายให้ ปิแอร์ บัลแมง นักออกแบบชาวฝรั่งเศสเป็นผู้ออกแบบฉลองพระองค์นั้น เนื่องจากสมัยนั้นยังไม่มีนักออกแบบคนไทยที่เข้าใจถึงระเบียบ วิถีการสมาคมในวัฒนธรรมตะวันตก จึงโปรดเกล้าฯ ให้ ปิแอร์ บัลแมง เป็นผู้ออกแบบโดยใช้ผ้าไทยในการตัดเย็บ ดังนั้นฉลองพระองค์บางองค์ทางผู้ออกแบบจึงให้ช่างฝีมือในฝรั่งเศสเป็นผู้ปัก และประดับด้วยวัสดุที่หาได้ยากในเมืองไทยสมัยนั้น โดยมีลายไทยเป็นพื้นฐาน

ฉลองพระองค์ที่จัดแสดงในห้องนี้เป็นประจักษ์พยานที่สะท้อนให้เห็นถึงพระอัจฉริยภาพของพระองค์ในการสร้างสรรค์ และสืบสานการแต่งกายแบบไทยที่แสดงถึงเอกลักษณ์ไทย การผสมผสานธรรมเนียมการแต่งกายของสตรีไทยในราชสำนักสมัยโบราณให้เข้ากับยุคสมัยปัจจุบันอย่างชัดเจน











ฉลองพระองค์ทรงงาน โดย ปิแอร์ บัลแมง ผ้าไหมหางกระรอกลายตาราง
สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถทรงในโอกาสเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิด
กรงนกใหญ่ ณ สวนสัตว์เปิดเขาเขียว ชลบุรีเมื่อวันที่ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๒๖



พระหัตถ์ที่ทรงงานเพื่อแผ่นดิน



สุทธิรัตน์ แก้วอาภรณ์ เจ้าหน้าที่ภัณฑารักษ์ในนิทรรศการส่วนนี้กล่าวถึงเนื้อหาการจัดแสดงว่า
" เป็นเรื่องพระราชกรณียกิจทางด้านศิลปาชีพ เล่าเรื่องการเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๙๘ หลายคนอาจสงสัยว่าทำไมมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพจึงเกิดขึ้น ในชั้นต้นพระองค์ท่านได้ให้คณะทำงานลงไปเก็บข้อมูล โดยกองราชเลขาธิการ ท่านผู้หญิงสุประภาดา เกษมสันต์ ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ รวมไปถึงเก็บข้อมูลโดยพระองค์เอง แล้วมาคิดกันว่าจะทำอย่างไร

กระบวนการนี้ใช้เวลา ๒ - ๔ ปี กว่าจะเป็นมูลนิธิราว ๕ ปี พระราชทานเงินต้นทุนในการตั้งมูลนิธิเป็นเงินส่วนพระองค์ หลังจากนั้นทรงช่วยชาวบ้านด้วยการเน้น ไม่ได้ให้ชาวบ้านร่ำรวยด้วยการขายงานให้กับโครงการศิลปาชีพ แต่ต้องการให้ชาวบ้านนำรายได้จากการทอผ้าถวายเลี้ยงปาก เลี้ยงท้อง พออยู่ พอกิน ไม่ต้องย้ายถิ่นฐาน ไม่ต้องเป็นหนี้





ฉลองพระองค์ชุดราตรีที่สวยงามด้วยผ้าไทย



ต้องการให้งานหัตถศิลป์หัตถกรรมที่ชาวบ้านทำเป็นอยู่แล้ว มาพัฒนาชีวิตตนเอง คือ ไม่ได้ไปเป็นครูเขา แต่ชาวบ้านเป็นครูให้กับเรา โดยพระองค์ท่านพระราชทานเรื่องอื่น ๆ เป็นองค์ประกอบ เช่น กี่พระราชทาน อุปกรณ์ในการทอ เช่น ไหม หมู่บ้านไหนที่ทอผ้าสวยก็ส่งเสริมให้ทอผ้า หมู่บ้านไหนที่ทอผ้าได้ไม่ดีมาก ก็ส่งเสริมให้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม"

สุทธิรัตน์ กล่าวว่า "พระองค์ท่านทรงคิดทั้งกระบวนการ วิธีการทำงาน ค่อย ๆ คิด ค่อย ๆ ทำ ให้คนในหมู่บ้านทอผ้าด้วยความรัก เหมือนคนโบราณที่ทอสวมใส่เองและมีความเป็นศิลปิน เพราะฉะนั้นตัวแพทเทิร์น ตัวลายที่นำมาจากสุนทรียภาพของผู้ทอกับการทอเพื่อขายมีความต่างกัน เราไม่ได้ส่งเสริมให้ทอกันร้อยเมตร สี่ร้อยเมตร แต่เราให้เขาทอเป็นการอนุรักษ์ด้วยทางหนึ่ง เพื่อให้งานผ้าทอนั้นคงอยู่"











ฉลองพระองค์ชุดไทยจักรี ออกแบบโดย ปิแอร์ บัลแมง
ทรงในงานถวายพระกระยาหารค่ำซึ่ง สมเด็จพระราชินีอลิซาเบ็ธที่ ๒ แห่งสหราชอาณาจักร
และดยุคแห่งเอดินเบอระทรงจัดถวายบนเรือพระที่นั่งบริแทนเนีย
ณ ท่าเทียบเรือ โรงเรียนนายเรือสมุทรปราการ ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๕



จากคณะราตรีสู่ศิลปาชีพ



ในส่วนแรกของนิทรรศการเล่าเรื่องคณะราตรี (รหัสสื่อสารทางวิทยุที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานแก่ ท่านผู้หญิงสุประภาดา เกษมสันต์ ราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระบรมราชินีนาถ และผู้ช่วยคือ ท่านผู้หญิงจรุงจิตต์ ทีขะระ ใช้ในการลงพื้นที่สำรวจความเป็นอยู่ของราษฎร) ลงไปเก็บข้อมูล ทำไมต้องเก็บผ้าถูเรือนกลับมา เพราะว่าในยุคนั้นผ้าไหมมัดหมี่ไม่มีแล้ว มีแค่อยู่กับตัวเจ้าของ แต่การทอขายไม่มี ที่เจอเป็นผ้าฝ้าย ผ้าไหมนำเข้า ต้องรื้อฟื้นฟูกันใหม่ทำอย่างไรจะให้ชาวบ้านรู้จักปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ฟื้นฟูสิ่งที่เขาทำเป็นอยู่แล้วให้เป็นอาชีพเสริม เลยกลายเป็นพระราชกรณียกิจด้านศิลปาชีพ"

ต่อเนื่องด้วยการเล่าเรื่องหมู่บ้านที่มีการปลูกหม่อน เลี้ยงไหมแบบโบราณเป็นไหมไทยพันธุ์แท้ ทุกขั้นตอนทำด้วยมือทั้งหมด การย้อมผ้าด้วยธรรมชาติ มีการทอเป็นเอกลักษณ์ที่งดงาม





ฉลองพระองค์ราตรีผ้าไหมเขียว ปักด้วยเลื่อมลายอันงดงาม



"มีเรื่องราวของบ้านป้าทุ้ม ป้าไท้ ที่สกลนคร สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จถึงสามครั้ง ด้วยความที่ชาวบ้านซื่อ บริสุทธิ์ รักพระองค์ท่าน ยอมทำงานถวายพระองค์ท่านมาตลอดสามสิบปี เป็นการผูกมิตรจิต มิตรใจ ระหว่างพระองค์ท่านกับราษฎร ทรงพระราชทานฉลองพระองค์ไว้ ความจริงต้องการให้ชาวบ้านทอลายเดิมเหมือนในฉลองพระองค์ แต่กลายเป็นว่าชาวบ้านเอาฉลองพระองค์ขึ้นหิ้งบูชา บูชาด้วยดอกสะเลเตทุกวันพระ เป็นสายสัมพันธ์ระหว่างสถาบันกับประชาชน





ภาพจากเวบ wikilenda.com



สุดท้ายเป็นวีดิโอความยาว ๑๘ นาที ซึ่งไม่จำเป็นต้องดูครบ ๑๘ นาที ก็จะได้ใจความเดียวกัน ตอนเราสัมภาษณ์ถ่ายทำไม่มีสคริปท์ แค่เราถามว่าตลอดสามสิบปีที่เขาเป็นสมาชิกศิลปาชีพเขาได้อะไรบ้าง และได้ไปพัฒนาชีวิตอะไรบ้าง คือไม่ว่าใครจะพูดเหมือนกันว่าชีวิตเขาดีขึ้น
หนึ่ง ไม่ต้องย้ายถิ่นฐาน สอง พอเพียงอยู่ที่บ้าน สาม มีความสุข ดัชนีความสุข คือ การได้ทำงานถวายพระราชินี เรื่องผ้าเป็นเพียงฉากหน้า ฉากหลังมีเรื่องราวมากมายรวมถึงวิธีคิด ยิ่งถ้าหมู่บ้านไหนเชื่อเรื่องพระราชกรณียกิจ พระราชดำริ ร่ำรวยไปเลย เพราะถ้าเขาต่อยอด ท่านบอกว่าให้เขานำงานแฮนด์คราฟท์มาทำ ที่ทำเป็นอยู่แล้ว แล้วคิดว่างานเหล่านี้ ถ้าเอาดีไซน์เข้ามาช่วย จากผ้าไหมมัดหมี่ที่คนแก่ใช้นำมาเป็นผ้าคลุมไหล่ กระเป๋า ส่งเมืองนอก ซึ่งเขาให้คุณค่าของงานหัตถกรรมไทยทำให้ยอดออเดอร์ที่สั่งมายิ่งเยอะ"





ชุดไทยพระราชนิยมทั้งแปดแบบ จากซ้ายไปขวา
ด้านบน ชุดไทยเรือนต้น ชุดไทยจิตรลดา ชุดไทยอมรินทร์ ชุดไทยบรมพิมาน
ด้านล่าง ชุดไทยจักรี ชุดไทยจักรพรรดิ์ ชุดไทยดุสิต ชุดไทยศิวาลัย
ภาพจากกระทู้ "ชุดไทยพระราชทาน" เครื่องแต่งกายที่เหมาะกับหญิงไทยที่สุดในโลก












แผนกอนุรักษ์ผ้าในพิพิธภัณฑ์


เปิดใจภัณฑารักษ์



ปิยวรา ทีขะระ หัวหน้าโครงการพิพิธภัณฑ์ ผู้รับผิดชอบในเรื่องนิทรรศการ งานอนุรักษ์ งานห้องทะเบียน กล่าวถึงการทำงานจัดตั้งพิพิธภัณฑ์ผ้าใน สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ว่าเข้ามารับผิดชอบต่อจากอาจารย์สมิทธิ ศิริภัทร เมื่อ ๕ ปีก่อน นับรวมกับที่อาจารย์สมิทธิดำเนินงานมาทั้งหมดรวม ๙ ปี

"วัตถุประสงค์ของพิพิธภัณฑ์คือ ต้องการให้เป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องผ้า ในเบื้องต้นอยากจะเน้นเรื่องพระราชกรณียกิจของ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทางด้านผ้า ในอนาคตจะมีเนื้อหาอื่น ๆ มานำเสนอต่อไป





ห้องแสดงนิทรรศการพระหัตถ์ที่ทรงงานเพื่อแผ่นดิน



สำหรับนิทรรศการทั้ง ๓ ห้อง เราถือว่าเป็นไฮไลต์ทั้งหมด เพราะว่าแต่ละห้องจะมีเสน่ห์และความน่าสนใจไปคนละแบบ นอกจากนี้ ที่นี่ยังเป็นแห่งแรกในประเทศไทยที่มีห้องแลบสำหรับอนุรักษ์ผ้าโดยเฉพาะ เนื่องจากเราเป็นพิพิธภัณฑ์ผ้า เราดำเนินการซ่อมผ้าในราชสำนัก ผ้าในชาติพันธุ์ที่เป็นคอลเลคชั่นของพิพิธภัณฑ์ ในอนาคตเราจะมีโปรเจคที่น่าสนใจสำหรับการนำเสนอต่อไป " หัวหน้าโครงการพิพิธภัณฑ์ กล่าวสั้น ๆ





ภาพจากเวบ wikilenda.com



สุทธิรัตน์ แก้วอาภรณ์ เจ้าหน้าที่ภัณฑารักษ์ บอกกับเราว่าการทำงานที่นี่ให้มากกว่าความรู้

"อย่างน้อยก็เป็นคนรุ่นใหม่ที่ได้เรียนรู้ จากที่เมื่อก่อนไม่ได้สนใจพระราชกรณียกิจมากเท่าไร รู้ว่า เรารักในหลวง รัก สมเด็จพระนางเจ้าฯ แต่ในรายละเอียดแล้ว เราไม่รู้ว่าพระองค์ทรงทำอะไรบ้าง พอมาทำงานตรงนี้เราได้ศึกษาประวัติศาสตร์พระราชกรณียกิจ เราได้รู้ว่าสิ่งที่พระองค์ท่านทำเพื่ออะไร สิ่งที่พระองค์ท่านทรงคิดเป็นกุศโลบายที่เราคิดไม่ออก เช่น เสด็จพระราชดำเนินไปอีสาน ทำไมต้องเสด็จพระราชดำเนินทางอ้อม ได้คำตอบว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินทางอ้อมก็เพราะว่า ราชการจะได้ตัดถนนไปทั่ว ถ้าเดินทางลัดถนนก็จะเป็นช่วงสั้น ๆ





ภาพจากเวบ wikilenda.com



การพบสมุดจดของท่านผู้หญิงสุประภาดา ปี ๒๕๑๗ ทำให้เราทราบว่าคนสมัยก่อนละเอียดมาก จดบันทึกเป็นรายคนมีเศษผ้าตัวอย่างแปะไว้ เวลาให้ไปทำการบ้าน สมาชิกศิลปาชีพเป็นหมื่นเป็นพันแต่มีเรคคอร์ดทุกคน ไม่มีใครถูกละเลย เช่น คนนี้ป่วยก็มีการตามผลการรักษา ป่วยรักษาที่ไหน ผลการรักษาเป็นอย่างไร เบื้องหลังในการทำละเอียดทุกเม็ดทุกขั้นตอน แม้ว่าป้าคนนี้ทอผ้าสวย ทอผ้าเก่ง ประวัติจะอยู่ในเอนไซโคปิเดียของ สมเด็จพระนางเจ้าฯ บนโต๊ะทรงงาน นางประจวบ จันทร์นวล ทอผ้าลายนี้เก่ง สมมติคนออเดอร์ผ้าลายนี้ ก็จะส่งให้นางคนนี้เป็นผู้ทอ ใครทอไม่เก่งก็จะส่งครูไปสอนให้ เรียกว่าอยู่ในพระเนตรพระกรรณหมด"








ห้องแลบดูแลผ้าและฉลองพระองค์ในพิพิธภัณฑ์
ภาพจากเวบ hiclasssociety.com



ศาสตรัตน์ มัดดิน กล่าวว่า "ตอนแรกหนูเข้ามาในฐานะนักศึกษาฝึกงาน ไม่ได้คิดอะไรมากแค่อยากฝึกงาน พอเข้ามาแล้ว เหมือนได้รู้อะไรที่เด็กในรุ่นเราไม่ค่อยได้รู้ ที่นี่มีหนังสือเกี่ยวกับพระราชวงศ์ เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ผ้า ทำให้เราได้รู้ว่าการที่ในหลวงและ สมเด็จพระนางเจ้าฯ ทรงงาน เราอาจได้เห็นแค่ข่าวในพระราชสำนักแวบเดียว แต่ในรายละเอียดที่เราได้อ่านจากในหนังสือมีมากมาย หลังเรียนจบคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร จึงตัดสินใจมาสมัครงานที่นี่ ดีใจที่เราได้รับโอกาสมากกว่าคนอื่นที่ไม่ได้ทำงานที่นี่ ถ้าไม่ทำงานพิพิธภัณฑ์อื่นคงไม่ได้มีโอกาสทราบเรื่องฉลองพระองค์ ไม่ได้สัมผัสกับฉลองพระองค์ ไม่มีโอกาสดี ๆ มากขนาดนี้ ได้รู้อะไรมากกว่าคนอื่น รู้สึกรักที่นี่ค่ะ"





คุณปิยวรา ทีขะระ หัวหน้าโครงการพิพิธภัณฑ์



อลิสา ใสเศวตวารี หนึ่งในสามของเจ้าหน้าที่ภัณฑารักษ์บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยศิลปากรเช่นกัน บอกกับเราว่า

"เรียนจบคณะจิตรกรรมฯ ถามตัวเองว่าถ้าไม่เป็นศิลปินเราจะเป็นอย่างอื่นได้มั้ย จนกระทั่งไปหาพี่สาวที่อเมริกา ได้ไปเที่ยวมิวเซียมต่าง ๆ ทำให้สนใจงานภัณฑารักษ์ กลับมาจึงมาเรียนการจัดการทางวัฒนธรรม ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เห็นที่นี่เปิดรับสมัครกราฟฟิก เลยมาลองสมัคร พี่ไหม (ปิยวรา ทีขะระ) ถามว่านอกจากกราฟฟิกอยากทำอย่างอื่นหรือเปล่า บอกว่าอยากเป็นภัณฑารักษ์ เมื่อได้โอกาสเป็นภัณฑารักษ์ รู้สึกดีใจที่เราได้มีโอกาสทำงานที่นี่ซึ่งเป็นเสมือนของมีค่าของแผ่นดิน รู้สึกดีใจที่ได้รับรู้และได้นำสิ่งดี ๆ เหล่านี้เผยแพร่ให้คนอื่นได้รับรู้ด้วย "ตระการตา ราชพัสตราภรณ์" ประจักษ์พยานแห่งความผูกพันระหว่างคนไทยกับสถาบันที่งดงามและล้ำลึกเกินบรรยาย





ภัณฑารักษ์ทั้ง ๓ คน ได้แค่
ศาสตรัตน์ มัดดิน สุทธิรัตน์ แก้วอาภรณ์ และ อลิสา ใสเศวตวารี



พิพิธภัณฑ์ผ้าฯ เปิดให้ประชาชนผู้สนใจเข้าชมได้ทุกวัน ระหว่างเวลา o๙.oo - ๑๖.๓o น. ปิดจำหน่ายบัตรเข้าชมเวลา ๑๕.๓o น. อัตราค่าเข้าชมผู้ใหญ่ ๑๕o บาท ผู้สูงอายุ (อายุ ๖๕ ปีขึ้นไป) ๘o บาท นักเรียน นักศึกษา ๕o บาท เด็กอายุ ๑๒ - ๑๘ ปี ๕o บาท เด็กอายุต่ำกว่า ๑๒ ปี เข้าชมฟรี และสำหรับผู้ซื้อบัตรเข้าชมพระบรมมหาราชวัง สามารถใช้บัตรดังกล่าวเข้าชมพิพิธภัณฑ์ผ้าฯ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย กรุณาแต่งกายสุภาพ (ห้ามสวมกางเกงขาสั้น) สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่โทร. o๒-๒๒๕-๙๔๒o, o-๒๒๒๕-๙๔๓o, หรือที่เวบไซต์ queensirikitmuseumoftextiles.org


ภาพและข้อมูลจากเวบ
bangkokbiznews.com
chaoprayanews.com
เฟซบุคกรุงเทพธุรกิจ
wikalenda.com









พิพิธภัณฑ์ผ้า ๑




พิพิธภัณฑ์ผ้า ๒




พิพิธภัณฑ์ผ้า ๓




บีจีจากคุณเนยสีฟ้า ไลน์จากคุณญามี่

Free TextEditor


Create Date :19 กรกฎาคม 2555 Last Update :13 สิงหาคม 2559 23:25:17 น. Counter : 48215 Pageviews. Comments :52