ความหมายและพัฒนาการของเพลงไทยร่วมสมัยนอกกระแส (เพลงไทยอินดี้) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2537 - 2552 (ตอนที่ 1)
บทความชิ้นนี้เขียนขึ้นเพื่อประกอบการบรรยายในวิชาปรัชญาดนตรี ภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

ขณะนี้ยังเขียนไม่เสร็จทั้งหมด คาดว่าจะมีอีกสองส่วน โปรดรออ่านในเวลาต่อไป






หากลองเดินสำรวจไถ่ถามหนุ่มสาวที่กำลังจับจ่ายในย่านสยามสแควร์ถึงลักษณะเพลงที่ชื่นชอบ ว่าเป็นเพลงแนวไหน รับรองว่าจะต้องมีคำตอบ “เพลงแนวอินดี้” เป็นอันดับต้น ๆ ของผลคำตอบแน่ เมื่อลองสอบถามต่อไปว่า แล้วเพลงอินดี้นี้มันเป็นอย่างไร พอสรุปหรือนิยามสั้น ๆ ได้ไหม คำตอบที่ได้ก็จะออกมาในทำนองว่า “เป็นเพลงที่เพราะ มีทำนองต่างจากเพลงแกรมมี่ อาร์เอส อย่างพวก อีทีซี เบเกอรี่ สมอลล์รูม อะไรพวกนี้ ที่สำคัญคือมีชั้นเชิงกว่าเพลงค่ายใหญ่เยอะ”

ผมตั้งคำถามกลับว่าในค่ายอย่างสมอลล์รูมเองก็มีดนตรีหลากหลายแนว ตั้งแต่ป๊อป แดนซ์ ไปจนถึงร๊อค สรุปแล้วเพลงแนวไหนกันแน่ที่เป็นเพลงอินดี้

ในความเป็นจริงนั้น ความหมายของดนตรีอินดี้ มิได้ติดอยู่กับตัวเนื้อหาของมัน แต่อย่างใด จากรากศัพท์นั้น คำว่าอินดี้ (Indie) มาจากคำว่า Independence อันแปลว่า เป็นอิสระ เมื่อเป็น indie music แล้ว ก็คือเป็นดนตรีที่เป็นอิสระ ซึ่งก็นำมาสู่คำถามว่า เป็นอิสระต่ออะไร?

คำตอบคือ เป็นอิสระต่อการคิดและการผลิตผลงานเพลงออกมาตามที่ใจตนปรารถนา ซึ่งการทำงานในลักษณะค่ายเพลงนั้นมักจะเอาธุรกิจนำหน้า ศิลปะตามหลัง อิสระในการสร้างสรรค์ย่อมถูกลิดรอนออกไปหากว่าเพลงนั้นมันไม่สามารถขายได้ ซึ่งศิลปินหลายคนเลือกที่จะทำเพลงตามที่ตนอยาก มากกว่า ทำเพลงตามใบสั่งออเดอร์

ในวงการดนตรีจะมีดนตรีกระแสหลักที่ ได้รับความนิยมจากประชาชนส่วนใหญ่อยู่ ดนตรีเหล่านี้เปลี่ยนแปลงไปได้ไม่จำเป็นจะต้องเป็นเพลงป๊อปเสมอ อย่างในเมืองไทย ณ ขณะนี้ เพลงที่ได้รับความนิยมในวงกว้างที่สุดสำหรับวัยรุ่นไทยคือเพลงแนวป๊อปร๊อค (ดนตรีร๊อคที่มีท่วงทำนองติดหู) อย่างผลงานของบอดี้สแลม แคลช โซคูล ซิลลี ฟูลส์ ฯลฯ ผลงานเหล่านี้ล้วนแล้วแต่ได้รับความนิยมจากวัยรุ่นทั่วประเทศ ความนิยมเหล่านี้เปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย หากย้อนกลับไปดูเมื่อสักสองปีก่อนหน้านี้ จะเห็นได้ว่าเพลงป๊อปร๊อคโดนดนตรีแนวฮิปฮอปแซงขึ้นมาและหายไปอย่างรวดเร็วเหมือนเพลงดิสโก้ในสมัยยุคทศวรรษที่ 80’s ดังนั้นแม้ว่าเพลงแนวป๊อปจะมีอยู่จริง แต่เพลงที่ได้รับความนิยมจริง ๆ ขึ้นอยู่กับช่วงเวลาต่างกันไป มีรุ่งและเสื่อมเป็นธรรมดา

อย่างไรก็ดี ใช่ว่าในช่วงเวลาหนึ่ง ๆ จะมีเพลงเพียงแค่แนวดนตรีเดียวให้ได้ฟังเท่านั้น เพราะรสนิยมการฟังเพลงของคนเรานั้นต่างกันและมักไม่ชอบอะไรซ้ำซาก จึงเกิดนักดนตรีกลุ่มอื่น ๆ ที่สนใจแนวเพลงต่างออกไปจากที่ได้รับความนิยมผลิตผลงานเพลงแนวอื่น ๆ ออกมาสู่ตลาดบ้าง ความนิยมของเพลงเหล่านี้อาจจะไม่สามารถเทียบเท่าสูสีกับดนตรีประชานิยมในห่วงเวลานั้นได้ แต่ทว่าเมื่อเวลาผ่านไป ดนตรีที่ไม่ค่อยนิยมในวันนี้อาจจะค่อย ๆ น้ำซึมบ่อทรายกลายเป็นนิยมในอีกสามปีต่อมา ใครจะทราบได้

คงพอเห็นภาพที่มาคร่าว ๆ ของดนตรีอินดี้กันแล้ว คราวนี้ดูหลักการกันว่าเพลงอินดี้จริง ๆ นั้นเป็นเช่นไร

ประการแรกดนตรีอินดี้ นักดนตรี เป็นผู้คิด ทำ และจำหน่ายเองอย่างเป็นอิสระ อย่างที่กล่าวไว้ในตอนแรกว่าความอิสระเป็น keyword สำคัญของอินดี้ ดังนั้นนักดนตรีจึงต้องมีอิสระที่จะคิด ที่จะทำผลงานออกมายังไงก็ได้ โดยไม่มีใครมาควบคุม รวมถึงปัจจัยเรื่องเงินทุนด้วย อย่างไรก็ดี ก็ยังมีการโต้เถียงในหมู่นักดนตรีว่า หลาย ๆ ค่ายเพลง โดยเฉพาะค่ายใหญ่ ก็อนุญาตให้ศิลปินทำงานอย่างเป็นอิสระ เต็มที่กับทุกสิ่งที่คิด แล้วยังใช้ปัจจัยนี้กำหนดได้หรือ?

แนวคิดหนึ่ง สิ่งสำคัญที่สุดที่เป็นพรมแดนในการกำหนดความเป็นอินดี้หรือไม่อินดี้คือ ส่วนการจัดจำหน่าย (Distribution) เพราะการจัดจำหน่ายถือว่าเป็นตัวแปรสำคัญของความเป็นอิสระของงาน หากผู้ผลิตเข้าสู่ระบบการตลาดโดยผ่านสังกัด ซึ่งต้องคำนึงถึงหลัก Demand Supply ย่อมทำให้ผลงานเหล่านั้นไม่มีอิสระอย่างแท้จริง

นอกจากนั้น ตามหลักของการทำงานแบบอินดี้ที่เป็นลักษณะ “ทำเอง ขายเอง” นั้น โดยมากจะวางขายเฉพาะในเขตพื้นที่ที่ตนสามารถดูแลได้อย่างทั่วถึง เช่น ศิลปินในกรุงเทพฯ อาจจะฝากขายที่ร้านน้องท่าพระจันทร์ หรือ ดีเจสยาม การฝากขายในต่างจังหวัดเป็นเรื่องที่ยากพอดู เพราะไม่รู้ว่าร้านไหนเป็นอย่างไรบ้าง แถมเวลาจะเช็คยอดเพื่อเอาเงินทีก็ลำบาก เพราะโดยมากเรื่องแบบนี้จะเช็คด้วยตนเองกันเพื่อความมั่นใจ

ความสำคัญของการจัดจำหน่ายคือหากไปได้ทั่วถึงเพียงไรโอกาสในการเป็นที่รู้จักย่อมมากขึ้นเท่านั้น โดยเฉพาะในยุคที่เทปคลาสเซทท์ยังรุ่งเรืองนั้น ผู้คนนิยมซื้อเทปมาฟังและให้โอกาสศิลปินจากหน้าปกจำนวนมากเนื่องด้วยราคาถูก อย่างไรก็ดี ทุกวันนี้ยอดขายผลงานของศิลปินหนึ่ง ๆ ลดลงอย่างมากสืบเนื่องจากคนฟังหันไปใช้ช่องทางการโหลดจากเวบไซต์และบิททอร์เรนท์ (ซึ่งผิดลิขสิทธิ์) รวมถึงการขายเพลงทางอินเตอร์เนทอย่างถูกกฎหมายอย่างเช่นในเวบ Coolvoice.com หรือขายผ่าน Itunes Store (ค่ายเพลงไทยที่มีขายแล้วคือค่ายแพนด้าเรคอร์ดส์) ศิลปินก็สามารถขายงานได้ทั่วโลกไม่ต้องง้อการจัดจำหน่ายแบบเก่า ๆ ซึ่งเห็นภาพได้ชัดว่าการจัดจำหน่ายแบบดั้งเดิมในปัจจุบันไม่สามารถสะท้อนให้เห็นภาพได้ชัดเจนนักว่าศิลปินใดเป็นศิลปินแบบอินดี้หรือไม่อินดี้





การขายเพลงผ่าน itunes store ของค่าย Panda Records และ ใน Coolvoice.com



ถ้าเช่นนั้นเราใช้เกณฑ์อะไรที่บ่งบอกได้ชัดกว่า แนวคิดสำคัญในฐานะที่จะได้รับความนิยมหรือไม่นิยมคือความสัมพันธ์ระหว่างตัวศิลปินเองกับประชาชนที่มีลักษณะเป็น mass คือมีจำนวนเยอะ อาจจะมีจินตกรรมร่วมกันตามแบบที่เบเนดิค แอนเดอร์สัน ว่าไว้ แต่ที่แน่ ๆ คือพวกเขาไม่รู้จักกันแน่นอน ผ่านสื่อมวลชนที่มีลักษณะแบบ mass media คือเผยแพร่ออกไปเป็นวงกว้างทั้ง ทีวี วิทยุ และทุกวันนี้คือสื่อใหม่อย่างอินเตอร์เนท

การทำงานของสื่อมวลชนผูกเข้ากับธุรกิจอยู่เสมอเพราะการทำงานนั้นหวังพึ่งรายได้จากค่าโฆษณาเป็นสำคัญ การเลือกเฟ้นบุคคลมาออกรายการย่อมต้องคำนึงว่าคนเหล่านั้นเหมาะสมกับกลุ่มคนดูรายการหรือไม่ เพราะถ้าคนดูชื่นชอบแขกรับเชิญ เรทติ้งก็เพิ่มขึ้น สปอนเซอร์ก็จะเพิ่มเป็นลำดับ ดังนั้น ไม่แปลกที่รายการส่วนใหญ่จะเลือกคนที่คนส่วนใหญ่ที่เป็น mass รู้จัก ซึ่งเหล่าบรรดาศิลปินนักร้องที่ mass รู้จักก็เกิดจากการปรากฎผ่านสื่อที่เป็นช่องทางหลักของค่ายเพลงนั้น ๆ ก่อน เช่นแกรมมี่ก็จะมีรายการวิทยุและรายการทีวีในเครือของตัวเอง ศิลปินของค่ายก็จะได้ออกเริ่มจากจุดนั้น ก่อนจะขยายไปยังคลื่นหรือรายการวิทยุ รายการทีวีอื่น ๆ ซึ่งในจุดนี้ศิลปินอินดี้ไม่มีอำนาจของสื่อในมือ จะมีก็เพียงรายการวิทยุเพียงไม่กี่แห่ง (อาทิเช่น แฟตเรดิโอ หรือรายการวิทยุออนไลน์ต่าง ๆ เป็นต้น) ที่นำเสนอผลงาน การจะเริ่มทำความรู้จักศิลปินอินดี้นั้นในปัจจุบันจึงมักหันเหความนิยมมาสู่การรับข่าวทางอินเตอร์เนทแทน ซึ่งหากเทียบสัดส่วนผู้รับสารทั้งประเทศแล้ว ก็พบว่าสื่ออินเตอร์เนทนั้นยังน้อยกว่าทีวีหรือแม้แต่วิทยุอยู่หลายเท่าตัว

ดังนั้น ศิลปินอินดี้ต่าง ๆ จะไม่มีทางออกสื่อได้เท่ากับศิลปินในค่ายใหญ่ ๆ เป็นแน่ ย่อมทำให้คนส่วนใหญ่ไม่รู้จักเป็นธรรมดา หากสรุปง่าย ๆ ให้ดูเป็นหลักการแล้ว ประเด็นแรกที่ควรดูว่าใครอินดี้หรือไม่อินดี้ก็คือ 1. มีอิสระในการทำงานเต็มที่หรือไม่ 2. โอกาสในการปรากฎตัวผ่านสื่อมวลชนมีมากน้อยเพียงใด ถ้า ทำเอง ขายเอง และคนไม่ค่อยรู้จักเท่าใดนักนี่ก็แสดงว่ามีความเป็นอินดี้ทีเดียว

จากที่ว่ามาเบื้องต้นนี้ การเป็นศิลปินอินดี้ไม่ใช่เรื่องน่าอิจฉาเลยแม้แต่น้อย เพราะศิลปินเองต้องเป็นผู้รับความเสี่ยงในความคุ้มทุนเพราะค่าใช้จ่ายในการผลิตผลงานล้วนต้องเองทั้งสิ้นแถมยังต้องเหนื่อยกับการดูแลผลประโยชน์ตัวเองสารพัด

(ตอนสองจะตามในเร็ววันนี้)



Create Date : 21 ธันวาคม 2552
Last Update : 21 ธันวาคม 2552 14:11:39 น.
Counter : 1218 Pageviews.

16 comments
Jeff Satur - ซ่อน (ไม่) หา l Ghost peaceplay
(13 เม.ย. 2567 10:05:38 น.)
สุขสันต์วันปีใหม่ไทย ๒๕๖๗ haiku
(13 เม.ย. 2567 10:13:33 น.)
2467_The kissing Booth หอมกร
(10 เม.ย. 2567 09:53:30 น.)
John Mayer - You're Gonna Live Forever in Me peaceplay
(7 เม.ย. 2567 09:50:38 น.)
  
เราว่านิยามของคำว่าอินดี้นี่มีเส้นแบ่งที่เลือนลางและเคลื่อนไหวไปได้เรื่อยๆ

จากนิยามในย่อหน้าสุดท้ายของดอง ถ้าความอิสระในการทำงาน และทำเองขายเอง ถูกใช้อธิบายงานชุด in rainbows ของ radiohead เราจะเรียกพวกเขาว่าอินดี้ได้หรือไม่

ซึ่งถ้าดูตามนิยามของดองก็ต้องบอกว่าเรดิโอเฮดไม่ใช่อินดี้ เพราะทำเองขายเอง แต่คนรู้จักกันกว้างขวาง

แล้ว ash เป็นอินดี้หรือเปล่า เพราะงานล่าสุดของวงคือการทำเพลงแล้วปล่อยให้แฟนๆ ได้โหลดกันเลย
โดย: pick IP: 58.8.168.253 วันที่: 21 ธันวาคม 2552 เวลา:14:37:38 น.
  
อีกตัวอย่างที่เราเห็นบ่อยๆในพันทิปคืออินดี้เป็นแนวเพลงหรือไม่

คนส่วนใหญ่มักบอกว่าอินดี้ไม่ใช่แนวเพลง แต่เป็นวิธีทำเพลง อันนี้น่าจะเหมือนกับกรณีเพลงป๊อปก็ไม่ใช่แนวเพลง แต่มันคือความนิยมในเพลงนั้นๆ

แต่จะปฏิเสธได้หรือว่าเราไม่เคยได้ยินเพลงแบบที่เรียกว่าอินดี้ป๊อปและอินดี้ร็อก

หลายอัลบั้มของ smallroom ก็คือป๊อป แต่เราก็ไม่ตะขิดตะขวงใจที่จะเรียกอันว่าอินดี้ป๊อป แต่เพลงป๊อปอย่าง tatto color เรากลับไม่รู้สึกว่ามันคืออินดี้ป๊อป แต่มันคือป๊อป (แต่ป๊อปคือแนวเพลงหรือเปล่า)

แถมยังอินดี้ร็อกอีก?!?!?!?

สรุปว่าเราก็ยังไม่เข้าใจอยู่ดีว่าสาระสำคัญของคำว่าอินดี้คืออะไร (พอๆ กับกระทู้ว่าอะไรคือเพลงซิงเกิ้ลที่เราเพิ่งอ่านในพันทิป)

แต่ที่แน่ๆ คือเห็นด้วยกับย่อหน้าสุดท้ายที่สุด กร้ากกก
โดย: pick IP: 61.90.167.124 วันที่: 21 ธันวาคม 2552 เวลา:14:49:42 น.
  
จริงเรื่องนิยามมันมีความพล่าเลือนมาก ๆ จนยากที่จะนิยามด้วยความหมายเดิม ๆ

อย่างเรดิโอเฮด เราว่าด้วยรูปการณ์ต้องอินดี้แน่ เราเลยใช้หลักการเ็ป็นที่รู้จักประกอบด้วย เพื่อง่ายต่อการจำกัดความ ซึ่งเราว่ามันก็ยังยากอยู่ดี

โดยส่วนตัวเราว่าถ้าอินดี้ในความหมายของเรา เรดิโอเฮดไม่ใช่อินดี้แน่นอน เพราะในความรู้สึกเรา อินดี้จะมีอารมณ์ว่า เป็นสิ่งที่ได้รับความสนใจน้อยจาก mainstream (ซึ่งส่วนนี้จะเขียนในบทความชิ้นต่อไป)

เรื่องแนวเพลง ก็ยังเป้นที่ถกเถียงว่าอินดี้ป๊อป หรือ อินดี้ร๊อค เป็นอย่างไร คือเราว่าพวกเราเข้าใจกันนะ ว่าลักษณะซาวด์แบบนี้ มันเป็นอินดี้ป๊อป (ซึ่งเราว่ามันก็คือ twee หนุงหนิงกันไป)

อย่างไรก็ขอบคุณปิ๊กมากที่ร่วมเสนอ อย่างว่าแหละ พรมแดนนี้มันเลือนเต็มที และที่สำคัญบทความนี้เขียนขึ้นเพื่อให้คนเข้าใจมากขึ้น จะได้เลิกกันเสียทีว่ากูฟังอินดี้นะโว้ย (แล้วไงว่ะ)
โดย: I will see U in the next life. วันที่: 21 ธันวาคม 2552 เวลา:15:44:15 น.
  
พี่อยากไปนั่งฟังดองบรรยายว่ะ
โดย: แพนด้ามหาภัย วันที่: 21 ธันวาคม 2552 เวลา:19:36:54 น.
  
รอดูคลิปละกันนะครับ
โดย: I will see U in the next life. วันที่: 21 ธันวาคม 2552 เวลา:19:50:24 น.
  
สวัสดีค่ะ
เห็นย่อหน้าแรกแล้วตกใจ
เพราะว่าเราลงเรียนปรัชญาดนตรีเทอมนี้ด้วย
อย่างนี้ก็คงได้ฟังคุณจขบ.บรรยายสิคะ ฮ่าๆๆๆ

งั้นเข้ามาอ่านเก็บความรู้ก่อนเรียนแล้วกันค่ะ :)


แม้จะเชื่อว่าอินดี้ไม่ใช่แนวเพลงก็จริง แต่เป็นวิธีการทำงาน เราก็ไม่ว่าอะไรที่คนเขาจะใช้คำนี้ หรือบอกว่าตัวเองฟังเพลงอินดี้นะ ตราบใดที่เขาเข้าใจมันถูกต้อง หมายถึง เข้าใจ คำๆนี้อย่างแท้จริง
(แต่แน่นอนว่าในทางตรงข้าม หากคนนั้นมันไม่เข้าใจแล้วยังสะเหล่อใช้อีกเนี่ย น่าหงุดหงิดมาก!)

เราเองงงๆกับการใช้คำนี้มานานแล้วเหมือนกัน และคงจะงงต่อไป
ยิ่งเวลาจะพูดถึงคำว่าอินดี้กับใครในสมัยนี้ที ต้องชี้ชัดและนิยามมันให้เข้าใจตรงกันซะแล้วอ่ะ เพราะความเข้าใจคนมันผิดไปเยอะ และบิดเบือนไปหลายแง่มุมเหลือเกิน ขนาดในวงการเพลงก็ยังคลุมเครือเลย

ส่วนที่เห็นว่ากันถึงเรื่อง คำว่า "indie rock" เราคิดว่าคำนี้คือหมายถึงแนวเพลงไปเลยล่ะมังคะ

แต่ก็ไม่ทราบว่ามันเป็นกันอยู่แล้ว หรือเวลาผ่านไป การใช้คำนี้ได้เปลี่ยนจนถูกใช้ครอบคลุมมาถึงการเป็นแนวเพลงอย่างหนึ่งได้ (ซึ่ง indie rock คือ สาขาย่อยนึงของ alternative rock ไปแล้ว ถ้าเห็นจากหลายแห่งที่อ้างอิงกัน)

แล้วเพราะต้นกำเนิดก็คือมากจากสาเหตุคือการทำเพลงซึ่งไม่ได้อยู่ค่ายใหญ่ๆของวง post-punk อังกฤษ ช่วงยุค 80's จนเป็นที่มาของคำว่าอินดี้นี้

อันนั้นมันคือต้นกำเนิดของคำว่าอินดี้ที่ใช้ๆกันอยู่นี่ (ตามที่เข้าใจมาอ่ะนะคะ)

indie rock เลยเป็น sub-genre ของ alternative rock
แล้ว genre ของ indie rock ก็ยังมีเยอะแยะอีกมากมาย มากกกกกกกกกจริงๆ
(มีแต่ฟังๆไป แต่ไม่เข้าใจว่าทำไมมันแบ่งกันไปได้เยอะอย่างนั้น แล้วแบ่งทำไม? ใครแบ่ง? คงไม่ใช่ศิลปินเองแน่)

แต่แบบนี้ ทำให้เราเข้าใจ(เอาเอง)ได้มากขึ้นอ่ะค่ะ แล้วไม่ต้องไปสับสนว่าทำไมเรียกวงที่ดังโคตรๆอย่าง Arctic Monkeys, The Strokes, Franz Ferdinand, Arcade Fire, The Killers ว่าอินดี้ ร็อคอยู่
ก็คือมันไม่ได้อิงที่การทำงานแบบ release กันเอง หรืออยู่กับค่ายเล็กๆ หรือหมายถึงร็อคซึ่งทำงานแบบอินดี้
แต่เป็นเพราะวงพวกนี้มันเล่นสไตล์ post-punk revival, garage rock, baroque pop ฯลฯ ซึ่งจัดเป็น subgenres ของ indie rock

แต่ indie rock มันก็ mainstream ได้หรือปล่าว?
Arctic Monkeys ตอนนี้คงต้องบอกว่าเป็นวง mainstream indie rock ล่ะมั้ง
(เช่นเดียวกับวงโหลๆอื่นๆ ที่โด่งดังในระดับนึง)

ที่เคยอินดี้ เมนสตรีมขึ้นได้ หรือทางตรงข้าม วง/ศิลปิน ที่เคย mainstream หันไปทำงานแนวอินดี้ก็มี แต่คำที่ใช้กับวงพวกนี้บางทีก็ยังสับสนเลยค่ะ ปวดหัวยิ่งนัก!

ส่วนกรณี Radiohead - In Rainbows เห็นแล้วนึกถึงตอนงานมันออกมา แล้วเราเคยอ่านเจอรีวิวหลายอันเลยที่เขียนถึงพวกเขาด้วยคำว่า "indie band"
Radiohead สำหรับเราคือวงที่เมนสตรีม แน่นอนอ่ะนะ แต่ชุดนั้นการทำงานแบบวิถีอินดี้ได้เปลี่ยนคำเรียกวงไปอย่างยิ่งใหญ่เชียวหรือ
คำที่ใช้เริ่มถูกทำให้หันเหทิศทางหรือเพราะว่าอะไร หรือนิยามอินดี้มันยังไม่ครอบคลุมดีพอ หรือเพราะวงมันนั่นแหละแหกกฎ!


แต่ถ้าจะบอกว่า indie = อะไรที่มันไม่ mainstream เราว่ามันยังมีข้อแย้งได้อยู่น่ะแหละ
ถ้าสมมติพูดถึงวงการหนัง ที่หนังอินดี้ (ซึ่งคำจำกัดความก็คล้ายๆ กับวงการเพลง indie film = หนังที่ไม่ได้ใช้ทุนสร้างจากสตูดิโอใหญ่) แต่พอจุดนึงถ้ามันก้าวไปป็อปปูล่าร์ล่ะ เหมือน Juno หรือ Little Miss Sunshine
หนังพวกนี้มันดัง ทำเงินก็เยอะ รางวัลก็ได้ เป็นที่รู้จัก แต่คนก็ยังเรียกว่าเป็นหนังอินดี้อยู่

และอีกอย่าง ข้อสงสัยของเรา คือ แล้ว indie (ถ้ารวมเอาด้านอื่นๆ ด้วย ไม่ใช่แค่ดนตรี เช่น วิถีชีวิต แฟชั่น เทรน ฯลฯ) จะจัดเป็น pop culture ได้มั้ย
ในเมื่อใครๆก็ชอบอินดี้ อยากอินดี้กันเต็มบ้านเต็มเมือง…


ปล. คำว่า อินดี้นี่ฮิตจริงๆนะ และมีอยู่ทุกที่ด้วย ไม่เชื่อ ลองดูจาก tag ของเว็บ last.fm วง/ศิลปินไหนไม่อินดี้มั่ง ฮ่าาาาาาาาาาาา
อ้อ การเป็นพวกอินดี้ของแท้ที่ดีต้อง เกลียด U2 และ Coldplay ด้วยค่ะ อันนี้มีคนบอกมา เพื่อความเจ๋งที่สมบูรณ์แบบ 555
โดย: Lucy in the sky with diamonds วันที่: 22 ธันวาคม 2552 เวลา:2:08:15 น.
  
ความจริงผมจะเขียนต่อเรื่องของปัจจัย mainstream ในบทความต่อไป แต่อธิบายสั้น ๆ ดังนี้ก่อน

ผลงานอินดี้เริ่มแรกนั้น ผลิตขึ้นมามันไม่มีทางเป็น mainstream แน่นอนครับ เพราะว่า ตามหลักการของมันคือการผลิตขายในจำนวนไม่มากนัก และจัดจำหน่ายในวงแคบ

มันสามารถขยับขยายสู่ความเป็นเมนสตรีมได้แน่ หากว่าเพลงมันดีและสามารถเข้าถึงกลุ่มคนส่วนใหญ่ของประเทศได้ เพลงอินดี้เหล่านี้ก็สามารถพัฒนาไปสู่กระแสดนตรีแบบเมนสตรีมได้

ทั้งนี้ ในแต่ละช่วงเวลานั้น Genre ของดนตรี mainstream นั่นจะแตกต่างกันออกไป (บางช่วงเวลาฮิตดิสโก้ บางช่วงเวลาฮิตเพลงอัลเทอร์เนทีฟ บางช่วงเวลาฮิตโซล ฯลฯ) เพราะฉะนั้นไม่แปลกที่เพลงทำเองขายเอง จะสามารถผลิดอกผลออกมาในกระแสเมนสตรีมได้บ้าง

คุณลูซี่ยกตัวอย่างหนังมา ผมว่าถ้าเราเข้าใจว่ามันคือหนังอินดี้ ที่ทำเอง ขายเอง (อาจจะมีมิราแมกซ์ช่วยขายให้) ปกติก็ฉายในวงแคบ ๆ แต่พอมันได้รับความนิยมแบบปากต่อปาก มันก็เลยกลายเป็นหนังแบบเมนสตรีมได้

ผมอยากเสนอว่า จริง ๆ แล้ว ตอนนี้ อินดี้กลายเป็น image แบบหนึ่ง (ซึ่งจะเขียนในตอนต่อ ๆ ไป) มันถูกนำมาใช้ในเชิงการตลาดเพื่อสร้างความแตกต่างในรูปแบบ (ไม่ใช่เนื้อหา) หลอกล่อให้คนหลงเข้ามาติด ซึ่งวัยรุ่นไทยไม่น้อยก็เข้าใจผิดคิดว่าไอ้เพลงอินดี้นี่มันเท่

เอาเป็นว่ารออ่านตัวเต็มละกันนะครับ ขอบคุณมากที่เข้ามาแสดงความคิดเห้น นักศึกษาที่ฟังเพลงมากอย่่างคุณ ผมว่าเข้าใจอยู่แล้ว แต่อีกหลาย ๆ คนที่งงเต็กถูกหลอกกันอันนี้น่าสนใจกว่า
โดย: I will see U in the next life. วันที่: 22 ธันวาคม 2552 เวลา:8:46:18 น.
  
อ่านไปอ่านมาก็คิดว่าจริงๆ แล้วคนที่ฟังเพลงมันจะรู้เองว่าอินดี้คืออะไร ซึ่งไอ้คนพวกนี้ก็จะไม่ค่อยสนใจหรอกว่าอินดี้มันคืออะไร พิมพ์ไปพิมพ์มาก็รู้สึกว่าไอ้พวกที่ไม่สนใจว่าอินดี้คืออะไรนี่แหละที่คืออินดี้ งงป่ะ (แต่คนที่พยายามอธิบายคำว่าอินดี้แบบกูรูนี่แหละที่ไม่ค่อยจะอินดี้ พิมพ์เองงงเองหว่ะดอง)

ต่อให้ใครบอกว่ามันเป็นวิธีทำงานก็เหอะ แต่ตอนนี้เราคิดว่าอินดี้มันคือก้อนอะไรซักอย่าง มีรูปแบบเฉพาะตัว แต่ก็อธิบายให้เห็นภาพได้ไม่ง่ายนัก (นอกจากจะสัมผัสจนเข้าใจมันไปเอง)

อย่างวง the mouses นี่เราคิดว่ามันมีการนำรูปแบบของเพลงแบบอินดี้เป็นจุดขาย แต่วงอย่างอย่างกูสหรือกล้วยไทย ที่อินดี้จัดจ้านทั้งในวิธีทำงานและวิธีการขาย แต่เราว่าเพลงเขาไม่อินดี้แฮะ

เป็นประเด็นที่พิมพ์เองงงเองตลอดเวลา
โดย: pick IP: 61.90.167.124 วันที่: 22 ธันวาคม 2552 เวลา:11:22:25 น.
  
เราเห็นด้วยกับปิ๊กว่าตัวพวกเราที่ฟังเพลง เราไม่สนหรอกว่าวงไหนมันจะอินดี้หรือไม่อินดี้

แต่มันมีพวก wanna be แหละ
โดย: ดอง IP: 10.100.1.34, 202.47.230.38 วันที่: 22 ธันวาคม 2552 เวลา:11:49:47 น.
  
ว่าจะเขียนความเห็นเกี่ยวกับภาพลวงตา "เท่ๆ" ของอินดี้ ที่วัยรุ่นยึดติด
พอดีเห็นคุณ I will เกริ่นถึงใน คห.7

ผมว่าอินดี้ยุคแรกมันค่อนข้างชัดเจนในเรื่องกระบวนการผลิตและจัดจำหน่ายครับ
แต่ปัจจุบันถูก "จงใจ" ให้กลายเป็นแนวเพลงบ้าง ภาพลักษณ์บ้าง
ทั้งที่บางทีก็แค่เพลงที่ผลิตโดยค่ายที่เล็กกว่าค่ายใหญ่แค่นั้นเอง

แต่ถึงยังไงอินดี้แท้ๆ ก็ใช่ว่าจะไม่มีอยู่เลย

รออ่านต่อครับ ผมเองก็แทบไม่ได้ตามวงการเพลงไทย
จะได้มองเห็นอะไรมากขึ้น
โดย: แค่เพียงรู้สึกสุขใจ วันที่: 22 ธันวาคม 2552 เวลา:21:16:32 น.
  
โอ ความเห็นในบล็อกคุยกันมันส์จริงๆ
โดย: grappa วันที่: 23 ธันวาคม 2552 เวลา:11:54:16 น.
  
ขอถามความคิดเห็นหน่อยครับ
อย่าง "คนเขียนเพลง บรรเลงชีวิต"
ของ ธเนศ วรากุลนุเคราะห์
ถึงว่าเป็น อินดี้ มั้ยครับ
โดย: นายหนึ่ง (dech_1 ) วันที่: 23 ธันวาคม 2552 เวลา:20:49:11 น.
  
^
^
^

ผมพูดจริง ๆ ว่าผมเด็กเกินที่จะรู้ข้อมูลครับ คือผมไม่แน่ใจว่าตอนนั้นที่ออกนี่มีแกรมมี่ยัง

แต่เท่าที่ผมทราบ ณ ขณะนั้น ธุรกิจเพลงในเมืองไทยมันไมมีเข้มข้นเท่าทุกวันนี้
โดย: I will see U in the next life. วันที่: 23 ธันวาคม 2552 เวลา:22:20:42 น.
  
โห วิชาการมากมายเลยอาจารย์
โดย: joblovenuk วันที่: 25 ธันวาคม 2552 เวลา:10:04:56 น.
  
เขียนดีมากเลยค่ะ :) ขอ share ใน facebook นะคะ
โดย: Aesthete IP: 125.25.135.124 วันที่: 26 ธันวาคม 2552 เวลา:20:59:44 น.
  
ไปเป็นอาจารย์ที่อักษร ทับแก้วหรือคะ ตื่นเต้นแทนรุ่นน้องที่นั่น มีอาจารย์เก่ง ๆ ไปสอน
โดย: ปอมปอมเกิร์ล วันที่: 21 กุมภาพันธ์ 2553 เวลา:21:51:48 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Djdonk-mc43.BlogGang.com

I will see U in the next life.
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ผู้ติดตามบล็อก : 6 คน [?]

บทความทั้งหมด