bloggang.com mainmenu search



ภาพจาก เฟซบุค Thailand Art Exhibition


ขออำภัยเพื่อน ๆ ที่หายหน้าไปหลายวัน ไปนั่งปั่นบล็อกนี้ อยากอัพให้ทันก่อนงานนิทรรศการจะวาย อยากชวนไปชมนิทรรศการ "จิตรกรรม คำกวี อังคาร กัลยาณพงศ์" ที่จะหมดเขตสิ้นเดือนนี้ เป็นนิทรรศการที่จัดได้ดีมาก ๆ ไปชมตั้งแต่กลับจากเมืองจีน แต่ไม่มีเวลาจัดการรูปสักที พออัพบล็อกหนุ่มซา เป่าเลี่ยงแล้วก็ว่าจะอัพบล็อกไปเมืองจีน หันไปมองปฏิทิน เหลือเวลาอีกอาทิตย์เดียวนิทรรศการจะหมดเขตแล้ว เลยต้องรีบปั่นบล็อกนี้ก่อน

นิทรรศการจัดได้ดีมาก ๆ ถ่ายทอดความเป็น "อังคาร กัลยาณพงศ์" ออกมาได้งดงามและสมบรูณ์แบบ ไม่แค่จะได้ชมผลงานของท่านเท่านั้น ยังได้ฟังเสียงท่านอังคารร่ายบทกวีตลอดเวลา เรียกว่าได้บรรยากาศสุด ๆ คนที่รักงานศิลปะและงานกวีนิพนธ์ท่านอังคารที่ไม่ควรพลาดงานนี้จริง ๆ ค่ะ วันนี้วันที่ ๒๗ ยังเหลือเวลาให้ไปชมอีกสามวัน บล็อกนี้ภาพเยอะอีกแล้ว ถ้าโหลดช้าก็ขออภัยด้วยค่า


ภาพเยอะจัด มีภาพงานคัดลอกไตรภูมิกถา
ที่อาจารย์เฟื้อและท่านอังคารคัดลอกร่วมกัน อัพบล็อกไว้ต่างหาก ชมภาพได้ที่นี่ค่ะ

บล็อกงานคัดลอกไตรภูมิกถา ฉบับกรุงศรีอยุธยา


บล็อกนิทรรศการท่านอังคารที่เคยอัพไว้

บล็อกรำลึกจิตรกรรม คำกวี อังคาร กัลยาณพงศ์


งานนิทรรศการที่อยากอัพมากแต่ยังไม่ได้ไปชม "แดนสนธยา" ของคุณช่วง มูลพินิจ
จะหมดเขตสิ้นเดือนนี้เหมือนกัน เข้าไปอ่านรายละเอียดได้ที่นี่ค่ะ





เชิญเสพงานศิลป์ในนิทรรศการศิลปะได้ที่นี่ค่ะ

เสพงานศิลป์ ๓๓
เสพงานศิลป์ ๓๔




ตีหนึ่งครึ่งของวันที่ ๒๕ สิงหาคม ๒๕๕๕ อังคาร กัลยาณพงศ์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ (กวีนิพนธ์) ได้สิ้นลมหายใจในวัย ๖๘ ปีลง เป็นการจบชีวิตของศิลปินผู้มากความสามารถในเมืองไทยที่ศิลปินทั้งรุ่นใหญ่และรุ่นเล็กให้ความเคารพรักและศรัทธา ด้วย "ท่านอังคาร" เป็นศิลปินที่มีความกล้า ลุ่มลึกทางความคิดและจิตวิญญาณ ไม่ว่าจะเป็นจิตรกรรม วรรณกรรม ตลอดจนยังเป็นผู้อนุรักษ์และสืบสานความเป็นไทยอย่างเข้มแข็งอีกด้วย การจากไปจึงเป็นการสูญเสียครั้งใหญ่ 




ทางเข้าห้องจัดนิทรรศการ




ป้ายนิทรรศการอันใหญ่มาก




เข้าไปก็จะเจอทางเดินยาว ผนังสองด้านแขวนผ้าขาวผืนยาวพิมพ์ภาพวาดของท่านอังคาร







มุมนี้ถ่ายจากด้านในออกไป


ภาพวาดที่พิมพ์บนผ้า































เพื่อเป็นการย้อนความทรงจำและรำลึกสิ่งที่ท่านอุทิศให้กับงานศิลปะและวรรณกรรม พิพิธภัณฑ์บ้านจิตรกร กวี อังคาร กัลยาณพงศ์ มูลนิธิเสถียรโกเศศ-นาคะประทีป และหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ร่วมกันจัดงานนิทรรศการ "รำลึกจิตรกรรม คำกวี อังคาร กัลยาณพงศ์" ให้สมกับที่ท่านจรรโลงจิตใจผู้คนด้วยการรังสรรค์งานศิลปะตลอดมา




ห้องนิทรรศการค่อนข้างใหญ่มาก จัดแสดงประวัติและผลงานของท่านอังคารอย่างครบถ้วน
ต้องชมคนออกแบบนิทรรศการ ทำออกมาได้เก๋และมีรสนิยมมาก การจัดแสงก็เยี่ยม ชอบมาก ๆ ค่ะ




มองไปทางด้านซ้ายมือ







ด้านขวามือ







สุลักษณ์ ศิวรักษ์  กล่าวว่า การแสดงนิทรรศการงานจิตรกรรมและวรรณกรรมของอังคารวันนี้เป็นนิมิตหมายที่ดี โดยใช้พื้นที่หอศิลป์กรุงเทพฯ เป็นนิทรรศการครั้งแรกหลังจากที่ได้จากเราไปแล้ว อังคารเป็นอัจฉริยะเหนือศิลปินร่วมสมัยคงไม่มีใครคัดค้าน ไม่ใช่อัจฉริยะทางจิตรกรรม แต่อัจฉริยะทางวรรณกรรมด้วย แสดงออกได้ทั้งสองอย่างและมีความเป็นเลิศไม่แพ้กวีสมัยอยุธยา และกวีทั้งหมดของสยามประเทศ ถ้าชนชั้นนำที่ตามีแวว ผลงานของอังคารเป็นอมตะทั้งจิตรกรรม วรรณกรรม ต้องผลักดันให้เกิดหอศิลป์อังคาร กัลยาณพงศ์ 




มาเก็บรายละเอียดกันค่ะ เริ่มจากขวามือก่อน ผนังด้านนี้เป็นผลงานบทกวีลายมือท่านอังคาร
ชื่อ "ห้วงน้ำแห่งความอาลัย" เทคนิคปากกาลายเส้น ขนาด ๒๘ x ๘๙ ซม.







ให้ชมบทแรกแบบใกล้ ๆ




และบทสุดท้าย




"ชาวเมืองคอนมาขอเถ้าอัฐิอังคารไปอยู่ที่บ้านเกิด พิจารณาเห็นว่าอนุสาวรีย์เชิดชูเกียรติอังคารไม่จำเป็นต้องเป็นอิฐ ปูน แต่เป็นสถานที่ใช้แสดงศิลปะ ภาพเขียน วรรณกรรม วัฒนธรรม และเปิดให้มีการอภิปรายเพื่อความเป็นอังคาร กัลยาณพงศ์ ได้แพร่หลายออกไป จะได้สืบทอดให้คนนครศรีธรรมราชมีความภูมิใจในบุคคลเมืองนครฯ ที่มีความเป็นเลิศ" สุลักษณ์ ศิวรักษ์ กล่าวในวันเปิดนิทรรศการ ณ ห้องสตูดิโอ ชั้น ๔ หอศิลป์ กทม. 




ถัดมาก็เป็นรูปปั้นท่านอังคาร "บรมครู มหากวีศรีอโยธยา" ปั้นโดย คุณหงส์จร เสน่ห์งามเจริญ




















"ฝากมรดกประเสริฐเลิศแล้ว

คือกาพย์แก้วน้ำใจกวีเหนือสมัย

อำลาเป็นดินน้ำลมไฟ

ให้โลกไซร้เกษมสันต์นิรันดร"


นิทรรศการถ่ายทอดผลงานจิตรกร กวี อังคาร ครั้งนี้ แบ่งออกเป็น ๓ ส่วน ประกอบด้วย งานวรรณศิลป์ งานจิตรกรรม และงานอนุรักษ์จิตรกรรมโบราณ โดยคัดเลือกผลงานชุด "สมุดข่อยไตรภูมิกถา ฉบับกรุงศรีอยุธยา" จำนวน ๒๔ ชิ้น เมื่อครั้งได้มีโอกาสทำงานกับอาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์ ผลงานจัดแสดงเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างงานในอดีต บางชิ้นไม่เคยแสดงมาก่อน




เดินเข้าไปด้านใน จัดแสดงภาพถ่ายท่านอังคาร มีตู้ใส่อุปกรณ์การวาดภาพ
ของใช้ส่วนตัว และหนังสือผลงานของท่านอังคาร































เคยรู้มาว่าท่านอังคารชอบผลงานของเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร์มาก เล่มนี้น่าจะเป็นสมุดที่ท่านคัดลอกเก็บไว้







อ้อมแก้ว กัลยาณพงศ์ บุตรสาวอังคาร ภัณฑารักษ์ กล่าวว่า นิทรรศการครั้งนี้รำลึกถึงคุณพ่อ และแสดงอัจฉริยภาพในฐานะผู้สร้างสรรค์ศิลปะให้กับประเทศไทย ผลงานทั้ง ๓ ส่วนเป็นส่วนหนึ่งที่จะปรากฏในพิพิธิภัณฑ์บ้านจิตรกร กวี อังคาร กัลยาณพงษ์ ต่อไปในอนาคต งานวรรณศิลป์ถ่ายทอดบทโคลงกลอน ร้อยแก้วของคุณพ่อ จัดแสดงในลักษณะอินสตอลเลชั่น นำบทกวีบทสำคัญ ๆ ลงบนแผ่นอะครีลิก และตกแต่งด้วยถ่าน แสดงถึงเอกลักษณ์เฉพาะของงาน รวมถึงนำกวีนิพนธ์ต้นฉบับมาให้ดูด้วย คัดด้วยปากกาคอแร้งอยู่ช่วงยุคปี พ.ศ. ๒๕oo หาดูได้ยาก ได้เห็นลายมือคุณพ่อ ซึ่งมีวิวัฒนาการจนกระทั่งยุคใกล้เคียงปัจจุบัน จะเป็นบทกวีลายเส้น




อีกมุมนึงจัดแสดงสมุดข่อยโบราณไตรภูมิกถา ฉบับกรุงศรีอยุธยา
ที่ อ.เฟื้อและท่านอังคาร ร่วมกันคัดลอก ออกแบบที่วางสมุดเก๋ได้ใจมาก
ทำโครงที่วางแบบซิกแซ็ค โชว์ให้เห็นภาพวาดลายเส้นในเล่มทั้งหมด










"งานคัดลอกสมุดข่อยโบราณไตรภูมิกถา ฉบับกรุงศรีอยุธยา"
จำนวน ๒๔ ชิ้น จาก ๑๖๘ ชิ้น ขนาดกว้าง ๕๕ x สูง ๒๗ ซ.ม.
ผลงานชุดจริงเป็นสมบัติส่วนตัวของคุณธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล








ชมภาพงานคัดลอกเพิ่มเติมได้ที่นี่ค่ะ
บล็อกงานคัดลอกไตรภูมิกถา ฉบับกรุงศรีอยุธยา


ส่วนงานจิตรกรรม อ้อมแก้วบอกว่า แสดงให้เห็นถึงเรื่องราวของปรัชญาและความศรัทธาในพุทธศาสนา แบ่งผลงานเป็น ๓ ส่วน ทั้งที่หยิบยืมจากนักสะสม เป็นผลงานที่หาดูได้ยาก แต่เส้นสายมีพลัง อ่อนช้อย สื่อความเลื่อมใสพุทธศาสนา เป็นงานในช่วงปี พ.ศ. ๒๕oo - ๒๕o๗ และมีผลงานหลายชิ้นที่เป็นไฮไลต์ เช่น ผลงานลั่นทม เรือนแก้ว และพระยืน ตลอดจนส่วนของภาพวาดครอบครัว ทั้งภาพคุณย่า ภรรยา และลูก




ภาพนี้ด้านในสุดจัดแสดงผลงานภาพวาดลายเส้น กระเถิบมาข้างหน้าตรงกลางห้อง
คนจัดงานเข้าใจคิด ออกแบบได้ลงตัวมาก ใช้แผ่นอะครีลิกพิมพ์งานนิพนธ์ของท่านอังคาร
ส่วนด้านล่างสีดำ ๆ นั่นเป็นถ่านก้อน แสดงถึงเอกลักษณ์การวาดภาพลายเส้นด้วยถ่านของท่าน



















นอกจากนี้ ภัณฑารักษ์เผยถึงผลงานอนุรักษ์ของอังคารว่า สมุดข่อยไตรภูมิกถา ฉบับกรุงศรีอยุธยา เป็นชิ้นงานสมัยคุณพ่อได้ไปคัดลอกสมุดภาพไตรภูมิฉบับเก่าแก่ ซึ่งเป็นฉบับกรุงศรีฯ ร่วมกับ อ.เฟื้อ หริพิทักษ์ เป็นงานที่พิพิธภัณฑ์สถาบันสมิทโซเนียน สหรัฐ ได้ติดต่อให้กรมศิลปากรช่วยคัดลอก ทั้ง ๒ ท่านได้รับมอบหมายหน้าที่นี้ โดยคุณพ่อคัดลอกลวดลายกระดาษแก้วจนได้ต้นฉบับทั้งหมด แล้วคัดลอกลงสมุดข่อยอีกครั้ง เพื่อให้ อ.เฟื้อเป็นผู้ตรวจและลงสี จึงถือว่ามีผลงานชิ้นสำคัญด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดีของประเทศไทย น่าชมมาก ส่วนผลงานชิ้นที่สมบูรณ์และลงสีจัดแสดงอยู่ที่สมิทโซเนียน พิพิธิภัณฑ์ระดับโลก 










ภาพบน "หงส์คาบดอกไม้ทิพย์ ๔" เทคนิค ลายเส้นบนกระดาษ ขนาด ๓o x ๓๙ ซม.
ภาพล่างซ้าย "หม้อน้ำ" เทคนิค ลายเส้นบนกระดาษ ขนาด ๒๒ x ๓๔ ซม.
ภาพล่างขวา "นางมัจฉา" เทคนิค ลายเส้นบนกระดาษ ขนาด ๒๘ x ๒๓ ซม.




"ไข่อวิชชา" (Origin of Badness)
เทคนิค ชาร์โคลบนกระดาษ ขนาด ๕๕ x ๔o ซม.







"ภูหลวง" (Phuluang)




"ญ่า" (Grand Mother)




อ้อมแก้ว" (Ormkaew)




"วิศาขา" (Whisakha)




"หญิงสาว" (Woman)




กำลังเดินชมภาพ ได้ยินเสียงสองคนส่งภาษาปะกิตชื่นชมภาพ "วิศาขา" ผู้หญิงบอกว่า "I like this face very much."
นึกว่าเป็นคนฮ่องกง ไม่ก็สิงคโปร์ ตอนหลังรู้ว่าเป็นคนไทยเพราะพูดไทยได้ชัดแจ๋วไม่แพ้ภาษาอังกฤษ




ผนังด้านนี้จัดแสดงภาพวาดที่ยืมมาจัดแสดง ถ่ายรูปเสร็จถึงเห็นตัวหนังสือห้ามถ่ายภาพ
ไหน ๆ ก็ถ่ายมาแล้ว ขออนุญาตท่านเจ้านำภาพมาลงไว้ในบล็อกตรงนี้ด้วยค่ะ




"เรือนแก้ว" (Ruen-Kaew)
เทคนิค เครยอง ขนาด ๑o๗ x ๗๘ ซม.
สมบัติส่วนตัวของ คุณดิสพล จันทร์ศิริ




"พระพุทธเจ้า"
เทคนิค สีฝุ่น ขนาด ๑o๒ x ๑๙๕ ซม.
สมบัติส่วนตัวของ คุณสุลักษณ์ ศิวรักษ์





"ต้นโพธิ์"
เทคนิค เกรยอง ขนาด ๑o๔ x ๗๗ ซม.
สมบัติส่วนตัวของ คุณสุลักษณ์​ ศิวรักษ์




"กนกฟ่ายฟ้อน"
เทคนิค เกรยอง ขนาด ๕๕ x ๗๙ ซม.
สมบัติส่วนตัวของ คุณสุลักษณ์ ​ศิวรักษ์





"ลั่นทม"
เทคนิค เกรยอง ขนาด ๖o x ๕๕ ซม.
สมบัติส่วนตัวของ คุณสุลักษณ์ ​ศิวรักษ์


"ส่วนของแกลลอรีจัดแสดงเบื้องหลังชีวิตของคุณพ่อในช่วงเวลาหนึ่ง เห็นข้าวของแล้วคิดถึงคุณพ่อทุกชิ้น เพราะเติบโตและอยู่กับคุณพ่อ เห็นพ่อทำงาน ทุกชิ้นสื่อถึงชีวิตและผลงานหมดเลย สำหรับพิพิธภัณฑ์บ้านจิตรกร กวี อังคาร ครอบครัวตั้งใจให้อยู่ในบริเวณบ้าน เป็นแบบลิฟวิ่งเหมือนตอนที่พ่อยังอยู่ ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนเตรียมพื้นที่และจัดหางบประมาณ คาดว่าภายใน ๕ ปีจะได้เห็นพิพิธภัณฑ์ สมกับที่เป็นบุคคลสำคัญของประเทศ สร้างคุณูปการหลายอย่าง ทั้งศาสนา ศิลปะ และสังคม" อ้อมแก้วกล่าว ซึ่งเธอบอกด้วยว่าพ่ออังคารได้ถ่ายทอดเนื้อหาทางชีวิตและแรงบันดาลใจจากตัวท่านมาสู่ลูก เพียงแต่แสดงออกทางศิลปะแตกต่างกัน  
   

นิทรรศการรำลึกครั้งนี้จัดแสดงระหว่างวันที่ ๒๙ มีนาคม - ๓o เมษายน ๒๕๕๖ ตั้งแต่เวลา ๑o.oo - ๒๑.oo น. เว้นวันจันทร์และวันหยุดสำคัญทางราชการ.




กลางห้องเป็นโต๊ะ ๔ ตัว จัดแสดงกวีนิพนธ์ต้นฉบับที่เขียนด้วยลายมือท่านอังคาร คัดด้วยปากกาคอแร้ง อยู่ในช่วงปี พ.ศ. ๒๕oo







"ผีพุ่งใต้' (Meteor)
เทคนิค ปากกาคอแร้ง ขนาด ๒๓ x ๓o ซม.




"รับน้องใหม่" (Freshy)
เทคนิค ปากกาคอแร้ง ขนาด ๒๒ x ๒๙ ซม.


"บันทึกของจิตรกร" (Artist's Diaries)
เทคนิค ปากกาคอแร้ง ขนาด ๒๑ x ๓๔ ซม.




















ข้อมูลจากนสพ. Xcite ไทยโพสต์ ๓-๔ เม.ย. ๒๕๕๖


บล็อกนี้อยู่ในหมวดศิลปะค่ะ


บีจีจากเวบ xmple.com ไลน์จากคุณญามี่

Free TextEditor


Create Date :27 เมษายน 2556 Last Update :27 สิงหาคม 2566 19:49:52 น. Counter : 20766 Pageviews. Comments :50