พระสัทธรรมปฏิรูป


🌷 พระสัทธรรมปฏิรูป

วันอังคารที่ ๒๕ มกราคม ๒๕๖๕ ตรงกับวันพระ แรม ๘ ค่ำ เดือนยี่ (๒) ปีฉลู

เจริญสุข สวัสดี วันนี้คงหนีไม่พ้นที่จะต้องมาพูดถึง ความลดน้อยด้อยค่าของพระสัทธรรมในพระพุทธศาสนา ซึ่งนับวันก็ยิ่งปรากฏเด่นชัดขึ้น พวกเราเหล่าพุทธบริษัท ควรต้องช่วยกันจรรโลงให้หลักธรรมแท้ของพระพุทธศาสนา ยังคงอยู่กับเราตลอดไป อย่าให้สัทธรรมปฏิรูปเกิดขึ้นเร็วนัก

เรื่องพระสัทธรรมปฏิรูปนั้น มีมานานแล้ว ปัจจุบันปรากฏชัดเจนมากยิ่งขึ้น เพราะเหตุจากความเชื่อ ความศรัทธา ที่เชื่อศรัทธาตามๆ กันมาโดยขาดหลักเหตุผล แทบจะกล่าวได้ว่า เดี๋ยวนี้ชาวพุทธเราหลงงมงายกันมากยิ่งขึ้น โดยการจับฉวยเอาศีลและวัตร ผิดจากความมุ่งหมายที่ถูกต้อง คือ การติดแน่น ยึดมั่นในสิ่งที่ตัวเคยเชื่อ เคยประพฤติปฏิบัติกันมา ด้วยความเข้าใจผิด ส่วนมากเกี่ยวข้องกับลัทธิประเพณีที่ได้ฟังตามๆ กันมา (มา อนุสฺสเวน) หรือเป็นของสืบต่อๆ กันมา (มา ปรมฺปราย) เช่น การเชื่อพิธีไสยศาสตร์ พิธีบวงสรวง อีกมากมาย อันจัดเป็นสีลัพพตปรามาสโดยไม่ต้องสงสัย 

แม้ในเรื่องของพระพุทธศาสนาเอง ถ้าบุคคลผู้ประพฤติปฏิบัติ ด้วยความเข้าใจผิดว่าจะเกิดความขลังศักดิ์สิทธิ์ เกิดฤทธิ์อำนาจมาคุ้มครองเราได้ อย่างนี้ก็เป็นการประพฤติปฏิบัติโดยหวังผลผิดทาง และไร้เหตุผลอยู่นั่น ไม่มีการนำมาตรวจสอบ สอบสวน เทียบเคียงกับพระพุทธพจน์ ที่พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ดีแล้ว 

พระพุทธองค์ทรงสรรเสริญ อนุสาสนีปาฏิหาริย์ คือ คำสอนเป็นจริง สอนให้เห็นจริง นำไปปฏิบัติได้ผลสมจริงเป็นอัศจรรย์ ส่วนอิทธิปาฏิหาริย์ คือแสดงฤทธิ์เป็นอัศจรรย์ และอาเทสนาปาฏิหาริย์ คือ ทายใจ รอบรู้กระบวนของใจ จนสามารถกำหนดอาการที่หมายเล็กน้อย แล้วบอกสภาพจิต ความคิด อุปนิสัยได้ถูกต้องเป็นอัศจรรย์ ใน ๓ อย่างนี้ พระพุทธเจ้าทรงรังเกียจอิทธิปาฏิหาริย์และอาเทสนาปาฏิหาริย์ แต่ทรงสรรเสริญอนุสาสนีปาฏิหาริย์ว่าเป็นเยี่ยม

มีการปรารภเรื่องพระสัทธรรมที่จะเลือนหายไปนี้ ไว้ล่วงหน้า แต่ครั้งพุทธกาล ที่พระมหากัสสปะได้ทูลถามพระพุทธองค์ และมีพระพุทธวจนะทำนายไว้ ดังนี้ 

กัสสปะ เรื่องนี้เป็นอย่างนี้ คือ เมื่อเหล่าสัตว์ (ผู้ติดข้องในอารมณ์) เสื่อมทรามลง สัทธรรมเสื่อมถอย สิกขาบทมีมากขึ้น (เพิ่มเติมเสริมแต่งขึ้นในภายหลัง) ภิกษุสำเร็จอรหันต์จึงมีน้อยลง เพราะสัทธรรมปฏิรูป (คำสอนแปลกปลอม) ยังไม่เกิดขึ้นในโลกตราบใด ตราบนั้นสัทธรรมก็ยังไม่เลือนหายไป ต่อเมื่อใดสัทธรรมปฏิรูปเกิดขึ้นในโลก เมื่อนั้นสัทธรรมจึงจะเลือนหายไป 

พระบรมศาสดาก็ได้แสดงมูลเหตุและได้ทรงเน้นย้ำว่า การมีผู้นำเอาคำสั่งสอนนอกพุทธศาสนามาอ้างอิงว่า เป็นคำสั่งสอนของพระองค์ เป็นมูลเหตุสำคัญอย่างหนึ่ง ที่ทำให้คุณค่าของพระศาสนาลดน้อยด้อยค่าลง 

จากพระพุทธพจน์ดังกล่าว ก็แสดงให้เห็นขึ้นมาได้อย่างชัดเจนว่า ปัจจุบันนี้พระสัทธรรมได้ลดน้อยด้อยค่าลงมาโดยลำดับ อาตมาภาพเองก็ได้ตั้งใจศึกษาคำสั่งสอนที่มีอยู่นั้น แล้วสมาทาน น้อมนำเอามาประพฤติปฏิบัติบ้าง น้อมนำมาพิจารณาโดยแยบคาย (โยนิโสมนสิการ) บ้าง จากคำสอนที่มีหลากหลายมากมาย ของพระภิกษุที่อ้างว่าเป็นสายปฏิบัติ ของภิกษุที่เป็นมหาเปรียญ ของพระที่มีสมณะศักดิ์ ของบุคคลทั่วไปที่มีลูกศิษย์ลูกหา ที่โฆษณาแต่งตั้งตัวเองเป็นอริยะ นำมาเอาตรวจสอบ สอบสวน เทียบเคียงกับพระธรรมวินัยที่มีมาในขั้นต้นแล้ว ถ้าลงกันได้ก็ดี 

ส่วนที่ลงกันไม่ได้นั้น พอรวบรวมได้เป็นสังเขป ดังนี้ เรื่องจิต เรื่องอัตตาและอนัตตา เรื่องสมาธิ เรื่องปัญญา และสุดท้ายเรื่องพระนิพพาน ทุกเรื่องที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ สืบเนื่องมาจากเรื่องแรกเรื่องเดียว  พอรู้จักจิตผิดไปจากความจริง ทำให้เข้าใจในเรื่องอื่นต่อไปนั้น ผิดไปจากความเป็นจริงด้วยเช่นกัน ดังนั้นบุคคลพึงรู้เห็นสิ่งต่างๆ ด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริง  (เอวะ เมตัง ยะถาภูตัง สัมมัปปัญญายะ ทัฏฐัพพัง) 

คำสั่งสอนที่มีอยู่ในปัจจุบันเหล่านี้ มักถูกอ้างว่าเป็นคำสอนของพระพุทธองค์ ไม่เพียงแค่นั้น กลับหันไปใส่บุคคลอื่นที่สอนไม่เหมือนกับตนว่า  เป็นโมฆะบุรุษบ้างล่ะ เป็นสัสตทิฏฐิบ้างล่ะ เป็นพวกอัตตานุทิฏฐิบ้างล่ะ อีกมากมาย 

โดยเฉพาะเรื่องจิตเกิดดับ มักอ้างเอาอัสสุตวตาสูตรว่า ดวงหนึ่งเกิดขึ้น ดวงอื่นดับไป เพราะเชื่อว่าจิตมีหลายดวง โดยไม่ดูบริบทอื่นที่มีในพระสูตร ท่านเปรียบจิตเช่นวานรที่ท่องเที่ยวไปในป่าใหญ่ (ท่องเที่ยวไปในอารมณ์ทั้งหลาย) จับกิ่งโน้น เหนี่ยวกิ่งนี้ ปล่อยกิ่งนั้น จับกิ่งใหม่ ก็แสดงชัดเจนแล้วว่า จิตคือวานรตัวนั้น (ตัวเดียว) ที่จับอารมณ์โน้น เหนี่ยวอารมณ์นี้ ปล่อยนั่น จับอารมณ์ใหม่ ที่เกิดดับๆ นั้น คืออารมณ์ต่างๆ แต่ถ้าที่เกิดดับอยู่นั้น คือจิตแล้วล่ะก้อ วานรคงได้ตายเกลื่อนป่าแน่นอน ซึ่งไม่น่าเป็นไปได้ 

แล้วที่ตรัสว่าดวงหนึ่งเกิดขึ้น ดวงอื่นดับไป เราเรียกอาการของจิตที่เกิดขึ้นเป็นดวงๆ เช่นกัน อย่างในจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน กล่าวไว้ว่า “สราคํ วา จิตฺตํ สราคํ จิตฺตนฺติ ปชานาติ ราคะเกิดขึ้นที่จิต ก็รู้ชัดว่าราคะเกิดขึ้นที่จิต” “ วีตราคํ วา จิตฺตํ วีตราคํ จิตฺตนฺติ ปชานาติ เมื่อราคะดับไปจากจิต ก็รู้ชัดว่าราคะดับไปจากจิต” สรุปว่าที่เกิดดับไปนั้น เป็นเพียงอาการของจิต ไม่ใช่จิต เพราะจิตรู้ชัดอยู่ตลอดเวลาที่ราคะ โทสะ และโมหะ เกิดขึ้นก็รู้ ดับไปก็รู้

แต่ที่ดูแย่ไปกว่านั้นคือ กล้าฟันธงลงไปจ๊ะๆ ว่า จิตเป็นตัวทุกข์ เหลวไหล บังคับบัญชาไม่ได้ ทั้งที่มีพุทธพจน์กล่าวไว้ชัดเจนว่า จิตเป็นธาตุรู้ ทุกข์ก็รู้ สุขก็รู้ ที่เป็นทุกข์ ที่เป็นสุขอยู่นั้น ก็เพราะอุปาทาน ความยึดมั่นถือมั่นเอาอารมณ์นั้นๆ มาเป็นของๆ ตน จึงเป็นทุกข์ ถ้าจิตรู้จักปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นทั้งหลายทั้งปวงออกไปได้ ก็สิ้นสุดหมดทุกข์กัน (จิตไม่ใช่ตัวทุกข์)

"ดูกรกัสสป เหตุฝ่ายต่ำ ๕ ประการเหล่านี้
ย่อมเป็นไปพร้อมเพื่อความฟั่นเฟือน
เพื่อความเลือนหายแห่งพระสัทธรรม

เหตุฝ่ายต่ำ ๕ ประการเป็นไฉน คือ
ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ในธรรมวินัยนี้
ไม่เคารพยำเกรงในพระศาสดา ๑
ไม่เคารพยำเกรงในพระธรรม ๑
ไม่เคารพยำเกรงในพระสงฆ์ ๑
ไม่เคารพยำเกรงในสิกขา ๑
ไม่เคารพยำเกรงในสมาธิ ๑

เหตุฝ่ายต่ำ ๕ ประการเหล่านี้แล
ย่อมเป็นไปพร้อมเพื่อความฟั่นเฟือน
เพื่อความเลือนหายแห่งพระสัทธรรม"

แต่ปัจจุบัน เหตุฝ่ายต่ำทั้ง ๕ ประการ ได้ปรากฏขึ้นมาอย่างชัดเจนมากขึ้น เมื่อสิกขาบทได้ถูกเพิ่มเติมเสริมแต่งเข้ามาอย่างมากมายในปัจจุบันนี้ ได้มีการบัญญัติไปตามมติความรู้สึกนึกคิดของตนขึ้นมาเอง กลับเป็นตัวทำให้พระสัทธรรม (ธรรมอันดี ธรรมที่แท้ ธรรมของสัตบุรุษ หลักหรือแก่นศาสนา) ที่ถูกต้องเที่ยงตรงตามพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ แต่ได้ถูกบิดเบือนเลือนลางหายไปทีละเล็กทีละน้อย และบุคคลผู้ที่จะเข้าถึงพระสัทธรรมที่แท้จริง (อริยบุคคล) กลับมีน้อยลงเป็นอย่างมาก จนน่าใจหาย น่าเป็นห่วง ต่อพระสัทธรรมที่ถูกบิดเบือนไป

ได้มีความพยายามของบุคคลผู้สอนรุ่นใหม่ๆ ได้ประดิษฐ์ประดอยถ้อยคำที่บัญญัติมาขึ้นเอง เพื่อให้ผู้ฟังแล้วรู้สึกว่า การปฏิบัติธรรมนั้น เข้าถึงได้ง่ายๆ ทำให้รู้สึกสบายๆ และลัดสั้น ไม่ต้องลำบากลำบนหรือเพียรพยายามใดๆ ในการประพฤติปฏิบัติธรรมกรรมฐานภาวนา เพื่อให้เข้าถึงซึ่งพระสัทธรรมที่แท้จริง โดยมักอ้างว่าตนเองเป็นบุคคลผู้มีปัญญาบารมีอยู่ก่อนแล้ว เพียงเพราะไม่มีเวลาที่จะประพฤติปฏิบัติธรรมกรรมฐานภาวนา คำสอนที่ปรากฎออกมานั้น จึงมักเป็นไปในแนวทางที่ให้กำลังใจกันเสียมากกว่า เช่น เพียงแค่อาศัยความพยายามให้มีสติรู้ทันอารมณ์ หรือมีความตั้งใจให้รู้ทันจิตของตนก็พอ ไม่จำเป็นต้องเพียรเพ่งปฏิบัติธรรมภาวนากรรมฐานใดๆ ให้หลังขดหลังแข็ง เพราะจะดูแข็งๆ ทื่อๆ ซึมๆ จนกลายเป็น “อัตตกิลมถานุโยค” ไป เป็นต้น 

คำสอนเหล่านี้ จึงไปตรงกับความต้องการของคนรุ่นใหม่เข้าพอดิบพอดี แบบไม่มีข้อสงสัยใดๆ เลย เพราะตนเองก็ไม่ชอบและไม่เชื่อเรื่องปฏิบัติธรรมกรรมฐานภาวนาเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว สืบเนื่องจากความเชื่อว่าตนเองมีปัญญาบารมี จึงไม่จำเป็นต้องทำสมถกรรมฐานใดๆ เลย 

ทั้งที่โดยความเป็นจริง และเป็นที่ยอมรับของเราชาวพุทธทุกคนนั้น พระพุทธองค์เป็นบุคคลผู้ประเสริฐ มีปัญญาเป็นเลิศกว่าใครๆ ยังต้องบำเพ็ญเพียรอย่างยิ่งยวดมาหลายภพหลายชาติอย่างยาวนานนับไม่ถ้วน เพื่อสั่งสมบารมีของตนเองให้มีมากพอที่จะตรัสรู้ได้ 

มีพุทธพจน์ในมหาปรินิพพานสูตร ว่าไว้ดังนี้ 
“จตุนฺนํ อริยสจฺจานํ ยถาภูตํ อทสฺสนา สงฺสริตํ ทีฆมทฺธานํ ตาสุตาเสว ชาติสุ แปลว่า ความเวียนว่ายของเราเข้าไปสู่ภพน้อยใหญ่ทั้งหลายอันยาวนานนับไม่ถ้วนนั้น เป็นเพราะมิได้เห็นอริยสัจ ๔ ตามความเป็นจริง” 

“ตานิ เอตานิ ทิฏฺฐานิ ภวเนตฺติ สมูหตา อุจฺฉินฺนํ มูลํ ทุกฺขสฺส นตฺถิ ทานิ ปุนพฺ ภโวติ แปลว่า ณ บัดนี้ เราได้ถอนเสียซึ่งความเห็นผิดในเรื่องภพ และมูลเหตุแห่งทุกข์ออกเสียหมดสิ้นแล้ว ภพใหม่ต่อไปจึงไม่มีอีก” 

ทรงตรัสรู้อยู่ใต้ต้นสาละ ด้วยวิธีเพียรเพ่งปฏิบัติธรรมกรรมฐานภาวนา หรือสัมมาสมาธิ กระทั่งได้รู้เห็นอริยสัจ ๔ ตามความเป็นจริงนั่นเอง จนได้บรรลุวิชชา (ญาณ) ๓ น่าจะยืนยันได้ว่า การสอนให้ปฏิบัติธรรมแบบง่ายๆ สบายๆ ลัดสั้นนั้นไม่มีอยู่จริง เป็นการให้กำลังใจสำหรับบุคคลผู้มีพลังจิตยังน้อยอยู่เสียมากกว่า

เมื่อได้มาพิจารณาตามพระพุทธพจน์ ที่พระพุทธองค์ได้ทรงทำนายไว้ เราก็จะเห็นจริงตามนั้น

๑. ไม่เคารพยำเกรงในพระศาสดา

จะเห็นได้ว่า ชาวพุทธส่วนใหญ่ในปัจจุบัน ได้ลืมเลือนคำสั่งเสียที่พระพุทธองค์ ได้ทรงวางหลักเกณฑ์ไว้ในอนาคตที่ว่า

“โย โว อานนฺท มยา ธมฺโม จ วินโย จ เทสิโต ปญฺญตฺโต โส โว มมจฺจเยน สตฺถา แปลว่า ดูก่อนอานนท์ ธรรมและวินัยใด ที่เราได้แสดงแล้ว บัญญัติแล้ว แก่เธอทั้งหลาย
ธรรมและวินัยนั้น จักเป็นศาสดาแทนเรา ปกครองท่านแทน เมื่อเราล่วงลับไปแล้ว”

ปัจจุบันชาวพุทธกลับให้ความเคารพยำเกรงต่อบุคคลผู้มากด้วยอำนาจบารมี ภาพลักษณ์ รูปภาพ รูปปั้น รูปสมมุติต่างๆ ด้วยคำว่า “ไม่เชื่ออย่าลบหลู่” โดยไม่เคยได้นำคำสอนที่มักอ้างว่าเป็นของพระพุทธองค์มาเทียบเคียงเลย ล้วนเป็นเพียงความเชื่อ ความศรัทธา แบบตามๆ กันมา (มา ปรมฺปราย) แบบงมงาย ทั้งที่มีพระพุทธพจน์รับรองไว้ว่า “ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา (พระพุทธเจ้า)” 

ดังที่พระพุทธองค์ได้ทรงสั่งสอนพระวักกลิ ที่มีศรัทธาเลื่อมใสในรูปโฉมของพระองค์เป็นอย่างมาก เมื่อพระองค์ทรงเสด็จไป ณ แห่งหนตำบลใด มักมีพระวักกลิไปรอรับเสด็จ เพื่อจะได้ใกล้ชิดกับพระพุทธองค์ จนเมื่อพระพุทธองค์ได้ทรงเล็งพระญาณเห็นความในใจของพระวักกลิ ว่าได้เวลาอันควรจะโปรดพระวักกลิ เมื่อมีโอกาส จึงตรัสว่า 

วักกลิ เธอสำคัญมั่นหมายเอารูปร่างกาย ซึ่งเป็นสิ่งปฏิกูลเน่าเปื่อยได้ของเรา ว่าเป็นเรา และกระหยิ่มยิ้มย่องว่าได้อยู่กับเรา ใกล้เรา ถึงเรา คนตาบอดมืดมิดเช่นเธอนั้น ไม่ต้องพูดถึงการเดินตามหลังเราก็ได้ ต่อให้จับชายจีวรของเราไว้อีกด้วย ก็ไม่เห็นเรา ไม่รู้จักเรา ไม่ถึงเรา ไม่ใกล้เรา แต่ต่างกันอย่างฟ้ากับดินทีเดียว ทางตั้งแต่นี้ไปถึงเขาจักรวาลที่ว่าไกลนั้น ก็ยังนับว่าใกล้กว่า แต่เธอกับเรานั้น ห่างกันไกลยิ่งกว่านั้น เป็นแสนไกลล้านไกลทีเดียว

วักกลิ เมื่อเธอต้องการเห็นเรา ใกล้เรา ถึงเรา เราจะบอกทางให้ แล้วพระพุทธองค์ก็ตรัสว่า “โย ธมฺมํ ปสฺสติ โสมํ ปสฺสติ แปลว่า ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา”

ชัดเจนโดยไม่ต้องตีความใดๆ เลย แต่ทุกวันนี้บุคคลผู้เข้าถึงธรรม เห็นธรรม มีน้อยกว่าน้อย จึงทำให้ไม่ยำเกรงในพระศาสดา คือพระธรรมวินัยนั่นเอง

๒. ไม่เคารพยำเกรงในพระธรรม

ข้อนี้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ถ้าชาวพุทธเคารพยำเกรงในพระธรรม คำสั่งสอนของพระองค์อย่างแท้จริงแล้ว พระสัทธรรมจะไม่ปฏิรูปไปอย่างรวดเร็วขนาดนี้ ทั้งๆ ที่พระพุทธองค์ได้ทรงวางหลักเกณฑ์เพื่อป้องกันไว้อย่างรัดกุม อันมี “กาลามสูตร” ที่กล่าวถึง เรื่องราวความเชื่อต่างๆ ๑๐ ประการว่า

“อย่าเพิ่งปลงใจเชื่อ ให้ฟังและศึกษาด้วยดี

ธรรมเหล่านี้เป็นอกุศล ธรรมเหล่านี้มีโทษ ธรรมเหล่านี้ผู้รู้ติเตียน ธรรมเหล่านี้ใครสมาทานให้บริบูรณ์แล้ว เป็นไปเพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์ เพื่อทุกข์ เมื่อนั้น ท่านทั้งหลายควรละธรรมเหล่านั้นเสีย ฯ

และธรรมเหล่านี้เป็นกุศล ธรรมเหล่านี้ไม่มีโทษ ธรรมเหล่านี้ท่านผู้รู้สรรเสริญ ธรรมเหล่านี้ใครสมาทานให้บริบูรณ์แล้ว เป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อสุข เมื่อนั้น ท่านทั้งหลายควรเข้าถึงธรรมเหล่านั้นอยู่ ฯ”

พระพุทธองค์ทรงเน้นให้สมาทาน (ปฏิบัติ) อย่างเต็มที่ เพื่อเป็นการพิสูจน์ทราบตามความเป็นจริง จนได้ผลออกมาว่า จิตของตนมีความสงบตั้งมั่นไม่หวั่นไหว ไม่ซัดส่ายไปมาตามอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดที่มากระทบ  สามารถสลัดอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดเหล่านั้นออกไปได้ 

ในการสมาทานนั้น เป็นไปเพื่อการกำหนดรู้ว่า นี่ทุกข์ นี่เหตุแห่งทุกข์ นี่ทางปฏิบัติเพื่อความดับทุกข์ นี่การดับทุกข์ แล้วค่อยเชื่อสิ่งที่ได้ศึกษาและได้ยินได้ฟังมาเหล่านั้น ก็ยังไม่สาย แต่เพราะบุคคลผู้ที่ยังสั่งสอนอยู่ในทุกวันนี้ ส่วนใหญ่แล้วบุคคลผู้ที่สั่งสอนอยู่นั้น ยังไม่อาจปฏิบัติธรรมเพื่อให้เข้าถึงแก่นแท้ได้เลย ทำสมาธิกรรมฐานภาวนาก็ยังไม่เป็น รู้เห็นตามความเป็นจริงไม่ได้ จึงได้ย่ำยีพระธรรมคำสอนไปโดยไม่ยำเกรงเลย

๓. ไม่เคารพยำเกรงในพระสงฆ์

เมื่อกล่าวถึงพระสงฆ์แล้ว ย่อมมีข้อจำกัดเกิดขึ้นอย่างมากมาย โดยเฉพาะในประเทศไทย ที่ถูกพร่ำสอนให้เคารพยำเกรงในผ้ากาสาวพัสตร์ ส่วนมากมองข้ามพระธรรมคำสั่งสอน ต่อให้คนนุ่งเหลืองห่มเหลืองได้กระทำผิดหรือสอนผิดอย่างไร ถ้าไม่ใช่ถูกจับผิดในการกระทำผิดนั้นได้อย่างคาหนังคาเขาเสียแล้ว โอกาสรอดปลอดภัยมีมาก ได้แต่ต้องรอให้ผลกรรม แสดงออกมาเป็นวิบากให้เห็นเอง เครื่องเศร้าหมองที่ตนได้กระทำไว้ มาจัดสรรให้เอง ซึ่งก็บอกไม่ได้ว่าเมื่อไหร่ สมมุติสงฆ์เหล่านั้น จึงยังคงรอดปลอดภัย ทั้งที่สอนผิดบิดเบือนความจริง แถมยังโจมตีบุคคลอื่นผู้ที่เห็นต่างออกไปว่าเป็นพวกมิจฉาทิฏฐิ จนพระสัทธรรมได้ปฏิรูปไปอย่างมากมายในเวลานี้

คำว่า “พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์” นั้น แตกต่างกันโดยสมมุติบัญญัติเท่านั้น แต่อยู่ที่เดียวกันคือ วิราคธรรม (จิตที่บริสุทธิ์) หรือที่ พระนิพพาน อันเป็นที่สุดแห่งทุกข์นั่นเอง 

ในขณะที่จิตยังไม่บริสุทธิ์  ก็ยังต้องติดข้องท่องเที่ยวไปในอารมณ์ต่างๆ ก็ยังเป็นสัตว์ (ผู้ติดข้องในอารมณ์) อยู่ คือ ยังหลงยึดอารมณ์ หรือรูป-นาม หรือขันธ์ ๕ ซึ่งไม่เที่ยงแท้ถาวรไว้ จึงไม่อาจหลุดพ้น 

เพราะฉะนั้น คำว่า พระสงฆ์ คือผู้ที่ฟังคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า แล้วเลื่อมใส สละเรือนออกบวช เราเรียกว่า สมมุติสงฆ์ หรือภิกษุ ต่อเมื่อนำพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ที่ตรัสไว้ดีแล้ว ไปปฏิบัติธรรมสมาธิกรรมฐานภาวนา ตามด้วยความเพียรเพ่งพยายาม อย่างจริงจัง อย่างไม่ลดละยิ่งยวด จนเข้าถึงแก่นแท้ ธรรมแท้ เราเรียกว่า อริยสงฆ์ หรือภิกษุสงฆ์อีกเช่นกัน

ในครั้งพุทธกาล ที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ใหม่ๆ ขณะนั้นมีพระอริยสาวกที่พระพุทธองค์ทรงบวชให้ (เอหิภิกขุ อุปสัมปทา) ๖๐ รูป รวมพระองค์เข้าไปด้วยเป็น ๖๑ รูป ทรงเน้นให้ออกไปสั่งสอนกุลบุตร กุลธิดา รูปละทิศ รูปละทาง อย่าไปซ้อนทางกัน ด้วย ศีล สมาธิ ปัญญา

“พวกเธออย่าได้ไปรวมทางเดียวกันสองรูป
จงแสดงธรรมงามในเบื้องต้น (ศีล)
งามในท่ามกลาง (สมาธิ)
งามในที่สุด (ปัญญา)”

“ศีล สมาธิ ปัญญา” เป็นสิกขา ๓ หรือที่เรียกว่า “อริยมรรคมีองค์ ๘” วิถีแห่งอริยมรรค คือหนทางปฏิบัติทางจิตทางเดียวที่จะกำจัดกิเลสและอุปกิเลสให้หมดสิ้นไปจากจิต เป็นหนทางพ้นทุกข์เข้าสู่วิมุตติ หลุดพ้น จิตสะอาดบริสุทธิ์หมดจดจากเครื่องเศร้าหมองทั้งหลาย

“ตราบใดที่ยังมีการปฏิบัติอริยมรรคมีองค์ ๘ อยู่ (ศีล สมาธิ ปัญญา)
ตราบนั้นโลกจะไม่ว่างเว้นจากพระอรหันต์”

 ๔. ไม่เคารพยำเกรงในสิกขา

ข้อนี้มีความสำคัญเป็นอย่างมากในปัจจุบัน เพราะองค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้อยู่ชี้ถูกชี้ผิดให้ จึงมีสิกขาบทใหม่ๆ ที่เพิ่มเติมเสริมแต่งเข้ามา ทำให้ เกิดอริยะตราตั้ง อริยะแต่งตั้งกันเอง มีมากยิ่งขึ้น แต่ผู้เข้าถึงพระสัทธรรมที่แท้จริงกลับลดน้อยลงด้อยค่าลงไปเป็นอย่างมาก

สิกขา คือ ข้อที่จะต้องศึกษา ข้อที่ต้องปฏิบัติในทางพระพุทธศาสนา พระพุทธองค์ได้บัญญัติ สิกขา ๓ (สิกขาสูตรที่ ๑) ดังนี้

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย สิกขา ๓ นี้ เป็นไฉน คือ
อธิศีลสิกขา ๑ อธิจิตตสิกขา ๑ อธิปัญญาสิกขา ๑”

โดยเฉพาะอธิจิตตสิกขานั้น เป็นหลักใหญ่ เป็นหัวใจสำคัญในพระพุทธศาสนา

“อธิจิตตสิกขาเป็นไฉน?

ภิกษุในธรรมวินัยนี้
สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรมทั้งหลาย
บรรลุปฐมฌาณ มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่
เพราะวิตกและวิจารสงบไป จึงบรรลุทุติยฌาน
มีความผ่องใสแห่งใจในภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น
ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิอยู่
เพราะปีติสิ้นไป จึงมีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ
เสวยสุขด้วยนามกาย บรรลุตติยฌานที่พระอริยะทั้งหลาย
สรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติอยู่เป็นสุข
เพราะละสุขและทุกข์ และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้
จึงบรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่
นี้เรียกว่า อธิจิตตสิกขา” หรือ สัมมาสมาธิ นั่นเอง

๕. ไม่เคารพยำเกรงในสมาธิ

เป็นข้อสรุปสุดท้ายที่ชัดเจนว่า เมื่อไม่เคารพยำเกรงในสมาธิ ก็เท่ากับไม่ยำเกรงในข้อ “อธิจิตตสิกขา” ไปด้วย แต่กลับไปให้ความยำเกรงในวิปัสสนา (รู้เห็นตามความเป็นจริง) โดยไม่เอาสมาธิ ปัจจุบันนี้ถึงกับจะไม่เอาศีลเสียด้วยซ้ำไป ถึงจะเอาบ้าง ก็เอานิดๆ หน่อยๆ ก็พอ ทั้งที่พระพุทธพจน์ตรัสไว้ชัดเจนว่า

“สมาธึ ภิกฺขเว ภาเวถ สมาหิโต ยถาภูตํ ปชานาติ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงยัง (สัมมา) สมาธิให้เกิดขึ้นเถิด
ผู้ที่มีจิตตั้งมั่นดีแล้ว ย่อมรู้เห็นตามความเป็นจริง (ปัญญา) ดังนี้”

บุคคลที่จะมีวิปัสสนาได้นั้น จำเป็นต้องมีจิตที่มีกำลังสติสงบตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว จึงจะรู้เห็นตามความเป็นจริงได้ ส่วนบุคคลที่มีจิตซัดส่ายหวั่นไหววุ่นวาย ไม่ตั้งมั่น จะไปเอาวิปัสสนาปัญญา รู้เห็นตามความเป็นจริง มาจากที่ไหนได้ ล้วนเป็นวิปัสสนึกขึ้นเองทั้งนั้น

เนื่องจากไม่ยำเกรงในพระศาสดา พระธรรม พระสงฆ์ และสิกขาบทนั่นเอง ข้อที่ ๕ นี้ ก็ถูกมองเมินไปด้วยเช่นกัน

แต่ในทางกลับกันแล้ว บุคคลใดที่ให้ความสำคัญในการปฏิบัติสมาธิกรรมฐานภาวนา เพราะเคารพในสิกขา เข้าถึงอธิจิตตสิกขา (สัมมาสมาธิ) ย่อมหมดความสงสัยใน พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มีวิปัสสนาปัญญา รู้เห็นตามความเป็นจริงดังกล่าว มีพระพุทธพจน์ที่พระพุทธองค์ทรงตรัสรับรองไว้ในสิกขาสูตรที่ ๒ ดังนี้

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย สิกขา ๓ นี้แล ฯ
ภิกษุผู้มีความเพียร มีเรี่ยวแรง มีปัญญา เพ่งพินิจ
มีสติคุ้มครองอินทรีย์ พึงครอบงำทั่วทุกทิศ ด้วยอัปปนาสมาธิ
ประพฤติทั้งอธิศีล อธิจิต และอธิปัญญา ฯลฯ
ภิกษุเช่นนั้น บัณฑิตกล่าวว่า เป็นผู้ตรัสรู้ชอบ เป็นนักปราชญ์
เป็นผู้ถึงที่สุดของการปฏิบัติในโลก
ท่านผู้ประกอบด้วยวิมุตติอันเป็นที่สิ้นตัณหา
ย่อมมีจิตหลุดพ้นจากสังขารธรรม
เพราะวิญญาณดับสนิท เหมือนความดับของประทีป ฉะนั้น ฯ”

สรุปสุดท้าย พระพุทธพจน์ (เสขสูตรที่ ๒) ตรัสไว้ว่า

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุทำได้เพียงบางส่วน
ย่อมให้สำเร็จได้เพียงบางส่วน
ผู้ทำให้บริบูรณ์ ย่อมให้สำเร็จได้บริบูรณ์อย่างนี้แล
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวสิกขาบททั้งหลายว่า ไม่เป็นหมันเลย ฯ”

“สัทธรรมปฏิรูปเกิดขึ้นในโลกเมื่อใด
เมื่อนั้นพระสัทธรรมจึงเลือนหายไป
ทองเทียมยังไม่เกิดขึ้นในโลก ตราบใด
ตราบนั้น ทองคำธรรมชาติก็ยังไม่หายไป
และเมื่อทองเทียมเกิดขึ้น
ทองคำธรรมชาติจึงหายไปฉันใด
พระสัทธรรมก็ฉันนั้น
สัทธรรมปฏิรูปยังไม่เกิดขึ้นในโลกตราบใด
ตราบนั้นพระสัทธรรมก็ยังไม่เลือนหายไป” (สัทธรรมปฏิรูปกสูตร) เอวัง.

พระภัทรสิทธิ์ อภินันโท
เทศนาธรรม วันพระ ๒๕ มกราคม ๒๕๖๕





Create Date : 26 มกราคม 2565
Last Update : 26 มกราคม 2565 17:13:56 น.
Counter : 426 Pageviews.

0 comments
เติมให้ความมี เติมให้ความไม่มี ปัญญา Dh
(14 เม.ย. 2567 20:54:29 น.)
อยาก อยากได้ กฎที่ถูกที่ดี ปัญญา Dh
(14 เม.ย. 2567 05:37:27 น.)
: หยดน้ำในมหาสมุทร 33 : กะว่าก๋า
(11 เม.ย. 2567 05:15:42 น.)
: หยดน้ำในมหาสมุทร 31 : กะว่าก๋า
(9 เม.ย. 2567 05:58:44 น.)
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Nujoy.BlogGang.com

ในความฝันของใครสักคน
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]