การรู้จักจิตผิดๆ ทำให้การศึกษาพระพุทธศาสนาผิดตลอดแนว


🌷 การรู้จักจิตผิดๆ ทำให้การศึกษาพระพุทธศาสนาผิดตลอดแนว

วันพุธที่ ๒ มีนาคม ๒๕๖๕ ตรงกับวันพระแรม ๑๔ ค่ำ เดือน ๓ ปีฉลู

มีสุข สวัสดี ถึงเวลาฟังพระธรรมเทศนา วันพระนี้อาตมาภาพตั้งใจว่าจะพูดถึงแก่นแท้ของพระพุทธศาสนา เรื่องนั้นก็คือจิต เมื่อพูดถึงจิต ทุกคนย่อมรู้อยู่ว่าตนเองนั้นก็มีจิตกับเค้าเหมือนกัน เพราะถ้าไม่มีจิต ต้องไปอยู่ตามห้องดับจิตในโรงพยาบาลแน่นอน เห็นมั๊ยเค้าใช้คำว่า ดับจิต ไปจากรูปร่างกายนี้ เพื่อจิตจะได้ไปจุติ (เคลื่อนออกไป) หาที่เกิดใหม่ ตามภพภูมิของตน ด้วยอำนาจแห่งการกระทำกิเลส กรรม วิบากไว้ ไม่ใช่จิตดับตายหายสูญไปไหน จิตไม่เคยดับตายหายสูญไปไหนเลย ดังพระบาลีในมหาปรินิพพานสูตรว่า

"จตุนฺนํ อริยสจฺจานํ ยถาภูตํ อทสฺสนา สงฺสริตํ ทีฆมทฺธานํ ตาสุตาเสว ชาติสุ" แปลว่า "ความเวียนว่ายของเรา เข้าไปในชาติน้อยใหญ่ทั้งหลายอันยาวนานนับไม่ถ้วนนั้น เพราะไม่รู้เห็นอริยสัจ ๔ ตามความเป็นจริง ดังนี้" 

ชัดเจนว่า จิตของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้เข้าไปเวียนว่ายจากพระชาติหนึ่งไปยังอีกพระชาติหนึ่ง ติดต่อกันไปหลายพระชาติ เป็นเวลาอันยาวนานนับไม่ถ้วนก่อนทรงตรัสรู้ และจิตของพระองค์ได้ยืนตัวเป็นประธานทุกชาติ ไม่ว่าจะเปลี่ยนพระชาติไปกี่ครั้งกี่หนก็ตาม

การที่รู้จักจิตผิดไปจากความจริง ย่อมทำให้การศึกษาพระพุทธศาสนาพลาดออกไปจากเป้าหมาย ซึ่งเป็นแก่นแท้หรือธรรมแท้ของพระพุทธศาสนาเช่นกัน

ทำไมถึงได้เป็นเช่นนั้น การที่เรารู้จักจิตผิดไปจากความเป็นจริง ย่อมทำให้การศึกษาพระพุทธศาสนาผิดไปจากความเป็นจริงตลอดแนวด้วยเช่นกัน

เพราะการรู้จักเรื่องจิตผิดไปจากความเป็นจริง ย่อมทำให้การเรียนรู้และการปฏิบัติธรรมกรรมฐานภาวนา เพื่อให้เข้าถึงแก่นแท้คือพระสัทธรรมในพระพุทธศาสนาผิดไปตลอดแนว ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น แม้ในสัทธรรมปฏิรูปสูตร พระพุทธองค์ทรงตรัสแก่พระมหากัสสปในข้อสุดท้ายว่า เพราะพุทธบริษัทไม่ใส่ใจและไม่สนใจในการทำสมาธิ (สัมมาสมาธิ) เพราะเข้าใจผิดว่าเป็นแค่สมถะและเป็นเรื่องของฤาษีชีไพรไปเสีย

เช่นเดียวกับบุคคลที่ติดกระดุมเสื้อเม็ดแรกผิด เราก็ยังติดเม็ดต่อไปได้เรื่อยๆ โดยไม่รู้หรอกว่าตนเองติดผิด เพราะยังสามารถติดเม็ดต่อๆ ไปได้ แต่จะทำให้ติดผิดตามไปด้วยตลอดแนวของการปฏิบัติธรรม

การเปรียบเทียบแบบนี้ จะทำให้เราเห็นได้อย่างชัดเจน ถึงเหตุแห่งความเข้าใจผิดๆ นั้น แต่กลับไปนึกเองเออเองแบบผิดๆ ว่า สิ่งที่ตนเข้าใจนั้นถูกต้องแล้ว เพราะยังไม่เคยรับฟังจากผู้รู้ ผู้ได้ที่พึ่งแล้ว หรือกาลามสูตรกังขานิยฐาน ๑๐ พระสูตรที่ว่าด้วย อย่าเพิ่งปลงใจเชื่ออะไรง่ายๆ ในเรื่องที่ควรสงสัย

การติดกระดุมเม็ดแรกผิด เราก็ยังสามารถติดกระดุมเม็ดต่อไปได้ตลอดแนวเช่นกัน แต่เป็นแถวเป็นแนวที่ผิดรูปไป ไม่ลงตัวกันพอดีขาดสมดุลย์ไปเท่านั้น โดยที่เจ้าตัวไม่รู้ตัวเลย เนื่องจากตนเองนั้นใส่เสื้อตัวนั้นอยู่ ทำให้มองไม่เห็นสิ่งที่ตนเองทำลงไป แต่ก็ไม่ถึงกับไม่รู้เลย เพียงแต่คุ้นชินกับสิ่งที่ทำลงไปนั้น ต้องให้บุคคลอื่นที่เคยผ่านประสบการณ์นั้นมาแล้ว ชี้ให้เห็นตามความเป็นจริงว่า ที่ใช่เป็นยังไง ที่ไม่ใช่เป็นยังไง

เนื่องจากบุคคลที่เคยผ่านการปฏิบัติธรรมสมาธิกรรมฐานภาวนา ตามแนวสติปัฏฐานที่ถูกต้องมาแล้วนั้น ย่อมมีวิธีการที่จะติดกระดุมเม็ดแรกไม่ให้ผิดพลาดได้ โดยพระพุทธพจน์จะเป็นกระจกคอยส่องนำทางให้เห็นได้อย่างชัดเจน ถึงความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นได้ในขณะที่ติดกระดุมเม็ดแรก

เราควรต้องคอยเอาพระพุทธพจน์มาเทียบเคียง กับผลของการปฏิบัติธรรมที่ผ่านๆ มา ว่าเรายังหลงทางอยู่หรือไม่

การเริ่มต้นปฏิบัติธรรมสมาธิกรรมฐานภาวนานั้นสำคัญมากๆ เมื่อเริ่มต้นผิดก็จะทำให้ผิดตลอดแนวได้  หรือถ้าเริ่มต้นด้วยความถูกตรงต่อพระธรรมคำสั่งสอนที่เป็นธรรมแท้ เป็นแก่นแท้ก็สามารถเดินทางสู่ความเป็นอริยะ (อริยมรรค) ได้ตลอดแนวเช่นกัน

โดยเฉพาะเรื่องจิต ซึ่งเป็นหัวใจหลักในพระพุทธศาสนาของเรา พวกเราชาวพุทธพึงต้องศึกษาเรื่องจิตให้เข้าใจอย่างถูกต้อง ตรงตามพระพุทธพจน์ จึงจะทำให้การปฏิบัติธรรมสมาธิกรรมฐานภาวนาเป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย คลายกำหนัด เพื่อความดับทุกข์ เพื่อความสงบระงับดับตัณหา เพื่อความหลุดพ้น เพื่อพระนิพพานอย่างถูกต้อง

ในโอวาทปาฏิโมกข์นั้น พระพุทธองค์ท่านทรงกล่าวไว้ชัดเจนว่า ให้เราชำระจิตให้บริสุทธิ์หมดจดจากเครื่องเศร้าหมอง ซึ่งเป็นหัวใจของพระพุทธศาสนาที่สำคัญมาก เพื่ออะไร?  เพื่อให้จิตหลุดพ้นหรือจิตพ้นวิเศษจากอารมณ์ต่างๆ (อุปกิเลสทั้งหลาย ทั้งดีทั้งชั่ว) ฉะนั้นจิตจึงเป็นหัวใจพระพุทธศาสนา ที่พระพุทธเจ้าทุกพระองค์ได้อุบัติขึ้นมาในโลกล้วนสั่งสอนให้ชำระจิตของตนทั้งสิ้น (อธิจิตฺเต จ อาโยโค เอตํ พุทฺธานสาสนํ)

เมื่อยังมีบุคคลอีกจำนวนมาก ที่มีความเข้าใจเรื่องจิตผิดไปจากความเป็นจริง ว่าจิตเป็นของเหลวไหล จิตเกิดดับอยู่ตลอดเวลา เป็นที่พึ่ง เป็นที่อาศัยไม่ได้เลย เราจะชำระจิตให้บริสุทธิ์หมดจดจากเครื่องเศร้าหมองไปเพื่ออะไร?

เราจะชำระได้ล่ะหรือ ในเมื่อจิตเกิดๆ ดับๆ หรือมีๆ หายๆอยู่ตลอดเวลา ในเมื่อจิตเป็นของเหลวไหล เป็นที่พึ่งพาอาศัยไม่ได้ จะชำระจิตไปเพื่ออะไรในเมื่อหาประโยชน์มิได้

ถ้าจิตเป็นของแบบที่ว่ามานั้นแล้ว เราควรปล่อยจิตทิ้งไปหรือทำลายทิ้งไปเสียให้สิ้นไป ไม่ดีกว่าหรือ? ต้องไปชำระให้สะอาดบริสุทธิ์เพื่ออะไร? เพราะว่า เมื่อชำระจิตให้บริสุทธิ์หมดจด (เป็นธรรมธาตุ) ได้แล้ว จิตก็ยังเป็นของเหลวไหล เกิดดับ เป็นที่พึ่งพาอาศัยไม่ได้อยู่ดี เมื่อเป็นเช่นนี้จะเสียเวลาไปทำไม  เอาเวลาไปเรียนวิธีทำอาหารยังจะได้ประโยชน์เสียมากกว่า

ซึ่งเป็นไปไม่ได้แน่นอน พระพุทธองค์คงไม่สั่งสอนให้เรามัวไปเสียเวลากับการปฏิบัติธรรม ชำระของที่เกิดๆ ดับๆ เหลวไหลหาสาระไม่ได้ เป็นที่พึ่งพาอาศัยไม่ได้

ก่อนอื่น เราชาวพุทธต้องมารู้จักจิตที่แท้จริงเสียก่อน คำว่า "จิต" คือธาตุรู้ เมื่อเป็นธาตุรู้ จะต้องทรงไว้ซึ่งความรู้ อะไรเกิดขึ้นก็รู้ อะไรดับไปก็รู้ ไม่รู้ก็รู้ว่าไม่รู้ เพราะธาตุรู้ย่อมต้องทรงตัวรู้อยู่ทุกกาลสมัย

ถ้าตัวมันเองเกิดๆ ดับๆ จิตต้องเป็นสภาพธรรมที่รู้บ้างไม่รู้บ้างสิ จะมาเรียกว่าธาตุรู้ไม่ได้เลย เพราะเดี๋ยวรู้บ้าง ไม่รู้บ้าง ต้องเรียกว่าธาตุรู้บ้างไม่รู้บ้าง จึงจะถูกต้อง

เมื่อเป็นธาตุรู้ หรืออสังขตธาตุ ธาตุแท้ที่ไม่ต้องมีปัจจัยอะไรมาปรุงแต่งให้เกิดขึ้น ย่อมไม่กลับกลายเป็นธาตุอื่นไปได้ ย่อมต้องเป็นธาตุรู้อยู่ต่อไปตลอดเวลาวันยังค่ำ เพียงแต่การรู้นั้นมีการรู้ถูก คือรู้เห็นตามความเป็นจริงโดยปราศจากความกำหนัด หรือการรู้ผิดไปจากความเป็นจริงเท่านั้น

ถ้ารู้ถูกตามความเป็นจริงก็จะเกิดวิชชาขึ้นที่จิต จิตย่อมมีสติรู้เท่าทันอารมณ์ทั้งหลายเกิดขึ้นที่จิต และดับไปจากจิต ส่วนที่จิตรู้ผิดนั้น เพราะจิตรู้ผิดไปจากความเป็นจริง ด้วยถูกอวิชชา ตัณหา อุปาทาน ครอบงำมานานแล้ว แม้ผู้มีปัญญายังไม่รู้เลยว่า จิตถูกอวิชชาครอบงำมาตั้งแต่เมื่อไหร่ 

ลักษณะของบุคคลที่ถูกอวิชชาครอบงำ 
๑. ทุกเข อัญญาณัง ไม่รู้จักทุกข์ 
๒. ทุกขสมุทเย อัญญาณัง ไม่รู้จักเหตุให้ทุกข์เกิด 
๓. ทุกขนิโรเธ อัญญาณัง ไม่รู้จักการดับทุกข์
๔. ทุกขนิโรธคามินียา ปฏิปทายะ อัญญาณัง ไม่รู้จักทางปฏิบัติให้ถึงการดับทุกข์
รวมทั้งสิ้น ๔ ประการ ซึ่งเป็นเรื่องของจิตที่โง่เขลาเบาปัญญาทั้งสิ้น การที่ไม่รู้อะไรอย่างอื่นนอกจาก ๔ ประการนี้แล้ว เราจัดว่าไม่ใช่อวิชชาในทางพระพุทธศาสนา

แต่จิตที่เข้ามาเกิดในภพภูมิต่างๆ เช่น ภพภูมิของพรหม ภพภูมิของเทวดา ภพภูมิของมนุษย์ ภพภูมิของสัตว์นรก เปรต อสุรกาย และอื่นๆ นั้น เพราะกิเลส กรรม วิบาก ที่นอนเนื่องอยู่ที่จิต เป็นตัวเหตุที่ผลักดันให้เข้ามาเกิดในภพภูมิต่างๆ   เพื่อมาชดใช้กิเลส กรรม วิบาก ในสิ่งที่ตนได้เคยก่อไว้ ไม่ใช่มาชดใช้กิเลส กรรม วิบาก ของใครผู้หนึ่งผู้ใดที่เคยก่อไว้เลย มาชดใช้แทนกันไม่ได้ นอกจากเคยมีสายบุญสายกรรมร่วมกันมาก่อน  เป็นการชดใช้ กิเลส กรรม วิบาก ของตนเองแท้ๆ นั่นเทียวที่ได้เคยก่อไว้

การชดใช้กิเลส กรรม วิบาก ของใครของเค้า จิตเรา กิเลส กรรม วิบาก ก็เป็นของเราที่เคยก่อไว้ จะเป็นของคนอื่นใดที่เคยก่อไว้เป็นไปไม่ได้เลย และรับชดใช้กิเลส กรรม วิบากให้แทนกันก็ไม่ได้ เช่นบิดาเคยได้ก่อกรรมทำเข็ญไว้ต่างๆ นานา กรรมที่บิดาทำไว้นั้นจะมาส่งต่อตกเป็นของลูกเพื่อให้ใช้แทนนั้น เป็นสิ่งที่ขาดเหตุ เพราะในบางครั้งเราจะเห็นเหมือนกับว่าลูกได้รับกรรมที่คล้ายกับที่บิดาของตนเคยทำไว้ สืบเนืองจากกิเลส กรรม วิบากที่เคยทำร่วมกันมาก่อนให้ผล การได้เกิดมาในครอบครัวเดียวกันนั้น ย่อมต้องมีสายบุญสายกรรมร่วมกันมาก่อน จึงจะมีเหตุให้เกิดในครอบครัวเดียวกันได้

ดังพระพุทธพจน์ที่กล่าวไว้ว่า
"ใครที่ทำกรรมดีกรรมชั่วเช่นใด ย่อมได้รับผลแห่งกรรมดีกรรมชั่วเช่นนั้น"

ฉะนั้น จิตจึงเป็นหลักธรรมที่สำคัญอย่างมากหรือเป็นธรรมแท้ ที่พวกเราชาวพุทธต้องหมั่นฝึกฝนอบรมจิต ให้จิตเกิดความชำนิชำนาญในการปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นในอารมณ์ต่างๆ ได้อย่างเด็ดขาดและรวดเร็ว (สติปัญญา) ดังมีในพระสูตรดังนี้

สาวัตถี พระพุทธองค์ตรัสสอนภิกษุทั้งหลายว่า ความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลายนั้น มีได้สำหรับผู้รู้อยู่ เห็นอยู่ คือรู้เห็นว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ [เนตํ มม เนโสหมสฺมิ น เมโส อตฺตาติ แปลว่า สิ่งนั้นไม่ใช่เรา (จิต) เรา (จิต) ไม่ใช่สิ่งนั้น สิ่งนั้นไม่ใช่ตัวตนของเรา (จิต)] ขันธ์เป็นอย่างนี้ เกิดขึ้นเพราะเหตุอย่างนี้ ดับสิ้นไปเพราะอย่างนี้ ทรงตรัสว่า ภิกษุไม่หมั่นประกอบความเพียรในการฝึกอบรมจิต ด้วยภาวนานุโยค (สัมมาสมาธิ) ถึงจะปรารถนาให้จิตหลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย จิตของเธอก็หาหลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลายได้ไม่ 

การฝึกฝนอบรมจิตด้วยภาวนานุโยคนั้น หมายถึงการอบรมจิตในโพธิปักขิยธรรม ๓๗  ไม่ใช่ใช้เพียงแค่สัญญาที่ตนเองเข้าใจผิดๆ คิดว่าเป็นปัญญา นึกว่าปล่อยวางได้ แต่แท้จริงแล้วไม่ใช่การปล่อยวางอารมณ์ออกไป เป็นแค่เปลี่ยนการอารมณ์จากอารมณ์หนึ่งไปสู่อีกอารมณ์หนึ่งที่ได้จดจำไว้เท่านั้น ในขณะที่จิตใจของตนเองยังคุกรุ่นอยู่กับอารมณ์เหล่านั้น และเก็บกักอารมณ์เหล่านั้นไว้เป็นธรรมารมณ์ต่อไป พร้อมที่จะระเบิดอารมณ์เหล่านั้นออกมาได้อีกตลอดเวลา เมื่อมีเหตุปัจจัยเหมาะสมสิ่งแวดล้อมหนุนเนื่องเกิดขึ้นอย่างพร้อมมูลในเวลาใด จะเป็นเวลาที่ระเบิดอารมณ์ที่ได้เก็บกดไว้ออกมาอย่างลืมตัว โดยสัญญาอารมณ์ที่ได้เคยฝึกจดจำไว้ก็เอามาช่วยได้ไม่ทันท่วงที

เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว เราควรต้องฝึกฝนอบรมจิตของเรา ให้รู้จักการปล่อยวางความรู้สึกยึดมั่นถือมั่นในอุปาทานขันธ์ (อุปกิเลส) ทั้งหลาย ไม่ใช่เที่ยวไปอบรมจิตของใคร (คนอื่น) ไม่ได้หรอก ต้องเป็นจิตของใครของมันที่ต้องอบรมจิตของตนเอง

เราต้องฝึกฝนอบรมจิตของเราหรือของใครของมัน ให้เกิดสติปัญญา (การปล่อยวางอารมณ์) ให้ได้ เมื่อจิตถอดถอนความยึดมั่นถือมั่นในอุปาทานขันธ์ และอุปกิเลสต่างๆ ทั้งหลายได้ จนจิตบริสุทธิ์หลุดพ้นกลายเป็นธรรมธาตุไปแล้ว  จิตจะกลับกลายมายึดมั่นถือมั่นในตนเอง (จิต) เพื่ออะไรอีก? ในเมื่อตนเอง (จิต) รู้จักการปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นออกไปได้แล้ว จิตจะกลับยึดมั่นถือมั่นในตัวเองเพื่ออะไรมิทราบ ในเมื่อรู้แล้วว่าการยึดมั่นถือมั่นอะไรไว้ย่อมเป็นทุกข์ จะโง่กลับมายึดเอาตัวเองอีกไปทำไม เมื่อรู้แล้ว ฉลาดแล้ว มีปัญญาแล้วว่า วิราคธรรมคือธรรมที่แยกแล้วจากอวิชชา ตัณหา อุปาทาน

โดยหลักการแล้ว เราต้องมารู้จักสักกายทิฐิ (ความเห็นเรื่องกาย) ที่ถูกต้องที่ควรว่าเป็นอย่างไร? มีมาในพระพุทธพจน์เรื่องมหาสติปัฏฐานสูตร กล่าวไว้ว่า

"ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกายอยู่อย่างไรเล่า

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ไปสู่ป่าก็ดี ไปสู่โคนไม้ก็ดี ไปสู่เรือนว่างก็ดี
นั่งคู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า
เธอมีสติหายใจออก มีสติหายใจเข้า

เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่า เราหายใจออกยาว
เมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่า เราหายใจเข้ายาว
เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่า เราหายใจออกสั้น
เมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้ชัดว่า เราหายใจเข้าสั้น

ย่อมสำเหนียกว่า เราจักเป็นผู้กำหนดรู้ตลอดกองลมหายใจทั้งปวง"

เพื่อให้มารู้จักกายในกายหรือนามกาย เมื่อรู้จักกายในกาย (นามกาย) ย่อมรู้จักเวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรมแบบต่อเนื่องได้ เมื่อถึงขั้นนี้แล้วย่อมรู้จักจิตที่แท้จริง และอาการของจิตที่เนื่องด้วยอารมณ์ เมื่อรู้จักจิตที่แท้จริงแล้ว ผู้ปฏิบัติ (เรา) จะตั้งจิตที่มีสติไว้ที่ฐานไหนก็ตามย่อมต่อเนื่องถึงกันได้เช่นกัน เพราะสติปัฏฐาน ๔ เป็นเรื่องของการสร้าง ฝึกสติให้เกิดขึ้นที่จิตอย่างต่อเนื่อง นอกนั้นจัดไปตามอาการทั้ง ๔ มารวมอยู่ในจุดเดียว คือ มีสติกำหนดรู้ที่กาย

ส่วนใครที่บอกว่า เริ่มต้นจากฐานไหนก็ได้นั้น เป็นการกล่าวแบบไม่รู้จักการปฏิบัติธรรมสมาธิกรรมฐานภาวนาตามความเป็นจริง เพราะยังไม่เคยรู้จักจิตที่แท้จริง และยังเข้าไม่ถึงกายในกายเป็นภายในเลย

เมื่อยังเข้าใจแบบผิดๆ ไปว่าจิตบังคับไม่ได้ ถ้าจิตบังคับบัญชาไม่ได้แล้ว เรายังจะมาฝึกฝนอบรมจิตของตน ให้เป็นไปอย่างใจหวังได้ไปเพื่ออะไร?  เพราะถ้าบังคับจิตของตนไม่ได้ พวกราคะจริต โทสะจริต โมหะจริต ย่อมทำตามความชอบใจของตน (จิต) คุกตารางมีเท่าไหร่ คงไม่พอที่จะขังบุคคลเหล่านี้ 

มีพระพุทธพจน์กล่าวไว้ว่า "จิตที่ฝึกดีแล้วย่อมนำสุขมาให้" แสดงว่าจิตไม่ใช้ตัวทุกข์ และต้องฝึกฝนบังคับบัญชาได้ จึงนำสุขมาให้ได้ ตัวอย่างเช่นคนที่เคยทำผิดคิดมิชอบมาก่อน ชีวิตนี้ก็ไม่ต้องได้กลับตัวกลับใจกันเลยสิ ถ้ายังเข้าใจแบบผิดๆ ไปว่าจิตของตนเองนั้นไม่สามารถบังคับบัญชาให้กลับตัวกลับใจได้ 

อีกประเด็นที่เข้าใจกันผิดๆ คือ เชื่อไปได้ว่า "จิตเป็นกองทุกข์" หรือ "จิตเป็นตัวทุกข์" ซึ่งเป็นไปไม่ได้เลย ถ้าจิตตัวมันเองเป็นตัวทุกข์ หรือเป็นกองทุกข์เสียแล้ว  จะเป็นการสอนที่ขัดแย้งกับพระพุทธวจนะ เท่ากับเป็นการกล่าวตู่พระพุทธพจน์ดีๆ นั่นเอง

โอวาทปาฏิโมกข์ที่พระพุทธองค์ทรงตรัสสอนไว้ดีแล้ว ก็จะเสียหายไปด้วย  โอวาทปาฏิโมกข์ ข้อ ๑ ละชั่ว ข้อ ๒ ทำดี ข้อ ๓ ชำระจิตให้บริสุทธิ์หมดจดจากเครื่องเศร้าหมอง  ถ้าลองพิจารณาให้ดี ก็จะพบว่าพระองค์ทรงตรัสถึงเรื่องจิตล้วนๆ ทั้ง ๓ ข้อเลย ข้อ ๑ การละชั่ว ละกันที่ไหน ถ้าไม่ใช่ละชั่วกันที่จิต ข้อ ๒ การทำดี ทำกันที่ไหน ถ้าไม่ใช่ทำดีกันที่จิตอีกนั่นแหละ ในข้อ ๑ และข้อ ๒ นั้นล้วนมีสอนกันอยู่ในทุกๆ ศาสนา เช่นเดียวกันกับพระพุทธศาสนาของเรา แต่ในข้อที่ ๓ ชำระจิตให้บริสุทธิ์หมดจดจากเครื่องเศร้าหมองนั้น จะมีแต่เฉพาะในพระพุทธศาสนาเท่านั้น ที่เทียบเท่ากับ "อริยมรรค ๘" หรือ "อธิจิตตสิกขา" 

ถ้าจิตเป็นตัวทุกข์ หรือเป็นกองทุกข์เสียเองแล้ว คำว่า อธิจิต เราจะแปลว่ายังไงดีล่ะ คงต้องแปลว่า จิตเป็นกองทุกข์อันยิ่ง ใช่หรือไม่? เรายังจะชำระจิตไปเพื่ออะไร เมื่อชำระจิตได้แล้ว แทนที่จิตจะสะอาดบริสุทธิ์หมดจดจากเครื่องเศร้าหมอง หลุดพ้นไปได้ หรือกลายเป็นอธิจิต ซึ่งอธิจิตจะนำให้เกิดอธิปัญญาตามมาได้ เพราะอธิศีล อธิจิต อธิปัญญา เป็นเรื่องที่ต้องร้อยรัดกันเข้ามาเป็นเนื้อเดียวกัน  

สืบเนื่องจากมีความเชื่อกันไปแล้วว่า จิตเป็นกองทุกข์ หรือเป็นตัวทุกข์ ในเมื่อจิตตัวมันเองเป็นตัวทุกข์ เสียแล้ว หรือเป็นกองทุกข์ซะแล้ว มันก็ต้องเป็นตัวทุกข์ หรือเป็นกองทุกข์อยู่อย่างนั้นเองวันยังค่ำ จะดัดแปลงแก้ไขใดๆ ให้เป็นอย่างอื่นไปไม่ได้เลย 

เพราะความเข้าใจเรื่องจิตผิดไปจากความเป็นจริง จึงได้เห็นจิตเป็นวิญญาณขันธ์ จึงเข้าใจผิดคิดว่าจิตเป็นกองทุกข์ เพราะวิญญาณขันธ์ เป็นขันธ์หนึ่งในขันธ์ ๕ และขันธ์ ๕ ถูกจัดไว้อยู่ในกองทุกข์ นั่นเอง  

มีพระบาลีกล่าวไว้ชัดเจน "ปัญจุปาทา นักขันธา ทุกขา อุปาทานขันธ์ ๕ ทั้งหลายล้วนเป็นตัวทุกข์" ใครที่เป็นผู้เข้าไปยึดมั่นถือมั่นในอุปาทานขันธ์ ๕ ล่ะ ถ้าไม่ใช่ "จิตของตน" เพราะจิตไม่ใช่ขันธ์ ๕ และขันธ์ ๕ ก็ไม่ใช่จิต 

มีตรัสไว้ชัดเจนแล้วในสมุทยสูตร สาวัตถี ฯ ตรัสอธิบายความเกิดและความดับแห่งสติปัฏฐาน ๔ ว่า ความเกิดแห่งกายมี เพราะมีอาหาร กายไม่มี เพราะไม่มีอาหาร ความเกิดแห่งเวทนามี เพราะมีผัสสะ เวทนาไม่มี เพราะไม่มีผัสสะ ความเกิดแห่งจิตมี เพราะมีนามรูป (ขันธ์ ๕) จิตไม่มี เพราะไม่มีนามรูป (ขันธ์ ๕) ความเกิดแห่งธรรมมี เพราะมีมนสิการ (ความใส่ใจ ความนึกคิด)  ธรรมไม่มี เพราะไม่มีมนสิการ และในอนัตตลักขณสูตร ก็รับรองเช่นกันว่า จิตไม่ใช่ขันธ์ ๕ และขันธ์ ๕ ก็ไม่ใช่จิต ดังนี้

เรื่องราวต่างๆ ในโลกที่เกิดขึ้นนั้น ล้วนสืบเนื่องมาจาก การที่จิตเข้าไปยึดมั่นถือมั่นในรูป คืออารมณ์ และนามคืออาการของจิตที่เนื่องด้วยอารมณ์  ความรู้สึกนึกคิดทั้งหลาย เข้ามาเป็นของๆ ตน (คือจิต) นั่นเอง

เช่น รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์  (ความนึกคิดในใจ) ทั้งหลาย ที่รัก ที่ชอบ ฯลฯ จิตก็จะเป็นสุขไปด้วยกับอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดที่รักที่ชอบ ฯลฯ ทั้งหลายเหล่านั้นที่เกิดขึ้น แต่ถ้าไม่ชอบใจ ขัดใจ ชิงชัง ฯลฯ จิตก็จะหงุดหงิด เศร้าหมองจนเป็นทุกข์ไปด้วยกับอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดทั้งหลายเหล่านั้นที่เกิดขึ้น

เป็นการแสดงให้เห็นชัดเจนแล้วว่าจิตไม่ใช่เป็นกองทุกข์แน่นอน เพราะในบางครั้งบางคราว จิตก็เป็นตัวสุข หรือเป็นกองสุข (สุขเวทนา) ขึ้นมาได้เช่นกัน

ฉะนั้น จิตไม่ได้เป็นอะไรทั้งสิ้น ที่จิตเป็นสุข หรือจิตเป็นทุกข์ขึ้นมานั้น ล้วนเพราะตัวจิตเองหลง (โมหะ) เข้าไปยึดมั่นถือมั่นในรูปวัตถุสิ่งของต่างๆ และอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดที่เกิดขึ้นว่าเป็นของๆ ตนนั่นเอง

เมื่อได้ลงมือปฏิบัติธรรมสมาธิกรรมฐานภาวนาด้วยความเพียรจนสำเร็จกิจ จิตจะมีสติอย่างต่อเนื่อง (สันตติ) เป็นจิตที่มีคุณภาพ อ่อน ควรแก่การงาน และจิตเองก็จะปฏิเสธ สุข ทุกข์ โสมนัส โทมนัสทั้งหลายในกาลก่อนไปด้วย เพราะจิตปล่อยวาง (ละ) อารมณ์ความรู้สึกนึกคิดทั้งหลายทั้งที่ดี ทั้งที่ชั่ว ที่เกิดขึ้น และปล่อยวาง (ละ) ความยึดมั่นถือมั่นที่เกิดขึ้น ณ ภายในจิตของตนเข้าถึง "อธิจิต" ได้ ดังมีพระพุทธวจนะรับรองไว้ดังนี้

มีพระบาลีธรรมบทดังนี้ 
"จิตฺตสงฺกิเลสา ภิกฺขเว สตฺตา สงฺกิลิสฺสนฺติ จิตฺตโวทานา
สตฺตา วิสุชฺฌนฺติ ตสฺมา ตีห ภิกฺขเว อภิกฺขณํ สกํ จิตฺตํ ปจฺจเวกฺขิตพฺพํ
ทีฆรตฺตมิทํ จิตฺตํ สงฺกิลิฏฺฐํ ราเคน โทเสน โมเหนาติ" 
แปลว่า
"สัตว์ทั้งหลาย (จิตที่ข้องในอารมณ์ความรู้สึกนึกคิด) ย่อมเศร้าหมอง เพราะจิตเศร้าหมอง
สัตว์ทั้งหลาย (จิตที่ข้องในอารมณ์ความรู้สึกนึกคิด) ย่อมบริสุทธิ์ เพราะจิตผ่องแผ้ว
เพราะเหตุนั้น เธอทั้งหลาย พึงพิจารณาจิตของตนบ่อยๆ เนืองๆ ว่า
จิตนี้เศร้าหมองด้วย ราคะ โทสะ โมหะ มาตลอดกาลนาน ดังนี้"
(คัททูลสูตรที่ ๒)

มีพระบาลีดังนี้
"ปุริมา ภิกฺขเว โกฏิ น ปญฺญายติ อวิชฺชาย, อวิชฺชา ปุพฺเพ นาโหสิ อถ ปจฺฉา สมฺภวิ"
แปลว่า
"ดูกรภิกษุทั้งหลาย เงื่อนต้นแห่งอวิชชาย่อมไม่ปรากฏในกาลก่อน แต่นี้ อวิชชาไม่มี แต่ภายหลังจึงเกิดมีขึ้น"
[อวิชชาไม่ได้เกิดมีขึ้นก่อนมีจิต แต่ได้เกิดขึ้นที่จิตในภายหลัง ส่วนอวิชชาจะเกิดขึ้นมาแต่ครั้งใด รู้ไม่ได้]
(อวิชชาสูตร)

มีพระบาลีในอนมตัคคสูตรกล่าวไว้ ดังนี้
"อนมตคฺโคยํ ภิกฺขเว สงฺสาโร ปุพฺพาโกฏิ น ปญฺญายติ" แปลว่า
"จิต นี้มีมานานแล้ว ไม่มีใครรู้ว่าเริ่มต้นมาจากไหน และจะไปสิ้นสุดเอาเมื่อไร
เวียนว่ายอยู่ในสังสารจักรอย่างไม่รู้จักจบสิ้น เบื้องต้นเบื้องปลายไม่ปรากฏ"

"ปภสฺสรมิทํภิกฺขเว จิตฺตํ ตญฺจโข อาคนฺตุเกหิ อุปกิเลเสหิ อุปกิลิฏฺฐํ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จิตนี้มีสภาพประภัสสรผ่องใส
แต่ที่เศร้าหมองไปนั้น เหตุเพราะมีอุปกิเลสเป็นแขกจรเข้ามาในภายหลัง"

พระพุทธวจนะที่ยกมานี้ พระองค์ได้ทรงตรัสไว้ชัดเจนแล้วว่า จิตจะเศร้าหมองเป็นทุกข์ หรือผ่องแผ้วเป็นสุขนั้น เกิดจากการที่จิตเข้าไปยึดมั่นถือมั่น ในรูปวัตถุสิ่งของต่างๆ และอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดที่เกิดขึ้นมา จึงจัดเป็นกิเลสที่เป็นแขกจรเข้ามา ณ ภายในจิตผู้นั้น
 
ถ้าจิตของตนไม่เข้าไปยึดมั่นถือมั่นในรูปวัตถุสิ่งของต่างๆ และหรืออารมณ์ความรู้สึกนึกคิดทั้งหลายที่เกิดขึ้นมา (นามรูป) จะจัดเป็นกิเลสที่เป็นแขกจรเข้ามาของจิต ย่อมเป็นไปไม่ได้เลย จิตก็อยู่ส่วนจิต กิเลสก็อยู่ส่วนกิเลส กิเลสย่อมมีอยู่ ซึ่งเป็นของคู่โลก ขึ้นอยู่กับจิตของตนเอง จะยึดหรือไม่ยึด 

ที่ยึดก็เพราะแจ้งในอารมณ์ (วิญญาณ) นั้นๆ เช่น ตาเห็นรูป เกิดจักขุวิญญาณ ๓ สิ่งนี้มารวมกัน ย่อมเกิดผัสสะ เมื่อเกิดผัสสะ ย่อมเกิดเวทนา เมื่อเกิดเวทนา ย่อมเกิดตัณหา ฯลฯ สิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี ที่ไม่ยึดเพราะรู้เท่าทันอารมณ์ เช่น ตาเห็นรูป แล้วไม่เกิดจักขุวิญญาณ เห็นสักแต่ว่าเห็น สิ่งนี้ดับ สิ่งนี้จึงดับ 

จากบาลีพระธรรมบทต่างๆ ที่นำมานั้น ล้วนแสดงให้เห็นว่า จิตเป็นประธานของธรรมทั้งปวง มีพระบาลี ดังนี้ "จิตฺเตน นิยติโลโก, จิตฺเตน ปริกสฺสติ จิตฺตสฺส เอก ธมฺมสฺส สพฺเพว วสมนฺวคู" แปลว่า "โลกย่อมหมุนไปตามจิต ธรรมทั้งปวงย่อมขึ้นแก่ธรรมอันเดียว ธรรมอันนั้นคือ จิต เท่านั้น" เอวัง

พระภัทรสิทธิ์ อภินันโท
เทศนาธรรม วันพระ ๒ มีนาคม ๒๕๖๕





Create Date : 03 มีนาคม 2565
Last Update : 3 มีนาคม 2565 12:06:12 น.
Counter : 455 Pageviews.

1 comments
: รูปแบบของชีวิต : กะว่าก๋า
(17 เม.ย. 2567 04:37:20 น.)
เรื่องนี้ไม่ง่าย แต่คนมักชอบอะไรที่มันง่ายๆ 121 235 เขาถาม - ตอบกัน 450 > คำถาม : ทำอย่างไ สมาชิกหมายเลข 7881572
(16 เม.ย. 2567 09:58:49 น.)
: หยดน้ำในมหาสมุทร 35 : กะว่าก๋า
(13 เม.ย. 2567 05:51:40 น.)
: หยดน้ำในมหาสมุทร 33 : กะว่าก๋า
(11 เม.ย. 2567 05:15:42 น.)

ผู้โหวตบล็อกนี้...
คุณ**mp5**, คุณนายแว่นขยันเที่ยว, คุณnewyorknurse

  
สวัสดี

ฉันเป็นมุสลิมและฉันขอเชิญผู้คนให้เรียนรู้เกี่ยวกับศาสนาอิสลาม

โปรดดูบล็อกของฉัน 👇อธิบายด้วยรูปภาพและวิดีโอเกี่ยวกับศาสนาอิสลาม

https://is1t.blogspot.com/2018/04/blog-post.html


ขอให้ชีวิตมีความสุขนะ....ขอบคุณค่ะ

........

❤ ประโยชน์บางประการของศาสนาอิสลาม 💙

💙 ประตูสู่สรวงสวรรค์ชั่วนิจนิรันดร

❤ การช่วยให้พ้นจากขุมนรก

💙 ความเกษมสำราญและความสันติภายในอย่างแท้จริง

❤ การให้อภัยต่อบาปที่ผ่านมาทั้งปวง

💙 สิทธิมนุษยชนและความยุติธรรมในศาสนาอิสลาม

❤ านภาพของสตรีในศาสนาอิสลามเป็นอย่างไร?

💙 ครอบครัวในศาสนาอิสลาม

❤ ชาวมุสลิมปฏิบัติต่อผู้สูงอายุอย่างไร?

💙 ชาวมุสลิมมีความเชื่อเกี่ยวกับพระเยซูอย่างไร?


https://is1t.blogspot.com/2018/04/blog-post.html

.........

❤️ ตัวอย่างพระดำรัสของพระศาสดามูหะหมัด 💙

🔴 {ยิ้มให้แก่พี่น้องของพวกเจ้าเป็นการทำบุญกุศล...}

🔵 {การกล่าวดีเป็นการทำบุญกุศล}

🔴 {ผู้ใดก็ตามที่ศรัทธาในพระผู้เป็นเจ้าและวันสิ้นโลก (วันพิพากษา) ควรกระทำความดีต่อเพื่อนบ้านของตนด้วย}

🔵 {จ่ายค่าแรงคนงานก่อนที่เหงื่อของเขาจะแห้ง}

.........

🔴"ความหมายของชีวิต"🎬👇

https://youtu.be/yPMpqfoiS4A

⚠️🔴⚠️🔵⚠️

🔴ถ้าเรามีความปรารถนาที่จะทราบว่าศาสนาใดเป็นศาสนาที่แท้จริงหรือจอมปลอมนั้น เราจงอย่านำอารมณ์ ความรู้สึก หรือประเพณีของเราเองมาตัดสิน เราควรนำเหตุผล สติปัญญาของเรามาใช้จะดีกว่า

⚠️ เว็บไซต์แห่งนี้ จะเป็นการตอบคำถามที่สำคัญบางเรื่องซึ่งมีผู้สนใจสอบถามมา ดังนี้:

1- พระคำภีร์กุรอานที่มาจากพระดำรัสของพระผู้เป็นเจ้าโดยแท้นั้น นำมาเปิดเผยโดยพระองค์เองใช่หรือไม่?

2- พระมูหะหมัด คือพระศาสดาที่แท้จริง ที่ประทานมาโดยพระผู้เป็นเจ้าใช่หรือไม่?

3- ศาสนาอิสลามเป็นศาสนาที่มาจากพระผู้เป็นเจ้าอย่างแท้จริงใช่หรือไม่? 👇

🔻หลักฐานบางประการที่บอกถึงความเป็นจริงของศาสนาอิสลาม 🔻

https://www.islam-guide.com/th
โดย: islam IP: 51.39.208.197 วันที่: 3 มีนาคม 2565 เวลา:15:23:00 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Nujoy.BlogGang.com

ในความฝันของใครสักคน
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]