พระพิราพ ![]() 20 กรกฎาคม 2548 10:54 น. พระพิราพที่เป็นเทพเจ้ากับยักษ์พิราพในบทพระราชนิพนธ์รามเกียรติ์เป็นยักษ์คนละตนกัน แต่เกิดการเพี้ยนทางภาษา ยักษ์วิราธจึงกลายเป็นพิราพ ทั้งที่คำว่าวิราธมีความหมายว่าผู้มีโทษหรือผู้มีความผิด การถ่ายทอดลัทธิบูชาพระไภรวะที่ส่งผ่านจากอารยธรรมอินเดียมายังสุวรรณภูมินั้น น่าจะมาตามลุ่มน้ำคงคา โอริสสา และแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์อื่นๆ ข้ามมหาสมุทรอินเดียสู่อาณาจักรชวาและขอม แล้วไทยคงจะรับจากขอมอีกทอดหนึ่ง ศิลปะการร่ายรำและการร้องในการแสดงโขนนั้นถือเป็นศิลปะชั้นสูงในสาขานาฏศิลป์ โดยเฉพาะการรำหน้าพาทย์เพลงองค์พระพิราพเต็มองค์ ซึ่งถือเป็นเพลงที่มีความสำคัญเป็นที่เคารพยำเกรงของนาฏดุริยศิลปินทุกคน เพลงหน้าพาทย์องค์พระพิราพเต็มองค์เป็นเพลงที่มีมาแต่โบราณ แต่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดในตำราไหว้ครูฉบับของ ครูเกษ (พระราม) ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ประกอบพิธีไหว้ครูเมื่อปีขาล พ.ศ.2397 เพลงนี้ประกอบด้วยโครงสร้างในการบรรเลงติดต่อกัน เริ่มจากรัวเสียนหน้า เสียนหน้า องค์พระพิราพ รัวเสียนหลัง เสียนหลัง พันพิราพรัวท้าย และปฐมลงลาจบด้วยรัวลาเดียว ผู้ที่จะเรียนเพลงองค์พระพิราพเต็มองค์ต้องมีคุณสมบัติที่โบราณจารย์ได้วางระเบียบแบบแผนไว้ คือต้องผ่านการเรียนหน้าพาทย์ชั้นต้น หน้าพาทย์ชั้นกลาง หน้าพาทย์ชั้นสูง เป็นผู้มีคุณวุฒิ วัยวุฒิ เป็นบุคคลที่มีความประพฤติดีเป็นที่ยอมรับของสังคม มีอายุครบ 30 ปีบริบูรณ์ และต้องผ่านการอุปสมบทแล้ว การรำพระพิราพเต็มองค์ เกิดขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ผู้ประดิษฐ์ท่ารำคือ พระยานัฎกานุรักษ์ (ทองดี สุวรรณภารต) ได้ถ่ายทอดท่ารำให้นายรงภักดี (เจียร จารุจรณ) โดยต่อท่ารำที่ระเบียงคตหน้าพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม และออกท่ารำครั้งแรกในงานสมโภชระวางพระเศวตคชเดชดิลก เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ.2470 ณ โรงโขนที่สร้างขึ้นหน้าพระราชวังดุสิต เป็นการแสดงหน้าพระที่นั่งถวายรัชกาลที่ 7 และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี การบรรเลงและการร่ายรำพระพิราพเต็มองค์เป็นการประกอบกิริยาของพระพิราพ ซึ่งเป็นพระอิศวรปาง พระไภรวะ (ปางดุร้าย) เป็นมหาเทพแห่งการทำลายล้าง ความตาย ชีวิตและขจัดความชั่วร้าย ดร.มัทนี รัตนิน ศึกษาไว้ว่าพระพิราพที่เป็นเทพเจ้ากับยักษ์พิราพในบทพระราชนิพนธ์รามเกียรติ์เป็นยักษ์คนละตนกัน แต่เกิดการเพี้ยนทางภาษา ยักษ์วิราธจึงกลายเป็นพิราพ ทั้งที่คำว่าวิราธมีความหมายว่าผู้มีโทษหรือผู้มีความผิด ในแง่การถ่ายทอดลัทธิบูชาพระไภรวะที่ส่งผ่านจากอารยธรรมอินเดียมายังสุวรรณภูมินั้น น่าจะมาตามลุ่มน้ำคงคา โอริสสา และแม่น้ำศักดิ์สิทธิ์อื่นๆ ข้ามมหาสมุทรอินเดียสู่อาณาจักรชวาและขอม แล้วไทยคงจะรับจากขอมอีกทอดหนึ่ง หรืออาจรับโดยตรงจากนาฏศิลป์อินเดียที่เข้ามาในสุวรรณภูมิก็เป็นได้ นอกจากนี้พาราณสีซึ่งเป็นศูนย์กลางสำคัญของลัทธิพระไภรวะก็มีความสัมพันธ์และอิทธิพลทางศาสนาและวัฒนธรรมต่อสุวรรณภูมิอยู่มาก พระไภรวะนี้มีความสัมพันธ์โดยตรงกับนาฏศิลป์ ถือเป็นนาฏราชผู้ให้กำเนิดการฟ้อนรำแบบหนึ่ง เรียกว่า 'วิจิตรตาณฑวะ' ซึ่งเป็นท่ารำที่วิจิตรพิสดารท่าหนึ่งใน 108 ท่าของพระศิวะ พระไภรวะจึงเป็นที่เคารพเกรงกลัวยิ่งในหมู่นาฏศิลป์อินเดีย ข้อน่าสังเกตคือนาฏศิลป์ชั้นสูงมักเกี่ยวกับชีวิตและความตาย การสร้างสรรค์และการทำลายซึ่งเป็นสิ่งตรงกันข้ามกัน แต่รักษาดุลยภาพของกันและกันไว้ การร่ายรำของพระศิวะนาฏราชนั้นเป็นการสร้างสรรค์และการทำลายอยู่ในตัว ทรงเหยียบอสูรไว้ด้วยพระบาทขวาหมายถึงการทำลายความชั่ว พระบาทซ้ายยกขึ้นทำท่ารำงดงามเป็นการสร้างสรรค์ศิลป์ รอบๆ เป็นวงเปลวเพลิงหมายถึงการหมุนเวียนของจักรวาล บางคติเชื่อว่าเมื่อใดที่ทรงยุติการร่ายรำแล้ว ไฟบรรลัยกัลป์จะเผาจักรวาลให้พินาศและเกิดจักรวาลใหม่ ในทางโขน การสร้างศีรษะหรือหัวโขนพระพิราพนั้นมีกรรมวิธีแตกต่างจากการสร้างหัวโขนสำหรับใช้แสดงทั่วไป คือ ก่อนการขึ้นหุ่นองค์พิราพนั้นผู้สร้างจะต้องตั้งเครื่องสังเวยมัจฉมังสาหารทั้งดิบและสุกพร้อมผลไม้และเครื่องกระยาบวดบายศรีซ้ายขวา จากนั้นกล่าวบูชาพระรัตนตรัย ชุมนุมเทวดาบูชาครู แล้วเริ่มขึ้นหุ่นด้วยดินที่สะอาดปราศจากซากสัตว์ (ปัจจุบันใช้ดินน้ำมันแทน) เสร็จแล้วตั้งเครื่องสังเวยครั้งที่สองเพื่อสำรอกจากหุ่นดินเป็นหุ่นปูน ตั้งเครื่องสังเวยครั้งที่สามเพื่อปิดหุ่น โดยนำกระดาษสีน้ำตาลที่เขียนคาถาลงอักขระเลขยันต์ไว้ ปิดหุ่นที่ปั้นนั้นไว้ด้วยการปิดกระดาษน้ำ 3 ชั้น ปิดกระดาษทาแป้งเปียก 9 ชั้น ปิดกระดาษสาที่ลงอักขระเลขยันต์ 9 ชั้น ทิ้งไว้พอหมาด กวดหุ่นให้เรียบ พักไว้จนกระดาษที่ปิดหุ่นแห้งสนิท ตั้งเครื่องสังเวยเป็นครั้งที่สี่ บอกกล่าวขอขมาแล้วผ่าหุ่นนำกระดาษที่ปิดถอดออกจากหุ่น เย็บรอยผ่าให้เรียบร้อย แล้วปั้นแต่งหน้าเน้นเส้นเดินบนใบหน้า ตา จมูก ปาก ขัดให้เรียบ ประดับลาย ติดเขี้ยวและจรหู ลงสีพื้น ลงรักปิดทองที่ลวดลายลงยาสีประดับกระจก จัดตั้งเครื่องสังเวยครั้งที่ห้า บอกกล่าวขอเขียนลวดลายบนใบหน้าและผม เว้นช่องรูปลูกตาไว้โดยลงเฉพาะสีขาวไว้ที่พื้นตาเท่านั้น จัดตั้งเครื่องสังเวยครั้งที่หก ขออนุญาตเจาะตาลงสีที่ตาและแววตา ว่าคาถาเบิกเนตร เปิดทวาร ตา หู จมูก ปาก กำกับด้วยอาการ 32 สุดท้ายจึงเชิญพลังจิตวิญญาณขององค์พระพิราพเข้าสถิตที่หัวโขนพระพิราพ ในชีวิตของศิลปินผู้ดำรงศิลปะคนหนึ่งจะมีศีรษะครูสักหนึ่งคู่คือ พ่อครูพระภรตมุนีและพ่อครูพระพิราพ ย่อมไม่เป็นการยากเลยที่จะสะสมทรัพย์เพื่ออุทิศสร้างหัวโขนที่ประณีตวิจิตรบรรจง ที่ถือว่าเป็นครูไว้เป็นสิริมงคลแก่ตนและผู้สืบสกุล ...................................................................... หมายเหตุ : คัดและเรียบเรียงข้อมูลจากสูจิบัตรงานนิทรรศการ 'พระพิราพ' ในวโรกาสที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระชนมายุครบ 50 พรรษา จัดพิมพ์โดยพระครูสังฆรักษ์ ศิริพงศ์ ติสฺสาภร โณ นิทรรศการจัดแสดงถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2548 ที่หอสมุดดนตรีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และห้องสมุดดนตรีทูลกระหม่อมสิรินธร ในบริเวณสำนักหอสมุดแห่งชาติ สอบถามเพิ่มเติมโทร.02-282-8045 ชอบมากเลยครับ
![]() โดย: ลูกศิยษ์ IP: 125.24.70.253 วันที่: 7 ตุลาคม 2550 เวลา:19:31:24 น.
มีข้อมูลเพิ่มเติมในเวบบอร์ดของกรมศิลปากร ใน
นาฏศิลป์-ดนตรี / พิธีครอบและต่อหน้าพาทย์องค์พระพิราพ //203.153.176.79/th/board/show_message.php?ID_Topic=00000415&ID_Room=00000007&RecordCount=146&PageSetUp=1&Keyword= และ นาฏศิลป์-ดนตรี / รูปภาพงานสาธยายท่ารำหน้าพาทย์พระพิราพ ๒๙ - ๓๐ สค ๒๕๕๐ //203.153.176.79/th/board/show_message.php?ID_Topic=00000622&ID_Room=00000007&RecordCount=146&PageSetUp=6&Keyword= โดย: ลัดดา IP: 58.136.52.85 วันที่: 15 ตุลาคม 2550 เวลา:19:17:36 น.
ชอบมากเลย
โดย: ปราย วันที่11มกราคม พ.ศ.2551 เวลา21.45 น. IP: 117.47.152.130 วันที่: 11 มกราคม 2551 เวลา:21:57:46 น.
![]() ![]() ![]() ![]() โดย: ลานนา IP: 125.24.133.95 วันที่: 11 มีนาคม 2551 เวลา:12:07:40 น.
เวบบอร์ดกรมศิลปากรเปลี่ยน url ใหม่เป็น
นาฏศิลป์-ดนตรี / พิธีครอบและต่อหน้าพาทย์องค์พระพิราพ //www.finearts.go.th/th/board/show_message.php?ID_Topic=00000415&ID_Room=00000007&RecordCount=249&PageSetUp=1&Keyword= และ นาฏศิลป์-ดนตรี / รูปภาพงานสาธยายท่ารำหน้าพาทย์พระพิราพ ๒๙ - ๓๐ สค ๒๕๕๐ //www.finearts.go.th/th/board/show_message.php?ID_Topic=00000622&ID_Room=00000007&RecordCount=249&PageSetUp=11&Keyword= และตอนนี้รูปหายไปหมด เหลืออยู่แต่ข้อมูลกับรูปอีกไม่กี่รูป โดย: ลัดดา IP: 58.136.52.198 วันที่: 28 มีนาคม 2551 เวลา:6:43:55 น.
|
บทความทั้งหมด
|