พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล กับโครงการปรับปรุงการละครและสังคีต พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล ประสูติเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ.2453 เป็นพระโอรสฯ ในสมเด็จฯ เจ้าฟ้ายุคลฑิฆัมพร กรมหลวงลพบุรีราเมศวร์และพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมเขตรมงคล มีพื้นฐานความรู้ขั้น 6 วิทยาลัยแฮร์โรว์ ประเทศอังกฤษ และสำเร็จหลักสูตรโรงเรียนนายร้อยทหารบก ภายหลังเสด็จกลับจากต่างประเทศทรงรับราชการทหาร แต่ถูกปลดออกจากราชการ ในปี พ.ศ.2476 เพราะละเมิดยุทธวินัยเมื่อคราวเกิดกบฏบวรเดช ภายหลังจากนั้นทรงมีบทบาทเกี่ยวข้องกับงานด้านวัฒนธรรมความบันเทิงตลอดมา เช่น ทรงเป็นเจ้าของบริษัทภาพยนตร์ไทยฟิล์ม ทรงทำงานให้กับกองภาพยนตร์ทหารอากาศ มีผลงานการจัดแสดงนาฏศิลป์และดุริยางคศิลป์ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล ทรงเป็นพระนัดดาในสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช เจ้าของวงปี่พาทย์วังบูรพา ผู้มีบทบาทสำคัญในการอุปถัมภ์หลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) จนมีชื่อเสียงเป็นปรมาจารย์คนสำคัญในแวดวงดนตรีไทย อีกทั้งพระบิดา คือ สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ ทรงรับมรดกวงปี่พาทย์จากพระสัสสุระ การที่ทรงเติบโตในแวดวงของดนตรีไทย และคุ้นเคยกับการแสดงของราชสำนักมาแต่เยาว์วัย ทำให้ทรงเข้าใจสถานภาพของศิลปิน และรูปแบบศิลปะของราชสำนักได้ดี เนื่องจากทรงมีสถานะเป็นเชื้อพระวงศ์ชั้นสูง และอยู่ในแวดวงของสังคมชั้นสูงย่อมทำให้ทัศนะในการกำหนดความสำคัญของศิลปะคงอยู่ในแวดวงของศิลปะชั้นสูง นอกจากนี้การที่ทรงเติบโตและใช้ชีวิตในประเทศอังกฤษ ทำให้ทรงเข้าใจวัฒนธรรมตะวันตกได้ดีด้วย ดังทรงแสดงทัศนะเกี่ยวกับคุณค่าของศิลปะราชสำนักและศิลปะขั้น Classic ของตะวันตกว่าเป็นศิลปะชั้นสูง ผู้ที่จะเข้าถึงได้ต้องมีพื้นความรู้ จึงไม่เป็นที่แพร่หลายในสังคมไทย เช่น ศิลปะระดับล่าง แต่การรับดนตรีสากลชั้นสูงมีความจำเป็นเพราะเป็นวัฒนธรรมที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นสากล ...ศิลปะของเราเปนศิลปะที่ประณีตสุขุมและเปนศิลปะแท้ ผู้ที่จะเข้าใจหรือนิยมชมชอบได้จริงจะต้องเป็นผู้ที่รู้รสศิลปะอย่างสูง ส่วนผู้ที่ได้รับการศึกษาน้อยก็ไม่ค่อยจะซาบซึ้งจึงไม่สามารถเข้าใจหรือนิยมได้ เมื่อการบันเทิงของต่างชาติที่เข้ามาแข่งขันกับศิลปะของไทย ล้วนแต่เป็นการบันเทิงที่มีศิลปะแต่พอควร แม้ผู้มีความรู้เพียงเล็กน้อยก็เข้าใจได้ง่าย จึงได้รับความนิยมโดยรวดเร็ว ส่วนนาฏศิลปและดุริยางคศิลปสากลนั้น ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่ศิลปะประจำชาติของเราก็จริง แต่ก็เปนสิ่งจำเป็นทีจะต้องปลูกฝัง และทะนุบำรุง ทั้งนี้ก็เพราะว่าเปนการบันเทิงซึ่งเปนของทุกประเทศเขาฝึกหัดและทะนุบำรุงจัดว่าเปนการนิยมกันทั่วโลก นอกจากเปนการบันเทิงแล้ว ยังเปนการทำให้ความรู้ของเรากว้างขวางออกไปอาจนำความรู้นั้นมาส่งเสริมศิลปะของไทยเราได้ [(2 ศธ.2/25)] เหตุที่พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคลทรงอยู่ในแวดวงศิลปะชั้นสูง มีประสบการณ์ และความเข้าใจศิลปะชั้นสูงเป็นอย่างดี จึงสอดคล้องกับนโยบายของรัฐภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ในการส่งเสริมวัฒนธรรมความบันเทิงชั้นสูง พระยาอนุมานราชธน อธิบดีกรมศิลปากรในขณะนั้นกล่าวว่าพระองค์ทรงมีความเหมาะสมที่จะช่วยเหลืองานของกรมศิลปากร เพราะทรงมีความสามารถและประสบการณ์ด้านวัฒนธรรมความบันเทิงทั้งในและนอกประเทศ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล ....เป็นผู้สนใจศึกษาดุริยางคศิลปและนาฏศิลปทั้งในทางตำราและทางปฏิบัติจากต่างประเทศและในประเทศเป็นพิเศษ จนสามารถจัดนาฏศิลปดุริยางคศิลปของกองภาพยนตร์ทหารอากาศออกแสดงแก่ประชาชนได้รับความนิยมหลายครั้ง กรมศิลปากรหวังว่าจะได้ให้พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคลทำการปรับปรุงการสังคีตในทางวิชาการให้มีมาตรฐานดีและเหมาะสมยิ่งขึ้น โดยอาศัยภูมิความรู้ที่ได้เห็นและศึกษาเป็นพิเศษทั้งจากต่างประเทศและในประเทศนั้น (ศธ.0701.1.1/57) ในปี พ.ศ.2489 พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคลได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ร่าง โครงการปรับปรุงการละครและสังคีต ของกรมศิลปากร และได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการการสังคีต ในปี พ.ศ.2490 ทรงตำรงตำแหน่งผู้ช่วยอธิบดีกรมศิลปากร เป็นผู้รักษาการในตำแหน่งอธิบดีกรมศิลปากร และลาออกจากราชการในปีเดียวกัน เนื่องจากมีปัญหาขัดแย้งกับผู้บังคับบัญชาระดับสูง เป้าหมายของรัฐในการปรับปรุงศิลปะการละครของชาติในขอบเขตของศิลปะแบบแผนสอดคล้องกับทัศนะด้านศิลปะของพระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคล ทำให้โครงงานปรับปรุงศิลปะการละครและสังคีตเป็นแนวอนุรักษ์ โดยจำกัดขอบเขตเฉพาะศิลปะชั้นสูง หรือศิลปะของราชสำนัก ที่สืบทอดมาในกองการสังคีตแต่เดิม ไม่ให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมความบันเทิงของราษฎรและศิลปะพื้นบ้าน โครงการปรับปรุงศิลปะการละครและสังคีต ในปี พ.ศ.2489 รัฐบาลได้แต่งตั้ง คณะกรรมการพิจารณาโครงการการปรับการละคร และสังคีต ประกอบด้วยพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ประธานกรรมการ พระยาอนุมานราชธน อธิบดีกรมศิลปากรในขณะนั้น พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ยุคลและผู้ทรงคุณวุฒิท่านอื่น ร่วมเป็นกรรมการ โดยมีนายธนิต อยู่โพธิ์ เป็นเลขานุการ พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคลทรงเป็นผู้ร่างโครงการ [(2) ศธ.2/25] โครงการปรับปรุงการละครและสังคีตให้ความสำคัญกับการบำรุงรักษาและสืบทอดศิลปะชั้นสูง โดยเฉพาะศิลปะแบบฉบับของราชสำนัก ซึ่งกรมศิลปากรยึดถือเป็นแบบแผนมาแต่เดิม ด้วยเหตุว่าการรักษาและสืบทอดศิลปะแบบฉบับแต่เดิมมีความจำเป็น เพราะพัฒนาการของศิลปะเป็นผลจากการสร้างสรรค์ของสังคมที่ต่างยุคต่างสมัยผ่านพัฒนาการมายาวนาน การเติบโตของอาชีพและได้รับความอุปถัมภ์จากชนชั้นสูง ทำให้ศิลปะแขนงนี้มีความเจริญถึงขีดสุด (Classic) กลายเป็นศิลปะที่เป็นเอกลักษณ์ประจำชาติ แม้ว่าการพัฒนาสร้างสรรค์ศิลปะให้ก้าวหน้าสอดคล้องกับสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป แต่การสืบทอดและบำรุงรักษาศิลปะแบบเดิมให้คงอยู่ในสภาพเดิมก็มีความจำเป็นต้องสืบต่อศิลปะแบบเดิม ซึ่งเป็นลักษณะประจำชาติ อันแสดงถึงความเจริญของชาติ ควบคู่กับศิลปะร่วมสมัยอันแสดงถึงความก้าวหน้าตามยุคสมัยว่า ...จำเปนต้องแยกศิลปะออกเปนศิลปะปัจจุบันและศิลปะสืบต่อของชาติ (Traditional Art) ศิลปะปัจจุบันเปนเรื่องการบำรุงส่งเสริมศิลปะให้เจริญก้าวหน้าไปตามสิ่งแวดล้อม และเหตุการณ์แห่งความเปน อยู่ของชาติ เปนอย่างเดียวกับการแต่งตัว การกินอยู่เหย้าเรือน ความคิดความเห็นและอื่นๆ ซึ่งจะเหมือนสมัยก่อนไม่ได้ แต่ถึงจะเปลี่ยนไป เหนี่ยวรั้งไว้ไม่ได้ ก็ไม่ทิ้งลักษณะเดิม และยังเป็นชาติไทยอยู่ คือดัดแปลงแก้ไขศิลปะสืบต่อให้ข้ากับสมัยความก้าวหน้า ส่วนศิลปะสืบต่อเป็นศิลปะที่ล่วงสมัยแล้ว แต่ต้องรักษาไว้ไม่ให้สูญไป เพราะเปนลักษณะประจำชาติ ศิลปะไม่ว่าของชาติใดก็เหมือนกับผู้คนเปนเจ้าของศิลปะ คือเมื่อมีความงอกงามเต็มที่แล้ว ก็ถึงขั้น Classic ถ้าไม่บำรุงรักษาไว้ให้ดี ก็มีแต่เสื่อมและสูญไป แต่จะให้ก้าวหน้าต่อไปอีกนั้นไม่ได้ เพราะลักษณะถึงขีดสูงสุดรัดตัว (Stereotype) แล้ว เหตุนี้การบำรุงจึงต้องบำรุงทั้งสองทางควบกันไป ในการบำรุงศิลปะปัจจุบัน เป็นเรื่องทำให้ศิลปะก้าวหน้า ส่วนการบำรุงศิลปะสืบต่อเนื่องเป็นเรื่องรักษาศิลปะแบบวิธี (Style) ของเก่าไว้ให้คงอยู่เพื่อเป็นแบบอย่างและเป็นเครื่องบันดาลใจ (Inspiration) ของศิลปะปัจจุบัน [(2) ศธ.2/25] การบำรุงรักษาและผดุงส่งเสริมศิลปะของกรมศิลปากรแม้จะมีเป้าหมายการสืบทอดรักษาศิลปะแบบเดิมและปรังปรุงสร้างสรรค์ศิลปะบนพื้นฐานศิลปะแบบเดิม แต่ก็ให้ความสำคัญกับการสืบทอดศิลปะแบบแผนของราชสำนัก ทำให้ศิลปะราชสำนักมีพื้นฐานที่มั่นคงและแพร่หลายภายใต้การดำเนินงานของโครงการปรับปรุงกรละครและสังคีต คณะกรรมการพิจารณาโครงการปรับปรุงการละครและสังคีต สรุปถึงความจำเป็นในการบำรุงรักษาศิลปะแบบฉบับว่า ศิลปะแบบฉบับนี้เปนหน้าที่ของกรมศิลปากรจะต้องบำรุงรักษาไว้ (เรื่องเดิม) เช่นเดียวกับที่พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคลทรงชี้ถึงความจำเป็นในการสืบทอดและรักษาศิลปะแบบฉบับเพราะเป็นสิ่งที่แสดงถึงความเจริญรุ่งเรืองทางวัฒนธรรม เป็นลักษณะเฉพาะแสดงถึงความเป็นไทย ความว่า ...นาฏศิลปและดุริยางคศิลปไทยแบบเดิม เมื่อยังไม่มีดนตรีสากลเข้ามาแพร่หลาย ย่อมเปนที่นิยมและได้รับความยกย่องเชิดชูว่าเป็นศิลปะคู่บ้านคู่เมืองของไทย สืบต่อกันมาหลายร้อยปีแล้ว ศิลปะสองประเภทนี้เคยรุ่งเรืองออกหน้าออกตาทัดเทียนศิลปะของประเทศชาติอื่นๆ เพราะศิลปะแบบเดิมของเรามีความงามความไพเราะและมีลักษณะเด่นเปนพิเศษไม่เหมือนของใคร มีแก่นของศิลปะซึ่งเป็นหลักของศิลปะทั่วไปอย่างแท้จริง ผู้ที่เชี่ยวชาญและผู้ที่รักใคร่ศิลปะไม่ว่าชาติไร หรือจะมีขนบธรรมเนียมแตกต่างกันสักเพียงไร เมื่อได้เห็นและฟังศิลปะของเราแล้ว เปนต้องยกย่องชมว่าศิลปะของไทยเปนศิลปะชั้นสูง เปนสิ่งหนึ่งที่ชาวไทยความภูมิใจอย่างยิ่งที่มีศิลปะอย่างสูงไม่แพ้ศิลปะของชาติที่เปนอารยประเทศ (เรื่องเดิม) โครงการปรับปรุงการละครและสังคีตแบ่งการดำเนินงานเป็น 3 ขั้นตอน คือ ขั้นตอนแรกเน้นการสร้างความมั่นคงและเตรียมความพร้อมให้กับการสืบทอดแบบแผนศิลปะ โดยผดุงฐานะเพิ่มพูนศักยภาพของศิลปิน และให้ศิลปินได้มีโอกาสพัฒนาความสามารถ รวมทั้งเผยแพร่ผลงานของกรมศิลปากรให้เป็นที่ยอมรับในหมู่ประชาชน ดังปรากฏแนวทางการปรับปรุงว่า ให้จัดระเบียบการปกครองใหม่ ผดุงฐานะของศิลปิน พยายามรวบรวมศิลปินที่มีฝีมือมาไว้เป็นครูฝึกสอน เพื่อเป็นการฟื้นฟูและบำรุงศิลปะเดิม จัดตั้งโรงเรียนวิชาสามัญให้เป็นมาตรฐานเบื้องต้นของนักเรียนที่จะศึกษาศิลปะทางละครและดนตรี ขยายการศึกษา จัดตั้งชั้นเตรียมอุดมและชั้นอุดมศึกษาขึ้นในโรงเรียนนาฏศิลป จัดทำโน้ตเพลงไทย เพื่อรักษาไว้มิให้เสื่อมสูญ ดัดแปลงนาฏศิลป์และดุริยางคศิลป์ของไทยให้ก้าวหน้าทันสมัย จัดรายการขึ้นฝึกซ้อมและเตรียมไว้ เพื่อแสดงในงานราชการ จัดตั้งละครและนาฏศิลป์สากลขึ้น และจัดให้มีการบรรเลงดนตรีและแสดงละครให้ประชาชน ชั้นที่ 2 เน้นการส่งเสริมดนตรีและนาฏศิลป์สากล ทั้งจัดซื้อเครื่องอุปกรณ์ดุริงยางค์สากล ขยายวงดุริยางค์สากล จัดครูผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศมาสอน ในส่วนของดนตรีและนาฏศิลป์ไทย ให้จัดทำตำรา จัดถ่ายภาพยนตร์ ประกอบท่ารำนาฏศิลป์ และท่าบรรเลงไว้เป็นตำรา เตรียมความพร้อมและสถานที่ ทั้งโรงละคร สถานที่ศึกษา สำนักงาน จัดสร้างเครื่องแต่งตัวละคร รวมทั้งส่งเสริมการดนตรีและละครของเอกชน ชั้นที่ 3 ส่งเสริมให้ดนตรีและนาฏศิลป์แพร่หลายเป็นที่นิยมทั้งในและนอกประเทศ โดยจัดตั้งบริษัทละครร่วมกับคณะของเอกชน เพื่อให้ประชาชนเป็นผู้บำรุงรักษาและลักษณะบริษัทเอกชน ส่งศิลปินผู้เชี่ยวชาญไปดูงานต่างประเทศ และส่งคณะศิลปินไปแสดงนาฏศิลป์และดนตรีไทยในต่างประเทศ เพื่อเผยแพร่ศิลปะของชาติ [(2) ศธ.2/25] โครงการปรับปรุงละครและสังคีตที่พระองค์เจ้าภาณุพันธุ์ยุคลทรงเสนอได้รับการสนับสนุนจากคณะกรรมการพิจารณาโครงการการปรับปรุงละครและสังคีต ลักษณะการดำเนินงาน ได้สรุปเป็นหลักการ 3 ขั้น คือ ขั้นที่ 1 ฟื้นฟูและปรับปรุง ขั้นที่ 2 สร้างสรรค์และเผยแพร่ ขั้นที่ 3 วางมาตรฐาน (เรื่องเดิม) อันสะท้อนถึงจุดประสงค์การดำเนินงานให้เป็นแบบแผนการแสดงของกองการสังคีต ซึ่งเป็นศิลปะที่สืบทอดจากราชสำนักกลายเป็นแบบแผนที่เป็นมาตรฐานของชาติ รัฐบาลจึงไม่ได้ให้การสนับสนุนโครงการปรับปรุงดนตรีและนาฏศิลป์สากลมากเช่นดนตรีไทยละนาฏศิลป์ แม้รัฐบาลจะให้การสนับสนุนการปรับปรุงวงดุริยางคากลของกรศิลปากร แต่ไม่ได้สนับสนุนทำให้วงดุริยางค์สากลโดดเด่นเช่นวัฒนธรรมประจำชาติ โครงการปรับปรุงวงดนตรีสากล โครงการปรับปรุงการละครและสังคีตให้ความสำคัญกับการสนับสนุนวงดนตรีสากลของกรมศิลปากรให้มีความสามารถทัดเทียมกับวงดนตรีสากลอื่นๆ ในประเทศทางตะวันออก ทั้งนี้การส่งเสริมวงดนตรีสากลมีความจำเป็น แม้ว่าดนตรีสากลไม่ใช่ดนตรีประจำชาติ แต่เป็นดนตรีที่ทั่วโลกยอมรับจนกลายเป็น สากล วงดนตรีสากลในความหมายที่โครงการปรับปรุงฯ สนับสนุนจึงจำกัดอยู่เฉพาะวงดนตรีประเภทดุริยางค์ ประเภทวง Classic ซึ่งเป็นที่นิยมในขณะนั้น เนื่องจากวงดนตรีสากลประเภท Classic มีวิวัฒนาการมายาวนาน ทั้งวงดนตรี ศิลปิน และบทเพลง ได้รับการอุปถัมภ์และเป็นที่ชื่นชอบของชนชั้นสูงชาวตะวันตก จนมีพัฒนาการที่แตกต่างจากวงดนตรีทั่วไป เป็นที่ยอมรับจากนานาประเทศทั่วโลก ประเทศไทยจึงสนับสนุนดนตรีประเภทนี้เป็นสื่อถึงความเจริญเช่นอารยประเทศ พระองค์เจ้าภานุพันธุ์ยุคลทรงชี้แจงถึงความจำเป็นต้องส่งเสริมวงดุริยางค์สากลว่า แม้มิใช่ศิลปะของชาติ แต่ก็ต้องปลูกฝังทะนุบำรุงเพราะเป็นการบันเทิงที่ทั่วโลกนิยม [(2) ศธ.2/25] รัชกาลที่ 6 ทรงริเริ่มให้วงดุริยางค์สากลในพระราชสำนัก เรียกในขณะนั้น วงเครื่องสายฝรั่งหลวง สังกัดกรมมหรสพ และโปรดให้ชาวต่างประเทศมาสอน และพัฒนาเป็นวง Orchestra ในภายหลัง เมื่อพระเจนดุริยางค์ (ปิติ วาทยกร) เข้ามาควบคุมวงได้พัฒนาวงดนตรีจนสามารถร่วมมือกับวงดุริยางค์ขิงกรมทหารม้าบรรเลงประกอบการแสดง Opera เป็นครั้งแรกในประเทศไทย (พระเจนดุริยางค์, 2523 : 17) ภายหลังวงดนตรีฝรั่งหลวงของราชสำนัก ทำหน้าที่บรรเลงในงานสำคัญต่างๆ ที่รัฐจัดขึ้น เช่น งานฤดูหนาว งานสภากาชาด งานต้อนรับชาวต่างประเทศ เป็นต้น ในสมัยรัชกาลที่ 7 ราชสำนักให้การสนับสนุนจนสามารถบรรเลงเพลงขั้นสูง เช่น Symphonic Suite และ Symphonic Poem ได้ สามารถเปิดแสดง Symphony Concert สำหรับประชาชน พระเจนดุริยางค์สามารถพัฒนาวงจนมีประสิทธิภาพ ได้รับการยกย่องจากขาวต่างประประเทศที่เป็นนักติชมการบรรเลง (Critic) ว่าเป็นวงดนตรีที่ดีที่สุดในภาคตะวันออกไกล (เรื่องเดิม : 31) เมื่อโอนย้ายงานจากกรมมหรสพมาสังกัดกรมศิลปากรในปี พ.ศ.2476 รัฐบาลไม่ให้การสนับสนุนวงดนตรีสากลเท่าที่ควร เนื่องจากต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก วงดนตรี Symphony Concert มี่เคยมีนักดนตรี 70 กว่าคน เมื่อครั้งกรมมหรสพ ถูกลดจำนวนลงเรื่อยๆ เนื่องจากนักดนตรีไปบรรเลงประกอบกิจการอื่นที่รัฐบาลสนับสนุน เช่น นักดนตรี 18 คน ถูกส่งไปประจำการแสดงละครปลุกใจ ขณะที่นักดนตรีฝึกหัดใหม่ถูกลดจำนวนลงจาก 20 คนเหลือเพียง 4-5 คน ทำให้วงดุริยางค์สากลที่เคยยิ่งใหญ่ในอดีตตกต่ำลงอย่างรวดเร็ว ในทศวรรษที่ 2490 รัฐบาลให้การสนับสนุนวัฒนธรรมความบันเทิงในลักษณะสื่อถึงความเจริญของประเทศ วงดุริยางค์สากลของกรมศิลปากรจึงได้รับการสนับสนุน เนื่องจากดนตรีสากลสัมพันธ์กับการติดต่อแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกับต่างประเทศ เช่น ในปี พ.ศ.2496 สมเด็จพระราชินีอลิซาเบ็ธแห่งเบลเยี่ยม ทรงโปรดฯ ให้มีการประกวดดนตรีระหว่างประเทศ และเชิญประเทศไทยส่งวงดนตรีเข้าประกวด [(3) สร.0201.55/61] การสนับสนุนพัฒนาการของวงจึงมีความจำเป็น แต่เนื่องจากวงดุริยางค์สากลไม่สามารถสนับสนุนความมั่นคงของรัฐบาลเช่นดนตรีไทยและนาฏศิลป์ไทย ทางราชการจึงไม่สนับสนุนเท่าที่ควร เช่น ทางราชการอนุมัติงบประมาณให้ปรับปุงวงดนตรีสากลของกรมศิลปากรตามโครงการปรับปรุงการละครและสังคีต โดยเชิญพระเจนดุริยางค์มาควบคุมวง จนสามารถนำวง Symphony Concert ออกบรรเลงในรายการดนตรีสำหรับประชาชน ณ สังคีตศาลาได้ แต่รัฐบาลไม่ได้ให้ความสำคัญอย่างจริงจัง เช่น ในปี พ.ศ.2491 กรมศิลปากรอนุมัติเงินสำหรับซ่อมแซมเครื่องดนตรีเป็นจำนวนเงิน 1 หมื่นบาท จากงบที่ขอไป 182,964 บาท (ศธ.0701.40/3) เพียงเพื่อให้วงดนตรีสามารถออกบรรเลงได้เท่านั้น ถึงแม้ว่าการจัดแสดงดนตรีสากลของกรมศิลปากร ณ สังคีตศาลาจะได้รับความสนใจจากชาวต่างประเทศและประชาชนจำนวนไม่น้อย แต่กรมศิลปากรก็ไม่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณสำหรับการปรับปรุงพัฒนาวงดนตรี การสนับสนุนงบประมาณจำกัดเพียงสนับสนุนศิลปินรุ่นใหม่ให้ผ่านการเรียนการสอนในหลักสูตรของโรงเรียนนาฏศิลป หรือส่งนักดนตรีไปศึกษาดูงานจากต่างประเทศ หลวงวิเชียรแพทยาคม รักษาการในตำแหน่งปลัดกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า วงดุริยางค์สากลของกรมศิลปากรไม่ก้าวหน้าไป ตามกาลสมัยจนไม่แน่ใจว่าจะได้มาตรฐานดังที่กำหนดนิยมกันในต่างประเทศหรือไม่ ทั้งนี้เพราะไม่มีผู้เชี่ยวชาญทางดนตรีสากลเป็นผู้อบรมให้อย่างเพียงพอ การที่จะปรับปรุงให้ได้มาตรฐานที่นิยมกันในต่างประเทศนั้น จะต้องว่าจ้างศาสตราจารย์ทางดนตรีต่างประเทศมาปรับปรุงและอบรมสั่งสอน ย่อมเป็นเรื่องที่เนิ่นช้าและไม่แน่ใจว่าจะได้รับอนุมัติหรือไม่ กรมศิลปากรเห็นว่าเวลานี้มีเงินทุนหมุนเวียนการสังคีตพอที่จะเจียดส่งนักดนตรีของกรมศิลปากร ไปศึกษาและงานจากต่างประเทศเพื่อนำมาปรับปรุงวงดนตรีให้ได้มาตรฐานเท่าที่ควรไปพลางก่อน (ศธ.0701.2.6/10) พระกระแสรับสั่งในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อปี พ.ศ.2475 ทรงปรารภใคร่จะให้ปรับปรุงวงดนตรีสากลให้มีสมรรถภาพดียิ่งขึ้น และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตีพิมพ์หนังสือ ตำราดนตรี ของพระเจนดุริยางค์ (สร.0201.104/11) ย่อมสะท้อนถึงปัญหาการปรับปรุงวงดนตรีสากลของกรมศิลปากร เช่นเดียวกับความลำบากใจในการบริหารงานของพระเจนดุริยางค์ เพราะนักดนตรีขาดความสนใจฝึกซ้อม เนื่องจากความนิยมดนตรีแจ๊ซทำให้นักดนตรีจำนวนไม่น้อยรับงานบรรเลงดนตรีแจ๊ซในตอนกลางคืน เพราะมีรายได้ดี ศิลปินบางคน เช่น นายสมาน กาญจนผลิน ลาออกไปเป็นนักดนตรีอิสระเนื่องจากมีรายได้ดีกว่ารับราชการในกรมศิลปากร พระเจนดุริยางค์กล่าวถึงความลำบากใจในเรื่องนี้ว่า ข้าพเจ้ามองเห็นหัดทีเดียวว่าความเสื่อมโทรมของวงดุริยางค์วงนี้เกิดขึ้นเพราะการหย่อนในระเบียบวินัยเป็นต้นเหตุ ซึ่งเป็นการยากนักยากหนาที่จะทำให้ฟื้นตัวให้ดีขึ้นได้ ในเมื่อนักดนตรีเหล่านี้ไม่เต็มใจร่วมมือเพื่อเกียรติของตนเอง และเพื่อประโยชน์ของราชการ... (พระเจนดุริยางค์, 2523 : 64) กล่าวได้ว่าการปรับปรุงวงดนตรีสากลของกรมศิลปากรไม่ประสบความสำเจเช่นงานด้านดนตรีและนาฏศิลป์ไทย พระเจนดุริยางค์ผู้ปรับปรุงและควบคุมวงลาออกจากราชการในปี พ.ศ.2497 เพราะสิ้นหวังที่จะทำให้วงดุริยางค์สากลของกรมศิลปากรกลับมาฟื้นตัวได้เช่นเดิมอีก (เรื่องเดิม 2523 : 68) สาเหตุที่รัฐบาลไม่สนับสนุนการปรับปรุงดนตรีสากลและนาฏศิลป์สากลเท่าที่ควร น่าจะด้วยเหตุที่การส่งเสริมวงดนตรีและนาฏศิลป์สากลไม่สามารถประชาสัมพันธ์นโยบายของรัฐได้มากเช่นดนตรีและนาฏศิลป์ไทย เพราะดนตรีและนาฏศิลป์สากลประเภทคลาสสิคไม่ได้รับความสมใจจากคนไทยทั่วไป เห็นได้จากความนิยมดนตรีสากลจำกัดอยู่ในแวดวงของชนชั้นนำและผู้มีฐานะ โครงการปรับปรุงการละครและสังคีต ในส่วนของดนตรีและนาฏศิลป์ไทยขั้นตอนแรกได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลให้ดำเนินการตั้งแต่ปี พ.ศ.2489 เมื่อถึงสมัยรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ในช่วงต้นทศวรรษ 2490โครงการปรับปรุงการละครและสังคีตได้รับการสนับสนุนให้ดำเนินงานตามแผนงานของโครงการ แต่มิได้เป็นไปตามแผนงานทั้งหมดเนื่องจากปัญหางบประมาณ อย่างไรก็ตามภายหลังปี พ.ศ.2495 เมื่อนโยบายวัฒนธรรมกลายเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนนโยบายทางการเมือง โครงการปรับปรุงการละครและสังคีตจึงได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลอย่างเต็มที่กล่าวได้ว่าโครงการปรับปรุงการละครและสังคีตของกรมศิลปากร เริ่มต้นดำเนินงานในช่วงที่รัฐบาลให้ความสำคับกับวัฒนธรรมความบันเทิงประจำชาติ เพื่อการเสริมสร้างสถานะของประเทศในประชาคมโลก เมื่อรัฐบาลใช้นโยบายวัฒนธรรมสนับสนุนนโยบายทางการเมือง โครงการปรับปรุงการละครและสังคีต ก็ยังสอดคล้องกับนโยบายของรัฐจึงได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาล ทำให้กองการสังคีต กรมศิลปากร ในทศวรรษที่ 2490 เติบโตจนกลายเป็นหน่วยงานที่มีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมความบันเทิงของชาติสืบมา ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() ![]() โดย: arrow IP: 118.173.240.78 วันที่: 28 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา:15:11:36 น.
ชื่นชอบนาฏศิลป์มาก
โดย: krissna IP: 118.173.6.29 วันที่: 5 กันยายน 2552 เวลา:12:30:56 น.
อยากรำสวย
โดย: ling IP: 118.173.6.29 วันที่: 5 กันยายน 2552 เวลา:12:32:32 น.
อยากสวยเหมือนนางรำ
โดย: jar IP: 118.173.6.29 วันที่: 5 กันยายน 2552 เวลา:12:34:59 น.
|
บทความทั้งหมด
|