สัมมาสมาธิกับฌานสมาบัติ ๘


🌷 สัมมาสมาธิกับฌานสมาบัติ ๘

ทุกวันนี้ชาวพุทธเรานั้น มีน้อยกว่าน้อยนักที่จะเข้าถึงพระพุทธศาสนาที่แท้จริงได้ แต่ยังหลงไหลไปกับเครื่องประดับตกแต่งในทางศาสนาเสียมากกว่า และทุกวันนี้มีการนำเอาลัทธิพราหมณ์เข้ามาปนเปจนแทบจะกลืนเอาพุทธแท้ๆ เข้าไปจนเกือบจะไม่เหลือเค้าโครงให้แลเห็นได้ในอนาคตอันใกล้นี้ โดยเฉพาะเรื่องพิธีกรรมต่างๆ ทั้งที่เป็นของพราหมณ์แท้ๆ แต่กลับขาดพิธีกรรมเหล่านี้เสียไม่ได้ ถ้าไม่มีขึ้นมาเมื่อไหร่ เมื่อนั้นแหละวงแตก จะต้องมีการทะเลาะเบาะแว้งกันขึ้น เพราะเป็นสิ่งที่ได้ทำสืบๆ ต่อกันมาอย่างยาวนาน (มา ปรมฺปราย) 

ยิ่งโดยเฉพาะบุคคลผู้อยู่ในสังคมชั้นสูงด้วยแล้วยิ่งให้ความสำคัญกับเรื่องเหล่านี้มาก กลายเป็นแบบอย่างที่ผิดๆ ไปจนกระทั่งเป็นประเพณีนิยมไปเสียแล้วก็มี โดยลืมคำสั่งสอนในโอวาทปาฏิโมกข์ ที่พระพุทธองค์ทรงตรัสถึงหัวใจพระพุทธศาสนาไว้ ดังนี้ 
๑. สพฺพปาปสฺส อกรณํ  การไม่ทำชั่วทั้งปวง
๒. กุสลสฺสูปสมฺปทา  การทำความดีทั้งปวง 
๓. สจิตฺตปริโยทปนํ การชำระจิตของตนให้บริสุทธิ์ขาวรอบ 
พระพุทธองค์สรุปคำสอนโดยย่นย่อว่ามีเพียงเท่านี้ 

ชาวพุทธทั้งหลายที่ผ่านการศึกษามาย่อมรู้ดีทั่วทุกตัวคน แต่จะทำตามได้สักกี่คน โดยเฉพาะข้อแรกข้อเดียว ก็เป็นหนามยอกอกของชาวพุทธอยู่แล้ว เมื่อได้ทำอกุศลมาแล้ว มักใช้วิธีแก้โดยการทำบุญกุศล เพื่อมาถ่ายโทษบาปที่ตนเองได้กระทำไว้ ซึ่งเป็นไปแทบไม่ได้เลย เพียงแต่ทำให้มีความรู้สึกที่ดีขึ้นเท่านั้น 

การเข้าวัดก็เพื่อทำตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าในโอวาทปาฏิโมกข์ โดยมีการบำเพ็ญทาน บำเพ็ญศีล บำเพ็ญภาวนา การบำเพ็ญทาน ศีล ภาวนา ดังกล่าวข้างต้นนั้น ก็คือการเดินตามรอยพระบาทในโอวาทปาฏิโมกข์นั่นเอง 

การบำเพ็ญทานนั้นเป็นเรื่องเดียวที่ชาวพุทธเราถนัดที่สุด และพร้อมที่จะร่วมบุญเมื่อมีใครมาชักชวน จะมากจะน้อยว่ากันไป แต่ที่ยากขึ้นเป็นลำดับต่อไปก็คือ การบำเพ็ญศีลนั่นเอง การที่มีบุคคลสามารถรักษาศีล ๕ ที่ตนรับมานั้นให้บริบูรณ์หมดจดไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อยได้ ต้องถือว่าเป็นบุคคลอันเยี่ยมยอดที่ละชั่วทั้งปวงได้ 

แต่การที่มีบุคคลสามารถบำเพ็ญศีลให้บริบูรณ์ได้นั้น ต้องมีการบำเพ็ญภาวนามยปัญญาควบคู่กันไปด้วย จึงจะเป็นได้ ส่วนถ้ามีใครมาบอกว่าตนเองนั้นสามารถรักษาศีล ๕ ให้บริสุทธิ์ได้ฉันใด โดยที่ไม่เคยผ่านการบำเพ็ญภาวนามาเลยนั้น ย่อมเป็นไปไม่ได้ ฉันนั้น เพราะจิตของตนย่อมมีกำลังไม่มากพอที่จะวิรัติ (งดเว้น) ในข้อศีลเหล่านั้นได้ ให้ลองพิจารณาโดยแยบคายว่า ไม่ทะลุ ก็ต้องมีด่างพร้อยคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง 

แต่ปัจจุบันนี้การละเมิดศีลกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดาไปเสียแล้ว โดยเฉพาะในศีล ๕ มีการละเมิดมากที่สุดคือข้อที่ ๔ มุสาวาทา การโกหกทั้งๆ ที่รู้ เราจะรู้เห็นอยู่เป็นประจำ ซึ่งมีพระวจนะกล่าวไว้ว่า ใครที่ชอบโกหกทั้งๆ ที่รู้ ความชั่วอื่นจะไม่ทำเป็นไม่มี เพราะขาดซึ่งพลังจิตที่จะเกิดขึ้นได้จากการปฏิบัติธรรมสมาธิกรรมฐานภาวนาเท่านั้น 

เพราะพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ที่อุบัติขึ้นมาในโลกทุกๆ พระองค์ ล้วนทรงสั่งสอนให้ชำระจิตของตนให้บริสุทธิ์หมดจดขาวรอบ ฉะนั้นเรื่องจิตจึงเป็นหัวใจพระพุทธศาสนา การที่เราหมั่นฝึกฝนอบรมจิตของตนด้วยภาวนานุโยค จนกระทั่งจิตของตนสิ้นอาสวะได้นั้น ย่อมต้องครอบคลุมไปถึงการละชั่วทั้งปวง และทำดีทั้งปวงได้ด้วยเช่นกัน จึงสามารถควบคุมกาย วาจา ใจ ให้อยู่เป็นสุขในปัจจุบัน 

มีพระพุทธพจน์ที่ตรัสไว้ว่า มรรคมีองค์ ๘ เป็นทั้งสมถะและวิปัสสนา ดังนี้ 
เมื่อบุคคลรู้เห็นตามความเป็นจริงในอายตนะภายในและภายนอก โดยอาศัยวิญญาณ อาศัยผัสสะ และเวทนา อุปาทานขันธ์ ๕ ก็จะไม่เจริญ ไม่พอกพูน ความกระวนกระวายร้อนรุ่มทางกาย ทางใจก็ไม่มี เขาย่อมเสวยแต่สุขทางกายและทางใจ 

เมื่อบุคคลผู้เป็นเช่นนี้แล้ว 
เขามีความเห็นอันใด ความเห็นอันนั้นย่อมเป็นสัมมาทิฏฐิ 
มีความดำริอันใด ความดำริอันนั้นย่อมเป็นสัมมาสังกัปปะ 
มีความเพียรอันใด ความเพียรอันนั้นย่อมเป็นสัมมาวายามะ 
มีความระลึกอันใด ความระลึกอันนั้นย่อมเป็นสัมมาสติ 
มีความตั้งมั่นของจิตอันใด ความตั้งมั่นของจิตอันนั้นย่อมเป็นสัมมาสมาธิ 
ส่วนกายกรรม วจีกรรม อาชีวะของเขา ย่อมหมดจดดีเป็นเบื้องต้นอยู่แล้ว 
อย่างนี้แหละเขาได้ชื่อว่าเจริญบริบูรณ์ด้วยมรรคมีองค์ ๘ อันประเสริฐ (อริยอัฏฐังคิกมรรค) 

และตรัสอีกว่า 
ธรรมที่ควรกำหนดรู้ด้วยปัญญาอันยิ่ง คือ อุปาทานขันธ์ ๕ 
ธรรมที่ควรละด้วยปัญญาอันยิ่ง คือ อวิชชาและภวตัณหา 
ธรรมที่ควรเจริญด้วยปัญญาอันยิ่ง คือ สัมมาสมาธิ (สมถะและวิปัสสนา) ในอริยมรรค 
ธรรมที่ควรทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่ง คือ วิชชาและวิมุตติ 

ยังทรงตรัสอีกว่า 
อริยมรรคมีองค์ ๘ ทำให้บุคคลผู้เจริญให้มาก กระทำให้มาก ย่อมทำวิชชาให้ถึงพร้อมไปถึงฝั่ง (นิพพาน) ได้ 

และตรัสเป็นพระคาถาว่า 
ในมวลหมู่มนุษย์ คนที่จะถึงฝั่งมีจำนวนน้อย  ที่เหลือมีแต่พวกนักวิ่งเลาะไปตามชายฝั่ง (ยังเที่ยวแสวงหา) ผู้ที่ประพฤติตามธรรมวินัยที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ดีแล้ว ย่อมข้ามบ่วงมฤตยู ซึ่งข้ามได้แสนยาก เพื่อจะไปให้ถึงฝั่ง บัณฑิตพึงละธรรมฝ่ายดำ เจริญธรรมฝ่ายขาว หนีจากอาลัย (อาลยสมุคฺฆาโต) ละกามคุณ ๕ ให้ได้ โดยอาศัยธรรมที่ปลอดจากอาลัย (กิเลส) อันมีวิราคธรรม

พระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าที่ได้ทรงตรัสไว้ดีแล้ว เรามักเรียกว่า "พระพุทธพจน์" หรือ "พระพุทธวจนะ" นั้น เป็นสิ่งสำคัญสูงสุดในพระพุทธศาสนา ดังพระดำรัสที่ทรงตรัสไว้ว่า

"สมาธึ ภิกฺขเว ภาเวถ สมาหิโต ยถาภูตํ ปชานาติ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จงยังสมาธิให้เกิดขึ้นเถิด
ผู้ที่มีจิตตั้งมั่นแล้ว ย่อมรู้เห็นตามความเป็นจริง ดังนี้"

จากพระบาลีที่มาจากพระพุทธพจน์ ยังมีพระพุทธพจน์จากพระสูตรที่เชื่อมโยงรองรับไว้ว่า

เธอทั้งหลายจงเจริญสมาธิ
ภิกษุมีจิตตั้งมั่นแล้ว ย่อมรู้ชัดตามเป็นจริง

ก็ภิกษุย่อมรู้ชัดตามเป็นจริงอย่างไร?
ย่อมรู้ชัดซึ่ง ความเกิดและความดับแห่งรูป
ย่อมรู้ชัดซึ่ง ความเกิดและความดับแห่งเวทนา
ย่อมรู้ชัดซึ่ง ความเกิดและความดับแห่งสัญญา
ย่อมรู้ชัดซึ่ง ความเกิดและความดับแห่งสังขาร
ย่อมรู้ชัดซึ่ง ความเกิดและความดับแห่งวิญญาณ

จากพระพุทธพจน์ชัดเจนว่า จิตของตนย่อมรู้ชัดถึงความเกิดของรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ และจิตของตนอีกนั่นแหละ ย่อมรู้ชัดถึงความดับไปของรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ สรุปได้ว่าอะไรเกิดขึ้นที่จิตก็รู้ อะไรดับไปจากจิตก็รู้ สิ่งที่ถูกรู้เท่านั้นที่เกิดและดับไปจากจิต จิตผู้รู้ไม่ได้เกิดดับตามไปด้วย จะมีเพียงแต่อาการของจิตที่มีความยึดมั่นถือมั่นในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณเหล่านั้น ที่พลอยเกิดพลอยดับตามไปด้วย จิตที่ตั้งมั่นดีแล้วนั้น ย่อมรู้เห็นตามความเป็นจริงในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ว่าเป็นของไม่เที่ยง (อนิจจัง) เป็นทุกข์ (ทุกขัง) ไม่ใช่ตัวตน (อนัตตา)

ปัจจุบันมักมีการแอบอ้างเอาธรรมะของพ่อแม่ครูบาอาจารย์บางท่าน ที่ท่านเทศนาไว้เป็นคราวๆ ในประชุมชนครั้งนั้นๆ ว่า "ยิ่งเป็นปัญญาขั้นสูงด้วยแล้ว เห็นสมาธิเป็นภัยไปหมดเลย" ด้วยท่านเกรงไปว่า ลูกศิษย์ลูกหาของท่านที่มีอยู่ในขณะนั้น จะติดอยู่กับความเบากายเบาใจในสมาธิ จนลืมไปว่า ต้องออกไปใช้ปัญญาปล่อยวางอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดที่เข้ามากระทบจิตของตน เป็นการพิจารณากายในกายเป็นภายนอกบ้าง คือตอนลืมตา เพื่อฝึกหัดการปล่อยวางอารมณ์ที่เข้ามากระทบจิต (ปัญญา) ระลึกรู้ก่อนที่จิตของตนจะไหวตัวไปตามอารมณ์เหล่านั้น 

มีพระพุทธพจน์ที่ตรัสกับอัคคิเวสสนะว่า 
ดูก่อนอัคคิเวสนะ ก่อนหน้านี้จิตของเราอยู่ในสมาธินิมิตอะไร เมื่อเรากล่าวคาถานี้จบ เราก็สามารถตั้งมั่นในสมาธินิมิตนั้นได้ทันที 

พระองค์ทรงยังได้ตรัสต่อไปอีกว่า 
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นบัณฑิต เป็นผู้ฉลาด เป็นผู้เฉียบแหลม เมื่อได้ติดตามดูกายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรมทั้งหลาย เป็นผู้มีความเพียรเผากิเลส มีสติ มีสัมปชัญญะ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียได้ จิตของเธอย่อมเป็นสมาธิ เธอย่อมละอุปกิเลสทั้งหลายได้ และย่อมกำหนดนิมิตหมายแห่งจิตได้ 

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุที่เป็นบัณฑิต ฉลาด เฉียบแหลมนั้น ย่อมได้สมาบัติอันเป็นธรรมเครื่องอยู่ในชีวิตประจำวัน ย่อมมีสัมปชัญญะ มีสติ ข้อนี้เป็นเพราะเหตุใด ภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้เป็นเพราะภิกษุนั้นเป็นบัณฑิต ฉลาด เฉียบแหลมกำหนดนิมิตหมายแห่งจิตของตนได้

แต่กลับมองไปในทางตรงกันข้ามแบบคิดเองเออเองไปตามตำราในชั้นหลังว่า สมาธิไม่ทำให้เกิดปัญญา สมาธิเป็นการติดสุข ชุ่มแช่ เมื่อพูดถึงสมาธิที่ติดสุข ชุ่มแช่ อยู่ในอารมณ์ฌานนั้น เป็นสมาธิในสมาบัติ ๘ หรือรูปฌานและอรูปฌาน จะว่าไปแล้วรูปฌานและอรูปฌานก็ยังให้เกิดปัญญาได้เช่นกัน แต่เป็นปัญญาทางโลก หรือโลกียปัญญา สามรถปล่อยวางอารมณ์หยาบๆ ได้ แต่กลับมาติดหนึบกับอารมณ์อรูปฌานอันละเอียดนั้น ดังมีพระพุทธวจนะว่า

ถ้าอาจารย์ทั้งสองคืออาฬารดาบสและอุทกดาบส เป็นบัณฑิต ฉลาด เฉียบแหลม มีปัญญา มีธุลีในจักษุน้อยมานาน เธอจักรู้ธรรมของเรานี้ได้ฉับพลัน เมื่อเธอได้ฟังธรรมนี้ 

จากพุทธวจนะเน้นชัดว่า สมาธินั้นย่อมทำให้เกิดปัญญา ยิ่งถ้าเป็นสัมมาสมาธิด้วยแล้ว ย่อมเกิดโลกุตตรปัญญา แต่ถ้าเป็นสมาธินอกศาสนานั้น มีเพียงปัญญาทางโลกเท่านั้น

ส่วนพวกที่ยึดติดอยู่กับตำรา (ปิฎก) ที่รจนาขึ้นมาในภายหลัง ไม่เอาสมาธิเลย กระโดดไปขั้นปัญญา ต้องวิปัสสนากรรมฐานเท่านั้นเป็นสำคัญ ทั้งที่ตนเองไม่มีความเข้าใจในคำว่า "วิปัสสนา" เลย คำว่าวิปัสสนา แยกเป็นคำว่า วิ หมายถึง วิเศษและคำว่า ปัสสนา หมายถึง การรู้การเห็น เมื่อรวมสองคำนี้เข้าด้วยกัน ได้คำว่า การรู้เห็นอย่างวิเศษ หรือการรู้เห็นตามความเป็นจริง อันเป็นเรื่องเดียวกัน รู้ชัดตามความเป็นจริงในการเกิด - ดับแห่งรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ

มีพระพุทธพจน์รับรองว่า "สัมมาสมาธิ" ยังให้เกิดปัญญาญาณ ทำให้รู้เห็นตามความเป็นจริงในขันธ์ ๕ รู้ชัดว่า ขันธ์ ๕ ไม่ใช่เรา (จิต) เรา (จิต) ไม่ใช่ขันธ์ ๕ ทำให้จิตเกิดความเบื่อหน่าย คลายกำหนัด จิตปล่อยวาง ลด ละ เลิก ความยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ ๕ ลงได้ โดยมีอนัตตลักขณสูตร ดังนี้

รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ 
นิจจัง วา อนิจจัง วาติ 
เที่ยงหรือไม่เที่ยงล่ะ
อนิจจัง ภัณเต ไม่เที่ยง พระเจ้าค่า

รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ 
ยัมปะนานิจจัง ทุกขัง วาตัง สุขัง วาติ 
สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า
ทุกขัง ภัณเต เป็นทุกข์ พระเจ้าค่า

ยัมปะนานิจจัง ทุกขัง วิปริณามะธัมมัง กัลลัง นุตัง สะมะนุปัสสิตุง เอตัง มะมะ เอโสหะมัส๎มิ เอโส เม อัตตาติ  
สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา ควรหรือจะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นเป็นเรา เราเป็นนั่นเป็นนี่ นั่นเป็นตัวตนของเรา
โน เหตัง ภันเต หาอย่างนั้นไม่ พระเจ้าค่า

คำว่า "วิปัสสนา" เป็นคำที่เกิดมีขึ้นมาในภายหลัง เป็นการรจนาเพิ่มเติมเสริมแต่งขึ้นมาใหม่ของอาจาริยวาท ในพระสูตรชั้นต้นๆ นั้น ที่มีอยู่ในทุกวันนี้ พระองค์ไม่ได้ทรงตรัสรับรองคำนี้ไว้เลย

แต่มักมีการแอบอ้างเอา "วิปัสสนากรรมฐาน" มาบังหน้าเพื่อประโยชน์ของตนเท่านั้น เพื่อความเกียจคร้านของตน ที่จะไม่ต้องทำ "สมถะกรรมฐาน" หรือที่เรียกว่า "สมาธิกรรมฐานภาวนา" ให้เหนื่อยยากลำบากกาย ต้องหลังขดหลังแข็ง เป็นด้วยว่าตนเองไม่สามารถเข้าถึงฌานในสัมมาสมาธิอันเป็นสำคัญ เมื่อไม่สามารถเข้าถึง ก็ด้อยค่ามันลงเสียเลย ซึ่งตรงกับในครั้งพุทธกาลที่พระมหากัสสปได้ทูลถามว่า

เมื่อก่อนนี้ บทบัญญัติมีน้อย แต่ทำไมบุคคลผู้เข้าถึงและบรรลุธรรมจึงมีมาก แต่นานวันเข้า บทบัญญัติมีมากขึ้น แต่บุคคลผู้รู้ธรรมและเข้าถึงธรรมกลับมีน้อยลง

พระองค์แสดงมูลเหตุให้ฟังและได้ทรงเน้นว่า การที่มีผู้นำเอาคำสั่งสอนนอกศาสนามาอ้างอิงว่าเป็นคำสั่งสอนของพระองค์ เป็นมูลเหตุสำคัญอย่างหนึ่งที่จะทำให้คุณค่าของศาสนาน้อยลง 

พระบรมศาสดาตรัสต่อว่า
สิ่งต่างๆ ในโลกนี้จะทำลายศาสนาให้สูญสิ้นไปหาได้ไม่ แต่พุทธบริษัท ๔ เท่านั้นที่จะทำให้ศาสนาสูญสิ้นไปด้วยเหตุ ๕ ประการคือ
๑. พุทธบริษัท (ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา) ไม่เคารพในศาสดาของตน
๒. พุทธบริษัทไม่ตะหนักในพระธรรม 
๓. พุทธบริษัทไม่เคารพต่อสงฆ์ 
๔. พุทธบริษัทไม่ตั้งใจศึกษาสิกขา ๓
๕. พุทธบริษัทไม่สนใจในการทำสมาธิ 

พระพุทธองค์ทรงรู้ล่วงหน้ามานานแล้วว่า จะต้องเกิดเรื่องราวเหล่านี้ขึ้น

และพวกที่ไม่เอาสมาธิ มักพูดจากล่าวร้ายโจมตีไปในทางที่เสียหายว่า "สมถะกรรมฐาน" เป็นเรื่องของสมณะพราหมณ์ ฤาษีชีไพร  ไม่ทำให้เกิดปัญญาวิมุตติหลุดพ้นได้  เป็นเพียงหินทับหญ้าเอาไว้เท่านั้น เมื่อนำเอาหินออกเมื่อไหร่ หญ้าก็จะกลับเจริญขึ้นมาใหม่ได้อีก เนื่องจากยังเข้าไม่ถึงสัมมาสมาธิกรรมฐานภาวนานั่นเอง มักอ้างว่าต้อง "วิปัสสนากรรมฐาน" เท่านั้น จึงจะเกิดปัญญาวิมุตติหลุดพ้นได้ ถึงกับมีอัตโนมัติอาจารย์บางท่าน กล้าฟันธงเลยว่า การปฏิบัติธรรมกรรมฐานภาวนาเป็นเรื่องของการทำอัตตกิลมถานุโยค ด้วยผู้ที่พูดนั้นขาดความเข้าใจที่ถูกต้อง 

พระองค์ทรงแสดงว่า สมณพราหมณ์ที่บำเพ็ญเพียร ได้รับทุกขเวทนากล้า ก็อย่างยิ่งเพียงเท่านี้ ไม่ยิ่งไปกว่านี้อีก ต่างกับการบำเพ็ญเพียรทางจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน พิจารณาเห็นจิตในจิต รู้ชัดว่าที่ทุกข์เกิดเพราะจิตไปยึดมั่นถือมั่น เมื่อถ่ายถอนความยึดมั่นถือมั่นได้แล้ว ก็รู้ชัดว่า นั่นไม่ใช่เรา (จิต) จิตก็รู้ชัดอีกว่าทุกข์ดับไปจากจิตของตน

ผู้พูดไม่เคยรู้ความจริงเลยว่า "วิปัสสนา" ที่ตนคิดเองเออเองไปว่าเป็นปัญญาญาณนั้น เป็นเพียงแค่สัญญาอารมณ์ที่ได้มาจากความรู้สึกนึกคิดของตนเองเท่านั้น ที่คิดแล้วคิดเล่า เฝ้าแต่คิดจนความคิดที่ว่ามานั้นตกผลึกเป็นความรู้ ไม่ใช่ปัญญาญาณ ที่เกิดจากการรู้เห็นตามความเป็นจริง ด้วยการปฏิบัติธรรมกรรมฐานภาวนา ยัง "สัมมาสมาธิ" ให้เกิดขึ้น จนจิตมีกำลังสติสงบตั้งมั่นไม่หวั่นไหวไปตามอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดที่เข้ามาผัสสะ

มารู้จักกับคำว่า "สมาธิ" ที่มีมาก่อนพระพุทธองค์ได้ทรงอุบัติขึ้นมาในโลก และ "สัมมาสมาธิ" ที่พระพุทธองค์ได้ทรงค้นพบด้วยพระองค์เองโดยชอบแล้ว จึงกล้าตรัสรับรองตนเองไว้ว่า "ปุพเพ อนนุสสุเตสุ ธัมเมสุ  แปลว่า ธรรมอันเราตรัสรู้นี้ ไม่เคยได้ยิน ได้ฟังจากที่ไหนในกาลก่อนนี้แล มาปรากฏแก่อาตมภาพ"

มีเรื่องแปลกแต่จริงที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เป็นด้วยขาดการพิจารณาโดยไม่ไตร่ตรองให้รอบคอบเสียก่อนหรือเพราะตำราพาไป กลับกลายเป็นการกล่าวตู่ลบหลู่ดูหมิ่นพระพุทธปัญญาของพระองค์ไปโดยไม่รู้ตัว อันเป็นกรรมหนักที่ตนเองต้องแบกรับโดยไม่รู้ตัวเช่นกัน

ได้มีการนำเอา "สมาธิ" ที่มีมาแต่กาลก่อนพระพุทธองค์ได้ทรงตรัสรู้ มาผสมปนเปเข้ากับ "สัมมาสมาธิ" ในอริยมรรค ๘ จนวุ่นวายไปหมด ทำให้ผู้ที่ศึกษาใหม่เกิดความลังเลสงสัยสับสนจนเกรงกลัวการนั่งหลับตาปฏิบัติธรรมสมาธิกรรมฐานภาวนา เพื่อปล่อยวางอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดไป

โดยเห็นไปว่าการนั่งหลับตาปฏิบัติธรรมสมาธิกรรมฐานภาวนานั้น เป็นการติดสุขอยู่ในฌาน เป็นพวกตัณหาจริต เป็นเรื่องของฤๅษีชีไพรและสมณพราหมณ์ จนมองข้าม "สัมมาสมาธิ" ในองค์แห่งอริยมรรค ๘ ไปให้ความสนใจกับคำว่า   "วิปัสสนากรรมฐาน" แต่เพียงอย่างเดียว โดยไม่เอาสมาธิเลย

ทั้งที่คำว่า "วิปัสสนากรรมฐาน" นั้น เป็นของคู่กับ "สมถะกรรมฐาน" ชนิดที่ขาดกัน หรือแยกออกจากกันไม่ได้เลย เมื่อนำเอา "สมถะและวิปัสสนา" มารวมเข้าด้วยกัน ที่ต้องรวมเข้าด้วยกัน เพราะในพระพุทธพจน์ใช้คำว่า สมถะและวิปัสสนา เมื่อใช้คำว่า และ ไม่ใช้คำว่า หรือ ก็แน่นอนว่า ต้องเป็นของร่วมกัน 

ยกตัวอย่างง่ายๆ ให้เข้าใจได้ดังนี้ เมื่อนายกอ และนายขอ ไปเปิดบัญชีที่ธนาคารด้วยกันว่า บัญชีของนายกอและนายขอ ก็แสดงว่านายกอและนายขอ ใช้บัญชีร่วมกัน เวลาจะถอนเงินออกจากบัญชีนั้น ต้องใช้ชื่อนายกอและนายขอ จึงจะถอนเงินออกจากบัญชีนั้นได้ จึงจะใช่ แต่ถ้าใช้คำว่า นายกอหรือนายขอแล้ว คนใดคนหนึ่งจะถอนเงินไปใช้ย่อมได้เช่นกัน 

ฉะนั้น สมถะและวิปัสสนา ก็เท่ากับ "สัมมาสมาธิ" ในหมวด "สมาธิ" แห่งองค์อริยมรรค ๘ ซึ่งเป็นสมาธิกรรมฐานภาวนาที่สำคัญยิ่ง อันยังให้เกิดปัญญาญาณ รู้เห็นตามความเป็นจริงได้ เห็นความเกิดและความดับของอายตนะภายในและอายตนะภายนอก เข้าใจในขันธ์ ๕ และรู้เห็นอริยสัจ ๔ ตามความเป็นจริง

ดังมีพระพุทธพจน์ในพระสูตรได้ทรงตรัสรับรองเรื่องราวต่างๆ ที่กล่าวไว้ข้างต้น อย่างเช่น สมาธิที่มีมาแต่กาลก่อนที่พระพุทธองค์จะได้ทรงตรัสรู้ หรือที่เรียกว่า "สมาบัติ ๘" นั้น อันมี รูปฌานและอรูปฌาน เป็นต้น

"อาตมภาพนั้นมีความคิดเห็นว่า ธรรมนี้ไม่เป็นไปเพื่อความหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับสนิท เพื่อสงบระงับ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพาน  ย่อมเป็นไปเพียงให้อุบัติในอากิญจัญญายตนพรหมเท่านั้น อาตมภาพไม่พอใจธรรมนั้น เบื่อจากธรรมนั้นแล้วหลีกไปเสีย ฯ"
(อรูปฌานที่ ๗)

จะเห็นว่า พระพุทธองค์ได้ทรงปฏิเสธไปในแนวทางที่ว่า "ธรรมนี้ไม่เป็นไป เพื่อความหน่าย เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับสนิท เพื่อสงบระงับ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพาน

แต่มิได้ทรงปฏิเสธไปแบบปัดทิ้ง ไม่เห็นคุณค่าเสียเลยทีเดียว ยังทรงตรัสยกย่อง ตอนที่พระองค์ตรัสรู้ใหม่ๆ ทรงเล็งพระญาณเห็นถึงว่าอาจารย์ทั้งสองเหมาะสมที่จะตรัสรู้ธรรมที่พระองค์ทรงตรัสรู้ว่า  เป็นธรรมอันลึกซึ้ง เห็นได้ยาก เข้าถึงได้ยาก รู้ตามได้ยาก สงบ ประณีต ไม่เป็นวิสัยแห่งตรรกะ ละเอียด บัณฑิตเท่านั้นจึงจะรู้ได้ ก็ระลึกถึงพระอาจารย์ทั้งสอง เราพึงแสดงธรรมแก่ท่านอาจารย์ทั้งสอง เธอจักรู้ทั่วถึงธรรมนี้โดยฉับพลัน

เมื่อมาถึงตรงนี้ ก็ให้สงสัยขึ้นมาว่า แล้ว "สมาธิ" กับ "สัมมาสมาธิ" นั้น แตกต่างกันอย่างไร ตรงไหน จากการที่มีจารึกไว้ในพระไตรปิฎก (ตำรา) ดูจะเหมือนกันจนกระทั่งหาข้อแตกต่างกันไม่ได้เลย ดูไปแล้ว คล้ายกับว่าพระพุทธองค์ได้ทรงแอบต่อยอดความรู้ ที่พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสรู้มาจาก "ฌานสมาบัติ" ดังกล่าว ทำให้เกิดความเข้าใจผิดอย่างมหันต์ แบบไม่น่าให้อภัยเลยจริงๆ

โปรดสังเกตด้วยใจที่เป็นธรรม พิจารณาให้รอบคอบรอบด้าน ก่อนจะเชื่ออะไรลงไปง่ายๆ สบายๆ ลัดสั้น จะเห็นว่าอารมณ์ที่พวกสมณพราหมณ์ และพวกฤๅษีชีไพรใช้นำเอามาเพียรเพ่งเป็นอารมณ์ฌานสมาบัตินั้น ล้วนเป็นอารมณ์ภายนอกกายทั้งสิ้น เช่น เอารูปที่ปราศจากกามมาเป็นอารมณ์ภาวนา ถ้าเป็นรูปที่ก่อให้เกิดกามขึ้นมาได้นั้น เพียรเพ่งอย่างไรคงทำให้เกิดสมาธิฌานได้ยาก เพราะกิเลสตัณหาคงลากเอาไปกินตั้งแต่ต้นทางแล้ว อรูปก็เช่นเดียวกัน

ส่วนองค์แห่งฌานของรูปฌาน อรูปฌานที่เกิดขึ้นนั้น ย่อมต้องแตกต่างไปจาก "สัมมาสมาธิ" ในองค์ฌานแห่งอริยมรรค ๘  องค์ฌานของฌานสมาบัติ ๘ นั้น เป็นการเกาะเกี่ยวเอาอารมณ์ภายนอกกายมาเป็นอารมณ์ภาวนา จนอารมณ์เกาะเกี่ยวกับจิตเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ที่เรียกว่า เอกัคคตา เป็นการปฏิบัติธรรมกรรมฐาน ที่นำไปสู่การละจากอารมณ์หยาบ เข้าไปติดสุขเหนียวหนึบอยู่กับอารมณ์อันละเอียดยิ่งๆ ขึ้นไป เพียงช่วยทำให้กิเลสเบาบางลงได้เท่านั้น ไม่นำไปสู่ความวิมุตติ จิตหลุดพ้นได้ เหมือนฌานใน "สัมมาสมาธิ" เลย มีพระพุทธพจน์รับรองดังนี้

"ดูกรมหานาม อริยสาวกนั้นอาศัยจตุตถฌาน มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์ ไม่มีสิ่งอื่นยิ่งกว่านี้อย่างเดียว ย่อมทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในปัจจุบันเข้าถึงอยู่ ข้อนี้เป็นความแตกฉานแห่งญาณข้อที่สาม (อาสวักขยญาณ) ของอริยสาวกนั้น"

ฌานสมาบัติเป็นเพียงเอกัคคตารมณ์ ซึ่งจิตมีการเกาะเกี่ยวกับอารมณ์ภาวนารวมเป็นหนึ่งอย่างเหนียวแน่นไม่ยอมปล่อยวาง ส่วนฌานในสัมมาสมาธิแห่งองค์อริยมรรค ๘ นั้นเป็นการปล่อยวางอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดออกไปจากจิต

รูปฌาน อรูปฌานนั้น ยังต้องคอยระวังรักษาอารมณ์ฌานอันละเอียดที่เป็นสุขอยู่นั้นตลอดเวลา ด้วยความหวั่นไหวเกรงกลัวไปว่าอารมณ์ฌานนั้นจะจืดจางลงไปได้ตามกาลเวลาที่ละเลยขาดความเพียรเพ่ง

ส่วน "ฌานในสัมมาสมาธิแห่งองค์อริยมรรค ๘" นั้น เป็นอารมณ์ ณ ภายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต และธรรมในธรรมของตน เป็นการปฏิบัติธรรมเพื่อนำไปสู่การฝึกฝนอบรมจิตตนให้สงบตั้งมั่นไม่หวั่นไหวโดยลำพังตนเอง เพราะรู้จักปล่อยวางอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดออกไปจากจิตเป็นชั้นๆ ในขณะปฏิบัติธรรมสมาธิกรรมฐานภาวนา เมื่อปล่อยเป็นแล้วไม่ต้องจำ

เริ่มต้นจากต้องสงัดจากกาม สงัดจากอกุศลกรรม จากนั้นปล่อยวางอามีสสัญญา พร้อมด้วยวาจาดับ ปรากฏเป็นธรรมอันเอกผุดขึ้นมาอย่างเด่นชัด มีอุเบกขา เสวยสุขด้วยนามกายอันปราศจากอามีส จากนั้นละสุข ละทุกข์ ดับโสมนัส โทมนัสแต่เก่าก่อนได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่ อันนี้เรียกว่า "สัมมาสมาธิ"

สรุปได้ว่า ฌานนั้นมีมาแต่กาลก่อนนานมาแล้ว โดยมีทั้งฌานที่มีมาก่อนพระพุทธเจ้าจะอุบัติขึ้น กับฌานในสัมมาสมาธิที่พระพุทธเจ้าทรงได้ค้นพบและตรัสรู้ชอบด้วยพระองค์เอง โดยไม่เคยได้ยินได้ฟังจากที่ไหนมาในกาลก่อน แม้แต่องค์ฌานก็ยังแตกต่างกันในส่วนผล ฌานสมาบัติ ๘ นั้น เห็นตาลปัดกลับกันกับฌานในสัมมาสมาธิ เพราะฌานสมาบัติที่ว่านั้นยังเห็นอารมณ์เที่ยง ส่วนฌานในสัมมาสมาธินั้นเห็นขันธ์ ๕ (อารมณ์) ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตน

ใช่ว่า ฌานสมาบัติ ๘ จะเป็นเรื่องเลวร้ายอะไร ที่พระพุทธองค์ทรงปฏิเสธไปนั้น ทรงเห็นว่าเป็นหนทางนำไปสู่ภพภูมิ ที่ยังต้องวนเวียนอยู่ในวัฏฏะ ไม่อาจหลุดพ้นจากทุกข์ได้ เพราะเป็นฌานที่ยังเกาะเกี่ยวเอาอารมณ์ภายนอกอันละเอียดเป็นสุขอย่างเหนียวแน่นอยู่ สาธุ เอวัง.

พระภัทรสิทธิ์ อภินันโท
เทศนาธรรมวันพระ ๑๖ เมษายน ๒๕๖๕




Create Date : 18 เมษายน 2565
Last Update : 18 เมษายน 2565 15:06:45 น.
Counter : 487 Pageviews.

0 comments
หลักของสติ **mp5**
(16 เม.ย. 2567 12:14:57 น.)
การหา เติมความมี ปัญญา Dh
(16 เม.ย. 2567 18:08:16 น.)
เติมให้ความมี เติมให้ความไม่มี ปัญญา Dh
(14 เม.ย. 2567 20:54:29 น.)
: หยดน้ำในมหาสมุทร 35 : กะว่าก๋า
(13 เม.ย. 2567 05:51:40 น.)
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Nujoy.BlogGang.com

ในความฝันของใครสักคน
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]