bloggang.com mainmenu search




Moon River - Audrey Hepburn




Moon River - Ancy Williams






Moon River
เนื้อร้อง : Henry Mancini
ทำนอง : Johnny Mercer

Moon river, wider than a mile
I'm crossin' you in style some day
Oh, dream maker, you heart breaker
Wherever you're goin', I'm goin' your way

Two drifters, off to see the world
There's such a lot of world to see
We're after that same rainbow's end,
Waitin' 'round the bend
My huckleberry friend, Moon River, and me



ธารแสงจันทร์ เปี่ยมแปร้ แม้กว้างใหญ่
ต้องข้ามได้ สักวัน เฝ้าฝันถึง
เธอสร้างฝัน ชวนใจ ใฝ่คะนึง
ทางไหนซึ่ง เธอไป ฉันใคร่ตาม

สองเกลอจร ร่อนเร่ เตร็ดเตร่โลก
เสาะหาโชค อยู่ไหนหนอ จักขอถาม
แม้ฟ้ากว้าง สองเราฝ่า พยายาม
ไขว่คว้าตาม สุดสายรุ้ง มุ่งหน้าไป

ถึงหลักชัย ปลายฟ้า ว่าไกลนัก
ก็คงจัก ไม่ห่างเหิน เกินวิสัย
อาจรอเรา แค่เดินเลี้ยว บัดเดี๋ยวไป
เพื่อนคู่ใจ ธารแสงจันทร์ และฉันเอย


แปลและร้องกรองโดย คุณ แอ๊ด ปากเกร็ด
จาก กระทู้ Moon River - ธารแสงจันทร์ : ฉบับคาราโอเกะ





แม่น้ำแห่งจันทรา


แม่น้ำแห่ง จันทรา กว่าไมล์กว้าง
ฉันจักข้าม กีดขวาง อย่างสร้างสรรค์
ผู้บ่มเพาะ และทำลาย ไปพร้อมกัน
ขอเดินตาม เธอนั้น มั่นมิคลาย

สองหัวใจ ไหวปลิว ละลิ่วล่อง
ทุกถิ่นท่อง พสุธา วิชชาหมาย
สู่เส้นทาง เรื้องรุ้ง ฟุ้งกำจาย
สองเพื่อนตาย ชเลจันทร์ ฉันกับเธอ


แปลและร้องกรองโดย คุณ Soul Searcher
จาก aromklon.com




เชื่อว่าใครหลาย ๆ คนยกตำแหน่งผู้หญิงสวยที่สุดในโลกตลอดกาลให้กับเธอ แม้ว่าเธอจะเสียชีวิตนานถึง ๓๐ ปีแล้วก็ตาม...ในวันที่ ๒๐ มกราคม ปี ค.ศ. ๑๙๙๓

ออเดรย์ เฮปเบิร์น (Audrey Hepburn) เป็นนักแสดงชาวอังกฤษ เกิดใน ค.ศ. ๑๙๒๙ ที่กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม พ่อของเธอมีเชื้อสายอังกฤษ - ออสเตรีย ส่วนแม่เป็นบารอนเนสชาวเนเธอร์แลนด์ เธอจึงใช้ชีวิตไปมาระหว่างเบลเยี่ยม อังกฤษและเนเธอร์แลนด์ และพูดได้ทั้งภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศส ดัทช์ สเปนและอิตาเลียน







ออเดรย์ เฮปเบิร์น เรียนบัลเลต์ตั้งแต่เด็ก และเริ่มเข้าสู่วงการบันเทิงด้วยการแสดงละครเพลงในโรงละครแถว West End ที่กรุงลอนดอน ร่วมถึงภาพยนตร์อังกฤษสองสามเรื่อง และในภายหลังได้รับเลือกให้เป็นผู้แสดงนำในละครเรื่อง Gigi ซึ่งละครเรื่องนี้ได้ไปแสดงในประเทศสหรัฐอเมริกาด้วย




แต่ที่ทำให้ผู้คนทั่วโลกรู้จักและหลงรักเธอ คือเมื่อเธอมาแสดงภาพยนตร์ฮอลลีวูด โดยรับบทนำคู่กับเกรกอรี เพก (Gregory Peck) ในภาพยนตร์รักโรแมนติค Roman Holiday หรือในชื่อภาษาไทย ‘โรมรำลึก’ ในปีค.ศ. ๑๙๕๓ บทบาทการแสดงของเธอนั้นชนะใจผู้คนทั่วโลก เป็นดาราหญิงที่แสดงภาพยนตร์ฮอลลีวูดเรื่องแรก ก็สามารถคว้ารางวัลออสการ์ ผู้แสดงนำฝ่ายหญิงยอดเยี่ยมมาครอง และเป็นดาราเพียงคนเดียวที่สามารถคว้ารางวัลผู้แสดงนำฝ่ายหญิงยอดเยี่ยม ทั้งรางวัลออสการ์ รางวัลลูกโลกทองคำ (Golden Globe Award) และ The British Academy Film Awards หรือ BAFTA ทั้งสามรางวัลใหญ่ในภาพยนตร์เรื่องเดียวกัน







หลังจากนั้นชื่อเสียงของออเดรย์ เฮปเบิร์น ก็ติดลมบนในฐานะซูเปอร์สตาร์ฮอลลีวูด นำแสดงในภาพยนตร์ที่ในยุคนี้กลายเป็นผลงานคลาสสิกไปแล้วเกือบทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น Sabrina ในปีค.ศ. ๑๙๕๔ War and Peace ในปีค.ศ. ๑๙๕๖ Funny Face ในปีค.ศ. ๑๙๕๗ Breakfast at Tiffany’s ในปีค.ศ. ๑๙๖๑ และ My Fair Lady ในปีค.ศ. ๑๙๖๕







นอกจากจะเป็นนักแสดงหญิงที่มากความสามารถแล้ว ออเดรย์ เฮปเบิร์น ยังได้รับการยกย่องให้เป็น สไตล์ ไอคอน (Style Icon) ของวงการแฟชั่นและผู้หญิงทั่วโลกอีกด้วย เมื่อได้รับบทนำในภาพยนตร์เรื่อง Sabrina เธอตัดสินใจเดินทางไปปารีสเพื่อขอให้ อูแบรต์ เดอ จีวองชี (Hubert de Givenchy) ดีไซน์เนอร์ห้องเสื้อชั้นสูง Givenchy ให้ทำเสื้อให้เธอสำหรับแสดงภาพยนตร์เรื่องดังกล่าว




อูแบรต์ เดอ จีวองชี ((Hubert de Givenchy) ตกลงรับนัด Miss Hepburn เพราะเข้าใจผิด คิดว่าเป็น แคทารีน เฮปเบิร์น (Katharine Hepburn) ดาราสาวที่กำลังโด่งดังอยู่ในขณะนั้น เมื่อรู้ว่าเป็นคนละคน เขาจึงปฏิเสธในตอนแรก ออเดรย์ ขอชมชุดในคอลเล็คชั่นที่มี และขอลองซึ่งเธอใส่ได้อย่างลงตัวสวยงาม จนอูแบรต์ เดอ จีวองชี สุดท้ายเปลี่ยนใจยอมทำเสื้อให้เธอ และภายหลังทั้งสองก็ได้กลายมาเป็นเพื่อนสนิทกัน และออเดรย์ได้กลายเป็นมิวส์ (Muse) ของห้องเสื้อชั้นสูงจีวองชีตั้งแต่นั้นมา




ย้อนกลับไปในปี ๑๙๖๑ ภาพยนตร์เรื่อง Breakfast at Tiffany’s กลายเป็นสิ่งที่ถูกโจษขานกันอย่างหนาหูในแวดวงฮอลลีวู้ด ไม่เพียงแค่บทภาพยนตร์สุดประณีตที่ถูกดัดแปลงมาจากนวนิยายชื่อดังในชื่อเดียวกัน หากการปรากฏตัวของผู้หญิงที่ชื่อ Audrey Hepburn พร้อมกับรูปลักษณ์ความงามที่ทำให้หนุ่มอเมริกันหลายคนต่างตะลึงงัน ในบทบาทของตัวละคร Holly Golightly ก็ได้กลายเป็นอีกหนึ่งจุดเด่นของภาพยนตร์เรื่องนั้นทันที เพราะออเดรย์ในชุดกระโปรงยาวสีดำ ผลงานการออกแบบและตัดเย็บโดยห้องเสื้อ Givenchy พร้อมแว่นตาสุดเท่ และเครื่องประดับจิวเวลรีจัดเต็มในฉากหนึ่งของภาพยนตร์เรื่องนี้ ได้ไปเตะตาเหล่าสาวกสายแฟชั่นเข้าอย่างจัง ขนาดที่ว่าชุดกระโปรงสีดำทั้งสั้นยาวได้กลายเป็นเทรนด์แฟชั่นสุดไอคอนิกที่สุภาพสตรีทั่วโลกต้องมีเก็บไว้ในตู้เสื้อผ้าของพวกเธอจนถึงทุกวันนี้ นั่นเองคือจุดเริ่มต้นที่ทำให้แวดวงแฟชั่นและสไตล์ตกหลุมรักผู้หญิงคนนี้แบบโงหัวไม่ขึ้น




ออเดรย์ เฮปเบิร์น คือนักแสดงหญิงชาวอังกฤษเชื้อสายดัตช์เพียงไม่กี่คนที่ถูกจัดอันดับว่าเป็น ๑ ใน ๑๐ นักแสดงที่ดีที่สุดตลอดกาลของโลกใบนี้ อีกทั้งยังได้รับการขนานนามว่าเป็น ‘เจ้าหญิงแห่งวงการฮอลลีวู้ดยุคทอง’ ผลงานภาพยนตร์ของเธอหลายเรื่องกลายเป็นภาพยนตร์ขึ้นหิ้งไปโดยปริยาย ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์เรื่อง Roman Holiday ที่ทำให้เธอสามารถคว้ารางวัลออสการ์และรางวัลลูกโลกทองคำในสาขานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมมาครองได้สำเร็จ ในปี ๑๙๕๔













ตามมาด้วยการสร้างชื่อผ่านผลงานภาพยนตร์หลายเรื่องอย่าง Breakfast at Tiffany’s, Charade และ My Fair Lady รวมระยะเวลาบนเส้นทางสายบันเทิงของเธอยาวนานกว่า ๑๙๙ ปีด้วยกัน ก่อนที่ในปี ๑๙๖๙ เธอจะประกาศอำลาวงการฮอลลีวู้ดอย่างเป็นทางการ ทว่ายังคงปรากฏตัวตามงานต่าง ๆ ให้สาวกแฟนคลับของเธอหลายคนได้หายคิดถึงอยู่เรื่อย ๆ 







ในสารคดีเรื่อง Audrey : More Than an Icon ที่ออกฉายทางสตรีมมิ่ง HBO ไปเมื่อปี ๒๐๒๐ ได้ระบุว่าความโด่งดังและความสำเร็จของออเดรย์นั้น ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการก้าวขาเข้ามาในโลกฮอลลีวู้ดได้อย่างถูกที่ถูกเวลา อันเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านจากนิยามความงามแบบเก่าซึ่งละลานตาไปด้วยเหล่าผู้หญิงบุคคลิกสาวยั่วสวาท (Sex Symbol) และผู้หญิงสไตล์ Girl Next Door นั่นทำให้ความงามหวานหยดย้อย น่าทะนุถนอมของออเดรย์กลายเป็นจุดเด่นมากพอที่สปอตไลต์ทุกตัวที่หันหาผู้หญิงจำพวกนั้นมาเป็นเวลานาน จะหันกลับมาส่องสว่างให้เธอกลายเป็นดวงดาวแห่งฮอลลีวู้ดอย่างง่ายดาย กอปรกับทักษะด้านบัลเลต์ที่เธอเคยศึกษาในช่วงวัยเยาว์ ก็ยิ่งทำให้การแสดงของเธอนั้นไหลลื่นและเป็นที่ชื่นชอบของคนอเมริกันได้ไม่ยาก







กระนั้นดวงดาวแห่งฮอลลีวู้ดก็มี ‘ด้านอับแสง’ แสนรันทดที่ใครหลายคนอาจไม่เคยรับรู้มาก่อน...ออเดรย์เติบโตมากับแม่ของเธอในกรุงบรัสเซลล์ ประเทศเบลเยียม แม้ว่าในช่วงแรกของชีวิตเธอจะสุขสบาย และได้รับสิทธิพิเศษในการเดินทางท่องเที่ยวไปทั่วยุโรปและได้เรียนรู้ภาษามากถึง ๖ ภาษาด้วยกัน ทว่า เมื่อออเดรย์อายุได้เพียง ๖ ปี พ่อของเธอก็ได้ละทิ้งเธอและแม่ของเธอไปอย่างไร้เยื่อใย กระทั่งที่ออเดรย์ยังเคยออกปากให้สัมภาษณ์ว่า นั่นคือหนึ่งในตราบาปอันบอบช้ำที่สุดในชีวิตของเธอ







แต่นั่นยังไม่ใช่ความโหดร้ายที่สุดในชีวิตที่ออเดรย์ต้องพบเจอ เพราะเมื่อปี ๑๙๓๙ ซึ่งเป็นปีที่สงครามโลกครั้งที่สองปะทุขึ้นอย่างเข้มข้น ชีวิตของออเดรย์ในวัย ๑๐ ปีจึงต้องตกระกำลำบากใช้ชีวิตท่ามกลางสงครามตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา แม้กระทั่งความงามของรูปร่างเธอที่หลายคนต่างชื่นชมกันนักหนาว่าน่าทะนุถนอมนั้น ก็เป็นหนึ่งในผลพวงมาจากการขาดสารอาหารในช่วงสงครามโลกครั้งที่สองเช่นเดียวกัน 







ซึ่ง Luca Dotti ลูกชายของออเดรย์ยังเคยได้ให้สัมภาษณ์ถึงประเด็นนี้เอาไว้ด้วยว่า จากคำบอกเล่าของผู้เป็นแม่นั้น สงครามโลกครั้งที่สองเป็นเรื่องราวที่เลวร้ายที่สุดในชีวิตของออเดรย์ ตอนที่เธอรอดมาได้นั้นเธอเกือบจะตายแล้วด้วยภาวะทุพโภชนาการจากการขาดสารอาหาร เธออยู่รอดมาได้ด้วยการกินตำแย หัวทิวลิป และการดื่มน้ำให้มาก ๆ นั่นจึงส่งผลให้รูปร่างของเธอเล็กบาง เนื่องจากการพัฒนาทางร่างกายที่ไม่เต็มที่มากพอ โดยคนทั่วไปไม่ได้คำนึงถึงหน้าประวัติศาสตร์อันโหดร้ายตรงนี้เลยแม้แต่น้อย และนั่นเองที่เป็นเหตุผลให้ออเดรย์ตัดสินใจร่วมทำงานกับ UNICEF ในฐานะทูตด้านสิทธิมนุษยชนในแอฟริกาในเวลาต่อมา






   
แม้ว่าความงามของออเดรย์จะได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางก็ตาม ทว่าในบทสัมภาษณ์กับสื่อ Vanity Fair เธอกลับเคยยอมรับว่าเธอไม่ได้พอใจในรูปลักษณ์ของเธอขนาดนั้น เธอบอกว่า ความงามของเธอคือส่วนผสมอันลงตัวของความบกพร่อง ทั้งจมูกที่ดูโตเกินไป เท้าของเธอที่ใหญ่เกินไป กระทั่งหน้าอกที่แบน และความผอมที่เป็นร่องรอยจากสงคราม ไม่ได้ทำให้เธอภูมิใจสักเท่าไหร่นัก กระนั้น ‘ความงามที่ไม่งาม’ ในแบบฉบับของออเดรย์ก็ยังคงเป็นอมตะมาจนถึงทุกวันนี้ สุดท้ายแล้วออเดรย์ก็จบชีวิตลงในวัย ๖๓ ปี ด้วยโรคมะเร็งไส้ติ่ง ทิ้งเอาไว้เพียงเรื่องราวเล่าขานเป็นตำนานของวงการฮอลลีวู้ดทั้งด้านมืดและด้านสว่างปะปนกันไป เฉกเช่นดวงดาวบนท้องฟ้าที่มีทั้งด้านที่ส่องสว่างและอับแสง







ในช่วงท้าย ๆ ของชีวิต ออเดรย์ เฮปเบิร์น ทุ่มเทชีวิตให้กับงานการกุศล เธอได้รับการแต่งตั้งให้เป็นทูตขององค์การยูนิเซฟในปีค.ศ. ๑๙๘๗ เดินทางไปยังประเทศต่าง ๆ ทั้งในทวีปแอฟริกา เอเซีย และอเมริกาใต้ เพื่อช่วยแก้ปัญหาความขาดแคลนและยากไร้ เธอทุ่มเทชีวิตและเวลาในฐานะนักมนุษยธรรมกับงานการกุศลนี้แม้ในยามที่ป่วยเป็นมะเร็ง ก่อนที่จะเสียชีวิตลงในที่สุดที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ด้วยวัย ๖๓ ปี ต้องยอมรับอย่างหมดใจว่าผู้หญิงที่งามทั้งนอกและงามทั้งข้างในอย่างเธอนั้น…Unforgettable จริง ๆ







ตบท้ายด้วยหนังสือในเพจ "อ่านอีกครั้งก็ยังชอบฯ" เขียนรีวิวหนังสือ “Breakfast at Tiffany’s” (มื้อเช้าที่ทิฟฟานีส์) ได้ดีมาก หนังสือแปลโดย คุณโตมร ศุขปรีชา อยากอ่านก็คลิกลิงค์ได้เลยค่ะ


อ่านอีกครั้งก็ยังชอบ #Always Enjoy Reading It Again








ข้อมูลจาก
vogue.co.th
blockdit.com





บีจีและไลน์จากคุณญามี่ กรอบจากคุณ ebaemi


Create Date :06 เมษายน 2566 Last Update :6 เมษายน 2566 22:45:37 น. Counter : 1278 Pageviews. Comments :0