โอวาทปาฏิโมกข์ หรือก็คือ หัวใจพระพุทธศาสนา


🌷 โอวาทปาฏิโมกข์  หรือก็คือ หัวใจพระพุทธศาสนา

วันพุธที่ ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕ ตรงกับวันพระขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๓ ปีฉลู เป็นวันมาฆบูชา

ซึ่งวันมาฆบูชา ได้รับการยกย่องเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา เพราะเป็นวันที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง "โอวาทปาฏิโมกข์" ท่ามกลางที่ประชุมมหาสังฆสันนิบาตครั้งใหญ่ในพระพุทธศาสนา โดยมีเหตุการณ์เกิดขึ้นพร้อมกัน ๔ ประการ คือ

๑. เป็นวันพระขึ้น ๑๕ ค่ำ ที่เราเรียกว่า "วันอุโบสถ" พระจันทร์เต็มดวง ดวงจันทร์เสวยมาฆะฤกษ์

๒. พระภิกษุ ๑,๒๕๐ รูป มาประชุมกันโดยมิได้มีการนัดหมายทางวาจา กล่าวคือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าไม่ได้ใช้ให้ใครไปเรียกมา แต่ต่างองค์ต่างรู้ด้วยญาณทัศนะของท่าน แล้วก็ต่างองค์ก็ต่างมาจากแต่ละทิศ

๓. พระภิกษุทั้งหมดนั้น ล้วนเป็นพระอรหันต์ ปราศจากกิเลสเครื่องเศร้าหมอง ทรงอภิญญา มีฤทธิ์ มีตาทิพย์ หูทิพย์ ระลึกชาติได้ รู้ใจผู้อื่น

๔. พระภิกษุทั้งหมด ล้วนเป็นเอหิภิกขุอุปสัมปทา คือ ได้รับการอุปสมบทจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

เมื่อพระภิกษุทั้งหมดมาประชุมพร้อมกันแล้ว พระบรมศาสดาทรงประทานโอวาท ที่เรียกว่า "โอวาทปาฏิโมกข์" อันเป็นอุดมการณ์ หลักการ และวิธีการ ในการเผยแผ่คำสอนของพระองค์

ดังนั้น จึงมีคำเรียกวันนี้อีกคำหนึ่งว่า "วันจาตุรงคสันนิบาต" เป็นวันที่มีการประชุมพร้อมด้วยองค์ ๔ 

[เดือนเพ็ญ พระจันทร์ลอยเด่นเจิดจ้า 
นบองค์พระศาสดา วันมาฆปุณณมี
น้อมดวงใจส่งถึงพระชินสีห์ 
ล่วงกาลผ่านไปสองพันกว่าปี 
โลกนี้ร่มเย็นเรื่อยมา 
พระพุทธองค์ได้ทรงประทานโอวาท]
*เพลงวันมาฆบูชา คำร้อง : ธรรมรักษ์
ทำนอง/เรียบเรียง/ขับร้อง : ปัญจสิขะ

พระพุทธองค์ได้ทรงแสดง "โอวาทปาฏิโมกข์" หรือก็คือ "หัวใจพระพุทธศาสนา" อันมีใจความสำคัญ ดังนี้

๑. สพฺพปาปสฺส อกรณํ การไม่ทำความชั่วทั้งปวง
๒. กุสลสฺสูปสมฺปทา การบำเพ็ญแต่ความดี
๓. สจิตฺตปริโยทปนํ การชำระจิตของตนให้บริสุทธิ์ผ่องแผ้วปราศจากกิเลสทั้งหลาย
เอตํ พุทธานสาสนํฯ นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ที่อุบัติขึ้นมาในโลกนี้

แสดงว่าโอวาทที่พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงไว้นั้น เป็นหัวใจสำคัญในทางปฏิบัติธรรมฉบับย่นย่อที่ตรงต่อความหลุดพ้น เป็นการชำระกาย ชำระใจหรือจิตของตนให้บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว เมื่อพิจารณาข้อ ๑ และข้อ ๒ นั้น จะเห็นว่า เป็นการชำระกายวาจาของตน ส่วนใหญ่ใจความสำคัญนั้นไปรวมอยู่ที่ข้อที่ ๓ นั่นเอง ถ้าเราสามารถปฏิบัติธรรมกรรมฐานภาวนาจนชำระจิตของตนให้ขาวรอบได้ เป็นการการันตีได้ว่าข้อ ๑ และข้อ ๒ นั้น ย่อมต้องสำเร็จดังใจหมายตามไปด้วยเช่นกัน 

แล้วทำไมล่ะ ต้องละความชั่วทั้งปวงก่อน ข้อนี้เป็นสำคัญ เมื่อละข้อนี้ไม่ได้ ก็อย่าได้หมายว่าจะชำระจิตของตนให้บริสุทธิ์เลย เพราะความชั่วที่ซ่อนไว้จะคอยมารบกวนจิตใจ ในยามที่เราลงมือปฏิบัติธรรมกรรมฐานอย่างจริงจัง 

ทุกวันนี้ เราจะเห็นได้อย่างชัดเจนจากสื่อต่างๆ หรือเห็นด้วยตาของตนเองว่า คนที่มีพฤติกรรมชอบซ่อนเร้นความชั่วของตัวเองกันเยอะมากในสังคม โดยไม่มีความละอายต่อบาปกรรมที่ได้เคยทำไว้เลย  พอมีความรู้สึกว่าสังคมขณะนี้กำลังจับตาดูพฤติกรรมของเราอยู่ ก็จะออกมาสร้างภาพในการทำความดี ให้เห็นว่าตนเองนั้นมีจิตใจที่โอบอ้อมอารี เป็นดีของสังคม และก็แปลกแต่จริงที่ว่า คนส่วนใหญ่ก็มักจะคล้อยตามไปกับการเสแสร้งเช่นนั้นด้วย ทั้งที่พฤติกรรมที่ทำอยู่เป็นประจำนั้น ก็เอารัดเอาเปรียบหรือคดโกงต่างๆ นานาต่อสังคม แต่เพราะมักคอยสร้างภาพอยู่ไม่ว่างเว้น จึงทำให้ผู้คนส่วนมากมองไม่เห็น 

ที่ไม่อาจมองข้ามไปอีกเรื่องหนึ่ง ที่แทบจะเป็นนิสัยถาวรไปเลยนั้น ก็คือ การชอบโกหกทั้งๆ ที่รู้อยู่ มีพุทธพจน์ทรงตรัสไว้ว่า "ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อบุคคลยังไม่ละธรรมข้อหนึ่ง คือการพูดปดทั้งๆ ที่รู้ เราย่อมไม่กล่าวว่า มีบาปกรรมอะไรบ้าง ที่ผู้นั้นจะทำไม่ได้" บุคคลจำพวกนี้กลับชอบเฉียดผ่านวัด แต่ไม่รู้จักจะน้อมนำเอาพระธรรมคำสั่งสอน ไปปฏิบัติเพื่อให้จิตหลุดพ้นจากความชั่วเหล่านั้น 

ถ้าได้น้อมนำเอาพระธรรมคำสั่งสอนไปปฏิบัติ ก็จะทำให้จิตมีพลังในการปล่อยวางความชั่วทั้งปวงออกไปได้ จากจิตของตน ดังพระบาลีที่ว่า "วิสงฺขารคตํ จิตฺตํ, ตณฺหานํ ขยมชฺฌคา จิตของเราสิ้นการปรุงแต่ง บรรลุพระนิพพานเพราะสิ้นตัณหา" จากพระบาลีธรรมบท จะเห็นว่า จิตเมื่อสิ้นการปรุงแต่งจากอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดยินดี-ยินร้ายที่เข้ามากระทบได้ ก็ด้วยการปฏิบัติธรรมกรรมฐานภาวนาเท่านั้น เพื่อให้จิตของตนสิ้นความทะยายอยาก (ตัณหา) ออกไปหาอารมณ์ 

ส่วนการปฏิบัติธรรมนั้น เราจะปฏิบัติธรรมที่ไหนก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเข้าวัดถึงจะปฏิบัติธรรมได้ ถ้าเรารู้จักหลักในการปฏิบัติธรรมกรรมฐานภาวนาแล้ว ไม่ว่าจะหลับตาหรือลืมตา เราย่อมภาวนาได้เช่นกัน แต่ในระยะแรกๆ นั้น ควรฝึกฝนจากการหลับตาก่อน เมื่อชำนาญดีแล้ว จะหลับตาหรือลืมตาก็จะมีค่าเท่ากัน

เมื่อกล่าวถึง "หัวใจพระพุทธศาสนา" แล้ว เรามักคิดไปถึงการที่ชาวพุทธทั้งหลาย ต้องไปเข้าวัดเพื่อบำเพ็ญบุญ รับศีล และขอพรจากพระสงฆ์ เพียงเท่านั้น ความจริงแล้วเรื่องที่เป็นบุญเป็นกุศลทั้งหลายนั้น ก็ล้วนรวมอยู่ในทาน ศีล ภาวนา อาทิเช่น การให้ทานในรูปแบบต่างๆ ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ช่วยเหลือผู้อื่น และความเสียสละแรงกาย แรงใจ ล้วนจัดอยู่ในอยู่ในทาน เป็นธรรมฝ่ายกุศลทั้งสิ้น

แต่ธรรมที่เป็นฝ่ายกุศลจะเกิดขึ้นได้แบบจริงแท้ถาวรนั้น ต้องพิจารณาถึงธรรมข้อแรกที่ทรงตรัสไว้ว่า ให้ละการทำชั่วทั้งปวง ซึ่งเป็นข้อแรก เป็นธรรมฝ่ายการละอกุศล เป็นการลด ละ เลิก ที่ทำได้ยากยิ่งกว่าการทำบุญทำกุศลทั้งหลาย (บำเพ็ญความดี) เสียอีก ต้องอาศัยกำลังใจและพลังจิตของตนเป็นอย่างมาก จิตต้องเข้มแข็งเพียงพอที่จะทำการ ลด ละ เลิก ในการทำสิ่งที่ไม่ดีไม่งามที่ทำจนเป็นนิสัย ซึ่งเป็นพิษเป็นภัยต่อสังคมโดยรวม 

การที่กล่าวว่าการละบาปนั้นทำได้ยากยิ่งกว่าทำบุญกุศลเป็นเรื่องจริง ที่เราสามารถพบเห็นได้ในสังคมอยู่ทุกวันนี้  ในหลายอาชีพการงาน เราจะพบคนที่ยังชอบทำความชั่ว เอารัดเอาเปรียบ คดโกง ติดยาเสพติด อีกมากมาย และยังมีสารพัดสิ่งต่างๆ รอบตัวที่จะทำให้เกิดการเสพติดได้นั้น ก็มากมายอีกเช่นกัน และทำให้เกิดการทำความชั่วได้ แต่เราก็ยังพบเห็นบุคคลเหล่านี้บางพวกที่ชอบสร้างภาพ โดยการเข้าวัดเข้าวา ทำบุญกุศล บริจาคทาน ช่วยเหลือเจือจานต่อสังคม ที่สาธารณชนคนทั่วไปสามารถมองเห็นได้ เป็นการทำความดีเหมือนกัน และโดยความเป็นจริงของสังคมแล้ว ปรากฏว่ายังมีบุคคลที่อยู่ในกลุ่มนี้ มีความต้องการที่จะ ลด ละ เลิก การทำความชั่วทั้งปวงอย่างแท้จริง แต่ก็ยังขาดซึ่งพลังจิตที่จะมาใช้ในการลด ละ เลิก ความชั่วเหล่านั้นไป แต่มีพลังจิตไม่มากพอในการนี้

เมื่อบุคคลเหล่านี้ มักได้แต่มีความคิดเพียงแค่ว่า อยากจะ ลด ละ เลิก ก็ได้แต่เพียงคิดไปว่าเท่านั้น เป็นความอยากล้วนๆ ไม่มีส่วนผสมของความเป็นไปได้ คงเป็นความจริงขึ้นมาไม่ได้ เพราะยังขาดการฝึกฝนอบรมจิตของตนให้มีพลังจิตในการลด ละ เลิกให้ได้ ต่อให้บุคคลเหล่านั้นเข้าวัดไปขอพรเพื่ออำนวยผลให้ และการรับปากต่อพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ว่าจะลด ละ เลิก ก็ยังเชื่อถือและไว้ใจไม่ได้อยู่ดี ว่าจะทำสิ่งนั้นสำเร็จได้จริง เพราะขาดซึ่งพลังจิตในการปล่อยวางอารมณ์ความรู้นึกคิดฝ่ายชั่วออกไป ต้องเป็นบุคคลที่เคยมีพื้นฐานอบรมจิตด้วยการปฏิบัติธรรมกรรมฐานภาวนามาอย่างจริงจัง มาบ้างไม่มากก็น้อยตามควร  จึงอาจจะทำให้เกิดผลในการลด ละ เลิก ให้เบาบางลงได้จริง

แต่นัยยะที่สำคัญในเรื่องนี้ เราต้องพึ่งพาธรรมข้อที่ ๓ ใน "หัวใจพระพุทธศาสนา" ที่พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ว่า "สจิตฺตปริโยทปนํ เอตํ พุทธานสาสนํ แปลว่า การทำจิตของตนให้บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว นี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์" แล้วจะทำอย่างไรได้ล่ะ ?

การจะกระทำจิตใจของตนให้บริสุทธิ์ผ่องแผ้วได้นั้น จะมีโดยเฉพาะในพระพุทธศาสนานี้เท่านั้นที่ทำได้ ลัทธินอกจากนี้เป็นเพียงการสร้างตบะบารมีให้เกิดขึ้นในตน เพียงแต่ทำให้กิเลสเบาบางลงได้ หรือที่เรียกว่ามีผงธุลีในตาน้อยจริง จากการฝึกฝนอบรมจิตของตนจนชำนาญเป็นวสี ในปล่อยวางอารมณ์ที่หยาบเข้าหาอารมณ์ละเอียดที่ตนเองฝึกฝนจนชำนาญแทน และติดสุขอยู่ในอารมณ์ละเอียดนั้น เพราะปล่อยวางอารมณ์ออกไปไม่เป็น ยึดเอาอารมณ์ละเอียดนั้นอย่างเหนียวแน่น เห็นอริยสัจไม่ได้ 

มีแต่วิธีการปฏิบัติธรรมกรรมฐานภาวนา (สัมมาสมาธิ) ในพระพุทธศาสนานี้เท่านั้น ที่ทำให้มีพระอริยบุคคลขั้นต่างๆ ขึ้นมา เกิดจากการที่ได้ลงมือปฎิบัติธรรมกรรมฐานภาวนาอย่างจริงจัง ที่ตรงต่อพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ ที่พระพุทธองค์ได้ทรงเน้นย้ำถึงเรื่อง "อริยสัจ ๔" เพราะเหตุใดพระองค์จึงบอกเล่าเรื่องนี้ ก็เพราะว่า เรื่องนี้ประกอบด้วยประโยชน์เป็นอย่างมาก เป็นเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่าย เพื่อคลายความกำหนัด เพื่อความดับทุกข์ เพื่อความสงบระงับ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อความตรัสรู้ เป็นไปเพื่อนิพพาน 

เพราะเหตุนั้นแล พวกท่านจึงควรกระทำความเพียรเพ่ง เพื่อรู้เห็นซึ่งอริยสัจ ๔ ตามความเป็นจริง ว่านี่ทุกข์ นี่เหตุให้ทุกข์เกิด นี่ความดับทุกข์ นี่ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ 

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย หากมีคนมากล่าวว่า ตนไม่ต้องตรัสรู้อริยสัจ ๔ คือ ทุกข์ เหตุให้ทุกข์เกิด ความดับทุกข์ ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ตามความเป็นจริง ก็จะกระทำที่สุดทุกข์โดยชอบได้ (พ้นจากทุกข์ได้) ข้อนั้นไม่ใช่ฐานะที่จะมีได้ เปรียบเหมือนคนที่มากล่าวว่า ตนจะเอาใบตะเคียนใบทองกราว ใบมะขามป้อม มาทำกระทงใส่น้ำหรือใส่ใบตาล ย่อมมิใช่ฐานะที่มีได้ ฉะนั้น 

พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงถึงหนทางในอันจะนำบุคคลไปสู่ความเป็นอริยบุคคล ให้รู้เห็นตามความเป็นจริงได้อย่างชัดเจนว่า นี่ทุกข์ นี่เหตุให้ทุกข์เกิด นี่ความดับทุกข์ นี่ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ การที่เข้าถึงหนทางนี้ได้ จะต้องลงมือปฎิบัติธรรมกรรมฐานภาวนาอย่างจริงจัง เพื่อให้เข้าถึงธรรมอันเอกที่ผุดขึ้นมา เป็นธรรมที่เหนือกว่าธรรมฝ่ายที่เป็นกุศลและฝ่ายที่เป็นอกุศลทั้งหลาย คือ ความชั่วก็ไม่เอา ความดีก็ไม่เอา และละความยินดี-ยินร้ายทั้งหลาย ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และในอนาคตออกไป เป็นการตัดฉันทราคะทิ้งไปเสียสิ้น อันเป็นเรื่องยากที่จะเข้าถึงได้ แต่อย่างน้อยการปฎิบัติธรรมกรรมฐานภาวนาตามหนทางนี้ สามารถทำให้พลังจิตเข้มแข็งตั้งมั่นไม่หวั่นไหวพอ ต่อการลด ละ เลิก การไม่ทำความชั่วในที่ทั้งปวงได้อย่างเด็ดขาดแน่นอน

แต่ปัจจุบันนี้ กลับมีความพยายามที่จะสอนการปฎิบัติธรรมกรรมฐานกันแบบง่ายๆ สบายๆ ลัดสั้น ซึ่งไม่ต้องเพียรเพ่งภาวนาพยายามในการนั่งกรรมฐานใดๆ เลย คำสอนแบบนี้ไม่มีอยู่จริงในพระพุทธศาสนา เป็นเพียงคำสอนแบบเอาใจ เป็นคำสอนแบบให้กำลังใจกัน เป็นรูปแบบคำสอนที่เกิดขึ้นตามมติความคิดเห็นของตนเองล้วนๆ เท่านั้น โดยมีการอ้างอิงและแอบอ้างว่าเป็นคำสอนของครูบาอาจารย์ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ให้ดูน่าเชื่อถือมากขึ้น สำหรับชาวพุทธที่ยังมีอนุสัยปัจจัยยังอ่อนอยู่นั้น จิตยังมีความสับสนวุ่นวายไม่เข้มแข็งมากพอที่จะพิจารณาถึงคำสอนเหล่านั้น ว่าถูกต้องเที่ยงตรงพระนิพพานหรือไม่ ส่วนตนเองก็ยังไม่มีพลังจิตมากพอที่จะมุ่งมั่นตั้งใจแบบตัดเป็น ตัดตาย เอาชีวิตเข้าแลก ลงมือปฎิบัติธรรมกรรมฐานภาวนาให้มีขึ้น ให้เกิดขึ้นจริง ทั้งๆ ที่มีพระพุทธพจน์ทรงตรัสรับรองไว้ดีแล้วมากมาย เช่น

"สมาธึ ภิกฺขเว ภาเวถ สมาหิโต ยถาภูตํ ปชานาติ 
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงยัง (สัมมา) สมาธิให้เกิดขึ้นเถิด
ผู้ที่มีจิตตั้งมั่นดีแล้ว ย่อมรู้เห็นตามความเป็นจริง (ปัญญา) ดังนี้"

จากบาลีพระธรรมบท เราพอจะสรุปได้ว่า คำว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลายนั้น ก็เป็นอันชัดเจนโดยไม่ต้องตีความใดๆ คือหมายถึงภิกษุทุกรูปที่ต้องยังสมาธิให้เกิดขึ้นมีขึ้น เพราะพระองค์เองมิได้ทรงยกเว้นให้กับภิกษุรูปใดรูปหนึ่งเลย ดังมีปรากฏอยู่ในทุกวันนี้ ที่ชอบแอบอ้างว่ามีการยกเว้นให้บุคคลผู้มีปัญญามากจำพวกสุขวิปัสสโก โดยลืมพิจารณาไปถึงว่า เมื่อกล่าวถึงบุคคลผู้มีปัญญาเป็นเลิศ คงหนีไม่พ้นพระพุทธองค์ของเรา ไม่ใช่หรือ แม้แต่พระองค์เอง ก็ต้องยังสมาธิให้เกิดขึ้นกับพระองค์ จึงได้ตรัสรู้อริยสัจ ๔ ตามความเป็นจริง โดยนั่งคู้บรรลังก์ ณ ใต้ต้นสาละ ในวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำเดือน ๖ อันมีรอบ ๓ อาการ ๑๒  จนสำเร็จเป็นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า 

คำสอนที่ชอบแอบอ้างกันว่าไม่ต้องทำสมาธิ หรือทำสมาธินิดๆ หน่อยๆ ก็พอนั้น ควรยกขึ้นไว้เพื่อป้องกันมิให้พระสัทธรรมนั้นต้องปฏิรูปไป พระองค์ทรงตรัสไว้ในเรื่องสัทธรรมปฏิรูป ถึงมูลเหตุให้ฟังและได้ทรงเน้นว่า "การที่มีบุคคลนำเอาคำสอนนอกศาสนา มาอ้างอิงว่านั่นเป็นคำสอนของพระองค์ เป็นมูลเหตุสำคัญอย่างหนึ่ง ที่จะทำให้คุณค่าของศาสนาน้อยด้อยค่าลงไปในที่สุด"

เมื่อพูดถึงการยังสมาธิให้เกิดขึ้น เราต้องมาพิจารณาโดยแยบคายว่า สมาธิหลักๆ ในพระพุทธศาสนามีอะไรบ้าง ซึ่งก็หนีไม่พ้นสมาธิในอริยมรรคอันมีองค์ ๘ อันเป็นทางเดินของจิตนำไปสู่ความเป็นอริยเจ้า ซึ่งอริยมรรคมีองค์ ๘ นั้น เราแบ่งเป็นหมวดๆ ไว้ดังนี้ 

สัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะ จัดเป็นหมวดปัญญา 
สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ จัดเป็นหมวดของศีล 
สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ จัดเป็นหมวดสมาธิ 
ก็คือ ศีล สมาธิ ปัญญา 

ศีล อันงามในเบื้องต้น สมาธิ อันงามในท่ามกลาง ปัญญา อันงามในที่สุด เมื่อเรายังสมาธิให้เกิดขึ้นดีแล้ว สมาธิย่อมสามารถร้อยเรียงเอาศีลและปัญญาเข้ามาอยู่ร่วมกัน เป็นมรรคสมังคี ทำให้รู้เห็นตามความเป็นจริงได้ 

ทุกวันนี้มักมีการถกเถียงกันในเรื่องนี้ไม่ใช่น้อย ยกตนข่มท่านบ้างล่ะ อวดคุณวิเศษบ้างล่ะ และอีกมากมาย ต่างฝ่ายต่างก็ยืนยันนั่งยันในความคิดเห็นของตนว่าถูกต้องตรงต่อพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธ ข้อนี้ขอยกไว้ ความเชื่อก็คือความเชื่อ ส่วนความจริงนั้นต้องมาว่ากันอีกทีหนึ่ง ไม่อย่างนั้นเราจะเรียกว่าความเชื่อหรือ ยังมีพุทธพจน์ที่ตรัสเรื่องแบบนี้ให้ไว้ให้พิจารณาดังนี้ 

เธอทั้งหลาย ยังไม่พึงชื่นชม ยังไม่พึงคัดค้าน คำกล่าวของผู้นั้น พึงเรียนบทและพยัญชนะ (ทั้งข้อความและถ้อยคำ) เหล่านั้นให้ดีแล้ว พึงสอบดูในพระสูตร เทียบดูในพระวินัย ถ้าบทและพยัญชนะเหล่านั้น สอบลงในพระสูตรก็ไม่ได้ เทียบเข้าในพระวินัยก็ไม่ได้ พึงลงสันนิษฐานว่า นี่มิใช่ดำรัสของพระผู้มีพระภาคแน่นอน ภิกษุนี้ (สงฆ์นั้น พระเถระเหล่านั้น พระเถระรูปนั้น) ถือไว้ผิด พึงทิ้งเสีย ถ้าบทและพยัญชนะเหล่านั้น สอบลงในพระสูตรก็ได้ เทียบเข้าในพระวินัยก็ได้ พึงลงสันนิษฐานว่า นี้เป็นดำรัสของพระผู้มีพระภาคแน่แท้ ภิกษุนี้ (สงฆ์นั้น เถระเหล่านั้น พระเถระรูปนั้น) รับมาด้วยดี 

เมื่อเรานำเอาความรู้ที่ได้ยิน ได้ฟัง ได้ศึกษามาแล้ว ลองเอาเทียบเคียงกับพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธองค์ ที่ทรงตรัสไว้ในมหาสติปัฏฐานสูตร ซึ่งจัดเป็นหลักสูตรปฏิบัติธรรมที่ละเอียดที่สุดในพระพุทธศาสนา ทรงกล่าวนำว่า 

เอกายโน อยํ ภิกฺขเว มคฺโค สตฺตานํ วิสุทฺธิยา โสกปริเทวานํ สมติกฺกมาย ทุกฺขโทมนสฺสานํ อตฺถงฺคมาย ญายสฺส อธิคมาย นิพฺพานสฺส สจฺฉิกิริยาย ยทิทํ จตฺตาโร สติปฏฺฐานา ฯ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ทางนี้เป็นทางอันเอก เป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์หมดจดของสัตว์ทั้งหลาย (คำว่า สัตว์ ในที่นี้หมายถึง ผู้ติดข้องในอารมณ์) เพื่อก้าวล่วงความเศร้าโศกร่ำไรรำพัน เพื่อความดับไปแห่งทุกข์และโทมนัสทั้งหลาย เพื่อบรรลุญายะธรรม เพื่อกระทำพระนิพพานให้แจ้ง ทางนี้คือสติปัฏฐาน ๔ นั่นเอง 

บรรพะแรกที่กล่าวถึงเลยก็คือ อานาปานสติ การมีสติกำหนดรู้อยู่ทุกลมหายใจเข้าและทุกลมหายใจออก จนจิตมีสติสงบตั้งมั่นเป็นสมาธิ จัดเป็นสัมมาสมาธิ และในทุกบรรพะนั้น จะต้องมีการกล่าวถึงให้พิจารณากายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต และธรรมในธรรม เป็นภายในบ้าง เป็นภายนอกบ้าง และพิจารณากายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต และธรรมในธรรม ทั้งภายในและภายนอกบ้าง 

ที่เป็นแบบนี้ ก็เพราะคนเรานั้นล้วนมีอารมณ์ที่เกิดขึ้น ณภายในตน (จิต) ซึ่งเรียกว่าธรรมารมณ์ เป็นอารมณ์ที่เข้ามาทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย เมื่อกระทบเข้ากับ รูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัสทางกาย ถูกเก็บไว้ที่ใจในรูปธรรมารมณ์ ส่วนที่พิจารณาเป็นภายนอกนั้นก็เช่นกันต่างกันที่ เมื่อมีอารมณ์ที่เข้าทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย และกระทบเข้ากับ รูป เสียง กลิ่น รส และสัมผัสทางกาย เมื่อกระทบกันแล้วย่อมเกิดวิญญาณขึ้นทางอายตนะนั้นๆ เมื่อเกิดวิญญาณขึ้นที่อายตนะนั้นๆ ผัสสะย่อมต้องตามมา จากนั้นขบวนการปฏิจจสมุปบาทฝ่ายเกิดก็มีติดตามขึ้นมาตลอดแนว ทั้งภายในและภายนอกเช่นกัน 

ฉะนั้น จึงต้องเริ่มต้นฝึกฝนอบรมจิตของตน ด้วยการพิจารณากายในกายเป็นภายในให้สำเร็จเสียก่อน โดยการนั่งคู้บรรลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติเฉพาะหน้า เป็นฝึกสัมมาสมาธิให้เกิดขึ้น หลับตาลงเบาๆ เพื่อเป็นการลดช่องทางการรับรู้อารมณ์ให้น้อยลงมากที่สุด เพื่อฝึกสติให้ตั้งมั่นกำหนดรู้เฉพาะลมหายใจเข้า-ออกเท่านั้น โดยให้มารู้สึกชัดอยู่ที่จุดลมกระทบ ลมหายใจเข้าก็รู้ ลมหายใจออกก็รู้ อย่าตามลมเข้า-ออกโดยเด็ดขาด ให้มีสติระมัดระวังคอยควบคุมจิตของตนไม่ให้แลบหนีออกไปจากจุดนี้ ถ้าเผลอไผลแลบหนีออกไปหาอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดเมื่อไหร่ พอรู้สึกตัวระลึกได้ให้รีบดึงจิตกลับมา ณ จุดที่ตั้งอยู่นั้น ขั้นนี้ต้องอาศัยปัญญา ถ้าลองขาดซึ่งปัญญาเสียแล้ว ให้ดึงยังไงก็ไม่ยอมกลับออกมาจากอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดเหล่านั้น 

ลมหายใจ คือกายสังขารที่ปรุงแต่งกายเนื้ออยู่ตลอดเวลา ที่มีชึ้นเกิดขึ้นโดยไม่ต้องอาศัยความคิด ส่วนกายในกายหรือนามกาย หรืออทิสมานกาย (กายทิพย์) นั้น คือความนึกคิด เราเอาความนึกคิดที่มีสติมาแนบลง หรือรู้ชัดลงที่จุดลมกระทบ แล้วเอาความนึกคิดมารู้อยู่ที่ลมหายใจเข้า-ออกที่เกิดขึ้นมีขึ้นโดยไม่ต้องคิด เมื่อประคองจิตของตนให้รู้ชัดได้สำเร็จ จิตก็จะสงบตั้งมั่นโดยลำพงตนเอง (ไม่ต้องคิด) เท่ากับว่าฝึกฝนอบรมจิตของตนอยู่ รู้จักวิธีการหยุดคิด หยุดเป็นเย็นได้ หยุดไม่เป็นเย็นไม่ได้ หยุดนั่นแหละตัวสำเร็จ 

เมื่อหมั่นเพียรฝึกฝนจนชำนาญแล้ว ก็จะรู้เห็นตามความเป็นจริงว่า จะวางจิตของตนให้สงบตั้งมั่น (ที่นิมิตหมายแห่งจิต) โดยหยุดนึกคิดปรุงแต่งได้อย่างไร โดยไม่ต้องเสียเวลา  

จากนั้นขั้นตอนต่อไป คือพิจารณากายในกายเป็นภายนอกบ้าง เป็นขั้นตอนวิปัสสนา นำมาใช้ในขณะลืมตา หรือในชีวิตประจำวัน ที่ยังต้องอาศัยความรู้สึกนึกคิดปรุงแต่งต่อเรื่องราวต่างๆ อยู่ 

จะขอพูดนิดหนึ่งเรื่องขั้นตอนวิปัสสนา คำๆ นี้เป็นคำที่มีขึ้น เกิดขึ้นในภายหลัง ให้ฟังดูเท่ๆ รู้สึกอยู่เหนือคนอื่นเท่านั้น คำว่าวิปัสสนาเมื่อแปลออกมา ก็คือการรู้เห็นอย่างวิเศษ หรือรู้เห็นตามความเป็นจริงนั่นเอง แน่นอนที่สุดเพราะขั้นตอนที่สองนี้เป็นการรู้เห็นตามความเป็นจริง เมื่อเราชำนาญในการวางจิตให้สงบตั้งมั่น (ที่นิมิตหมายแห่งจิต) ด้วยการปล่อยวางอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดออกไปได้ในขณะหลับตา  ข้อนี้เป็นเพราะว่าเราได้นิมิตหมายแห่งจิต อันเป็นสมาบัติ (ความสงบอันปราณีตที่พึงมี) ธรรมเครื่องอยู่ในชีวิตประจำวัน มีสติ มีสัมปชัญญะ เมื่อกระทบอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดที่ยินดีบ้าง ยินร้ายบ้าง เราก็สามารถปล่อยวางอารมณ์เหล่านั้นออกไปได้ในทันทีทันใดเช่นกัน (ขึ้นอยู่กับความสามารถในการฝึกฝนด้วย) 

จากนั้นขั้นตอนสุดท้าย พิจารณากายในกายทั้งภายในและภายนอกบ้าง เป็นการฝึกฝนทบทวนความชำนาญในการปล่อยวางอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดทั้งหลายทั้งภายในและภายนอกให้สมดุลกัน สติปัฏฐานเป็นการฝึกสร้างสติโดยตรง เมื่อชำนาญในฐานใดฐานหนึ่งแล้ว ที่เหลือย่อมกระเทือนถึงกันเพราะเป็นการฝึกสร้างสติเช่นกัน

ดูกรอานนท์ นั่นโคนไม้ นั่นเรือนว่าง
เธอทั้งหลายจงเพ่งฌาน อย่าได้ประมาท
อย่าได้เป็นผู้เดือดร้อนในภายหลัง
นี้เป็นคำพร่ำสอนของเราแก่พวกเธอ ฯ
(อินทรียภาวนาสูตร ที่ ๑๐)

จากพระสูตรจะเห็นว่า ทรงเน้นให้หาที่เป็นสัปปายะ เป็นที่ๆ เงียบสงบไม่พลุกพล่าน เหมาะที่จะภาวนา นั่นโคนไม้ นั่นราวป่า จากนั้นน่าจะที่ว่างจากเรือน ไม่ใช่เรือนว่าง เธอทั้งหลายหมายถึงภิกษุทุกรูป จงเพ่งฌาน 

ตรงคำว่า จงเพ่งฌานนี้ มีอยู่มากมายหลายสำนักที่รับไม่ได้ โดยได้กล่าวหาว่านั่นเป็นเพียงสมถะกรรมฐานเท่านั้น เปรียบเหมือนหินทับหญ้า เอาหินออกหญ้าก็ขึ้นมาใหม่อีก ไม่อาจทำให้เกิดปัญญาได้ ทั้งที่ต้นทางของสำนักเหล่านั้น ได้รจนาบาลีธรรมบทขึ้นมาว่า "นตฺถิ ฌานํ อปญฺญสฺส  นตฺถิ ปญฺญา อฌายิโน ยมฺหิ ฌานญฺจ ปญฺญา จ  ส เว นิพฺพานสนฺติเก แปลว่า ผู้ไม่มีฌาน ย่อมไม่มีปัญญา ผู้ไม่มีปัญญา ย่อมไม่มีฌาน ผู้ที่มีทั้งฌานและปัญญา ผู้นั้นย่อมเข้าใกล้พระนิพพานดังนี้" 

ที่รับไม่ได้เพราะคำว่าเพ่ง ซึ่งไปพร้องกับความเพียรเพ่งของพราหมณ์ จึงเหมารวมว่าเป็นอันเดียวกัน โดยความเป็นจริงแล้วคำว่าเพ่งนั้น หมายความถึงการที่เรารับรู้อะไรก็ได้สักอย่างหนึ่ง และรู้อย่างต่อเนื่องไม่ขาดสาย ไม่ให้หลุดออกจากความรู้สึกนึกคิดของเราเลย นั่นจัดว่าเป็นการเพ่งเช่นกัน 

ความเพียรเพ่งของพุทธกับของพราหมณ์นั้น ต่างกันโดยสิ้นเชิง ของพุทธนั้นให้เพียรเพ่งลงที่ กาย เวทนา จิต และธรรม ทำให้จิตรู้เห็นตามความเป็นจริงในไตรลักษณ์ได้ ส่วนของพราหมณ์นั้น ให้เพียรเพ่งลงที่อารมณ์รูปและนามอันปราศจากกาม มักเกาะอารมณ์ฌานเหล่านั้นอย่างเหนียวแน่น ปล่อยวางไม่เป็น สรุปว่าของพุทธ รู้อยู่ที่รู้ ของพราหมณ์รู้อยู่ที่เรื่อง เมื่อเป็นเช่นนี้ รู้อยู่ที่รู้ ย่อมเป็นผู้ไม่เดือดร้อนในภายหลัง ถ้ารู้อยู่ที่เรื่อง ย่อมมีโอกาสขัดเคืองใจได้ตลอดเวลา 

"ดูกรภิกษุทั้งหลาย สิกขา ๓ นี้แล ฯ
ภิกษุผู้มีความเพียร มีเรี่ยวแรง มีปัญญา เพ่งพินิจ
มีสติ คุ้มครองอินทรีย์ พึงครอบงำทั่วทุกทิศ ด้วยอัปปนาสมาธิ
ประพฤติทั้งอธิศีล อธิจิต และอธิปัญญา ฯลฯ

ภิกษุเช่นนั้น บัณฑิตกล่าวว่า เป็นผู้ตรัสรู้ชอบ
เป็นนักปราชญ์ เป็นผู้ถึงที่สุดของการปฏิบัติในโลก
ท่านผู้ประกอบด้วยวิมุตติอันเป็นที่สิ้นตัณหา
ย่อมมีจิตหลุดพ้นจากสังขารธรรม
เพราะวิญญาณดับสนิท เหมือนความดับของประทีป ฉะนั้น ฯ"

สรุปสุดท้าย "หัวใจพระพุทธศาสนา" นั้น เปรียบได้กับ ทาน ศีล ภาวนา รวมลงที่กายยาววา หนาคืบ กว้างศอก อันมีจิตครอง "ธรรมทั้งปวงล้วนรวมลงที่จิต" ให้ดูที่จิต เมื่อจะแก้ก็ควรต้องแก้กันที่จิตของตน ไม่ใช่อาศัยเพียงความรู้สึกนึกคิดที่ตกผลึก (สัญญา) แล้วจะแก้ได้ แต่ต้องมีความเพียรเพ่งนึก (ระลึก) ลงที่กาย เวทนา จิต ธรรม เพื่อให้จิตหยุดการปรุงแต่ง หยุดคิดให้เป็น หยุดนั่นแหละตัวสำเร็จ จิตจึงจะมีพลังมากพอในการปล่อยวางอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดทั้งหลายให้ออกไปจากจิตของตนได้แล เอวัง.

พระภัทรสิทธิ์ อภินันโท
เทศนาธรรมวันมาฆบูชา ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๕


 



Create Date : 18 กุมภาพันธ์ 2565
Last Update : 18 กุมภาพันธ์ 2565 14:45:51 น.
Counter : 305 Pageviews.

0 comments
เติมให้ความมี เติมให้ความไม่มี ปัญญา Dh
(14 เม.ย. 2567 20:54:29 น.)
: หยดน้ำในมหาสมุทร 35 : กะว่าก๋า
(13 เม.ย. 2567 05:51:40 น.)
: หยดน้ำในมหาสมุทร 34 : กะว่าก๋า
(12 เม.ย. 2567 05:52:40 น.)
ได้คะแนน ปัญญา Dh
(7 เม.ย. 2567 12:52:45 น.)
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Nujoy.BlogGang.com

ในความฝันของใครสักคน
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]