“ธุรกิจ” เรื่องง่ายที่ไม่ง่าย ตอนที่ 6 การใช้ Key to Success



ขออภัยสำหรับท่านที่ติดตามอย่างต่อเนื่องกระชั้นชิด พอดีผมติดธุระ 2-3 วันเลยไม่มีเวลามาอัพเดทเล่าเรื่องให้ต่อเนื่อง วันนี้เลยจะขอต่อเรื่องความเข้าใจเกี่ยวกับ Key Success และการใช้ การวิเคราะห์นะครับ

ดังที่ทราบกันแล้วว่าการประกอบธุรกิจนั้นประกอบไปด้วยหลายปัจจัย และในหลายๆ ปัจจัยนั้น บางครั้งก็กลายเป็นปัจจัยหลักของความสำเร็จตามที่กล่าวไปแล้ว ทีนี้บางครั้งก็มีคำถามว่า แล้วถ้ามีปัจจัยหลักของความสำเร็จแล้ว อย่างอื่นสำคัญหรือไม่

ก็ขอตอบว่า แท้จริงแล้ว ปัจจัยอื่นๆ ก็ยังคงต้องมีอยู่ เพียงแต่ขอให้ปัจจัยเหล่านั้นอยู่ในระดับธรรมดาเท่านั้นก็น่าจะพอเพียง แต่ขอให้มีKey Success ที่เรียกว่าเป็นอาวุธสำคัญที่โดดเด่นกว่าคนอื่นสักหนึ่งอย่างก็น่าจะพอให้ธุรกิจอยู่รอดได้(ขั้นแรก ต้องให้ธุรกิจอยู่รอดก่อนคาดหวังการประสบความสำเร็จอย่างสูงในภายหลัง)

แม้ว่าคุณจะขายเก่งระดับสุดยอด ก็คงไปได้ยาก หากสินค้าที่คุณขายนั้นคุณภาพแย่สุดๆ สักพัก คนก็จะกล่าวถึงกันไปทั่ว ต่อให้ขายเก่งแค่ไหนก็คงเริ่มยากแล้ว เช่นเดียวกัน หากสินค้าของคุณดีวิเศษที่สุด แต่หากขาดการตลาดเลย ไม่เคยทำอะไรให้กลุ่มลูกค้ารู้ถึงการมีอยู่ของคุณเลย มันก็คงยากที่จะคนจะมาซื้อสินค้าของคุณ

ฉะนั้น การมี Key Success นั้นหมายถึงการมีสิ่งอื่นในระดับธรรมดา (ซึ่งผมขออนุมานเอาว่า คนทั่วๆ ไปควรจะมีความสามารถทำสิ่งต่างๆ ในระดับธรรมดาได้ไม่ยากนัก) แต่นอกจากการมีสิ่งต่างๆ ในระดับธรรมดานั้น ธุรกิจที่อยู่รอดมักจะมีอาวุธอย่างหนึ่งที่ทำให้ธุรกิจนั้นสามารถเข้าไปแย่งชิงและครอบครองพื้นที่ตลาด(ลูกค้า)ได้ อย่างน้อยในระดับที่พอเพียงต่อการอยู่รอด

แต่หากคุณทำทุกอย่างได้ในระดับธรรมดาๆ หมด เช่น แผนการตลาดก็ธรรมดา สินค้าก็ธรรมดา ทักษะการขายก็ธรรมดา โอกาสที่ธุรกิจของคุณจะไปรอดนั้นน้อยมาก ยกเว้นอยู่อย่างเดียวก็คือ “การแข่งขันต่ำ” ซึ่งก็เป็น Key Success อย่างหนึ่งของธุรกิจเช่นกัน แต่หากคุณมีคู่แข่งหลายราย หรืออยู่ในธุรกิจที่การแข่งขันสูงถึงสูงมาก การมีอาวุธธรรมดาๆ รับรองได้ว่าคุณจะไม่สามารถครอบครองพื้นที่ใดๆ ได้เลย และธุรกิจต้องล้มเหลวไปในเวลาไม่นานนัก

เมื่อจะเริ่มทำธุรกิจคุณต้องประเมินตัวเองก่อนว่า คุณมีอะไรที่โดดเด่นกว่าธุรกิจของคู่แข่ง หรือว่าธุรกิจที่คุณจะกระโดดลงไปนั้นมีการแข่งขันสูงเพียงใด ถ้าคุณดูแล้วคุณไม่มีอะไรที่โดดเด่นพอที่จะเป็นอาวุธสำคัญได้ ก็ควรจะพับเก็บแผนธุรกิจเอาไว้ก่อน แล้วค่อยๆ หา หรือสร้างโครงสร้างที่จำเป็นสามขานี้ให้มั่นคงยิ่งขึ้น ก่อนจะเริ่มโครงการธุรกิจอีกครั้ง



ทุกอย่างเกี่ยวกับคน

แต่นอกจากการมีสิ่งที่โดดเด่นกว่าคนอื่นที่เรียกว่า Key Success นี้แล้ว ผมก็ได้ค้นพบอีกอย่างหนึ่ง(ที่แตกต่างจากหลักสูตรการสอนวิธีการทำธุรกิจโดยทั่วๆ ไป) ก็คือ บางครั้ง Key Success นี้ก็เกี่ยวกับคน และความสามารถหรือความถนัดของคน ไม่ใช่สิ่งที่จะสร้างกันขึ้นมาได้เสมอไป

อาจเป็นเพราะผมสนใจและศึกษาหลายสิ่ง จนความรู้ต่างๆ นั้นมันมาบรรจบกันเข้าพอดี แม้หลักการทำธุรกิจของผม หรือของคนอื่นจะเป็นหลักการที่ถูกต้องตามตรรกะ แต่หัวใจของมันก็ไม่ได้อยู่เพียงแค่นั้น เพราะ Key Success บางอย่างเกี่ยวข้องกับความถนัดของคน การจับเอาคนไปเรียนเรื่องการผลิต การคิดค้นสินค้า การวางแผนการตลาด ทักษะการขาย ย่อมได้ผลไม่เหมือนกัน

อย่างเช่น ผมได้อ่านหนังสือเกี่ยวกับหลักการขายมาเป็นจำนวนมาก ซึ่งก็ทำให้ผมรู้ถึงหลักการขายที่ดี และสามารถมองออกว่าใครเป็นนักขายที่ดี แต่มันก็ไม่ได้ช่วยให้ผมพัฒนาทักษะการขาย หรือเป็นนักขายที่ดีขึ้นมากนัก เพราะนั่นไม่ใช่ Talent หรือความสามารถพิเศษของผม

เช่นเดียวกัน หลักสูตรที่อบรมกันอยู่โดยทั่วไป จึงไม่อาจทำให้ใครมี Key Success ที่เกี่ยวกับทักษะของคนได้(ยกเว้นเรื่องทำเล หรือบางอย่างที่สามารถใช้เงินซื้อหามาได้) ตัวอย่างง่ายๆ อีกอันหนึ่งก็คือ เวลาผมเห็นแผนการตลาดของผู้ประกอบการมือใหม่ หรือระดับนักศึกษาที่ยังไม่เชี่ยวชาญเรื่องการตลาด อ่านหลักการตลาดมาไม่เยอะ แผนการตลาดนั้นย่อมอ่อนด้อย จนถึงกับผิดหลักไปเลยก็ยังมี

ซึ่งหลักตรงนี้ มีอยู่จริงในทุกสาขาวิชา ถ้าให้นักการตลาดไปเข้าอบรมหลักการเงินสักสองอาทิตย์แล้วจะคาดหวังให้เขาวางแผนการเงินอย่างดีนั้นเป็นไปไม่ได้ ทุกอย่างต้องอาศัยประสบการณ์อันยาวนาน และต้องอาศัยความถนัดด้วย

หรืออีกอย่างหนึ่งที่หลักสูตรการสอนธุรกิจไม่ว่าจะเป็น MBA หรือ NEC ชอบสอนก็คือการทำ SWOT ANALYSIS หรือการวิเคราะห์จุดเด่นจุดด้อยและทางออกของธุรกิจ เมื่อทำเสร็จเราจะพบว่า ผลการวิเคราะห์ SWOT ของแต่ละคนนั้นอาจจะแตกต่างกันอย่างมากมายไปตามทักษะและประสบการณ์ของตัวเอง ซึ่งนั่นชี้ให้เห็นว่า แม้ว่า SWOT ANALYSIS จะดี แต่การใช้ก็ต้องเชี่ยวชาญ และ SWOT คือการตีความและประเมิน ซึ่งไม่สามารถให้ผลออกมาแบบคณิตศาสตร์ที่ 1+1 = 2 แต่ผลจะออกมาแตกต่างหลากหลาย และนั่นทำให้ความแม่นยำย่อมไม่มี

เช่นเดียวกัน มือใหม่ทางธุรกิจ เมื่อทำ SWOT แล้ว ผลที่ออกมาก็อาจจะผิดเพี้ยนไปอย่างมากก็ได้ หรือแผนการตลาดที่วางโดยคนที่ไม่ได้ศึกษาหลักการตลาดมามากพอ ก็อาจจะวางแผนผิดอย่างมาก ฉะนั้น ถ้าคุณรู้ตัวว่าไม่ได้ศึกษาเรื่องอะไรมาอย่างลึกซึ้งเพียงพอแล้ว อย่าคิดว่าการทำแผนการตลาด แผนการเงิน หรือแผนธุรกิจอื่นใดจะถูกต้องแม่นยำ หรือเป็นแผนที่ดีได้

Key Success บางอย่างเช่น เชี่ยวชาญการตลาด เก่งทักษะการขาย หรือการมีคอนเนคชั่น ฯลฯ จึงเป็นเรื่องค่อนข้างเฉพาะตัวอยู่เหมือนกัน ผู้ที่เหมาะสมจะทำธุรกิจได้ดี จึงต้องมีคุณสมบัติเหมาะสม อย่างใดอย่างหนึ่งใน 3 ขา (แล้วไปหาคนอื่นมาร่วมให้ครบ 3 Key หลักนี้) ธุรกิจจึงจะรอด

และนี่จึงเป็นตัวบอกว่า คนที่ประสบความสำเร็จในการเป็นผู้จัดการทั่วไป บริการธุรกิจแบบมืออาชีพได้ดี พอออกมาทำธุรกิจของตัวเอง ทำไมจึงไปไม่รอด เพราะทักษะการจัดการ ไม่เป็น Key Success ในการเริ่มต้นธุรกิจนั่นเอง

เรื่อง Key Success นี่มีอะไรคุยกันเยอะ ไม่แน่ใจว่าตกหล่นเรื่องอะไรไปหรือเปล่า (เพราะเขียนสดๆ) ถ้ามีตกหล่นอะไร ยกยอดไปคุยกันต่อควาวหน้านะครับ






Create Date : 10 มีนาคม 2552
Last Update : 10 มีนาคม 2552 12:26:51 น.
Counter : 4647 Pageviews.

0 comments
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Jimmywalker.BlogGang.com

Jimmy Walker
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 12 คน [?]

บทความทั้งหมด