ศีล สมาธิ ปัญญา 🌷 ศีล สมาธิ ปัญญา วันเสาร์ที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๖๕ ตรงกับวันพระแรม ๑๔ ค่ำ เดือน ๕ ปีขาล เจริญสุข สวัสดีมีชัย ในการปฏิบัติธรรมให้เจริญยิ่งๆ ขึ้น พระอรหันต์ทุกประเภทบรรลุทั้งเจโตวิมุตติ ทั้งปัญญาวิมุตติ เป็นคำกล่าวของหลวงปู่มั่น จากมุตโตทัย ดังนี้ "อนาสวํ เจโตวิมุตฺตึ ปญฺญาวิมุตฺตึ ทิฏเฐว ธมฺเม สยํ อภิญฺญา สจฺฉิกตวา อุปฺปสมฺปชฺช วิหรติ แปลว่า พระอรหันต์ทั้งหลายไม่ว่าประเภทใด ย่อมบรรลุทั้งเจโตวิมุตติ ทั้งปัญญาวิมุตติ ที่ปราศจากอาสวะในปัจจุบัน" การจะเข้าถึงโคตรภูได้นั้น ต้องปฏิบัติจนเข้าถึงจิตตัวในเท่านั้น มีพระบาลีธรรมบท ดังนี้ "อชฺฌตฺตํ สมยํ จิตฺตํ สนฺติ เมวา ธิคจฺฉติ เมื่อปฏิบัติจนเข้าถึงจิตตัวในแล้ว ย่อมเข้าสู่ความสงบ" ซึ่งมีสภาวะธรรมตรงกันข้ามกับจิตที่ไม่สงบ วุ่นวาย กระสับกระส่าย ร้อนรุ่ม เพราะถูกอารมณ์ครอบงำปรุงแต่งอยู่ การจะเข้าถึงโคตรภูญาณได้นั้น ต้องอาศัยศีล สมาธิ ปัญญา (มรรค ๘) เท่านั้น 🌷 ศีล ธรรมอันงามในเบื้องต้น พูดถึงศีลแล้ว โดยเฉพาะ "ศีล ๕" ใครว่าไม่สำคัญ อิมานิ ปัญจะ สิกขาปะทานิ เหล่านี้คือสิกขาบทห้าประการ สีเลนะ สุคะติง ยันติ บุคคลย่อมไปสู่สุคติก็เพราะศีล สีเลนะ โภคะสัมปะทา ย่อมถึงพร้อมด้วยโภคะสมบัติก็เพราะศีล สีเลนะ นิพพุติง ยันติ ย่อมไปสู่นิพพานก็เพราะศีล ตัสมา สีลัง วิโสธะเย เพราะฉะนั้นพึงชำระศีลให้หมดจด จากพระบาลีพร้อมคำแปล เราจะเห็นว่าศีล ๕ นั้นไม่ใช่เรื่องธรรมดาเลย โดยเฉพาะนักบวชหรือนักปฏิบัติธรรมกรรมฐานทั้งหลาย เมื่อพูดถึงศีล ๕ สำหรับชาวบ้านเราท่านทั่วไปนั้น เป็นเพียงแค่ข้อห้าม เพราะกำลังจิตกำลังใจยังอ่อนแอ ห้ามได้บ้างไม่ได้บ้าง สืบเนื่องจากยังคลุกเคล้าตีโมงอยู่กับสังคมรอบตัว ส่วนนักบวชหรือนักปฏิบัติธรรมภาวนานั้น เป็นงานสำคัญที่ต้องวิรัติคือต้องงดเว้นให้ได้ แต่ปัจจุบันกลับถูกมองข้ามความสำคัญของศีลไปอย่างน่าเสียดายอย่างมาก เมื่อกล่าวถึง "ศีล สมาธิ ปัญญา" นักปฏิบัติธรรมภาวนาคนรุ่นใหม่ กลับไปให้ความสำคัญกับข้อสุดท้าย โดยกระโดดข้ามไปที่ปัญญาเลยทีเดียว ทั้งชอบอวดกันว่า ได้ปฏิบัติธรรมกรรมฐานวิปัสสนามาแล้ว ศีลและสมาธิจะเกิดมีขึ้นได้เองโดยอัตโนมัติ ซึ่งไม่น่าจะเป็นไปได้ ถ้าลองได้ขาดพื้นฐานหรือรากฐานอันเป็นรากแก้ว คือ ศีล ๕ เสียแล้ว ก็อย่าได้หวังว่าจะเกิดวิปัสสนาปัญญาเลย เพราะขาดสำนึกที่ถูกต้องว่าจะทำอย่างไรตนเองจึงจะมีพลังในการวิรัติข้อห้ามเหล่านี้ให้ได้ การปฏิบัติจนวิรัติแค่ศีล ๕ ได้นั้น มีความหมายที่ยิ่งใหญ่ในทางพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก เพราะพระอริยเจ้าในชั้นต้นนั้น ต้องมีศีล ๕ ที่บริสุทธิ์ ไม่ด่าง ไม่พร้อย ไม่ทะลุ เท่านั้น ไม่มีวันที่จะละเมิดศีล ๕ เลย เพราะเป็นก้าวแรกที่สำคัญ ในการก้าวข้ามโคตร (โคตรภู) แบบไม่มีการย้อนคืนกลับมาเป็นปุถุชนอีกแล้ว แต่นักปฏิบัติธรรมกรรมฐานคนรุ่นใหม่ มักมองข้ามความสำคัญข้อนี้ไปอย่างน่าเสียดายจริงๆ เมื่อมารู้จักศีลดีแล้ว แต่กลับมองข้ามส่วนสำคัญคือสมาธิ ไปเอาปัญญาวิปัสสนาเลย เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก สำหรับบุคคลที่ไม่มีพื้นฐานในการฝึกฝนอบรมจิตของตนให้มีสติ สงบตั้งมั่นแน่วแน่เป็นสมาธิ ต่อเมื่อได้ลงมือฝึกฝนอบรมจิตของตนให้มีสติ สงบตั้งมั่นแน่วแน่เป็นสมาธิดีแล้ว ย่อมไม่หวั่นไหวไปกับอารมณ์ความรู้สึกนึกคิด แบบมีสติคอยระลึกรู้อยู่เสมอว่า นี่ใช่ นั่นไม่ใช่ นั่นแหละ ปัญญาวิปัสสนาก็ย่อมปรากฎขึ้นโดยอัตโนมัติ เราต้องเริ่มต้นที่ฝึกฝนอบรมจิตของตนด้วยภาวนานุโยคก่อน แต่ยังมีนักบวช หรือนักปฏิบัติธรรมกรรมฐาน ในบางหมู่บางเหล่า มีศีล ๕ ที่วิบัติย่อยยับคาตาโดยมีผู้ประสบพบรู้เห็น เพราะมัวแต่ไปรักษาแต่ศีล ๒๒๗ อยู่ จนลืมรักษาศีล ๕ ของตน ไม่มีความละอายต่อบาป (อาหิริกัง)ร่วมกลับไม่มีความกลัวเกรงต่อบาป (อโนตตัปปัง) กลับใช้วิธีการสร้างภาพ โดยอาศัยบุคลิกลักษณะของตนที่น่าเชื่อถือ มีวาจาไพเราะ นุ่มนวล ชวนให้รัก ชักให้หลงใหล ให้เชื่อว่าตนเองมีภูมิรู้ภูมิธรรมขั้นอริยะแต่งตั้งกันขึ้นมาเอง ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริง หามีคุณธรรมเหล่านั้นในตนเองไม่ เพราะขาดความซื่อสัตย์ต่อตนเอง อันเป็นพื้นฐานสำคัญ ในการรักษาศีล ๕ อันงามในเบื้องต้นให้บริสุทธิ์ บริบูรณ์ได้เลย และไม่มีภูมิรู้ ภูมิธรรม หรือหลักธรรมแท้ที่ถูกต้องเที่ยงตรงต่อพระนิพพาน อันจะมีมาในเบื้องหน้า มาแนะนำสั่งสอนสาธุชนได้จริง นักปฏิบัติธรรมกรรมฐานคนรุ่นใหม่ มักมองข้ามความสำคัญข้อนี้ไปอย่างน่าเสียดายจริงๆ คนเราถ้าลองขาดความซื่อสัตย์ต่อตนเอง อันมีความสำคัญเป็นเบื้องต้นเสียแล้ว ก็อย่าหวังมีความก้าวหน้าในภูมิรู้ ภูมิธรรม จากการปฏิบัติสมาธิกรรมฐานภาวนาได้เลย เพราะเป็นไปไม่ได้ เนื่องจากศีล ๕นั้น เมื่อเทียบกับอาบัติปาราชิกที่เป็นอาบัติหนักแล้ว มีเข้าไปตั้งไม่รู้กี่ข้อที่เกี่ยวข้องกับอาบัติปาราชิกอันทำให้ขาดจากความดีแบบถาวร 🌷 สมาธิ ธรรมอันงามในท่ามกลาง เมื่อกล่าวถึงสมาธิที่งามในท่ามกลางแล้ว บุคคลทั่วไปมักเข้าใจไปว่า คือการนั่งคู้บรรลังก์โดยใช้อารมณ์อะไรก็ได้มาเป็นเครื่องล่อ (อามีสสัญญา) ทำให้จิตของตนสงบตั้งมั่นลงเป็นใช้ได้ หรือที่เรียกว่า สมถะภาวนา นั้น คือ ความสงบตั้งมั่นแห่งจิตของตน เมื่อกล่าวถึงความสงบของจิต ย่อมมีปรากฏให้เห็นได้ในบุคคลทั่วๆ ไป เพียงมีความรู้สึกว่าตนเองสบายกาย สบายใจ หรือสักๆ แต่ว่ารู้เรื่องราวในขณะนั้น เราก็จัดได้ว่าจิตมีความสงบสบายในระดับที่รับได้ แต่ยังไม่สามารถจัดเป็นสมาธิหรือสมถะภาวนาได้ เนื่องจากจิตของตนยังไม่ตั้งมั่นลงในความสงบนั้น ถึงแม้นว่าจะสามารถประคองจิตของตนจนจิตสงบตั้งมั่นได้แล้วก็ตาม แต่ก็ยังมีความหวั่นไหวไปกับอารมณ์ที่ทำให้เกิดความสงบตั้งมั่นนั้นอยู่ สืบเนื่องจากอามีสสัญญา (อารมณ์เครื่องล่อ) เกรงว่าอารมณ์ที่ทำให้จิตตั้งมั่นอยู่นั้นจะจืดจางลงไปได้ เช่น อารมณ์ที่ใช้ในรูปฌานและอรูปฌาน ล้วนเป็นอารมณ์ภายนอกกายทั้งสิ้น เป็นของพราหมณ์ ฤาษี ชีไพร ในสมัยก่อนพุทธกาล ถึงแม้ในสมัยนี้ก็ยังมีการนำกลับมาใช้สั่งสอน (อ้างว่าเป็นของพุทธ) กันอยู่ทั่วไป เราจัดการปฏิบัติแบบนี้ไว้ว่าเป็นพวกสมถะกรรมฐานล้วนๆ คือมีจิตสงบตั้งมั่นเพียงอย่างเดียวด้วยอารมณ์เป็นหนึ่ง แต่ก็ยังมีหวั่นไหวไปกับอารมณ์สุขที่ได้รับจากสมถะเป็นอย่างมาก จากการที่ยังยึดติดอย่างเหนียวแน่นอยู่กับอารมณ์ฌานอันละเอียดนั้น เพราะปล่อยวางอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดไม่เป็น แต่ปัจจุบันนี้มีการนำมาปนเปกันจนวุ่นว่ายไปหมด จนกลายเป็นว่าไม่รู้เลยว่าอันไหนพุทธ อันไหนพราหมณ์ โดยเฉพาะเรื่องสมาธิ เมื่อเห็นใครนั่งหลับตาปฏิบัติธรรมกรรมฐานสมาธิภาวนา จะถูกมองว่าเป็นพวกสมถะกรรมฐานภาวนาทันที เป็นสมาธิหัวตอ ไม่ทำให้เกิดปัญญา ต้องลืมตาปฏิบัติธรรมกรรมฐานสิ ถึงจะใช่ ที่เรียกว่าวิปัสสนากรรมฐาน จึงจะเกิดปัญญา แต่แท้ที่จริงแล้ว เป็นเพียงสัญญาอารมณ์ นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์จริงๆ ไม่ได้ มีพระพุทธพจน์รองรับไว้ดังนี้ สัมมาสมาธิในอริยมรรคมีองค์ ๘ เป็นทั้งสมถะและวิปัสสนา "เมื่อบุคคลรู้เห็นตามความเป็นจริง (วิปัสสนา) ในอายตนะภายในและภายนอก โดยอาศัยวิญญาณ อาศัยผัสสะ และเวทนา อุปาทานขันธ์ ๕ ก็จะไม่เจริญ ไม่พอกพูน ความกระวนกระวายร้อนรุ่มทางกายทางใจก็ไม่มี เขาย่อมเสวยแต่สุขทางกายและทางใจ เมื่อบุคคลผู้เป็นเช่นนี้แล้ว เขามีความเห็นอันใด ความเห็นอันนั้นย่อมเป็นสัมมาทิฏฐิ มีความดำริอันใด ความดำริอันนั้นย่อมเป็นสัมมาสังกัปปะ มีความเพียรอันใด ความเพียรอันนั้นย่อมเป็นสัมมาวายามะ มีความระลึกอันใด ความระลึกอันนั้นย่อมเป็นสัมมาสติ มีความตั้งมั่นของจิตอันใด ความตั้งมั่นของจิตอันนั้นย่อมเป็นสัมมาสมาธิ ส่วนกายกรรม วจีกรรม และอาชีวะของเขา ย่อมหมดจดดีเป็นเบื้องต้นอยู่แล้ว อย่างนี้แหละเขาได้ชื่อว่าเจริญบริบูรณ์ด้วยมรรคมีองค์ ๘ อันประเสริฐ (อริยะอัฏฐัง คิกกะมัค)" และตรัสอีกว่า "ธรรมที่ควรกำหนดรู้ด้วยปัญญาอันยิ่ง คือ อุปาทานขันธ์ ๕ ธรรมที่ควรละด้วยปัญญาอันยิ่ง คือ อวิชชาและภวตัณหา ธรรมที่ควรเจริญด้วยปัญญาอันยิ่ง คือ สัมมาสมาธิ (สมถะและวิปัสสนา) ธรรมที่ควรทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่ง คือ วิชชาและวิมุตติ" ขณะที่จิตมีความรู้สึกสงบสบายอยู่นั้น จิตก็ยังหวั่นไหวเปลี่ยนแปลงไปตามอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดที่เข้ามากระทบได้อย่างรวดเร็วเช่นกัน ไม่สามารถถอดถอนจิตของตนออกจากอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดนั้นได้อย่างรวดเร็ว และไม่สามารถดึงและประคองจิตให้กลับเข้ามาสู่ความสงบดังเดิมได้ ส่วนบุคคลที่มีจิตเป็นสมาธิมีสติสงบตั้งมั่นแน่วแน่ได้นั้น ย่อมเป็นบุคคลที่ควรเคารพนับถือเป็นอย่างยิ่ง และเป็นที่น่าเชื่อถือของบุคคลทั่วๆ ไป เนื่องจากเป็นบุคคลที่จิตมีกำลังสติตั้งมั่นในระดับหนึ่ง ที่สามารถจะวิรัติ ข้อห้ามคือศีล อันเป็นธรรมที่งามในเบื้องต้น อันเป็นปรกติของมนุษย์ได้ ศีลของท่านไม่เป็นเพียงแค่ข้อห้ามเหมือนคนทั่วไป เพราะท่านวิรัติ งดเว้นได้แล้ว "สมาธิ" จึงถูกจัดให้เป็นธรรมอันมีความงามในท่ามกลาง มีพระพุทธพจน์รับรองไว้ว่า "สีละ ปะริภาวิโต สมาธิ มะหัปผะโล โหติ มะหานิสังโส สมาธิ ปะริภาวิตา ปัญญา มะหัปผะลา โหติ มะหานิสังสา ปัญญา ปะริภาวิตัง จิตตัง สัมมะเทวะ อาสะเวหิ วิมุจจะติ แปลว่า สมาธิที่มีศีลอบรมดีแล้ว ย่อมมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่ ปัญญาที่สมาธิอบรมดีแล้ว ย่อมมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่ จิตที่มีปัญญาอบรมดีแล้ว ย่อมหลุดพ้นจากเครื่องเศร้าหมองเสียได้ ดังนี้" เพราะเมื่อจิตของตนเป็นสมาธิสงบตั้งมั่นไม่หวั่นไหว มีกำลังสติสามารถวิรัติข้อห้าม ยังศีลให้ บริสุทธิ์ได้ ย่อมสามารถยับยั้งจิตของตน ไม่ให้จิตเข้าไปเกาะเกี่ยวอยู่กับอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดต่างๆ ที่เปรียบเสมือนแขกจรเข้ามาได้ "สมาธิ" เป็นองค์ธรรมที่เชื่อมต่อร้อยรัดให้ ศีล สติ กับปัญญา เข้าด้วยกันเป็นเนื้อเดียวกัน โดยเฉพาะในหมวดสมาธิ (สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ) แห่งองค์อริยมรรค ๘ ซึ่งเป็นทางนำไปสู่อมตะ ความสิ้นไปแห่งราคะ โทสะ โมหะนั้น เราเรียกว่าอมตะ โดยมี "สัมมาสมาธิ" ของพระอริยะอันมีองค์ธรรมที่แวดล้อมไปด้วยมรรคอีก ๗ องค์ พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสดังนี้ว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมาสมาธิของพระอริยะ อันมีเหตุ มีองค์ประกอบแล้วด้วยองค์ ๗ เหล่านี้แล เรียกว่า สัมมาสมาธิของพระอริยะ อันมีเหตุบ้าง มีองค์ประกอบบ้าง ฯ ดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรดาองค์ทั้ง ๗ นั้น สัมมาทิฏฐิ (ปัญญา) ย่อมเป็นประธาน" ส่วนสัมมาทิฏฐิที่เป็นประธานอยู่นั้น จะเป็นสัมมาทิฏฐิของพระอริยะได้นั้นต้องมีองค์ประกอบดังนี้ สัมมาทิฏฐิ สัมมาวายามะ สัมมาสติ จึงจะได้ชื่อว่าสัมมาทิฏฐิของพระอริยเจ้า และองค์แห่งสัมมาสมาธิของพระอริยะก็เช่นกัน (มหาจัตตารีสกสูตร) "สัมมาสมาธิ" นั่นแหละจึงเป็นหัวใจสำคัญของพระพุทธศาสนา เมื่อผู้ปฏิบัติธรรมมีความเพียรเพ่งภาวนา (ภาวนามยปัญญา) ไปจนกระทั่งจิตของตนมีสติสงบตั้งมั่นไม่หวั่นไหวแน่วแน่ได้แล้ว ย่อมเกิดปัญญารู้เห็นตามความเป็นจริง ที่สามารถตริตรองตามได้ กับสิ่งที่รู้ที่เห็นที่เกิดขึ้นตามมาเป็นลำดับ รู้ว่าสิ่งไหนเป็น "สัมมา" สิ่งไหนเป็น "มิจฉา" จึงขอนำพระพุทธพจน์ที่ทรงกล่าวรับรองไว้มากำกับ เพื่อให้ผูัศึกษาธรรมเกิดความเข้าใจในหลักธรรมที่ถูกต้องมากยิ่งขึ้น "สมาธึ ภิกฺขเว ภาเวถ สมาหิโต ยถาภูตํ ปชานาติ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงยังสมาธิให้เกิดขึ้นเถิด ผู้ที่มีจิตตั้งมั่นดีแล้ว ย่อมรู้เห็นตามความเป็นจริง ดังนี้" จากพระบาลีในสมาธิสูตรได้ขยายความคำว่า รู้เห็นตามความเป็นจริง คือ การรู้เห็นอริยสัจ ๔ ตามความเป็นจริง - ทุกข์ ควรกำหนดรู้ - สมุทัย ควรละเหตุแห่งทุกข์ที่กำหนดรู้นั้น - นิโรธ ความดับทุกข์ - มรรค ทางปฏิบัติเพื่อไปสู่หนทางแห่งการดับทุกข์ สภาวะธรรมของสัมมาสมาธิฌานฌานที่ ๔ ในอริยมรรค ๘ นั้น จิตของตนมีสติสงบตั่งมั่นไม่หวั่นไหวแน่วแน่ได้ด้วยลำพังตนเอง ไม่ต้องอิงอาศัยองค์ภาวนาหรืออารมณ์ใดๆ ที่เรียกว่าอามีสสัญญาอีกแล้ว ซึ่งเป็นจิตที่อ่อน ควรแก่การงาน (กมฺมนิโย) ทางจิต พร้อมที่จะลด ละ เลิก และโน้มน้อมนำไปสู่สัมมาญาณะ สัมมาวิมุตติ (วิปัสสนา) เป็นเบื้องหน้า มีเรื่องแปลกแต่จริงที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน กลับมีการสอนให้เชื่อโดยขาดเหตุผลในการตริตรองตามเพื่อให้เกิดความรอบคอบ สืบเนื่องจากมีการสอนให้ปฏิบัติโดยเดินเข้าไปสู่ปรมัตถธรรมเอา วิปัสสนา (รู้เห็นตามความเป็นจริง) โดยตรงกันไปเลยทีเดียว มองข้ามศีลอันงามในเบื้อง และสมาธิอันงามในท่ามกลางไปเลย ไม่ต้องไปใส่ใจและเสียเวลากับการสร้างฐานที่ตั้งแห่งการงานทางจิตที่เรียกว่ากรรมฐาน คือเพียรเพ่งภาวนามยปัญญา ทำสมาธิ หรือที่เรียกว่าสมถะ ให้หลังขดหลังแข็ง หรือเพียรเดินจงกรมจนส้นเท้าแตก โดยสอนแค่ให้มารู้จักวิปัสสนาตามตำราที่เคยศึกษาเล่าเรียนมาก็พอ คือให้สักๆ แต่รู้สึกว่า แล้วนำเอาสิ่งที่ถูกสักๆ แต่รู้สึกว่านั้น มาพิจารณาจนจดจำเป็นความรู้ที่รู้มานั้นได้ตกผลึกเป็นปัญญา (ถิรสัญญา) เดี๋ยวจิตก็จะสงบตั้งมั่นเป็นสมาธิได้เองโดยอัตโนมัติ เป็นความเข้าใจผิดไปเองแบบง่ายๆ ว่าสมาธิเกิดขึ้นได้เอง เป็นความเข้าใจแบบผิดฝาผิดตัวที่ไม่อาจนำไปสู่การรู้เห็นตามความเป็นจริง เป็นปัญญาที่แท้จริงได้เลย การสอนแบบนี้ย่อมขัดแย้งกับพระพุทธพจน์ที่ทรงตรัสไว้ดีแล้ว อย่างไม่น่าให้อภัยเลยจริงๆ เป็นการทำให้พระสัทธรรมปฏิรูปไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ดังในสัทธัมมัปปฏิรูปกสูตร ที่พระพุทธองค์ตรัสไว้อย่างชัดเจนว่า ข้อที่ ๕ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ในธรรมวินัยนี้ ไม่เคารพยำเกรงในสมาธิ องค์ธรรมในฌานที่ ๔ ของสัมมาสมาธิ ในสติปัฏฐาน ๔ รับรองไว้ชัดเจนดังนี้ สมาธิฌานที่ ๔ : เธอบรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุข ละทุกข์ และ ดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้มีสติบริสุทธิ์อยู่ สภาวะจิตของตนในฌานที่ ๔ นี้ จิตย่อมมีสติสงบตั้งมั่นไม่หวั่นไหว บุคคลที่จิตมีสภาวะธรรมเช่นนี้ ย่อมมีปัญญารู้เห็นเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับตนตามความเป็นจริง ส่วนบุคลที่ยังมีจิตอันอารมณ์เจือติดอยู่เป็นนิจนั้น ย่อมสับสนวุ่นวายไปกับอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดต่างๆ เฉกเช่นมีอุปกิเลสเป็นแขกจรเข้ามา จนเอาอะไรแน่นอนไม่ได้ เมื่อสุดขอบของอารมณ์จึงจะสงบลงได้สักที พอเผลอไผลอีกก็วนลูปกลับไปเป็นเช่นเดิม เป็นวัฏฏะวนจนไม่มีที่สิ้นสุด ถ้าสมาธิไม่มีความสำคัญอย่างยิ่งในพระพุทธศาสนาเสียแล้ว ในอริยมรรคมีองค์ ๘ คงไม่จำเป็นต้องมีการระบุลงไปอย่างชัดเจน พร้อมทั้งยังมีอีกหลายๆ พระสูตร ที่พระพุทธองค์ทรงตรัสสั่งสอนรับรองและเน้นย้ำถึงความสำคัญของสมาธิโดยตรง โดยเฉพาะสัมมาสมาธิที่มีองค์ประกอบมีปัจจัยแวดล้อมไปด้วยมรรคอีก ๗ องค์ อันมีศีลและปัญญารวมประกอบอยู่ด้วย แต่ไม่เคยได้ยินได้ฟังมาก่อนว่ามีการกล่าวถึงสัมมาวิปัสสนาเลยสักครั้งเดียว 🌷 ปัญญา ธรรมอันงามในที่สุด สมาธิในพระพุทธศาสนา หรือที่เรียกว่า สัมมาสมาธิ เป็นสิกขา ๑ ในสิกขา ๓ อันมี ศีลสิกขา สมาธิสิกขา ปัญญาสิกขา เป็นทางเดินของจิตที่จะนำไปสู่ความเป็นพระอริยเจ้า เป็นหัวใจสำคัญในการเข้าถึงแก่นแท้ (จิต) ของพระพุทธศาสนา มีประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับผู้ที่ลงมือปฏิบัติแบบจริงจัง เป็นสมาธิที่สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรมทั้งหลาย อันเกิดแต่วิเวก ทำให้จิตมีพลังในการสลัดปล่อยวางอารมณ์ และความยึดถือในความรู้สึกนึกคิดทั้งหลาย (อาการของจิต) ออกไปได้ ในขณะที่มีอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดเข้ามากระทบจิต ผู้ใดสามารถฝึกฝนอบรมจิต ปฏิบัติธรรมสัมมาสมาธิจนชำนาญคล่องแคล่วดีแล้ว อารมณ์ทั้งหลาย ไม่ว่าที่ดีหรือที่ชั่ว สุขหรือทุกข์ ย่อมไม่สามารถครอบงำจิต ไม่สามารถปรุงแต่งจิตของบุคคลผู้นั้น ให้กระสับกระส่าย สับสนวุ่นวาย ร้อนรุ่ม หรือฟุ้งซ่านซัดส่ายไปตามอารมณ์ได้อีกต่อไป เพราะจิตของตนฉลาดรู้ว่า ที่นี่สงบหนอ (เอตํ สนฺตํ) ที่นี่ประณีตหนอ (เอตํ ปณีตํ) ที่นั่นวุ่นวายหนอ ที่นั่นขัดข้องหนอ จึงเป็นปัญญาที่รู้เห็นตามความเป็นจริงหรือรู้เห็นอริยสัจ ๔ สัมมาสมาธิ ฌานที่ ๔ นั้น มีคุณลักษณะดังนี้ คือ "ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุข ละทุกข์ และดับโสมนัสโทมนัสแต่เก่าก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่" เป็นสภาวะธรรมที่เรียกว่า รู้สักแต่ว่ารู้ จิตมีพลังปล่อยวางสลัดอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดออกไปเป็นขั้น เป็นตอน เป็นเหตุให้จิตหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้ เป็นตทังควิมุตติ (หลุดพ้นชั่วคราว) เข้าสู่ความสงบตั้งมั่นไม่หวั่นไหว เยือกเย็น ในพระพุทธศาสนาได้โดยแท้จริง ดังมีพระพุทธพจน์กล่าวไว้ใน "สมาธิสูตร" ดังนี้ "สมาธึ ภิกฺขเว ภาเวถ สมาหิโต ภิกขเว ยถาภูตํ ปชานาติ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงยังสมาธิให้เกิดขึ้นเถิด ผู้ที่มีจิตตั้งมั่นดีแล้ว ย่อมรู้เห็นตามความเป็นจริง ดังนี้" เมื่อพิจารณาจากพระพุทธพจน์อย่างรอบคอบ จะเห็นได้ว่า บุคคลที่มีจิตสงบตั้งมั่นดีแล้ว ย่อมรู้เห็นตามความเป็นจริง คำว่า "รู้เห็นตามความเป็นจริง" นั้นคือ วิปัสสนา (ปัญญา) เป็นการรู้เห็นอย่างวิเศษ การรู้เห็นอย่างไรจึงชื่อว่า "รู้เห็นอย่างวิเศษ" ก็คือ รู้เห็นอริยสัจ ๔ ตามความเป็นจริงว่า - อารมณ์ทั้งปวง ไม่ว่าดี ชั่ว สุข ทุกข์ หยาบ ละเอียด (รูปฌาน อรูปฌาน) ล้วนเป็นทุกข์ - เมื่อรู้แล้วว่า อารมณ์ทั้งหลายที่จิตเข้าไปยึดมั่นถือมั่นล้วนเป็นทุกข์ ควรละความทะยานอยาก สมุทัย เหตุแห่งทุกข์เหล่านั้นเสีย - เพื่อเข้าถึงนิโรธ ความดับทุกข์ทั้งปวงได้ - ด้วยมรรค ทางดำเนินไปเพื่อความดับทุกข์ คือปล่อยวางอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดทั้งหลายออกไป มีพระบาลีธรรมบทกล่าวไว้ว่า "เอตํ สนฺตํ เอตํ ปณีตํ ยทิทํ สพฺพสงฺขารสมโถ สพฺพูปธิปฏินิสฺสคฺโค ตณฺหกฺขโย วิราโค นิโรโธ นิพฺพานํ ที่นี่สงบหนอ (แม้กระทั่งลมหายใจ) ที่นี่ประณีตหนอ ณ ที่นี้ สิ่งปรุงแต่งทั้งปวงดับเงียบ คืนความยึดติดทั้งปวงออกไป สิ้นตัณหา สิ้นความยินดี กิเลสดับ เป็นนิพพาน (สิ้นทุกข์)" หากพวกเราสามารถสร้างสติ ประคองจิตไว้ที่ฐานที่ตั้งของสติ (สติปัฎฐาน) ได้อย่างต่อเนื่องเนืองๆ แล้ว จิตของตนย่อมสงบตั้งมั่นเป็นสมาธิ เมื่อประคองจิตที่มีสติให้สงบตั้งมั่นเป็นสมาธิได้อย่างต่อเนื่อง จิตย่อมไม่หวั่นไหว รู้เห็นตามความเป็นจริง เกิดวิปัสสนา (ปัญญา) เพราะจิตของตนมีปัญญารู้เห็นตามความเป็นจริงว่า ที่นี่สงบหน่อ ไม่วุ่นวายหนอ และรู้ดีว่าการที่จิตทะยานอยากออกไปสู่อารมณ์ความรู้สึกนึกคิดทั้งหลาย ล้วนเป็นทุกข์ รู้ว่าที่นั่นวุ่นวายหนอ ที่นั่นขัดข้องหนอ เมื่อทุกข์ดับ ตัณหาดับ สังขารดับ เกิดวิราคธรรม ในการปฏิบัติธรรมสมาธิกรรมฐานเพียรประคองจิตของตนอยู่นั้น บางครั้งบางขณะที่จิตมีสติ (ระลึกรู้อยู่) จิตอาจจะเกิดเผลอไผลส่งออกไปในอารมณ์ที่น่ายินดีน่ารักใคร่ หรืออารมณ์ที่ไม่น่ายินดีไม่น่ารักใคร่ จะมาจากภายนอกก็ดี หรือเกิดขึ้นจากสัญญาอารมณ์ความรู้สึกนึกคิด ณ ภายในจิตเองก็ดี หากระลึกนึกขึ้นมาได้ และสามารถดึงจิตให้ออกจากอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดในขณะนั้น และยกจิตของตนที่ส่งออกไปจากฐานที่ตั้ง ให้กลับมาวางที่ฐานแห่งความสงบ (สติ) ดังเดิมได้ นี้จึงเรียกว่าเป็นวิปัสสนา (มีปัญญา) ที่สามารถแยกจิตออกจากอารมณ์ (วิราคธรรม) ฐาน คือ ที่ตั้งของสติ ที่ระลึกรู้อยู่ในขณะนั้นๆ (สติปัฏฐาน) อันมีลมหายใจ หรือองค์ภาวนาต่างๆ เป็นอุบาย (กายสังขาร) เพื่อให้จิตของตนได้ฝึกฝนเกาะเกี่ยวจนเป็นสมาธิ การยกจิตของตนให้กลับมาสู่ฐานที่ตั้งของสติที่ได้เคยอุปโลกน์ไว้นั้น ย่อมได้ชื่อว่า เกิด "ปัญญา" สามารถสลัดปล่อยวางอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดในขณะที่จิตยึดถืออยู่นั้นออกไปได้ กลับมาสู่ฐานของสติอีกครั้ง แม้จะเป็นเพียงปัญญาเล็กๆ น้อยๆ ในขณะที่ฝึกอบรมใหม่ๆ แต่เมื่อฝึกฝนอบรมจิตของตนให้กระทำบ่อยๆ กระทำให้มาก เจริญให้มาก ปัญญาที่เกิดขึ้นย่อมแหลมคมยิ่งๆ ขึ้นไปเอง ขณะที่เราสามารถยกจิตกลับมาตั้งไว้ที่ฐานสติได้อย่างแม่นยำต่อเนื่องเนืองๆ จนกระทั่งจิตเข้าสู่ความสงบตั้งมั่นเป็น "สมาธิ" จิตของตนย่อมรู้เห็นอย่างวิเศษ (วิปัสสนา - ปัญญา) ว่าขณะนี้จิตของตนเป็นสุขที่เกิดขึ้นจากความสงบตั้งมั่นไม่หวั่นไหวอยู่นั้น ต่างจากเมื่อครู่ที่จิตของตนได้ซัดส่ายวุ่นว่ายส่งออกไปยึดอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดที่เป็นแขกจรเข้ามา ย่อมรู้ชัดถึงความแตกต่างระหว่างจิตที่มีความสงบตั้งมั่น กับจิตที่ซัดส่าย สับสน วุ่นวาย ได้ตามความเป็นจริง เมื่อกระทำให้มาก กระทำบ่อยๆ เจริญให้เกิดขึ้น จนคล่องแคล่วชำนาญดีแล้ว ก็นำผลที่ได้จากการปฏิบัติมาใช้ในการดำรงชีวิต เพื่อให้รู้เห็นตามความเป็นจริง (วิปัสสนา - ปัญญา) ขณะที่อยู่ในชีวิตประจำวัน เมื่อกระทบอารมณ์ทางอายตนะ ๖ มีอาการของจิตเกิดขึ้น กระเพื่อมไปตามอารมณ์ความรู้สึกนึกคิด ยินดีบ้าง ยินร้ายบ้าง รัก ชอบ ชัง จิตย่อมระลึกรู้เห็นตามความเป็นจริง (วิปัสสนา - ปัญญา) ว่าขณะนี้จิตสับสน ซัดส่าย วุ่นวายไปตามอารมณ์เหล่านั้น (สุข ทุกข์) ให้รีบนำจิตกลับมาสู่ความสงบตั้งมั่นให้ได้อย่างรวดเร็ว ด้วยกำลังสติขณะแห่งจิตที่เป็นสมาธินั้น (ขณิกสมาธิ) โดยนำจิตของตนมาวางไว้ที่ฐานแห่งความสงบ มีสติตั้งมั่น ที่จิตของตน อันได้เคยฝึกฝนอบรมมาดีแล้ว ใครที่ยังคิดว่า สมถะ (สมาธิ) และวิปัสสนา (ปัญญา) ต้องแยกกันปฏิบัตินั้น เป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริง เมื่อจิตรู้จักความสุขที่เกิดแต่ความสงบตั้งมั่นไม่หวั่นไหวอย่างแท้จริงแล้ว ย่อมต้องรู้ชัดถึงสภาวะจิตที่กระเพื่อมซัดส่าย ส่งออก สับสนวุ่นวาย ว่าต่างกันอย่างไร จึงเป็นวิปัสสนา - ปัญญาที่เกิดจากการที่จิตรู้จักฐานที่ตั้งสติสงบตั้งมั่นไม่หวั่นไหวเป็นอย่างดี เมื่อมีอารมณ์มากระทบทางอายตนะทางใดทางหนึ่ง จิตที่อบรมดีแล้วย่อมรู้จักคุณและโทษ ความเกิดและความดับของอายตนะนั้น สามารถสลัดปล่อยวางอารมณ์ออกไปได้ในทันทีทันใด นี่จึงเป็นปัญญาที่แท้จริงในพระพุทธศาสนา ไม่ใช่ปัญญาที่เข้าใจกันผิดๆ ไปจากความเป็นจริง อันเกิดจากการนึกคิดที่คิดแล้วคิดเล่า เฝ้าแต่คิด จนความนึกคิดเหล่านั้นตกผลึก อันนั้นเราเรียกว่า "สัญญาอารมณ์" ส่วน "วิปัสสนา - ปัญญา" ที่จิตของตนสามารถสลัดปล่อยวางอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดออกไปได้อย่างรวดเร็ว อันเกิดจากการรู้เห็นตามความเป็นจริงของจิตที่มีกำลังสติเป็นสมาธิสงบตั้งมั่นดีแล้ว เมื่อกระทำให้มาก เจริญให้มาก กระทำบ่อยๆ จนชำนาญคล่องแคล่วในการปล่อยวาง ย่อมละสังโยชน์ได้ "สัญญาอารมณ์" ที่เกิดจากความรู้สึกนึกคิดบ่อยๆ จนจำได้อย่างแม่นยำเป็นถิรสัญญา ผลที่ได้คือ "สักๆ แต่ว่ารู้" เป็นการเปลี่ยนผ่านอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดอย่างรวดเร็ว ทำเป็นว่าไม่ได้สนใจในอารมณ์เหล่านั้น ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริง จิตได้รับและยึดอารมณ์เหล่านั้นไปแล้ว เพียงแต่ไม่ได้แสดงออกมาทางสีหน้าให้เห็นถึงอาการของจิตที่กระเพื่อมอยู่ ณ ภายในจิตของตน พูดหรือแสดงออกให้ดูดีด้วยวาจาเพราะๆ ด้วยคำว่า "สักแต่ว่า" เมื่อกล่าวถึง "ปัญญา" แล้ว มีพระพุทธพจน์ พระธรรมบท มรรควรรค)ตรัสรองรับไว้อย่างชัดเจนโดยไม่ต้องตีความใดๆ เลย ดังนี้ว่า "โยคาเว ชายเต ภูริ อโยคา ภูริ สงฺขโย เอตํ เทฺวตปถํ ญตฺวา ภวาย วิภาวย จตถตฺตานํ นิเวเสยฺย ยถา ภูริ ปวฑฺฒติ ปัญญาเกิดขึ้น เพราะความประกอบ เมื่อไม่ประกอบ ปัญญาก็หมดสิ้นไป บุคคลรู้ทางแห่งความเจริญ และความเสื่อม ทั้ง ๒ ทางนี้ แล้ว พึงตั้งตนไว้ในทางที่ปัญญาจะเจริญ" ยังมีพระสูตร (นาวาสูตร) ที่ทรงตรัสรองรับและเชื่อมโยงกัน ไว้ว่า "ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุไม่หมั่นประกอบภาวนานุโยคอยู่ จะพึงเกิดความปรารถนาอย่างนี้ว่า ไฉนหนอ ขอจิตของเราพึงพ้นจากอาสวะ เพราะไม่ถือมั่น ดังนี้ ก็จริงอยู่ ถึงอย่างนั้น จิตของเธอย่อมไม่พ้นไปจากอาสวะเพราะไม่ถือมั่นได้เลย ข้อนั้นเพราะเหตุไร ข้อนั้นพึงกล่าวได้ว่า เพราะเธอไม่อบรม เพราะไม่อบรมอะไร เพราะไม่อบรมสติปัฏฐาน ๔ เพราะไม่อบรมสัมมัปปธาน ๔ เพราะไม่อบรมอิทธิบาท ๔ เพราะไม่อบรมอินทรีย์ ๕ เพราะไม่อบรมพละ ๕ เพราะไม่อบรมโพชฌงค์ ๗ เพราะไม่อบรมอริยมรรคมีองค์ ๘ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุหมั่นประกอบภาวนานุโยคอยู่ ถึงจะไม่เกิดความปรารถนาอย่างนี้ว่า ไฉนหนอ ขอจิตของเราพึงพ้นจากอาสวะเพราะไม่ถือมั่น ดังนี้ ก็จริงอยู่ ถึงอย่างนั้น จิตของเธอย่อมพ้นจากอาสวะเพราะไม่ถือมั่น ข้อนั้นเพราะเหตุอะไร ข้อนั้นพึงกล่าวได้ว่า เพราะว่าเธออบรม เพราะอบรมอะไร เพราะอบรมสติปัฏฐาน ๔ เพราะอบรมสัมมัปปธาน ๔ เพราะอบรมอิทธิบาท ๔ เพราะอบรมอินทรีย์ ๕ เพราะอบรมพละ ๕ เพราะอบรมโพชฌงค์ ๗ เพราะอบรมอริยมรรคมีองค์ ๘" * "บุคคลรู้ทางแห่งความเจริญ และความเสื่อม ทั้ง ๒ ทางนี้ แล้ว พึงตั้งตนไว้ในทางที่ปัญญาจะเจริญ" นี้คือ "ปัญญาในพระพุทธศาสนา - ธรรมอันงามในที่สุด" ซึ่งแตกต่างไปจากความเฉลียวฉลาด หรือ "ปัญญาในทางโลก" อย่างสิ้นเชิง เพราะปัญญาในพระพุทธศาสนานั้น เป็นความสามารถของจิตในการสลัดปล่อยวางอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดต่างๆ ออกไปจากจิตได้อย่างรวดเร็ว เรียกว่า "รู้เห็นตามความเป็นจริง" คือ รู้ว่า ที่นี่วุ่นวายหนอ ที่นี่ขัดข้องหนอ และสามารถนำจิตของตนสู่ ที่นี่ประณีตหนอ ที่นี่สงบหนอ ได้ในทันทีทันใด เป็นการรู้เห็นตามความเป็นจริง (วิปัสสนา) ตามที่พระสูตรได้กล่าวไว้ นั่นคือ จิตของตนต้องได้รับการฝึกฝนอบรมสมาธิมาอย่างจริงจังต่อเนื่อง จนจิตเข้าสู่ความสงบตั้งมั่นไม่หวั่นไหวได้อย่างรวดเร็ว เพียงแค่ลัดนิ้วมือเดียว จิตย่อมเข้าสู่ความสงบตั้งมั่นได้ในทันที ชั่วขณะจิตเดียว เอวัง. พระภัทรสิทธิ์ อภินันโท เทศนาธรรมวันพระ ๓๐ เมษายน ๒๕๖๕ |
บทความทั้งหมด
|