“ธุรกิจ” เรื่องง่ายที่ไม่ง่าย ตอนที่ 12 ปรัชญาจากวอเรน บัฟเฟต



เมื่อสัปดาห์ก่อน ผมบังเอิญได้ซื้อหนังสือเล่มบางๆ มาเล่มหนึ่ง ซึ่งหลังจากได้อ่านแล้ว ผมก็คิดว่าเป็นหนังสือที่ดีมากๆ เล่มหนึ่งเท่าที่ผมได้เคยอ่านมา หนังสือเล่มนั้นชื่อว่า The Tao of Warren Buffett ซึ่งเป็นการรวบรวมแนวคิดวิธีการทำธุรกิจจากสุดยอดนักธุรกิจคนหนึ่งของโลก คือ วอเรน บัฟเฟตต์ ซึ่งถึงแม้ว่าเขาจะรวยเป็นอันดับสองของโลก รองจาก บิลล์ เกตส์ แต่ในภาพของการทำธุรกิจโดยทั่วไปแล้ว ผมคิดว่า วอเรน มีความเหนือกว่าบิล เกตส์อย่างมาก

วอเรน นั้นประสบความสำเร็จครั้งแล้วครั้งเล่าในการประเมินศักยภาพของธุรกิจที่มีอยู่ในตลาดหุ้นแล้วเข้าไปช้อนซื้อในราคาที่ถูกกว่ามูลค่าจริงเมื่อมีโอกาส รวมทั้งบางครั้งเขาก็แสวงหาผู้บริหารที่ดีให้เข้าไปบริหารกิจการเหล่านั้น แล้วเขาก็เพียงแค่คอยดูการเติบโตที่มีอย่างต่อเนื่องของธุรกิจเหล่านั้น

ในขณะที่บิลล์ เกตส์นั้นอาจเรียกได้ว่า ประสบความสำเร็จครั้งใหญ่เพียงครั้งเดียวจากการสร้างระบบปฏิบัติการวินโดว์ที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้ (ที่จริงบิลก็ไปซื้อลิขสิทธิ์ต้นแบบของคนอื่นมาพัฒนาอีกที) แต่ที่ทำให้บิลรวยกว่าวอเรนนั้นก็เพราะสิ่งที่เขาผลิตนั้นเป็นสินค้าปฏิวัติโลก เช่นเดียวกับสินค้าหลอดไฟฟ้าที่เอดิสันเคยประดิษฐ์ได้ บวกกับการคุ้มครองทางลิขสิทธิ์ การประสบความสำเร็จเพียงครั้งเดียวนี้ จึงทำให้เขาร่ำรวยที่สุดในโลกได้อย่างไม่ยากเย็น (ผมเคยวิเคราะห์ไว้แล้วในบท Success Analysis) ซึ่งเราเรียกสิ่งนี้ว่า Key Success นั่นเอง คล้ายๆ กับนักธุรกิจไทยอีกหลายคนที่ผมไม่อยากเอ่ยถึงโดยตรง (เดี๋ยวจะถูกฟ้อง) แต่ผมพบว่าพวกเขานั้นอาศัยการประสบความสำเร็จครั้งใหญ่ครั้งสำคัญเพียงครั้งเดียว ที่ทำให้เขาสามารถร่ำรวยมหาศาลอยู่ได้ในทุกวันนี้ ในขณะที่ถ้าเทียบความสามารถกันโดยละเอียดแล้ว ผมพบว่ายังมีนักธุรกิจระดับรองๆ ลงมาอีกหลายคนที่เก่งกว่าพวกเขามาก เงินจึงไม่ได้วัดระดับความสามารถได้เสมอไป แต่เราต้องศึกษาและวิเคราะห์กันโดยละเอียด

มาเข้าประเด็นกันต่อ ในด้านหลักการทำธุรกิจโดยทั่วไปแล้ว ผมจึงถือว่า วอเรน บัฟเฟตต์เป็นสุดยอดกูรูคนหนึ่งที่เราสมควรที่จะเรียนรู้จากเขาด้วย ผมจึงจะได้นำแนวคิดดังกล่าวบางส่วนมาเล่าสู่กันฟัง ถ้าสนใจก็ไปซื้อหามาอ่านกันได้แบบเต็มๆ (มีเล่มแปลแล้วครับ)

1.วอเรนบอกว่า ถ้าคุณลงทุนเหมือนกับว่าคุณต้องอยู่กับมันไปตลอดชีวิต และไม่สามารถที่จะยกเลิกการลงทุนในธุรกิจของคุณได้ ถ้าคุณคิดแบบนี้ มันก็จะทำให้คุณทำการบ้านมาอย่างดีที่สุด ก่อนเข้าไปลงทุนในบริษัทนั้นๆ
หลักการนี้ ผมเห็นว่าตรงกับหลักการที่ผมได้กล่าวไปแล้วเช่นกันในเรื่องของ Know How ก็คือ คุณต้องศึกษาหาข้อมูลอย่างลึกซึ้งก่อนที่จะลงทุนไปทำธุรกิจใดๆ ถ้าคุณคิดแบบวอเรนว่า คุณมีโอกาสเพียงครั้งเดียว หรือคิดว่าคุณต้องอยู่กับมันตลอดชีวิต เปลี่ยนไม่ได้ บางทีคุณจะทำการบ้านมาอย่างดี ซึ่งทำให้โอกาสประสบความสำเร็จมีมากขึ้น
อย่าไปเชื่อคำแนะนำของนักธุรกิจรุ่นก่อน ที่บอกว่าทำๆ ไปเถอะ แล้วเรียนรู้เอา ข้อแตกต่างอย่างหนึ่งของธุรกิจก็คือ คุณต้องลงทุนด้วยเงิน และการขาดเงินทุน จะทำให้คุณเริ่มธุรกิจใหม่ได้ยากมาก ไม่เหมือนกับการลองผิดลองถูกในอาชีพอื่น ที่คุณอาจไม่ต้องเสียอะไร นอกจากแรง (เช่นนักกีฬา)
นักธุรกิจเหล่านั้น เขาอาจเป็นหนึ่งในจำนวนไม่กี่คนที่ประสบความสำเร็จทั้งๆ ที่ทำการบ้านมาน้อย แต่มีคนอีกจำนวนมากที่ทำแบบเดียวกันแต่ล้มเหลว เพียงแต่คนเหล่านั้นไม่มีโอกาสมาพูด เพราะเสียงของคนที่ประสบความสำเร็จย่อมดังกว่า (แต่ไม่แน่ว่ามันจะถูกกว่าเสมอไป)

วอเรน พิสูจน์แล้วว่า การจะประสบความสำเร็จครั้งแล้วครั้งเล่า โดยมีสัดส่วนของการประสบความสำเร็จมากกว่าความล้มเหลวนั้น ต้องมาจากการทำการบ้านที่ดีแต่แรกเริ่ม แล้วการทำงานหนักแต่แรกเริ่มนี้ จะทำให้คุณทำงานและร่ำรวยได้ง่ายในภายหลัง

2.วอเรน ศึกษาหลักการจนลึกซึ้งก่อนทำอะไร จะไม่มีวอเรนที่ร่ำรวยอันดับสองของโลกในวันนี้ ถ้าไม่มีเบนจามิน เกรแฮม และฟิล ฟิชเชอร์ สองอาจารย์ผู้ยิ่งใหญ่ที่เขาได้นำหลักการการลงทุนของทั้งสองคนมาผนวกเป็นหลักการที่ดีที่สุดของตนเอง
วอเรนนั้นเป็นนักธุรกิจที่เน้นหนักไปในทางใช้สติปัญญามากกว่าความบ้าระห่ำ เขาใจเย็นที่จะรวยช้าๆ แต่แน่นอน ไม่ลงทุนสุ่มสี่สุ่มห้า แต่อดทนที่จะรอคอยเวลาที่เหมาะสมมาถึง เขาจึงชอบที่จะศึกษาเรื่องราวต่างๆ ให้ลึกซึ้งก่อนลงไปทำอะไร และเมื่อเขารู้จักมันดีทั้งหมด โอกาสของการประสบความสำเร็จของเขาก็สูงมาก และสามารถทำซ้ำๆ ได้เสมอ ซึ่งต่างจากนักธุรกิจทั่วไป ที่นิยมความเสี่ยง หรือแม้กระทั่งสอนคนรุ่นต่อไปว่า การเสี่ยงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ (แน่นอน ธุรกิจย่อมมีความเสี่ยง แต่ถ้าคุณศึกษาจนรู้จริง โอกาสล้มเหลวจะน้อยมากๆ )

3.วอเรน รู้ว่าตัวเองต้องคิดต่างจากคนส่วนใหญ่เสมอ คนที่จะประสบความสำเร็จต้องทำตัวเองให้คิดต่างจากคนส่วนใหญ่ที่จะเป็นแค่คนธรรมดา หรือคนล้มเหลว ฉะนั้น ถ้าคุณยังมีแนวคิดเหมือนคนทั่วๆ ไป นั่นอาจเป็นข้อสรุปได้ง่ายๆ อย่างหนึ่งเหมือนกันว่า คุณจะไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร (ตามหลักปิรามิด ที่คนประสบความสำเร็จจะมีน้อยกว่าคนทั่วไปเป็นลำดับชั้นลงไป ถ้าคุณคิดเหมือนคนส่วนใหญ่ คุณก็จะเป็นเหมือนคนส่วนใหญ่) แนวคิดการลงทุนของวอเรน จึงต่างจากคนเล่นหุ้นในตลาดหุ้นมาก

4.คนฉลาดเรียนรู้จากประสบการณ์ของคนอื่น ประสบการณ์เป็นสิ่งมีค่า แต่คนฉลาดจะไม่ต้องเสียเวลาและทรัพยากรไปกับการเรียนรู้ด้วยตัวเอง พวกเขารู้จักเรียนรู้จากประสบการณ์ของคนอื่น โดยเฉพาะที่ล้มเหลว (อะไรไม่ควรทำ)

5.วอเรน ไม่ได้ทำธุรกิจเพื่อเงิน แต่เขาสนุกกับมันมากกว่า แนวคิดนี้จะทำให้นักธุรกิจประสบความสำเร็จทั้งสองด้าน คือได้ทั้งเงินและความสุข ไม่ใช่พอได้เงินแล้วก็ชักเบื่อ ไม่อยากทำธุรกิจแล้ว หรือทนทำธุรกิจเพื่อเงิน ก่อนที่คุณคิดจะลงมาทำธุรกิจ จึงต้องใคร่ครวญและศึกษาให้ดีว่า ธุรกิจนั้นมีบางส่วนที่คุณชอบมันจริงๆ และสามารถทนทำมันได้ตลอดชีวิต

เท่านี้ก่อนนะครับ หนังสือเล่มนี้มีคำสอนและปรัชญาในการดำเนินชีวิตและดำเนินธุรกิจที่ดีมากๆ เล่มแปลก็แค่ 158 บาท ใช้กันได้ตลอดชีวิต ไม่มีหมด คุ้มค่าจริงๆ ผมสนับสนุนให้ทุกคนไปหาซื้อมานะครับ




Create Date : 06 เมษายน 2552
Last Update : 6 เมษายน 2552 10:20:47 น.
Counter : 3146 Pageviews.

3 comments
  
ขอบคุณนะครับ
โดย: โจโจ้ IP: 124.120.148.15 วันที่: 7 เมษายน 2552 เวลา:0:25:48 น.
  
ดีมากเลยค่ะ ขอบคุณค่ะ
โดย: pang IP: 202.176.86.62 วันที่: 10 เมษายน 2552 เวลา:23:03:51 น.
  
แวะมาทักทายครับ ผมอ่านตั้งแต่หัวข้อ 1-12 เลยครับ ได้ประโยชน์มากๆครับ อยากเป็นนักลงทุนเหมือนกัน แต่เงินไม่ถึงขอศึกษาข้อมูลก่อนดีกว่าครับ ไว้จะแวะมาอ่านอีกแน่นอนครับ ขอบคุณครับคุณ Jimmy Walker
โดย: ห้อยน้อยๆแต่ห้อยนานๆ วันที่: 29 พฤษภาคม 2552 เวลา:9:17:25 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Jimmywalker.BlogGang.com

Jimmy Walker
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 12 คน [?]

บทความทั้งหมด